เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเลภาคปลาย (ท่อนที่ ๓)

เวลาบ่ายวัน (จันทรที่ ๒๗ มกราคม) นี้ ไปที่สำนักงานกรมตรวจโบราณคดี Archaeological Survey Department เพื่อจะเลือกซื้อรูปฉายของโบราณต่าง ๆ ในเมืองพะม่าที่เขามีขาย ออกจากนั้นไปดูวัดสะลินและวัดสังฆราช วัดสะลินได้พรรณนามาแล้วจะพรรณนาแต่ ๒ แห่งต่อไป

สำนักงานกรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่านั้น ตั้งอยู่ที่ตึกรัฐบาลเช่าแห่งหนึ่ง ดูข้างนอกก็ไม่เปนสง่าราษี เข้าไปข้างในก็เห็นจัดแต่เปนอย่างอาศัยชั่วคราวไม่เปนระเบียบเรียบร้อย ด้วยการตรวจโบราณคดีในเมืองพะม่า แต่ก่อนมาดูเหมือนจะอาศัยแต่ตัวบุคคลที่เปนเจ้ากรมเปนสำคัญ ได้ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง (แต่มิใช่เปนชาติอังกฤษเปนเจ้ากรมต่อกันมา ๓ คน คือ ดอกเตอร์ ฟอร์ชามเมอร์ Dr Forchhammer คนหนึ่ง ศาสตราจารย์ ตอ เสียน โก Prof. Taw Sien Ko (จีน) คนหนึ่ง แล้วถึงศาสตราจารย์ ชาล ดือรอยเสลล์ Prof. Chas Duroiselle (ฝรั่งเศส) อีกคนหนึ่ง เมื่อศาสตราจารย์ดือรอยเสลล์ อายุถึงกำหนดออกรับเบี้ยบำนาญแล้ว ทำนองจะหาคนซึ่งทรงคุณวุฒิเหมือนอย่างผู้ที่เปนเจ้ากรมมาแต่ก่อนไม่ได้ จึงโอนกรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าไปเปนสาขาของกรมตรวจโบราณคดีอินเดีย ตั้งพะม่าคนหนึ่งให้เปนเจ้ากรมอยู่ ๓ ปี แล้วออกจากตำแหน่งไป จึงให้ อู เงวลีน ซึ่งเคยเปนศิษย์ของศาสตราจารย์ ดือรอยเสลล์ เปนผู้รั้งตำแหน่งเจ้ากรมก่อนฉันไปไม่ช้านัก แม้เมื่อฉันกลับมาถึงปีนังแล้ว ได้รับจดหมายของศาสตราจารย์ ดือรอยเสลล์ ฉะบับหนึ่ง ส่งรูปฉายที่ฉันไปว่าซื้อมา ว่าเปนของรัฐบาลให้มิต้องซื้อและบอกว่าเดี๋ยวนี้รัฐบาลขอให้แกกลับเข้าทำงานเปนเจ้ากรมตรวจโบราณคดีอีกปีหนึ่ง คงเนื่องมาจากการแยกเมืองพะม่าออกจากอินเดีย หวังใจว่ากรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าจะกลับรุ่งเรืองขึ้น

วัดสังฆราชนั้น อยู่ตรงประตูเมืองมัณฑเลทางด้านตะวันออก เปนวัดสังฆาวาส พระเจ้ามินดงทรงสร้างพร้อมกับเมืองมัณฑเล ใหญ่โตกว่าวัดสังฆาวาสแห่งอื่นและทำกำแพงวัดเปน ๒ ชั้น ในระวางกำแพงชั้นนอกกับชั้นในมีกุฎิปลีกรายเปนระยะไป คงเปนเพราะแต่เดิมเจ้านายและพวกลูกผู้ดีบวชอยู่กับพระสังฆราชโดยมาก ถึงเดี๋ยวนี้จำนวนพระสงฆ์ก็มีมาก แต่เขาว่าเปนเพราะวัดมีน้อยลง ด้วยวัดเก่าถูกไฟไหม้ และปรักหักพังไปเสียมาก วัดมีขึ้นใหม่ไม่เท่าจำนวนที่สูญไป พระสงฆ์จึงต้องไปรวมอยู่วัดเดียวกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

พิเคราะห์ตำหนักของพระลสังฆราช แผนผังก็เหมือนอย่างวัดสังฆาวาสอื่นที่พรรณนามาแล้ว เปนแต่ทำใหญ่โตฝีมือทำได้ไม่สู้ประณีต เพราะรื้อเอาของเดิมที่เมืองอมรบุระมาใช้โดยมาก เห็นแปลกอย่างหนึ่งที่ในวัดนี้มีโบสถ์อยู่ริมกำแพง แต่พิจารณาไปก็เห็นได้ว่าเปนของทำขึ้นใหม่อย่างว่า “เมื่อเร็วๆ นี้” เปนแต่โรงไม้ ๓ หรือ ๔ ห้อง หลังคามุงสังกะสีลูกฟูกไม่มีฝาและไม่มีเครื่องตกแต่งอย่างใด แม้จนชุกชีที่ตั้งพระพุทธรูปก็ไม่เห็นมี ถ้าไม่มีหลักสีมาปักอยู่รอบโรงนั้น ใครเห็นก็คงนึกว่าโรงสำหรับเก็บไม้หรือไว้ปูน จึงเข้าใจว่าเห็นจะสร้างโบสถ์นั้นขึ้น เมื่อพระสังฆราชแก่ชะรา (เวลานี้อายุถึง ๙๐ ปี) ไม่สามารถไปให้อุปสมบทห่างไกลได้เหมือนแต่ก่อน โบสถ์ของหลวงก็คงมีที่เมืองมัณฑเล แต่อยู่ที่ไหนฉันไม่ทราบ

ถ้าหากจะมีใครสงสัย ว่าเพราะเหตุใดฉันไปถึงวัดแล้วจึงไม่พยายามที่จะรู้จักกับพระสังฆราช เหมือนอย่างชอบพบพระเมื่อไปเมืองเขมรและเมืองลังกา ขอชี้แจงข้อนี้ว่าเมืองเขมรพระเถระผู้ใหญ่พูดภาษาไทยได้โดยมาก พระเถระที่เมืองลังกาก็มักพูดภาษาอังกฤษได้ สนทนากันได้ตัวต่อตัวไม่ลำบาก แต่ที่เมืองพะม่า ฉันสืบถามได้ความว่าไม่มีพระเถระที่พูดภาษาอังกฤษหรือภาษาไทยได้ สนทนากันจะต้องมีล่าม ไต่ถามอะไรไม่ได้สดวกเหมือนพูดกันเองจึงเกิดท้อด้วยเหตุนี้ ถึงกระนั้นก็มิได้ทอดทิ้งที่จะหาความรู้เรื่องสงฆมณฑลในเมืองพะม่า ได้อาศัยอ่านหนังสือบ้าง ไต่ถามอาจารย์ อู โปกยา ที่เจ้าฉายเมืองพามาให้รู้จักบ้าง ได้เรื่องราวดังจะพรรณนาต่อไปนี้

๑. สมณศักดิ์ในเมืองพะม่านั้น พะม่าเรียกภิกษุสงฆ์รวมกันทั้งหมดว่า “ระหัน” Yahan (มาแต่ “อรหันต์” ทำนองเดียวกับที่ไทยเราเรียกภิกษุสงฆ์ทั้งหมดว่า “พระ”) แต่มีคำเรียกฉะเพาะตัวต่างกันตามสมณศักดิ์จะกล่าวตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นไปหาชั้นสูง คือ

พระภิกษุบวชใหม่ยังไม่ถึงเปนเถระ เรียก “อุปสิน” Upasin (มาแต่คำ “อุปสัมบัน”)

พระเถระและสมภารวัด เรียกว่า “ปงคยี” Pongyi

พระมหาเถระ (สามัญ) เรียกว่า “สะยะ” Saya (มาแต่คำ “อาจารย์”)

พระมหาเถระที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสัญญาบัตร เรียกว่า “สะยะ-ดอ” Saya-daw แต่มักเรียกกันโดยย่อว่า “สะดอ” Sadaw (ชั้นนี้เห็นจะเทียบเท่า “พระครู” ของไทย) สัญญาบัตรนั้นว่าจารึกราชทินนามลงในแผ่นเหล็กและมีด้ามสำหรับถือ

พระมหาเถระชั้นสูง (เทียบเท่า “พระราชาคณะ”) เรียกว่า “ตะเสต สะยะดอ Tasiet Sayadaw พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานตราตำแหน่ง (แกะด้วยเหล็ก) เพิ่มสัญญาบัตรอีกอย่างหนึ่ง

พระสังฆราช พะม่าเรียกว่า “สาสนะ แบง” Thathana Baing สมณทูตพะม่าที่มารับพระบรมธาตุเมื่อรัชชกาลที่ ๕ มาเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สาสนะนัย” เปนสมณศักดิ์สูงสุด มีแต่องค์เดียว

สังฆราชเมืองพะม่ามีอำนาจบังคับบัญชาการ อันเปนส่วนพระธรรมวินัยได้สิทธิ์ขาด และมีกรม “มหาดาน” Mahadan (ทำนองกรมธรรมการของไทย) เปนพนักงานกระทำการตามคำสั่งของพระสังฆราชด้วย คำชี้ขาดของพระสังฆราชนั้นแม้พระเจ้าแผ่นดินจะทรงโต้แย้งขัดขวางก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีขึ้นอย่างหนึ่ง เวลาพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ ก็ทรงตั้งพระมหาเถระผู้เปนอาจารย์ของพระองค์เองมาแต่ก่อนเปนที่สังฆราช หรือว่าอีกนัยหนึ่ง เปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ก็เปลี่ยนพระสังฆราชด้วย การฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรจึงได้ปรองดองกันตลอดมา ครั้นเสียเมืองพะม่าแล้ว เมื่อรัฐบาลอังกฤษวางระเบียบการปกครองอย่างเมืองขึ้น ถือว่าไม่ควรจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสาสนา จึงยุบกรมธรรมการเสียด้วยกันกับกระทรวงทะบวงการต่าง ๆ อย่างเดิมของพะม่า และต่อมาเมื่อพระสังฆราชถึงมรณภาพก็ไม่ตั้งสังฆราชขึ้นใหม่ การไล่หนังสือก็เลยงดมาด้วย ในเวลาว่างพระสังฆราชอยู่ ๖ ปีนั้น เกิดรวนเรในสงฆมณฑลเพราะเหตุที่ไม่มีหัวหน้าบัญชาการ พวกพระราชาคณะกับขุนนางพะม่าที่ยังมีตัวอยู่จึงทำเรื่องราวเข้าชื่อกันร้องทุกข์ต่อรัฐบาลอังกฤษ เมื่อลอร์ดเคอสัน เปนไวสรอยมาตรวจการเมืองพะม่าดังกล่าวมาแล้ว รัฐบาลอังกฤษจึงให้กลับมีสังฆราชและกรมธรรมการกับทั้งมีการไล่หนังสือขึ้นอีก เปนแต่แก้ไขการบางอย่างให้เข้ากับวิธีปกครองของอังกฤษ คือ ๑ ในการเลือกสังฆราช ให้มีกรรมการพระมหาเถระกับหัวหน้าอุบาสกประชุมกันเปนพนักงานเลือก และรัฐบาลประกาศตั้งพระสังฆราชในพระนามของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ ๒ ในคดีที่เกี่ยวด้วยพระวินัย กรมธรรมการไม่มีอำนาจบังคับเหมือนแต่ก่อน แต่ให้ศาลบ้านเมืองบังคับตามคำชี้ขาดของพระสังฆราช ถ้าหากไม่ฝ่าฝืนกฎหมายฝ่ายอาณาจักร ๓ ให้กลับมีการไล่หนังสือเหมือนแต่เดิม แต่เปลี่ยนวิธีให้รางวัลเปนให้เงินตรา แทนอุปการอย่างอื่นที่พระเจ้าแผ่นดินเคยพระราชทาน

๒. ลักษณปกครองคณะสงฆ์นั้น ประเพณีเดิมพระสังฆราชเปนผู้บัญชาการสงฆมณฑลทั่วไป ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงทรงจัดให้มีมหาเถระสมาคม เปนที่ปรึกษาของพระสังฆราชด้วย การปกครองในท้องที่มีเจ้าคณะปกครองเปน ๓ ชั้น ชั้นที่หนึ่งพะม่าเรียกว่า “คายชก” (เห็นจะตรงกับ “เจ้าคณะจังหวัด”) ชั้นที่สองเรียก “คายโอ๊ก” (เจ้าคณะแขวง) ชั้นที่สามเรียกว่า “คายดอก” (เจ้าคณะหมวด) ฟังบังคับบัญชากันขึ้นไปโดยลำดับ การตั้งเจ้าคณะนั้น อธิการวัดประชุมกันเลือกเจ้าคณะหมวด เจ้าคณะหมวดประชุมกันเลือกเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะแขวงประชุมกันเลือกเจ้าคณะจังหวัด พระสังฆราชเปนผู้ตั้ง แต่ระเบียบการที่ว่ามานี้ใช้ได้เพียงในอาณาเขตต์พะม่าเหนือที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จะบังคับลงไปถึงอาณาเขตต์พะม่าใต้ที่อังกฤษปกครองไม่ได้ ถึงกระนั้นประเพณีสงฆ์ในอาณาเขตต์พะม่าเหนือทำอย่างไร พระสงฆ์ในอาณาเขตต์พะม่าใต้ก็พอใจกระทำตามด้วยความสมัก

๓. นิกายสงฆพะม่า พิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดาร พระสงฆ์ในเมืองพะม่ามักแยกกันเปนหลายนิกายมาแต่โบราณ ดังปรากฏในจารึกกัลยาณีที่พรรณนามาแล้ว แม้พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงพยายามรวมเปนนิกายเดียวกันมาหลายครั้ง ก็ไม่เปนได้ยืดยาว ถึงสมัยราชวงศอลองพระครองเมืองพะม่านับแต่ พ.ศ. ๒๒๙๖ เปนต้นมา พระสงฆ์พะม่าแยกกันอยู่เปน ๒ นิกาย เรียกว่า “โตนะ” นิกายหนึ่ง เรียกว่า “โยนะ” นิกายหนึ่ง ถือวัตรปฏิบัติผิดกันที่พวกโตนะไม่สู้เคร่งครัดนัก เช่นห่มคลุมแต่เมื่อเข้าไปบ้าน ถ้าเดินไปตามถนนหนทางเปนแต่ห่มดองเปนต้น แต่พระสงฆ์นิกายนี้คงเปนนิกายเก่ามีจำนวนมาก (ดูเปนทำนองเดียวกันกับที่เราเรียกว่า “มหานิกาย”) ฝ่ายโยนะนิกายนั้นเห็นจะตั้งขึ้นใหม่ (ทำนองพระสงฆ์ “ธรรมยุติกา”) ถือความประพฤติพระวินัยเคร่งครัดเปนสำคัญ มีจำนวนพระสงฆ์ไม่สู้มาก พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนทรงเลื่อมใสพระสงฆ์นิกายไหนนิกายนั้นก็เฟื่องฟูขึ้นเปนคราว ๆ ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงมีพระราชประสงค์จะสมานพระสงฆ์ ๒ นิกายให้กลมเกลียวกัน จึงให้ตั้งมหาเถระสมาคมมีพระมหาเถระทั้ง ๒ นิกายอยู่ในสมาคมนั้นด้วยกัน และสร้างสุธรรมศาลาขึ้นเปนที่สำหรับประชุมดังกล่าวมาในที่อื่นแล้ว ต่อมาในกาลครั้งหนึ่งเกิดกรณี ด้วยปรากฎว่ามีภิกษุประพฤติ์อานาจารชุกชุมขึ้นกว่าแต่ก่อน โปรดให้มหาเถระสมาคมปรึกษากันตั้งข้อบังคับระงับอานาจาร พวกมหาเถระที่ถือคติโยนะนิกายมีพระอกโปสะยะดอเปนหัวหน้า เห็นว่าควรตั้งข้อบังคับให้ภิกษุสงฆ์ประพฤติพระวินัยให้เคร่งครัดตามพุทธบัญญัติเปนต้นว่าห้ามมิให้เปนหมอดู ห้ามมิให้แปรธาตุ ห้ามมิให้รับเงิน ห้ามมิให้ซื้อขาย ห้ามมิให้ใส่เกือกในอุปจานวัด และห้ามมิให้กินหมากเวลานอกเพลเปนต้น แต่พระมหาเถระทางฝ่ายโตนะนิกาย เห็นว่าจะเปนการกวดขันเกินไป ควรให้วัตรปฏิบัติคงเปนไปอย่างเดิม ปราบปรามแต่พวกภิกษุที่ประพฤติอานาจาร พระสังฆราชเปนภิกษุโตนะนิกายบัญชาการตามพวกข้างมาก พระอกโปสะยะตอเกิดท้อใจก็ย้ายไปอยู่วัดในเมืองสะแคง แล้วประพฤติวัตรปฏิบัติตามที่เห็นชอบด้วยกันกับพระสงฆ์สาสนุศิษย์ แต่ยังร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์พวกพระสังฆราชอยู่อย่างเดิม พระเจ้ามินดงเห็นว่าเปนแต่ประพฤติวัตรปฏิบัติผิดกันมิได้ตั้งเปนนิกายต่างหาก และพระอกโปสะยะดอเปนผู้มีความรู้ผู้คนนับถือมากก็ไม่ขัดขวาง ครั้นพระอกโปสะยะดอถึงมรณภาพ มีพระเถระที่เปนหัวหน้าในพวกศิษย์ ๒ องค์ องค์หนึ่งมีนามว่า ชเวคยิน สะยะดอ Shwegyin Sayadaw ได้เปนใหญ่ในคณะสงฆ์นั้นที่เมืองสะแคง อีกองค์หนึ่งมีนามว่า อิงคะ สะยะดอ Inga Sayadaw นำลัทธินั้นลงมาตั้งคณะในอาณาเขตต์พะม่าใต้ จึงเริ่มเกิดมีพระสงฆ์เปน ๓ นิกาย (เห็นจะเกิดในรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ) คือพวกนิกายเก่าของพระสังฆราชได้นามว่า “สุธรรมนิกาย” ตามชื่อที่ประชุมมหาเถระสมาคมนิกาย ๑ พวกพระสงฆ์ที่ถือลัทธิของพระอกโปสะยะดอส่วนที่ตั้งอยู่ในอาณาเขตต์พะม่าเหนือ และยังยอมร่วมสังฆกรรมกับพระสงฆ์สุธรรมนิกายได้นามว่า “ชเวคยิน” Shwègyin ตามนามหัวหน้า (แต่สมณทูตเรียกโดยภาษามคธว่า “สุวรรณวิรัตติ”) นิกาย ๑ แต่พระอิงคะ สะยะดอ ที่นำลัทธิของพระอกโปสะยะดอลงมาตั้งคณะขึ้นในเขตต์พะม่าใต้ ไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกับพระสงฆ์สุธรรมนิกาย จึงกลายเปนนิกายขึ้นต่างหาก ได้นามว่า “ทวาร” Dwaya (สมณทูตเรียกว่า “มหาคณี”) อีกนิกาย ๑ ต่อมามีภิกษุในมหาคณีนิกายพวกหนึ่ง รับลัทธิอรัญวาสีในลังกาทวีปมาประพฤติ ถือสันโดดเที่ยวอยู่ตามป่าตามภูเขาและในถ้ำ ไม่อยู่ประจำในบ้านเมืองและไม่ทำสังฆกรรมร่วมกับพวกอื่น จึงเกิดเปนนิกายขึ้นต่างหากได้นามว่า “เหง็ตตวิน” Hngeit Twin (สมณทูตเรียกว่า “จุลคณี”) พระสงฆ์พะม่าจึงเปน ๔ นิกาย อีกนัยหนึ่งนับแต่เปน ๒ นิกาย พวกนิกายเดิมได้นามว่า “มหาคัณฐี” พวกนิกายต่าง ๆ อันเกิดแต่ลัทธิของพระอกโปสะยะดอได้นามว่า “จุลคัณฐี” มาจนบัดนี้

๔. ว่าถึงสงฆมณฑลตามที่เปนอยู่ในปัจจุบันนี้ ใคร ๆ ก็บอกว่าเสื่อมทรามลงมาก เขาว่าแม้พระมหาเถระที่รอบรู้พระธรรมวินัย และสังวรวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสยังมีอยู่ไม่สูญก็จริง แต่ภิกษุสงฆ์โดยมากฉะเพาะพวกภิกษุหนุ่ม มักประพฤติกันแต่ตามอำเภอใจเพราะไม่มีที่ยำเกรงที่เมืองร่างกุ้งยังไม่สู้กระไร เปนแต่มักประพฤติตามอย่างคฤหัษฐที่เปนสาธุชน เช่นชอบไปดูหนังฉายเปนต้น แต่ที่เมืองมัณฑเลร้ายกว่านั้น นัยว่าถึงมีภิกษุซึ่งเวลากลางวันเปนพระกลางคืนเปนคฤหัษฐ์ คำที่ว่านี้จะมีความจริงเพียงใดก็ตามเมื่อคิดดูก็พอเห็นเหตุได้ เพราะไม่มีพระเจ้าแผ่นดินเปนพุทธสาสนูปถัมภกหนุนหลัง มีตัวอย่างเช่นที่เมืองลังกา พอไม่มีพระเจ้าแผ่นดินสงฆมณฑลก็ทรุดโทรม ที่เมืองพะม่านี้รัฐบาลอังกฤษเอาเปนธุระอุดหนุนอยู่หลายอย่าง เช่นกลับให้มีสังฆราชเปนต้นดังกล่าวมาแล้ว ถึงกระนั้นพระสังฆราชก็บังคับบัญชาการไม่สิทธิขาดได้ดังแต่ก่อน ด้วยพวกพระสงฆ์นิกายอื่นอ้างว่าต่างนิกายกัน ไม่ยอมกระทำตามบังคับบัญชา รัฐบาลอังกฤษเห็นว่าเปนแต่แตกต่างกันด้วยวัตรปฏิบัติ ก็ไม่เข้าเกี่ยวข้อง การปกครองจึงไปตกอยู่แก่พระเถระผู้เปนชีต้นอาจารย์ ต่างปกครองภิกษุซึ่งเปนสานุศิษย์ของตนเปนแห่งๆ ไป คณาจารย์องค์ใดอ่อนภิกษุสานุศิษย์ก็คนองโดยธรรมดาดั่งนี้ ได้ยินว่าเมื่อตอนเมืองพะม่าเปนของอังกฤษแล้ว มีผู้คิดชักชวนพระสงฆ์ต่างนิกายให้รวมกันเปนสมาคม เรียกว่า “สังฆสามัคคี” มีพระเข้าด้วยมาก พวกนี้ที่มักโต้แย้งคำสังฆราช และบางทีจะเปนพระสงฆ์พวกนี้เอง ที่เข้ารับเทศนาห้ามปรามราษฎรเมื่อเวลาเกิดขบถครั้งหลังสงบลงได้

เรื่องพระสงฆ์เมืองพะม่า ยังมีที่จะเล่าตามพบเห็นเองต่อไปอีก เมื่อวันไปถึงเมืองร่างกุ้ง ตอนบ่ายฉันขึ้นรถเที่ยวดูเมืองแลเห็นพระพะม่าเดินตามถนนครองผ้าไม่เปนปริมณฑล คือไม่ห่มคลุมหรือห่มดองอย่างใดอย่างหนึ่ง เปนแต่เอาจีวรพาดบ่า องค์ไหนจะพาดอย่างไรก็ทำตามพอใจ ดูแปลกตาแต่ไม่ทำให้เกิดความเลื่อมใส ต่อมาวันหลังฉันขึ้นรถไปตอนเช้าราว ๙ นาฬิกา เห็นภิกษุสามเณรพะม่าห่มคลุมเรียบร้อยอุ้มบาตร์เดินตามกันเปนแถว ก็รู้ว่าเที่ยวบิณฑบาต ถ้าไม่ทราบเหตุมาแต่ก่อนก็จะปลาดใจ ว่าไฉนจึงออกรับบิณฑบาตจนสายถึงปานนั้น แต่ฉันเคยได้ยินว่าที่เมืองลังกาพระก็ออกรับบิณฑบาตเวลาน้องเพลเหมือนกัน อธิบายว่าถ้าออกบิณฑบาตแต่เช้า เสมือนไปขอแบ่งเอาอาหารที่เขาจะบริโภคมาฉัน จึงไปบิณฑบาตต่อเวลาชาวบ้านกินเข้าเช้าเสร็จแล้ว เอาแต่อาหารเดนเขาบริโภคมาฉัน ที่ว่านี้ก็ชอบกล พะม่าคงรับประเพณีบิณฑบาตมาจากลังกา ในเช้าวันนั้นเอง เมื่อฉันไปดูร้านช่างจำหลักพระพุทธรูป เห็นพระองค์หนึ่งเข้าไปรับบาตร์อยู่ที่ร้านเคียงกัน จึงคอยดูว่าพะม่าจะตักบาตร์อย่างไร เห็นพระเข้าไปถึงก็ไปนั่งเก้าอี้ที่เขาตั้งไว้รับแขกตรงหน้าร้าน เอาบาตร์วางไว้บนตัก สักประเดี๋ยวผู้ชายเจ้าของร้านก็ออกมา มีชามอ่างใส่เข้าสุกกับทัพพีถือมาด้วย พระก็นั่งอยู่อย่างเดิมเปนแต่เปิดฝาบาตร เจ้าของร้านเอาทัพพีขอดก้นชามอ่างตักเข้าสุกออกใส่บาตร์สักสองสามครั้งจึงเสร็จ ก็เข้าใจว่าเข้าสุกที่ใส่บาตรนั้น เปนของเดนจริง โดยปกติเมื่อชาวบ้านกินอาหารเช้ากันในครัวเรือนคงคดเข้าสุกใส่ให้พูนชามอ่าง แบ่งเอากินกันแล้วเหลือติดก้นชามไว้สำหรับใส่บาตร์ ประเพณีในมณฑลพายัพยังต่างไปอีกอย่างหนึ่ง พระที่ไปรับบิณฑบาตมีกังสดาลถือไปด้วย เมื่อไปถึงหน้าบ้านตีกังสดาล คนในบ้านได้ยินเสียงก็ออกมาตักบาตร์ พระรับบาตร์แล้วต้องสวดอนุโมทนา “ยถาสพฺพี” ทุกแห่งไป จะเปนวิธีไทยหรือได้ไปจากที่อื่นหาทราบไม่ การพบปะพระพะม่ามีเรื่องออกจะขบขันที่เมืองมัณฑเลเมื่อวันไปดูวัดนางพระยา พอเข้าในลานวัดพวกเราก็เที่ยวเดินดูไปด้วยกันเปนหมู่ แต่หญิงพิลัยเป็นพนักงานฉายรูปต้องหยุดยืนฉายรูปล้าหลังอยู่คนเดียว ถูกพระพะม่าวัดนางพระยาลงมายืนห้อมล้อมดูจนรำคาญ มิรู้ที่จะทำอย่างไร พูดก็ไม่เข้าใจได้ เธอจึงคิดอุบายทำกิริยาเปนฝรั่งยื่นมือไปเหมือนหนึ่งว่าจะจับมือพระ “กูดบ๋าย” พระพวกนั้นพากันสั่นหัวแล้วเลยเลี่ยงกลับขึ้นกุฏิ ฟังหญิงพิลัยมาเล่ากลั้นหัวเราะไม่ได้

เมื่อฉันไปที่เมืองพุกามได้เห็นเขาแห่บวชนาค และเมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งได้สมาคมกับข้าราชการคนหนึ่ง เขาเอาสมุดรูปต่าง ๆ ที่เขาสะสมไว้มาให้ดู มีรูปฉายการพิธีเมื่อตัวเขาอุปสมบทเปนพระภิกษุเห็นแปลก จึงขอฉายจำลองมา แล้วมาค้นหาอธิบายในหนังสือเรื่องเมืองพะม่า ได้ความตามคำอธิบายของสมณทูตพะม่าบอกสมเด็จพระวันรัตน(จ่าย) วัดเบญจมบพิตร ฯ ว่าวิธีบรรพชาอุปสมบทพะม่ากับไทยเหมือนกันโดยมาก เพราะฉะนั้นจะพรรณนาในหนังสือนี้แต่ที่ผิดกัน

๑. พะม่ายังแห่นาคเหมือนไทยเราแห่แต่ก่อน ลักษณการแห่บวชนาคนั้น ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าเจตนาจะให้เปนทำนองเดียวกับแสดงตำนาน Pageant “มหาภิเณกษกรม” จึงให้เจ้านาคขี่ม้าเหมือนอย่างพระพุทธองค์เมื่อยังเปนพระโพธิสัตว์เสด็จออกจากเมืองกบิลพัศดุ์ไปทรงผนวช สมมตพวกญาติโยมที่ห้อมล้อมไปเปนเทวดา และหาพวกจำอวดนำกระบวร อุปรมาว่าเปนพระยามารที่คอยขัดขวาง แต่ปลาดอยู่ในเมืองเราแห่เช่นนั้นแต่บวชนาคราษฎร ถ้าเปนนาคหลวงเช่นเจ้านายทรงผนวชไม่แห่ หรือแห่เปนกระบวรพยุหยาตรา นาคเจ้านายทรงยานมาศและเสลี่ยง เคยได้ยินว่าบางทีทรงคอช้างก็มีแต่ที่จะทรงม้าเหมือนอย่างนาคราษฎรหามีไม่ หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง นาคหลวงแห่แต่เพื่อให้คนอนุโมทนาไม่ทำเปนแสดงตำนาน พิเคราะห์ชวนให้สงสัยว่าไทยจะได้แบบมาจากพะม่าดอกกระมัง เค้าเงื่อนมีอยู่ที่แห่บวชนาคของราษฎร ดูจำต้องมีพวกตีกลองยาวอย่างพะม่าที่เราเรียกกันว่า “เถิดเทิง” นำกระบวรเปนนิจ และเมื่อแห่ไปถึงวัดพวกกลองยาวเล่นจำอวดกั้นกางอย่างเปนพระยามารห้ามเอารางวัลเสียก่อน แล้วจึงให้เจ้านาคเข้าโบสถ์เปนประเพณีมาอย่างนี้

๒. วิธีบรรพชา ทำเปนงาน ๒ วันเหมือนกันทั้งไทยและพะม่า แต่ลักษณการที่ทำผิดกันชอบกล ประเพณีไทยวันแรกเวลาบ่ายให้เจ้านาคปลงผมแล้วแต่งตัวเต็มประดาอย่างคฤหัษฐ์นั่งที่หน้าบายศรี มีผู้ใหญ่สวดบูชาพระรัตนตรัย และให้โอวาทสั่งสอนเจ้านาคให้เลื่อมใสในการบรรพชา แล้วเวียนเทียนทำขวัญ ครั้นวันหลังเวลาเพลแล้วแห่เจ้านาคไปวัดและบรรพชาที่ในโบสถ์ ถ้าจะบวชเปนพระภิกษุบรรพชาแล้วก็ทำพิธีอุปสมบทติดกันไปทีเดียว ประเพณีพะม่าวันแรกแห่เจ้านาคแต่ตอนเช้าเจ้านาคแต่งเต็มประดาแต่ยังเกล้าผมอย่างคฤหัษฐ์ แห่แล้วพาไปยังโรงพิธีอันมักทำที่บ้าน (เช่นปรากฎว่าทำพิธีเจ้านายทรงผนวชที่ในมหาปราสาทดังกล่าวมาแล้ว) นิมนตร์พระสงฆ์ (ราว ๕ รูป) มานั่งเปนประธาน เจ้านาคเข้าไปขอบรรพชาในตอนนี้ พระสังฆนายกไต่ถามข้อความที่จำเปนแก่การบรรพชา เช่นว่าบิดามารดาอนุญาตแล้วหรือ มีบริกขารพร้อมแล้วหรือเปนต้น เมื่อไม่มีข้อขัดข้องแล้วพระสังฆนายกจึงแสดงคุณพระรัตนตรัย และบอกสิกขาบทกับทั้งวัตรปฏิบัติที่สามเณรจะต้องประพฤติให้เจ้านาครู้ แล้วอนุญาตให้บรรพชาตามประสงค์ เปนเสร็จพิธีตอนเช้าเพียงนี้ พิธีอีกส่วนหนึ่งจะทำในตอนบ่ายวันนั้นเองหรือทำในวันหลังต่อมาก็ได้ คือให้เจ้านาคปลงผมอาบน้ำชำระกายและเปลื้องเครื่องอาภรณ์ทั้งสิ้น นำผ้าไตรยและเครื่องบริกขารเข้าไปยังพระอุปัชฌาย์ (พิธีตอนนี้ พิเคราะห์ดูเห็นจะทำที่กุฏิสงฆ์ในสังฆาวาส) เจ้านาคส่งไตรย์ถวายพระอุปัชฌาย์ (เห็นจะสวด “สพพทุกข นิสสรณ ฯ” ตอนนี้) พระอุปัชฌาย์เอากาสาวพัสตร์ (ของไทยเราใช้อังษะ) คลุมให้ เจ้านาคออกไปครองผ้าแล้วกลับเข้าไปขอศีลรับศีลแล้วก็เปนเสร็จพิธี การที่พวกพะม่าบวช ๆ แต่บรรพชาเปนสามเณรเปนพื้น ต่อบางคนจึงอุปสมบทเปนพระภิกษุ โดยปกติถ้าใครใคร่จะเปนพระภิกษุ บวชเปนสามเณรแล้วก็เล่าเรียนอยู่เลยไปจนอายุครบอุปสมบทเปนพระภิกษุ ที่จะบรรพชาและอุปสมบทในคราวเดียวกันเหมือนกับผู้ที่ให้รูปฉายแก่ฉันนั้น นาน ๆ จะมีสักครั้งหนึ่ง

๓. วิธีอุปสมบทนั้นพะม่าผิดกับไทยในการ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเพราะวัดสังฆาวาสพะม่าไม่มีโบสถ์ต้องไปทำพิธีในโบสถ์แห่งใดแห่งหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งพระพะม่าสวดกรรมวาจาด้วยอ่านหนังสือ ไม่สวดปากเปล่าเหมือนพระไทย เพราะเหตุใดคิดดูพอเข้าใจได้ ด้วยการอุปสมบท (เช่นบอกไว้ในจารึกกัลยาณีของพระเจ้าธรรมเจดีย์) ว่าต้องพร้อมด้วยสมบัติ ๕ อย่าง

๑. สีมาสมบัติ คืออุปสมบทในเขตต์สีมา

๒. ปริสสมบัติ คืออุปสมบทในคณะสงฆ์

๓. วัตถุสมบัติ คือมีบาตร์และจีวรบริบูรณ์

๔. ญัตติสมบัติ คือพระสงฆ์ยอมให้อุปสมบท

๕. อนุสาวนสมบัติ คือรู้ความที่กล่าวในการทำพิธี ก็คำที่ใช้ในการอุปสมบทเปนภาษามคธ จึงเกิดเกรงจะสวดพลาดพลั้งด้วยอักขรวิบัติให้ความผิดไป แต่พะม่ากับไทยป้องกันผิดกัน พะม่าใช้อ่านหนังสือกันอักขรวิบัติ ไทยให้พระสวดพร้อมกัน ๒ องค์ เรียกว่า “คู่สวด” ก็เพื่อกันพลั้งพลาดด้วยอักขรวิบัติเหมือนกัน

นอกจากพระภิกษุสามเณร ในเมืองพะม่ายังมีนักบวชอีก ๓ จำพวก เรียกว่า Yethe (ฤาษี) จำพวก ๑ เรียกว่า โปสุดอ Pothudaw จำพวก ๑ เมสิละ Methila จำพวก ๑ มีอธิบายต่างกันดังนี้

๑. ฤาษีนั้นมีเปน ๒ ชนิด ชนิดหนึ่งเรียกกันแต่ว่าฤๅษี โกนหัวนุ่งห่มกาสาวพัสตร์และเลี้ยงชีพด้วยภิกขาจารเหมือนอย่างพระภิกษุ (ดูจะตรงกับที่ไทยเราเรียก “เถน”) เปนแต่สังวรสิกขาน้อยกว่าพระภิกษุ และกราบไหว้พระภิกษุ สิกขาของฤาษี จะเปนอย่างไรไม่ได้พรรณนาไว้ในอธิบาย กล่าวแต่ว่ารับเงินและทำไร่ได้ แต่มักอาศัยถ้ำหรือวัดร้างเปนที่พักมักเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ เปนปกติ ฤาษีอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ดอชะ Daucha ก็ครองผ้ากาสาและภิกขาจารเหมือนกับฤาษี ผิดกันแต่ไว้ผมยาว โพกหัวเปนชะฎามีพระพุทธรูปไว้ในนั้น (รูปคล้ายกับชะฎาหัวโขนฤาษี) กับมักชอบเปนหมอดู และทำเครื่องราง

๒. โปสุดอนั้น (เห็นจะตรงกับ “ปะขาว” ของไทย) โกนหัว นุ่งห่มขาว อาศัยภิกขาจารเลี้ยงชีพรักษาศีล ๘ เปนนิจ มักเที่ยวอาศัยอยู่ตามศาลา Zayat ในวัด

๓. เมสิละเปนหญิง (รูปชี) สมาธานศีลเหมือนกันกับปะขาว โกนหัวนุ่งผ้ากาสาแต่มีเสื้อใส่ชั้นใน มักอยู่รวมกันเปนแห่ง ๆ และรับสอนหนังสือเด็กด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ