วันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ประทานไปพร้อมด้วยรายงานเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ (ท่อน ๑) ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณอย่างยิ่ง

ยังมีใจผูกพันที่จะทูลต่อเรื่องผูกสีมา แต่เปนการทูลตามความเห็นที่ว่าควรจะเปนอย่างไรเท่านั้น ไม่ใช่แก้อรรถกถาบาลีอันเปนของเกินความรู้นั้นเลย

การผูกสีมาแปลว่าอะไร แปลว่าบอกกันในสมาคม ว่าวงที่ประชุมทําสังฆกรรมแห่งนี้แค่นั้น มีสิ่งนั้นเปนนิมิต คือเครื่องหมาย

อันเครื่องหมายนั้นมีสองประเภท คือหมายด้วยของเปนเองเช่นต้นไม้ใหญ่ห้วยหนองแม่น้ำเปนต้นประเภทหนึ่ง กับหมายด้วยของทําขึ้นเช่นบ่อคูเปนต้น และก้อนหินเปนที่สุดอีกประเภทหนึ่ง

นิมิตสิ่งที่เปนเองเปนสิ่งที่ไม่พอใจกัน เพราะว่าเส้นเสมาจะโย้เย้ไม่อยู่ในบังคับ ทําให้เข้าใจยาก จึงพอใจกันแต่ในนิมิตที่ทําขึ้น อันจะทําได้ให้อยู่ในบังคับ บรรดาสิ่งซึ่งจะทําขึ้นนั้น อะไรก็ไม่ง่ายเท่ายกเอาก้อนหินมาวางเปนเครื่องหมาย เพราะเหตุฉะนั้นเราจึงชอบทํานิมิตหินกันเปนเครื่องหมายสีมา

ก้อนหินสีมานั้น จะต้องเปนก้อนใหญ่ อันมีน้ำหนักเกินกว่ากําลังบุรุษคนเดียวจะผลักเคลื่อนที่ไปเสียได้ ภายหลังเมื่อเจริญศรีวิลัย ก้อนหินเครื่องหมายนั้นก็ตกแต่งให้เกลี้ยงเกลาเปนรูปอันงดงามขึ้น จะเห็นได้ตามวัดเก่า ๆ เช่นวัดมหาธาตุราษฎรบูรณะในกรุงเก่า หินใบเสมาแต่ละอันทําใหญ่โตเกินกว่ากําลังบุรุษคนเดียวจะยกได้ทั้งนั้น แต่ภายหลังเรียวลง ทําหินเสมาเล็กลงจนกระทั่งบุรุษคนเดียวอาจยกหนีบรักแร้เอาไปทางไหนเสียก็ได้ จึงได้เกิดมีวิธีฝังลูกนิมิตไว้ใต้หินใบเสมาอีกทีหนึ่ง โดยเจตนาว่าถึงหินใบเสมาจะหายก็ยังขุดหาเขตต์ได้ที่ลูกนิมิตซึ่งได้ฝังไว้ใต้นั้น

หินหมายสีมาทําไมจึงตกแต่งเปนรูปบนโตเอวคอดเหมือนกันหมด ข้อนี้ยังตรองไม่เห็น แต่รูปเช่นนั้นไม่ใช่มีแต่เครื่องหมายสีมาอุโบสถอย่างเดียว จเหว็จก็รูปนั้น เครื่องผูกคอเด็กก็รูปนั้น ใบบังบนกําแพงก็รูปนั้น ใบเสมาปลายกําแพงไม่ใช่มีแต่ของไทย วังในเมืองอินเดียแบบอาหรับตามที่ได้เห็นรูปฉายก็มีเหมือนกัน ยังที่ฝังศพแขกซึ่งเคยเห็นเมื่อแลกเอาป่าช้าแขกทำสถานีรถไฟบางกอกน้อย มีไม้ถากเปนรูปเสมาเขียนชื่อปักหมายไว้ที่หลุมศพเหมือนกัน และยังได้ยินว่าที่ตำบลม่วงสามสิบในจังหวัดอุบลก็มีใบเสมาหินใหญ่ ๆ ปักไว้มากมาย จะดูว่าเปนเสมาอุโบสถก็มิใช่ แล้วภายหลังได้ยินฝ่าพระบาทตรัสบอกว่าเคยโปรดให้ลองขุดดูใต้นั้นได้หม้อกระดูก ก็เปนอันสงเคราะห์เข้าเปนที่ฝังศพแขกนั้นเอง โดยตัวอย่างดังกล่าวมานี้ น่าสงสัยว่าการหยักรูปใบเสมานั้น จะเปนประเพณีที่เราจำมาจากต่างประเทศ แต่จะเปนแบบชนิดชาติใดยังว่าลงไปไม่ได้

การผูกสีมาก็คือประกาศในสมาคมให้ทราบทั่วกันว่า แค่นั้นเปนเขตต์ที่ทำสังฆกรรม มีสิ่งนั้นเปนเครื่องหมาย การถอนเสมาเห็นไม่จำเปนจะต้องถอนเสมอไป ควรถอนแต่แห่งที่ผูกเสมาไว้ก่อนแล้ว แต่จะผูกใหม่แก้ร่นให้แคบเข้าหรือขยายให้ใหญ่ออกไป คือประกาศถอนสีมาเดิม แล้วประกาศผูกสีมาใหม่เท่านั้นเอง เห็นด้วยเกล้าว่าความจำนง

ในการผูกสีมา เดิมจะเปนดังนี้แต่พระสงฆ์ภายหลังแปลความไปเสียตามที่ผูกใจในทางปลุกเสกให้ขลัง กลายเปนทำพิธีพิถีพิถันเอียงไปเปนถอนเสนียดฝังอาถรรพ์ เพื่อป้องกันอุปัทว์เจริญสวัสดิมงคล ความตั้งใจดีแต่เข้าใจผิดเลยดีมีอยู่มากดั่งจะทูลถวายเปนตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ด้วยได้ยินมานานแล้ว ว่าพระราชาคณะองค์หนึ่ง ปฏิบัติวินัยอย่างเคร่งครัดยิ่งนัก พอดีเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับจากยุโรป โปรดให้มีเลี้ยงพระสงฆ์อย่างฝรั่ง บังเอิญเกล้ากระหม่อมต้องปฏิบัติพระราชาคณะองค์ที่เคร่งครัดวินัยนั้นด้วย ท่านบอกให้ประเคนมีดซ่อมช้อน เกล้ากระหม่อมก็อยากรู้ความคิดท่านจึงถามว่าประเคนทำไม ท่านบอกว่าสนิมจะติดเข้าไปกับอาหารเกล้ากระหม่อมก็สังเวช เห็นว่าสำคัญวินัยผิดแท้ๆ พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติบทประเคนหมายเพียงของกิน หาได้หมายถึงสิ่งอื่นไม่ ท่านมาถือเปนทุกอย่างที่ล่วงลำคอจะต้องประเคนนั้นเปนไปไม่ได้ เช่นน้ำลายของท่านซึ่งกลืนอยู่วันยังค่ำนั้นใครจะประเคนให้ได้เล่า

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องเครื่องยอดทรงโกศ เดิมทีก็ได้เห็นแต่โกศนั้นแหละก่อน คิดว่าคงสืบมาแต่ที่ใส่กระดูก คือกลักหรือโถอะไรเหล่านั้น ภายหลังได้ไปเห็นพระธาตุไชยาทำเอาตกใจเปนอันมาก เพราะเปนเรือนจะว่ามาแต่โกศไม่ได้ พิจารณาเห็นว่าที่ทำเรือนทรงบนโตล่างคอดเช่นนั้น จะเปนแกล้งทำให้เข้ากันกับรูปพระเจดีย์บนยอด หมายถึงพระเจดีย์เก่าตามมุมอันทำบนโตล่างคอดดุจเอาหม้อข้าวมาตั้งคว่ำ ซึ่งที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ ก็มีไม่ใช่หมายถึงพระเจดีย์องค์กลาง ที่พระชยาภิวัฒน์ทำเสริมที่พังไปแล้วขึ้นใหม่อันมีรูปเปนพระเจดีย์ซึ่งเรียกกันว่าไม้เรียวหวดฟ้านั้น ครั้นมาได้เห็นรูปฉายมณฑปทรงโกศเมืองพุกามซึ่งโปรดประทานไปก็ตกใจเปนครั้งที่สอง รู้สึกว่าจะต้องมีแบบที่ทำกันเช่นนั้น ไม่ใช่จะมีแต่พระธาตุไชยาแห่งเดียว ได้ตริตรองหาหลักที่มาอยู่ก็พอดีที่ตรัสชวนให้ช่วยกันคิด ขยับจะคิดออกดังจะกราบทูลต่อไปนี้

ตามปกติเรือนนั้นก็ปักเสามุงหลังคาเหมือนกันหมด แต่การใส่ฝานั้นทำกันอยู่สองอย่าง หวังว่าคงจะได้ทอดพระเนตรเห็นมาทั้งสองอย่างแล้ว คือตั้งฝาบนพรึงประกอบแนบกับเสาขึ้นไปถึงโคนเต้านั้นอย่างหนึ่ง กับตั้งฝาบนพรึงแต่เอนเอาปลายฝาออกไปยันกับปลายเต้าที่ชายคาอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำอย่างนั้นเห็นจะคิดรักษาฝาไม่ให้ถูกฝนผุเสียเร็ว และที่ทำอย่างว่าทีหลังนั้นเองจึงทำให้ดูทรงเรือนเปนเบื้องบนผาย ได้แก่มณฑปทรงโกศนั้นแล

มณฑปทรงโกศที่เมืองพุกาม เปนของทำย่นลงจากเจดีย์ ซึ่งเดิมเปนของใหญ่ ทำเปนแบบเรือน อะไรก็ต้องเล็กลงเปนเรือนตุกตาทุกอย่าง แม้พระปรางค์ของเราก็คือเรือนเหมือนกัน เมื่อทำผอมเข้าและย่นเล็กลงก็เลยจนต้นไม่เปนเรือน ข้อที่มณฑปทรงโกศในเมืองพุกามไม่มีพระพุทธรูปตั้งในนั้นก็เพราะเปนของเล็กคนเข้าไม่ได้ จะตั้งพระพุทธรูปหรือไม่ตั้งก็แลไม่เห็นเหมือนกันเขาจึงงด การตั้งพระพุทธรูปในเจดีย์ไม่ใช่ของจำเปน เจดีย์เปนสิ่งที่ประจุอัฏฐิธาตุ หากทำเปนแบบเรือนมีขนาดใหญ่จนคนเข้าได้ห้องเรือนว่างเปล่าอยู่ จึงจัดพระพุทธรูปซึ่งเปนอุทเทสิกเจดีย์เข้าตั้งซ้อนชิ้นแก้ว่าง และเปนเครื่องนำใจด้วย เมื่อทำเรือนย่อเล็กลงจนคนเข้าไม่ได้จึงไม่จำเปนจะต้องตั้งพระพุทธรูปในนั้น เช่นเรือนปรางค์ของเราเหมือนกัน เมื่อทำเล็กตันก็ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ที่ประตูปรางแทนภายใน หรือมิฉะนั้นก็เลิกไม่มีพระพุทธรูปเลย วิธีบรรจุพระพุทธรูปที่ไม่ต้องการในพระเจดีย์นั้นเปนวิธีที่มาทีหลัง

จะกราบทูลแถมถึงคำที่เรียกกันว่า “ยอดนพศูล” คำนั้นเห็นจะไม่ได้หมายถึงวัชรหรือวิศว (คือวัชรคู่) ซึ่งปักหมายไว้บนยอดปรางค์เลย นพศูลจะหมายถึงปราสาทเก้ายอด เช่นพระนครวัด คือยอดมุมระเบียงล้อมนอกสี่ ในสี่ กลางหนึ่งจึงรวมเปนปราสาทเก้ายอด ข้อนี้ลางทีจะเคยกราบทูลแล้ว ถ้าเปนดังนั้นขอประทานโทษ

ต่อไปนี้จะกราบทูลถึงความรู้สึกในใจ เมื่อได้อ่านเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ประทานไปคราวนี้

นึกเสียดายมาก ที่ไม่ได้เสด็จเข้าเที่ยวเมืองตองอู ใช่ว่าจะสนใจอยู่แต่เพียงคลองสมเดจพระนเรศวร กับเจดีย์เจ้าพี่น้องเท่านั้นก็หามิได้ สนใจอยู่ในเมืองตองอูทั้งหมดทีเดียว ด้วยเห็นว่าเปนเมืองเก่า น่ารู้ว่าภูมฐานจะเปนอย่างไร ทั้งสงสัยว่าจะมีอะเรเก่า ๆ ที่น่าดูน่ารู้อยู่อีกบ้างด้วย

คลองชลประทานนั้นมีมานาน ปรากฏแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว ซึ่งพวกสกัยแย่งน้ำกัน ตลอดมาจนถึงความเปนอยู่แห่งชาวพายัพเรานี้ก็มีคลองชลประทานซึ่งเรียกกันว่าเหมือง แล้วกั้นฝายทดน้ำเข้าในที่ของตน เปนการทำตามแบบปรัมปรา พระเจ้าอนุรุทธ์ทำในเมืองพุกามก็ทำตามแบบโบราณ ไม่ใช่เปนการคิดขึ้นใหม่อันควรที่จะประหลาดใจอย่างใดเลย

คำว่า “อู” อันเปนคำนำชื่อ ตั้งใจว่าจะทูลถามในเที่ยวเมลนี้ แต่ผเอิญมีพระดำรัสอธิบายในรายงานเสด็จเที่ยวนั้นแล้ว ไม่ต้องทูลถาม

ข่าวในกรุงเทพ ฯ นั้นข้น ไม่มีอะไรที่ควรจะกราบทูล นอกจากวันนี้มีการพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดาเหม รัชชกาลที่ ๕ ที่วัดเทพศิรินทราวาส เมรุที่พระราชทานเพลิงเจ้าภาพปลูกเอง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ