วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม (ท่อน ๑) ประกอบด้วยรูปฉาย ๓ รูป ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ตามลายพระหัตถ์ตรัสใช้คำว่า “อุปเทแก้หูหนัก” นั้น ผิดกับเจตนาที่กราบทูลซึ่งเพียงจะให้ทรงทราบความสังเกตตัวของตัวได้อย่างไรเท่านั้น ไม่มีการแก้อยู่ในนั้นเลย แต่หญิงพูนเธอเก็บเอาความที่สังเกตได้ไปปฏิบัติทดลองเพื่อแก้นั้นก็ดีแล้ว ขอได้โปรดบอกให้เธอทราบตามที่สังเกตได้ แต่ไม่ได้กราบทูลมาด้วยอีกว่า ถ้าพูดช้าๆ อย่างหมอจันด์ เปนทางที่จะฟังเข้าใจได้ดีกว่าพูดเร็วอย่างอัลบาสเตอร์

เครื่องแต่งตัวแทงวิสัยนั้น ก่อนที่ทูลถามมาได้ไปถามหาที่คลังในแล้ว ด้วยเชื่อใจว่าคงเก็บไว้ที่นั้น แล้วก็ได้ความว่าเก็บไว้จริงๆ แต่เจ้าพระยาวรพงศเรียกเอาออกมา ตามถามหาที่สำนักพระราชวังก็ไม่พบจำได้ก็เลือน จึงทูลถามมาเพื่อสอบความจำ เห็นจะถูกแล้วเปนเครื่องกระดาษอย่างกงเต๊ก ไม่ใช่ของทำอย่างถาวรเปนแน่

ทรงพระเมตตาโปรดประทานสแตมป์ใหม่ของอังกฤษไปเมื่อเวรก่อน เปนตัวจริงตีพิมพ์ด้วยสีคราม ดูงามจับใจขึ้นอีกมาก ได้เห็นหนังสือพิมพ์มีคนติสแตมป์นั้นอีก แต่คำตินั้นเห็นเหลวไหลว่าพระพักตร์อ่อนไปกว่ากาลนี้ตั้ง ๑๐ ปี ตามความเห็นเกล้ากระหม่อมในทางช่าง เห็นไม่จำเปนต้องใช้พระรูปปัจจุบันกาล ใช้รูปในกาลใดก็ได้ เลือกเอาที่งามเปนดี

เรื่องที่เมืองพะม่าตั้งคณะการเมืองตามชื่อพระเถรที่คนนับถือนั้นแปลกอยู่ ถ้าพบสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์จะเล่าถวายให้ท่านทราบ แต่ในเมืองไทยเห็นจะไม่มีอย่างนั้น

อ่านพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพุกามคราวนี้ ยังไม่สู้รู้สึกสนุกนักเพราะเปนตอนต้นซึ่งกล่าวถึงความเปนอยู่ในปัจจุบันกาลเปนปกีรณก หวังว่าคราวหน้าจะถึงที่ใฝ่ใจอ่านสนุกมาก แม้ในตอนต้นเปนแต่เรื่องปกีรณกก็ทำให้ทราบได้อยู่ ว่าในเมืองพุกามนั้นเต็มไปด้วยวัด เหมือนกับเมืองเก่าๆ ของเรา ข้อที่จับใจอย่างยิ่งก็เรื่องที่ตรัสตั้งเปนปัญหาขึ้น ในเรื่องที่พะม่าเรียกรักว่า “ลัก” คำนี้เคยทำเอาเกล้ากระหม่อมงงมาทีหนึ่งแล้ว คือเมื่อถอดหนังสือเขมร เรื่องราชาภิเษกพระเจ้ามณีวงศ์ ในหนังสือนั้นเขาเขียนเปน “ลาก” ดูสอบดิกชันรีเขมรเขามีเครื่องหมายไว้ให้รู้ว่าอ่านเสียงสั้น เหตุที่เปนเช่นนั้นก็เพราะเขมรไม่มีไม้ผัดใช้ สระอาจึ่งอ่านเสียงสั้นบ้างยาวบ้างไม่เฉียบขาดลงได้ ผู้ทำดิกชันรีจึงต้องทำเครื่องหมายลงไว้ ให้รู้ว่าอ่านเสียงสั้นหรือเสียงยาว เมื่อเขียน “ลาก” อ่านเสียงสั้นก็เปน “ลัก” เสียงตรงกับไทย แต่พยัญชนผิดกันไปคนละตัว เกล้ากระหม่อมได้นำเอาคำนี้ไปบอกพระพินิจวรรณการ พระพินิจตัดสินว่าของเขาถูก เพราะภาษาบาลีเรียก “ลาขา” เกล้ากระหม่อมต้องนิ่งระงับไว้ มาบัดนี้ได้ทราบเข้าอีกว่าพะม่าก็เรียก “ลัก” แล้วยังได้ทรงสอบสวน ฝรั่งก็เรียก “ลัคเคอ” เปอร์เซียเรียก “ลัค” ผสมกับเขมรก็เรียก “ลัก” หรือ “ลาก” และภาษาบาลีเรียก “ลาข” เราเรียก “รัก” คนเดียว ถึงห้าเอาหนึ่ง ทีไม่สู้ดี หันไปจะอาศัยจีนญี่ปุ่นก็พึ่งเปนเพื่อนไม่ได้ อนึ่งนึกได้ว่าวิธีแกะรักเปนเส้นถมทองนั้น ดูเหมือนจะเพิ่งได้เห็นเมื่อไม่นานนัก น่าจะเปนของคิดขึ้นใหม่ เคยเห็นมาก่อนนั้นเปนแกะเส้นถมด้วยรักสลับสีกัน อย่างกล่องที่ประทานแม่โตไป แล้วนึกได้ว่าได้เคยเห็นกล่องพะม่าอีกชะนิดหนึ่ง เขียนลายด้วยรักสีแกมทอง ลายที่เขียนนั้นโปนขึ้น ไม่เปนร่องลึกลงไป คงจะทำตามแบบจีนเช่นได้ทำไว้ที่หลังบานวัดอรุณเปนต้น ซึ่งเราเรียกว่าลายกำมะลอ แต่เดี๋ยวนี้พะม่าจะยังทำอยู่หรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ไทยเดี๋ยวนี้ไม่มีใครทำได้แล้ว ญี่ปุ่นถนัดมาก

อนุสนธิแต่ได้กราบทูลเรื่องหนังสือแจกงานศพมาในหนังสือเวรคราวก่อนนั้น ครั้นเมื่อวันที่ ๒ เดือนนี้มีงานฌาปนกิจศพนายเสียง พนมยงค์ ผู้บิดาหลวงประดิษฐมนูธรรม ที่สุสานวัดเทพศิรินทราวาส นับว่าเปนงานพิเศษได้ส่งดอกไม้ธูปเทียนไปให้ ได้หนังสือแจกชำร่วยมา ๘ เล่ม จะกราบทูลรายชื่อหนังสือให้ทรงทราบว่าเปนหนังสืออันใดบ้าง ดั่งบัญชีต่อไปนี้

๑ “คำแนะนำและข้อสกิดใจในการทำนา ของกรมเกษตรและการประมง” เจ้าภาพตีพิมพ์แจก เจ้าพระยายมราชเขียนประวัตินายเสียง พนมยงค์ ติดหน้าพร้อมด้วยรูปนายเสียง พนมยงค์ ปรากฏในคำนำว่านายเสียงเปนคนชอบการทำนา คงเปนเพราะเหตุนั้นจึงตีพิมพ์หนังสือเรื่องทำนาแจก

๒ “ปาฐกถาเรื่องใจความสำคัญในพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๕” มีตราพุทธธรรมสมาคม เข้าใจว่าเปนของสมาคมนั้นให้ช่วย

๓ “ความเปนอยู่ของประชาชนสมัยพุทธกาล” นายปพาฬ บุญ-หลง ขอต้นฉะบับแต่หอสมุดไปตีพิมพ์ให้ช่วย ต้นฉะบับนั้นพนักงานหอสมุดเรียบเรียงตอนจากหนังสือนางริส เดวิดส์ เปนพื้น

๔ “มูลเหตุแห่งสาสนา” หลวงวิจิตรวาทการเรียบเรียงตีพิมพ์ให้ช่วย

๕ “คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตีพิมพ์ให้ช่วย

๖ “คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัทและสมาคม” โรงพิมพ์อักษรนิตตีพิมพ์ให้ช่วย

๗ “พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช ๒๔๗๗” นายร้อยตำรวจโทพัฒน์ นีลวัฒนานนท์ ให้ช่วย

๘ “การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม” (หมายถึงการเลิกศาลของชาติต่างประเทศในกรุงสยาม) นายดิเรก ชัยนาม คัดจากที่ตนเรียบเรียงลงพิมพ์ในที่อื่นก่อนนี้ มาตีพิมพ์ให้ช่วย

หากเมื่อทรงตรวจบัญชีนี้ แล้วมีพระประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรหนังสือฉะบับใดโปรดบอกไปให้ทราบ จะจัดส่งมาถวาย

ขอประทานกราบทูลข่าวชายไสให้ทรงทราบ ด้วยฝ่าพระบาททรงพระกรุณาเอาพระทัยใส่อยู่ เมื่อวันที่ ๔ เดือนนี้ เธอได้รับหนังสือมาแต่กรมศิลปากร นัดให้เธอไปหาอธิบดีกรมศิลปากรในวันที่ ๕ ว่าจะบรรจุเธอเข้ารับราชการในกรมศิลปากร ครั้นวันที่ ๕ ชายไสไปหากลับมาเล่าว่าเขาจำได้ เมื่อเธอยังเล็กเขาบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ เธอติดพระครูหงวนไปเรียนหนังสืออยู่ที่วัดมหาธาตุ เขานัดให้ไปเข้าทำงานในวันจันทร์ที่ ๙ เดือนนี้

ยังอีกสิ่งหนึ่ง ในต้นฉะบับกฎมณเทียณบาลพะม่า ซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไป ตอนกล่าวด้วยพระมเหษี ๘ ตำแหน่ง บอกชื่อตำแหน่งเปนภาษาพะม่า แต่ไม่มีตัวอักษรโรมันเขียนกำกับคำไป กลัวจะเขียนชื่อตำแหน่งเหล่านั้นไว้ระยะคำไม่ถูก และอ่านไม่ถูก จึงได้บันทึกถวายมา แม้ทรงพระเมตตาโปรดสอบต้นฉะบับภาษาอังกฤษ จดอักษรโรมันประทานไปทุกชื่อได้ จะเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)

  2. ๒. หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ