วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันเสาร์ ที่ ๑๗ นี้ ชายใหม่กลับจากปีนังไปหา เชิญลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒๕ ไปให้ ลายพระหัดถ์นั้นประกอบด้วยพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพะม่า พร้อมทั้งรูปฉาย ๔ แผ่น ได้รับไว้แล้วด้วยความยินดีเปนล้นเกล้า

เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า ที่ทรงพระเมตตาโปรดอำนวยพระกุศลผลบุญในการทรงบำเพญพระกุศลฉลองพระชนมายุและฉลองพระนาคปรกประทานไป ขอถวายอนุโมทนาในพระกุศลราศีซึ่งทรงบำเพญไปแล้วนั้น

“โส อตฺถลทฺโธ สุขิโต วิรุฬโห พุทฺธสาสเน
อโรโค สุขิโต โหหิ สห สพฺเพหิ ญาติภิ”

ฟังตรัสเล่าถึงพระนาคปรกรู้สึกเห็นชอบกล วนเวียนกลับมาอยู่กับฝ่าพระบาทได้เหมาะเจาะหนักหนา พระพุทธรูปองค์นั้นเกล้ากระหม่อมก็ไม่เคยเห็นว่ามีรูปพรรณสัณฐานเปนประการใด แต่ชื่อนั้นสดุดใจพาให้กราบทูลความข้องใจเพื่อฟังพระวิจารณ

อันพระนาคปรกนั้น ที่เคยเห็นมาก็เปนฝีมือเขมรทั้งนั้น มีฝีมือไทยก็เปนของใหม่ เชื่อว่าทำเอาอย่างเขมร ที่เปนของมาแต่อินเดียยังไม่เคยสังเกตเห็นเลย จะเปนของเขมรคิดทำขึ้นหรืออย่างไร

ที่เราปรับกันว่าเปนสัตตมหาฐานที่ ๖ ปางพระยามุจลินทนาคราชมาขดล้อมแผ่พังพานปกกันฝนถวาย จนถึงสมัยหลังได้ทำแก้กันเปนเช่นนั้น ยังผลให้เห็นพระพุทธรูปแต่เพียงพระพักตร์ ไม่มีความงามสง่าน่าดูอยู่ที่ไหนเลย เกรงว่าจะเปนการปรับผิด ความคิดท่านผู้สร้างเดิมท่านจะหมายทำเปนรูปพุทธาวตารเสียดอกกระมัง นั่งบนขนดงูก็คือ “เอางูเปนแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน” นั่นเทียว

เรื่องพระบรมอัฏฐินั้นเกล้ากระหม่อมก็อึดอัดใจ คิดไม่ออกว่าทำประการใดจะดี จึงได้ทูลปรึกษามา ตามที่ทรงตั้งพระทัยจะประทานพระดำริเข้าไปวันจันทร์นั้น แม้ว่าประทานเข้าไปก็เปนโอกาศที่จะถึงมือเกล้ากระหม่อมได้ก่อนไปศรีมหาราชา แต่ว่าไม่ใช่การเร่งร้อนอะไร จะประทานเข้าไปช้าหน่อยก็ได้

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานเข้าไปคราวนี้ อ่านแล้วทำให้มีความเห็นเกิดขึ้นหลายข้อ จะรีบร้อนเขียนถวายมาก็จะมีบกพร่องด้วยตรองไม่ทัน ขอประทานพักไว้เขียนถวายในคราวหน้าต่อไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ