วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศ ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคมแล้ว หนังสือวิศาขบูชาว่าด้วยอิทธิบาท ๔ ซึ่งโปรดส่งประทานมาแต่ก่อน และพลัดหายไปนั้น พนักงานไปรษณีย์ก็ได้พามาส่งแล้ว เห็นจะไปลืมหลงอยู่ในสำนักงานไปรษณีย์นั่นเอง หม่อมฉันยังไม่ได้อ่านเมื่ออ่านแล้วจึงจะทูลวินิจฉัย

ความที่หม่อมฉันจะทูลสนองในลายพระหัตถ์ฉะบับนี้มีอยู่บ้าง เรื่องศิลาจารึกกัลยาณี หม่อมฉันได้ทูลวินิจฉัยต่อมาในจดหมายฉะบับลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคมนี้อีกท่อนหนึ่ง นึกว่าคงจะยุติต้องกับกระแสพระดำริจะทูลวินิจฉัยต่ออีกสักหน่อยในจดหมายฉะบับนี้ ในพงศาวดารยกย่องพระเจ้าแผ่นดินว่าเปนอุดมสาสนบัณฑิตย์ ๓ พระองค์ ถ้าเรียงลำดับโดยรัชชกาล คือพระมหาธรรมราชา พญาลิทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัย เรียกในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า “พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก” (แต่ลงศักราชผิดไป) พระองค์ ๑ พระเจ้าธรรมเจดีย์กรุงหงสาวดีพระองค์ ๑ กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์ ๑ มีหนังสือทรงพระราชนิพนธ์ยังปรากฏอยู่ทั้ง ๓ พระองค์ คือ ไตรภูมิ (พระร่วง) ของพระมหาธรรมราชา จารึกกัลยาณีของพระเจ้าธรรมเจดีย์ พระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีมาก จะยกเปนอุทาหรณ์ในที่นี้แต่ฉะเพาะเรื่อง “สีมาวิจารณ์” ซึ่งทรงแต่งในภาษามคธแต่เมื่อยังทรงผนวช ตอบปัญหาส่งมาแต่ลังกาทวีป (รวมอยู่ในหนังสือ “สมณสาสน” ซึ่งพิมพ์แจกในงานพระศพกรมหลวงพรหมวรานุรักษ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘) เมื่ออ่านหนังสือ ๓ เรื่องนั้นพอพิจารณาเห็นได้ว่าพระปรีชาญาณของพระเจ้าแผ่นดิน ๓ พระองค์นั้นผิดกันอย่างไร ว่าตามความเห็นของหม่อมฉัน เห็นว่าคงทรงทราบภาษามคธแตกฉานและเปนพหูสูตรทั้ง ๓ พระองค์ แต่ทรงพระราชวินิจฉัยผิดกัน

พระมหาธรรมราชา (ทรงแต่งหนังสือไตรภูมิ) ทรงสามารถในกระบวรเลือกเก็บความที่มีในพระไตรปิฎก มาต่อติดเรียบเรียงเปนเรื่องไม่ถือเอาเปนพระราชธุระที่จะทรงพิจารณาข้อผิดชอบของหนังสือเดิม

พระเจ้าธรรมเจดีย์นั้นทรงพิจารณาข้อผิดชอบ แต่การชี้ขาดเพียงเลือกเอาวาทะของพระอัตถกถาและฎีกาจารย์ซึ่งทรงเห็นว่าถูกต้อง

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยเอง ด้วยทรงถือว่าพระไตรปิฎกนั้นบาลีเปนหลัก อัตถกถาฎีกาเปนแต่คำวินิจฉัยของเกจิอาจารย์ จะชี้ขาดต้องพิจารณาตัวบาลีเปนหลัก หรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง อาจทรงคัดค้านทั้งอัตถกถาและฎีกาในเมื่อทรงพระราชดำริเห็นว่าไม่ตรงกับบาลี ผิดกันดังนี้ ทูลเปนอธิบายนอกเรื่อง

เรื่อง “นางจรัล” ที่โปรดประทานพระวินิจฉัยมานั้น หม่อมฉันเห็นชอบด้วยทุกประการ แต่ได้คัดสำเนาส่งไปให้หญิงสิบพันในคราวเมลนี้ ด้วยเธอกลับไปกรุงเทพฯ แล้ว หม่อมฉันเกิดอยากจะช่วยวิจารณ์ตามเสด็จเนื่องในเรื่องนางจรัลต่อไป

คำว่า “โตรณ” ก็ดี “ปราการ” ก็ดี เปนคำมาแต่ภาษามคธ คำว่า (นาง)จรัล” ก็น่าจะมาแต่ภาษาอื่น เพราะเหตุใดไทยจึงเอาคำเหล่านี้มาใช้ จะเข้าใจว่าเพราะไม่เคยมีเครื่องป้องกันศัสตรูมาแต่ก่อนก็ไม่ได้ และมีคำภาษาไทยสำหรับเรียกอยู่แล้วว่า “ค่าย คู ประตู หอรบ” รวมสิ่งซึ่งสร้างสำหรับป้องกันศัสตรูอยู่ใน ๔ คำนี้ทั้งหมด ยังมีรอยที่ตั้งทัพรบศึกครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปรากฏอยู่ในแขวงจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี รอยที่ตั้งทัพครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกรบพะม่า ก็ยังปรากฎอยู่ที่เมืองไทรโยค ดูลักษณเหมือนกันหมด เห็นได้ว่าเมื่อทำนั้นขุด “คู” รอบเอาดินที่ขุดขึ้นพูนทำเชิงเทินข้างในตลอดแนวคู มี “ประตู” ทางเข้าออกเปนระยะ ทำเชิงเทินยื่นออกไปเปน “หอรบ” เปนระยะสำหรับยิงศัสตรูทางด้านสกัด ที่บนเชิงเทินเอาไม้ปัก “ค่าย” บังตัวคนที่ต่อสู้มิให้ถูกศัสตราวุธ และบังตาศัสตรูด้วย ที่ตั้งทัพที่เราเรียกรวมว่า “ค่าย” ประกอบด้วยองค์ ๔ อันมีชื่อเรียกในภาษาไทยดังกล่าวมา เมืองโบราณก็สร้างทำนองเดียวกับ “ค่าย” นั่นเอง ผิดกันแต่ทำเปนของถาวร จะยกตัวอย่างเช่นเมืองอู่ทองมีคูและเชิงเทินเปนแต่รอยถมดิน ไม่มีอะไรก่อไว้บนนั้น ส่อว่าเดิมคงปักระเนียดไม้ก่อศิลาแลงแต่ที่ประตู ส่วนเมืองกำแพงเพ็ชรนั้นเมื่อเขาถางแล้วหม่อมฉันได้ไปดู เห็นก่อกำแพงใบเสมาแต่บนยอดเนิน คือแทนไม้ระเนียดอย่างเก่า ที่เมืองสุโขทัยก็เปนเช่นนั้นเหมือนกัน พระยาโบราณ ฯ สันนิษฐานว่าพระนครศรีอยุธยาเดิมก็เช่นนั้น มาแก้เปนก่อกำแพงทางด้านนอกถมดินเปนเชิงเทินข้างใน เมื่อรัชชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ คำว่า “ปราการ” น่าจะเริ่มใช้สำหรับเรียกกำแพงเมืองเมื่อก่อทั้งหมดอย่างว่ามาดอกกระมัง เมื่อเรียกกำแพงอย่างใหม่ว่า “ปราการ” จึงเรียกใบเสมาว่า “นางจรัล” ตัวคำว่า “สีมา” หรือ “เสมา” แปลว่าเครื่องหมายเขตต์ ที่เรียกเครื่องบังตัวบนกาแพงเมือง เปนปากตลาดกันว่า “เสมา” น่าจะเอารูปมาเรียกดอกกระมัง นี่เปนทูลโดยเดา

เรื่องลานทองคำจารึกกรรมวาจา ที่พระเจ้าบรมโกศพระราชทานไปเมืองลังกานั้น หม่อมฉันมาคิดเห็นเค้าเงื่อนขึ้นใหม่เมื่อส่งจดหมายฉะบับก่อนไปถวายท่านแล้ว เห็นว่าน่าจะเปนประเพณีเดิมของลังกาที่ใช้อ่านกรรมวาจา มอญจะไปได้มาแต่ครั้งพระเจ้าธรรมเจดีย์ แต่ทางกรุงศรีอยุธยาใช้สวดปากเปล่ามาแต่เดิม จึงมีคู่สวด ๒ องค์ป้องกันอักขรวิบัติ เมื่อพระเจ้าบรมโกศโปรด ฯ ให้พระอุบาลีกับคณะสงฆ์ออกไปให้อุปสมบทในลังกาทวีป ทรงทราบว่าพวกลังกาเคยใช้อ่านกรรมวาจามาแต่ก่อน จึงโปรด ฯ ให้สร้างคัมภีร์ลานทองคำจารึกกรรมวาจาประทานไป แต่หม่อมฉันเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้พระลังกาก็ใช้สวดปากเปล่า ไม่ใช้อ่านกรรมวาจาให้อุปสมบทแล้ว ถ้าเปนเช่นนั้นจริง ก็น่าจะเปลี่ยนมาเปนอย่างไทยเมื่อพระอุบาลีไปให้อุปสมบทนั้นเอง เพราะปรากฏในจดหมายเหตุครั้งนั้นที่ลังกาแต่งไว้ว่าพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหตรัสขอให้พระอุบาลีกับสงฆ์ไทย ให้อุปสมบทอย่างไทยแก่สามเณรไทยที่ไปด้วยให้พวกลังกาเห็นก่อน พระอุบาลีให้สวดด้วยปากอย่างไทย พวกลังการับปฏิบัติตามจึงมิได้ใช้อ่านกรรมวาจาต่อมา

ในคราวเมล์นี้หม่อมฉันถวายเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามาอีกท่อนหนึ่งเปนหมดตอนที่ ๓ จะตั้งต้นตอนที่ ๔ ในคราวหน้าต่อไป ได้ถวายรูปฉายเนื่องกับเรื่องที่พรรณนามาในคราวนี้ ๔ รูป คือ

๑. รูปลานพระมุเตา

๒. รูปมนุษยสิงห์ที่ในลานพระมุเตา

๓. รูปหมู่ถ่ายกับกรรมการรักษาพระมุเตา

๔. รูปหมู่ถ่ายที่บ้านเจ้าเมืองหงสาวดี

แต่รูปพระมุเตาเมื่อยังเปนปกติและที่เห็นพังอย่างไร หม่อมฉันได้ถวายไปแต่ก่อนแล้วหลายแผ่น ขอให้ทรงเอามารวมไว้ในตอนนี้

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ