วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศรฯ

คิดดูจำนวนวันท่านเสด็จไปศรีราชาตามที่ตรัสบอกกำหนดไว้แต่ก่อน หม่อมฉันเข้าใจว่าเวลานี้คงจะเสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ แล้ว จึงเขียนจดหมายถวายประจำสัปดาหะแต่ฉะบับนี้เปนต้นต่อไป มีความบางข้อค้างอยู่ยังมิได้ทูลสนองลายพระหัตถ์ที่มีมาแต่ก่อน จะทูลความเหล่านั้นเปนเบื้องต้น

๑. ประเทศที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” นั้น หม่อมฉันคิดเห็นเปนยุติว่าเปนชื่อที่ชาวอินเดียเรียกภูมิภาคอันหนึ่ง อาจหมายความตลอดทั้งแหลมอินโดจีนก็เปนได้ มิใช่เรียกฉะเพาะเมืองหนึ่งเมืองใด เปรียบเหมือนเราพูดกันทุกวันนี้ว่า “ไปยุโรป” และ “ไปอเมริกา” หรือ “ไปอินเดีย” ฉันใด ชาวอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์จะมาค้าขายทางนี้ ก็คงพูดกันแต่ว่า “ไปสุวรรณภูมิ” ฉันนั้น ชาวอินเดียมาเรือในชั้นแรกจำต้องตั้งสำนักการค้าริมทะเลเปนธรรมดา ต่อมาจึงเที่ยวค้าขายห่างสถานีริมทะเลออกไปโดยลำดับ ครั้นไปได้หญิงชาวท้องถิ่นเปนเมียก็เลยตั้งบ้านเรือนอยู่ประจำที่ มีลูกหลานว่านเครือเชื้อชาวอินเดียมากขึ้นเปนอันดับมา

ชาวอินเดียที่มา ใครถือสาสนาไหนก็พาสาสนานั้นมาด้วย เมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรืองในอินเดีย ชาวอินเดียที่ถือพระพุทธสาสนาก็พามายัง “สุวรรณภูมิ” ในสมัยเมื่อมีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนาอยู่แล้วหลายแห่ง เมื่อมีคนในท้องถิ่นเลื่อมใสกันแพร่หลายจนปราร์ถนาจะมีสงฆมณฑล พระเจ้าอโศกมหาราช หรือพระโมคลีบุตรจึงให้พระโสณะกับพระอุตตระ (เปนนายกนำสงฆ์คณะปรก) มาให้อุปสมบทใน “สุวรรณภูมิ” เพราะ “สังฆรัตน” เกิดด้วยอุปสมบท มิได้เกิดด้วยชาติตระกูลเหมือนอย่างพราหมณ์ ที่ให้พระโสณะกับพระอุตตระมา “สุวรรณภูมิ” ด้วยกัน ๒ องค์ ผิดกับส่งไปที่อื่นอันปรากฏชื่อแต่องค์เดียว ก็น่าสันนิษฐานว่าพระสงฆ์ที่ส่งมา “สุวรรณภูมิ” จะเปน ๒ คณะปรก สำหรับแยกกันไปให้อุปสมบทต่างที่อันอยู่ห่างกัน เห็นหลักที่จะอ้างได้มีเพียงเท่านี้

มุจลินทนาคราชที่ทำรูปพระนาคปรกนั้น ดูในอินเดียยกย่องกันมาก ชอบจำหลักรูปมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช แต่แบบอินเดียเขาทำเปนรูปคนแต่งตัวอย่างกษัตริย์ แต่ทำเครื่องหมายเปนนาค ๕ หัวแผ่พังพานขึ้นไปจากบ่าจนปรกศีร์ษะ หม่อมฉันให้เอารูปพระยามุจลินทนาคราชแบบนั้น มาทำถือฉัตรคันกั้นพระพุทธรูปปางสมาธิ ทำฐานไม้เปนชะง่อนผา ตั้งภาพนาคอยู่สูงหน่อยพอให้แลเห็นได้ถนัด รูปพระนาคปรกที่ทำนั่งบนขดตัวนาคอันแผ่พังพานปกพระพุทธรูปนั้น เดิมหม่อมฉันเข้าใจว่าคิดทำแบบขึ้นในเมืองเขมร แต่มาเห็นภาพพระนาคปรกอย่างนั้นเปนของโบราณมีอยู่ในอินเดียข้างใต้ จึงรู้ว่าเปนแบบคิดขึ้นในอินเดียข้างใต้ เขมรเปนแต่ได้แบบมาทำ ไทยเราเอาอย่างมาจากเขมร หรือถ้าว่าตามความเห็นของมองสิเออร์ ปามองติเอ เมืองละโว้เอาอย่างมาแต่อินเดียแล้วเขมรรับต่อไป แบบพระนาคปรกที่ทำตัวนาคอย่างฝาชีคลุมพระพุทธรูปนั้น หม่อมฉันนึกจำได้ตะหงิด ๆ ว่าเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงรับพระเสาร์ ได้ยินทรงปรารภกับพระองค์เจ้าประดิษฐฯ ว่าพระนาคปรกอย่างเช่นทำกันมาไม่บังฝนได้ จะทำให้เห็นว่าพระยานาคบังฝนได้จริงๆ จึงได้คิดทำรูปนาคอย่างนั้น องค์แรกสร้างเปนพระขนาดเล็ก จะเปนพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำหรือเงินกาไหล่ ไม่ทราบแน่ นึกจำได้แต่ว่าตัวนาคนั้นถมยาเปนสี

หม่อมฉันถวายเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามากับจดหมายสัปดาหะนี้อีกท่อนหนึ่งอยู่ในตอนที่ ๔ ที่จริงแต่งไว้มากกว่าที่ถวายมา เพราะตอนนี้มีเวลาถึง ๓ สัปดาหะ แต่คิดว่าถวายมาในคราวเดียวจะชวนให้ทรงอึดอัดในเวลาทรงพิจารณา ท่อนนี้จึงถวายมาจะเพาะว่าด้วยปราสาทราชมณเฑียร มีรูปฉายาลักษณ์ประกอบกับที่พรรณนาด้วย ๑๐ รูป คือ

๑. รูปมหาปราสาท ดูแต่ลานวังข้างด้านหน้า

๒. รูปสีหาสนราชบัลลังก์

๓. ลับแลบังฝนด้านข้างมหาปราสาท

๔. รูปราชมณเฑียรข้างหลังมหาปราสาท

๕. รูปฝามหามณเฑียรแก้วที่ประดับกระจก

๖. มณเฑียรที่ประชุมนางใน

๗. ปราสาทที่ทรงหลั่งสิโนทก

๘. ที่นั่งเย็นของพระเจ้าสีป่อ

๙. มณเฑียรตึกของพระเจ้าสีป่อ

๑๐. ราชมณเฑียรหมู่ท้องพระโรงหลัง

พิจารณาไปในเรื่องเมืองพะม่าที่กล่าวในหนังสือต่างๆได้ความรู้ใหม่อีกอย่างหนึ่งว่าพะม่าไม่ได้เรียกประเทศของตนว่า “เมืองพะม่า” เรียกว่า “กรุงอังวะ” พระเจ้าแผ่นดินถึงเมื่อตั้งราชธานีอยู่ที่อื่น ที่สุดจนถึงพระเจ้าสีป่อก็เรียกว่า “พระเจ้าอังวะ” น่าพิสวงว่าเหตุใดจึงมาเหมือนกันกับไทยที่เรียกประเทศสยามว่า “กรุงศรีอยุธยา” และเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” มาจนตลอดรัชชกาลที่ ๓ พึ่งมาเรียกชื่อ “สยาม” ในทางราชการตั้งแต่รัชชกาลที่ ๔ เปนต้นมา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ