วันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร (๒)

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๓ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๙ สิงหาคมแล้วพระวินิจฉัยศัพท์ “สังกทัต” นั้นถูกเปนแน่นอน น่าเขียนพระวินิจฉัยนั้นลงกระดาดเผาไฟส่งไปทูลเสด็จพระอุปัชฌาย เดิมคงอ่านว่า “สังกระทัต” ต่อมาตัว “ร” หลุดหายไปจึงเหลือแต่เปน “สังกทัต”

เรื่องรูปฉายบวชพระพะม่าแผ่นที่ว่า บอกอนุสาสน์ ซึ่งทรงสงสัยว่าจะมิใช่บอกอนุสาสน์นั้น หม่อมฉันก็คิดสงสัยมาแต่แรก ดูจะเปนฉายไว้เปนที่ระลึกเมื่อบวชเสร็จแล้วพระจึงห่มคลุม อุปัชฌายนั่งบนธรรมาสน์พระสงฆ์คณะปรกยืนและตัวภิกษุบวชใหม่นั่งตรงหน้าธรรมาสน์ หันหน้าออกมาข้างนอกด้วยกันทั้งนั้น แต่ในรูปที่เจ้าของเขาให้มาเขาเขียนไว้ข้างล่างว่า “First Sermon” แปลว่า “ปฐมเทศนา” หม่อมฉันไม่มีหลักอะไรที่จะไปคัดค้านตัวเขาผู้บวชเอง จึงซังตายหมายว่า “บอกอนุสาสน์” ซึ่งตรงกับปฐมเทศนาในการบวช ด้วยนึกว่าพิธีอุปสมบทของพะม่าบางทีจะทำเช่นรูปฉายนั้นก็เปนได้

เรื่อง วัดสังฆาวาส หม่อมฉันมานึกขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ว่าวัดน่าจะมีเปน ๓ อย่าง คือ พุทธาวาสอย่าง ๑ สังฆารามอย่าง ๑ สังฆาวาสอย่าง ๑ วัดในครั้งพุทธกาลดูเรียกว่า อาราม ทั้งนั้น เราแปลคศัพท์ “อาราม” ว่า “สวน” ที่จริงจะเปนที่ว่างอันเจ้าของที่มีศรัทธาถวายให้พระพุทธองค์และพระสงฆ์ทำที่อยู่ หรือเรียกอย่างง่าย ๆ ว่าให้เปน “บ้านของพระ” วัดพระสงฆ์อยู่เช่นในเมืองพะม่าน่าจะเอาอย่างสังฆาราม วัดพุทธาวาสเกิดขึ้นทีหลังพุทธกาล เปนที่ประดิษฐานอนุสสรณวัตถุแห่งองค์พระพุทธเจ้า วัดสังฆาวาสเกิดขึ้นภายหลังวัดพุทธวาส เหตุด้วยมีพระภิกษุสงฆ์ไปอยู่ประจำปฏิบัติบูชาพุทธาวาส หม่อมฉันสังเกตดูรูปฉายและแผนผังที่เขาขุดตรวจโบราณเจดียสถานในอินเดีย เช่นที่มฤคทายวันเปนต้น ดูรอยก่ออิฐเปนกุฏิมีเปนเทือกแถวทั่วไปในบริเวณพระธรรมิกเจดีย์ คือเกิดมีวัดอย่างเช่นเราทำกันชั้นหลังในเมืองไทยขึ้นอีกอย่างหนึ่ง วัดเช่นนี้น่าเรียกว่า สังฆาวาส หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้ขอให้ทรงพิจารณาดู

วัตถุที่เรียกว่า ปราสาท กับ Castle ต่างกันไกล ปราสาทหมายความว่า เรือนหลายชั้น จะเปนอย่างไรก็ได้ ถ้ามีพื้นขึ้นไปหลายชั้นก็เรียกว่าปราสาท Castle นั้นหมายความว่า เรือนสำหรับต่อสู้ศัสตรูต้องมีกำแพงและช่องทางสำหรับต่อสู้ และมีที่ไว้เสบียงอาหารกับทั้งศัสตราวุธด้วย

หม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ตอนตรัสเล่าถึงเสด็จออกบิณฑบาตเมื่อทรงผนวช ทำให้คิดขึ้นถึงวัตรปฏิบัติของพระแต่ก่อนมา ยกตัวอย่างดังการพาดผ้ากราบกันแต่ก่อน เสด็จพระอุปัชฌายตรัสห้ามมิให้พระวัดบวรนิเวศน ฯ พาดว่าเปนผ้ารองนั่งเอาขึ้นพาดบ่าเปนอาบัติทุกกฎ แต่สมเด็จพระสังฆราช ฯ ท่านให้พระวัดราชประดิษฐ ฯ พาดผ้ากราบเมื่อหม่อมฉันบวชพระยังได้พาดผ้ากราบ ครั้นต่อมาถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เลิกผ้ากราบหมดทั้งพระธรรมยุติแและมหานิกาย เมื่อเลิกผ้ากราบแล้วนั้น พระเข้าบ้านบางองค์ก็มีผ้ากราบม้วนใส่ย่ามไปสำหรับรับไทยธรรมที่ผู้หญิงถวาย แต่บางองค์ก็ไม่เอาผ้ากราบไปด้วยเวลามีผู้หญิงจะถวายไทยธรรม ต้องขอยืมผ้ากราบเพื่อนภิกษุ หรือมิฉะนั้นก็เอาผ้าเช็ดหน้าที่มักเปื้อนเปรอะลงวางรับไทยธรรม หม่อมฉันเคยรำคาญตามาหลายครั้ง ถึงเคยปรารภแก่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารยว่าควรจะบังคับให้พระสงฆ์เอาผ้ากราบใส่ยามไปด้วยในเวลาจะเข้าบ้านก็เปนแต่การพูดอย่างหัวเราะกันเล่นไม่มีผลอะไร หม่อมฉันเลยนึกต่อไปถึงประเพณีต่าง ๆ ในสงฆมณฑลที่เคยเปนมาแต่ก่อน เดี๋ยวนี้สูญหายไปเสียแล้วหลายอย่าง จะยกเปนอุทาหรณ์เรื่องหนึ่ง ในกาลครั้งหนึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิสังขรณ์วัดอรุณ ฯ แล้วเสด็จเลยไปเยี่ยมสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย (ฤทธิ) ถึงกุฏิ พระราชาคณะและถานานุกรมนั่งประชุมกันรับเสด็จที่หอสวดมนตร์ ตัวสมเด็จพระพุทธโฆษาจารยรับเสด็จอยู่ในกุฏิ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับมาตรัสเสริญว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย (ฤทธิ) ท่านรู้ธรรมเนียมเก่าแล้วประทานอธิบายต่อไป ว่าที่พระราชาคณะเฝ้ารับเสด็จอยู่ในกุฏิแต่องค์เดียวนั้นเพื่อจะให้เปนที่ระโหฐาน สดวกแก่การที่จะมีพระราชดำรัสมิให้ผู้อื่นได้ยิน เคยทอดพระเนตรเห็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ประพฤติกันมาแต่ในรัชชกาลที่ ๔ ประเพณีอย่างอื่นในจำพวกระเบียบปฏิบัติของพระสงฆ์ จะสูญเสียด้วยมิใคร่มีใครรู้กันยังมีอีกหลายอย่าง แม้จนระเบียบสวดมนตร์ งานอย่างไรควรสวดมนตร์อย่างไร ถ้าจะสวดให้สั้นควรตัดอย่างไร ถ้ามีใครอุตสาหะเขียนเปนตำราไว้จะดีมาก แต่มิใช่หม่อมฉันตั้งใจจะแต่งตำรานั้น ที่ทูลมานี้เปนจุณนีบทแห่งความปรารภที่จะทูล “ขอพระกำลัง” ต่อไป

เมื่อในรัชชกาลที่ ๕ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสหัวเมืองโดยทางชลมารคเมื่อใด ถ้าพลับพลาตั้งอยู่ใกล้วัด หม่อมฉันเคยให้ไปกระซิบบอกพระให้ประชุมสงฆ์สวดมนตร์ถวายทรงฟังในเวลาค่ำด้วยรู้อยู่ว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดทรงฟังพระสวดมนตร การนั้นก็มีผลดี พอรุ่งขึ้นคงดำรัสสั่งให้เอาปัจจัยมูลไปพระราชทานเปนบำเหน็จราว ๒๐ บาททุกแห่ง ในกาลครั้งหนึ่งเสด็จไปเมืองกาญจนบุรี ตั้งพลับพลาทางฝั่งตะวันตกที่ตำบลลิ้นช้างตรงข้ามกับวัดชัยชุมพลที่เจ้าคณะสงฆ์อยู่หม่อมฉันให้ไปกระซิบบอกตามเคย ท่านพระครูจัดแพที่หน้าวัดตรงข้ามกับพลับพลาเปนที่ประชุมสงฆ์ ถึงเวลาค่ำนำพระสงฆ์มาสวดมนตร์ ครั้งนั้นเสด็จประทับอยู่ ๓ ราตรี พระสงฆ์วัดชัยชุมพลสวดมนตร์ถวายทรงฟังจนจบภาณวาร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดมาก ตรัสสรรเสริญว่าพระสงฆ์วัดชัยชุมพลอุตส่าห์ท่องสวดมนตร์ได้ตลอดภาณวาร พระราชทานรางวัลถึงชั่งหนึ่ง หม่อมฉันเอาเรื่องนี้มาเล่าแก่พระราชาคณะ ดูเหมือนจะเปนสมเด็จพระวันรัตน (แพ) ท่านบอกว่านั่นเปนธรรมเนียมเก่าของการบวช มีกำหนดว่าพรรษาแรกจะต้องท่องสวดมนตร์เพียงนั้นๆ พรรษาที่ ๒ ต้องท่องต่อไปถึงเพียงนั้นๆ พอครบ ๓ พรรษาก็ให้สวดมนตร์ได้จบภาณวาร ดูเหมือนจะยังมีธรรมเนียมอย่างอื่นอีกที่กำหนดให้พระศึกษาเรียงตามพรรษา ประเพณีที่ว่ามาก็เห็นจะเปนอันสูญแล้ว แต่จะปล่อยให้ความรู้สูญไปด้วยก็น่าเสียดาย ในเวลานี้ดูเหมือนจะยังมีพระมหาเถระที่รู้ธรรมเนียมเก่าเหล่านั้นอยู่บ้าง หม่อมฉันอยากจะให้ท่านตรัสถามสมเด็จพระวันรัตน (แพ) หรือท่านผู้อื่นอีกหากยังมีผู้รู้ จดลงไว้เปนลายลักษณอักษร เสมอบำเพ็ญพระกุศลสักทีเปนไร

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนต่อที่ได้ถวายไปแล้ว หม่อมฉันแต่งไม่ทันส่งในคราวเมล์นี้ ขอประทานผัดไปส่งถวายคราวเมล์วันจันทรที่ ๗ กันยายนนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ