เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม

วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม เวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เรือถึงตำบลนยองอู Nyaung U พวกเราเรียกกันว่า “หนองอู” ตามสดวกปาก) อันเปนสถานีที่ขึ้นเมืองพุกาม หัวหน้าข้าราชการในท้องที่เปนฝรั่งชาวอินเดีย (เห็นจะเปนตำแหน่งเช่นนายอำเภอ) กับพะม่านายตำรวจอีกคนหนึ่งลงมารับ พาขึ้นรถยนต์ไปส่ง ณ เรือนรับแขกของรัฐบาล ซึ่งอยู่ในเมืองพุกามโบราณห่างบ้านหนองอูไปข้างใต้ราว ๑๒๐ เส้น ทางที่ไปตอนแรกออกจากหนองอูมีตึกแถวตั้งร้านขายของ ๒ ฟากถนนอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็เปนหมู่บ้านอย่างมีรั้วล้อม และมีตรอกทางเดินระวางบ้าน เช่นเดียวกับบ้านนอกในเมืองเรา ต่อๆ กันไปจนถึงเมืองพุกาม ซึ่งยังมีทรากประตูเมืองก่ออิฐกับศาลเทพารักษ์ข้างประตูเมืองเหลืออยู่ แต่กำแพงเมืองยังแต่พอแลเห็น เปนแต่แนวเนินดินไปไม่เท่าใดนัก ทางด้านตะวันตกแม่น้ำเอราวดีกัดตลิ่งเอาเมืองพังลงน้ำไปเสียแล้วก็มากเหมือนอย่างที่เมืองเชียงแสน ไม่มีที่สังเกตว่ารูปบริเวณเมืองเดิมจะเปนอย่างไรเมื่อเข้าประตูเมืองไปแล้วไม่มีบ้านผู้คน มีแต่วัดร้างเต็มไปทั้งนั้น

ถึงเรือนพักได้สักประเดี๋ยวก็มีคนเอาโทรเลขมาส่งให้ นึกปลาดใจว่าจะเปนโทรเลขของใครส่งตามไปจนถึงเมืองพุกามด้วยเหตุใด แต่แน่ใจว่าคงเปนข่าวสำคัญอันใดอันหนึ่ง เปิดซองเห็นเปนโทรเลขของทูลกระหม่อมชาย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ส่งไปจากเมืองบันดุงที่เกาะชวา ตรัสบอกว่าสมเด็จหญิงน้อย เจ้าฟ้ากรมขุนอู่ทองเขตรขัติยนารี สิ้นพระชนม์ ก็พากันตกตลึงแล้วเลยโศกเศร้าด้วยกันหมด แต่ไม่สามารถจะทำอย่างไรก็ได้แต่มีโทรเลขตอบแสดงความอาลัยไปยังทูลกระหม่อมชาย อาการประชวรของสมเด็จหญิงน้อยฉันก็รู้อยู่แล้วตั้งแต่ไปชวาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ด้วยทูลกระหม่อมชายท่านตรัสกระซิบบอก ว่าหมอเขาว่าไม่มีทางที่จะหาย ได้แต่ระวังอย่าให้พระอาการทรุดลงรวดเร็วก็จะอยู่ไปได้ช้าวันเท่านั้น สมเด็จหญิงน้อยเองก็ทรงทราบและมิได้ประมาท แต่เมื่อฉันไปชวาดูยังทรงสบายเสด็จไปไหนไปได้ แสดงพระเมตตาโปรดให้มีการเลี้ยงประทานเมื่อตรงวันเกิดของฉันครบ ๖ รอบในเวลาอยู่ที่เมืองบันดุงนั้น และวันหนึ่งฉันทูลชวนให้ทรง “รำลึกชาติ” เชิญเสด็จไปเสวยขนมด้วยกันที่ร้านขายขนมในเมืองบันดุง เหมือนอย่างฉันได้เคยพาไปแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อตามเสด็จสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปชวาด้วยกัน ก็รื่นเริงบันเทิงพระหฤทัย ไม่ได้นึกเลยว่าจะได้เห็นสมเด็จหญิงน้อยเปนครั้งที่สุดเมื่อไปชวาครั้งนั้น พอรู้ข่าวว่าสิ้นพระชนม์เจ้าหญิงพากันเข้าห้องหายไป เห็นจะไปร้องไห้ อยู่ข้างนอกแต่ตัวฉันก็หวนไปคิดคำนึงถึงหนหลัง จะพรรณนาก็ไม่ใช่เรื่องของหนังสือนี้ คิดดูเห็นสมควรนักที่สมเด็จหญิงน้อยจะทรงสร้อยพระนามกรมว่า “ขัติยนารี” ด้วยทรงพระคุณอย่างเปนขัติยนารีแท้ทุกสถาน ได้ทรงพิสูจน์ให้ปรากฎแล้วทั้งในเวลาที่มีความสุขแลเวลาได้รับความทุกข์ยาก เพราะฉะนั้นจะมีแต่คำสรรเสริญว่า “น่ารัก น่าชม สมกับเปนเจ้าฟ้า” เปนอนุสสรณ์อยู่กับพระนามต่อไป

ในตอนเช้าวันที่ถึงนั้นนายอำเภอพากำนันผู้ใหญ่บ้านมาหา ต่อมาอีกวันหนึ่งให้หมอฝรั่งชาวอินเดียซึ่งประจำท้องที่มาปวารณาเผื่อพวกเรา ใครจะเจ็บไข้ไม่สบายก็ให้เรียก นอกจากนั้นที่เรือนพักอะไรบกพร่องเขาก็หามาเพิ่มเติม ดังเช่นโคมไฟไม่สว่างเพราะไม่มีไฟฟ้าเขาก็ไปขวนขวายหาโคมเจ้าพายุให้ใช้มาจนเพียงพอ รู้สึกขอบคุณความเอื้อเฟื้อของเขามาก เรือนรับแขกที่เมืองพุกามเขาช่างเลือกที่สร้างไว้บนเนินใกล้กับฝั่งแม่น้ำเอราวดีตอนกลางเมืองพุกามเก่า อยู่บนเรือนแลเห็นภูมิลำเนาไปได้ไกลทุกด้าน แต่เปนที่เปลี่ยวห่างบ้านผู้คนมีแต่วัดร้างของโบราณรายอยู่รอบข้าง ถ้าใครกลัวผีก็เห็นจะไม่อยากอยู่

จะเลยพรรณนาถึงลักษณเรือนพักของรัฐบาลในเมืองพะม่าเสียตรงนี้ด้วยทีเดียว เรือนพักเขาทำเปน ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า เซอเค็ตเฮาส์ Circuit House ความตรงกับคำว่า “เรือนมณฑล” สำหรับเปนที่พักของข้าราชการชั้นสูงเวลาออกเดินทางตรวจราชการรัฐบาลใช้เรือนนั้นเปนที่รับแขกเมืองด้วย แม้พวกท่องเที่ยวถ้าเปนคนชั้นสูงและได้รับอนุญาตพิเศษของรัฐบาลก็อยู่ได้ แต่พวกท่องเที่ยวดูเหมือนจะต้องเสียค่าธรรมเนียม เรือนพักอย่างนี้มีแต่ตามเมืองสำคัญในราชการหรือสำคัญด้วยเปนถิ่นที่ชาวต่างประเทศไปกันมากเช่นที่เมืองพุกาม ฉันได้เคยอยู่เรือนพักของรัฐบาล ๓ แห่ง คือที่เมืองมัณฑเล เมืองพุกาม และเมืองแปร ลักษณทำนองเดียวกันทั้งนั้นถือเปนเรือนไม้ ๒ ชั้น มีห้องนอนกับมีห้องน้ำกำกับหลายห้องทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ห้องนั่งจะรวมกันก็ได้หรือจะปิดประตูปันเปนหลายห้องก็ได้ แล้วแต่คนอยู่เปนพวกเดียวกันหรือหลายพวก แต่ห้องกินอาหารนั้นรวมห้องเดียวกันหมด ถ้าคนหลายพวกก็แยกกันเปนหลายโต๊ะ เมื่อฉันไปได้อยู่ทั้งหลังไม่มีพวกอื่นมาปะปนทุกแห่ง ข้างหลังเรือนมีเรือนแถวสำหรับเปนครัวไฟ เปนที่ไว้รถยนต์และห้องบ่าวอยู่ นอกจากนั้นก็เปนที่อยู่ของพวกพนักงานรักษาสถาน บนเรือนพักมีโต๊ะเก้าอี้และของที่จำต้องใช้ครบทุกอย่าง เปนต้นแต่เตียงนอนฟูกเบาะเมาะหมอนมุ้ง (แต่เขาบอกเมื่อก่อนไปจากเมืองร่างกุ้ง ว่าของเหล่านี้พวกรักษาสถานไม่ใคร่หมั่นซักฟอก ให้ใช้ของที่เช่าไปจากบริษัททอมัสกุ๊กดีกว่า) เครื่องใช้เช่นเครื่องล้างหน้าและถ้วยแก้วจานชามมีดซ่อมช้อนก็มีหมดทุกอย่าง ที่ในครัวก็มีเครื่องใช้ครบครัน แห่งใดไม่มีไฟฟ้าก็มีโคมน้ำมัน ไม่มีประปาก็มีบ่อน้ำใช้อยู่ในปริเวณ ถึงที่มีประปาก็มีคนตักน้ำบ่อขึ้นมาอาบ พวกพนักงานรักษานั้นตัวหัวหน้าพูดภาษาอังกฤษได้ทุกคน และมักเปนตัวกุ๊กประกอบอาหารด้วย ถ้าผู้ใดไปแต่ตัวจะว่าเหมาให้พนักงานรักษาสถานหาเลี้ยงดูด้วยเสร็จก็ได้ ถ้ามีกุ๊กบ๋อยของตัวไปเอง ผู้เปนหัวหน้าก็เปนแต่มารับใช้ดูแลให้ลูกน้องรักษาความสอาด พวกเราเปนแขกของรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เรือนพัก จึงให้บำเหน็จรางวัลมากผิดกว่าคนเดินทางสามัญ แต่ว่าคุ้มกับที่อยู่เปนสุขสบายทุกแห่งไม่น่าเสียดาย

เรือนพักของรัฐบาลอีกอย่างหนึ่งนั้น เรียกว่าดักบังกะโล Dak Bungalow ฉันได้ดูหลังหนึ่งที่มือยู่ ณ ตำบลหนองอู ดูเหมือนจะมีทุกตำบลที่สำคัญ สำหรับเปนที่พักของข้าราชการในท้องที่ เช่นพวกกรมการเมืองหรือกรมการอำเภอเมื่อเดินทางเที่ยวตรวจราชการ แม้บุคคลภายนอกเมื่อได้รับอนุญาตเพียงผู้ว่าราชการเมืองก็พักได้ ดักบังกะโลเปนเรือนไม้ชั้นเดียวขนาดย่อม ยกพื้นสูงจากแผ่นดินสัก ๒ ศอก เฉลียงหน้าเปนที่นั่งในประธานห้องกลางเปนที่กินอาหาร สองข้างเปนห้องนอนมีห้องน้ำต่อกัน เฉลียงหลังเปนห้องจัดอาหาร เครื่องแต่งเครื่องใช้มีครบทุกอย่างทำนองเดียวกันกับเรือนพักใหญ่เปนแต่เลวกว่า มีป้ายเขียนติดไว้ที่ห้องกินอาหารบอกอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ กับทั้งข้อบังคับสำหรับคนที่มาอยู่ ข้างหลังเรือนออกไปมีเรือนแถวที่อยู่ของพนักงานรักษา ดูเหมือนผู้รักษาจะรับเหมาทำการอย่างโฮเต็ล เปนแต่ตัวเรือนและเครื่องใช้เปนของรัฐบาล ผู้รับเหมาไม่ต้องลงทุน เรือนพักอย่างนี้ที่เมืองชวาก็มีมาก เรียกว่า “ประสังคระหัน”

เมืองพุกามนอกจากเปนที่มีของโบราณมาก ยังเปนแหล่งที่ขึ้นชื่อลือเลื่องอีกอย่างหนึ่งว่าทำของลงรักดีกว่าที่ไหน ๆ ในเมืองพะม่า ใครไปเมืองพุกามก็ตั้งหน้าไปหาซื้อของลงรักด้วยไม่มีเว้นตัว เมื่อพวกกรมการมาหาฉันถามเขาว่าจะหาซื้อเครื่องรักด้วยประการใดดี เขาบอกว่าเครื่องลงรักนั้นทำกันที่บ้านแห่งละเล็กละน้อย โดยปกติมีคนอื่นไปรับซื้อจากผู้ทำรวบรวมเอาไปเที่ยวขาย ส่งลงไปเมืองร่างกุ้งบ้าง เมืองอื่นบ้าง ที่เอาเที่ยวเร่ขายในเรือรับคนโดยสารขึ้นล่อง หรือขายพวกท่องเที่ยวที่มาถึงเมืองพุกามก็มี เอาไปวางขายตามร้านในท้องตลาดก็มี แต่ของเช่นนั้นมักหาของดียาก เพราะคนสามัญชอบซื้อแต่ของเลวที่ราคาถูก ชาวบ้านก็มักทำแต่ของชนิดนั้นเปนพื้นเพราะขายคล่อง ต่อบางแห่งผู้ทำเปนช่างจึงทำอวดฝีมือ ต้องหาตามบ้านพวกช่างจึงจะได้ของดี แต่เดี๋ยวนี้รัฐบาลตั้งโรงเรียนช่างรักขึ้นแห่งหนึ่งอยู่ไม่ห่างที่เราพักนัก ที่โรงเรียนนั้นทำแต่ของฝีมือดี และมักทำของแปลกๆ ส่งลงไปขายฝรั่งที่เมืองร่างกุ้ง เขาแนะนำให้เราไปเลือกหาของที่โรงเรียน และเขาจะให้กำนันป่าวร้องพวกช่างที่มีของทำอย่างประณีตเอามาออกร้านขายในบริเวณโรงเรียนเวลาเมื่อพวกเราไปด้วย ฉันก็เห็นชอบตามความคิดของเขา ได้ไปที่โรงเรียนในวันหลังก็สำเร็จประโยชน์เหมือนอย่างที่เขารับไว้ ได้เห็นของลงรักที่ทำในโรงเรียนและที่กำนันไปป่าวร้องให้เอาของมาขาย วางขายเปนแถวผู้หญิงขายเปนพื้น มีของฝีมือดีที่เขาเลือกมาโดยมาก กำนันเห็นจะกำชับเจ้าของมิให้ผ่านราคาด้วย เลือกหาซื้อของที่ชอบใจได้ราคาถูกๆ ชวนให้ใจฟุ้งซ่านอยากจะซื้อของฝากญาติและมิตร คิดถึงคนนั้นและคนนี้ ลงมือซื้อบ้างแล้วจึงรู้สึกตัวว่า “เงินในพก” บกพร่องเห็นจะไม่พอซื้อได้ตามใจประสงค์

โรงเรียนช่างรักที่รัฐบาลตั้ง ณ เมืองพุกาม วิธีที่เขาจัดการถูกใจฉันมาก ด้วยเขาถือเปนหลักว่าจะหัดนักเรียนให้ไปทำของลงรักขายเปนอาชีพโดยลำพังตนในวันหน้า แต่ให้มีฝีมือและความคิดดีกว่าที่ทำกันมาแต่ก่อน ด้วยถือหลักนั้นรัฐบาลไม่สร้างโรงเรียนโรงงานให้เปนตึกรามหรูหราอย่างไร เครื่องจักรเครื่องกลอย่างใดที่เหลือกำลังชาวเมืองจะมีได้ก็ไม่เอามาใช้ในโรงเรียน ตัวโรงเรียนใช้เครื่องไม้ปลูกแต่เปนศาลาโถง ยกพื้นสูงสัก ๒ ศอก มีห้องสำหรับเก็บของทางด้านสกัดห้องหนึ่ง ให้นักเรียนนั่งทำการกับพื้นในศาลานั้น ตัวครูผู้จัดการโรงเรียนเปนข้าราชการชั้น “อู” มีศิษย (ดูเหมือนจะจำกัดจำนวน) สัก ๓๐ คน วิธีสอนนั้นครูเปนผู้คิดแบบแลฝึกสอนตรวจตราให้นักเรียนรู้วิธีทำการต่างๆ ในกระบวรทำเครื่องรักให้ทุกอย่าง เวลาเมื่อฉันไปเรียกนักเรียนเข้าประจำที่ให้ฉันดูวิธีสอน เห็นนักเรียนบางหมู่กำลังเขียนลายลงกับสิ่งของตามแบบที่ครูให้ บางหมู่ขุดพื้นรักตามลวดลายที่เขียนแล้วบางคนขัดชักเงาพื้นที่ลงรัก และทำอย่างอื่นๆ อีก ของที่ทำในโรงเรียนนั้นขายเอาเงินมาอุดหนุนในค่าใช้สอย ถ้าว่าถึงของลงรักที่ทำ ณ เมืองพุกาม ของที่ชาวบ้านทำขายก็โถน้ำและแอบหมากเปนมากกว่าอย่างอื่น เพราะใช้กันในพื้นเมืองแพร่หลาย แต่มีทั้งที่ทำอย่างประณีตและที่ทำขายราคาถูก ๆ ของที่ทำสำหรับขายชาวต่างประเทศก็มักทำของที่ฝรั่งชอบใช้ เช่นหีบเขียนหนังสือ โต๊ะเล็กๆ สำหรับตั้งข้างเก้าอี้ ลงรักหลายสีขุดเปนลายรูปภาพเรื่องต่างๆ ซึ่งช่างพะม่าถนัดมาก บางอย่างก็เปนรักน้ำเกลี้ยงเขียนลายทองคำเปนกระถางต้นไม้และจานจัดดอกไม้เปนต้น ของพวกนี้ที่ทำตามบ้านช่างมักจะทำตาม ๆ กัน อาศัยโรงเรียนเปนปัญญาคิดแบบอย่างให้แปลกออกไป เมื่อฉันไปกำลังเพิ่มคิดแบบชามล้างมือในเครื่องโต๊ะ มีโอกับจานรองลงรักน้ำเกลี้ยงเขียนลายทอง (อย่างลายรดน้ำ) เปนรูปสิงหสัตว์ต่างๆ อย่างพะม่า ว่ากำลังขายดี เพราะทำโอได้บางจนถึงบีบมุมแล้วกลับคืนรูปได้ และกำลังคิดทำของอื่นๆ อีก เขาเอามาให้ฉันดูหลายอย่าง

ได้ความรู้แปลกในทางโบราณคดีเนื่องด้วยเรื่องทำของลงรักในเมืองพะม่าอย่างหนึ่ง น่าจะกล่าวไว้ตรงนี้ด้วย ฉันได้เห็นในหนังสือพงศาวดารพะม่าฉะบับหนึ่ง ว่าวิชาทำของลงรักนั้นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ไปจากประเทศสยาม (คือว่าได้ช่างรักไทยไปเมื่อตีกรุงศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. ๒๑๑๒ นับเวลามาจนบัดนี้ได้ ๓๖๗ ปีแล้ว) ถ้าจริงดังว่าก็พึงสันนิษฐานว่าครั้งนั้นได้ไปแต่วิธีทำรัก “น้ำเกลี้ยง” กับทำ “ลายรดน้ำ” จึงมีของพะม่าทำเช่นนั้นมาแต่โบราณ แต่วิธีที่ขุดพื้นรักลงไปเปนรูปภาพและลวดลายต่างๆ นั้น พวกช่างชาวเมืองพุกามเขาบอกจฉันว่าเพิ่งได้วิธีไปจากเมืองเชียงใหม่เมื่อชั้นหลัง ยังมีปลาดต่อไปอีกอย่างหนึ่งที่พะม่าเรียกรักว่า “ลัก” เพราะวิสัยพะม่าพูดสำเนียง ร ไม่ถนัด คำว่าลักอาจจะแปร่งไปจากคำว่ารักในภาษาไทยก็เปนได้ แต่อย่างไรจึงไปพ้องกับคำที่ฝรั่งเรียกของลงรักว่า “ลักเคอ” ฉันค้นดูในอภิธานภาษาอังกฤษ บอกว่ามูลของศัพทมาแต่ภาษาฝรั่งเศสและฝรั่งเศสได้มากจากคำ “ลัก” ภาษาเปอเซีย โยนปัญหากลับมาทางตะวันออกอีกดังนี้ ไทยเราจะคิดวิชาลงรักได้เองหรือได้มากจากไหนถ้าได้มาจากประเทศอื่นจะได้คำเรียกว่ารักมาด้วยกันกับวิชาหรืออย่างไร เพราะคำว่ารักพ้องกับคำที่หมายความว่าเสน่หาในภาษาไทย น่าจะไต่สวนต่อไปทางจีนและญี่ปุ่น เพราะเขาถนัดในการลงรักมาแต่โบราณทั้ง ๒ ประเทศ ครั้นสืบถามพวกจีนและญี่ปุ่นที่เมืองปีนัง ได้ความว่าจีนเรียกของลงรัก “ชี” หรือ “ชีหัว” ญี่ปุ่นเรียกว่า “อุรุซี” กลับแปลกไปดังนี้จึงยังแก้ปัญหาไม่ออก

การที่พวกเราจะเที่ยวในเมืองพุกาม ได้อาศัยอูเงวสิน ผู้รั้งกรมตรวจโบราณคดีที่รัฐบาลให้มาเปนคนนำทาง และได้อาศัยหนังสือนำทางที่อาจารยตอเชียนโกแต่งไว้ด้วย ในหนังสือกล่าวว่าที่เมืองพุกามมีวัดโบราณอยู่เรี่ยรายตลอดไปตามลำแม่น้ำเอราวดีเกือบ ๘๐๐ เส้น มีขึ้นไปข้างด้านตะวันออกทางบนบกเกือบ ๒๐๐ เส้น จำนวนวัดและพระเจดีย์โบราณเหลืออยู่ในเวลานี้มีกว่า ๕,๐๐๐ พวกเรามีเวลาเพียง ๓ วัน พ้นวิสัยที่จะดูได้ทั่ว จึงปรึกษากันกับอูเงวสินตกลงกันว่าจะไปดูแต่ที่เปนวัดสำคัญในพงศาวดารและสำคัญในทางโบราณคดี จะเริ่มเที่ยวดูตั้งแต่เวลาบ่ายวันที่ไปถึง ให้ไปว่าเหมาเช่ารถยนต์ประจำไว้ ๒ คัน ในหนังสือเดินทางซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ บอกว่าที่เมืองพุกามมีแต่ม้ากับเกวียนสำหรับพวกท่องเที่ยวจะใช้เปนพาหนะ รถยนต์เห็นจะเพิ่งมีเมื่อมีชาวต่างประเทศไปเที่ยวมากขึ้นไม่ช้ามานัก ถนนใช้รถก็ยังไม่มีกี่สายต้องขับรถยนต์ไปตามเกวียนเปนพื้น ทั้งรถยนต์และคนขับเหมือนกันตามหัวเมืองของเรา คือเปนรถเก่าแก่และคนขับออกจะห่าม แต่ก็ยังดีกว่าไปเกวียนหรือขี่ม้าอยู่นั่นเอง เริ่มเที่ยวในวันแรกก็เกิดความลำบากขึ้นอย่างหนึ่ง ฉันเคยได้ยินจากผู้ที่เขาเคยเที่ยวว่าที่เมืองพุกามเข้าวัดไม่ต้องถอดเกือก สอบถามอูเงวสินแกบอกว่าถ้าเข้าวัดที่มีกรรมการพะม่ารักษา เช่นวัดพระมหาธาตุเชวสินดงและวัดอานันทวิหาร เห็นจะต้องถอดเกือก แต่ถ้าเป็นวัดร้างที่อยู่ในปกครองของกรมตรวจโบราณคดีก็ไม่ต้องถอดเกือก ครั้นไปเที่ยววันแรกเป็นอูเงวสินตีนเป่าไม่ใส่เกือก ถามแกว่าวันนี้เราจะไปแต่วัดร้างไฉนจึงไม่ใส่เกือก แกตอบตามซื่อว่าตัวแกเปนคนชาวเมือง ถ้าพวกพะม่าเห็นใส่เกือกเข้าวัดก็จะพากันรังเกียจเกลียดชัง วันหน้าแกยังจะต้องมาเมืองพุกามแต่โดยลำพัง ถ้าชาวเมืองเกลียดชังเสียแล้วเกรงจะลำบากในการรักษาตัวให้ปลอดภัย แต่ส่วนพวกเรานั้นใส่เกือกก็ได้ไม่ต้องเอาอย่างแก เมื่อฟังว่าเช่นนั้นฉันก็คิดเห็นว่าถึงเราเปนแขกเมืองพวกพะม่าก็รู้ว่าเปนไทยถือพระพุทธสาสนา ถ้าใส่เกือกเข้าวัดที่เมืองพุกามถึงไม่มีภัยภัยอันตรายอย่างใด พวกพะม่าก็คงพากันติเตียนว่า “เจ้าโยเดีย” เปนอลัจชีหรือเปนมิจฉาทิฐิ จะเลยเสียชื่อของไทย ฉันจึงยอมถอดเกือกด้วยกับเขา ความที่กล่าวมาตอนนี้ ฉันรวมเอาเรื่องปกิณณกะที่มีในเวลาเที่ยวเมืองพุกามมาเล่าเสียก่อน ต่อนี้จะเล่าถึงเรื่องเมืองพุกามต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ