วันที่ ๑๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๔ มิถุนายนแล้วในจดหมายของหม่อมฉันฉะบับนี้จะย้อนไปทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๖ มิถุนายน ซึ่งค้างอยู่ดังได้ทูลไปแล้ว

ที่ทรงปรารภเรื่องสีมาเพิ่มเติมมานั้น หม่อมฉันเห็นว่าบรรดาการพิถีพิถันต่างๆ ดังเช่นการผูกพัทธสีมาก็ดี รับประเคนก็ดี และยังมีการอย่างอื่นอีกเปนอเนกปริยาย อยู่ในพวก “วินัยกรรม” ทั้งนั้น คือเดิมมีข้อพระวินัยอันเหมาะแก่กาลเทศะในสมัยเมื่อพระพุทธองค์ทรงบัญญัติ ครั้นภายหลังเกิดความขัดข้องแก่การที่จะปฏิบัติตามสิกขาบทนั้น เพราะเปลี่ยนถิ่นฐานก็ตาม เพราะเปลี่ยนประชุมชนก็ตาม จะต้องอนุโลมตามกาลเทศะหรือเหตุการณ์ จะทำอย่างไรดี อันนี้เปนเหตุให้คิดเห็นและกระทำต่างกัน พวกหนึ่งเห็นว่าควรทำอย่างหนึ่งอีกพวกหนึ่งเห็นว่าควรทำอีกอย่างหนึ่ง ต่างพวกต่างก็เห็นว่าที่อีกพวกหนึ่งทำผิดพุทธบัญญัติ จะยกเปนอุทาหรณ์เช่นการประเคนภัตตาหาร มีเรื่องต้นบัญญัติว่าพระภิกษุไปเอาอาหารที่เขาเส้นผีมาบริโภค ด้วยถือว่าเปนของไม่มีใครหวงแหนแล้ว เปนเหตุให้เกิดครหาพุทธสาวก พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติว่าต้องรู้แน่ก่อนว่าเปนของที่เขาให้จึงให้บริโภค ถ้าว่าโดยอัตถ เพียงเขาเอาอาหารมาวางให้ตรงหน้า และบอกว่า “นิมนตร์คุณฉันเถิด” หรือแสดงการให้ด้วยกิริยาอย่างอื่น ก็ฉันได้ หาจำเปนต้องยกประเคนจนถึงมือไม่ การประเคนเกิดขึ้นเพราะจะให้แน่ใจว่าให้ฉะเพาะพระภิกษุรูปนั้น แล้วยังถือเลยหนักไปถึงว่าผู้ประเคนต้องอยู่ในหัตถบาสด้วย หม่อมฉันเคยฉุนครั้งหนึ่ง เมื่อเลี้ยงพระทำบุญอายุครบ ๕ รอบ ยกสำรับประเคนท่านคุณวงศ (จุ๊) วัดปรไมยิกาวาส แกว่า “ยังไม่ได้หัตถบาสถวายพระพร” หม่อมฉันใคร่จะตอบว่า “ผมเคยบวชแล้ว” แต่เปนต่อหน้าทารกำนัลก็เลยนิ่งเสีย ถึงเรื่องสีมาก็เปนทำนองเดียวกัน ตัวพุทธบัญญัติเดิมก็มีความมุ่งหมายเพียง ๒ ข้อเนื่องกัน ข้อ ๑ ถ้าจะลงมติในนามสงฆ์ต้องให้พระภิกษุทั้งปวงเห็นชอบพร้อมกัน ข้อ ๒ เพราะพระภิกษุเที่ยวสอนพระสาสนาแยกย้ายกันอยู่ในที่ต่างๆ มักอยู่ห่างไกลจะไปประชุมกันหมดลำบากนัก จึงให้กำหนดเขตต์สีมาอันภิกษุอยู่ในเขตต์นั้นพอจะไปได้สดวก มีพระภิกษุทั้งปวงที่อยู่ในเขตต์สีมาอันหนึ่งประชุมกันก็ลงมติในนามสงฆ์ได้ ความที่บัญญัติมีเท่านี้เอง ถึงสมัยภายหลังพุทธกาล เมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรืองเปนสาสนาสำหรับประเทศ เกิดมีพระภิกษุแพร่หลายมากเรียกประชุมสงฆ์ยากขึ้น ก็ร่นเขตต์มาให้เล็กเข้าเปนลำดับมาแม้กระนั้นแต่ก่อนก็มี “โบสถ์” ที่ประชุมสงฆ์แต่น้อยแห่ง ยังเปนเช่นนั้นอยู่ในเมืองพะม่าจนทุกวันนี้ มาเกิดมีโบสถ์ทุกวัดในเมืองไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อเกิดประเพณีที่ถือว่ากุลบุตรต้องอุปสมบททุกคนสืบมาจนในกรุงรัตนโกสินทรนี้ เมื่อคิดถึงความมุ่งหมายในพุทธบัญญัติดูกลับห่างเห็นไปเสียอีก สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จะทรงพระดำริอย่างนี้ จึงไม่นำพาสีมาวัดรังษีเสียเลยทีเดียว

เรื่องรูปมณฑปและพระเจดีย์ทรงสัณฐานต่างๆ ในเมืองพะม่าหม่อมฉันได้ลงกำหนดไว้แล้วว่าจะทูลอธิบายในตอนเที่ยวเมืองพุกาม

ที่หม่อมฉันไม่ไปเมืองตองอูนั้นยังมีเหตุอื่นอีก แต่มิได้ทูลไปด้วยในพงศาวดารปรากฎว่าเมืองตองอูถูกเผาทำลายเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีสมิงทอไปตีเมือง นึกว่าของเก่าที่ยังเหลือก็เห็นจะมีแต่พระเจดีย์ที่นับถือกันว่าเปนมหาธาตุสำหรับเมือง แต่ไม่ถือเปนของสำคัญถึงเมืองอื่นเหมือนเช่นพระมุเตา อีกประการหนึ่งการที่จะไปอยู่ข้างลำบากถ้าไปรถไฟต้องไปค้างคืน ถ้าไปรถยนต์และกลับเมืองร่างกุ้งในวันเดียวกันนั้น จะต้องนั่งในรถยนต์ถึง ๑๒ ชั่วโมง จึงสิ้นความประสงค์

จะทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๔ ต่อไป หลักที่ปัก ๒ ข้างประตูเมืองมัณฑเลนั้น เห็นจะเปนหลักคบจริงดังทรงพระดำริ หม่อมฉันพบในหนังสืออีกเรื่องหนึ่งว่า “ฝังหม้อใส่น้ำมัน ๔ มุมเมือง” คืออาถรรพ์นั้นเอง

ข่าวที่ปีนังมีทูลแต่เรื่องหญิงสุวภาพเพราพรรณ หลานหม่อมฉันคลอดลูกหญิงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ หม่อมฉันได้เห็นเหลนเปนคนแรกเพราะ ๒ คนที่คลอดก่อนคลอดในกรุงเทพฯ ยังไม่ได้เห็น ลูกหญิงสุวภาพเมื่อแรกคลอดอ่อนเพลียมาก เพราะคลอดเร็วกว่าธรรมดาสักหน่อย มีอาการผิวเขียวร่ำไป แต่หมอที่นี่เขาชำนาญวิชชาสมัยใหม่แทงเอาโลหิตแม่ไปเจือในตัวลูกและให้อุ้มเอาหัวห้อยเทลงในเวลาเมื่อเกิดผิวเขียว แก้อยู่ ๓ วันอาการจึงเปนปกติเหมือนอย่างเด็กสามัญ

คราวเมล์นี้ หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามาถวายอีกท่อนหนึ่ง เปนท่อนที่ ๔ ในตอนที่ ๔ และได้ส่งรูปฉายถวายมาด้วย ๖ แผ่น คือ

๑. รูประเนียดไม้ซุงกำแพงราชวังชั้นนอก

๒. รูปหอพระเขี้ยวแก้ว

๓. รูปหอนาฬิกา

๔. รูปมณฑปที่บรรจุพระศพพระเจ้ามินดง

๕. รูปวัดสังฆาวาสจำลองของพระเจ้าสีป่อ เมื่อยังบริบูรณ์ดี

๖. รูปฉัตรยอดพระเจดีย์พะม่า

รูปที่ ๖ หม่อมฉันให้ถ่ายจำลองจากสมุดเล่มหนึ่ง เพราะเห็นยอดพระเจดีย์พม่าชัดเจนดี ควรเอาเข้าในตอนที่ ๓ ซึ่งว่าด้วยเที่ยวเมืองหงสาวดี เพราะมีพรรณาลักษณพระเจดีย์พะม่ามอญ ตามที่เขาบอกอธิบายอยู่ในนั้น

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ