วันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๐ เดือนนี้ ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม ท่อนที่ ๗ ทั้งรูปฉายประกอบเรื่องอีก ๑๐ แผ่น ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

พระนิพนธ์ท่อนนี้ประกอบทั้งรูปฉาย ดูรู้สึกสนุกมาก เพราะกล่าวด้วยโบราณวัตถุสถานอันเข้าช่องที่ใฝ่ใจ ทำให้ได้ความรู้ขึ้นเปนอันมาก มีความเห็นที่จะกราบทูลเปนทางรวบยอดดั่งต่อไปนี้

ได้สังเกตเห็นมาในเมืองเขมร สิ่งก่อสร้างทั้งหลายทำอย่างแบบอินเดียก็มี เปนแบบเขมรก็มี ปนกันก็มี สันนิษฐานว่าเดิมเขมรทำอะไรด้วยไม้ทั้งสิ้น การก่ออิฐก่อหินนั้นเอาอย่างอินเดียขึ้นทีหลัง ที่ก่อเปนแบบอินเดียแท้นั้นคงเปนชั้นแรกที่พวกอินเดียเอามาก่อขึ้นก่อน ที่เปนแบบอินเดียปนเขมรนั้นคงเปนชั้นกลางที่เขมรสร้างตาม แก้มาหาแบบเขมรเข้าบ้าง ที่เปนแบบเขมรล้วนนั้น คงเปนของที่ทำชั้นหลังเมื่อเขมรคิดเปลี่ยนได้สำเร็จหมดแล้ว ส่วนทางพะม่าเมื่อได้พิจารณารูปฉายสิ่งก่อสร้างของโบราณ ซึ่งโปรดประทานไปคราวนี้ก็เห็นได้ว่ามีทางดำเนินไปเช่นเดียวกัน แต่ผิดกันที่เปนข้อสำคัญก็คือเขมรนั้นเดินทางสาสนาพราหมณ์ ทำการก่อสร้างมุ่งไปทางเทวาลัย คือทำเปนปรางค์ปราสาท ถึงแม้จะเปนวัดในพระพุทธศาสนาก็ทำอย่างเทวาลัย ส่วนพะม่าเดินทางพระพุทธสาสนา ทำการก่อสร้างมุ่งไปอย่างทำสถูปเจดีย์ ข้อนี้แหละพาให้เห็นเปนว่าผิดกันมาก

คราวนี้จะกล่าวทักรูปที่ประทานไป

รูปที่ ๑ วิหารยอดพระสถูปงามจับใจมาก เปนแบบอินเดียปนพะม่าพระสถูปเปนแบบอินเดียแท้มีบัลลังก์

รูปที่ ๒ วิหารยอดพระสถูป เปนแบบพะม่าเจืออินเดียเล็กน้อยพระสถูปไม่มีบัลลังก์อย่างแบบพะม่า แต่ดูก็งามดีมีลักษณเก่าอยู่มาก

รูปที่ ๓ วิหารเจ็ดยอดอย่างปรางค์ รูปนี้ทำให้เห็นได้ว่าพะม่าก็มียอดปรางค์เหมือนกันแต่ทำทรงเตี้ย ส่องไปให้เห็นได้ว่ายอดที่ทำเปนปรางค์โพธิคยานั้น ไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายอย่างปรางค์โพธิคยามาทั้งหมด ถ่ายเอาแต่ลายปั้นมาทำเท่านั้น ส่วนรูปทำตามแบบพะม่า

รูปที่ ๔ ปรางค์สามยอด ดูงามดีมีทรวดทรงคล้ายกับปรางค์เขมรมาก ทีจะเก่ากว่าแบบที่ ๓ ซึ่งมีทรงทั้งหมดติดจะเก้งก้าง

รูปที่ ๕ ลายนอกวิหาร ท่วงทีใกล้ไปทางที่ทำในเมืองชะวาก็คือแบบอินเดียนั้นเอง

รูปที่ ๖ หอมณเทียรธรรม ทำหลังคาเปนปราสาทเครื่องไม้ เหมือนแบบไทยมากกว่าเหมือนแบบพะม่าอย่างทุกวันนี้ ส่องให้เห็นได้ว่าวิธีทำหลังคาปราสาทแต่ก่อนนี้พะม่ากับไทยทำเหมือนกัน ยอดเหนือชั้นระฆังขึ้นไปนั้นเชื่อว่าทำซ่อมแซมนึกขึ้นใหม่ ไม่เหมือนของเดิม

รูปที่ ๗ โบสถ์อุบาลี นี่ก็ทำหลังคาอย่างเครื่องไม้ มีลักษณอ่อนลง แต่ดูเตอะตะใช้ไม่ได้ ด้วยคิดก่ออิฐให้เหมือนไม้นั้นเปนทางที่คิดผิดจะเหมือนไม่ได้เลย

รูปที่ ๘ และรูปที่ ๙ พระมหาธาตุชินคง รูปนี้เห็นได้ว่าทำแบบพะม่าแท้ แต่คิดว่าถูกทำซ่อมแซมมาเสียหลายยกแล้ว พระสถูปองค์เล็กที่มุมถูกซ่อมทำยอดปลีป่องเกินทรง เหมือนอย่างพระเจดีย์มอญในปัจจุบัน

รูปที่ ๑๐ พระพุทธรูปหล่อในวิหารทิศพระมหาธาตุชินคง พระพุทธรูปองค์นี้ประหลาดหนักหนา ดูจะหาว่าเปนฝีมือพะม่าติดอยู่ในนั้นแม้แต่น้อยหนึ่งก็ไม่มีเลย น่าจะยกมาจากไหนนอกเมืองพะม่า งามอยู่มากด้วย หรือมิฉะนั้นก็เอาช่างต่างประเทศมาทำในเมืองพะม่า ตามที่ปรากฎในพระนิพนธ์

การที่มีพระพุทธรูปในวัดหนึ่งน้อยองค์นั้น เข้าใจว่าเดิมเปนเช่นนั้นหมดด้วยกัน สร้างขึ้นจำเพาะที่ ส่วนที่มีพระพุทธรูปตั้งยัดเยียดนั้น เข้าใจว่านำมาทีหลัง เกิดแต่ใจบุญ เห็นพระพุทธรูปตั้งอยู่ที่วัดร้างที่ไหนก็นำมารวมไว้ในวัดที่ยังดี จะเห็นได้ที่พระระเบียง ซึ่งเดิมเขาทำสำหรับไว้ให้คนพักเมื่อมาบูชา ทีหลังเชิญพระพุทธรูปจากวัดร้างมาตั้งเสียเต็มหมด

ข้อที่ตรัสพรรณนาถึงรูปผีแน็ตองค์ที่งาม พอเริ่มอ่านตอนต้นที่ตรัสพรรณนาก็นึกทีเดียวว่าเปนรูปอื่นเก็บมาผสมเข้า ลงท้ายก็มีพระดำริต้องกันอย่างนั้น

ต่อไปนี้จะกราบทูลสนองความในลายพระหัตถ์ลางข้อ

ขอบพระเดชพระคุณที่ทรงพระเมตตาโปรดประทานอักษรโรมันชื่อชั้นพระสนม พร้อมด้วยความอธิบาย จะเก็บลงแทรกใส่ในกฎมณเทียรบาลพะม่านั้นให้แจ่มแจ้งขึ้น

คำว่า “ระบำ” คิดด้วยเกล้าว่ายืดมาแต่คำ “รำ” เหมือนอย่าง “สำเนียง” ยืดมาแต่ “เสียง” ถ้าตามแนวนี้คำว่า “ระเบ็ง” ก็น่าจะยืดมาจาก “เร่ง” แต่เอามาเข้ากับการฟ้อนรำไม่ได้ คำว่า “ระเบ็ง” นั้นมีคำใช้พูดกันอยู่ในที่อื่น เปนไปในทางอึกทึกครึกโครม เช่นว่า “ระเบ็งเซ็งแส้” เปนต้น จะปรับเข้ากับว่า “เร่ง” ก็เข้าได้ เพราะการเร่งรัดก็ต้องมีเอะอะอึกทึกอยู่เอง ที่มาปรับเอาเข้าแทนคำ “ระบำ” กลัวจะเปนการหลงเพราะอักษรคล้ายกันเท่านั้น

ตรัสบอกถึงกะอั้วแทงควายตามที่ทรงจำได้ พาให้นึกขึ้นได้หลายอย่าง ร่มมีจริงๆ ถือร่มด้วย กระเดียดกระทายด้วย ยังได้ใช้ร่มนั้นค้ำควายป้องกันตัว

เรื่องผ้าลายญี่ปุ่นนั้นทำเอาลังเลหลงอยู่มาก เมื่อฤดูสงกรานต์ที่แล้วมานี้ องค์หญิงอาทรกับองค์หญิงเหมเธอเอาผ้าลายมาประทานรดน้ำองค์ละผืน เธอบอกว่าเปนผ้าทำเมืองไทยสีไม่ตก ทั้งนี้เพราะองค์หญิงอาทรเธอเคยเสด็จมาเห็นเกล้ากระหม่อมนุ่งผ้าลายอยู่ เกล้ากระหม่อมพิจารณาผ้าลายที่เธอเอามาประทาน เห็นเปนลายไทยที่คนไม่เข้าใจลายไทยดีเขียนนึกว่าจ้างเด็กๆ มาเขียนอย่างที่ว่าทำเมืองไทยดูก็สมควรอยู่แล้ว แต่ครั้นได้ทราบความตามลายพระหัตถ์ซึ่งตรัสถึงญี่ปุ่นทำผ้าลายไทยเข้ามาขายทำให้เกิดสงสัยขึ้น ว่าผ้าที่ว่าทำเมืองไทยนั้นจะเปนผ้าญี่ปุ่นเสียดอกกระมัง สอบถามแม่โตก็ยืนยันว่าเปนผ้าทำเมืองไทยจริง ๆ รู้มาละเอียดว่าฝรั่งตั้งทำก่อน จ้างเจ๊กมาเปนลูกมือ แต่แล้วไม่มีกำไรจึ่งเลิก เจ๊กลูกมือรับเซ้งเอาไปทำขายต่อไป ผ้าญี่ปุ่นก็มีทำมาขายจริง แต่เนื้อเลวกว่านั้นราคาถูกมาก ทำลายปลอมผ้าลายแขก ไม่ใช่ลายไทย แต่หญิงอี่ค้านว่าลายไทยก็มี ตกลงให้ไปหาซื้อตัวอย่างมาดู แต่ยังไม่ได้มา

เมื่อวันที่ ๑๐ หญิงเป้ากลับจากปีนังไปหา นำสมุดเรื่องพระคเณศซึ่งโปรดประทานให้ดูไปให้ เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า กำลังอ่านอยู่แล้วจะกราบทูลมาภายหน้า

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา

  2. ๒. พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๕ พระองค์เจ้าหญิงเหมวดี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ