วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๑ แล้ว

โคลง “จารีกาง” ที่ประทานมานั้นหม่อมฉันลืมไม่ได้นึกไปถึงเลย เห็นเปนลูกกุญแจสำหรับไขเอาอธิบายเรื่อง “แทงวิไสย” ได้ดีหนักหนาทีเดียว

ข้อ ๑ ได้ความชัดว่าที่เรียกว่าแทงวิไสยนั้นมาแต่ “แทงปิไส” แน่

ข้อ ๒ โคลงบทนี้เปนโคลงครั้งกรุงศรีอยุธยา เลือกเอามาลงไว้เปนตัวอย่างในตำราโคลง ความแสดงว่าแทงปิไสกับกะอั้วแทงควายผู้ชายเล่นและมีทั้ง ๒ อย่างด้วยกัน (ในงานโสกันต์) มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ข้อ ๓ แทงปิไสกับกะอั้วแทงควายที่เล่นในสมัยกรุงรัตนโกสินทรเอาอย่างมาแต่กรุงศรีอยุธยา แต่มาเปลี่ยนไปให้ละคอนผู้หญิงของหลวงเล่นแทงปิไส แต่กะอั้วแทงควายยังคงให้ผู้ชายเล่นอย่างเดิม

ข้อ ๔ หม่อมฉันเคยเห็นเล่นกะอั้วแทงควาย (ที่มุมสนามหน้าศาลาสหไทยสมาคม) หลายครั้ง ดูเปนเล่นจำอวดอย่างต่ำ เมื่อคิดว่าเหตุใดจึงเอาการเล่นเช่นนั้นมามีในงานโสกันต์ใหญ่ นึกขึ้นถึงที่เจ้าหลวงพระบางเอาการเล่นสิงห์กับคนป่า (ที่ร้องวู้ๆ) มาช่วยงานโสกัณฑ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แลโปรดให้เล่นในสนามเดียวกับกุลาตีไม้ ก็คิดเห็นขึ้นมาว่าการเหล่านี้พวกประเทศราช หรือพวกชาวต่างประเทศที่เข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารคงจัดมาช่วยงาน เช่นเดียวกับเจ้าหลวงพระบางเอาเล่นสิงห์มาช่วย อาจจำแนกได้ดังนี้

๑) กุลาตีไม้ ของพวกแขกฮินดู (หม่อมฉันได้เคยเห็นแขกกลิงเล่นที่เมืองตรัง)

๒) สิงหโตล่อแก้ว ของพวกญวน

๓) กะอั้วแทงควาย ของพวกทวาย (ชื่อกะอั้วผัวนางกะแอ เปนชื่อทวาย)

๔) แทงปิไส ของพวกมลายู

น่าจะมีอย่างอื่นของพวกอื่นอีก

ข้อ ๕ เหตุใดในโคลงจึงเรียกว่า “จารีกาง” คำนี้มิใช่ภาษาไทย หม่อมฉันตรวจดูในปทานุกรมภาษามคธของอาจารย์จิลเดอ มีศัพท์ “จารี” แปลว่ากระทำ Acting หรือเดิน Walking ไปดูในปทานุกรมภาษามลายูที่หอสมุดเมืองปีนัง มีคำ “จารีกัน” Charikun ดูใกล้กับจารีกางมาก แต่ผู้แต่งหนังสือนั้นแปลว่า “ให้ค้นหาของ” To institute a search for anything ความไถลไปเสียอย่างอื่น หรือมลายูเขาจะใช้หมายความอย่างอื่นอีก เช่นว่ากิริยาข้าศึกค้นหากันในป่า ได้ดอกกระมัง

ข้อ ๖ ที่เปลี่ยนแทงปิไสมาให้ละคอนผู้หญิงของหลวงเล่น หม่อมฉันนึกว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทรนี้ เพราะเห็นว่าให้ผู้หญิงรำจะงามน่าดูกว่าผู้ชายเล่น อยากจะเดาต่อไปว่ามีขึ้นเมื่อการพิธีทูลกระหม่อมลงสรงเปนปฐม มาถึงรัชชกาลของทูลกระหม่อม จึงทรงพระราชดำริห์ให้มีรำช่อดอกไม้ทองเงินเพิ่มขึ้น ขอให้ทรงพิจารณาดูเถิด

ภาษิตว่า “ช่างอยู่แก่จีน สีนอยู่แก่ไทย” ที่ทรงยกขึ้นในลายพระหัตถ์นั้น ปลาดที่เปนของไทยแต่ง อาจแปลความได้ต่างกันถึง ๓ นัย นัย ๑ ว่าถึงจีนเปนช่างก็ยากจน ทำอะไรต้องเอาขายหาเงินที่ไทย นัย ๑ เปลี่ยนคำ “สีน” เปน “ศีล” ว่าจีนเปนช่าง ไทยซื่อตรง นัย ๑ ว่าจีนเปนช่างทำอะไรทำได้ ไทยได้แต่หาเงินไว้คอยซื้อ

หม่อมฉันทูลไปในจดหมายฉะบับก่อน ว่าได้ไปดูทำผ้าลายที่เมืองสุหรัดนั้นพลาดไป ที่จริงไปเมืองอะเมดะบัดซึ่งอยู่ใต้เมืองสุหรัดลงมา หม่อมฉันไปค้นในหนังสืออภิธานอินเดีย Imperial Gazetteer of India ได้ความว่าแว่นแคว้นอินเดียตอนใกล้ทะเลทางฝ่ายตะวันตกตั้งแต่เมืองบอมเบขึ้นไป แต่โบราณเรียกว่าภาค “กุสราต” Gutzarat บางสมัยก็รวมกันเปนราชอาณาเขตต์เดียว บางสมัยก็แยกกันเปนหลายราชอาณาเขตต์ เมืองสุหรัดและเมืองอะเมดะบัดรวมอยู่ในภาคกุสราตด้วยกัน เหมือนอย่างเมืองเชียงใหม่กับเมืองนครลำปางรวมอยู่ในมณฑลพายัพ ฉะนั้น มีอธิบายต่อมาว่าตามเมืองในภาคนี้ชาวเมืองทอผ้าเปนอาชีพมาแต่โบราณ ผ้าที่ทอในภาคนี้จึงดีกว่าแห่งอื่นในอินเดีย การย้อมสีและการทำลายก็เนื่องกับการทอ คือทำผ้าลายขาย ที่หม่อมฉันไปดูทำตามบ้านราษฎรดังทูลไปแล้ว ดูเหมือนจะเปนผ้าอย่างที่ทำจำนวนมาก สังเกตดูผ้าลายอย่างของโบราณมักทำลายงาม สีสด และเนื้อดีกว่าผ้าที่ขายในตลาด คงมีช่างที่ฝีมือดีเรียกราคาสูงกว่าที่ขายกันเปนสามัญ แต่ก็คงทำตามบ้านพวกช่างอย่างบ้านพานถมและบ้านหล่อในเมืองเราอยู่นั่นเอง

เรื่องที่จะทูลเสนอในสัปดาหะนี้ หม่อมฉันได้รับจดหมายเจ้าผิวมีมาแต่เมืองมัณฑเลตอบคำถามของหม่อมฉันเรื่องศักดิ์เจ้าพะม่า เธอบอกว่าในราชวงศพะม่านับว่าเปนเจ้า ๓ ชั่ว คือ ราชบุตร ราชนดา ราชปนดา (คือชั้นหม่อมราชวงศของเราก็ยังนับว่าเปนเจ้า) พิเคราะห์ดูเข้าเกณฑ์ “เจ็ดชั่วโคตร” ตามกฎหมายเข้าทีอยู่ ของไทยเราแต่เดิมก็จะเปนเช่นนั้นดอกกระมัง ทำเนียบเจ้าราชนิกูลในกฎหมายก็ขึ้นนามเปน “เจ้า” ทั้งนั้น เช่น “เจ้ารามฆพ” เปนต้น แม้ในรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร พระราชทานยศจีนเรืองเมืองชลบุรี แรกก็ให้เปนเจ้าบำเรอภูธรราชนิกูล แล้วเลื่อนเปนกรมหมื่นและกรมขุนสุนทรภูเบศ คำ “หม่อมราชวงศ์” ที่มีในกฎหมายทำเนียบศักดินา น่าจะหมายตรงกับชั้นที่เราเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า “หม่อมหลวง” ดอกกระมัง ที่มาเปลี่ยนต้นนามเจ้าราชนิกูลเปน “หม่อม” เช่นหม่อมราโชทัย เปนต้น เข้าใจว่าเกิดขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๔ ถึงกระนั้นก็ยังเคยได้ยินคนเรียกเจ้าพระยาเทเวศรฯ ว่า “เจ้าหลาน” เรียกหลวงสากลกิจประมวณ เมื่อเปนนายทหารมหาดเล็กว่า “เจ้าเฉลิม” หม่อมฉันลองคิดหาหม่อมราชวงศที่รับสัญญาบัตรเปนขุนนางมาแต่ก่อนรัชชกาลที่ ๕ ก็นึกไม่ออก จำได้ว่าเจ้าพระยาวิชิตวงศวุฒิไกรแต่ยังเปนหม่อมราชวงศ์คลี่ ได้ว่ากรมธรรมการมาเปนนาน จึงพระราชทานสัญญาบัตรเปนพระวุฒิการบดี ขอให้ทรงพิจารณาดู

ในสัปดาหะนี้หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๗ ท่อนที่ ๕ มาถวายอีกท่อนหนึ่ง หมดเรื่องตำนานเมืองพุกามเพียงท่อนนี้ ว่าด้วยตำนานเมืองพุกามอยู่ข้างยืดยาวสักหน่อย เพราะหม่อมฉันเห็นว่าตำนานเมืองพุกามยังไม่เคยมีในภาษาไทย จึงไม่ตัดเสียให้สั้น คราวหน้าจะพรรณนาว่าด้วยโบราณวัตถุที่เมืองพุกามต่อไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไร (หม่อมราชวงศ์ คลี่ สุทัศน์)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ