วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ เดือนนี้ ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม (ท่อนที่ ๓) กับทั้งรูปฉายเครื่องแห่กระบวนศพจีนด้วยอีก ๑๓ รูป ได้รับประทานแล้ว พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

แทงวิสัยนั้นเกล้ากระหม่อมก็ได้นึกเหมือนกัน ว่าทีจะเปนปีไส แต่ไปจนใจอยู่ที่ถือแต่หอกไม่เห็นมีโล่ห์ ทำเอาถอยหลังไป แล้วก็ไปนึกถึงตัวอย่างโคลงดั้นบทหนึ่งขึ้นได้ ที่ว่า

“จรีกางห่มหอกเสื่อง แทงเขน
สองประยุธยืนยัน ย่องย้อง
นางอั้วเพงผัวเอน ควายเสี่ยว
สองประจันมือจ้อง จ่อแทง”

โคลงนี้ตีความยากยิ่ง เข้าใจว่าสองบาทต้นกล่าวถึงแทงวิสัย สองบาทปลายกล่าวถึงกะอั้วแทงควาย น่าจะคัดมาจากลิลิตโสกันต์ครั้งไหนคราวหนึ่ง ซึ่งยังไม่เคยพบต้นฉะบับหนังสือนั้นเลย ถ้าหากว่ากล่าวถึงแทงวิสัยจริง ๆ ก็นับว่าเปนปีไสถูกแน่ เพราะในคำโคลงนั้นมีคำว่า “แทงแขน” ต้องเปนคู่แทงถือหอกกับปีไสอย่างมลายู “จรีกาง” จะหมายความว่าอะไร รูปภาพซึ่งแต่งตัวเหมือนคู่แทงวิสัยนั้น คนเรียกว่า “เซี่ยวกาง” บ้าง เรียก “เขี้ยวกาง” บ้าง เห็นจะคลาดเคลื่อนทั้งสองอย่าง จรีกางก็น่าจะหมายถึงเซี่ยวกางหรือเขี้ยวกางนั้นเอง อันเซี่ยวกางหรือเขี้ยวกางนี้ติดใจสงสัยอยู่เปนอันมาก หากดูลักษณแห่งรูปเห็นว่าเก่ามาก และได้ทำไว้ตามประตูมีอยู่ดาษดื่นทุกหนทุกแห่งนมนานมาแล้ว แต่ไม่เคยเห็นหนังสือเก่าเรียกชื่อรูปนั้นไว้ในเรื่องไรเลย

เรื่องที่ต้องเสด็จไปขึ้นศาลนั้น ได้ทราบเค้าจากแม่สงวนไปเล่าให้ฟังแล้ว ว่าพระกันภยุบาทว์ออกมาเฝ้า ทูลเชิญเสด็จเปนพยานในคดีถูกไล่บ้าน แม่สงวนว่าฝ่าพระบาทไม่ทรงรับ ทำให้เข้าใจว่าจะพ้นไปแล้วกลับมาทราบข่าวว่าไม่พ้น ต้องเสด็จไปให้การต่อศาลจนได้ แต่ฟังตรัสเล่าดูเจ้าพนักงานศาลอังกฤษเขาจัดการรับเสด็จอย่างระวังที่สุด สมควรทุกอย่าง น่าขอบใจเขา

เรื่องหญิงชาวเดนมารกมารีดจะเอาเรื่องรบฝรั่งเศส อาการอยู่ข้างหนักมาก ฝ่าพระบาทตรัสผลักไสให้พ้นไปเสียได้ดีหนักหนา พ้นทุกข์สำเร็จทุกข์

เรื่องการปลงศพเมียมหาเศรษฐีจีนที่ปีนังนั้น พิจารณาดูรูปฉายรู้สึกตื่นใจเปนอันมาก เครื่องแห่เขาทำประณีตงามจริง ๆ รู้สึกว่าช่างจีนที่ปีนังมีมาก แลฝีมือก็ดีกว่าช่างจีนในเมืองไทย เหตุที่มีเช่นนั้นก็เพราะมีคนออกเงินมากให้ทำเปนปัจจัย คิดดูการศพไม่ว่าชาติใดภาษาใด เห็นจะทำสำเร็จไปด้วยเครื่องสดเครื่องกระดาษ เปนแบบฉะบับเหมือนกันหมดมาทำเปนของแห้งกันขึ้นก็ในภายหลัง แม้พระเบญจาทองคำซึ่งจัดว่าเปนของแห้ง เมื่อเสร็จงานแล้วก็รื้อทิ้งเช่นเครื่องสดเหมือนกัน เมื่อดูรูปเครื่องแห่ศพของจีนอันงดงามนั้นแล้วก็เกิดญาณขึ้นในใจ ว่านี่แหละเข้าสุภาสิตที่ว่า “ช่างอยู่แก่จีน” แล้วก็นึกไปถึงหนังสือพิมพ์ซึ่งเขาเคยลงบ่น ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างประปาขึ้น ก็โดยพระมหากรุณาเพื่อพระราชทานความปกป้องผองภัยอันจะพึงเกิดด้วยไข้เจ็บแก่ประชาราษฎร์ คือคนไทยโดยฉะเพาะ แต่การนั้นไม่เปนไปสมพระราชประสงค์ ด้วยมีชาวต่างประเทศ (คือจีน) เข้ารองน้ำเอาไปขายเปนอาณาประโยชน์แห่งตน ตามคำที่ว่าเช่นนี้ก็ไม่เห็นมีใครห้ามไม่ให้ไทยมารอง เห็นเปนตกเข้าสุภาสิตวรรคที่สองที่ว่า “สินอยู่แก่ไทย”

ขอบพระเดชพระคุณเปนล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดจดหนังสือฝรั่งชื่อพระมเหษี ๘ ตำแหน่งของพะม่าประทานไป ได้ส่งไปให้ลงแทรกในต้นฉะบับแล้ว อ่านเรื่องเที่ยวเมืองพุกามท่อนที่ ๓ คราวนี้ สะดุดใจในข้อขอพระไตรปิฎก เห็นว่าพระไตรปิฎกเปนของที่พึงจะให้ได้ง่ายกว่าช้างเผือกมาก เพราะพระไตรปิฎกเปนของทำขึ้นได้ ช้างเผือกเปนของทำขึ้นไม่ได้ ถ้าพูดขอแต่โดยดีก็มีทีที่จะได้อยู่มาก แม้พูดขออย่าง “ข่มหมู” ก็ต้องรบกันเท่านั้น จะเอาให้ได้หรือไม่ให้ได้ย่อมสำเร็จที่คำพูด ขมาบาปเสียเถิด นึกว่าพาลหาเหตุจะรบเปนแน่

อีกประการหนึ่ง ข้อซึ่งอ้างว่าเมืองไทยเมืองเขมรมีพระพิมพ์และเงินตราเมืองพุกาม เปนพยานว่าเคยเปนเมืองขึ้นเมืองพุกาม เห็นว่าไม่จำเปนที่เมืองไหนมีของเมืองใดจะต้องเปนเมืองขึ้นเมืองนั้น คนเคยไปเมืองลังกาเขามาเล่าว่า ไปเห็นพระพุทธรูปไทยชะนิดผ้าห่มเปนลายมีอยู่ที่วิหารพระเขี้ยวแก้ว คำนี้เปนหลักอ้างว่าเมืองลังกาไม่เคยขึ้นเมืองไทยก็ยังมีพระพุทธรูปของไทยได้ พระพุทธรูปนั้นเปนของที่พุทธศาสนิกชนนับถือ อาจนำไปที่ไหนก็ได้ ยิ่งเปนพระพิมพ์ด้วยแล้วก็ย่อมนำไปได้ง่ายมาก แม้เงินตราก็เหมือนกัน อาจติตตัวพ่อค้าไปตกอยู่เมืองไหนก็ได้ แต่ที่ว่านี้ว่าจำเพาะความเปนไปในพระพุทธรูปกับเงินตรา ไม่ได้ตั้งใจจะว่าไปถึงเมืองไทยเมืองเขมรเคยเปนเมืองขึ้นเมืองพุกามหรือเปล่านั้นด้วย

เมื่อวานนี้หญิงเป้า มาขอให้รดน้ำผูกมือให้แทนเด็จพ่อ ในวันอายุครบสองรอบจักรแห่งปี ออกรู้สึกตื่นใจ ด้วยสังเกตเห็นความเปนไปของเธอดูยังเด็กแท้ๆ ควรหรืออายุเปน ๒๔ แล้ว ได้ทำให้เธอตามประสงค์ และให้พรแก่เธอ เธอบอกว่าวันที่ ๕ ธันวาคมจะออกมาปินัง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หม่อมเจ้าหญิงเราหิณาวดี ดิศกุล ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ถึงชีพิตักษัย วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๒๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ