วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

เมื่อหม่อมฉันส่งจดหมายเวรฉะบับวันที่ ๑๐ ไปแล้วนึกขึ้นได้ถึงหลักฐาน ในความข้อที่ทูลไปว่าการเล่นระบำผู้หญิงอาจจะเอาเรื่องรามสูรมาพ่วงต่อเมื่อภายหลังนั้น มีอยู่ในบทละคอนเรื่องรามเกียรติ์รัชชกาลที่ ๑ เรื่องรามสูรมีอยู่ในเรื่องข้างตอนต้นเปนมูลเหตุที่สุครีพยกเขาพระสุเมรุ เรื่องระบำอยู่ในเรื่องข้างตอนปลาย เมื่ออภิเศกพระรามกับนางสีดาที่เขาไกรลาศ หม่อมฉันเคยนึกสงสัยบทระบำที่ขึ้นต้นว่า

“เมื่อนั้น ฝ่ายฝูงเทวาทุกราษี
ทั้งเทพธิดานารี สุขเกษมเปรมปรีเปนพ้นคิด”

ว่าอะไรเปนเหตุให้ยินดีเหลือล้นพ้นประมาณ ดังว่าในบทนั้น เมื่อไปอ่านบทระบำตอนอภิเศกไกรลาศจึงเข้าใจ ว่าเทวดานางฟ้าพากันยินดีที่พระรามกับนางสีดากลับดีกันได้ จึงชวนกันฟ้อนรำด้วยความรื่นเริง ยังได้ความยิ่งกว่านั้นต่อไป ว่าบทที่ร้องระบำผู้หญิง ๔ บทนั้นคัดเอามาจากบทในเรื่องรามเกียรติ์รัชชกาลที่ ๑ ด้วย ความในวรรคว่า “สุขเกษมเปรมปรี” เปนพ้นคิด (หรือสุดคิด) จึงมาเขินอยู่ มีปัญหาต่อไปว่าจะเอาเรื่องรามสูรกับระบำมาแต่งบทเชื่อมเปนเรื่องเดียวกันเมื่อครั้งไหน ข้อนี้ถ้าเอาหนังสือเปนหลักก็ต้องว่าในสมัยกรุงรัตนโกสินทรนี้ เพราะบทระบำเปนหนังสือพระราชนิพนธ์ในรัชชกาลที่ ๑ แต่ปลาดอยู่อย่างหนึ่งที่โรงโขนโรงหุ่นย่อมทำรูปรามสูรกับรูปนางเมขลาติดประดับเปนประเพณี และเอาอย่างมาทำถึงที่โรงละคอนในสวนมิสกะวัน จะเปนเพราะเหตุใดก็ตาม ดูเหมือนเรื่องรามสูรจะเปนเรื่องสำหรับเล่นเบิกโรงเรื่องหนึ่งมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

หญิงเป้ากลับเข้าไปกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๔ หม่อมฉันฝากสมุดเรื่อง พระคเณศ ซึ่ง Miss Alice, Gotty ผู้แต่งส่งมาให้หม่อมฉัน ให้เธอพามาถวายทอดพระเนตร ด้วยเห็นแปลก และเขาช่างเสาะหารูปพระคเณศของชาติต่าง ๆ เอามารวมพิมพ์ด้วยกัน นึกว่าคงโปรดทอดพระเนตร ศาสตราจารย์ ฟูแช Foucger ฝรั่งเศสแต่งคำนำหนังสือนั้น ว่าการเคารพสัตว์เดียรัจฉานเปนคติของพวกมิลักขูแต่ดั้งเดิมมาทั่วโลก เพราะอยู่ใกล้กับสัตว์เดียรัจฉาน ทั้งจำพวกที่อาจให้โทษและจำพวกที่อาจให้คุณ ความคิดที่จะป้องกันสัตว์ร้ายและอาศัยสัตว์ดีด้วยอุบายต่างๆ จึงเปนวิสัยมนุษย์มาแต่เมื่อสมัยยังเปนมิลักขู ครั้นมาถึงสมัยเมื่อเริ่มถือสาสนา ยังทิ้งคติเดิมที่เคยเชื่อถือเปนอุปนิสัยไม่ได้ จึงเอาความเคารพสัตว์เดียรัจฉานเข้ามาปะปนกับนับถือเทวดา เช่นทำรูปเคารพเปนสัตว์ครึ่งคนครึ่งเปนต้น คตินี้ เกิดในอียิปต์ก่อนอินเดียช้านาน ที่ในอินเดียนั้น เมื่อก่อนพวกอาริยันลงมาครอบครอง พวกมิลักขู Dravidian ซึ่งเปนชาวอินเดียอยู่เดิมถือคติเคารพสัตว์เดียรัจฉานอยู่เปนพื้น พวกอาริยันมาสอนสาสนาเวทจะสอนให้พวกมิลักขูทิ้งคติเดิมไปนับถือเทวดาได้ด้วยยาก จึงคิดอุบายหาความศรัทธาด้วยนับถือสัตว์เดียรัจฉานที่ชาวเมืองนับถือ ว่าเปนพาหะนะของเทวดาบ้าง ช่วยเทวดาอารักษ์กระทำคุณบ้าง และที่สุดถึงเปนอวตารของเทวดาบ้าง จึงเกิดมีรูปเคารพทำเปนสัตว์ปนคนขึ้นในอินเดีย เช่นทำรูปพระยานาคเปนมนุษย์มีหัวนาคปรกเปนสำคัญ และรูปนรสิงห์เปนต้น พระคเณศชั้นเดิมก็อยู่ในพวกนั้น เพิ่งมานับถือกันว่าเปนลูกพระศิวต่อภายหลัง ในไตรเพทและปุราณชั้นเก่าหามีที่กล่าวถึงพระคเณศไม่

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๒ แล้ว ที่ตรัสถามว่าแส้เรียกในภาษาอังกฤษว่ากะไรนั้น ในปทานุกรมอังกฤษเรียกว่า Wisp อธิบายว่า Small broom.

พระปรางค์ที่พุทธคยาหม่อมฉันเพิ่งพบอธิบายในหนังสือตำนานอาคิเต็กในอินเดียของ Furgusson ว่าที่ตรงนั้นเดิมพระเจ้าอโศกมหาราชสร้างเปนวิหารขนาดน้อยไว้หลังหนึ่ง ต่อมาจนพระสาสนากว่า ๑,๐๐๐ ปี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อ อมรเทวะ เปนปุโรหิตของพระเจ้าวิกรมมาทิตย์ ซึ่งเสวยราชย์ณเมืองมัลวา เข้ารีดเลื่อมใสพระพุทธสาสนา ให้มาสร้างปรางค์ (ครอบวิหารเดิม) เอาแบบปรางค์อย่างในสาสนาพราหมณ์มาสร้างตอนล่าง สร้างพระสถูปเปนยอด เฟอคัสสันว่าพุทธเจดีย์ในอินเดียเปนรูปปรางค์แต่ที่พุทธคยาองค์เดียวเท่านั้น ว่าสร้างในระหว่าง พ.ศ. ๑๐๓๘ กับ ๑๐๗๓

ที่ท่านทรงปรารภว่า พระสถูปที่ทำมีบัลลังก์และไม่มี จะผิดกันด้วยเหตุที่สร้างพระสถูปนั้น มีหลักในอินเดียว่าสร้างเปนที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ (หรือถ้าจะว่าอุทิศฉะเพาะพระองค์พระพุทธเจ้าก็ได้) อย่าง ๑ สร้างเปนอย่าง “กรุย” ที่หมายเหตุการณ์ เช่นหมายที่พระพุทธองค์ทรงกระทำปาฏิหารย์เปนต้นอย่างหนึ่ง ดังเช่นพระมหาสถูปที่สร้างในมฤคทายวัน (ที่เราเห็นรูปฉาย) นั้น เขาขุดตรวจข้างในแล้วก็ไม่มีพระบรมธาตุ พวกนักปราชญ์เขาสันนิษฐานว่าสร้างหมายตรงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมสาสนา มีเค้ารับรองพระดำริห์อยู่อย่างนี้ แต่พวกสร้างพระเจดีย์ในเมืองพะม่าจะยักอย่างยอดด้วยอาศัยหลักนั้นหรืออย่างไร หม่อมฉันยังไม่แน่ใจ

ในคราวเมลนี้หม่อมฉันถวายเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๗ ท่อนที่ ๘ มาถวายอีกท่อนหนึ่ง มีรูปฉายประกอบ ๔ รูป คือ

๑. รูปวัดอานันทวิหารทั้งบริเวณ

๒. รูปวัดอานันทวิหาร ดูใกล้ ฉายจากประตูวัด

๓. รูปแผนผ่า Section วัดอานันทวิหาร

๔. รูปพระประธานวัดอานันทวิหาร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ