เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเลภาคปลาย (ท่อนที่ ๔)

วันอังคารที่ ๒๘ มกราคม วันนี้เวลา ๑๑ นาฬิกาจะต้องไปช่วยงานพิธีศราทธพรต ที่ทำถวายพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ เช้าขึ้นจึงเปนแต่ไปเที่ยวฉายรูปสักประเดี๋ยวแล้วกลับที่พัก ก็พอเหมาะดี ด้วยหม่อมเจ้า “เตตตินปยู” Tait Tin Pyu (เราเรียกกันตามสะดวกปากต่อมาว่า “เจ้าผิว”) ซึ่งเจ้าเมืองมัณฑเลรับว่าจะให้มาเปนผู้ชี้แจงธรรมเนียมเก่า มาหาเช้าวันนี้ เห็นจะต้องไปเที่ยวตามตัวกันจึงมาช้าวันไป เธอบอกว่าพอได้รับคำสั่งก็มาหาแต่เมื่อบ่ายวานนี้แต่ฉันไม่อยู่ มีเวลาว่างได้นั่งพูดกันกว่าชั่วโมง เธอเล่าเรื่องประวัติของเธอให้ฟังน่าสงสาร ว่าเธอเปนลูกเจ้าเมฆระราชบุตรของพระเจ้ามินดง (องค์ที่พาพระราชบิดาหนีพวกขบถมาจากพลับพลา และมาต่อสู้พวกขบถที่ในวังดังกล่าวมาแล้ว) เมื่อพระเจ้ามินดงใกล้จะสวรรคตเธอถูกเขาจับด้วยกันกับเสด็จพ่อ เขาเอาเสด็จพ่อไปขังไว้แห่งหนึ่งต่างหากที่ในวัง แต่ตัวเธอเวลานั้นอายุเพียง ๕ ขวบเขาให้ไปอยู่ที่ตำหนักคุณย่า แต่เขาควบคุมกวดขัน มีคนชักดาบถืออยู่ที่ประตูขู่ว่าถ้าใครออกมาจะฟันเสียให้ตาย ก็พากันกลัวตัวงออยู่แต่ในตำหนักนั้น แล้วเขามาจับคุณย่าไปเพราะเคยเปนอริกับพระนางอเลนันดอมาแต่ก่อน พอพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้วเขาก็ฆ่าเสียทั้งเสด็จพ่อและคุณย่า แต่ตัวเธอนั้นพระเจ้าสีป่อตรัสขอชีวิตไว้ด้วยกันกับเจ้านายที่ยังเปนเด็กจึงรอดมาได้ เธอว่าพระเจ้าสีป่อนั้นไม่ได้เปนอันธพาลอย่างฝรั่งว่า ถึงราชินีสุปยาลัตก็ร้ายแต่ในเรื่องหึงส์หวง นอกจากนั้นก็ใจดี แต่เวลานั้นพระเจ้าสีป่อพระชันสาเพียง ๒๐ ราชินีสุปยาลัตก็เพียง ๑๘ ปี ทั้งเพิ่งแรกเสวยราชย์ไม่สามารถจะขัดพวกผู้ใหญ่ในราชการได้ พระนางอเลนันดอเปนตัวการในเรื่องที่ฆ่าเจ้านาย ตัวเธอรอดมาได้ในคราวนั้นแล้วต่อมาเมื่อพะม่าจะเกิดรบกับอังกฤษก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่ง เอาไปขังไว้ในวังด้วยกันกับเจ้านายผู้ชายที่ยังเหลืออยู่ เพราะเขาไม่ไว้ใจเจ้านายเกรงจะเปนขบถ ต้องถูกขังอยู่จนเสียบ้านเมืองแล้วอังกฤษปล่อยจึงหลุดออกมาได้ แต่ก็ยังไม่สิ้นเคราะห์กรรม ด้วยต่อมาเมื่อเกิดจลาจลขึ้นในปีหลัง อังกฤษสงสัยว่ามีเจ้านายไปส่งเสริมพวกผู้ร้าย จึงสั่งให้กวาดเจ้านายไปเสียจากเมืองมัณฑเล เจ้านายผู้หญิงให้ไปอยู่เมืองร่างกุ้ง แต่เจ้านายผู้ชายส่งไปไว้อินเดียหมด เวลานั้นตัวเธออายุได้ ๑๓ ปีและมีเจ้านายอีกหลายองค์ที่กำลังรุ่นหนุ่ม รัฐบาลอังกฤษให้ส่งเข้าโรงเรียน ตัวเธอเองเรียนอยู่ที่เมืองอะมะดะบัดหลายปี จนเมืองพะม่าเรียบร้อยราบคาบแล้วเขาจึงอนุญาตให้กลับบ้านเมือง เมื่อแรกมาถึงเขาถามว่าจะพอใจรับราชการกับอังกฤษหรือไม่ เธอก็ยอมสมัคด้วยยากจนไม่มีทางอื่นที่จะหาเลี้ยงชีพก็ได้รับราชการอยู่ในรัฐบาลอังกฤษมาจนอายุถึงกำหนดปลดชะราจึงออกรับเบี้ยบำนาญ แต่รัฐบาลยังขอแรงให้เปนผู้สื่อสาสนในการที่เกี่ยวข้องกับเจ้านายพะม่าอยู่บ้าง เวลานี้อายุเธอได้ ๖๒ ปี เมื่อเล่าประวัติของเธอแล้วเห็นจะอยากรู้ว่าตัวฉันเปนเจ้านายชั้นไหนในเมืองไทย จะถามตรง ๆ ก็เกรงใจ จึงใช้อุบายถามว่าเคยได้ยินผู้หลักผู้ใหญ่เล่า ว่าพระเจ้ามินดงได้แต่งทูตเข้าไปเมืองไทยครั้งหนึ่งจริงหรืออย่างไร ฉันตอบว่าเปนความจริง ทูตพะม่าเคยเข้าไป (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙) ในสมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันทรงครองราชสมบัติ เธอได้ฟังเท่านั้นก็พอใจ ออกปากแสดงความเคารพมาทันทีว่าขอให้ฉันนึกว่าเธอเปนหลานเถิด ฉันถามถึงราชบุตรและราชธิดาของพระเจ้ามินดง ว่ายังคงเหลืออยู่สักกี่องค์ด้วยกัน เธอบอกว่าพระองค์ชายยังเหลืออยู่องค์เดียว แต่พระองค์หญิงยังเหลืออยู่ ๓ องค์ อยู่ที่เมืองมัณฑเล แต่พระองค์ชายกับพระองค์หญิงองค์หนึ่งซึ่งเปนชายา ถ้าฉันให้มาหาก็เห็นจะยินดีทั้ง ๒ องค์ ฉันตอบว่าถ้าฉันได้พบก็จะยินดีเหมือนกัน เธอว่าจะไปทูลให้ทราบ ฉันจึงนัดให้มาเสวยเวลาค่ำกับฉันในวันนั้นทั้งตัวเธอเองด้วย เจ้าผิวถามต่อไปถึงความประสงค์ของฉันที่จะให้เธอทำอย่างไรบ้าง ฉันตอบว่าอยากจะเห็นรูปต่างๆ ที่ฉายเมื่อสมัยยังมีพระเจ้าแผ่นดิน เธอรับจะไปหามาให้ดูพูดกันอยู่จวนเวลางานพิธีศราทธพรตเธอจึงลาไป (ถึงตอนบ่ายเจ้าผิวกลับมาบอกว่าเจ้านายลูกเธอของพระเจ้ามินดง ยินดีจะมาหาตามกำหนดเวลาทั้ง ๒ องค์)

เวลา ๑๐ นาฬิกาเศษ ไปช่วยงานพิธีศราทธพรตที่วัดเซนต์มารีเปนวัดนิกายอังกฤษอยู่ไม่ห่างที่พักนัก การที่ไปงานพิธีนี้มีความลำบากแก่เราอยู่บ้าง ด้วยเปนงานเต็มยศ พวกข้าราชการเขาแต่งเครื่องแบบติดอิสริยาภรณ์ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พวกเรามีแต่เครื่องแต่งตัวสำหรับเดินทาง จึงต้องบอกขออภัยไว้ก่อน เขาก็เห็นอกตอบมาว่าจะแต่งอย่างไรก็ได้ ฉันจึงเลือกเสื้อที่สีคล้ามใกล้กับดำเอาแถบแพรดำพันแขนไว้ทุกข์ ส่วนเจ้าหญิงก็หาแถบแพรดำมาทำฝีเสื้อติดเครื่องแต่งตัวพอเปนเครื่องหมายไว้ทุกข์ แล้วไปด้วยกันทั้งหมด วัดที่ทำพิธีนั้นโรงสวดย่อมขนาดประมาณสักเท่าโบสถ์วัดนิเวศนธรรมประวัติที่เกาะบางปอิน เขาจัดให้พวกเรานั่งเก้าอี้แถวหน้าอันเปนที่นั่งของผู้บัญชาการมณฑลโดยปกติ ผู้บัญชาการมณฑลถอยลงไปนั่งแถวหลังถัดลงไป มีคนไปมากจนที่ไม่พอนั่งในโรงสวด ถึงต้องยืนหลามออกไปจนข้างนอก แต่มิใคร่เห็นมีพะม่า จะเปนด้วยพะม่ายังถือคติว่าไม่ควรจะเข้าไปช่วยเหลือลัทธิสาสนาอื่นหรืออย่างไรหาทราบไม่ สังเกตดูเครื่องแต่งตัวของฝรั่งที่ไปในงานนั้นที่เปนข้าราชการแต่งเครื่องแบบเต็มยศขาวหรือสีกากีทุกคน ที่มิได้เปนข้าราชการน้อยคนที่จะแต่งตัวตามแบบงานพิธีกลางวัน เช่นใส่เสื้อฟร๊อกโค๊ตหรือมอร์นิงโค๊ต ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างปกติเปนแต่เอาผ้าดำพันแขนไว้ทุกข์แทบทั้งนั้น เครื่องแต่งตัวผู้หญิงก็มีน้อยคนที่จะแต่งดำไว้ทุกข์ทั้งชุดเปนแต่แก้ไขเครื่องแต่งตัวพอเปนกิริยาไว้ทุกข์โดยมาก เครื่องแต่งตัวของพวกเราที่แต่งไปวันนั้น จึงไม่แปลกตาเหมือนอย่างวิตกอยู่แต่ก่อนได้ยินว่าที่เมืองร่างกุ้งก็เปนทำนองเดียวกัน เพราะในเมืองพะม่านาน ๆ จะมีพิธีรีตองที่เปนงานใหญ่สักครั้งหนึ่ง จึงมิใคร่มีใครทำเครื่องแต่งตัวสำหรับใส่ไปในงานเช่นนั้นไว้ พวกกงสุลต่างประเทศต้องตัดเสื้อใหม่สำหรับใส่ไปงานพิธีศราทธพรตครั้งนี้ก็มี ส่วนพนักงานทำการพิธีนั้น มีพวกร้องเพลงสวด Choir กับคนดีดหีบเพลงลม Organ เตรียมอยู่ในโรงสวด พอได้เวลาก็มีคนถือไม้กางเขนคันยาวกับบริวารแห่นำพระ เดินเปนกระบวรออกมาจากห้องข้างโรงสวด มารวมกันอยู่บนยกพื้นตอนหน้าฐานชุกชี Altar แล้วเริ่มยืนสวดประสานเสียงเข้ากับหีบเพลงลม ที่ตรงหน้าเก้าอี้คนไปช่วยงานก็มีสมุดคำสวดวางไว้ทุกแถว และมีป้ายติดฝาบอกไว้ให้เห็นว่าจะเลือกสวดบทนั้นๆ เปนลำดับกันตามที่เลขในสมุด เมื่อตั้งสวด ผู้ที่ไปช่วยงานก็ช่วยสวดตามไปด้วย สวดบทต่างๆ ไปพักหนึ่งแล้วพระอธิการก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เทศน์จบแล้วก็สวดพร้อมกันต่อไปอีกพักหนึ่ง เมื่อหมดกระบวรสวดแล้วแตรเดี่ยวเป่าเพลงนอน Last Post ข้างหน้าโบสถ์ พวกที่ไปในงานยืนนิ่งนึกอนุสสรณ์อยู่ตลอดเวลา ๒ นาทีหมดทุกคน เปนเสร็จพิธีส่วนศราทธพรต แล้วพร้อมกันร้องเพลงเฉลิมพระเกียรติ God Save the King ถวายพรแก่พระเจ้าเอดวาร์ดที่ ๘ เปนที่สุด จบเพลงกระบวรพระก็กลับเข้าห้องเปนเสร็จงาน รวมเวลาที่ทำพิธีสัก ๔๕ นาที ฉันเขียนพรรณนาตอนนี้นึกถึงหม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร) แกแต่งรายงานเล่าถึงการต่างๆ ที่ได้ไปเห็นณเมืองลอนดอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ พรรณนาดีไม่มีตัวสู้ ถ้าหม่อมราโชทัยพรรณนางานศราทธพรตที่ว่ามาจะน่าอ่านดีกว่าฉันแต่งมาก

ถึงตอนบ่ายผู้บัญชาการมณฑลกับภรรยามาส่งณที่พัก ด้วยฉันจะออกจากเมืองมัณฑเลพรุ่งนี้ เมื่อเขากลับไปแล้วฉันเขียนจดหมายขอบคุณรัฐบาล และแสดงความพอใจในการรับรองที่เมืองมัณฑเล เข้าผนึกกับการ์ดลาพอเวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกาขึ้นรถไปส่งจดหมายนั้นที่จวนผู้บัญชาการมณฑล แล้วไปส่งการ์ดลาที่บ้านเจ้าเมือง ออกจากนั้นไปดูวัดนางพระยา (ซึ่งได้พรรณนามาแล้ว) อยู่ริมถนนที่จะลงไปท่าเรือ เล่ากันว่าวัดนางพระยานั้น ราชินีสุปยาลัตสร้างพอเสร็จยังไม่ทันฉลองก็เสียบ้านเมือง เมื่ออังกฤษพาพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตไปลงเรือต้องผ่านวัดไป ราชินีสุปยาลัตอุตส่าห์หลั่งสิโนทกถวายวัดเปนพุทธบูชาในเวลานั้นอีกนัยหนึ่งว่าเมื่อผ่านวัดน้ำพระเนตร์ไหลราวกับหลั่งสิโนทก จะอย่างไรก็ตาม พอคิดเห็นได้ว่าเมื่อผ่านวัดคงเกิดโทมนัสอาลัยอย่าง “ใจแทบขาด” น่าสงสาร ยังมีกรณีที่น่าสงสารในวันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ที่ได้เห็นเองเขาเขียนเล่าไว้ ว่าเมื่ออังกฤษพาพระเจ้าสีป่อลงจากราชมณเฑียรดำเนินมา พอถึงประตูวังตรัสขอหยุดสักหน่อย หันพระองค์ไปยืนนิ่งทอดพระเนตรดูปราสาทราชมณเฑียรสักครู่หนึ่ง แล้วหันกลับไปบอกว่า “ไปเถิด” มิได้แสดงอาการโศกศัลรันทดอย่างใดให้ปรากฎ พิเคราะห์เข้ากับบททศกรรฐ์สั่งเมืองในเรื่องรามเกียรติ์ว่า

“ครั้นออกมานอกทวารวัง เหลียวหลังดูนิเวศน์ของยักษา
เสมอเหมือนเมืองสวรรค์ชั้นฟ้า อสุราเพ่งพิศคิดอาลัย
โอ้เสียดายปรางค์มาศปราสาทศรี ตั้งแต่นี้มิได้มาอาศัย
สงสารเหล่าสาวสรรค์กำนัลใน จะเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจจาบัลย”

แต่น่าชมขัติยมานะของพระเจ้าสีป่อที่มิได้แสดงกิริยาอาลัยให้ผู้อื่นดูหมิ่นได้ ออกจากวัดนางพระยาให้ขับรถเลยไปดูท่าเรือ อยู่ห่างเมืองมัณฑเลกว่า ๑๐๐ เส้น สองข้างทางตอนนี้ดูเหมือนจะเปนที่อยู่ของพวกจีนมีบ้านเรือนและโรงจักรสีเข้าเลื่อยไม้ขนาดย่อมๆ รายกันไป เห็นคันกั้นน้ำที่พระเจ้ามินดงสร้างไว้ ก่อด้วยก้อนศิลาอย่างมั่นคงถึง ๒ ชั้น พอแลเห็นท่าเรือก็เข้าใจว่าเหตุใดผู้บัญชาการมณฑลกับภรรยาจึงได้มาส่งเพียงที่พัก เพราะทางที่จะลงไปถึงเรืออยู่ข้างลำบาก เมื่อไปถึงที่สุดทางรถยนต์แล้วจะต้องลงเดินไต่ตลิ่งลงไปหลายวา แล้วยังต้องลุยฝุ่นข้ามหาดไปอีกตอนหนึ่งจึงจะถึงที่ท่าเรือจอด ดูท่าเรือแล้วกลับมาถึงที่พักพอใกล้ค่ำ

พอเวลาล่วง ๑๙ นาฬิกา ราชบุตรกับราชธิดาของพระเจ้ามินดงกับเจ้าผิวก็มาถึง ฉันแต่งตัวนุ่งผ้าอย่างไทยรับฝ่ายข้างเธอก็แต่งพระองค์อย่างเจ้าพะม่ามาหาพอเหมาะกัน พระองค์ชายทรงนามตามชื่อเมืองส่วยของเธอว่า “ปยินมานะ” Pyinmana (พวกเราเรียกกันตามสดวกปากว่า “พระองค์ปิ่น”) ชนมายุ ได้ ๖๔ ปี เจ้าผิวเล่าเรื่องประวัติให้ฟังแต่ตอนเช้า ว่าเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตนั้นพระชันษาได้ ๗ ขวบ ถูกจับด้วยกันกับเจ้าผิวทั้ง ๒ ครั้งและรอดมาได้อย่างเดียวกัน แล้วถูกส่งไปอินเดียด้วยกัน แต่เขาส่งพระองค์ปิ่นไปเข้าโรงเรียนของกรมป่าไม้ที่เมืองดาระดูนได้กลับมาบ้านเมืองพร้อมกัน แต่พระองค์ปิ่นไม่สมัครทำราชการ เพราะเปนพระองค์เจ้าได้เงินเลี้ยงชีพพอใช้สอย จึงอยู่เปนอิสระมาจนบัดนี้ เมื่อฉันกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งได้ถามเลขานุการของรัฐบาล ว่ารัฐบาลเลี้ยงดูเจ้าพะม่าอย่างไรเขาบอกว่าเจ้านายชั้นลูกเธอพระเจ้าแผ่นดินได้เงินเลี้ยงชีพ (รวมทั้งเบี้ยเลี้ยงและค่าเช่าบ้าน) องค์หนึ่งในระวางเดือนละ ๑,๒๐๐ จน ๑,๕๐๐ รูปีย หม่อมเจ้าองค์ละ ๑๕๐ รูปีย แต่พวกหม่อมเจ้าที่ไม่ทำการงานมักยากจน ด้วยไม่รู้จักประหยัดทรัพย์ได้เงินเท่าใดก็ใช้สุรุ่ยสุร่ายเสียหมด พระองค์หญิงนั้นทรงนามว่า “ตะรางา” Htayanga (เราเรียกกันว่า “พระองค์หญิงดารา”) ชนมายุได้ ๖๒ ปี ทั้ง ๒ องค์รูปโฉมและกิริยามารยาทสมควรเปนเจ้าเปนนาย ไม่น่ารังเกียจ แต่การสนทนากันออกจะลำบาก ด้วยพระองค์หญิงดาราตรัสได้แต่ภาษาพะม่าฉันต้องวานเจ้าผิวเปนล่าม พระองค์ปิ่นกับเจ้าผิวพูดภาษาอังกฤษได้ก็เผอิญกรรณตึงทั้ง ๒ องค์ ซ้ำฉันเองก็หูตึงด้วย สนทนาตะโกนกันก้องคนอื่นที่อยู่ด้วยคงเห็นขันหากเกรงใจจึงต้องกลั้นหัวเราะ การเลี้ยงเจ้านายพะม่าวันนั้นกุ๊กปอลคงเห็นเปนการสำคัญ ทำเครื่องเลี้ยงอย่างสิ้นฝีมือไม่ขายหน้า เรื่องที่สนทนากันในเวลาเลี้ยงจะเล่าแต่ที่แปลก พระองค์หญิงดาราตรัสบอกว่าเธอเปนเชื้อไทย ด้วยตระกูลจอมมารดาของเธอเปนไทย ผู้ใหญ่เล่ากันมาว่าต้นตระกูลเปนเจ้าชาย (ถูกกวาด) ไปจากกรุงศรีอยุธยาแต่ยังเยาว์ ถ้าเช่นนั้นคิดตามเวลา พระองค์หญิงดาราก็คงเปนชั้น ๔ หรือชั้น ๕ ต่อมาจากต้นตระกูล ฉันถามเธอถึงข้างในพระราชวังว่าตามแผนผังเห็นปลูกตำหนักรักษาใกล้ชิดติดๆ กันไปเต็มบริเวณ พวกชาววังอยู่ไม่ยัดเยียดกันหรือ เธอตอบว่าอยู่ในวังสบายดีไม่มีลำบากอย่างไร มีถนนหนทางระวางตำหนักและมีที่ไปเที่ยวเล่นเปนสุขสบาย ฟังเธอว่านึกขึ้นถึงเวลาฉันเองอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อยังเด็ก ก็เห็นใหญ่โตสนุกสนานราวกับเปนเมืองอันหนึ่ง ต่อเมื่อเปนผู้ใหญ่แล้วเข้าไปในวังจึงเห็นว่าคับแคบ แต่เจ้านายพระองค์หญิงและผู้หญิงชาววังอยู่ในวังกันเปนนิจดูก็สบายดี ทางเมืองพะม่าก็จะเปนทำนองเดียวกัน พระองค์ปิ่นเธอทราบจากเจ้าผิวแล้วว่าฉันเปนเจ้านายชั้นไหน ทำนองจะอยากรู้ต่อไปว่าเธอกับฉันใครจะเปน “อาวุโส” ถามถึงอายุฉันเมื่อฉันบอกว่า ๗๔ ปี เธอสดุ้งออกโอษฐ์ดัง “อือ” แล้วหันไปบอกพระองค์หญิงดารา บางทีจะเห็นว่าแก่ถึงเพียงนั้นแล้วยังซุกซนไปเที่ยวเตร่ถึงเมืองไกล ประหลาดอยู่ที่เธอเอาพระทัยใส่ด้วยเรื่องเมืองไทยมาก ตรัส (เหมือนกับพวกพะม่าที่เปนชั้นผู้ดีชอบพูด) ว่าพะม่าพากันชมไทยอยู่เสมอที่สามารถทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองและรักษาอิสสระภาพมาได้ แล้วตรัสต่อไปว่าแต่ก่อนมาไทยจะเอาแบบอย่างอะไรของพะม่าไปใช้บ้างเธอก็ไม่ทราบ แต่ถึงเอาไปก็ไม่มากเท่าที่พะม่าเอาแบบอย่างของไทยมาใช้ เปนต้นว่า เครื่องดนตรีกระบวรฟ้อนรำ การเล่น ตลอดจนลวดลายกระบวรช่าง พะม่าเอาแบบของไทยไปใช้มาก อะไรเรียกว่า “แบบโยเดีย” แล้วดูเปนนิยมกันว่าดีทั้งนั้น ฉันสังเกตในเวลาสนทนากัน ดูเธอไม่ชอบให้พูดเรื่องเหตุการณ์เมืองพะม่าเมื่อชั้นหลัง ยกตัวอย่างดังมีหนังสือแต่งเรื่องเมืองพะม่าเมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ เพิ่งพิมพ์ใหม่เรื่องหนึ่งเรียกว่า “แลคเคอเลดี้” Lacquer Lady (ถ้าแปลตรงตามศัพท์ว่า “นารีลงรัก”) กำลังคนชอบอ่านกันที่เมืองร่างกุ้ง แต่ฉันยังไม่ได้ซื้อ ไปพูดขึ้นถึงเรื่องหนังสือนั้น เธอห้ามว่าไม่ควรจะซื้อให้เปลืองเงิน เพราะแต่งเอาแต่ความเท็จโพนทนาใส่ร้ายราชวงศพะม่าทั้งเรื่อง เจ้าผิวก็ช่วยห้ามปราม คิดดูก็น่าชมเจ้านายสองสามองค์นี้ ถึงตกยากแล้วก็ยังพยายามรักษาเกียรติยศของบรรพบุรุษ ก็แต่ฝ่ายเราเปนคนภายนอกปราร์ถนาหาแต่ความรู้ จะฟังห้ามไม่ได้อยู่เองเมื่อเลี้ยงกันแล้วออกไปนั่งดูรูปต่างๆ ที่เธอเอามาให้ดู เจ้าผิวได้รูปฉายพระเจ้าสีป่อกับราชินิสุปยาลัตทรงเครื่องต้นมาให้ฉันรูปหนึ่ง สมุดรูปที่เอามาให้ดูนั้น เห็นจะเปนของพระองค์หญิงดาราด้วยเปนรูปนางในทั้งนั้นเธอเปนผู้ชี้บอกให้ทราบว่าเปนรูปใครต่อใคร มีตั้งแต่รูปพระนางอเลนันดอ รูปเจ้านายราชธิดาและเจ้าจอมของพระเจ้ามินดง ตลอดจนรูปผู้หญิงลูกฝรั่งที่เข้าไปถวายตัวเปนนางกำนัลของราชินีสุปยาลัต แต่งตัวเปนพะม่าหน้าเปนฝรั่งพอสังเกตได้ ฉันเอารูปฉายตัวฉัน (มีแต่รูปเก่าๆ ฉายมากว่า ๖ ปี) มาถวายให้เธอเลือกเอาไว้เปนที่ระลึก องค์อื่นเลือกเอารูปที่แต่งตัวเต็มยศ แต่พระองค์ปิ่นเอารูปมาถือเทียบกับตัวฉันทุกอย่าง จะเลือกเอาที่เหมือนเปนสำคัญ ไปชอบรูปที่ฉายเมืองลอนดอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ที่จริงก็เปนรูปฉายทีหลังเพื่อนด้วย ดูรูปและสนทนากันอยู่จนเลย ๒๐ นาฬิกาเธอจึงลาไป ฉันบอกว่าเมื่อไปลงเรือจะไปแวะเยี่ยมตอบพระองค์ปิ่นกับพระองค์หญิงดาราที่วัง และนัดเจ้าผิวให้มาแต่เช้าเพื่อจะไปดูราชมณเฑียรด้วยกันอีกครั้งหนึ่ง จะให้เธอพาดูลายจำหลักที่พะม่าเรียกว่า “แบบโยเดีย” ให้เห็นว่าเปนอย่างไรด้วย

วันพุธที่ ๒๙ มกราคม เวลาเช้าเจ้าผิวพา (หม่อมราชวงศ) หลานมาหาอีกคนหนึ่ง ยังเปนหนุ่มพูดภาษาอังกฤษคล่อง ขึ้นรถออกจากที่พักเวลา ๘ นาฬิกาเศษ เข้าไปที่ราชวัง เที่ยวเดินดูปราสาทราชมณเฑียรกับเจ้าผิวอีกครั้งหนึ่ง เธอบ่นเรื่อยไปว่าปราสาทราชมณเฑียรแต่เดิมเปนของทำโดยประณีตบรรจง ถรรพสัมภาระเช่นไม้ที่เอามาใช้ก็เลือกสรรแต่ที่ดี เปนต้นว่าไม้ปูพื้นแต่ละหลังล้วนเปนกระดานหน้าใหญ่เท่ากันหมดที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้เปนแต่ซ่อมแซมรักษาพอให้คงเปนรูปร่างอย่างเดิมเท่านั้น เธอพาขึ้นไปชี้ลายจำหลักอย่างที่เรียกว่า “แบบโยเดีย” ให้ดู คือ “ลายไม้เครือ” ที่ชอบจำหลักเปนสาหร่ายตามขอบพระทวารเปนต้น ว่ายังมีอย่างอื่นอีก แต่ดูเธอไม่สู้จะชำนาญการช่างนัก จึงไม่ได้ค้นหาต่อไป ออกจากพระราชวังไปยังวังพระองค์ปิ่น อยู่นอกเมืองทางฝ่ายตะวันตกเปนอย่างบ้านคฤหบดี มีรั้วล้อมรอบ ตรงกลางสร้างตำหนักไม้สองชั้นแบบเรือนฝรั่งขนาดพออยู่ได้สบาย มีสวนดอกไม้รอบตำหนัก ต่อออกไปริมรั้วมีเรือนแถวของพวกข้าไทยอยู่ในลานวัง เธอเตรียมรับอย่างเต็มประดา เรียกลูกหลานทั้งชายหญิงมารับด้วยหลายองค์ จัดที่ประชุมกันในห้องรับแขกมีของว่างเลี้ยงด้วย พบกันเปนครั้งที่ ๒ ดูสนิทสนมยิ่งขึ้น เธอถามฉันว่าเคยมีดาบพะม่าแล้วหรือยัง ฉันตอบว่ายังไม่เคยมี เธอขึ้นไปบนตำหนักเอาดาบลงมาให้ฉันเล่มหนึ่ง อวดว่าดาบเล่มนั้นคมนัก แม้เอาเส้นผมห้อยฟันเส้นผมก็ขาด ขอให้รับมาเปนที่ระลึก ฉันขอบพระทัยรับด้วยความยินดี แล้วเธอไปเลือกเก็บดอกไม้ที่ในสวนมาให้เจ้าหญิง ก่อนจะลามาฉันชวนฉายรูปหมู่ และขอฉายรูปตำหนักมาเปนที่ระลึกด้วย

ออกจากวังพระองค์ปิ่นตรงไปท่าเรือ ไปแลเห็นเมื่อเวลาเรือจวนจะออก ดูที่จะลงเรือยิ่งลำบากกว่าคาดไว้แต่ก่อนอีก ด้วยมีเกวียนบรรทุกสินค้ามากีดขวางอยู่เกะกะ ทั้งมีผู้คนพวกมารับส่งสินค้าและพวกกรรมกรที่คอยรับจ้างแบกหามและหาบขน พลุกพล่านชุลมุนไปทั่วทุกหนทุกแห่งตั้งแต่ที่จอดรถลงไปจนตลอดหาด ต้องเดินระวังหลีกเลี่ยงลงไปถึงชายหาดแล้วยังต้องไต่สะพานกระดานทอดสองแผ่นลงในเรือชำสำหรับรับสินค้า เดินผ่านพ้นเรือนั้นไปจึงถึงกำปั่นไฟลำชื่อ “อัสสัม” Assam ที่พวกเราจะมา เจ้าผิวกับเจ้าหลานมีแก่ใจลงมาส่งถึงเรือแล้วจึงลากลับไป พอเวลาเที่ยงวันก็ออกเรือแล่นล่องแม่น้ำเอราวดีลงมาจากเมืองมัณฑเล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ