เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเลภาคปลาย (ท่อนที่ ๒)

รายการที่กำหนดไว้สำหรับวัน (จันทรที่ ๒๗ มกราคม) นี้เปนวันไปดูวัดยักไข่ Araccan Temple นับเปนที่ประดิษฐานพระพุทธรูป “มหามัยมุนี” เรียกกันเปนสามัญว่า “พระมหามุนี” ซึ่งนับถือว่าศักดิสิทธิ์เปนศรีเมืองพะม่า พระพุทธรูปองค์นี้ในตำนานว่าพระเจ้าจันทสุริยเจ้าแผ่นดินยักไข่เมื่อยังเปนอิสสระ หล่อที่เมืองธรรมวดีราชธานีเมื่อ พ.ศ. ๖๔๙ แล้วสร้างวัดมหามัยมุนีเปนที่ประดิษฐานไว้ที่บนภูเขาศีลคีรี Thilagyeri องค์พระเปนทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัยขนาดหน้าตัก ๖ ศอก (๙ ฟุต เห็นจะเท่าๆ กับพระศาสดาที่วัดบวรนิเวศนฯ ในกรุงเทพ ฯ) ตามเรื่องตำนานกล่าวว่าเปนพระศักดิ์สิทธิ์มาแต่แรกสร้าง เพราะเมื่อจะสร้างนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จมา (เข้าพระสุบิน) ประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริย ให้พระพุทธรูปองค์นี้เชิดชูพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองเหมือนอย่างเปนพระน้องของพระพุทธองค์ อีกประการหนึ่งหุ่นพระมหามัยมุนีนั้นหล่อเปนสามท่อน เมื่อหล่อแล้วเอาประสานกันเนื้อสนิทดีไม่มีร่องรอยเปนอัศจรรย์ ก็เห็นกันว่าเปนด้วยพรของพระพุทธเจ้าที่ประทานนั้นยังมีเรื่องเล่ากันวิตถารหนักขึ้นไปอีก ว่าสมัยหนึ่งในพุทธกาลพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ถึงเมืองยักไข่ (อย่างเดียวกันกับเสด็จมาพยากรณ์ที่เมืองมัณฑเล และเสด็จมาเหยียบรอยพระพุทธบาทที่เขาสุวรรณบรรพตในเมืองเรา) พระเจ้ายักไข่ได้ทรงฟังพระธรรมเทศนาเกิดเลื่อมใส เมื่อพระพุทธเจ้าจะเสด็จกลับจึงทูลขอหล่อพระพุทธรูปไว้บูชาแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าก็โปรดประทานอนุญาต แล้วประศาสน์พรให้พระพุทธรูปนั้น สามารถเทศนาได้เหมือนกับพระองค์ จนเมื่อพระสาสนาประดิษฐานมั่นคงแล้วจึงให้สิ้นฤทธิพรที่ประทาน เรื่องมูลเหตุจะมีความจริงเปนอย่างไรก็ตาม มีหลักฐานในพงศาวดารว่าพระพุทธรูปมหามัยมุนีนี้ นับถือกันทั้งในประเทศยักไข่ตลอดจนประเทศพะม่ามอญ ว่าศักดิ์สิทธิเปนศรีเมืองมากว่า ๑,๐๐๐ ปี พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดมีอานุภาพถึงสามารถไปตีเมืองยักไข่ นับแต่พระเจ้าอนุรุทธมหาราชเปนต้น พยายามจะเชิญพระมหามัยมุนีเอามาเปนศรีพระนครทุกพระองค์ บางครั้งถึงให้เลาะรอยต่อออกเปนหลายท่อนแล้วแต่เผอิญเกิดเหตุขัดข้อง ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดสามารถจะเอาพระมหามัยมุนีมาจากเมืองยักไข่ได้ จนถึง พ.ศ. ๒๓๒๕ (ปีที่สร้างกรุงรัตนโกสินทร) พระเจ้าปะดุงในราชวงศอลองพระตีได้เมืองยักไข่ ตรัสสั่งพระมหาอุปราชผู้เปนแม่ทัพ ให้เชิญพระมหามัยมุนีมาเมืองพะม่าให้จงได้ ด้วยประสงค์จะให้ปรากฎพระเกียรติยศว่ามีอานุภาพยิ่งกว่ามหาราชแต่ปางก่อน (ถึงเชิญมาได้ก็หาได้อานุภาพเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อตีเมืองยักไข่ได้แล้วมาตีเมืองไทยในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร มาพ่ายแพ้ไทยไปทั้ง ๒ ครั้ง) ลักษณที่เชิญพระมหามัยมุนีมาจากเมืองยักไข่นั่น ว่าให้เลาะรอยต่อออกเปนสามท่อน เอาลงเรือมาทางทะเลจนถึงท่าที่จะเดินบกมาเมืองพะม่า แล้วเอาขึ้นบรรทุกตะเฆ่ลากต่อมา สิ่งของเครื่องพุทธบูชาอันเคยอยู่ในวัดมหามัยมุนี เช่น รูปภาพทองสัมฤทธิ์ของโบราณเปนต้นก็ขนเอามาด้วย ให้เกณฑ์คนทำทางชลอลากข้ามภูเขามาทางช่องตองคุป Taungup Pass จนถึงแม่น้ำเอราวดีที่เมืองปะดอง แล้วเอาลงเรือแห่แหนมายังราชธานีมีมหกรรมฉลองเปนการใหญ่โต พระเจ้าปะดุงให้สร้างวัดขึ้นใหม่เปนที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี ทุกวันนี้เรียกกันเปนสามัญว่า “วัดยักไข่” อยู่บนเนินนอกเมืองอมรบุระทางฝ่ายตะวันออก ตัววัดเดิมก่อมณฑปน้อยเปนที่ตั้งองค์พระอยู่ข้างในมีวิหารใหญ่หลังคาปราสาทสร้างด้วยไม้ครอบข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง ต่อออกมาทำชาลามีศาลารายและกำแพงล้อมรอบ มีบรรไดทางขึ้นทั้ง ๔ ทิศ เหมือนเจดียสถานที่สำคัญแห่งอื่นเช่นพระเกศธาตุและพระมุเตาเปนต้น พระมหามัยมุนีจึงสถิตย์เปนศรีเมืองพะม่าแต่นั้นมา มีผู้คนทั้งในประเทศพม่าและประเทศอื่นที่ถือพระพุทธสาสนาพากันไปบูชาเปนอันมากเนืองนิจ แต่มาถึงรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เกิดเหตุไฟไหม้วัดยักไข่หมดทั้งวัด พระเจ้าสีป่อให้สร้างมณฑปชั้นในพอตั้งพระมหามัยมุนีอย่างเดิมแล้ว ยังไม่ทันสร้างปราสาทและบริเวณวัดขึ้นใหม่ก็เสียบ้านเมืองเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ พวกพะม่าจึงพากันเห็นว่าที่ไฟไหม้วัดยักไข่ครั้งนั้น เปนลางสังหรณ์เหตุที่เสียบ้านเมือง แต่พระมหามัยมุนียังมีคนนับถือมากอยู่อย่างแต่ก่อน พวกสัปรุษจึงบอกบุญเรี่ยรายสร้างวัดต่อมาคงได้เงินมาก จึงสามารถสร้างวัดด้วยอิฐปูนทำให้ใหญ่โตมั่นคงกว่าแต่ก่อน ปรากฎว่าพวกสัปรุษให้ช่างชาวอิตาลีคิดแบบ แล้วขออนุญาตต่อรัฐบาลอังกฤษก็ยอมให้สร้างตามประสงค์ วัดยักไข่เวลานี้จึงนับว่าแปลกกับวัดอื่นโดยนัยหนึ่ง ด้วยเปนที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าที่สุด แต่ตัววัดเปนของใหม่ที่สุดในพวกมหาเจดียสถานเมืองพะม่า

เวลาเช้า ๘ นาฬิกา ฉันแต่งตัวอย่างอุบาสกขึ้นรถตรงไปยังวัดยักไข่ พอถึงวัดก็เห็นว่าช่างฝรั่งคิดแบบ แม้ตั้งใจจะให้เปนอย่างพะม่า แต่ก็ซ่อนวิสัยฝรั่งไม่ได้สนิท พึงสังเกตได้เช่นรูปทรงปราสาทหลังคาวิหารเปนต้น และยังมีที่อื่นอีก แต่จะติว่าช่างฝรั่งทำให้เลวลงกว่าแต่ก่อนก็ไม่ได้ ด้วยเขาแก้ไขดีขึ้นโดยทางสถาปนิกศาสตร์ก็มีหลายอย่าง เช่นก่อวิหารด้วยอิฐปูนให้มั่นคงด้วยไม่ต้องเพิ่มน้ำหนักเปนต้น แม้จนบันไดและร้านขายของสองข้างทางขึ้น ก็ทำเรียบร้อยสว่างไสวดีกว่าทางขึ้นพระเกศธาตุมาก ตัววิหารนั้นพิเคราะห์ตามแผนผังเขาก็แก้ไขดีขึ้นด้วยไม่ทำมณฑปเล็กชั้นในอย่างแต่ก่อน ก่อเปนมณฑปใหญ่ยอดปราสาทแต่หลังเดียว ทำฐานชุกชีรูปร่างอย่างราชบัลลังก์สูงสัก ๓ ศอกเศษ ตั้งพระมหามัยมุนีไว้กลางมณฑป ปล่อยแสงสว่างเข้าไปให้แลเห็นองค์พระได้ถนัด ทั้งทางประตูด้านหน้าและทางหน้าต่างสองข้างวิหาร วิหารนั้นตอนยอดปราสาทปั้นลายลงรักปิดทองประดับกะจก แลเห็นเปนแก้วทองเถือกไปแต่ไกล แต่ต่ำลงมาประดับกะจกปิดทองแต่ฝาในห้องที่ตั้งพระพุทธรูป ฝาข้างนอกเปนแต่โบกปูนขาวปั้นลายประดับซุ้มจระนำและมีเฉลียงหลังคาตัดรอบ ต่อเฉลียงมีมุขเปนที่พักสัปบุรุษออกมาจนถึงบันไดทั้ง ๔ ด้าน รอบวิหารเปนลานปูกะเบื้องตลอดจนถึงกำแพงบริเวณ และมีศาลารายในลานนั้นหลายหลัง ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ฉันไม่ได้สังเกตเห็นเอง แต่เมื่อกลับมาแล้วจึงอ่านพบพรรณนาไว้ในหนังสือเรื่องเมืองพะม่าฉบับหนึ่ง ว่าลายปั้นประดับวิหารพระมหามัยมุนีเช่นที่ซุ้มจระนำเปนต้น ใช้ไม้จำหลักตอกตะปูตรึงกับฝาแล้วปั้นแกะทาปูนให้แลเห็นเหมือนกับเปนลายปั้น คิดดูก็น่าจะจริง ด้วยช่างพะม่าสันทัดการจำหลักไม้มากกว่าปั้นปูน เมื่อสร้างวิหารจะหาช่างปั้นฝีมือดีไม่ได้ จึงใช้จำหลักไม้ทำเปนลายปั้นดังว่านั้น

ว่าถึงองค์พระพุทธรูปมหามัยมุนี ฉันอยากเห็นมานานแล้วด้วยได้ยินเลื่องลือกันว่างามน่าชม และเปนพระพุทธรูปสำคัญที่สุดในเมืองพะม่า กล่าวกันว่าเมื่อพระเจ้าเอ็ดวาร์ดที่ ๘ เมื่อยังเปนปรินซ์ออฟเวลส์เสด็จไปเมืองพะม่าก็ถึงยอมถอดฉลองพระบาทขึ้นไปทอดพระเนตร์ แต่จะจริงเท็จอย่างไรไม่ทราบแน่ เมื่อฉันไปถึงพอกราบไหว้ถวายสักการบูชาแล้วนั่งพิจารณาดูองค์พระมหามัยมุนีก็เกิดประหลาดใจ ด้วยเห็นขัดชักเงาเปนทองสัมฤทธิ์แต่ที่ดวงพระพักตร์ นอกจากนั้นเอาปูนหรืออะไรพอกแล้วปิดทองคำเปลวขรุขระเปนริ้ว ๆ เหมือนอย่างที่เราเรียกว่า “หนังไก่ย่น” ไปทั่วทั้งพระองค์ดูน่าพิสวง เพราะธรรมดาพระพุทธรูปในเมืองพะม่าถ้าหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ย่อมขัดชักเงาทั้งพระองค์เว้นแต่ที่ตรงพระศก ถ้าทำด้วยศิลาก็ขัดชักเงาทั้งพระองค์เช่นเดียวกัน ถ้าเปนพระปั้น ขนาดย่อมก็ปิดทองคำเปลวทั้งพระองค์ ขนาดใหญ่ก็ประสานสี ที่จะขัดชักเงาแต่ฉะเพาะดวงพระพักตรเหมือนอย่างพระมหามัยมุนีหามีที่อื่นอีกไม่ แต่ปรากฎในจดหมายเหตุของทูตอังกฤษ ที่ไปเมืองพะม่าเมื่อราชธานียังอยู่ณเมืองอมรบุระ ได้ไปดูพระมหามัยมุนี ก็ว่าขัดชักเงาแต่ที่ดวงพระพักตร์อยู่ในสมัยนั้นแล้ว เมื่อเกิดพิสวงขึ้นพิจารณาต่อไปก็ยิ่งปลาดใจ ด้วยพิเคราะห์รูปทรงดูเปนปั้นหลายแห่ง เข้าไปพิจารณาใกล้ ๆ แลเห็นพระหัตถ์ขวาเกือบจะร้อง “เอ๊ะ” ออกมา ด้วยรูปพระหัตถ์นั้นเหมือนกับมือแปนิ้วก็หงิกงอผิดกับธรรมดาพระหัตถ์พระพุทธรูปทีเดียว ฉันไม่เชื่อในตาตัวเอง เรียกเจ้าหญิงเข้าไปดูด้วย ก็เห็นเช่นเดียวกัน จึงสันนิษฐานว่าพระพุทธรูปมหามัยมุนีเห็นจะชำรุดมาแต่โบราณ การบุรณต้องปั้นแทนเนื้อทองของเดิมที่หักหายหลายแห่งจึงเปนอยู่อย่างทุกวันนี้ เมื่อตรวจดูในเรื่องพงศาวดารก็พอคิดเห็นเหตุที่ชำรุด ด้วยปรากฎว่าเคยถูกเลาะออกเปนท่อน ๆ เพื่อประสงค์จะย้ายเอาไปประเทศอื่น ข้อนี้ส่อว่าเวลาเจ้าของเดิมได้เมืองยักไข่คืนคงเอากลับเข้าติดต่อกันอีก การที่ต่อของใหญ่มิใช่ง่ายนัก พระมหามัยมุนีคงเริ่มบุบสลายด้วยต้องติดต่อซ่อมแซมแต่ยังอยู่เมืองยักไข่แล้ว แต่เจ้าของย่อมปกปิดเช่นเดียวกับพะม่าปกปิดในเวลานี้ แม้เมื่อพระเจ้าปะดุงสั่งให้เชิญมาเมืองพะม่าก็คงไม่ทรงทราบว่าบุบสลาย การที่เลาะองค์พระออกเปนสามท่อน เอาลงเรือแล้วเอาขึ้นใส่ตะเฆ่ลากข้ามภูเขาสูงมาเมืองพะม่า ก็น่าจะกระทบกระเทือนให้ชำรุดยิ่งขึ้น เมื่อเชิญขึ้นประดิษฐานจึงต้องพอกปูนประกอบมิมากก็น้อย จะให้ลงรักปิดทองเสียทั้งองค์เกรงคนจะสงสัยว่ามิใช่พระมหามัยมุนี จึงให้ขัดชักเงาแต่ที่ดวงพระพักตร์ให้เห็นว่าเปนพระหล่อ แต่มามีเหตุที่รู้ได้แน่นอนเมื่อไฟไหม้วัดยักไข่ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ ปรากฎว่าทองคำเปลวที่ปิดพระมหามัยมุนีละลายไหลลงมา เก็บเนื้อทองคำได้หนักถึง ๗๐๐ บาท (ในหนังสือว่า 700 Ticals) ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าในครั้งนั้นแม้องค์พระพุทธรูปก็คงจะละลายมิมากก็น้อย เมื่อเอากลับขึ้นตั้งในครั้งหลังจึงต้องบุรณมาก ที่พระหัตถ์วิปลาสก็คงเปนเพราะพระหัตถ์เดิมถูกไฟไหม้แต่ไม่ถึงละลายสูญไป จึงเอากลับเข้าต่อตามรูปที่เปนอยู่เมื่อถูกไฟไหม้แล้ว เวลาฉันนั่งอยู่ในวิหารเห็นมีคนขึ้นบูชาและปิดทองพระมหามัยมุนีไม่ขาดสาย บางคนชวนให้ฉันปิดทองแต่ฉันเฉยเสีย เพราะในใจจริงอยากขูดทองดูว่าพระมหามัยมุนีที่หล่อแต่เดิมจะเหลืออยู่สักเท่าใด ยิ่งกว่าอยากปิดทองบังให้หนายิ่งขึ้น

ที่ในวัดยักไข่ยังมีของควรพรรณนาอีกสองอย่าง อย่างหนึ่งคือ ศิลาจารึกของพระเจ้าปะดุงเรื่องที่กัลปนา พะม่าเรียกว่า Wuttagan (เห็นจะเรียกเพี้ยนมาแต่คำภาษามคธ) เรื่องตำนานของศิลาจารึกพวกนี้ ว่าตั้งแต่โบราณมา เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสร้างวัดย่อมถวายคนเปนข้าพระ และกำหนดเขตต์ที่กัลปนาอุททิศเงินผลประโยชน์แผ่นดินซึ่งเก็บจากที่ดินแห่งนั้นถวายสำหรับบำรุงรักษาวัดนั้น ให้ทำศิลาจารึกพระราชกฤษฎีกาปักไว้ที่วัดเปนสำคัญ (ประเพณีอันนี้ในเมืองเราแต่โบราณก็มีเหมือนกัน) ครั้นจำเนียรกาลนานมามีวัดมากขึ้นเงินผลประโยชน์ที่เคยได้จ่ายใช้ราชการแผ่นดินก็ลดน้อยลง เพราะต้องจ่ายเงินกัลปนาเพิ่มขึ้นเสมอ จนเกิดลำบากเมื่อในรัชชกาลพระเจ้าปะดุง (พ.ศ. ๒๓๒๕ จน พ.ศ. ๒๓๖๒) จึงทรงพระราชดำริแก้ไขให้ถอนศิลาจารึกกัลปนาของเดิมเสียทั้งหมด แล้วตั้งพระราชกฤษฎีกากัลปนาขึ้นใหม่ให้จารึกแผ่นศิลาอีกชุดหนึ่ง เลือกพระราชทานกัลปนาแต่บางวัด และให้ได้จำนวนเงินแต่พอสมควร ศิลาจารึกชุดนี้ให้เก็บรักษาไว้ที่วัดยักไข่ พวกกรมตรวจโบราณคดีเพิ่งพบศิลาจารึกเดิมทิ้งเปนพะเนินเทินทึกอยู่ที่วัดอื่นอีกแห่งหนึ่ง กำลังคิดจะรวบรวมเอามาตรวจตราหาความรู้เรื่องโบราณคดี คงจะเปนประโยชน์มิมากก็น้อย

ของน่าดูอย่างยิ่งมีอีกอย่างหนึ่งในวัดยักไข่นี้ คือรูปภาพของโบราณหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เปนรูปพระอิศวรยืนสูงสัก ๓ ศอกเศษ ๒ รูป รูปช้างเอราวัณสูงสัก ๒ ศอกเศษรูป ๑ กับรูปสิงห์ซึ่งหัวเดิมหายหมดแล้ว ๓ รูป รวมเปน ๖ รูปด้วยกัน ตั้งไว้กลางแจ้งที่บนแท่นริมกำแพงในบริเวณวัด รูปภาพสัมฤทธิ์เหล่านี้พวกพะม่าโดยมากทราบกันแต่ว่าเอามาจากเมืองยักไข่พร้อมกับพระพุทธรูปมหามัยมุนี แต่ที่จริงมีเรื่องประวัติในทางโบราณคดีเกี่ยวข้องกับเมืองไทยเราด้วย นักปราชญ์ในเมืองพะม่าก็รู้แต่ว่าเดิมเปนของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปจากพระนครศรีอยุธยา เรื่องก่อนนั้นขึ้นไปหามีใครรู้ไม่ ฉันไปคราวนี้ตั้งใจไปดูและเตรียมหาหลักฐานในเรื่องประวัติไปด้วย พอแลเห็นก็แน่ใจว่าที่คิดคาดไปนั้นถูกต้องด้วยลักษณรูปภาพเปนแบบเขมรทั้งนั้น เรื่องตำนานจึงเชื่อได้ว่ามีมาดังกล่าวต่อไปนี้ รูปภาพเหล่านี้เดิมเปนของพวกขอมสร้างไว้ที่เมืองเขมร สมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ไปตีได้นครธมเมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๖ ให้ขนรูปภาพเหล่านี้มายังพระนครศรีอยุธยา (ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร) และอยู่ในพระนครศรีอยุธยาต่อมา ๑๔๖ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๑๑๒ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้พระนครศรีอยุธยา ให้ขนเอารูปภาพเหล่านี้ไปยังเมืองหงสาวดี ไปอยู่ในเมืองมอญ ๓๐ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๑๔๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี เดิมพระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่ยอมเข้าด้วยกับสมเด็จพระนเรศวรฯ แล้ วกลับใจสมคบกันทำกลอุบาย พระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงหนีไปเมืองตองอู พวกยักไข่เผาเมืองหงสาวดีเสียก่อนสมเด็จพระนเรศวรฯ เสด็จไปถึง สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้แต่เมืองหงสาวดีเปล่า ทรงขัดเคืองก็ตามไปล้อมเมืองตองอูแต่ไปหมดเสบียงอาหารก็ต้องกลับ เมื่อกองทัพไทยกลับแล้ว พวกยักไข่จึงเก็บเอารูปทองสัมฤทธิ์เหล่านั้นไปยังเมืองยักไข่ เอาไปตั้งเปนเครื่องพุทธบูชาไว้ในวัดพระ “มหามัยมุนี” รูปเหล่านี้ไปอยู่ที่เมืองยักไข่ ๑๘๐ ปี

ถึง พ.ศ. ๒๓๒๗ พระเจ้าปะดุงพะม่าตีได้เมืองยักไข่ ให้เชิญพระมหามัยมุนีมาเมืองอมรบุระ จึงให้ขนรูปทองสัมฤทธิ์เหล่านี้เอามาตั้งเปนเครื่องพุทธบูชาพระมหามัยมุนีเหมือนอย่างเดิม รูปทองสัมฤทธิ์เขมรจึงอยู่ในเมืองพะม่าสืบมาจนกาลบัดนี้ นับเวลาได้อีก ๑๕๑ ปี

ในหนังสือพงศาวดารพะม่า ว่ารูปภาพทองสัมฤทธิ์ที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปจากเมืองไทยมีจำนวน ๓๐ รูป คงไปแตกหักด้วยขนย้ายมาหลายหนจนเปนอันตรายหายสูญเสียหมด เหลือแต่ ๖ รูปและยังดีแต่รูปช้างเอราวัณรูปเดียว นอกจากนั้นชำรุดมากบ้างน้อยบ้างทั้งนั้น

ดูวัดยักไข่เสร็จแล้วยังมีเวลาก่อนกินกลางวันอยู่กว่าชั่วโมง จึงเลยไปดูราชธานีเก่าในเช้าวันนี้ ไปถึงเมืองอมรบุระก่อน ขับรถผ่านไปในเมืองดูเปนเมืองร้างอย่างเช่นพระนครศรีอยุธยา บ้านเรือนราษฎรที่ยังมีอยู่ก็เปนอย่างบ้านป่า แต่มีพระเจดีย์ใหญ่ๆ อยู่หลายองค์ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระอัษฐิธาตุของพระเจ้าปะดุงผู้สร้างเมืองอมรบุระเปนต้น สังเกตพระสถูปเจดีย์ที่ในเมืองหลวงทำตามแบบพระเจดีย์เมืองพุกาม อันควรเรียกว่า “พระเจดีย์พะม่า” ทั้งนั้น ที่จะทำรูปอย่าง “พระเจดีย์มอญ” เหมือนเช่นรูปพระเกศธาตุดูหามีไม่ พื้นที่เมืองอมรบุระดูเหมือนจะตอนอยู่เพียงในเมือง พอออกนอกเมืองไปไม่เท่าใดก็ถึงที่ลุ่ม เปนคลองเขิน ใช้เรือได้แต่ในระดูน้ำบ้าง เปนบึงและลำลาบน้ำขังอยู่จนในระดูแล้งบ้าง ขับรถไปประเดี๋ยวเดียวก็เข้าเขตต์เมืองอังวะ พิเคราะห์ดูพื้นที่ดูเหมือนดินจะอุดมกว่าเมืองอมรบุระ ด้วยเห็นต้นไม้ใหญ่เปนเรือกสวนมีมาก แต่เปนที่ลุ่มน้ำท่วมในระดูน้ำทำนองเดียวกัน หยุดดูตัวเมืองอังวะแต่ไกล ๆ เห็นพระเจดีย์องค์หนึ่งกับวิหารหลังหนึ่ง เขาว่าเปนของพระอัครมเหษีพระเจ้าอังวะองค์หนึ่งสร้างไว้ แต่เซซวนจวนจะพังอยู่แล้ว ในหนังสือนำทางว่าที่ในเมืองอังวะเดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่น่าดูเสียแล้ว แต่ในเวลานี้เมืองอังวะฟื้นขึ้นบ้าง ด้วยรัฐบาลสร้างสะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเอราวดีเปนสะพานแรกที่เมืองอังวะ ให้ชื่อว่า “สะพานอังวะ” มีทั้งทางสำหรับรถไฟรถยนต์ล้อเกวียนและคนเดิมข้าม เชื่อมเมืองอังวะให้ต่อติดกับเมืองสะแคง แต่เมื่อรถยนต์ข้ามต้องเสียค่าธรรมเนียมทั้งขาไปและขามา ดูเหมือนจะให้ข้ามได้เปล่าแต่คนเดิน เชิงสะพานอังวะทางฝั่งตะวันตกลงที่เมืองสะแคง สังเกตดูมีบ้านเรือนและวัดวาหนาแน่นกว่าที่เมืองอังวะและเมืองอมรบุระ เห็นจะเปนเพราะเปนที่รับผู้คนและสินค้าข้ามฟากอยู่แต่ก่อน ผู้นำทางเขาบอกว่ามี “พระโต” อยู่ที่เมืองสะแคงองค์หนึ่งน่าดู ฉันแต่งตัวเปนอุบาสกอยู่แล้ว เมื่อขับรถเที่ยวดูเมืองแล้วจึงไปแวะที่วัดพระโต (พะม่าเรียกชื่อว่ากระไร ฉันเผลอไปหาได้ถามไม่) เปนพระปางมารวิชัยทรงเครื่องขนาดเห็นจะเท่า ๆ กับพระโตที่วัดกัลยาณมิตร แต่ทำฝีมือหมดจดพอดูได้ ออกจากวัดพระโตรีบกลับมาเมืองมัณฑเล ด้วยได้เชิญศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ นักปราชญ์ฝรั่งเศสที่เคยเปนเจ้ากรมตรวจโบราณคดีแต่ก่อนให้มากินกลางวันด้วยกันในวันนี้

ไปเที่ยวดูราชธานีเก่าวันนี้ เมื่อกลับมาถึงเมืองปีนังมารู้สึกเสียทีเสียอย่างหนึ่ง ด้วยฉันเคยทราบจากอังกฤษแต่ในรัชชกาลที่ ๕ ว่าเขาพบที่บรรจุพระบรมอัษฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม (คือ พระเจ้าอุทุมพร หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ขุนหลวงหาวัด”) ซึ่งไปสวรรคตในเมืองพะม่า ฉันเชื่อใจว่าที่บรรจุพระบรมอัษฐินั้นคงเปนพระเจดีย์มีจารึกและสร้างไว้ที่เมืองอังวะเพราะเมืองอังวะเปนราชธานีอยู่ในเวลาที่พะม่ากวาดไทยไปครั้งเสียพระนครศรีอยุธยา ฉันไปครั้งนี้หมายจะพยายามไปบูชาพระเจดีย์องค์นั้นด้วย สืบถามตั้งแต่ที่เมืองร่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑเลก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์เช่นนั้น ทั้งพวกกรมตรวจโบราณคดีก็ยืนยันว่าที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเปนแน่ ฉันก็เลยทอดธุระ ครั้นกลับมาถึงเมืองปีนัง มีกิจไปเปิดหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับพระราชหัตถเลขา จึงได้ความว่าพะม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งนั้นไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองจักกาย (คือเมืองสะแคง) ขุนหลวงหาวัดคงไปสวรรคตและบรรจุพระบรมอัษฐิไว้ที่เมืองสะแคง ในเมืองนั้นพระเจดีย์ก็ยังมีมาก ถ้าฉันรู้เสียก่อน เมื่อไปถึงเมืองสะแคงถามหาพระเจดีย์ “โยเดีย” ก็น่าจะพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัษฐิขุนหลวงหาวัดสมประสงค์ แต่มารู้เมื่อสิ้นโอกาสเสียแล้วก็จนใจ

พอจวนเวลา ๑๓ นาฬิกา ศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ ก็มาถึงพอพบกันแกบอกว่ารู้จักฉันมากว่า ๓๐ ปีแล้ว เพราะแกเปนสมาชิกกิตติมศักดิ์สยามสมาคม ได้อ่านหนังสือที่ฉันแต่งพิมพ์ไว้ในหนังสือของสมาคมนั้นหลายเรื่อง อยากเห็นตัวมานานแล้ว ฝ่ายฉันก็ตอบขอบคุณแกด้วยได้อาศัยหนังสือนำทางเที่ยวเมืองพะม่าที่แกแต่งไว้หลายเรื่อง แล้วสนทนาในเวลากินกลางวันด้วยกันถึงเรื่องโบราณคดีต่างๆ โดยฉะเพาะเรื่องเมืองพุกามซึ่งแกชำนาญมาก แกว่าอยากไปกับฉันจะได้พาดูเองแต่เผอิญภรรยากำลังเจ็บหนัก แกต้องดูแลการพยาบาลและปรึกษาหมออยู่ทุกวันจึงเปนอันจนใจ แกตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองเมมะโย ระยะทางห่างเมืองมัณฑเลกว่า ๔๐ ไมล์ วันนี้ลงมาหาฉันโดยฉะเพาะ แล้วจะต้องรีบกลับไปเมืองเมมะโยในบ่ายวันนั้นเอง ด้วยเปนห่วงภรรยา เมื่อสนทนากันถึงเรื่องเมืองพุกาม ฉันถามแกว่าจะหาพระพิมพ์สมัยเมืองพุกามเอาไปเปรียบกับพระพิมพ์ในเมืองไทยได้หรือไม่ แกหัวเราะแล้วตอบว่าถ้าไปหาแต่โดยลำพังเห็นจะยาก แต่แกพอจะช่วยให้สำเร็จตามประสงค์ได้ ด้วยในสมัยเมื่อแกเที่ยวตรวจเมืองโบราณนานมาแล้ว พบพระพิมพ์ที่เมืองพุกามและเมืองสารเขตต์มากกว่ามาก แกเลือกเอาที่แปลกกันส่งตัวอย่างไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานพอแก่การแล้ว พระพิมพ์ยังเหลืออยู่เปนพะเนินเทินทึกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะทิ้งเสียก็เสียดาย จึงรวบรวมเอาลงฝังซ่อนไว้ที่ในวัดแห่งหนึ่งณเมืองสารเขตต์ รู้แห่งที่ฝังแต่ตัวแกกับภารโรงผู้รักษาพิพิธภัณฑสถานในวัดนั้น แกจะเขียนจดหมายไปถึงภารโรงให้พาฉันไปขุดเลือกเอาตามประสงค์ ด้วยมิใช่ของที่รัฐบาลหวงแหนจะเลือกเอาสักเท่าใดก็ได้ ก็มีความยินดีที่ได้พบศาสตราจารย์ ดือ รอยเสลล์ อีกสถานหนึ่ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ