วันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ในจดหมายฉะบับสัปดาหะก่อน ตอนที่หม่อมฉันทูลเล่าเรื่องหนังสือหอหลวงความยังขาดอยู่ ๒ ข้อ จะทูลต่อในจดหมายฉะบับนี้ คือ

เมื่อหม่อมฉันเข้าเปนเสนาบดีกระทรวงมุรธาธรในรัชชกาลที่ ๖ ไปพบสมุดเก่าของกรมอาลักษณต่างหากจากหนังสือหอหลวงมีอยู่อีกพวกหนึ่งสัก ๑๐๐ เล่ม สั่งให้ส่งไปไว้ในหอพระสมุดทั้งหมด ตรวจดูพบหนังสือดีมีหลายเรื่อง จำได้อยู่เดี๋ยวนี้แต่ ๒ เรื่อง คือรายชื่อข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองตั้งแต่รัชชกาลที่ ๑ มา ซึ่งโปรดให้สืบทำบัญชีเมื่อจะตั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอม ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เพื่อจะหาผู้สืบสกุลมาพระราชทานตรา บัญชีนั้นดูเหมือนเจ้าพระยาภูธราภัยเปนผู้ทำ อีกเรื่อง ๑ เปนหนังสือฉะบับมีตำนาน คือ กฎหมายเขียนในเล่มสมุดขาวของนายโหมด อมาตยกุล ซึ่งมีเรื่องปรากฎว่าเมื่อหมอบรัดเลแรกตั้งโรงพิมพ์สำเร็จหาหนังสือไทยจะพิมพ์ขาย นายโหมด อมาตยกุลเกิดเลื่อมใสเอากฎหมายฉะบับนี้ (เดิมน่าจะเปนของพระยามหาอำมาตย์ (ป้อม) บิดา) ให้หมอบรัดเลไปพิมพ์ พอพิมพ์เปนสมุดฝรั่งได้เล่ม ๑ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กริ้ว ดำรัสว่าถ้าใคร ๆ มีกฎหมายอยู่ในมือไม่เลือกหน้าพวกเจ้าถ้อยหมอความก็จะเอาไปใช้เปนเครื่องมือสำหรับคดโกง ให้ยากแก่กระบิลเมือง จึงดำรัสสั่งให้ริบหมดทั้งฉะบับเขียนและฉะบับพิมพ์ ฉะบับเขียนคงริบเอาส่งไว้ที่กรมอาลักษณตั้งแต่รัชชกาลที่ ๓ ส่วนฉะบับพิมพ์นั้นหม่อมฉันเคยถามพระยาเพชรพิชัย (เจิม อมาตยกุล) แต่ก่อนนั้น ว่านายโหมด อมาตยกุล ยักเอาไว้ได้บ้างหรือไม่ แกไปค้นหามาได้เล่ม ๑ หม่อมฉันได้หนังสือกรมอาลักษณส่งไปยังหอพระสมุดอีกพวก ๑

อนึ่งเมื่อหม่อมฉันไปยุโรปครั้งหลัง ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อไปถึงเมืองลอนดอน คิดขึ้นว่ามีโอกาสจะตรวจหนังสือไทยที่ฝรั่งเอาไปได้อยู่ ถ้าตรวจพบเรื่องใดที่ไม่มีฉะบับในเมืองไทยก็จะขอฉายรูปหนังสือเรื่องนั้นมาขยายเขียนลงสมุด หม่อมฉันจึงให้ถามไปยังหอสมุดในบริติชมิวเซียม Library of the British Museum (อันเปนหอสมุดสำหรับพระนครของอังกฤษ) ว่าสมุดหนังสือไทยฉะบับเขียนที่เขาได้ไปจากประเทศสยาม เขาทำบัญชีรู้เรื่องหมดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ทำหม่อมฉันจะรับไปช่วยบอกอธิบายให้ เขาก็รับด้วยความยินดีขอบใจ ครั้นถึงวันนัดเขาจัดห้องในหอสมุดห้องหนึ่ง ขนเอาสมุดไทยบรรดามีมาเรียบเรียงไว้ในห้องนั้น และให้พนักงานทำบัญชีหนังสือมาคอยจด หม่อมฉันไปนั่งตรวจหนังสือและบอกอธิบายอยู่ถึง ๒ วันจึงหมด ด้วยในหอสมุดนั้นมีหนังสือสมุดไทยมาก แต่ไม่พบหนังสือเรื่องใดที่ไม่มีในเมืองไทย จึงไม่มีกิจที่จะต้องขอคัดสำเนามา เมื่อไปถึงเมืองเบอร์ลินหม่อมฉันให้ถามที่หอสมุดสำหรับเมืองเช่นนั้นอีก พวกเยอรมันก็รับด้วยความยินดีขอบใจ และจัดห้องให้ตรวจเช่นเดียวกับที่เมืองอังกฤษแต่ตรวจกันวันเดียวก็สำเร็จ เพราะสมุดไทยที่เมืองเบอร์ลินมีน้อยกว่าที่เมืองลอนดอน ถึงกระนั้นหนังสือไทยที่เยอรมันได้ไปเปนฉะบับเขียนฝีมือดีมีมากกว่าที่อังกฤษได้ไป หนังสือไตรภูมิที่เจ้าปิยว่าเยอรมันซื้อไปราคา ๑,๐๐๐ บาทเขาก็เอามาอวด เขายกย่องเปนยอดสมุดหนังสือไทยที่เขามี แต่ปลาดใจที่ไม่พบหนังสือเรื่องใดซึ่งไม่มีฉะบับในเมืองไทย แม้หนังสือไตรภูมิที่ว่านั้น ก็เปนหนังสือฉะบับหลวงครั้งกรุงธนบุรี มีบาญแพนกแลฝีมือเขียนรูปภาพเหมือนอย่างหนังสือไตรภูมิฉะบับที่คุณท้าววรจรรย์ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อตั้งหอพุทธสาสนสังคหหมดทุกอย่าง คือ ฝีมือเดียวกันทั้ง ๒ เล่ม แต่ผิดกันเปนน่าสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยฉะบับที่เยอรมันได้ไปใบปกกระดาดของเดิมยังอยู่บริบูรณ์ แต่ฉะบับที่คุณท้าววรจรรย์ถวายนั้นใบปกเปนรอยลอกชั้นนอกออกทั้ง ๒ ข้าง น่าสันนิษฐานว่าฉะบับคุณท้าววรจรรย์ เดิมเห็นจะมีใบปกประดับมุกเปนตัว “ฉะบับหลวง” ฉะบับที่เยอรมันได้ไปทำแต่ใบปกกระดาดมาแต่เดิม น่าจะเปน “ฉะบับรองทรง” เมื่อตรวจหนังสือไทยที่เมืองเบอร์ลินแล้วนึกเสียดายที่มิได้คิดขึ้นแต่เมื่อพักอยู่เมืองปารีส ถ้าถามฝรั่งเศสก็คงยอมให้ตรวจด้วยความยินดีเหมือนอย่างอังกฤษและเยอรมัน เมื่อไปถึงเมืองโรมไม่ต้องว่ากะไรทีเดียว ด้วยโป๊ปเปียที่ ๑๑ องค์นี้เมื่อก่อนได้เปนโป๊ปเคยเปนบรรณารักษ์หอสมุดวังวติคันที่สำนักของโป๊ป พอทรงทราบว่าฉันจะไปเฝ้าก็ตรัสตั้งให้เตรียมบรรดาหนังสือเรื่องที่โป๊ปแต่โบราณเคยเกี่ยวข้องกับประเทศสยามมาแต่ก่อนไว้ให้หม่อมฉันดู และประทานอนุญาตไว้เสร็จว่าถ้าหม่อมฉันอยากจะคัดสำเนาฉะบับไหนก็ให้คัดได้ ใช่แต่เท่านั้นถึงโปรดให้ค้นแม่พิมพ์เหรียญที่ระลึกซึ่งสร้างขึ้นครั้งทูตไทยไปเฝ้าโป๊ป ในรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราช เอามาพิมพ์เปนเหรียญขึ้นใหม่สำหรับประทานหม่อมฉันด้วย หม่อมฉันได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวจึงคิดการสนองพระคุณ สืบทราบว่าหอสมุดที่วังวติคันมีหนังสือสยามสมาคมยังไม่ครบชุด และแสวงหาหนังสือสอนสาสนาต่างๆ ด้วยทุกสาสนา เมื่อหม่อมฉันกลับมาจึงขวนขวายหาพระไตรปิฎกสยามรัฐได้ชุดหนึ่ง กับขอให้สยามสมาคมส่งหนังสือไปถวายให้ครบชุด ส่วนหนังสือที่หม่อมฉันให้คัดสำเนามา เปนหนังสือในครั้งรัชชกาลสมเด็จพระนารายน์มหาราชทั้งนั้น ได้ให้แปลเปนภาษาอังกฤษและพิมพ์ (ดูเหมือนในสยามสมาคม) แล้วทั้งนั้น

เรื่องโกศพระศพพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้น ที่พระยาเทวาเขาทำควรสรรเสริญ ที่จะไม่เผาในเมรุหลวงนั้นไม่ควร เพราะเธอได้พระราชทานอภัยถึงเข้าเฝ้าแหนได้มาแต่ในรัชชกาลที่ ๖ แล้ว

นายพืชน์ เดชะคุปต์ เขาส่งหนังสือแจกกับของชำร่วยเปนที่ระลึกในงานศพพระยาโบราณฯ มาถึงหม่อมฉันแล้ว ในจดหมายของเขาเล่าแปลกอยู่บ้าง ว่ามีเสียงกระซิบกันอยู่แต่ก่อน ว่าหนังสือแจกงานศพพระยาโบราณฯ จะเปนหนังสือดีมีคนไปคอยอยู่มาก พอคนแจกยกหนังสือออกไปก็เข้าแย่ง ถึงบางคนเอาหีบหิ้วไปใส่ก็มี เอาหนังสือออกไปถึงพลับพลาได้โดยลำบาก หนังสือที่คนแย่งเอาไปนั้นมักเอาไปขายหรือแลกเอาหนังสือเรื่องอื่นที่ร้านโปเก เจ๊กขายเล่มละ ๗๕ สตางค์ เมื่อพ้นวันงานแล้วหนังสือมีไม่พอแจก นายพืชน์ต้องไปซื้อจากร้านโปเกกลับเอามาแจกอีก

รกเจ้านายที่เอาไปฝังเมื่อสมโภชเดือนเรียกในราชาศัพท์ว่ากะไร หม่อมฉันจำนน จะเปนด้วยไม่เคยรู้หรือลืมได้ทั้ง ๒ สถาน นึกเท่าไรก็ไม่ออก เห็นอย่างพระดำริว่าคงไม่เรียกว่า “พระรก” เปนแน่ แต่มีทางที่จะสืบอยู่ด้วยการพิธีสมโภชเดือนครั้งหลังทำเมื่อเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ ประสูติ ให้พระยาเทวาเขาค้นบัตรหมายหรือถามเจ้าพระยาธรรมาบางทีจะได้ความ

การที่ท่านจะเสด็จไปชวานั้น หนังสือที่หม่อมฉันแต่งถวายไปพอจะใช้นำทางได้บ้าง เสด็จลงเรือไปแล้วถึงเมืองบาเตเวีย ทูลกระหม่อมชายท่านก็คงเสด็จลงมารับถึงเรือและจัดการถวายเสร็จ เมืองบาเตเวีย เมืองยกยา เมืองโซโล เมืองสุรไบยา อากาศร้อน ขนาดกรุงเทพฯ และสิงคโปร์ แต่ที่เมืองบันดุงสูงกว่า ๒,๐๐๐ ฟิต อยู่ข้างหนาว ก็สักเท่าระดูหนาวธรรมดาในกรุงเทพฯ แต่เวลาเที่ยวบางทีต้องขึ้นภูเขาสูงควรมีฉลองพระองค์คลุมไปด้วย ผู้หญิงนั้นไม่จำต้องแต่งแหม่ม กรมหลวงทิพยรัตนเธอทรงผ้าโจงกระเบนมานาน เปนแต่มีฉลองพระองค์คลุมชั้นนอกสำหรับใช้เวลาเที่ยว หรือเมื่อรู้สึกว่าหนาว เธอเพิ่งเปลี่ยนทรงซิ่นเมื่อเร็วนี้ ว่าสบายกว่านุ่งผ้าโจงกระเบน

ที่ประทับ ณ ซินนามอนฮอลนี้สบายกว่าบ้านพระเสนหามนตรีที่หาดใหญ่มาก ไม่ลำบากอันใดแก่หม่อมฉันที่จะจัดรับเสด็จ เพราะจะอยู่ในตึกหลังเดียวกันห้องเคียงๆ กันทั้งพวก และเปนที่สงัดไม่มีใครอื่นมาเกี่ยวข้องอึกกระทึกด้วย เชื่อว่าคงจะทรงสำราญ

ที่ปีนังเวลานี้กำลังร้อน ปรอทในห้องตอนหัวค่ำถึง ๘๔ ตอนดึกลงมาเพียง ๘๑ ฝรั่งเขาว่าเปนเวลา “คลื่นร้อน” Heat Wave ครอบงำ ถ้าโดยปกติเวลาหัวค่ำเพียง ๘๑ ตอนดึกลงมาถึง ๗๘

สัปดาหะนี้แต่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าต่อมายังไม่ลงหัวตะปูขอประทานระงับอีกสัปดาหะหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ