วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๔ แล้ว

ศัพท์ต่างๆ ที่ท่านทรงแก้ไนคำแปลกฎมณเฑียรบาลพะม่านั้น หม่อมฉันเห็นว่าดีขึ้นถวายอนุโมทนาด้วยทุกแห่ง

หม่อมฉันเพิ่งพบพรรณนาเบ็ญจราชกกุธภัณฑ์พะม่าในพงศาวดารเรื่องหนึ่งว่า

๑ White Umbrella เสวตรฉัตร (ชั้นเดียว)

๒ Crown มกุฎ

๓ Yaktail Fan พัด (ที่แท้แส้) หางจามรี

๔ Sword of State พระขรรค์

๕ Golden Sandal ฉลองพระบาททอง

ในตำราของไทยเราดูเหมือนเถียงกันเปน ๒ ตำรา ตำราหนึ่งไม่นับเสวตรฉัตรไปนับเอาทานพระกรแทน อีกตำราหนึ่งนับผ้ารัตกัมพลแทนมกุฎดังนี้ หรืออย่างไรหม่อมฉันจำไม่ได้ถนัด

ผ้าที่เรียกว่าผ้าลายสุหรัดนั้นหม่อมฉันพอจะถวายอธิบายได้ว่าเรียกตามชื่อเมืองที่ทำผ้าลายนั้นเปนแน่ (แม้จะเรียกว่า “ผ้าลายสุราษฎ์” ก็ได้ ด้วยในหนังสือนำทางเที่ยวอินเดียว่าเมืองนั้นเดิมชื่อเมืองสุราษฎร์อยู่ริมแม่น้ำตาปี) เมื่อหม่อมฉันไปอินเดียใน พ.ศ. ๒๔๓๔ รัฐบาลกะโปรแกรมให้หม่อมฉันไปเมืองสุหรัดด้วย เพราะเขาว่าเปนที่ทำผ้าลายส่งมาเมืองไทยราคาปีละหลายล้านรูปีย์ ไปดูไม่เห็นมีโรงจักรกลอันใด ทำตามบ้านราษฎรและผู้หญิงกับเด็กๆ ทำแทบทั้งนั้น ใช้ผ้าขาวซึ่งสั่งมาแต่ประเทศอังกฤษ เอามาตัดให้ได้ขนาดและซักน้ำให้หมดแป้งหรือให้เนื้อแน่นก่อน แล้ววางขึงบนพื้นเรือนเอาหมึกทาแผ่นไม้แม่ลาย ขนาดสักเท่าฝ่ามือ พิมพ์ลงกับผืนผ้าต่อๆ ไปจนเต็มผืนแล้วจึงเอาไปย้อมเปนสี ถ้าจะให้มีดอกสีอื่นก็แต้มเมื่อย้อมแล้ว เมื่อเสร็จกระบวนพิมพ์เอาเบี้ยขัดชักเงา การเหล่านี้ทำด้วยมือตามบ้านราษฎรทั้งนั้น พ่อค้าเปนแต่ซื้อผ้าขาวมาจ่ายและรับผ้าลายไปพับตีตรามัดเข้ากุลีส่งมาขาย เรื่องผ้าลายดูจะถือเปนหลักได้ว่า (ก) ทำส่งมาจากอินเดียตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ (ข) เรียกชื่อตามเมืองที่ทำ คำที่เรียกว่า “ผ้าลายอย่าง” หมายความว่าไทยให้ลายไปทำ “ผ้าลายนอกอย่าง” หมายความว่าเปนลายที่แขกคิดทำตามชอบใจ มีชื่อผ้าลายอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ย่ำมะหวาด” ยังไม่มีในรายชื่อที่ประทานมา ก็เห็นจะเปนชื่อเมืองอีก เรื่องชื่อผ้าลายต่าง ๆ ควรทรงแนะพระยาอนุมานให้สืบถามพวกแขกที่ตึกขาวตึกแดง หรือถ้ามีใครในพวกนั้นที่ท่านทรงรู้จักก็ตรัสถามดู เห็นจะรู้ความจริงได้

เมื่อวันที่ ๑๓ ตรงกับเดือน ๑๒ แรม ๑๔ ค่ำ เปนวันนักขัตฤกษ์อันหนึ่งของพวกทมิฬ เรียกว่า “ทีปวลี Deepavali หนังสือพิมพ์สะเตรตส์เอกโค Straits Echo ลงอธิบายเรื่องนักขัตฤกษ์นั้น หม่อมฉันอ่านดูเห็นแปลก ด้วยอ้างมูลเหตุย้อนขึ้นไปถึงหิรัญม้วนแผ่นดิน รวมความว่าเปนวันพระเปนเจ้ามีชัยชนะพวกยักษ์ ถึงวันนั้นจึงแต่งประทีปตามบ้านเรือนให้เปนสวัสดิมงคล การพิธีจึงได้นามว่า “ทีปวลี” แต่มาถึงวันที่ ๑๙ นี้มีผู้เขียนไปลงพิมพ์โต้แย้ง ว่าที่ถูกนั้นพระเปนเจ้าปราบยักษ์ชื่อนรกาสูรและพยายามบอกอธิบายต่อไปจะให้เข้ากับทางวิทยาสาสตร์ หม่อมฉันได้ตัดหนังสือพิมพ์เรื่องทีปวลีทั้ง ๒ ตอนส่งมาถวายให้ทรงพิจารณากับจดหมายนี้

คราวนี้จะทูลถึงเรื่องเนื่องกับเด็ก เรื่องที่ ๑ ชาย (หยด) กุมารดิศ ลูกหม่อมฉันไปซื้อตุ๊กตากลทำเปนรูปรถยนต์มาจากตลาดหลังหนึ่ง เอามาไขกลให้หม่อมฉันดูเกิดพิศวง ด้วยรถนั้นไขกลให้แล่นไปบนโต๊ะหรือแม้บนหลังหีบ แล่นไปพอถึงที่สุดก็หันหนีไปทางอื่นเองไม่ตกจากโต๊ะ ดูอัศจรรย์หนักหนา เดิมฝรั่งทำขายหลังละเหรียญ ๑ เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นทำขายหลังละ ๓๕ เซ็นต์ จะเคยมีเข้าไปขายในกรุงเทพฯ แล้วหรืออย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ หม่อมฉันคิดถึงตุ๊ดตู่ขึ้นมา จึงซื้อส่งมาถวายทอดพระเนตรหลังหนึ่ง แล้วจงโปรดประทานตุ๊ดตู่ด้วย

เรื่องเนื่องกับเด็กที่จะทูลต่อไปอีกเรื่องหนึ่งนั้นเจือไปข้างทางสังเวช วันหนึ่งหม่อมฉันดูเด็กๆ ลูกหลานวิ่งเล่นกัน เห็นมีปืนพกชนิดพวกปืนเบรานิงถือทุกคนแปลกตา เรียกเอามาดูจึงรู้ว่าเปนปืนตุ๊กตาเขาขายในตลาด ยิงด้วยแก๊บกระดาดพอมีเสียงเด็กก็เห็นสนุก หม่อมฉันเห็นว่าไม่ใช่ของควรเด็กจะเล่นให้ติดวิสัย จึงให้ริบเอามาเก็บเสีย ครั้นเมื่อสี่ห้าวันมานี้ ห้างไวตอะเวเลดลอส่งคะตะลอกของที่จะเปิดขายเมื่อปีใหม่มาให้หม่อมฉันเล่มหนึ่ง เปิดออกดูเห็นรูปภาพปืนพกสำหรับเด็กเล่นหลายอย่าง และยังแก่มือยิ่งว่านั้น ถึงมีกุญแจจำข้อมือ และมีหีบเครื่องเล่นเปนนักสืบ มีทั้งปืนพกกุญแจจำข้อมือ นกหวีด และตลับแป้งสำหรับพิมพ์ลายมือ ทำขายเปนของสำหรับเด็กเล่น หม่อมฉันได้ตัดฉะเพาะหน้ากระดาดที่มีรูปบอกขายของเหล่านั้นส่งมาถวายทอดพระเนตรด้วย นึกอนาถใจว่าเพราะหนังฉายทีเดียวที่ทำให้มนุษย์นิยมกันผันแปรไปต่างๆ แต่ก่อนเคยได้ยินและได้เห็นแต่ผู้หญิงผู้ชายชั้นผู้ใหญ่เปลี่ยนกิริยาอาการไปตามหนังฉาย มันเลยสอนลงมาถึงเด็กๆ ต่อไปภายหน้าจะเปนอย่างไร นึกถึงคำกล่าวในหนังสือพิมพ์อันหนึ่งปรารภเรื่องศึกกลางเมืองสะเปญและที่พวกมหาประเทศเข้าถือหาง ว่าสมัยนี้ “ราวกับห่าทารุณเกิดขึ้นในโลก” พาให้มนุษย์มีจิตรคิดแต่ทำร้ายกันไปเสียทั้งนั้น ที่เขาว่านี้ดูก็ชอบกล ครั้งเกิดผีบุญในมณฑลอิสาณเมื่อรัชชกาลที่ ๕ ก็คล้ายกับห่าลงเพราะในสมัยเดียวกันนั้นเกิดมีผีบุญขึ้นในประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ แม้จนในประเทศรุสเซีย พวกเรายังเห็นขบขันเคยพูดกันว่าดูราวกับนัดกัน บางทีท่านคงจะยังทรงจำได้

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๗ ท่อนที่ ๔ มาถวายพร้อมกับจดหมายนี้อีกท่อน ๑ มีรูปประกอบคือรูปพระเจ้าคันชิตผู้สร้างอานันทมหาวิหาร ปั้นปิดทองไว้ในซุ้มฝ่ายซ้ายของพระประธานคู่กับรูปพระมหาเถรฉินระหัน จะทรงสังเกตได้ว่ามกุฎพะม่าทำเปนทรงตุ้มปี่มาแต่ดึกดำบรรพ์ ฉลองพระองค์ก็คล้ายกับพระกรน้อย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้ากุมารดิศ ดิศกุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ