วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๕ ธันวาคม กับพวกลูกเต้ามีหญิงเป้าเปนต้นออกมาในคราวเดียวกัน ได้นำน้ำปลาที่คุณโตฝากมาให้มามอบแล้ว หม่อมฉันขอขอบคุณของเธอกับทั้งขอบใจหญิงไอที่อุสส่าห์เขียนลายพระหัตถ์ฉะบับนี้ด้วย และหวังใจว่าหญิงอามจะหายได้โดยเร็ว แต่ของดเรื่องที่หญิงเป้ามาเล่าจะไม่ทูลสนอง เพราะสิ้นปัญญามิรู้จะว่าอย่างไร ฟังแล้วได้แต่ถอนใจใหญ่เท่านั้น

นักสนมของพระเจ้าแผ่นดินพะม่าที่เปน ๒ ชั้นนั้น ชั้นสูงเรียกว่า มโย - สะ มิบุยะ Myo-sa Mibuya หมายความว่าเจ้าจอมที่ได้ส่วยเมือง (Myo) ชั้นต่ำเรียกว่า ยะวะ - สะ มิบุยะ Yawa-sa Mibuya หมายความว่าเจ้าจอมที่ได้ส่วยบ้าน

เรื่องแทงวิสัย ซึ่งทรงสันนิษฐานว่าจะเปลี่ยนเปนผู้หญิงเล่น เมื่อแรกแห่โสกันต์ทางฝ่ายในพระราชวังนั้น เห็นจะถูกแล้ว แห่เช่นนั้นครั้งแรกหม่อมฉันเข้าใจว่าเมื่อโสกันต์สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศในปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ต่อมาถึงงานโสกันต์กรมขุนสุพรรณมีเขาไกล่ไกรลาศจึงกลับให้ผู้ชายเล่น

การเล่น “ระเบ็ง” นั้น หม่อมฉันคิดว่าจะมาจาก “ระบำ” นั่นเอง ในกฎมณเทียรบาลตอนพิธีสนานใหญ่ ๆ ว่ามีระบำซ้ายขวา น่าจะหมายความว่ายืนเรียงกัน ๒ แถวอย่างระบำที่เล่นกันสืบมา หม่อมฉันเคยพบอธิบายอีกแห่งหนึ่งในหนังสือมองสิเออเดอลาลุแบ ราชทูตฝรั่งเศสแต่งพรรณนาว่าด้วยการเล่นของไทย ว่ามีการเล่นอย่างหนึ่งเรียกว่า “ระบำ” ผู้ชายยืนรำเปน ๒ แถว บางทีก็ (มีกวนมก) พูดล้อกันหยาบ ๆ ดังนี้ เห็นว่าระบำตามแบบเดิมจะเปนแต่รำฟ้อนเหมือนอย่างเล่นกันในมณฑลพายัพ ที่ว่ามีเล่นกวนมกนั้น ก็เหมือนอย่างละคอนติดตลกพอให้ตัวละคอนพักหายเหนื่อย ถ้าว่าโดยย่อ เล่นระบำนั้นคือเปนแต่รำฟ้อนไม่มีเรื่อง แต่ “ระเบ็ง” รำมีเรื่อง เช่นผูกเรื่องพระยาร้อยเอ็จจะไปช่วยพระอิศวรทำงานโสกันต์ขึ้นให้พวกระบำเล่นในงานโสกันต์เปนต้น ถึงที่เล่นเรื่องรามสูรกับนางเมขลาในระบำผู้หญิงพิเคราะห์ดูก็น่าจะเอาเรื่องมาปรุงกับระบำ (เหมือนอย่างหม่อมฉันเคยเอาเรื่องนนทุกเข้าปรุงกับระบำ) เปนแต่คงเรียกชื่อว่าระบำตามเดิม แต่คำที่เรียกว่า “ระบำ” และ “ระเบ็ง” ยังคิดไม่เห็นว่ามาแต่ภาษาใด จะเปนภาษาสันสกฤตดอกกระมัง

กะอั้วแทงควายนั้น หม่อมฉันจำได้ว่าหัวใส่ลองเปนเกล้าผมสูงทั้ง ๒ คน ตัวกะอั้วแต่งตัวใส่เสื้อเกรียงชายกรอมถึงน่องถือหอก นางกะแอนุ่งผ้าถุงใส่เสื้อเอวห่มผ้าแถบสีแดงห้อยบ่า กระเดียดกระทายหรือถือร่ม จำคลับคล้ายอยู่

ที่ทรงร่างแทรกอธิบายราชกกุธภัณฑ์พะม่านั้น หม่อมฉันเห็นเหมาะดีแล้ว

คราวนี้มีเรื่องที่จะทูลเสนอเรื่องหนึ่ง หม่อมฉันเคยได้ยินมาไม่ช้านัก ว่ามีผ้าลายสำหรับนุ่งเปนของญี่ปุ่นทำเข้าไปขายในกรุงเทพฯ ลูกหญิง (นิด) รัชชมาลินี ของหม่อมฉันออกมาคราวนี้ เอาผ้าลายญี่ปุ่นมาให้คนที่มาอยู่กับหม่อมฉันผืนหนึ่ง พอหม่อมฉันเห็นก็หูผึ่ง รู้ได้ทันทีว่าทำตามลายไทยที่นายมิกกี้จำลองเอาไปจากผ้าห่อคัมภีร์ของโบราณ ที่หม่อมฉันคัดใส่หีบกระจกไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน ว่าทำหลายลาย เนื่อผ้าก็ดีและว่าสัญญาว่าสีไม่ตกด้วย หม่อมฉันกำลังสั่งให้หามาดูให้ทุกลายที่เขาทำ นึกเสียดายอยู่หน่อยด้วยเห็นว่าจะไม่แพร่หลายยั่งยืนสักเท่าใดนัก ด้วยมีแต่คน “แก่กกกดกร่าง” ที่ยังนุ่งผ้าลาย คนชั้นหนุ่มสาวผู้หญิงก็ไปนุ่งสิ้นและกะโปรง แม้จนกางเกง ปะยามา ผู้ชายก็ไปนุ่งกางเกงแต่งสากลเสียโดยมากแล้ว

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๗ ท่อนที่ ๗ มาถวายในคราวเมลนี้อีกท่อน ๑ มีรูปฉายประกอบ ๑๐ รูป คือ

๑. รูปวิหารยอดพระสถูปอย่างอินเดีย มีเจดีย์ทรงโกศเปนบริวาร

๒. รูปวิหารยอดพระสถูปแบบพะม่า

๓. รูปวิหารยอดอย่างปรางค์อินเดีย

๔. รูปวิหาร ๓ หลังอย่างคติมหายาน

๕. รูปลายปั้นประดับนอกวิหาร

๖. รูปหอมณเฑียรธรรม

๗. รูปโบสถ์อุบาลี

๘. รูปพระมหาธาตุชินคง

๙. รูปบันไดทางขึ้นชั้นทักษิณพระมหาธาตุชินคง

๑๐. พระพุทธหล่อในวิหารทิศที่พระมหาธาตุชินคง

  1. ๑. หม่อมเจ้ารัชชมาลินี ดิศกุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ