วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๙ แล้ว มีความที่จะทูลสนองเรื่อง “ระบำ” กับ “ระเบ็ง” “โหม่งครุ่ม” “กุลาตีไม้” ต่อไปอีกด้วย เมื่อสี่ห้าวันนี้หม่อมฉันไปพลิกดูกฎมณเฑียรบาลตอนพิธี ๑๒ เดือนพบดังจะทูลต่อไปนี้ คือ

ในพิธีออกสนามใหญ่เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ แห่ง ๑ ว่ามี “ระบำซ้ายขวาโหม่งครุ่มกายก” หม่อมฉันทูลวินิจฉัยไปแต่ก่อนแล้วว่า “ซ้ายขวา” นั้นเห็นจะหมายว่า ๒ แถว มาพบคำ “กายก” ที่เรียกต่อคำโหม่งครุ่ม คิดว่าน่าจะเปนตัวชื่อของการเล่นอย่างนั้นดอกระมังเพราะคำที่เรียกว่าโหม่งครุ่มเรียกตามเสียงฆ้องเสียงกลองเพื่อสดวกปาก

ยังมีความว่าด้วยโหม่งครุ่มต่อไปอีกว่า “เมื่อแรกเสด็จออกโหม่งครุ่มชะแม่ เมื่อเลี้ยง (ลูกขุน) โหม่งครุ่มมหาเกก” ดังนี้ แสดงว่าโหม่งครุ่มมีวิธีเล่นหลายกระบวร ถ้าว่าตามเคยเห็นเล่นเปนหลายวง แต่ละวงมีกลองใบหนึ่งคน ๔ คน กระบวรเล่นเปน ๒ อย่าง อย่าง ๑ เต้นตีไม้ ปากร้องว่า “ถัดท่าถัด” ไปรอบ ๆ กลอง (อันนี้ก็เปนเหตุให้คนเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พวกถัดทา”) เล่นอีกอย่าง ๑ ฆ้องตีโหม่งนำคนเล่นตีไม้รับจังหวะ ๒ ครั้ง ถึงครั้งที่ ๓ ยกเท้าข้างหนึ่งแล้วเอี้ยวตัวไปตีกลองพร้อมกัน จะว่ากระบวรเล่นเช่นนั้นเปนชะแม่อย่าง ๑ และมหาเกกอย่าง ๑ ดูก็หวุบหวิบน้อยนัก เดิมน่าจะพิสดารกว่านั้น เรียวมาจนเหลืออยู่เพียงเท่าที่เราเห็น

ในการพิธีเดียวกันนั้นเอง พรรณาตอนบ่ายเมื่อเสด็จออกพระเนตรสรรพกิฬา ว่า “เรียกม้าล่อช้าง ระเบ็งซ้ายขวา รำดาบซ้ายขวา ระบำออกโหม่งครุ่ม พันภาณนำโหม่งครุ่มหน้ากลองตีไม้” ฯ ดังนี้ ตอนนี้ได้ความว่า ระบำกับระเบ็งมีมาแต่โบราณด้วยกัน ผู้ชายเล่นทั้ง ๒ อย่างและกระบวรเล่นต่างกัน แต่ตอนต่อมาที่ว่า “พันภาณนำโหม่งครุ่มหน้ากลองตีไม้” ดูมัวมน จะเข้าใจว่าให้พันภาณนำพวกโหม่งครุ่มหามกลองร่องแร่งเข้าไปตั้งตีไม้ที่ในสนามดูก็ใช่เหตุ หม่อมฉันอยากจะเข้าใจว่าพันภาณเปนพนักงานให้สัญญาแก่พวก “โหม่งครุ่มหน้ากลอง” และพวก (กุลา) ตีไม้ แต่งหนังสือเขียนตกคำกุลาไปเสีย

ยังมีต่อไปในพิธีอาษยุชเดือน ๑๑ ว่า “มีโหม่งครุ่มซ้ายขวาระบำ” ตรงนี้หม่อมฉันก็เห็นว่าเขียนหนังสือพลาด ควรจะว่า “มีโหม่งครุ่มระบำซ้ายขวา” เพราะโหม่งครุ่มไม่ได้เต้นเปนแถว

ในพิธีเดือน ๑๒ มีว่า “เล่นหนังระบำ” ในเรือ จะเปนเล่นหนังกับระบำหรือเล่นหนังระบำก็ได้ทั้ง ๒ สถาน

ในพิธีเบาะพก ว่าเมื่อตอนเลี้ยงลูกขุน “มีโหม่งครุ่มซ้ายขวากุลาตีไม้” หม่อมฉันสันนิษฐานว่าจะขาดคำ “ระบำ” ควรจะเปนโหม่งครุ่มระบำซ้ายขวา กุลาตีไม้

รวมความว่าการเล่น ระบำ ระเบ็ง โหม่งครุ่ม กุลาตีไม้ ทั้ง ๔ อย่างนี้มีมาเก่าแก่มาก แต่แรกก็เห็นสนุกสนานน่าดูจึงให้เล่นในงานพระราชพิธีใหญ่ แต่นานมาจืดเข้าก็กลายเปนแต่เล่นสำหรับรักษาพระเกียรติยศ

เรื่องผ้าลายญี่ปุ่นนั้น หม่อมฉันอยู่ห่างไกลไม่ได้ยินกิติศัพท์จนได้เห็นผืนผ้า เห็นทำลายและสีงามเนื้อก็ดีกว่าผ้าลายที่เคยเห็นขายในท้องตลาดมาแต่ก่อนก็เกิดพิศวง “หูผึ่ง” สังเกตดูผืนที่เขาส่งมาเห็นลายหน้าผ้าและลายดอกเข้าอย่างผ้าโบราณที่นายมิกิเคยจำลองเอาไปจากพิพิธภัณฑ์สถานหม่อมฉันก็เชื่อญี่ปุ่นทำ และยังเชื่ออยู่ในเวลาเขียนหนังสือนี้ เพราะเห็นว่าการที่จะทำผ้าลายให้ดีอย่างนี้เปนสินค้าผู้ทำจะต้องมีทุนมาก สำหรับหาถรรภสัมภาระหลายอย่าง ตั้งแต่เครื่องจักร สีสรรพ์ ผ้าเนื้อดี อันต้องซื้อหามาจากต่างประเทศและยังต้องมีโรงงานคนทำงานตั้งแต่ช่างเขียนเปนต้นตลอดจนกรรมกร ก็ในเวลานี้ที่ในกรุงเทพฯ มีหนังสือพิมพ์ (หม่อมฉัน) นับไม่ถ้วนข่าวอะไรแม้แต่เล็กน้อยก็ชอบลงพิมพ์ ไม่เห็นลงข่าวที่ตั้งโรงงานทำผ้าลายเลย ถ้ามีโรงงานเช่นนั้นในกรุงเทพฯ และทำได้ดีถึงเพียงนี้น่าจะโห่ร้องก้องกึกมานานแล้ว นี่มีแต่เสียงคนโจทกัน แต่เสียงโจทก็แตกต่าง บางคนว่าไทยทำ บางคนว่าญี่ปุ่นทำมาขาย กิติศัพทที่ว่าไทยทำหม่อมฉันมีเค้าอยู่ที่ตราผ้า ซึ่งหม่อมฉันส่งมาถวายกับจดหมายนี้ในนั้นมีคำว่า “ทำในประเทศสยาม” อยู่ในช่องกรอบลายข้างบนอาจแปลได้ว่า ผ้าหรือกระดาดตราผ้านั้นทำในประเทศสยาม ไม่ได้อ้างว่าเปนผู้ทำผ้าในประเทศสยาม หม่อมฉันเห็นว่าหนังสือนี้เองเปนมูลให้โจทกันว่าเปนผ้าลายทำในเมืองไทย หม่อมฉันได้ยินระบุผู้ทำเปนอย่าง ดูขันอยู่ที่มีมูลด้วยกัน นัยหนึ่งว่าเจ้าชายโชติรสเกษมสันตทำก็มีมูลด้วยเธอเคยคิดทำผ้าคากีขายครั้ง ๑ แต่ไม่สำเร็จ อีกนัยหนึ่งที่คุณโตทราบ ว่าฝรั่งมาตั้งโรงงานทำไม่สำเร็จเจ๊กลูกมือของฝรั่งคนนั้นคิดทำต่อมาเรื่องนี้ก็มีมูล ด้วยแต่ก่อนเคยมีฝรั่งชาวรุสเซียคนหนึ่งมาตั้งทำเครื่องถ้วยแต่ไม่สำเร็จ บางทีจะเปนพวกจีนลูกมือของฝรั่งนั้นที่ทำเครื่องเคลือบ ซึ่งคุณโตเคยส่งมาให้หม่อมฉัน ใจหม่อมฉันนึกว่าเรื่องผ้าลายนี้มันเปนกลการค้าทั้งเรื่อง ถ้าลองทรงสืบทางนายมิกิให้ทูลความตามจริงคงทรงทราบได้ตลอดเรื่อง

คราวนี้หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม ท่อนที่ ๙ มาถวายอีกท่อนหนึ่ง เปนหมดเรื่องเมืองพุกามมีรูปฉายประกอบ ๑๓ รูป คือ

๑. รูปวัดสัพพัญญู จำลองจากรูปพิมพ์หินในหนังสือแต่งเมืองพระเจ้ามินดงแรกเสวยราชย์

๒. แผนผ่า วัดสัพพัญญู จำลองจากรูปในหนังสือที่กล่าวนั้น

๓. วัดพระทันตบัลลังก์

๔. ซุ้มประตูวิหาร วัดพระทันตบัลลังก์

๕. แผนผัง วัดพระทันตบัลลังก์ วัดสัพพัญญู วัดอานันทจำลองจากหนังสือที่กล่าวมา

๖. วัดอานันท กับ วัดสัพพัญญู ดูตาม “ตานก”

๗. พิพิธภัณฑ์สถานที่เมืองพุกาม

๘. พระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ที่มีในพิพิธภัณฑ์สถาน

๙. พระพุทธรูปศิลาขนาดเล็กที่มีในพิพิธภัณฑ์สถาน

๑๐ พระพุทธรูปหล่อที่มีในพิพิธภัณฑ์สถาน

๑๑. รูปพระพิมพ์เมืองพุกาม อย่าง ๘ ปาง

๑๒. เงินตราสมัยเมืองพุกาม ที่เหมือนพบในเมืองไทย

๑๓. เงินตราพบที่เมืองพุกาม

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ