วันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

ท่านตรัสปรึกษามาในลายพระหัตถ์ฉะบับก่อน ถึงพระบรมอัษฐิที่พระองค์วาณีมอบถวายท่านไว้นั้น เมื่อหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์นึกว่า ซึ่งทรงปรารภจะเชิญพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปบรรจุไว้ ณ พระวิหาร “โพธิลังกา” ตรงที่พระตำหนักเดิมในวัดมหาธาตุ บรรจุพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วัดนิเวศฯ และบรรจุพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ที่วัดหงส์ฯ นั้นก็เข้าทีดีอยู่ แต่เมื่อคิดใคร่ครวญต่อมาเห็นว่าอาจจะมีความขัดข้องอยู่บ้าง จะทูลสนองไปในจดหมายประจำสัปดาหะซึ่งส่งเมื่อเมล์วันที่ ๒๐ ความที่จะทูลก็อยู่ข้างยืดยาวไม่ทันเวลา จึงได้ทูลขอผัดมาทูลสนองเปนจดหมายฉะบับหนึ่งต่างหาก และเรียงความเปนวินิจฉัยถวายต่อไปนี้

๑. ตามประเพณีโบราณ พระบรมอัษฐิของพระเจ้าแผ่นดินย่อมบรรจุไว้ในพุทธสถานอย่างใดอย่างหนึ่ง นับถือว่าเปนเจดียวัตถุสำหรับพระนคร มีแต่พระองค์ละแห่งเดียวตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยมาจนตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อถึงรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรจึงเกิดประเพณีรักษาพระบรมอัษฐิไว้ในพระราชวัง

๒. ลักษณการบรรจุพระบรมอัษฐินั้น มีเค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานว่าประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา (ตั้งแต่มีสนามสำหรับทำพระเมรุกลางเมืองเปนยุติแล้ว) เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วคงเก็บพระบรมอัษฐิเชิญกลับเข้าไปทำบุญ ๗ วันที่ในพระราชวัง (เหมือนอย่างเช่นทำต่อมาในกรุงเทพฯ นี้) แล้วรักษาพระบรมอัษฐิไว้ที่พระราชมณเฑียรองค์หนึ่งที่ในพระราชวัง จนกว่าจะสร้างเจดีย์สถานที่บรรจุสำเร็จแล้ว จึงเชิญพระบรมอัษฐิไปบรรจุ ถ้าเปนพระอัษฐิเจ้านายชั้นศักดิ์สูง (เช่นเมื่องาน “สมเด็จพระบรมศพ”) ก็เชิญพระอัษฐิไปรักษาไว้ในห้อง “ท้ายจรนัม” วิหารพระศรีสรรเพ็ชญ์ จนกว่าจะสร้างที่บรรจุสำเร็จแล้วจึงเชิญไปบรรจุ ถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาย่อมเชิญพระบรมอัษฐิกลับเข้าไปไว้ในพระราชวังช้าบ้างเร็วบ้างทุกพระองค์ การที่รักษาพระบรมอัษฐิไว้ในพระราชวังสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ อนุโลมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา ผิดกันเพียงงดการที่เอาไปบรรจุในเจดียสถาน เพราะมีมูลเหตุปรากฏว่าเมื่อเกิดยุคเข็ญครั้งเสียพระนครศรีอยุธยาแก่พะม่า สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกหนีภัยขึ้นไปอยู่เมืองพิษณุโลก ไปสวรรคต ณ ที่นั้น มีแต่เจ้าจอมมารดามากับเจ้าฟ้ากรมหลวงจักษเจษฎาตามเสด็จไปอยู่ด้วย ช่วยกันถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วอุตส่าห์ห่อหิ้วเอาพระบรมอัษฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงไม่สูญไปเสีย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปรารภว่าในเวลานั้นพะม่ายังพยายามจะตีเมืองไทย บ้านเมืองยังไม่เปนหลักแหล่งมั่นคง จึงยังไม่บรรจุพระบรมอัษฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในเจดียสถานดำรัสว่า “ถ้าบ้านแตกเมืองเสียจะได้พาเอาไปด้วย” เล่ากันมาอย่างนี้ ครั้นเมื่อเสด็จเสวยราชย์มีเหตุอีกอย่างหนึ่ง ด้วยปรากฏว่าพระรูปพระเจ้าอู่ทองเรียกกันว่า “พระเทพบิดร” ซึ่งข้าราชการเคยถวายบังคมในงานพิธีถือน้ำประจำปีครั้งกรุงศรีอยุธยา ถูกไฟไหม้ละลายเสียเมื่อเสียพระนคร จะต้องหาเจดียวัตถุขึ้นแทน จึงโปรดฯ ให้ถวายบังคมพระบรมอัษฐิสมเด็จพระปฐมฯ แทนพระรูปพระเจ้าอู่ทอง เปนเหตุให้เกิดขัดข้องแก่การที่จะเชิญไปบรรจุ ก็ประดิษฐานอยู่ในพระราชวังต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหาได้ทรงพระราชดำริจะเลิกประเพณีบรรจุพระบรมอัษฐิไม่ เมื่อสิ้นรัชชกาลที่ ๑ น่าจะเกิดปัญหาเรื่องพระบรมอัษฐิ เพราะคิดดูที่จริงสมควรจะถวายบังคมพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แทนพระเทพบิดรยิ่งกว่าพระบรมอัษฐิสมเด็จพระปฐมฯ แต่ถ้าทำเช่นนั้นก็เปนเหมือนอย่างลดพระเกียรติสมเด็จพระปฐมฯ จึงตกลงให้ถวายบังคมพระบรมอัษฐิทั้ง ๒ พระองค์ด้วยกัน ก็เกิดประเพณีที่ประดิษฐานพระบรมอัษฐิไว้ในพระราชวัง และถวายบังคมพระบรมอัษฐิพระเจ้าแผ่นดินทุกรัชชกาลในพิธีถือน้ำสืบมาด้วยประการฉะนี้ เมื่องดการบรรจุพระบรมอัษฐิแล้วก็งดการบรรจุพระอัษฐิเจ้านายด้วย เลยเปนเยี่ยงอย่างลงไปถึงบุคคลชั้นคฤหบดี เห็นเจ้านายเก็บรักษาพระอัษฐิพระญาติวงศ์ไว้ในวังก็กระทำตาม จนเกิดเปนประเพณีแพร่หลาย

๓. พระบรมอัษฐิของพระเจ้าแผ่นดินที่บรรจุในเจดียสถานตามประเพณีโบราณ หรือที่ประดิษฐานไว้ในพระราชวังตามประเพณีในกรุงรัตนโกสินทรนี้ มีสภาพเปนของหลวง หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งก็เปนสมบัติของบ้านเมือง ยังมีพระบรมอัษฐิที่สภาพเปนอย่างอื่น คือที่อนุญาตให้พระราชบุตรแลพระราชธิดาเก็บไปไว้สักการบูชาและทำบุญอุททิศถวาย น่าจะเปนประเพณีเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่รัชชกาลที่ ๒ เปนต้นมา จึงมีพระบรมอัษฐิตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกต่อมาเปนของเจ้านายอยู่ตามวังและที่ตำหนักในพระราชวัง จะเรียกต่อไปว่า “พระบรมอัษฐิส่วนพระวงศ” เมื่อเจ้านายที่เปนพระราชบุตรพระราชธิดาล่วงลับไปแล้ว พระบรมอัษฐิก็ตกเปนของลูกหลาน บางพระองค์ก็ทรงมอบหมายแก่เจ้านายพระองค์อื่นที่ยังมีพระชนม์อยู่ เหมือนอย่างพระองค์วาณีมอบถวายพระองค์ท่าน แต่นานเข้าก็ตกถึงบุคคลชั้นต่ำศักดิ์ลงไปโดยลำดับ ตามความที่ปรากฏมาว่าในรัชชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภถึงพระบรมอัษฐิส่วนพระวงศที่อยู่ต่างวัง มีรับสั่งให้สืบสวน ถ้าเห็นตกอยู่กับผู้ซึ่งไม่มีกำลังพาหนะก็โปรดฯ ให้รับพระบรมอัษฐิไปไว้ในพระราชวัง แล้วให้รวมพระบรมอัษฐิพระเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งลงในกล่องศิลากล่องหนึ่ง ไปบรรจุไว้ที่ฐานพระประธานวัดสำคัญซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นั้นๆ ทรงสร้าง คือบรรจุพระบรมอัษฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่วัดพระเชตุพน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่วัดอรุณ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่วัดราชโอรส (และดำรัสสั่งไว้ว่าให้บรรจุพระบรมอัษฐิของพระองค์ที่วัดราชประดิษฐ) ให้ทำลายดวงตราประจำรัชชกาลประดับไว้เปนสำคัญสำหรับให้มหาชนสักการบูชา หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง กลับให้มีเจดียสถานที่บรรจุพระบรมอัษฐิพระเจ้าแผ่นดินขึ้นพระองค์ละแห่งเหมือนอย่างโบราณ แต่นั้นมาผู้ที่ได้พระบรมอัษฐิส่วนพระวงศไว้ คนใดเห็นว่าจะไม่สามารถรักษาได้ตามสมควร ก็มักส่งเข้าไปขอให้รักษาไว้ที่ในพระราชวัง จึงมีพระบรมอัษฐิ “ฝาก” เกิดขึ้นอีกประเภทหนึ่ง เปน ๔ ประเภททั้ง ๑ พระบรมอัษฐิที่อยู่ในหอพระธาตุมณเฑียร ๒ พระบรมอัษฐิที่บรรจุไว้ณวัดประจำรัชชกาล ๓ พระบรมอัษฐิที่ยังอยู่กับพระวงศ และ ๔ พระบรมอัษฐิ “ฝาก” ที่ตรัสบอกมาว่าเดี๋ยวนี้รวมไว้ในวัดพระแก้ว คิดดูโดยธรรมดาพระบรมอัษฐิที่อยู่กับพระวงศมีแต่จะน้อยแห่งลง และพระบรมอัษฐิฝากจะมีมากขึ้นเปนลำดับไป

๔. ที่ท่านทรงพระดำริจะบรรจุพระบรมอัษฐินั้น เปนการถูกต้องตามประเพณีเดิม และวัดที่ทรงเลือกนั้นก็ไม่เปนที่ควรรังเกียจ แต่หม่อมฉันคิดเห็นความขัดข้องหรือลำบากแก่การที่จะให้สำเร็จตามพระดำริมีอยู่หลายข้อ คือ

ก. วัดเหล่านั้นเปนพระอารามหลวง และวัตถุที่จะบรรจุเปนพระบรมอัษฐิเห็นจะต้องขอพระบรมราชานุญาตก่อน และที่บรรจุก็จะต้องทำให้เปนที่สักการบูชาสมพระเกียรติยศ จะบรรจุเงียบๆ หรือจะเอาอย่างที่บรรจุพระอังคารสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่วัดเบญจมบพิตร และบรรจุพระอังคารสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่วัดบวรนิเวศนมาใช้ก็ไม่ควร เพราะทั้งสองวัดนั้นตามที่ตกลงกันเปนยุติว่าจะทำที่บรรจุพระบรมอัษฐิเหมือนอย่างที่วัดพระเชตุพนเปนต้นในวันหน้าต่อไป ด้วย (เมื่อเวลาตกลงนั้น) พระวงศ์ที่ได้รับพระราชทานพระบรมอัษฐิไปไว้สักการบูชายังมีมาก จึงให้รอไว้

ข. การที่จะบรรจุพระบรมอัษฐิอย่างท่านทรงพระดำริ จะเกิดแบบขึ้นใหม่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือแต่ก่อนเคยทำแต่เปนการหลวง จะเกิดแบบเจ้านายทรงทำ เปนการฉะเพาะพระองค์ขึ้นเปนครั้งแรก อาจจะเปนเยี่ยงอย่างให้ผู้อื่นขอบรรจุพระบรมอัษฐิที่วัดอื่นๆ ต่อไป อีกอย่างหนึ่งนั้น แต่ก่อนมาบรรจุพระบรมอัษฐิแต่ที่วัดประจำรัชชกาล ถ้ามีวัดบรรจุพระบรมอัษฐิที่อื่นอีก ยิ่งมากวัดก็ยิ่งจะลดความศักดิ์สิทธิ์ของวัดประจำรัชชกาล หม่อมฉันคิดเห็นความขัดข้องมีอยู่ดังทูลมานี้

ค. ทางซึ่งเห็นอย่างดีที่ควรปฏิบัตินั้น หม่อมฉันเห็นว่าควรจะรวมพระบรมอัษฐิประเภทฝาก ทั้งพระบรมอัษฐิที่พระองค์วาณีมอบไว้แก่พระองค์ท่านเข้ากล่องศิลาไปบรรจุเพิ่มไว้ด้วยกันกับกล่องศิลาพระบรมอัษฐิที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบรรจุไว้ในวัดประจำรัชชกาล ทำที่บรรจุพระบรมอัษฐิของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขึ้นที่ฐานพระชินราชวัดเบญจมบพิตร ถ้ามีพระบรมอัษฐิสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ อยู่ในประเภทฝาก ก็ทำที่บรรจุที่ฐานพระชินสีห์วัดบวรนิเวศน ส่วนพระบรมอัษฐิของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทำที่บรรจุที่ฐานพระประธานวัดหงส ถ้าทำได้เช่นนั้นจะดีหนักหนา ต่อไปวันหน้าถ้ามีพระบรมอัษฐิสะสมขึ้นอีก จะรวมบรรจุเพิ่มอีกสักกี่ครั้งก็ได้ แต่ต้องทำเปนการหลวง เมื่อคิดดูจึงรู้สึกเสียดายนักหนา ถ้าปัญหาเรื่องพระบรมอัษฐิเกิดเมื่อเรายังเปนอภิรัฐมนตรี หม่อมฉันคงจะทูลเสนออย่างทูลท่านและเชื่อว่าคงจะสำเร็จประโยชน์ด้วยประการทั้งปวง แต่เมื่อไม่มีโอกาสเสียแล้วจะทำอย่างไรได้

ฆ. ถ้าจะให้ทูลความเห็นว่าท่านควรจะทรงทำอย่างไรในเมื่อพฤติการเปนอยู่อย่างทุกวันนี้ หม่อมฉันคิดเห็นทางที่ดีมีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเข้าใจว่าพวกกรมวังเขายังเชื่อถือพระองค์ท่านอยู่มาก ควรจะทรงขวนขวายแนะนำให้เขาเก็บรักษาพระบรมอัษฐิประเภทฝากไว้ให้ดี ที่เอาไว้ในมุขหลังปราศาทพระเทพบิดร ดูก็เหมาะอยู่แล้ว เปนแต่ให้มีเครื่องหมายเปนสำคัญว่าพระโกศไหนเปนพระบรมอัษฐิพระองค์ไหน และจัดที่เก็บเช่นหาตู้เหล็กเปนต้นมาเก็บรักษาพระบรมอัษฐิอย่าให้สูญหายหรือไคว่เขว ถ้าให้เขาทำได้เช่นนี้แล้วเขียนกระแสพระดําริของท่านลงกระดาดวางไว้ในตู้ ให้คนภายหลังทราบเจตนาของชั้นบรรพบุรุษติดไว้ว่าจะทำอย่างนั้นๆ หม่อมฉันเห็นยุติการเพียงเท่านั้นที่ท่านควรจะทรงทำ

ส่วนพระบรมอัษฐิที่พระองค์วาณีทรงมอบไว้กับพระองค์ท่าน จะทรงรักษาไว้ที่วังหรือจะส่งเข้าไปรวมอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร ก็เปนการสมควรทั้ง ๒ สถาน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ