เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ ท่อน ๔

วันอาทิตย์ที่ ๒๖ มกราคม ตอนเช้าเข้าไปดูปราสาทราชวังที่ในเมืองมัณฑเล

ฉันได้กล่าวมาแล้วว่าเมืองมัณฑเลสร้างตามแผนผังเมืองอมรบุระและเมืองอมรบุระสร้างตามแผนผังเมืองหงสาวดี ยังมีวินิจฉัยของพวกนักปราชญ์โบราณคดีต่อไปอีก ว่าเมืองที่สร้างอย่างนี้ทำตามแบบนครราชธานีในอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ มอญพะม่าหาได้คิดขึ้นใหม่ไม่ เขาอ้างคำมาโคโปโลชาวอิตาลีพรรณนานครราชธานีจีนเมื่อสมัยอุบไลข่าน ตามคำพรรณนานั้นเห็นได้ว่าแผนผังราชธานีจีน ก็เปนทำนองเดียวกันกับเมืองมัณฑเล และชี้ต่อไปถึงเมืองราชธานีโบราณที่ซากยังปรากฎอยู่คือนครธมในประเทศกัมพูชาเปนต้น ว่าแผนผังก็เปนทำนองเดียวกันกับเมืองมัณฑเลคือ แนวกำแพงเมืองเปน ๔ เหลี่ยมจตุรัส ตั้งราชวังที่ตรงศูนย์กลา งเมืองเหมือนกัน มีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งนครราชธานีแต่โบราณเหมือนกันหมด คือที่ถมดินขึ้นเปนเนิน แล้วสร้างปราสาทราชมณเฑียรด้วยเครื่องไม้ที่บนเนินนั้น แต่ที่อื่นฯ ปราสาทราชมณเฑียรของเดิมสูญไปเสียหมดแล้ว ยังเหลือแต่ฐานที่พูนดินปรากฏอยู่ (ในเมืองไทยเราก็มีรอยพูนดินเรียกว่า “เนินปราสาท” ปรากฎอยู่ที่วังสนามจันทรเมืองนครปฐม และที่วังเมืองสุโขทัย เพราะแต่โบราณปราสาทราชมณเฑียรก็สร้างด้วยไม้เหมือนกัน) เขาว่าคูเมืองโบราณแห่งอื่นรู้ไม่ได้ว่าปราสาทราชมณเฑียรรางแผนผังอย่างไรยังมีแต่ที่เมืองมัณฑเลแห่งเดียว ถึงกระนั้นราชวังในเมืองมัณฑเลเวลานี้ก็แปลงแปลกกับของเดิมเสียมาก เพราะถูกแก้ไขรื้อแย่งในระวางเวลาเมื่ออังกฤษสิ้นอาลัยอยู่ถึง ๑๕ ปีดังกล่าวมาแล้ว แต่มีแผนผังราชวังเมืองมัณฑเลซึ่งอังกฤษทำเมื่อแรกได้เมืองพะม่า พิมพ์ไว้ในหนังสืออภิธานพะม่าเหนือด้วยกันกับอธิบาย (ที่ฝรั่งรู้) จะเก็บเนื้อความมาพรรณนาต่อไปนี้

ราชวัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แนวกำแพงวังแต่เหนือไปใต้ยาวราว ๓๗๑ วา (๒๒๒๕ ฟุต) ทางตะวันออกไปตะวันตกแคบกว่าหน่อยหนึ่งเพียงราว ๓๕๔ วา (๒๑๒๕ ฟุต) กำแพงวังชั้นนอกปักซุงไม้สักสูง ๓ วาเศษ (๒๐ ฟุต) เปนระเนียด ต่อระเนียดเข้าไปได้เปนที่ว่างทางพวกรักษาวังเดินกว้างประมาณ ๑๖ วา (๑๐๐ ฟุต) แล้วมีกำแพงก่ออิฐถือปูนอีกชั้นหนึ่งสูงราว ๙ ศอก (๑๔ ฟุต) มีประตูวังทางบกด้านละประตู ด้านเหนือมีประตูน่าสำหรับเปนทางเรืออีกประตูหนึ่ง ในกำแพงเข้าไปมีกำแพงแบ่งเขตต์วังเปนชั้นนอกชั้นกลางและชั้นใน ไว้ที่เปนลานวังชั้นนอกตลอดด้านหน้า (ทำนองเดียวกับพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ นี้) สถานที่ราชการต่างๆ บรรดาที่เอาไว้ในวังอยู่ในลานชั้นนอกโดยมาก จะพรรณนาแต่ที่เปนสิ่งสำคัญ คือ สองข้างประตูวังด้านหน้า (อย่างประตูวิเศษไชยศรี) มีหอสูงก่อด้วยอิฐ ๒ หอ เรียกว่า “หอพระเขี้ยวแก้ว” (ได้พรรณนามูลเหตุที่สร้างไว้ในตอนตำนานเมืองหงสาวดีแล้ว) อยู่ทางข้างขวาหอหนึ่ง หอนาฬิกา (จะกล่าวอธิบายกับสิ่งอื่นอันอยู่ในวังตอนนี้ต่อไปข้างหน้า) อยู่ทางข้างซ้ายหอหนึ่ง มีศาลาลูกขุน พะม่าเรียกว่า “หลุตดอ” Hlutdaw อยู่กลางหลังหนึ่ง ต่อไปข้างฝ่ายเหนือมีหมู่มณฑปที่ “ประดิษฐาน” พระศพพระเจ้ามินดงกับพระมเหษี ข้างฝ่ายใต้มีวัดสังฆาวาสจำลอง Model พระเจ้าสีป่อสร้างไว้เปนอนุสสรณ์เฉลิมพระเกียรติ นอกจากสิ่งซึ่งกล่าวมานี้ มีโรงแสงสรรพยุทธ โรงกสาปน์ โรงพิมพ์ โรงไปรษณีย์ ล้วนอยู่ในลานวังชั้นนอกตอนนี้ทั้งนั้น ปลูกรายหันไปตามริมกำแพง สถานต่างๆ ที่กล่าวมาบางแห่งควรจะกล่าวอธิบายไว้ในหนังสือนี้ด้วย คือ

หอนาฬิกานั้น ว่าในห้องชั้นล่างมีกะลามะพร้าวเจาะก้นลอยน้ำไว้ เมื่อกะลาจมหนหนึ่งนับเวลาเปนนาฬิกาหนึ่ง ข้อนี้เหมือนกับประเพณีในเมืองไทยเราแต่โบราณที่ใช้อย่างเดียวกัน และอาจบอกต่อไปได้ว่าเอาแบบมาจากอินเดีย เพราะคำที่เรียกว่า “นาฬิกา” เปนภาษามคธหมายความว่า “กะลามะพร้าว” มีเปนสำคัญอยู่ ชั้นยอดหอนาฬิกานั้นทำเปนมณฑปโถง แขวนกลองใบ ๑ ฆ้องใบ ๑ สำหรับตีบอกเวลาแก่ชาวพระนคร แต่วิธีตีดูเหมือนผู้แต่งอภิธานจะไม่รู้ อันจะทะนงบอกอธิบายว่ากลางวันตีฆ้องกลางคืนตีกลอง เพราะมีหลักอยู่ในคำพูดของไทยเราเรียกกำหนดเวลากลางวันว่า “โมง” ตามเสียงฆ้อง เรียกกำหนดเวลากลางคืนว่า “ทุ่ม” ตามเสียงกลอง คงเปนเพราะแต่โบราณไทยเราก็ใช้ฆ้องกับกลองตีบอกเวลาอย่างเดียวกันกับพะม่า

ศาลาลูกขุนที่พะม่าเรียกว่า “หลุตดอ” นั้น สร้างติดกับกำแพงวังด้านในที่ตรงหน้ามหาปราสาท เห็นจะมีประตูลับสำหรับเปนทางเสด็จออกด้วย เพราะมีอธิบายว่าที่ในศาลาหลุตดอนั้นมีรัตนสิงหาสน์ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินประทับเปนประธานในที่ประชุม (เมื่อ ลอร์ด เคอสัน ปฏิสังขรณ์ราชวัง ศาลาหลุตดอชำรุดซวดเซเหลือที่จะซ่อมจึงสั่งให้รื้อเสีย แต่รัตนสิงหาสน์ในนั้น เอาไปคุมรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานเมืองกาลกัตตา)

เมื่อกล่าวถึงหลุตดอ ควรจะกล่าวต่อไปถึงวิธีบังคับราชการเมืองพะม่าอย่างโบราณตามอธิบายที่มีอยู่ในหนังสืออภิธานพะม่าเหนือด้วย เพราะจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ซึ่งจะเล่าในที่อื่นต่อไปข้างหน้า วิธีปกครองของพะม่าอ้างเอาหนังสือ “โลกพยุหะ” Lauwka Bayuha เปนตำรา แต่หนังสือนั้นฉันไม่เคยเห็น และไม่ทราบว่าจะได้แปลเปนภาษาอังกฤษแล้วหรือยัง กำหนด (ลูกขุน) หัวหน้าข้าราชการเปน ๒ แผนก คือสำหรับราชการแผ่นดินแผนก ๑ สำหรับราชการในราชสำนักแผนก ๑ ศาลา (ลูกขุน) หลุตดอเปนที่ประชุมพวกหัวหน้าในแผนกราชการแผ่นดิน (อังกฤษเรียกพวกนี้ว่า Ministers) ยังมีศาลาในลานวังชั้นกลางใกล้ราชมณเฑียรอีกแห่งหนึ่ง เรียกว่า “บายเดก” Bye Daik เปนที่ประชุมพวกหัวหน้าราชการส่วนราชสำนัก (อังกฤษเรียกพวกนี้ว่า Privy Councillors) สองพวกนี้พิเคราะห์ดูจะตรงกับ “เสนาบดี” และ “มนตรี” ของไทยเราจะเรียกอย่างไทยต่อไปให้เข้าใจง่าย

เสนาบดีนั้น พะม่าเรียกว่า “วุนคยี” Wungyi (ไทยเราเรียกว่า “หวุ่นกี้”) มี ๔ คน เปนผู้กำกับราชการกระทรวงต่างๆ (ดูจะตรงกับตำแหน่งจตุสดมภ์ เมือง วัง คลัง นา ในทำเนียบเดิมของไทยเราเมื่อชั้นก่อนมีอัครมหาเสนาบดีมหาดไทยและกลาโหม) ถ้าประชุมกันทั้ง ๔ คน เปนสภาสูงสุดในเมืองพะม่า รองเสนาบดีลงมามีขุนนางผู้ใหญ่ขั้น “วุน” Wun อีก ๒ คน พะม่าเรียกว่า “มยินสุคยี” Myinsugyi อธิบายว่าเปนนายทัพม้าคน ๑ เรียก “อสีวุน” Athiwun (อะแซหวุ่นกี้ที่เปนแม่ทัพมาตีเมืองไทยเปนตำแหน่งนี้ แต่เพิ่มยศให้เสมอเสนาบดี) ผู้บัญชาการเกณฑ์พลคน ๑ แล้วถึงปลัดกระทรวง พะม่าเรียกว่า “วุนทอก” Wundauk เปนผู้ช่วยเสนาบดีอีก ๔ คน รวม ๑๐ คนนี้เปนสมาชิกปรึกษาราชการในศาลาลูกขุน แต่เสนาบดีทั้ง ๔ เปนผู้ชี้ขาด มนตรีนั้น พะม่าเรียกว่า “อัตคินวุน” Atkinwun มี ๔ คน เปนที่ปรึกษาส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ราชการทั้งปวงต้องผ่านทางศาลาลูกขุนหมดทุกอย่าง เปนต้นว่าตั้งพระราชกำหนดกฎหมายก็ดี สั่งบังคับราชการบ้านเมืองก็ดี พิพากษาคดีชั้นที่สุดก็ดี พระเจ้าแผ่นดินจะทรงตั้งยศศักดิ์ หรือจะลงพระราชอาชญาและจะตรัสสั่งราชการพิเศษอย่างใดก็ดี สภาเสนาบดีเปนพนักงานประทานสั่งทุกอย่าง ว่าโดยย่อสภาเสนาบดีเปนหลักราชการของประเทศพะม่า เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงเสด็จประทับเปนประธานในที่ประชุม แต่เมื่อถึงสมัยพระเจ้ามินดง ชั้นแรกมักโปรดให้พระมหาอุปราชเปนประธานแทนพระองค์เมื่อไม่มีพระมหาอุปราชแล้ว โปรดให้เสนาบดีคนใดคนหนึ่งซึ่งไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าเพื่อนเปนประธาน เพราะโดยปกติทั้งเสนาบดีและมนตรีมีเวลาเข้าเฝ้าถึงพระองค์ทุกวัน เห็นไม่จำเปนจะต้องเสด็จออกที่ศาลาลูกขุน เลยเปนเช่นนั้นมาจนตลอดรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ

มณฑปที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้ามินดงนั้น ตามอธิบายที่ทราบจากพะม่า ว่าการปลงศพในเมืองพะม่านั้นถ้าเปนบุคคลจำพวกอื่นฝังศพทั้งนั้น เว้นแต่ “พระ” กับ “เจ้า” จึงเผาศพ ประเพณีปลงพระศพพระเจ้าแผ่นดินแต่ชั้นเดิม เมื่อถวายพระเพลิงแล้วเอาพระอัษฐิธาตุทิ้งน้ำแล้วก่อพระเจดีย์ขึ้นไว้เปนอนุสสรณ์ตรงที่ปลงพระศพ ต่อมาเปลี่ยนประเพณีเดิม เปนเอาพระอัษฐิธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่สร้างเปนอนุสสรณ์ (แล้วแต่จะสร้างพระเจดีย์ขึ้น ณ ที่ใดตามสดวก) ถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงเมื่อพระอัครมเหษีทิวงคต (ก่อนพระเจ้ามินดงสวรรคตสัก ๒ ปี) พระเจ้ามินดงทรงอาลัยมาก ถึงทรงขาวไว้ทุกข์มาจนตลอดพระชนมายุและไม่ทรงตั้งผู้อื่นแทน ส่วนพระศพนั้นพระราชทานเพลิงที่ในราชวัง แล้วให้สร้างมณฑปบรรจุพระอัษฐิไว้ที่ในลานวังชั้นกลางใกล้กับพระราชมณเฑียรทางด้านใต้ และให้สร้างพระที่นั่งขึ้นองค์หนึ่งสำหรับไปประทับทรงศีลที่ริมมณฑปนั้น เนื่องมาแต่งานพระศพพระอัครมเหษีนั้น พระเจ้ามินดงตรัสสั่งสำหรับพระศพของพระองค์เองว่าไม่ต้องถวายพระเพลิง ให้สร้างมณฑปบรรจุพระศพไว้ในราชวังอย่างเดียวกับพระอัษฐิพระอัครมเหษี พระเจ้าสีป่อจึงต้องทำตาม แต่ให้สร้างพระมณฑปนั้นที่ลานพระราชวังชั้นนอก เห็นจะให้เปนสง่าและสดวกแก่มหกรรมที่ทำเปนงานใหญ่ แต่นั้นก็เลิกประเพณีถวายเพลิงพระศพเจ้าสืบมา พวกพะม่าถือว่าการที่บรรจุพระศพไว้ในมณฑป เหมือนกันกับบรรจุพระอัษฐิธาตุไว้ในพระเจดีย์มิใช่ฝังพระศพ

วัดสังฆาวาสจำลองนั้น สร้างในลานราชวังชั้นนอกข้างฝ่ายขวาเปนคู่กับมณฑปที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง ที่ตรงสร้างวัดจำลองนี้เดิมเปนสถานที่ประชุมพระสงฆ์ครั้งพระเจ้าสีป่อเสด็จเข้าแปรพระปริยัติธรรมได้เปนเปรียญเมื่อทรงผนวชเปนสามเณร ผิดกับลูกเธอของพระเจ้ามินดงองค์อื่น ๆ จึงสร้างวัดจำลองไว้เปนอนุสสรณ์เฉลิมพระเกียรติ ฝีมือทำงามมากทั้งส่วนสัดรูปทรง และกระบวรจำหลักปิดทองล่องชาดประดับกระจก

ประตูวัง รูปร่างเปนอย่างไรไม่มีจะดูแล้ว ปรากฏแต่ว่าประตูเข้าวังชั้นกลาง (อย่างประตูพิมานไชยศรีในกรุงเทพฯ นั้น) ทางกลางเข้าออกได้แต่พระเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช ผู้อื่นต้องเดินทางประตูข้าง (ดูน่าสันนิษฐานว่าจะมีบานใหญ่และบานเล็ก อย่างประตูพระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯ นั่นเอง)

ในราชวังชั้นกลาง ด้านหน้าตรงเนินปราสาทเปนสนาม (อย่างตรงหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท) ว่าสำหรับมีการกีฬา Sports พิเคราะห์เข้ากับกฎมณเฑียรบาลไทย พอเข้าใจได้ว่าเปนที่สำหรับพวก “มงครุ่มซ้ายขวากุลาตีไม้” เล่นเวลาเสด็จออกงานพิธีใหญ่ และสำหรับเล่น “สรรพกิฬา” ในเวลาอื่น ในลานด้านหน้านั้นริมกำแพงมีทิมพลรายตลอด มีโรงช้างต้นสกัดด้านหนึ่งโรงม้าต้นสกัดด้านหนึ่ง หลังโรงข้างต้นมีกำแพงกันที่เปนแปลงต่างหาก บอกอธิบายในแผนผังว่าเปนโรงไว้ราชรถ แต่สันนิษฐานว่าคลังไว้ของหลวงต่างๆ ก็เห็นจะอยู่ในที่แปลงนี้ด้วย ทางข้างหลังโรงม้าต้นก็มีที่กันเปนแปลงหนึ่งต่างหาก ในที่แปลงนี้สร้างมณฑปที่บรรจุพระอัษฐิพระอัครมเหษี และพระที่นั่งทรงศีลของพระเจ้ามินดง ต่อนั้นไปอีก (ฉันไม่ได้ไปดู) ในแผนผังบอกแต่ว่ามีพระเจดีย์ Pagoda แต่พิเคราะห์ในพงศาวดารปรากฎว่าราชบุตรองค์หนึ่งกับราชธิดาองค์หนึ่ง ของพระเจ้าสีป่อกับนางราชินีสุปยาลัตออกทรพิษสิ้นพระชนม์ในคราวเดียวกัน ๒ องค์ให้บรรจุศพที่ในราชวัง จึงสันนิษฐานว่าคงสร้างมณฑปที่บรรจุตรงนั้นเอง ลานวังชั้นกลางตอนต่อไปทางด้านข้างล่างปราสาท มีโรงช้างเผือกอยู่ใกลับริเวณปราสาททั้ง ๒ ข้าง ต่อไปข้างขวาเปนคลังมหาสมบัติและสถานที่ประชุมมนตรี ทางข้างซ้ายในแผนผังลงแต่ว่าที่ข้าราชการอยู่ ลานวังชั้นกลางต่อไปข้างหลังเปนสวนขวาข้างหนึ่งสวนซ้ายข้างหนึ่ง กว้างใหญ่ทั้ง ๒ สวนจนตลอดกำแพงสวนทั้ง ๒ แห่งนั้นเดิมมีสระน้ำลำคลองและตำหนักที่ประทับ กับทั้งสวนดอกไม้ก่อภูเขาเปนที่เสด็จออกประพาสกับนางใน ชั้นกลางทางด้านหลังเปนที่อยู่ของพนักงานรักษาราชวังมีแต่ตอนกลางไม่ตลอดทั้งด้าน ที่ฉันพรรณนาวังชั้นนอกและชั้นกลางดังกล่าวมา ว่าตามอธิบายและแผนผังที่มีอยู่ในหนังสืออภิธานพะม่าเหนือ ถ้าว่าตามตาเห็นเองเกือบไม่มีอะไรจะเล่า เพราะรื้อสูญไปเสียเกือบหมดแล้ว นอกจากปราสาทราชมณเฑียรของอื่นยังเหลืออยู่ไม่กี่สิ่ง แรกไปถึงราชวังแลเห็นแต่ระเนียดไม้ซุงซึ่งเคยเปนกำแพงวังชั้นนอกมีเหลืออยู่สักหน่อยหนึ่ง พอรู้ว่าเขตต์วังของเดิมอยู่ตรงแนวระเนียดนั้น กำแพงและประตูวังไม่มีอะไรเหลือแลดูโล่งโถงไปหมด เดินต่อเข้าไปเห็นหอสูงก่อด้วยอิฐ ๒ หอ ผู้นำทางเขาบอกว่าหอพระเขี้ยวแก้วหอหนึ่งหอนาฬิกาหอหนึ่ง ถ้าไม่ได้ศึกษาแผนผังไปก่อนก็รู้ไม่ได้ว่าอยู่สองข้างประตูวัง ต่อนั้นเลี้ยวไปทางข้างใต้ถึงที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง ทำเปนมณฑปก่ออิฐถือปูนปั้นลวดลายและปิดทองประดับกระจกทั้งองค์ มีกำแพงแก้วแล้วถึงรั้วไม้ล้อมรอบเปน ๒ ชั้น ต่อออกมามีมณฑปขนาดย่อมที่บรรจุพระศพอื่นอีก ๓ หลัง หลังหนึ่งเปนมณฑปหลังคาเครื่องไม้บรรจุพระศพอัครมเหษีของพระเจ้าสารวดี อันเปนพระชนนีของพระอัครมเหษีพระเจ้ามินดง อีกหลังหนึ่งเปนมณฑปก่ออิฐถือปูนปั้นลวดลาย รัฐบาลอังกฤษให้สร้างบรรจุพระศพนางอเลนันดอมเหษีของพระเจ้ามินดง อันเปนพระชนนีของพระราชินีสุปยาลัต อีกหลังหนึ่งก็เปนมณฑปหลังคาเครื่องไม้ เห็นจะบรรจุศพของพระราชเทวีหรือพระอัครชายาของพระเจ้ามินดง ที่สิ้นชีพในรัชชกาลพระเจ้าสีป่อ เมื่อว่าถึงที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง เห็นน่าชม ลอร์ด เคอสัน อีกครั้งหนึ่งที่สั่งให้ปฏิสังขรณ์ใหม่ให้งามเหมือนแต่เดิม แลดูยังเปนสง่าอยู่จนทุกวันนี้ เมื่อไปถึงวัดสังฆาวาสจำลองของพระเจ้าสีป่อ ซึ่งอยู่ตรงกันกับมณฑปที่ไว้พระศพอีกฝ่ายหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว พอเห็นก็เกิดสังเวช ด้วยทิ้งให้ชำรุดทรุดโทรมจวนจะหักพัง ถึงเครื่องบนหล่นร่วงลงมาบ้างแล้ว เห็นจะเปนด้วยรัฐบาลเห็นว่ามิใช่ของสำคัญ และการที่จะปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิมจะสิ้นเปลืองมากนัก จึงทิ้งให้สิ้นอายุไปเอง อีกสักสี่ห้าปีใครไปเมืองมัณฑเลก็น่าจะไม่ได้เห็นวัดที่ว่านี้ ของเดิมที่ในลานวังยังเหลืออยู่อีกสิ่งหนึ่งคือสวนขวา แต่เอาไว้ฉะเพาะตอนสวนดอกไม้ในบริเวณของพระที่นั่งเย็น ที่พระเจ้าสีป่อเสด็จออกรับแม่ทัพอังกฤษเมื่อจะเอาพระองค์ไปจากเมืองพะม่า ได้ยินว่าเมื่ออังกฤษเอาราชวังเปนที่ทำราชการทำแผ่นโลหะจารึกบอกเรื่องติดไว้ที่พระที่นั่งเย็นนั้น แต่เดี๋ยวนี้สูญไปหมดแล้วทั้งตัวพระที่นั่งเย็นและแผ่นจารึกนั้น ยังเหลือแต่สวนดอกไม้กับภูเขาที่ก่อปั้นเปนเครื่องประดับ (อย่างเลวไม่น่าดูเลย) สถานต่างๆ ที่เปนของเดิมในราชวังเมืองมัณฑเล นอกจากปราสาทราชมณเฑียรที่จะพรรณนาต่อไปข้างหน้า ยังเหลืออยู่เพียงเท่าที่กล่าวมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ