เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ ท่อน ๒

เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกาในวันที่ ๒๕ นั้น ขึ้นรถยนต์ไปส่งการ์ดเยี่ยมตอบผู้บัญชาการมณฑลและเจ้าเมืองมัณฑเล แล้วให้ขับรถไปเที่ยวดูเมือง ลงไปทางข้างใต้ตามถนนสายกลาง อันตั้งสำนักงานต่าง ๆ กับทั้งโรงเรียนและวัดวาของฝรั่ง จนสุดชานเมืองแล้วกลับย้อนขึ้นมาตามถนนอีกสายหนึ่งซึ่งเปนทำเลการค้าขาย มีรถรางและตึกแถวทั้งสองข้างทาง เมื่อถึงบ้านอู เงว ชินและพบภรรยาเขาครู่หนึ่ง แล้วให้ขับรถเที่ยวดูพระนครทางข้างนอกตลอดด้าน ไปจนถึงเชิงเขามัณฑเลอันเปนที่สุดชานเมืองทางข้างเหนือ หยุดรถลงไปเที่ยวดูวัดหลวงซึ่งสร้างไว้ที่เชิงเขาจนจวนพลบจึงกลับ ขากลับคนขับรถพาผ่านทางข้างในพระนคร แต่ไม่ได้หยุดดูอะไรเพราะใกล้มืดอยู่แล้ว เมื่อมาถึงที่พักได้รับจดหมายภรรยาผู้บัญชาการมณฑลเชิญพวกเราเลี้ยงน้ำชาวันที่ ๒๖ และได้รับจดหมายของผู้บัญชาการมณฑลบอกมาให้ทราบในทางราชการ (เข้าใจว่าตามคำสั่งของรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้ง) ว่าจะทำพิธีศราทธพรตถวายพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ ณ วัดเซนต์มารี วันที่ ๒๘ เวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา ได้จัดที่นั่งไว้สำหรับพวกเราแล้ว การที่ไปเที่ยวดูเมืองมัณฑเลบ่ายวันนี้ตัดที่เที่ยวลงอีกแห่งหนึ่ง คืองดการขึ้นยอดเขามัณฑเล เพราะไปเห็นเขานั้นสูงกว่า ๑๕๐ วา ทำทางขึ้นเปนคั่นบรรไดมีหลังคาตลอดทางจะต้องเดินขึ้นบรรไดแต่เชิงเขาหลายร้อยคั่น จึงจะถึงพระเจดียวิหารที่บนเขา คิดถึงอายุสังขารของฉันเห็นเหลือกำลังที่จะปีนให้ตลอดได้ ครั้นจะหาเก้าอี้นั่งให้คนหามขึ้นไป เมื่อรู้ว่าเจดียสถานต่างๆ ที่อยู่บนยอดเขาเดี๋ยวนี้เปนของสร้างใหม่ทั้งนั้นก็เสื่อมศรัทธา จะเล่าแต่เรื่องตำนานตามที่ได้ยินมา ว่าแต่เดิมที่บนยอดเขานั้น พระเจ้ามินดงให้สร้างวิหารมีพระพุทธรูปใหญ่แกะด้วยไม้ปิดทององค์หนึ่ง ทำเปนพระยืนชี้นิ้วพระหัตถ์ลงมาที่เมืองมัณฑเล สมมตเปนปางพยากร แต่พระพุทธรูปกับวิหารนั้นไฟไหม้เสียหมดแล้ว ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๕๔ รัฐบาลอินเดียได้พระบรมธาตุที่ขุดพบในคันธารราษฐ์ อันมีอักษรจารึกที่กรันตว่าเปนของพระเจ้ากนิษกะมหาราชบรรจุไว้ในพระเจดีย์ (เมื่อราว พ.ศ. ๕๐๐) ลอร์ด มินโต ไวสรอยผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์บอกให้พระบรมธาตุนั้นแก่ประเทศพะม่า ผู้คนพลเมืองพากันยินดีแพร่หลาย มีมหาฤาษี พะม่าเรียกว่า “ยะเสคยี” Yathe Gyi ตนหนึ่งชื่อ “อูขันตี” U Khanti ซึ่งผู้คนนับถือมาก (ฤาษีพะม่าเปนอย่างไรจะมีอธิบายที่อื่นต่อไปข้างหน้า ฤาษีตนที่ว่านี้ เห็นจะนับถือกันทำนองเดียวกับพระศรีวิชัยในมณฑลพายัพ) รับเปนหัวหน้าอำนวยการสร้างที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้นที่บนยอดเขามัณฑเลเรี่ยรายได้เงินกว่า ๗๐๐,๐๐๐ รูปีย์ เกินจำนวนเงินที่จำเปนจะต้องใช้ในการสร้างพระธาตุมณเฑียร ก็ขยายความคิดสร้างวัตถุสถานเพิ่มเติม แลดูแต่ไกลเหมือนกับมีบ้านเมืองอยู่บนเขามัณฑเลด้วยประการฉะนี้ จะพรรณนารายการที่เที่ยววันนี้แต่ว่าด้วยเมืองมัณฑเล วัดหลวงที่เชิงเขาจะรอไว้พรรณนาในวันอื่นพร้อมกับพรรณนาวัดอื่นๆ ที่ได้ไปดู

เรื่องตำนานเมืองมัณฑเลมีอยู่ในหนังสืออภิธานท้องที่พะม่าเหนือ Gazetteer of Upper Burma ที่รัฐบาลอังกฤษให้รวบรวมเรื่องพิมพ์ไว้ จะเก็บแต่เนื้อความมาแสดง ในเมืองพะม่ามีหนังสือเปนเรื่องพยากร (เรียกว่า Theiksa เห็นจะตรงกับที่ไทยเราเรียก “ทักษาพยากร”) มาแต่โบราณในหนังสือนั้นอ้างว่ากาลครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จประทับที่ยอดเขามัณฑเล มีนางยักขินีตนหนึ่งเกิดเลื่อมใสไปบูชาสักการะ พระพุทธองค์แย้มพระโอษฐ์เปนเหตุให้พระอานนท์ทูลถาม (ตามแบบตั้งต้นเรื่องพุทธพยากรต่างๆ) พระพุทธองค์จึงโปรดประทานอธิบายแก่พระอานนท์ ว่าที่ใกล้เขามัณฑเลนี้เคยตั้งราชธานีมาแต่อดีตกาลหลายครั้ง ทั้งเมื่อในสาสนาพระพุทธกกุสันโธ พระพุทธโกเวคมน์ และพุทธกัสสป แม้พระองค์เองเมื่อยังเสวยพระชาติเปนสัตว์ต่างๆ ก็ได้เคยมาอาศัยอยู่ที่เขามัณฑเลนั้น แล้วทรงพยากรต่อไปว่าเมื่อสาสนาของพระตถาคตล่วงได้ ๒๐๐๐ ปี ก็จะมีกษัตริย์มหาสมมตวงศเชื้อสายของนางยักขินีนั้นมาตั้งราชธานีที่เขามัณฑเลอีก ดังนี้พิเคราะห์คติที่อ้างพุทธพยากรต่างๆ เช่นกล่าวมา ดูน่าจะเกิดขึ้นในเมืองลังกาก่อน) แล้วจึงเอาแบบมาแต่งในประเทศเหล่านี้บ้าง แม้ในเมืองไทยเราก็มี ฉันเคยได้ยินผู้ใหญ่อ้างพุทธพยากรณทำนองเดียวกันแต่ยังเปนเด็ก จำไว้ได้หน่อยหนึ่งว่า “สมมุกจะเปนฝั่ง เกาะสีชังจะเปนท่าเรือจอด” ถึงสมัยเมื่อฉันจัดหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้เสาะหาหนังสือพุทธพยากรหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พุทธทำนาย” จะใคร่อ่านทั้งเรื่องก็เผอิญหาไม่พบ จึงรู้เพียงเท่าที่ว่ามา ส่วนตำนานการสร้างเมืองมัณฑเลนั้น ว่าเมื่อพระเจ้ามินดงยังเปนน้องยาเธออยู่ในรัชชกาลพระเจ้าปะกันมิน (ไทยเรียก “พุกามแมง”) ทรงพระสุบินครั้งหนึ่งว่าได้ทอดพระเนตร์เห็นนครใหญ่อยู่ที่เชิงเขามัณฑเล และต่อมาเมื่อเสวยราชย์แล้วทรงพระสุบินอีกครั้งหนึ่งว่าทรงช้างเผือก และช้างนั้นพาตรงไปถึงเชิงเขามัณฑเลเมื่อเสด็จลงจากหลังช้างมีสตรีสองคนชื่อ บา Ba คนหนึ่งชื่อ มอ Maw คนหนึ่งมารับจูงพระกรเดินเคียงสองข้างพาขึ้นไปถึงยอดเขามัณฑเลไปพบชายคนหนึ่งชื่อ งะสิน Nga Sin เอาหญ้าหอมกำหนึ่งมาถวาย ทูลว่าท้องที่ทำเลเขามัณฑเลนั้นอุดมนัก ถ้าเอาช้างม้าไปเลี้ยงได้กินหญ้าหอมนั้นจะเจริญกำลังมีอายุอยู่ได้ยั่งยืน ดังนี้ เผอิญเมื่อพระเจ้ามินดงได้ราชสมบัติทรงเลือกพระน้องนางของพระเจ้าปะกันมินเปนอัครมเหษีและเลือกราชธิดาของพระเจ้าพาคยีคอ (ไทยเรียก “จักกายแมง”) ผู้เปนพระปิตุลาเปนมเหษี (คือนาง “อเลนันดอ” Alenandaw ที่เปนชนนีของพระนางสุปยาลัต) นางทั้งสองนั้นเกิดวันพฤหัสบดี อักษรนามเดิมร่วมวรรคเดียวกันกับนางบาและนางมอในพระสุบิน ก็เห็นสมด้วยพระสุบินนิมิตร และมีพุทธพยากรดังกล่าวมาแล้ว จึงเกิดประสงค์จะสร้างราชธานีใหม่ที่เชิงเขามัณฑเล แต่เหตุอย่างอื่นยังมีอีกบางทีจะเปนตัวมูลเหตุที่สร้างเมืองมัณฑเลก็เปนได้ หากพะม่ามิได้ยกขึ้นอ้างเปนข้อสำคัญ คือตั้งแต่พะม่ารบแพ้อังกฤษ พระเจ้าแผ่นดินพะม่าเกิดเสียพระจริตบ้างต้องถูกปลงจากราชบัลลังก์บ้าง ติด ๆ กันถึง ๓ พระองค์ ข้อนี้น่าจะเปนเหตุให้เห็นว่าเกิดอัปมงคลแก่ราชธานีเดิมอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเพราะที่เมืองอมรบุระเปนที่ลุ่มแผ่นดินชื้นมาก มักเกิดความไข้เจ็บเนืองๆ จึงเกิดรังเกียจ ยังอีกอย่างหนึ่งคือถึงสมัยนั้นเริ่มมีเรือกำปั่นไฟของฝรั่งขึ้นไปได้ถึงเมืองอมรบุระ ก็เมืองอังวะ เมืองอมรบุระ ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำเอราวดี มีคลองแยกเข้าไปได้ถึงชานเมือง ถึงระดูน้ำเรือกำปั่นไฟอาจเข้าไปในคลองได้ เกรงว่าฝรั่งจะเอาปืนใหญ่ใส่เรือกำปั่นเข้าไปยิงพระนคร จึงเห็นควรจะย้ายราชธานีไปตั้งให้ห่างพ้นทางปืนของศัสตรู จะเปนด้วยเหตุอย่างใดก็ตาม ถ้าว่าตามคำพะม่าว่า ดูเหมือนพระเจ้ามินดงจะถือเอาพระสุบินนิมิตร์กับพุทธพยากรเปนสำคัญ ตรัสสั่งให้อัครมหาเสนาบดีเชิญกระแสพระราชดำริไปปรึกษาพระมหาอุปราชและเจ้านายผู้ใหญ่ กับทั้งเสนาบดีมนตรีมุขและพระราชาคณะโหรพราหมณ์ผู้ใหญ่ก็เห็นชอบตามพระราชบริหารโดยมาก แล้วให้ทำพิธีหา “สนิส” Sanis (เห็นตรงกับที่ไทยเรียกว่า “เสนียด” พิธีนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือราชาธิราชหลายแห่ง แต่ไทยเรียกว่า “ชิมลาง”) คือจัดราชบุรุษพวกละ ๔ คน ๕ คน ให้สมาทานศีลเสียก่อน แล้วต่างพวกแยกกันไปในเวลากลางคืน ไปซุ่มคอยฟังคำชาวเมืองขับร้องหรือพูดจากันเอง โดยปราสจากความระแวดระวังว่าอย่างไร ให้จดถ้อยคำที่ได้ยินนั้นมาเสนอให้นักปราชญ์พิจารณาว่าเปนมงคลหรืออวมงคลนิมิตรสถานใด ครั้งนั้นได้สนิศแต่ล้วนเปนมงคลนิมิตร พระเจ้ามินดงจึงดำรัสสั่งให้เริ่มสร้างเมืองมัณฑเลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๐ เอาแผนผังเมืองอมรบุระมาสร้างตัวพระนครเปนสี่เหลี่ยมจตุรัส วางแนวกำแพงให้ตรงตามทิศทั้ง ๔ ยาวด้านละ ๖๐๐ ตะ (ตะหนึ่งหย่อน ๘ ศอกไทยสักนิ้วหนึ่ง) รวมทั้ง ๔ ด้านยาว ๒๔๐๐ ตะ เท่าจำนวนปีพุทธศักราชเมื่อสร้างเมือง ถ้าว่าอย่างไทยยาวราว ๔๘ เส้น เท่ากันทั้ง ๔ ด้าน ปราการก่อด้วยอิฐไม่ถือปูนสูงตลอดยอดใบเสมา ๖ วา หนา ๒ ศอกเศษ มีเชิงเทินถมดินข้างด้านในกว้างราว ๕ วา ทำหอรบรายตามกำแพง ๘๙ วาหลังหนึ่ง ที่มุมเมืองทำหอรบเคียงกันเปนป้อม มีประตูเมืองด้านละ ๓ ประตู รวมเปน ๑๒ ประตู ประตูเมืองก่ออิฐถือปูนเปนป้อมมีหลังคาทำด้วยไม้ทาดินแดงเปนทรงปราสาท ๗ ชั้นมีมุขสองข้าง หอรบก็มีหลังคาทรงปราสาททุกหอ ตรงประตูเมืองข้างนอกก่ออิฐเปนลับแลสูงเท่ากำแพงเมือง สำหรับบังทางปืนมิให้ยิงตรอกช่องประตู ทางเข้าออกต้องเลี้ยวหลีกลับแลนั้น มีถนนรอบกำแพงข้างด้านนอก พ้นถนนถึงคูเมืองมีน้ำขังกว้าง ๒๖ วาลึกราว ๑๐ ศอกตลอดแนวกำแพงทุกด้าน มีสะพานทางข้ามคูเมือง ๕ แห่งเข้าพระนครทางประตูกลางทุกด้าน แต่ด้านตะวันตกมีสะพานข้ามเข้าประตูใต้อีกสะพานหนึ่ง (น่าจะเปนทางที่ไทยเรียกว่า “ประตูผี” นครธมเมืองเขมรก็มีทางต่างหากอย่างนี้) ทุกสะพานกว้างราวสัก ๔ วา ก่ออิฐถมดินออกไปในคูเมืองข้างละสักส่วนหนึ่ง (ปักเสาปูพื้นกระดานตรงกลางคูสักส่วนหนึ่งสำหรับรื้อเปิดเปนทางเรือเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จเลียบพระนคร ที่มุมเมืองข้างภายนอกมีศาลเทพารักษ์และว่ามีรูปยักษ์อยู่ในนั้นทั้ง ๔ มุมแต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตา เห็นแต่ที่ประตูเมืองเอาไม้ซุงทำเปนหลักปักไว้ข้างละหลักทุกประตู ฉันเข้าใจว่าเปนหลักอาถรรพ เรื่องฝังอาถรรพเมืองมัณฑเลมีในหนังสือฝรั่งแต่งหลายเรื่อง ว่าเอาคนฝังทั้งเปน ณ ที่ต่างๆ ถึง ๕๒ คน แต่มีผู้แต่งคนหนึ่งกล่าวว่าการที่เอาคนฝังทั้งเปนเมื่อสร้างเมืองนั้น มีในตำราจริง และเคยทำกันแม้ในยุโรปเมื่อสมัยดึกดำบรรพ์แต่เลิกเสียแล้วช้านาน คำแย้งที่กล่าวนี้ฉันเห็นชอบด้วย ข้างในพระนครสร้างพระราชวังตรงศูนย์กลาง วางแผนผังแนวกำแพงวังเปนสี่เหลี่ยมจตุรัสและตรงตามทิศทั้ง ๔ เหมือนอย่างพระนคร และสร้างมหาปราสาทตรงศูนย์กลางวังเปนที่สุด (ลักษณพระราชวังเมืองมัณฑเลจะพรรณนาในวันอื่นต่อไปข้างหน้า) มีถนนใหญ่แต่ประตูกลางตรงเข้าไปถึงพระราชวังทั้ง ๔ ด้าน ท้องที่ในพระนครข้างภายนอกพระราชวัง พิเคราะห์ตามแผนผังสมัยเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดิน ดูมีถนน (หรือทางเดิน) ตัดเปนเส้นตรงซอยกันราวกับตาหมากรุก ได้ยินว่าที่ในบริเวณพระนคร นอกจากที่ใช้ราชการเช่นสร้างฉางเข้าและคุกเปนต้น พระราชทานให้สร้างวังเจ้าและบ้านขุนนางกับทั้งทับกระท่อมของบ่าวไพร่ คงเปนเพราะเหตุนั้นจึงปันที่ให้เปนเจ้าของละแปลง ปลาดอยู่ที่ไม่มีวัดสังฆาวาสในพระนครเลยทีเดียวแม้วัดที่สถิตย์ของพระสังฆราช ก็ให้สร้างนอกพระนครที่ริมคูเมืองทางด้านตะวันออก ถึงเจดียสถานก็ดูเหมือนมีพระเจดีย์แต่องค์เดียวที่ในพระนคร (น่าจะเปนของสร้างตอนปลายรัชชกาล) เพื่อสดวกแก่การทรงสักการบูชา วัดสำคัญ ๆ ที่พระเจ้ามินดงทรงสร้างมีหลายวัด ล้วนอยู่นอกพระนครทั้งนั้น มักสร้างริมเชิงเขามัณฑเลเปนพื้น จะเปนเพราะเหตุใดพระเจ้ามินดงจึงมิให้สร้างวัดในพระนคร ข้อนี้สันนิษฐานตามความที่ปรากฎว่าเมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดิน พอเวลาค่ำปิดประตูพระนครเปนนิจจะเห็นว่าลำบากแก่การออกบิณฑบาตก็เปนได้ เข้าใจต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่าพวกชาวต่างประเทศก็คงให้ตั้งบ้านเรือนและตลาดยี่สานอยู่นอกพระนครทั้งนั้น อนึ่งทำเลที่ตั้งเมืองมัณฑเลเดิมเห็นจะเปนป่าอยู่โดยมากเพราะแผ่นดินทางฝ่ายตะวันออกเปนที่คอนห่างลำน้ำ แต่ทางฝ่ายตะวันตกเปนที่ลุ่มน้ำท่วมในระดูน้ำ เมื่อสร้างเมืองมัณฑเลพระเจ้ามินดงจึงให้ขุดคลองชลประทานมาจากบึงนันท Nanda Lake อันอยู่ทางข้างเหนือเขามัณฑเล ไขน้ำมายังพระนคร เรียกคลองนั้นว่า “รัตนนที” ได้น้ำมาลงคูเมืองแล้วไขเข้าไปใช้ในพระนคร ส่วนทางด้านตะวันตกอันเปนที่ลุ่มต่อแม่น้ำเอราวดีนั้น ก็ให้ถมดินยกเปนคันกันน้ำตลอดแนวเมืองมัณฑเลให้ราษฎรตั้งบ้านเรือนและทำเรือกสวนได้ตลอดที่ทำเลนั้น ได้ยินว่าเคยเกิดเหตุเพราะคันน้ำที่เมืองมัณฑเลพังครั้งหนึ่ง น้ำท่วมถึงคนตายจึงต้องคอยซ่อมแซมรักษากันกวดขันมาจนทุกวันนี้

พอลงมือสร้างเมืองมัณฑเลพระเจ้ามินดงก็ย้ายราชสำนักจากเมืองอมรบุระเสด็จไปอยู่พลับพลาซึ่งสร้างเปนที่ประทับชั่วคราว ณ เมืองมัณฑเล พระมหาอุปราชกับทั้งเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ ก็ต้องตามเสด็จไปทำที่พักอยู่ชั่วคราวเหมือนกัน เพราะต้องรื้อขนปราสาทราชมณเฑียรและตำหนักรักษาบ้านเรือนของเดิมอันล้วนเปนเครื่องไม้ ย้ายจากเมืองอมรบุระไปปลูกขึ้นใหม่ที่ในเมืองมัณฑเล การสร้างพระนครทำอยู่เกือบปีจึงสำเร็จได้ทำพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร แต่เมืองมัณฑเลก็ไม่ป้องกันอัปมงคลได้ดังพระประสงค์ พอสร้างได้ ๙ ปีถึง พ.ศ. ๒๔๐๙ ลูกเธอ ๒ องค์ชื่อ เจ้าเม็งคูน Myingôn Prince องค์ ๑ เจ้าเม็งคูนแดง Myingôndaing Prince องค์ ๑ ก็เปนขบถจะชิงราชสมบัติ ถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันที่ในพระราชวัง แล้วลูกพระมหาอุปราชอันเปนน้องยาเธอที่ถูกขบถปลงพระชนม์ เปนขบถขึ้น ด้วยสงสัยว่าพระเจ้ามินดงรู้เห็นให้ฆ่าบิดาของตน เกิดรบพุ่งกันอีกแต่คราวนี้นอกพระนคร พระเจ้ามินดงเกือบไม่พ้นภัย แต่หากบุญญาภินิหารบันดาลให้พวกขบถพ่ายแพ้ไปทั้ง ๒ ครั้ง ในพงศาวดารพะม่าทั้งที่พะม่าและฝรั่งแต่ง ยกย่องพระเจ้ามินดงว่าดีกว่าบันดาพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศอลองพญาองค์อื่นๆ ทั้งนั้น พรรณนาพระคุณไว้เปนอเนกปริยายรวมความว่าทรงพยายามบำเพ็ญพระคุณให้บ้านเมืองเปนสันติสุข และปกครองไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินให้ร่มเย็นเปนสำคัญ พระเจ้ามินดงเสรยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ประทับอยู่เมืองรัตนสิงห์ (Shwèbo) และเมืองอมรบุระ ๔ ปี มาประทับอยู่เมืองมัณฑเลแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ อีก ๒๑ ปี รวมรัชชกาล ๒๕ ปี สวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑ พอจะสวรรคตก็เกิดอัปมงคลขนานใหญ่ด้วยการช่วงชิงราชสมบัติกัน เปนเหตุให้เจ้านายลูกเธอถูกฆ่าฟันเสียเปนอันมาก พระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติ บ้านเมืองก็เริ่มเกิดจลาจลระส่ำระสายหนักขึ้นเปนลำดับมา เลยเปนช่องให้ฝรั่งเศสเข้าไปเกลี้ยกล่อม เปรียบเหมือนคำภาษิตที่ว่า “ผีซ้ำ” ด้วยประสงค์จะชิงเอาเมืองพะม่าจากเงื้อมมืออังกฤษไปเปนของตน พระเจ้าสีป่อไม่รู้เท่าถึงการไปหลงฝากฝ่ายแก่ฝรั่งเศส อังกฤษก็ต้องตีเมืองพะม่าเปน “ด้ำพลอย” ในภาษิตที่กล่าวมาพระเจ้าสีป่อครองราชสมบัติได้ ๘ ปีก็เสียเมืองมัณฑเลกับทั้งประเทศพะม่าแก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ