เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ ท่อน ๗

จะพรรณนาว่าด้วยตำหนักนางในต่อไป ตำหนักล้วนสร้างด้วยเครื่องไม้เปนเรือนหมู่ละสองหลังหรือสามหลัง มีตั้งแต่เปนตำหนักขนาดใหญ่ลงไปจนเปนเรือน ขนาดย่อม นัยว่ารวมราวสักร้อยหลังคาเรือน ปลูกรายเรียงกันเปนแถวๆ ที่บนชาลาปราสาท ตั้งแต่หลังมหามณเฑียรแก้วไปจนถึง “ท้องพระโรงหลัง” ที่สุดชาลาข้างด้านหลังวัง ตำหนักที่สำคัญกว่าเพื่อนมี ๔ หมู่ปลูกเรียงกันตามขวางต่อบริเวณมหามณเฑียรแก้ว (พิเคราะห์เปนทำนองเดียวกันกับ “ตำหนักเขียว” และ “ตำหนักแดง” ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ครั้งรัชชกาลที่ ๑) ตำหนักใหญ่หมู่อยู่ที่สุดทางข้างขวาเรียกว่า “ตำหนักใต้” เปนที่ประทับของพระพันปีหลวง แต่เมื่อพระเจ้ามินดงเสวยราชย์พระชนนีสิ้นพระชนม์เสียแล้ว จึงทรงสถาปนาอัครมเหษีของพระเจ้าสารวดีซึ่งเปนพระมารดาเลี้ยง และเปนชนนีของพระอัครมเหษีขึ้นเปนที่พระพันปีหลวงอยู่ที่ตำหนักนี้ จนถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อจึงสิ้นพระชนม์ เมื่อตำหนักว่างพระเจ้าสีป่อให้แก้ไขเอาเข้ากระบวรกับราชมณเฑียรที่สร้างใหม่ตรงหน้าตำหนักหมู่นี้ต่อมาถึงตำหนักใหญ่อีกหมู่หนึ่งเรียกว่า “ตำหนักกลาง” อยู่ตรงหลังมหามณเฑียรแก้ว เปนที่ประทับของอัครมเหษี ตำหนักหมู่นี้มีเรื่องเล่ากันว่า ตั้งแต่อัครมเหษีของพระเจ้ามินดงสิ้นพระชนม์แล้วว่างมาตลอดรัชชกาล เมื่อพระเจ้าสีป่อรับราชสมบัติใคร่จะอภิเศกเจ้าหญิงสุปยาลัต (แปลว่า “เจ้าฟ้าองค์กลาง”) เปนอัครมเหษี เพราะผูกสมัครักใคร่กันอยู่แต่ก่อน แต่พระนางอเลนันดอผู้เปนชนนีจะให้อภิเศกทั้งเจ้าหญิงสุปยาคยี (เจ้าฟ้าองค์ใหญ่) และเจ้าหญิงสุปยาลัต และให้ยกเจ้าหญิงสุปยาคยีเปนอัครมเหษีเพราะเปนพี่ พระเจ้าสีป่อขัดไม่ได้ก็ต้องยอม เจ้าหญิงสุปยาคยีจึงได้อยู่ตำหนักกลาง เจ้าหญิงสุปยาลัตไม่ยอมเปนน้อยกว่าเจ้าหญิงสุปยาคยี ฝ่าราชประเพณีเข้าไปอยู่ในมหามณเฑียรแก้วเสียด้วยกันกับพระเจ้าสีป่อ เจ้าหญิงสุปยาคยีก็เปนแต่ราชินีอยู่ตำหนักกลางเหมือนอย่างหุ่น ต่อมาไม่ช้าก็เกิดความด้วยถูกหาว่าทำเสน่ห์ต้องกลับไปอยู่ด้วยกันกับชนนี ตำหนักกลางก็ได้แก่นางราชินีสุปยาลัตใช้เปนที่ประสูติลูกเธอต่อมา ต่อตำหนักกลางไปถึงตำหนักเรียก “ตะบินแดง” Tabindaing เปนที่อยู่ของนางมกุฎราชกุมารี ด้วยในเมืองพะม่ามีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงเลือกหานางกษัตริย์เตรียมไว้ สำหรับเปนอัครมเหษีของพระเจ้าแผ่นดินที่รับรัชชทายาท เมื่อครั้งพระเจ้าสารวดีพระชนกของพระเจ้ามินดงทรงตั้งราชธิดาอันเกิดด้วยอัครมเหษีไว้ในตำแหน่งนั้น แต่พระเจ้าพุกามแมง ซึ่งรับรัชชทายาทเปนพระเชษฐาร่วมชนนีเดียวกัน เจ้าหญิงองค์นั้นก็คงเปนมกุฎราชกุมารีต่อมา จนถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงจึงได้เปนอัครมเหษี แต่ไม่มีราชโอรสราชธิดา พระเจ้ามินดงมีราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งเกิดด้วยสนมเอก ทรงนามว่าเจ้าหญิง “สะลิน” พระเจ้ามินดงสังเกตเห็นลักษณกิริยามารยาทคล้ายคลึงกับพระชนนีของพระองค์เปนอย่างอัศจรรย์ เชื่อพระหฤทัยว่าพระชนนีมาอุบัติก็ทรงพระเมตตามาก ถึงเลือกเจ้าหญิงสะลิน ตั้งให้เปนมกุราชกุมารีจึงได้อยู่ตำหนักตะบินแดงนั้น แต่เจ้าหญิงสะลินรู้อยู่ก่อนแล้ว ว่าเจ้าหญิงสุปยาลัตผู้สมัครักใคร่กับเจ้าชายสีป่อ เพราะฉะนั้นพอพระเจ้ามินดงสวรรคต ราชสมบัติได้แก่เจ้าชายสีป่อ เจ้าหญิงสะลินก็โกนพระเกศาทรงผนวชเปนรูปชีที่ตำหนักในทันทีมิให้เปนที่กีดขวางก็รอดอันตรายแต่อยู่มาได้ไม่กี่ปีก็สิ้นพระชนม์ เจ้าหญิงสุปยากะเลน้องน้อยของราชินีสุปยาลัตก็ได้อยู่ตำหนักนั้นต่อมา ตำหนักใหญ่ต่อนั้นไปเปนหมู่ที่สุดข้างซ้ายเรียกว่า “ตำหนักเหนือ” เปนที่ประทับของมเหษีรอง พระนางอเลนันดอได้อยู่แต่แรกสร้าง จนกระทั่งเสียเมืองพะม่าแก่อังกฤษ พระนางอเลนันดอถูกพาไปอินเดียด้วยกันกับพระเจ้าสีป่อ แต่ไปอยู่ไม่ช้านัก กล่าวกันว่าไปเกิดวิวาทกับราชินีสุปยาลัต รัฐบาลอังกฤษจึงให้พระนางอเลนันดอกับราชินีสุปยาคยีกลับมาอยู่ที่เมืองร่างกุ้งจนตลอดชนมายุ ต่อแถวตำหนักใหญ่ ๔ หมู่ไปข้างหลังเปนตำหนักราชเทวีราชชายาและราชธิดา แล้วถึงเรือนนักสนมเปนแถวๆ ต่อกันไป แต่ตำหนักและเรือนชานเหล่านั้นเดี๋ยวนี้รื้อเสียหมดแล้ว ยังรักษาไว้แต่ตำหนัก ๔ หมู่ที่ได้พรรณนามา พื้นชาลาตรงที่สร้างตำหนักและเรือนที่รื้อก็ลดต่ำลงเสมอลานวัง ทำเปนสวนรอบท้องพระโรงหลัง (เมื่อใช้เปนสโมสรสถานของฝรั่ง) เดี๋ยวนี้ท้องพระโรงหลัง จึงดูเหมือนสร้างในกลางสวนแห่งหนึ่งต่างหาก ที่ยังรู้ได้ว่าตำหนักและเรือนชานนางในตอนที่รื้อเสียแล้ว แต่เดิมเปนอย่างไร เพราะรัฐบาลอังกฤษทำหุ่นราชวังตอนชาลาปราสาทขึ้นไว้ให้คนดู มีปราสาทราชมณเฑียรกับทั้งตำหนักรักษาจำลองเปนอย่างขนาดเล็กๆ (เช่นเราเรียกว่า “เรือนตุ๊กกระตา”) ตั้งตรงตามแผนผังอย่างเช่นเปนอยู่เมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ แล้วเอาศาลาเก่าที่ในลานวังหลังหนึ่งทำฝ่าลูกกรงเหล็กตั้งหุ่นนั้นไว้ ดูหุ่นเข้าใจได้ดีกว่าดูแผนผังที่พิมพ์ไว้ในหนังสือนำทาง เพราะแลเห็นรูปร่างปราสาทราชมณเฑียรทั้งตำหนักรักษาที่ปลูกต่อเนื่องกันอย่างไรได้หมด เขาบอกว่าการสร้างหุ่นจำลองนั้นต้องใช้เงินถึง ๓,๐๐๐ รูปีย์ แต่เปนประโยชน์มาก นอกจากนั้นรัฐบาลให้เอาตึกเก่าหลังหนึ่งที่ริมราชมณเฑียร อันเคยใช้เปนสำนักงานของพวกมนตรีมาแต่ก่อน จัดเปนพิพิธภัณฑสถานรักษาของต่าง ๆ ครั้งสมัยมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าไว้ให้คนดูด้วยอีกแห่งหนึ่ง แต่เห็นจะจัดต่อเมื่อพะม่าเสียบ้านเมืองเสียนานแล้ว สิ่งของที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานดูจึงน้อยกว่าที่ควรจะหาได้ เพราะรวบรวมเมื่อของกระจัดพลัดพรายหายสูญไปเสียแล้วโดยมาก ถึงกระนั้นนอกจากของสัพเพเหระอันไม่จำต้องพรรณนา มีของน่าดูหลายอย่าง โดยจะเพาะสำหรับตาไทยเช่นตัวฉัน จะพรรณนาเปนประเภทต่อไป คือ

๑. รูปหุ่นบุคคลชั้นต่างๆ ในเมืองพะม่า ทำด้วยไม้จำหลักประสานสีขนาดสูงสัก ๑๐ นิ้ว มีตั้งแต่รูปพระเจ้าแผ่นดินเปนต้นลงไปจนถึงรูปคฤหบดี และชาวชนชาติอื่นที่อยู่ในเมืองพะม่า

๒. เครื่องต้นของพระเจ้าแผ่นดินกับอัครมเหษี แต่งหุ่นขนาดเท่าตัวคนตั้งไว้ในตู้กระจก แต่เขียนป้ายบอกไว้ว่าเปนของจำลอง เห็นจะจำลองจากรูปฉายพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตทรงเครื่องต้นที่มีปรากฏอยู่ พิเคราะห์เครื่องต้นดูคล้ายกับเครื่องแต่งตัวเทวดานางฟ้าที่ทำหุ่นไว้ณพระเกศธาตุ คือทรงมกุฎ ฉลองพระองค์ และทรงพระภูษาคาดชายไหวชายแครงเปนต้น ทำด้วยแพรปักทองเปนลวดลาย รูปทรงดูทูมทามไม่รัดกุมเปนสง่าราษี แต่สังเกตเห็นแปลกตาอย่างหนึ่งที่รูปเทวดาพะม่าทำใส่มกุฎทรงเหมือนชะฎาไทย แต่มกุฎเครื่องต้นพะม่าทำเปนทรง “ตุ้มปี่” มียอดแต่หน่อยหนึ่ง น่าจะเปนเพราะแบบชะฎาเช่นทำเทวรูป เปนของสำหรับใส่คนไว้ผมสั้นหรือมุ่นผมมวยข้างหลัง พะม่าไว้ผมจุกครอบไม่ลงจึงแก้มกุฎไปเปนทรงตุ้มปี่ ที่ว่านี้ตามความคิดเห็นของฉัน

มีคดีปลาดเรื่องหนึ่งซึ่งควรจะเล่าแทรกลงตรงนี้ ฉันอยากจะเห็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์และเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าตั้งแต่แรกไปถึงเมืองมัณฑเล นึกว่ารัฐบาลอังกฤษคงเก็บรักษาไว้ เมื่อไม่เห็นมีในพิพิธภัณฑสถาน ต่อมาวันหลังฉันพบเจ้าพะม่าที่รัฐบาลให้มาเปนผู้ชี้แจงขนบธรรมเนียมเก่า ถามเธอว่าของเหล่านั้นเอาไว้ที่ไหน เธอตอบว่าสูญเสียหมดแล้ว แล้วเลยเล่าเรื่องต่อไปว่าเมื่ออังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลนั้น ได้ตรัสฝากเครื่องราชูปโภคและของมหัครภัณฑ์ทั้งปวงแก่นายพันเอกสะเลเดน Colonel Sladen ซึ่งรัฐบาลอังกฤษให้เปนผู้บัญชาการบ้านเมืองในเวลานั้น ด้วยเคยคุ้นกับพระองค์มาแต่ครั้งพระเจ้ามินดง แต่นายพันเอกสะเลเดนยักยอกเอาของเหล่านั้นไปเปนของตนเองเสียหมด พระเจ้าสีป่อฟ้องต่อรัฐบาลอังกฤษให้ไต่สวน แต่การไต่สวนโยกโย้โรเรอยู่จนนายพันเอกสะเลเดนถึงแก่กรรม คดีกับทั้งสิ่งของก็เลยสูญไป ฉันได้ฟังก็ปลาดใจ ด้วยได้ทราบความตามหนังสือเรื่องเมืองพะม่าซึ่งฝรั่งผู้แต่งได้สืบสวนจากผู้อยู่ณเมืองมัณฑเลในสมัยนั้น เล่าถึงเหตุการณ์ว่าเมื่อก่อนอังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเล ได้ถามพวกเสนาบดีพะม่าว่าจะสมัคทำการกับอังกฤษต่อไปหรือไม่ พวกเสนาบดีรับ รัฐบาลจึงให้คงบังคับบัญชาการอยู่ตามตำแหน่งหน้าที่ เปนแต่ให้ฟังบังคับบัญชานายพันเอกสะเลเดนซึ่งเปนผู้สำเร็จราชการ เมื่อพาพระเจ้าสีป่อไปแล้วกองทัพอังกฤษยังตั้งอยู่ที่เมืองมัณฑเล แม่ทัพให้วางทหารยามคอยตรวจตราผู้คนเข้าออก ทุกประตูเมืองและประตูราชวัง พวกเสนาบดีพะม่าร้องขอให้ผ่อนผันให้นางในใช้บ่าวไพร่ ไปเที่ยวซื้อหาอาหารตามตลาดนอกวังได้เหมือนอย่างเดิม แม่ทัพอังกฤษก็สั่งทหารยามให้ปล่อยผู้หญิงเข้าออกได้โดยสดวก ผู้หญิงจึงมิต้องถูกตรวจค้นเหมือนอย่างผู้ชาย ในวันที่พระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลนั้นเอง พอตกกลางคืนพาวชาววังก็พากันขึ้นลอบลักของมหัครภัณฑ์ที่อยู่ในคลังและในราชมณเฑียร แล้วให้ผู้หญิงชาวนอกวังที่เปนสมัคพรรคพวกพาของซ่อนเร้นเอาออกไปนอกวังได้โดยสดวก ฝรั่งยืนยันว่าพวกพะม่าเองคบคิดกันลักเครื่องราชูปโภคและของมหัครภัณฑ์ไปในวันนั้น ครั้นกิตติศัพท์แพร่หลาย จึงใส่ความให้ร้ายนายพันเอกสะเลเดนเมื่อตัวไปจากเมืองพะม่าแล้ว พิเคราะห์ดูก็น่าจะจริงอย่างฝรั่งกล่าว เพราะคิดไม่เห็นว่านายพันเอกสะเลเดนจะอาจยักยอกเอาเครื่องราชูปโภคไปได้ด้วยอุบายอย่างใด ด้วยตัวเปนฝรั่งอยู่นอกวัง จะลอบเข้าไปลักเก็บของขนเอาไปโดยมิให้ใครรู้อย่างไรได้ ถ้าสั่งให้เก็บของขนเอาไปโดยเปิดเผยรัฐบาลอังกฤษก็คงต้องรู้ เรื่องนี้เมื่อฉันกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งพบกับเลขานุการใหญ่ของรัฐบาล เขาถามฉันถึงการที่ไปเที่ยวเมืองพะม่าเหนือ ฉันเล่าให้ฟังตลอดจนเรื่องเครื่องราชูปโภคหายตามที่ได้ยินมา เขาว่าเปนเรื่องที่พวกพะม่ากล่าวกันมานานแล้ว พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ พระเจ้าสีป่อมีเวลาเตรียมพระองค์อยู่ถึงสามสี่วัน คงจะรวบรวมของมหัครภัณฑ์เอาไปด้วยไม่น้อย ข้อนี้มีเค้าเงื่อนด้วยเมื่อลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง พระเจ้าสีป่อประทานแหวนทับทิมเปนบำเหน็จแก่พวกนายเรือที่พามาหลายคน ถึงกระนั้นก็คงมีของมหัครภัณฑ์อันไม่สามารถจะหยิบยกเอาไปได้สดวกเหลืออยู่ที่วังมิมากก็น้อย จึงเกิดการลอบลักเมื่อวันเอาพระเจ้าสีป่อไป ตัวเขาเองมารับราชการที่เมืองพะม่าภายหลังเหตุการณ์นานแล้ว แต่ทันได้พบผู้อยู่ในวังเวลานั้นซึ่งได้เห็นด้วยตาตนเองเล่าให้ฟัง ว่าในคืนวันนั้น สิ่งใดเปนของมีค่าพอจะหยิบยกเอาไปได้ แม้ที่สุดจนพรมเจียมพวกที่ขึ้นลักของก็เก็บเอาไปหมด ด้วยไม่มีใครหวงแหนห้ามปราม เลขานุการใหญ่เขาเห็นว่าถ้าพระเจ้าสีป่อหรือเสนาบดีพะม่า รีบบอกให้รัฐบาลทราบเสียโดยเร็ว ก็คงจะค้นคว้าสืบสวนเอาของคืนได้มิมากก็น้อย แต่นิ่งเสียหลายปีจึงร้องเมื่อหาหลักฐานไม่ได้เสียแล้วคดีจึงสูญไป เขาเล่าต่อไปว่ายังมีปลาดอีกข้อหนึ่ง ด้วยปรากฎมาแต่ก่อนว่าพระเจ้ามินดงได้ทับทิมใหญ่ ไว้เมล็ดหนึ่งขนาดสักเท่าไข่นกพิลาบ ใหญ่กว่าทับทิมเมล็ดอื่นๆ บรรดามีในโลกทับทิมเมล็ดนั้นหายไปด้วย จนทุกวันนี้กว่า ๕๐ ปีมาแล้วก็ไม่ปรากฏว่าไปตกอยู่ประเทศไหน สันนิษฐานกันว่าผู้ที่ได้ไปแต่แรกเห็นจะเอาไปย่อยออกเปนหลายเมล็ด ด้วยเกรงว่าถ้าเอาออกขายทั้งเปนเมล็ดใหญ่อย่างเดิมจะถูกจับ

๓. เครื่องแต่งตัวตามแบบ Uniform ของพะม่า (ตัวจริง) ที่ขุนนางเก่าเจ้าของมีแก่ใจให้แก่พิพิธภัณฑสถาน ทำหุ่นเท่าตัวคนแต่งตั้งไว้ในตู้กระจก มีเครื่องแต่งตัวขุนนางต่างชั้นกับทั้งเครื่องแต่งตัวภรรยาเวลาเข้าเฝ้าเต็มยศหลายอย่าง

พิเคราะห์เครื่องแต่งตัวเต็มยศขุนนางพะม่า ดูก็เปนเค้าเดียวกันกับเครื่องแต่งตัวขุนนางไทยแต่โบราณ คือนุ่งผ้าสวมเสื้อครุยใส่ลอมพอก เพี้ยนกันแต่พะม่านุ่งลอยชายเสื้อครุยเปนผ้าหนามีสายรัดเอว (เหมือนเสื้อ Dressing gown ฝรั่ง) และลอมพอกตอนยอดทำรูปป่อง ไม่รัดแหลมเหมือนของไทย คงเปนเพราะพะม่าไว้ผมเกล้าจุก แต่มีแปลกอย่างหนึ่ง ที่ขุนนางพะม่าเวลาแต่งเต็มยศถือพัดใบตาลปิดทองด้ามยาว (เหมือนอย่างที่นางพัดงานโสกันต์ถือ) เปนเครื่องยศด้วย ภรรยาขุนนางไทยเดิมก็มีเครื่องแบบสำหรับแต่งเต็มยศ พรรณนาไว้ในกฎมณเฑียรบาลหลายอย่าง แต่ไม่ใช้มาเสียนานแล้ว จะผิดเพี้ยนกับของพะม่าอย่างไรทราบไม่ได้

๔. เครื่องยศขุนนางพะม่า (ตัวจริง) ที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑสถานก็เปนทำนองเดียวกันกับเครื่องยศของไทย เปนภาชนะสำหรับใส่หมากพลูและกระโถนเปนต้น แต่เห็นจะรวมได้เพียงของสำหรับยศชั้นต่ำ เครื่องยศชั้นสูงที่เปนเงินเปนทองเจ้าของคงไม่ยอมให้

๕. ราชยาน (ตัวจริง) มียานมาศทาสีแดงจำหลักลายปิดทองใหญ่โตแทบเท่ายานมาศ ๓ ลำคานของไทย ว่าต้องหามถึง ๔๐ คน แปลกที่ทำที่นั่งทั้งข้างหน้าและข้างในนั่งหันหน้าหากัน (เหมือนรถแลนดอฝรั่ง) เพราะฉะนั้นในตำราราชพิธีพะม่าจึงปรากฏว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปงานใหญ่เช่นงานราชาภิเศกและงานบรมศพเปนต้น ทรงยานมาศมีดรุณี นั่งไปด้วย ๔ คน ราชยานอีกอย่างหนึ่งนั้นคือ สีวิกา มี (ตัวจริง) อยู่สัก ๓ หลัง ที่นั่งอย่างเดียวกับสีวิกาไทย แต่ตรงต่อพื้นมีกระจังข้างหน้า แล้วลดลงตรงทางขึ้น ต่อไปข้างหลังกระจังสูงขึ้นเปนกนก “เกริ่น” อยู่ข้างท้าย หลังคาทำเปนยอดปราสาท ๗ ชั้นสำหรับอัครมเหษี และลดชั้นน้อยกว่านั้นลงมาตามลำดับยศ ดูหนักกว่าสีวิกาไทยมาก เห็นจะต้องหามตั้ง ๒๐ คน

๖. เศวตฉัตร มี (ตัวจริง) ขนาดใหญ่สักเท่าพระกลด ๒ คัน ขนาดย่อมกว่านั้นสักหน่อย ๗ คัน ล้วนเปนฉัตรชั้นเดียวหุ้มผ้าขาวมีระไบขลิบทอง ๓ ชั้น คันยาวเช่นพระกลดไทย กล่าวในหนังสือนำทางว่าสำหรับตั้งข้างราชบัลลังก์และสำหรับเชิญแห่เสด็จด้วยตามประเพณีพะม่าเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปไหน มีคนเชิญเศวตฉัตร ๔ คันเปนนิตย์ เศวตฉัตรชั้นเดียวเช่นของพะม่าในเมืองไทยเราก็มี ทำเปนพุทธบูชาแขวนกั้นพระประธานปรากฏอยู่หลายแห่ง จะระบุตามที่นึกได้ ดูเหมือนมีที่วัดหน้าพระเมรุกับวัดกษัตราณพระนครศรีอยุธยาและที่วัดใหญ่เมืองเพ็ชรบุรี เปนของทำแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น

จะแทรกวินิจฉัยเรื่องฉัตรสักหน่อย เพราะไทยเราเรียกฉัตรชั้นเดียวเช่นเศวตฉัตรพะม่าที่พรรณนามาว่า “กลด” ต่อทำซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้นจึงเรียกว่า “ฉัตร” มูลของคำว่า “ฉัตร” เปนภาษาสันสกฤต ถ้าแปลเปนภาษาไทยก็ว่า “ร่ม” ไม่เกี่ยวกับต้องมีกี่ชั้น ที่เรียกว่า “เศวตฉัตร” ก็หมายความเพียงว่า “ร่มสีขาว” คำนี้พวกไทยชาวลานช้างเขาใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินของเขาว่า “พระเจ้าร่มขาว” มาแต่โบราณ การที่ใช้ฉัตรเปนเครื่องยศและที่ใช้ฉัตรสีขาวได้แต่เจ้าแผ่นดิน (ความส่อต่อไปว่าฉัตรเครื่องยศของผู้ที่มิได้เปนเจ้าแผ่นดินต้องใช้สีอื่น) เปนประเพณีมีมาในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกก็มีอธิบายเปนเช่นนั้น ประเทศทางตะวันออกเหล่านี้ได้แบบมาจากอินเดียด้วยกันทั้งนั้น เปนแต่มาดัดแปลงรูปฉัตรและแก้ไขขนบธรรมเนียมใช้ฉัตรต่างๆ กันไป พิเคราะห์รูปฉัตรชั้นเดิมเห็นว่าจะเปนชั้นเดียว (คือร่มคันยาวมีคนอื่นถือกั้น) ที่ทำฉัตรซ้อนกันขึ้นไปเปนหลายชั้นเปนของคิดทำขึ้นภายหลัง ถึงกระนั้นก็มีมาช้านานเหมือนกัน รูปฉัตรของโบราณในอินเดียตามที่จำหลักศิลาประกอบกับรูปภาพ ทำเปนฉัตรชั้นเดียวทั้งนั้น ฉัตรซ้อน ๓ ชั้นมีตัวอย่างทำปักเปนยอดพระเจดีย์สัญจิของพระเจ้าอโศกมหาราช ก็ทำเปนรูปฉัตรชั้นเดียว ๓ คันปักต่อๆ กันขึ้นไปแลเห็นคันฉัตรทั้ง ๓ ชั้น ฉัตรของไทยในกฎมนเฑียรบาลว่ามี ๖ อย่าง คือ ฉัตรชั้นเดียว ฉัตร ๒ ชั้น ฉัตร ๓ ชั้น ฉัตร ๕ ชั้น ฉัตร ๗ ขั้น และฉัตร ๙ ชั้น (ฉัตร ๔ ชั้น ๖ ชั้น ๘ ชั้นหามีไม่) พิเคราะห์ตามอธิบายนั้นสันนิษฐานว่าฉัตรสำหรับให้คนถือกั้นเวลาเดินทาง เดิมเห็นจะทำรูปเปนฉัตรชั้นเดียวทั้งนั้นเพราะจะต้องให้เบา และเรียกว่า “พระกลด” ใช้เครื่องหมายศักดิ์ต่างกันที่ระไบ พระกลดพระเจ้าแผ่นดินทำระไบ ๓ ชั้น พระกลดเจ้านายทำระไบ ๒ ชั้น สัปทน (คือฉัตร) ขุนนางทำระไบชั้นเดียว ฉัตรจำพวกพระกลดนับว่าระไบ ๓ ชั้นเปนอย่างสูงสุด เศวตฉัตรพะม่าจึงทำอย่างเช่นกล่าวมาแล้วต่อฉัตรสำหรับเอาไว้กับที่จึงทำเปนฉัตรซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น และเรียกว่า “ฉัตร” ยังมีฉัตรที่มาแก้ไขเปนอย่างอื่นกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลอีกหลายอย่าง ล้วนเปนเครื่องยศทั้งนั้น พึงสังเกตอย่างหนึ่ง แม้ในกฎมณเฑียรบาลก็เรียกว่า “ฉัตร” แต่ที่ตั้งอยู่ประจำที่ ถ้าทำสำหรับถือเดินทางถึงรูปเหมือนฉัตรก็เรียกชื่ออย่างอื่นเช่นเรียกว่า อภิรมย์ ชมสาย กันชิง กลิ้ง กลด ร่ม เหล่านี้ก็ฉัตรนั่นเอง

การที่ใช้ฉัตรเปนเครื่องยศ ดูปลาดที่ยังใช้กันอยู่จนทุกวันนี้แทบทุกประเทศที่เคยใช้มาแต่โบราณ จะยกตัวอย่างดังในอินเดีย เดี๋ยวนี้แก้รูปฉัตรไปคล้ายกับร่มปีกค้างคาวขนาดใหญ่ปักทอง ดูเหมือนจะไม่กำหนดสีกั้นฉัตรแต่เจ้าครองเมือง อังกฤษที่มาครองอินเดียก็มารับใช้ฉัตรเปนเครื่องยศด้วย พึงเห็นได้ดังเมื่อพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษเสด็จมาอินเดีย เสด็จไปไหน ๆ มีคนเชิญฉัตรกั้น แม้ทรงรถอย่างฝรั่งก็มีคนนั่งกั้นฉัตรไปข้างท้ายรถไวสรอยผู้สำเร็จราชการอินเดียเมื่อไปไหนโดยยศศักดิ์ ก็มีคนกั้นฉัตรเหมือนเช่นนั้นเมืองชะวามลายูและเขมร ก็ยังใช้ฉัตรเปนเครื่องยศ สัปทนจีนก็คือฉัตรนั่นเอง เดี๋ยวนี้ยังใช้แต่แห่เจ้า ที่เมืองพะม่าเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ก็มีฉัตร (รูปเปนร่มคันยาว) กั้นเปนเครื่องยศมาจนกระทั่งเสียบ้านเมือง กล่าวไว้ในหนังสือฝรั่งแต่งว่า แม้ชาวต่างประเทศที่เปนตัวหัวหน้าเช่นกงสุล ก็ได้พระราชทานฉัตร Umbrellar เครื่องยศ เวลาไปไหนให้คนถือกั้นไปเสมอ เพราะราษฎรเห็นฉัตรย่อมยำเกรงไม่กีดขวาง เปนความสดวกแก่การไปมา ฝรั่งจึงชอบ ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนที่เมืองชะวาจะใช้ฉัตร เครื่องยศอย่างวิตถารยิ่งกว่าที่อื่นๆ หมด พวกขุนนางฮอลันดาที่ไปปกครองก็รับใช้ฉัตรเปนเครื่องยศด้วยเหมือนกัน

ดูปราสาทราชมณเฑียรกับเครื่องยศของพะม่า ยิ่งพิจารณาก็ยิ่งเห็นน่าพิสวงด้วยขนบธรรมเนียมในราชสำนักพะม่า ดูคล้ายกันกับขนบธรรมเนียมไทยแต่โบราณมาก พะม่ากับไทยได้แบบอาริยธรรมมาจากอินเดียด้วยกันแต่ดึกดำบรรพ์ก็จริง แต่ข้อนั้นจะทำให้เหมือนกันได้เพียงโครงการ ส่วนรายการที่มาเพิ่มขึ้นหรือมาแก้ไขในเมืองไทยกับเมืองพะม่าจะเผอิญเหมือนกันด้วยต่างคิดไปโดนกันเข้ายากที่จะเปนได้ มิใครก็ใครเอาอย่างกันจึงจะเหมือนกัน พิจารณาดูตามเรื่องพงศาวดาร ปรากฏว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ไปตีได้นครธมราชธานีเขมร ได้พวกเขมรที่เปนผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเข้ามาไว้ในพระนครศรีอยุธยามาก พวกนั้นนำแบบแผนประเพณีในเมืองเขมรเข้ามา แล้วไทยรับเอามาใช้โดยมาก ด้วยเห็นว่าเมืองเขมรเคยเปนมหาประเทศมาช้านาน ฉันใดก็ดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าเอาข้าราชการไทยไปเมืองหงสาวดีด้วยมาก และต่อมาถึงครั้งพระเจ้ามังระครองกรุงอังวะ พะม่าตีได้พระนครศรีอยุธยาก็กวาดต้อนเอาไทยทุกชั้นบันดาศักดิ์ไปเปนอันมากอีกครั้งหนึ่ง น่าจะได้ขนบธรรมเนียมไทยไปใน ๒ ยุคนี้ เลือกเอาไปเพิ่มใช้เปนขนบธรรมเนียมพะม่าจึงละม้ายคล้ายคลึงกันนัก แม้จนทุกวันนี้พะม่าก็ยังนับถือแบบอย่างต่างๆ ของไทยอยู่แพร่หลาย เรียกกันว่า “แบบโยเดีย” ปรากฎแก่ฉันเองในเวลาเที่ยวอยู่ในเมืองพะม่าหลายอย่าง

วันนี้เที่ยวดูอยู่ในราชวังกว่า ๓ ชั่วโมงจนเลยเที่ยงจึงกลับที่พัก ถึงเวลาบ่าย ๑๖.๓๐ นาฬิกาไปกินเลี้ยงน้ำชาที่จวนผู้บัญชาการมณฑลมัณฑเลตามได้รับเชิญไว้ เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วยังไม่ค่ำมืด จึงขึ้นรถไปเที่ยวดูวัดหลวงที่เชิงเขามัณฑเลอีกครั้งหนึ่ง จะพรรณนาว่าด้วยวัดในตอนหน้าต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ