วันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๓ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๘ ขอบพระเดชพระคุณที่ประทานพร เนื่องด้วยรูปฉายเวลาจรดกรรบิดให้เหลน หม่อมฉันขอถวายพรให้ท่านทรงเจริญพระชันสาด้วย ที่ท่านเสด็จไปทรงรดน้ำสังข์และจุณเจิมผูกด้ายขวัญประทานพรหญิงใหญ่ในวันเกิดของเธอครบ ๕๐ ปีนั้น ตัวเธอเองคงปีติยินดีเห็นเปนมงคลมาก ไม่รู้ว่าท่านทรงทราบหรือไม่ว่าพวกลูกของหม่อมฉันเขาเรียกพระองค์ท่านแต่ว่า “เสด็จอาว์” ไม่ออกพระนามมานานแล้ว พวกลูกที่อยู่ในกรุงเทพฯ ยังนับถือว่าเปนผู้แทนพ่อต่อไปด้วย ชายน้อยดิศศานุวัติ จะขึ้นเรือนใหม่ในเดือนนี้ก็เห็นจะเชิญเสด็จไปประทานพรอีก

จะทูลสนองความในลายพระหัตถ์บางข้อต่อไปในจดหมายฉะบับนี้คำที่ฝรั่งเรียกพระสงฆ์ว่า “ตะละปอน” นั้น ศาสตราจารย์ เซเดส์ ไปหาอธิบายมาได้ว่าเปนภาษามอญ และว่าคำ “เจ้ากู” ของไทย “ตะละปอน” ของมอญ “กมรเตนอัญ” ของเขมร หมายความตรงกันทั้ง ๓ คำ

คำว่า “กลิ้ง” ที่ใช้เปนเครื่องกั้นนั้นมักเห็นในบทกลอนว่า “กันชิงกลิ้งกลด” น่าจะหมายความว่าเปนเครื่องกั้นอย่างหนึ่ง แต่รูปร่างจะเปนอย่างไรคิดดูก็ “หงายท้อง” จนปัญญาเสียเหมือนอย่างที่เรียกว่า “ร่มธงยู” ฉะนั้น แต่ในกฎมณเฑียรบาลตอนพิธีเบาะพกเรียกว่า “กลิ้งพรหม” มักอยู่ต่อกับฉัตร บอกจำนวนว่ากลิ้งพรหมของพระเจ้าแผ่นดินมี ๓๒ ของพระอัครมเหษีมี ๑๖ ของพระภรรยาเจ้ามี ๘ และแม่อยั่วเมืองก็มี ๘ ดั่งนี้ ความแสดงว่าเปนรูปมิใช่กิริยา แต่กิริยาที่หมุนพระกลดนั้นก็ชอบกลหนักหนา หม่อมฉันเห็นด้วยว่าน่าจะมีแบบแผนในประเพณี มิใช่พวกจำอวดคิดทำให้เห็นขัน แต่คิดไปก็ยังไม่เห็นว่าจะเปนประโยชน์อันใดที่หมุนพระกลดเช่นนั้น

พระพุทธรูปนาคปรกอย่างฝาชี ที่ท่านเสด็จไปพบที่ในหอราชกรมานุสรณ์นั้นก็ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิด แต่หม่อมฉันนึกว่าพอจะเดามูลเหตุถวายได้ ด้วยปรากฎในพงศาวดารว่าเมื่อแรกพบแร่ทองแดงที่เมืองนครจันทึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระพุทธรูปเหล่านั้น พระราชดำริจะใช้ทองแดงเมืองจันทึกหล่อพระพุทธรูปเปนพระราชกุศลก่อน จึงทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระปรมานุชิต ฯ ให้ตรวจค้นพระปางต่าง ๆ ให้มีมากขึ้น แล้วทรงหล่อพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นั้น ด้วยประสมทองแดงเมืองจันทึกเปนทองสัมฤทธิ์ มิได้มีจำนวนจำกัด ที่มาอุททิศพระพุทธรูปปางต่าง ๆ นั้นถวายพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนพระราชดำริของทูลกระหม่อม ชะรอยเวลาเมื่อทรงพระราชดำรินั้น พระปางต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหล่อไว้ จะมีไม่ครบจำนวนพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรด ฯ ให้หล่อเพิ่มขึ้นอีก พระนาคปรกองค์นี้จะอยู่ในพวกที่หล่อเพิ่มเติมในรัชชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมเป็นผู้ที่คิดแก้ให้ขดนาคเปนอย่างฝาชี ที่จะเปนพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะไม่เปนได้ แต่หม่อมฉันก็ยังนึกว่าเคยได้ยินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระราชปรารภกับพระองค์เจ้าประดิษฐ ฯ คงทรงปรารภเนื่องกับพระนาคปรกที่มีอยู่ในหอราชกรมานุสรณ์ แต่หม่อมฉันไม่ได้ยินตอนนั้นจึงไม่ทราบ

ในสัปดาหะนี้เมื่อวันที่ ๑๑ เขามีงานฉลองอายุเกาะปีนังตั้งแต่เปนเมืองขึ้นของอังกฤษมาครบ ๑๕๐ ปี ทำเปนงานใหญ่แต่เปนงานวันเดียวเขาเชิญหม่อมฉันกับเจ้าหญิงให้ไปดูงาน ลักษณงานนั้นแบ่งเปน ๕ ภาค

ภาคที่ ๑ เวลาเช้า ๙ นาฬิกา สวนสนามนักเรียนและลูกเสือที่สนามหน้าป้อมคอนวอลลิส Fort Cornwallis ที่เปนวัตถุสร้างเมื่อแรกตั้งเมืองปีนังยังเหลืออยู่อย่างเดิมสิ่งเดียวเท่านั้น เจ้าเมืองให้โอวาทประกาศเล่าเรื่องตำนาน

ภาคที่ ๒ เจ้าเมืองกับตัวนายที่เปนผู้ใหญ่ในการปกครอง กับหัวหน้าชาวเมืองปีนังคณะและชาติต่าง ๆ (แต่ไม่มีไทยด้วย ทำนองจะเป็นว่ามีจำนวนน้อยเช่นเดียวกับพวกชะวาและพะม่า) พากันไปวางพวงมาลาณที่ฝังศพกัปตัน ฟรานซิส ไลต์ Captain Francis Light ซึ่งเปนผู้มาเช่าเกาะปีนังจากเมืองไทร และได้เปนเจ้าเมืองคนแรกอยู่ได้ ๔ ปี ป่วยเปนไข้มาเลเรียตายที่เกาะปีนังนี้ ฝังศพไว้ในสุสานริมถนนนอทัม เรื่องกัปตันไลต์ที่ฝรั่งไม่รู้ยังมีทางข้างไทยว่าเมื่อเช่าเกาะปีนังแล้วได้เข้าไปยังกรุงเทพ ฯ เอาเครื่องศาสตราวุธเข้าไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลานั้นไทยยังกำลังรบพุ่งติดพันกันอยู่กับพะม่า จึงทรงพระเมตตาโปรด ฯ ตั้งกัปตันไลต์เปนที่ “หลวงอาวุธวิเศษ” มีอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพิธีภาคเช้านี้หม่อมฉันไม่ได้ไป เพราะเห็นว่าเขาทำเปนทางราชการ

ภาคที่ ๓ เวลาบ่าย ๑๗ นาฬิกา มีงานประชุมเด็กนักเรียนผู้หญิง และคณะเด็กหญิงนำทาง Girl Guide ที่สนามในจวนเจ้าเมือง ให้นักเรียนเล่นแสดงตำนานและการกีฬาต่าง ๆ เจ้าเมืองให้รางวัล งานภาคนี้หม่อมฉันให้ไปแต่หญิงพูน เพราะพวกสมาคมสตรีมีบันดาศักดิ์เขาเชิญเธอโดยฉะเพาะ แต่หม่อมฉันหาได้ไปไม่

ภาคที่ ๔ เวลาค่ำ ๑๙.๓๐ นาฬิกา เล่นแสดงตำนานเมืองปีนังที่ลานในป้อมคอนวอลลิสเปนการสำคัญกว่าทุกภาค มีพวกผู้ดีทั้งฝรั่งแขกมลายูและจีนเข้าเล่นด้วย มีคนไปดูอย่างว่า “ล้นหล้าฟ้ามืด” แต่เขาจัดที่ให้คนดูเปนพวก ต่อพวกที่ได้เชิญจึงเข้าไปดูได้ในป้อม พวกที่มิได้รับเชิญต้องยืนดูอยู่นอกป้อมด้านหนึ่งซึ่งเขารื้อป้อมเสียแล้ว แม้พวกที่ได้รับเชิญก็ยังต่างกันเปน ๒ ชั้น ชั้นสูงได้รับตั๋วพิเศษสำหรับดูในตอนที่สงวน Reserve มีเก้าอี้ปลีกนั่งเปนรายตัวขึงเชือกล้อมไม่เบียดเสียดกับพวกอื่น แต่พวกที่ได้เพียงตั๋วอนุญาตต้องนั่งตามชั้นที่ทำยาวตลอดทั้งข้างบนและที่ริมกำแพงข้างในป้อม มีพนักงานรับแขกเอื้อเฟื้อดี เขาให้พวกหม่อมฉันนั่งเก้าอี้แถวหน้าในตอนที่สงวนแห่งหนึ่ง ในสนามนั้นจุดโคมฉายไฟฟ้าและมีเครื่องวิทยุขยายเสียงให้คนดูได้ยินคำพูดของผู้เล่นและมีแตรวงบรรเล็งด้วย กระบวรที่เล่นนั้นเริ่มด้วยมีคนแต่งตัวเปนรับสั่งอย่างโบราณ Herald ออกมากับเด็กคนเป่าแตร ๒ คน เป่าแตรเปนสัญญาแล้วอ่านประกาศรัฐบาลอินเดียเมื่อครั้งยังเปนบริษัท British East India Company มอบอำนาจให้กัปตันไลต์มาตั้งเกาะปีนังเปนเมืองขึ้นของอังกฤษ แล้วเปลี่ยนบทเปนเมื่อกัปตันไลต์มาถึงปีนัง มีพวกกลาสีออกมาเดินเวียนสนามให้คนดูแล้วตั้งแถวอยู่ ต่อนั้นพวกทหารมะรินทั้งเหล่าทหารรายและทหารปืนใหญ่ออกมาเดินเวียนแล้วตั้งแถวเช่นนั้น คราวนี้ถึงตัวกัปตันไลต์กับนายทหารเรืออีกสี่ห้าคนออกมาเดินตรวจแถวทหาร แล้วไปนั่งเก้าอี้ที่ริมโต๊ะตัวหนึ่งแต่ตัวกัปตันไลต์ ส่วนนายทหารเรือยืนอยู่ข้างหลัง ขณะนั้นผู้ที่แต่งเปนรายามุดาเมืองไทร มีคนตามหลังสักสี่ห้าคน เดินเข้ามาหากัปตันไลต์ ๆ เชิญรายามุดานั่งเก้าอี้ทำเปนที่สนทนากัน แล้วเอากระดาดออกคลี่ลงชื่อทำสัญญายอมให้เกาะปีนังแก่อังกฤษ รายามุดาลาไปแล้วมีพวกแขกมลายูชาวเกาะปีนังพากันมาอ่อนน้อม ให้ของกำนัลแก่กัปตันไลต์ แล้วพวกจีนก็มาอ่อนน้อมเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อเสร็จการส่วนทำสัญญาแปรแถวทหารและกลาสีมาตั้งที่เสาธง (อันทำเตรียมไว้แล้ว) กัปตันไลต์กับพวกนายทหารเรือมายืนอยู่อีกด้านหนึ่ง กัปตันไลต์อ่านประกาศว่าแต่นี้ไปเกาะปีนังเปนเมืองขึ้นของอังกฤษ แล้วชักธงอังกฤษขึ้นเสา ทหารยิงปืนเฉลิมเกียรติ เสร็จตอนนี้กัปตันไลต์พวกนายทหารเรือกับทหารมะรีนกลับเข้าโรง ยังอยู่แต่พวกกลาสี ผู้ที่อ่านประกาศเริ่มแรกออกมากับคนเป่าแตรอีกครั้งหนึ่ง เป่าแตรแล้วประกาศความเจริญของเกาะปีนัง เมื่อประกาศแล้วกลับเข้าโรง พวกกลาสีก็เดินแถวกลับตามเข้าไป เปนสิ้นเรื่องแสดงตำนานเวลาจวน ๒๑ นาฬิกา

ภาคที่ ๕ เล่นโบเรีย Boria เปนยี่เกและลำตัดของพวกมลายู (เข้าใจว่ามีจีนแถมด้วย) ต่อไปจน ๒๓ นาฬิกา แต่หม่อมฉันกลับเมื่อเสร็จแสดงตำนาน จึงทูลรายการได้เพียงนั้น

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าถวายมากับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อนหนึ่ง นับเปนท่อนที่ ๒ ในตอนที่ ๕ มีรูปฉายประกอบ ๖ รูป คือ

๑. รูปยอดวิหารวัดยักไข่

๒. รูปมุขวิหารวัดยักไข่ (รูปคนกำลังไหว้พระภูมิหันหลังให้วิหาร)

๓. รูปพระมหามัยมุนี

๔. รูปหมู่ถ่ายที่ตรงหน้าภาพทองสัมฤทธิ์

๕. รูปภาพทองสัมฤทธิ์ ดูใกล้

๖. รูปพระโต ที่เมืองสะแคง

หม่อมฉันไปเห็นรูปมหาปราสาทเมืองมัณฑเลฉายเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่า ให้จำลองถวายมาด้วยอีกรูป ๑ จะได้ทรงเปรียบกับรูปมหาปราสาทตามอย่างเปนอยู่บัดนี้ ที่หม่อมฉันฉายรูปมาและได้ถวายไปแต่ก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ