เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เรื่องเที่ยวเมืองพุกาม (ท่อนที่ ๕)

เจ้านรปติสิลธุ Narapatisithu (ในจารึกกัลยาณีเรียกว่า นรปติชัยสุร) กลับลงมาถึงเมืองพุกามก็ได้ครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๖ นับเปนพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๘ ที่ได้ครองเมืองพุกาม ทำพิธีราชาภิเศกด้วยกันกับนางเวฬุวดี แล้วให้ไปรับพระมหาเถรปันสะคูกลับมาจากเมืองลังกา สถาปนาเปนที่มหาสังฆปรินายกอย่างเดิม ครั้นพระมหาเถรปันสะคูถึงมรณภาพจึงทรงตั้งพระมหาเถรอุตราชีวะเปนมหาสังฆปรินายก ต่อมา ในรัชชกาลของพระเจ้านรปติสิทธุนี้ เริ่มเรื่องที่พระสงฆ์ลังกาวงศจะมาตั้งในเมืองพะม่ามอญและต่อมาถึงเมืองไทย ในเรื่องพงศาวดารลังกาว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๖๙๖ (ตรงกับสมัยพระเจ้าอลองคะสิทธุครองเมืองพุกาม) พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป เวลานั้นบ้านเมืองในเกาะลังกาตกเปนของพวกทมิฬอยู่โดยมาก พระเจ้าปรักกรมพาหุพยายามทำสงครามเอาบ้านเมืองคืนได้ทั้งเกาะลังกาแล้ว ยกกองทัพข้ามไปตีเมืองทมิฬเอาไว้ในอำนาจได้ด้วย เมื่อการฝ่ายราชอาณาจักรเรียบร้อยแล้ว พระเจ้าปรักกรมพาหุทรงฟื้นพระพุทธสาสนา ให้พระสงฆ์ในลังการวมเปนนิกายเดียวกัน และทำสังคายนา (อันไทยเรานับว่าเปนสังคายนาครั้งที่ ๗) แต่นั้นพระพุทธสาสนาในลังกาทวีปก็รุ่งเรืองขึ้น ประจวบกับเวลาที่พระพุทธสาสนาในอินเดียถูกพวกถือสาสนาฮินดูเบียดเบียนให้เสื่อมทรามลง เมืองลังกาก็ได้รับความนับถือของประเทศอื่นที่ถือพระพุทธสาสนาอย่างคติหินยานด้วยกัน ว่าเปนหลักพระสาสนา เมื่อพระมหาเถรปันสะคูกลับจากลังกาคงนำข่าวมาเล่าที่เมืองพุกาม ในพงศาวดารพะม่าจึงปรากฏว่า พระเจ้านรปติสิทธุตรัสให้พระมหาเถรอุตราชีวะซึ่งเปนมหาสังฆปรินายกเปนสมณทูตไปสืบพระสาสนาในลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ. ๑๗๓๓ แต่ทางพงศาวดารลังกาว่าใน พ.ศ. ๑๗๓๓ นั้นเอง ให้กองทัพเรือมาตีเมืองพะม่า ความแย้งกันอยู่ จึงเห็นว่าเรื่องที่จริงนั้นน่าจะเกิดแต่พวกลังกามาปล้นเมืองชายทะเลราชอาณาเขตต์ แต่เวลานั้นพระเจ้านรปติสิทธุไม่มีกำลังพอที่จะยกกองทัพไปตีเมืองลังกาตอบโต้ ประสงค์จะป้องกันมิให้เกิดเหตุเช่นนั้นอีก จึงทรงอาราธนาให้พระมหาเถรอุตราชีวะเปนสมณทูตไปว่ากล่าวโดยทางธรรม การก็สำเร็จประโยชน์ได้ดังพระประสงค์ แต่นั้นเมืองลังกากับเมืองพะม่าก็กลับเปนไมตรีดีกันสืบมา

เมื่อพระมหาเถรอุตราชีวะไปเมืองลังกาครั้งนั้นมีเด็กมอญชาวเมืองพสิมคนหนึ่ง ซึ่งถวายตัวเปนศิษย์แล้วบวชเปนสามเณรได้นามว่า “ฉปัฎ” ตามไปด้วย เมื่อพระมหาเถรจะกลับเมืองพุกาม สามเณรฉปัฏขออยู่เล่าเรียนที่เมืองลังกา ครั้นอายุครบอุปสมบทก็บวชเปนพระภิกษุในวงศสงฆ์ลังกา แล้วศึกษาพระธรรมวินัยตามลัทธิที่สังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุจนรอบรู้แตกฉาน เมื่อบวชครบ ๑๐ พรรษาบรรลุเถระภาพแล้ว จึงชวนเพื่อนภิกษุที่ได้เล่าเรียนรอบรู้และลุเถรภาพเช่นเดียวกันอีก ๔ รูปมีนามว่าพระ “สิวลีเถร” ชาวลิตถิคาม (ในลังกาทวีปนั้น) รูป ๑ พระ “ตามะลินทเถร” เปนโอรสของพระเจ้ากรุงกัมโภช รูป ๑ พระ “อานันทเถร” ชาวเมืองกิญจิบุรี (ที่ถูกกาญจนบุรีอยู่ในอินเดียฝ่ายใต้ ซึ่งภายหลังได้นามว่าเมือง “คอนชิวรัม” Conjoevaram เดี๋ยวนี้รวมอยู่ในเขตต์เมืองมัทราษฎ์) รูป ๑ พระ “ราหุลเถร” เปนชาวลังการูป ๑ พากันโดยสารเรือมายังเมืองพสิมแล้วขึ้นไปยังเมืองพุกาม แต่เวลานั้นพระมหาเถรอุตราชีวะผู้เปนอาจารย์เดิมของพระฉปัฎถึงมรณภาพเสียแล้ว พวกพระเถระ ๕ องค์ที่บวชมาจากลังกา เห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเมืองพะม่าแผกผิดกับพระสงฆ์ลังกามากนักจึงไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในพื้นเมือง พระสงฆ์ฝ่ายหินยานในเมืองพะม่าจึงเริ่มเกิดเปน ๒ นิกายขึ้น พระสงฆ์ลังกาวงศคงจะสังวรวัตรปฏิบัติเคร่งครัดผิดกับพระสงฆ์ในพื้นเมืองสมัยนั้น เมื่อพระสงฆ์ที่มาใหม่รู้ภาษาพะม่าจนสามารถสั่งสอนชาวเมืองได้ก็มีคนเลื่อมสัยกันโดยมาก แม้พระเจ้านรปติสิทธุก็ทรงเลื่อมสัยทำนุบำรุงพระสงฆ์ลังกาวงศและอุดหนุนให้พวกพะม่าบวชในนิกายนั้นมากขึ้นเปนลำดับมา แต่มามีเหตุเกิดขึ้นในเหล่าพระเถระที่มาจากลังกา ๕ องค์นั้น ด้วยพระราหุลเถรเกิดกำหนัดอยากจะสึก พระเถระอีก ๔ องค์ทักท้วง ว่าถ้าสึกที่เมืองพุกามพวกพะม่าจะเลยดูหมิ่นสิ้นนับถือพระสงฆ์ลังกาวงศ แนะว่าถ้าจะสึกก็ให้หลบไปสึกในประเทศอื่นที่ทางไกล พระราหุลเถรจึงลงเรือมายังประเทศอันหนึ่ง ในพงศาวดารพะม่าเรียกว่าเกาะมาลัย (แต่ที่แท้นั้นคือเมืองนครศรีธรรมราช) พระเจ้าแผ่นดินประเทศนั้นได้สมาคมก็ทรงเลื่อมสัยในราหุลเถร ถึงตั้งให้เปนพระครู เปนมูลเหตุให้พระสงฆ์ลังกาวงศมาประดิษฐาน ณ เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๔๐ ก่อนราชวงศ์พระร่วงตั้งเมืองสุโขทัยเปนราชธานีสัก ๕๐ ปี เมื่อข่าวทราบไปถึงเมืองลังกา ว่าพระสงฆ์ลังกาวงศมารุ่งเรืองขึ้นทางประเทศเหล่านี้ ก็มีพระสงฆ์ชาวลังกาตามมาอีก และมีชาวประเทศเหล่านี้พากันไปบวชที่เมืองลังกามากขึ้น ความนิยมนับถือคติลังกาวงศจึงแพร่หลายทั้งในประเทศพะม่ามอญไทยและเขมรสืบมาด้วยประการฉนี้ ฝ่ายพระเถระลังกาวงศที่ยังอยู่ในเมืองพุกาม ๔ รูปนั้น ในจารึกกัลยาณีว่าต่อมาพระฉปัฎเถรถึงมรณภาพ อีก ๓ รูปเกิดรังเกียจกันและกันว่าประพฤติฝ่าฝืนพระวินัยบัญญัติด้วยเห็นแก่ลาภสักการ ไม่ทำสังฆกรรมร่วมกัน พระสงฆ์ลังกาวงศในเมืองพุกามจึงแยกกันเปน ๓ คณะ แต่ชาวเมืองเรียกรวมกันว่าพวกนิกายใหม่ เรียกพระสงฆ์เดิมว่าพวกนิกายเก่า

พระเจ้านรปติสิทธุทรงสร้างวัดอย่างมหาวิหารขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองพุกามวัดหนึ่ง พะม่าเรียกว่าวัด “คอดอบะลิน” Gawdawbalin แปลว่า “บัลลังก์พระทันตธาตุ” และสร้างวัดขนาดย่อมกว่านั้นอีกวัดหนึ่งเรียกว่า วัด “จุฬามณี” Sulamani นอกจากนั้นทรงสร้างวัดที่อื่นๆ อีกหลายวัด พระเจ้านรปติสิทธุมีราชบุตร ๕ องค์ (เห็นจะเปนแต่ลูกพระสนมด้วยกันทั้งนั้น) ประสงค์จะเลือกองค์หนึ่งเปนรัชชทายาทโดยทำพิธีเสี่ยงทาย ให้เอาเสวตรฉัตรปักกลางแจ้งแล้วให้ราชบุตรทั้ง ๕ องค์นั้นนั่งรายทิศละองค์ ทรงอธิฏฐานว่าถ้าราชบุตรองค์ไหนมีบุญญาธิการสมควรจะครองแผ่นดินได้ขอให้เกิดนิมิตรให้เห็นปรากฎ ขณะนั้นเสวตรฉัตรโน้มไปทางราชบุตรองค์น้อยทรงนามว่าเจ้า “ชัยสังข์” Zeytheinkha จึงทรงตั้งให้เจ้าชัยสังข์เปนรัชชทายาท เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์ก็ยินยอมไม่รังเกียจ พระเจ้านรปติสิทธุพระชันษา ๗๔ ปี เสวยราชย์อยู่ ๓๗ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๕๓ เจ้าชัยสังข์ได้รับรัชชทายาท นับเปนพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๙ ที่ครองเมืองพุกาม แต่ในพงศาวดารพะม่าเอานามวัดที่ทรงสร้างเฉลิมพระเกียรติมาเรียกเปนพระนามว่าพระเจ้า “ติโลมินโล” Htileminle (น่าจะตรงกับคำ “ติโลกะนาถ”) และเรียกอีกพระนามหนึ่งว่าพระเจ้า “นันตองมยา” Nantaungmya ดูเหมือนจะหมายความว่า “พระเจ้าทรงธรรม” เพราะตั้งพระราชกำหนดกฎหมาย พอพระเจ้าติโลมินโลเสวยราชย์ก็มอบราชการบ้านเมืองให้เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์ช่วยกันว่ากล่าวต่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าทั้ง ๔ องค์เข้าไปประชุมกันว่าราชการที่ในวังเสมอเปนนิจ จึงเปนมูลเหตุที่เกิดประเพณีมีที่ประชุมเสนาบดี ซึ่งพะม่าเรียกว่า “หลุตดอ” สืบมา ดังได้พรรณาในตอนว่าด้วยเมืองมัณฑเล ส่วนพระเจ้าติโลมินโล เมื่อมอบราชกิจที่ต้องว่าราชการบ้านเมืองแก่เจ้าพี่ทั้ง ๔ องค์แล้ว ก็ทรงขวนขวายแต่ในการบำรุงพระสาสนา และสร้างวัดวาอาราม ทรงบุรณะวัดพระทันตบัลลังก์ Gawdawbalin ซึ่งพระชนกทรงสร้างค้างอยู่จนสำเร็จวัดหนึ่ง ให้ถ่ายแบบพระมหาโพธิเจดีย์ที่เมืองพุทธคยามาสร้างในเมืองพุกาม เรียกว่า วัด “มหาโพธิ” Mahabohi วัด ๑

ตรงนี้จะแทรกอธิบายลงสักหน่อย ด้วยพระเจดีย์โบราณแบบมหาโพธิเจดีย์มีอยู่ ๓ องค์ เผอิญฉันได้เคยเห็นแก่ตาตนเองทั้งนั้น องค์เดิมอยู่ที่เมืองพุทธคยาในอินเดีย องค์ที่ ๒ พระเจ้าติโลมินโลถ่ายแบบมาสร้างที่เมืองพุกามดูขนาดจะเท่ากับองค์เดิม องค์ที่ ๓ อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ชาวเมืองเรียกกันว่า “วัดเจดีย์เจ็ดยอด” สร้างลดขนาดลงมาเปนอย่างย่อม เห็นได้ว่าถ่ายแบบต่อๆ กันมา ก็ศักราชรัชชกาลของพระเจ้าติโลมินโลอยู่ในระวาง พ.ศ. ๑๗๕๓ จน พ.ศ. ๑๗๗๗ ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ต้องสร้างเมื่อภายหลัง พ.ศ. ๑๗๕๓ และสร้างในสมัยเมื่อเมืองเชียงใหม่ยังเรียกชื่ออื่นและยังเปนประเทศราชขึ้นเมืองพุกาม เพราะเมืองเชียงใหม่เดี๋ยวนี้พระเจ้ามังรายสร้างและขนานนามว่า “เชียงใหม่” ต่อเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙

วัดสำคัญที่พระเจ้าติโลมินโลสร้างเรียกว่าวัด “ติโลมินโล” สร้างตรงที่ทำพิธีตั้งเสวตรฉัตรเสี่ยงทาย อันเปนเหตุที่จะได้ทรงรับรัชชทายาท วัดนี้นับเปนวัดใหญ่ซึ่งสร้างเปนที่สุดในเมืองพุกาม อนึ่งในรัชชกาลพระเจ้าติโลมินโล พระพวกพระสงฆ์นิกายลังกาวงศเจริญรุ่งเรืองถึงสามารถแต่งหนังสือภาษามคธขึ้นในเมืองพะม่าหลายคัมภีร์ ปรากฏว่าพระธรรมวิลาศผู้เปนศิษย์ของพระอานันทเถรที่มาจากลังกาคราวแรก แปลคัมภีร์ธรรมศาสตร์จากฉะบับ (ภาษาสันสกฤต) ในเมืองมอญเปนภาษามคธ แต่ฉะบับสูญไปเสียแล้ว ความเหล่านี้ส่อให้เห็นว่าสมัยรัชชกาลพระเจ้าติโลมินโลนั้น วิชาวรรณคดีก็เจริญด้วย พระเจ้าติโลมินโลครองราชสมบัติอยู่ ๒๔ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๗

พระเจ้ากยอชวา Kyawawa ราชบุตรได้รับรัชชทายาท นับเปนพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๐ ซึ่งครองเมืองพุกาม เมื่อก่อนเสวยราชย์เห็นจะเปนศิษย์พระมหาเถรสีหมหาอุบาลี ซึ่งได้เปนมหาสังฆปริยนายกต่อพระมหาเถรอุตราชีวะมา ทรงศึกษาทราบภาษามคธแตกฉานพาพระหฤทัยโน้มไปทางพระสาสนา เมื่อได้เสวยราชย์ว่าราชการแผ่นดินอยู่จนเจ้าอุชานะ Uzana ลูกเธอพระองค์ใหญ่เจริญพระชันษาแล้ว ก็มอบราชการบ้านเมืองให้เจ้าอุชานะบังคับบัญชา ส่วนพระองค์ทรงบำเพ็ญแต่การบำรุงพระสาสนากับแต่งหนังสือมาจนสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๓ เสวยราชย์อยู่ ๑๖ ปี

เจ้าอุชานะได้รับรัชชทายาท นับเปนพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๑ ที่ครองเมืองพุกาม ในพงศาวดารพะม่าว่าพระเจ้าอุชานะโปรดแต่การกิฬากับชอบเที่ยวล่าสัตว์ มอบราชการบ้านเมืองให้มหาอำมาตย์ชื่อ “ราชสิงห์กัณ” yazathinkyan ว่ากล่าวต่างพระเนตรพระกรรณ การบ้านเมืองก็ตกอยู่ในอำนาจมหาอำมาตย์คนนั้น ครั้งหนึ่งพระเจ้าอุชานะไปเที่ยวโพนช้าง คล้องติดช้างเถื่อนกำลังสับมัน ชนช้างพระที่นั่งล้มพระเจ้าอุชานะสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๗๙๗ เสวยราชย์อยู่ได้ ๔ ปี

พระเจ้าอุชานะมีราชบุตร ๒ องค์ ทรงนามว่า “สิงคสุ” Thingthu เปนลูกพระมเหษีองค์ ๑ ทรงนามว่า “นรสีหปติ” Narathihapateเปนลูกพระสนมองค์ ๑ เจ้าสิงคสุมีสาเหตุวิวาทกับมหาอำมาตย์ราชสิงหกัญมาแต่ก่อน มหาอำมาตย์คนนั้นมีอำนาจในราชการจึงชวนข้าราชการให้พร้อมใจกันเชิญเจ้านรสีหปติขึ้นครองราชสมบัติ นับเปนพระเจ้าราชาธิราชองค์ที่ ๑๒ และเปนองค์ที่สุด ซึ่งครองเมืองพุกาม

พอพระเจ้านรสีหปติเสวยราชย์รอบรู้ราชกิจแล้ว รู้สึกว่ามหาอำมาตย์ราชสิงหกัณเอาอำนาจไว้ในเงื้อมมือหมดก็ให้ถอดจากตำแหน่งแล้วให้เนรเทศไปเสีย ในไม่ช้าก็เกิดขบถที่เมืองเมาะตะมะและเมืองมัจฉคีรีทางตวันตกขึ้นพร้อมกัน ผู้อื่นไม่สามารถจะปราบปรามได้ ต้องให้หามหาอำมาตย์ราชสิงหกัณกลับเข้าไปเปนแม่ทัพ ก็สามารถปราบขบถราบคาบได้ทั้ง ๒ แห่ง แต่พอเสร็จสงครามแล้วเผอิญมหาอำมาตย์ราชสิงหกัณป่วยถึงแก่กรรมเสียไม่ทันกลับเข้าไปเมืองพุกาม พระเจ้านรสีหมีราชบุตร ๓ องค์ ราชบุตรองค์ใหญ่ทรงนามว่า “อุชานะ” Uzana ให้ไปครองเมืองพะสิมอันเปนเมืองท่าอยู่ใกล้ปากน้ำเอราวดี ให้ราชบุตรองค์กลางทรงพระนามว่า “ละยอชวา” Kyawswa ครองเมืองทะละ (ที่เปนเมืองร่างกุ้งบัดนี้) แต่ราชบุตรองค์น้อยอันทรงนามว่าเจ้า “สีหลุ” Thihathu นั้น พระเจ้านรสีหปติไม่วางพระหฤทัยจึงให้อยู่ที่ในเมืองพุกาม ตั้งแต่สิ้นมหาอำมาตย์ราชสิงหกัณแล้วก็ไม่มีตัวข้าราชการซึ่งทรงสติปัญญาสามารถ ถึงกระนั้นถ้าในเมืองพะม่า มีเหตุการณ์เพียงเช่นเปนมาแต่ก่อน ราชอาณาเขตต์เมืองพุกามก็จะยังอยู่มาได้อีก แต่เผอิญพวกชาว “มงโคล” Mongol มาได้เมืองจีน เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๓ ตรงในรัชชกาลนั้น พระเจ้ากุบลายขาน Kublia Khan ตั้งราชวงศหงวนครองประเทศจีนแล้วขยายอาณาเขตต์ไปทางตวันออกจนได้เมืองนันเจา ซึ่งเปนเมืองหลวงไทยมาแต่ก่อน รวม Annex ไว้ในราชอาณาเขตต์ ให้เรียกว่ามณฑลฮุนหนำ “Yunnan (อันเปนเหตุที่พวกไทยพากันทิ้งภูมิลำเนาอพยบเพิ่มเติมลงมาในประเทศสยาม และทางประเทศพะม่าตลอดไปจนเมืองจติเขาเกิงเมืองอัสสัมต่อแดนอินเดีย) อุปราชจีนที่เมืองฮุนหนำให้มาทวง “ก้อง” ณ เมืองพุกาม ด้วยอ้างว่าพระเจ้าแผ่นดินพะม่าได้เคยส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนมาแต่ก่อน พระเจ้านรสีหปติไม่ยอม “จิ้มก้อง” อุปราชบอกไปยังเมืองหลวง พระเจ้ากุบลายขานจึงให้ทูตมาจากเมืองหลวงอีกครั้งหนึ่งถือรับสั่งบังคับให้เมืองพะม่ายอมเปนประเทศราชขึ้นจีนโดยดี ทูตจีนที่มาจากเมืองหลวงเห็นจะมาวางโตก้าวร้าวต่างๆ ในพงศาวดารพะม่ากล่าวแต่ว่าไม่ยอมถอดเกือกในที่เฝ้า พระเจ้านรสีหปติว่าทูตจีนมาดูหมิ่นให้จับฆ่าเสีย แล้วแต่งกองทัพไปตีเมืองกันงาย (อยู่ต่อเมืองพาโมไปข้างเหนือ) ซึ่งเคยเปนเมืองขึ้นของพะม่าแล้วกลับใจไปขึ้นแก่จีน อุปราชฮุนหนำก็ได้กองทัพจีนยกลงมาช่วยเมืองกัสงาย ตีกองทัพพะม่าแตกพ่าย พอข่าวรู้ถึงเมืองพุกามพระเจ้านรสีหปติก็ตกพระหฤทัย คิดว่าจีนคงจะยกกองทัพลงมาตีถึงเมืองพุกาม ก็ให้เตรียมการป้องกันพระนครเปนโกลาหล ในพงศาวดารพะม่าว่าให้รื้อวัดเสียเปนอันมาก เพื่อเอาอิฐและดินไปถมทำสนามเพลาะ ถ้าเช่นนั้นสันนิษฐานว่าคงรื้อแต่วัดที่ซวดเซหักพังอยู่แล้ว วัดที่เปนของดีงามยังเหลืออยู่ทั้งนั้น แต่การตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกครั้งนั้น เห็นจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในพระนคร เช่นเกิดมีพวกคิดขบถเปนต้น พระเจ้านรสีหปติเห็นไม่ปลอดภัย จึงย้ายราชสำนักจากเมืองพุกามหนีลงไปยังเมืองพะสิม แต่เวลาข้าศึกจีนยังไม่มาถึงพระนคร ข้อนี้เปนเหตุให้คนพากันดูหมิ่น ถึงเรียกกันว่า “ตะโรกปเยมิน” Tarokpyemin แปลว่า “พระเจ้าหนีจีน” The King who fled from the Chinese เมื่อภายหลัง แต่ที่จริงครั้งนั้นกองทัพจีนมิได้ตามลงมา เพราะพวกทหารจีนเกิดระส่ำระสายด้วยทนระดูร้อนในแดนพะม่าไม่ไหว พระเจ้ากุบลายขานจึงให้กองทัพกลับไปเสียครั้งหนึ่ง ฝ่ายพระเจ้านรสีหสุร เมื่อทราบว่ากองทัพจีนไม่ยกลงมาตีเมืองพุกามดังคาด ก็ย้ายราชสำนักกลับขึ้นไปจากเมืองพะสิม แต่เมื่อไปถึงเมืองแปรพบเจ้าสีหสุราชบุตรองค์น้อยคุมกำลังจากเมืองพุกามมาตั้งดักอยู่ แล้วบังคับให้พระเจ้านรสีหสุรเสวยยาพิษสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๐ เสวยราชย์ ได้ ๓๖ ปี

พอพระเจ้านรสีหปติสิ้นพระชนม์ เมืองประเทศราชและเมืองพระยามหานครที่เคยอยู่ในราชอาณาเขตต์ก็พากันตั้งเปนอิสสระ เจ้าสีหสุทำกลอุบายลงไปยังเมืองพะสิมเหมือนอย่างจะไปเชิญเจ้าอุชานะพี่ขายใหญ่ขึ้นเสวยราชย์ เวลานั้นเจ้าอุชานะประชวรอยู่ ได้ทีก็ฆ่าเจ้าอุชานะเสียแล้วยกกองทัพไปยังเมืองทะละ แต่เจ้ากะยอชวาพี่ชายองค์กลางรู้เท่าจะต่อตู้ เจ้าสีหสุก็ไถลเลยไปตีเมืองพะโคเลยถูกธนูข้าศึกสิ้นชีพ

อุปราชเมืองฮุนหนำรู้ว่าพระเจ้านรสีหปติสิ้นพระชนม์และเมืองพะม่าเปนจลาจล เห็นได้ทีก็ยกกองทัพจีนลงมาตีได้เมืองพุกามใน พ.ศ. ๑๘๒๐ นั้น นับเวลาที่เมืองพุกามเปนราชธานีของพระเจ้าราชาธิราช ครองเมืองพะม่ามาได้ ๒๔๐ ปี เมื่อจีนได้เมืองพุกามแล้วเมืองขึ้นที่แยกกันเปนอิสสระอยู่ กลัวจีนจะไปตีก็มาอ่อนน้อมยอมเปนเมืองขึ้นต่อจีน เมืองไหนมายอมขึ้นจีนก็ยอมให้เมืองนั้นคงอยู่โดยลำพัง เมืองในประเทศพะม่าก็แยกกันเปนหลายอาณาเขตต์ล้วนขึ้นต่อจีนแต่นั้นมา ในพงศาวดารพะม่าว่าพระเจ้ากุบลายขานตั้งเจ้ากะยอชวาราชบุตรองค์กลางของพระเจ้าสีหปติ ซึ่งเปนเจ้าเมืองทะละอยู่ก่อน เปนเจ้าประเทศราชครองเมืองพุกาม แต่แบ่งเอาที่มณฑลกอกเส Kaukse ข้างฝ่ายเหนือ ซึ่งในเวลานั้นมีพวกไทยใหญ่ลงมาตั้งทำไร่นาอยู่เปนอันมาก ตั้งเปนมณฑลต่างหากให้ไทยใหญ่ ๓ คนพี่น้องปกครอง ต่อมาพวก ๓ คนนั้นคิดกลอุบายปลงพระชนม์เจ้ากะยอชวาเสีย แล้วชวนพวกไทยใหญ่ยกกองทัพลงมาตีเมืองพุกามได้ให้เผารั้ววังบ้านเรือนซึ่งในสมัยนั้นล้วนสร้างด้วยไม้เสียหมด เมืองพุกามก็เลยเปนเมืองร้าง แม้ถึงสมัยเมื่อพะม่ามอญกลับตั้งเปนอิสระได้ดังปรากฎในเรื่องราชาธิราช เมืองพุกามก็เปนแต่เมืองขึ้นของพะม่าสืบมา เรื่องตำนานเมืองพุกามมีมาดังนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ