วันที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ประทานไปพร้อมทั้งพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเลภาคปลาย ท่อน ๓ กับรูปฉายประกอบกัน ๑๒ รูป ได้รับประทานด้วยดีแล้ว มีความยินดีที่ได้ความรู้ในนั้นมาก

เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ตรัสชี้แจงเรื่องสังฆาวาส ได้เคยพบในแผนที่กรุงเก่ามีวัด “สังกะวาด” เหมือนกัน แต่นึกว่าเปนชื่อปลา ไม่เฉลียวใจเลยว่าจะเปน “วัดสังฆาวาส” ไม่เคยไปดู จะมีลักษณเปนอย่างไรอยู่หาทราบไม่ วัดสังฆาวาสที่เมืองสัชนาลัย ซึ่งได้ทอดพระเนตรเห็น มีลักษณเปนกำแพงล้อมที่ว่างเปล่า การปลูกสร้างในนั้นแต่ก่อนจะต้องคล้ายคลึงกันกับที่เมืองพะม่าเปนแน่นอน

ข้อพระปรารภเรื่องพระนาม “สังกทัต” เกล้ากระหม่อมสามารถจะทูลแก้ถวายได้โดยง่าย เปนคำวิรุทธน้อยที่สุดเพียงตกตัว ร ไปตัวเดียวเท่านั้นเพราะเรียกกันห้วน ๆ ง่ายๆ “สังกร” เปนนามพระอิศวร พรหมทัต สังกรทัต กฤษณทัต พุธทัต เทวทัต และอื่นอีก เปนชื่อแบบที่มาตะเภาเดียวกันทั้งนั้น

ข้อที่พูดเรียกตัว ฆ เปน ก เช่นสังฆทาน เปนสังกทานไปนั้น เปนด้วยพูดแปร่งเท่านั้นเอง นักปราชญ์ฝรั่งผู้ชำนาญอักขรวิธี เขาว่าที่จริงพยัญชนไม่มีกี่ตัว หากบัญญัติขึ้นไว้สำหรับดักเสียงซึ่งคนจะพูดแปร่งไปเท่าไรก็ให้เขียนได้เท่านั้น เขาเห็นว่า ก ข ค ฆ เปนตัวเดียวกัน หรือ จ ฉ ช ญ ก็เปนตัวเดียวกัน ตามที่ว่าเช่นนี้ก็มีเขมรและมอญเข้ามารับรอง คือ เขมรอ่าน ก ข ว่า กอ คอ ครั้นถึง ค ฆ เขาอ่านว่า โก โค มอญอ่าน ก ข ว่า กะ ขะ อ่าน ค ฆ ว่า เกิยะ เขิยะ เขาจัดเปนสองคู่ คู่หน้าว่าเปนโฆษะ คู่หลังว่าเปนอโฆษะ แปลว่าก้องและไม่ก้อง ก็คือรับรองว่าเปนตัวเดียวกัน ต่างแต่เสียงก้องและไม่ก้องเท่านั้น เปนการต่างกันแต่เล็กน้อย

พยัญชนที่เราใช้สับสนกันมีมาก เช่น กำจร=ขจร ฉะเพาะ=จำเพาะ ฉลาก=สลาก สะพาย=ตะพาย เปนต้น ไม่มีอะไรจะช่วยได้แม้จะบัญญัติปทานุกรมไว้ก็ช่วยไม่ได้ พวกมากต้องลากไป เช่นคำ “ประณีต” มีบัญญัติไว้มั่นคงในปทานุกรมแล้ว แต่คนไม่เขียนตาม เขียนเสียเปน “ปราณีต” ถ้าใครไม่เขียนเช่นนั้นไปมัวตามปทานุกรมอยู่ก็ไม่เปนคน ยังคำอื่นอีก เช่น เรียกผัดว่าผลัด เรียกเรือนว่าบ้าน เรียกผนังว่ากำแพง ไม่ใช่ว่าคำเหล่านี้ใช้ผิดแต่พูดกัน แม้ในหนังสือสำคัญทีเดียวก็ใช้พูดไปเวียนหัว

เรื่องปราสาทมีประหลาดใจอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งคนไทยที่เปนนักเรียนภาษาอังกฤษเขาแปล Castle ว่าเปนปราสาท เขาเพ่งเอาอะไรเปนที่หมายไม่ทราบ ตามที่ทรงพระดำริไปถึงการภายหน้าของชายไสนั้น เบนพระเดชพระคุณล้นพ้น เปนพระดำริโดยพระทัยหวังดีด้วยอำนาจพระกรุณา แต่กลัวจะเปนไปไม่ได้ สังเกตว่าชายไสเปนคนอ่อนแออยู่มาก

ข้อที่ตรัสแจ้งถึงผลแห่งการเล่นแสดงตำนานฉลองเกาะปินังนั้นจับใจมาก จริงอยู่ควรที่พวกแขกพวกจีนจะไม่พึงใจ

อ่านพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ ได้ความรู้อย่างละเอียดดีที่สุดในเรื่องสังฆมณฑลเมืองพะม่า ซึ่งยังไม่เคยพบเคยฟังที่ไหนมาก่อนเลย

ในการบวชเณรบวชพระแบ่งเปนคนละตอนนั้น มาเข้ารูปถูกกับที่เกล้ากระหม่อมสงสัย และเคยคิดว่าจะเปนเช่นนั้น เหตุด้วยมีคำถามว่า “โกนาม เตอุปชฺฌาโย” อุปัชฌาย์ก็นั่งดนโด่อยู่นั้นแล้วถามทำไม จึงเข้าใจว่าถามถึงอุปัชฌาย์ซึ่งบวชเณรให้แต่ไหนมานแล้ว เราเอามาควบเข้าเปนพิธีเดียวจึงดูเขินไป

รูปฉายการบวชนาคของพะม่าซึ่งโปรดประทานไป สงสัยรูปบอกนุสาสน์เปนอันมาก ทำไมพระบวชใหม่จึงนั่งหันหลังให้พระอุปัชฌาย์ผู้สอนแล้วก็ไม่ประณมมือ ดูไม่เปนคารพไม่เปนฟังคำสั่งสอนเลย จะเปนประเพณีของเขาอย่างนั้นหรือช่างชักรูปจะไปจัดให้นั่งตามใจที่เห็นว่าจะถ่ายรูปได้งาม ความเชื่อหนักไปทางข้างช่างชักรูปจัดพระอุปัชฌาย์นั่งท่ามารวิชัย นึกมาจากพระพุทธรูปตั้งซ้อน ๆ กัน

ฟังตรัสเล่าถึงพระพะม่าออกรับบิณฑบาตรสาย ทำให้นึกถึงพระครูอเนกสาวัณ (แขก) ที่วัดบวรนิเวศ ท่านออกรับบิณฑบาตรสายอย่างเอก แต่แรกก็นึกสงสัยว่าท่านจะไปหาอาหารบิณฑบาตรได้ที่ไหน เพราะเปนเวลาเขาเลิกใส่กันหมดแล้ว แต่ครั้นมาถึงตัวเองเข้าจึงเข้าใจ เมื่อเกล้ากระหม่อมบวชออกเที่ยวรับบิณฑบาตรอย่างพระทั้งปวงเสมอ แต่ไม่ได้ประสงค์อาหารเปนหลักประสงค์จะเดินยืดแข้งยืดขา แต่แรกก็ไปตามเวลาที่พระท่านไปกัน แต่ครั้นทายกที่ใจบุญเขาเห็นหน้าจำได้ว่าไปเสมอ เขาก็กรุณาจัดอาหารไว้ให้เปนพิเศษมีเข้าตวงไว้เต็มชามเท่ากับขันเท แล้วมีกับเข้าคาวหวานให้พร้อมพอกินได้อิ่มจริงๆ และจะไปเวลาไรก็คงได้มาเช่นนั้นเสมอ โดยที่ได้อติเรกลาภเช่นนั้นย่อมก่อเหตุให้ไปสาย ด้วยจงใจจะไปให้ถึงทายกผู้ซึ่งเขามีใจกรุณาจัดอาหารไว้ให้นั้น ถ้าไปตามเวลาพระบิณฑบาตรก็มักถูกทายกรุมใส่ ยิ่งเปนวันพระด้วยแล้ว พอเดินพ้นวัดไปหน่อยก็เต็มบาตรต้องกลับ ทำให้เสียศรัทธาของทายกที่เขาจงใจจัดไว้ให้นั้นคอยค้าง อีกประการหนึ่งยังมีพระซึ่งประพฤติตัวดังอีกา เที่ยวแย่งรับอาหาร พอเขานำออกมาด้วยตั้งใจจะให้แก่เรา เรามัวรักษากิริยาที่เข้าไปรับโดยแช่มช้า แกอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบแต่ผลุดเข้าไปเปิดบาตรเสียก่อนแล้วทายกก็ต้องใส่ให้เพราะการใส่บาตรเปนสาธารณะ ส่วนเราเก้อ ตามที่กราบทูลมานี้แหละเปนเหตุให้ไปสาย เพื่อหลบหลีกพวกทายกที่ใส่บาตรเปนสาธารณะโดยปกตินั้นอย่างหนึ่ง และหลบหลีกพระที่ประพฤติตัวเปนอีกาอีกอย่างหนึ่ง ด้วยพ้นเวลาของเขาแล้ว วันหนึ่งมีเรื่องซึ่งเกล้ากระหม่อมจำได้ไม่ลืม เวลาเช้าสัก ๒ โมงได้ เกล้ากระหม่อมฉวยได้บาตร พอเดินออกประตูวัดก็พบพระปลัดหรั่ง (ซึ่งภายหลังเปนพระครู ชื่อบรรดาศักดิจำไม่ได้) ท่านเดินกลับจากบิณฑบาตรจะเข้าวัด สวนกันที่ประตูวัด ท่านหัวเราะเยาะเพราะชอบกัน เกล้ากระหม่อมรู้สึกกระดาก ครั้นไปรับอาหารได้แล้วก็เดินกลับวัด พอถึงประตูวัดก็สวนกับพระครูอเนก (แขก) เพิ่งออกจากประตูวัด เวลานั้นเห็นจะเปน ๓ โมงเช้ากว่าแล้ว จึงทำให้เข้าใจได้ว่าที่ท่านไปสายนั้น ไปรับอาหารที่เขาแต่งเตรียมไว้ให้ เท่ากับไปรับปิ่นโตเท่านั้นเอง

ที่ทางพะม่ามี เถร ปะขาว รูปชี อีก ๓ พวกก็ตรงกับเรา แต่ที่เอาชื่อ “ฤษี” ไปตั้งให้แก่พวกกินเดนนั้นดูไม่เหมาะเลย ทำให้คำฤษีมีศักดิต่ำไป พวกนั้นก็รื่นรมณ์เลยทำชฎาใส่เหมือนฤษีละคอนให้สมชื่อเสียด้วย พอดีกัน แม้เราที่ตั้งชื่อพวกนั้นเรียกว่า “เถร” ก็ไม่เหมาะเหมือนกัน ทำให้คำเถรต่ำศักดิไปที่ทูลกระหม่อมทรงพระราชดำริแก้เปน “เถน” ก็เปนขอไปที ถ้าแปลความก็ติดจะเปนลงโทษหนักมืออยู่สักหน่อย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ