วันที่ ๙ เมษายน ๒๔๗๙ ดร

Khaw Joo Tok’s House,

Penang Hill, Penang. S.S.

วันที่ ๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

เวลานี้หม่อมฉันขึ้นมาอยู่ที่เรือนของพระยารัตนเศรษฐีที่บนเขา คิดว่าจะพักอยู่สัก ๒ สัปดาหะ เพราะที่ในเมืองปีนังกำลังอากาศร้อน และเปนเวลาว่างการเรียน จะพาลูกหลานมาเปลี่ยนอากาศด้วย อีกประการหนึ่งพระองค์หญิงอดิศัยสุริยาภากับคุณจอมมารดา จะมาเที่ยวถึงปีนัง หม่อมฉันเชิญให้พักที่ Cinnamon Hall หม่อมฉันขึ้นมาอยู่บนเขาทางโน้นจะได้มีห้องว่างให้ประทับสบาย เหมือนพระองค์หญิงอาทรทิพยนิภาเสด็จมาเมื่อหม่อมฉันไปเมืองพะม่า ที่บ้านบนเขานี้อากาศเย็นสบายดี เมื่อกลางคืนวันที่ ๗ ปรอท ๗๖ ไม่หนาวจัดเหมือนที่ Cameron Highlands ที่หม่อมฉันไปเที่ยวกับทูลกระหม่อมชาย จะขึ้นลงก็ใช้รถรางสดวกด้วย มาจากซินนะมอนฮอลเพียง ๔๕ นาทีก็ถึง ไม่ต้องทรงแก้ไขที่ส่งลายพระหัตถ์ในเวลาที่หม่อมฉันอยู่บนเขานี้

หม่อมฉันหวังใจว่าเสด็จแปรสถานไปอยู่หัวหิน จะทรงเปนสุขสำราญดีด้วยกันกับทั้งพระญาติ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๔ เมษายน ขอทูลเพิ่มเติมแก้ข้อที่ทรงทักท้วงมาบางข้อ คือเรื่องตำนานพระเกศธาตุนั้น หม่อมฉันเขียนขาดความไปหน่อยหนึ่งตรงที่ว่าช่างฝรั่งได้ตรวจเห็นรอยก่อเพิ่มถึง ๗ ครั้งนั้น เขาได้บอกว่าในหนังสือนำทางว่าเข้าไปดูทางช่องที่ฐานพระเจดีย์คราก แต่หม่อมฉันมิได้ลงข้อนั้นไว้ อีกแห่งหนึ่งตรงที่ว่านางพระยาตะละเจ้าเท้าถมลานพระธาตุให้สูงขึ้น ๘ วานั้น หม่อมฉันควรจะใช้คำว่า “ฉายที่ทำลายพระธาตุ” เพราะภาษาอังกฤษเขาใช้แต่ว่า Make น่าจะหมายความว่าทำลายยอดเนินที่ใกล้เคียงลงมากลบเขี่ยให้เปนพื้นที่แผ่นเดียวกัน

คำที่มอญเรียกพระเกศธาตุตามที่ทรงสืบได้ความมาจากพระสุเมธมุนีนั้น หม่อมฉันตีความว่ามอญคงเรียกแต่ว่า “กยัต ตะเกอง” อยู่ก่อนมาเปลี่ยนเรียกว่า “ธาตุสก” เมื่อเกิดคติเชื่อกันว่าบรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้าไว้ในพระเจดีย์นั้น ไทยเรารับคำนั้นมาจึงเรียกว่า “พระเกศธาตุ” แต่พะม่าเรียกตามมอญมาแต่ชั้นเดิม คาถาที่ท่านสุเมธถวายมานั้น เห็นมอญจะแต่งขึ้นเทียบคาถาว่าด้วยพุทธบริขารไปตกอยู่ณเมืองต่าง ๆ ในอินเดีย อันมีอยู่ในหนังสือปฐมสมโพธิ (หรือเรื่องอื่นที่หม่อมฉันได้เห็น แต่จำไม่ได้แน่ในเวลานี้)

เรื่องนรสิงห์แบบไทยที่ทำเปนคนครึ่งตัว มีหล่อตั้งไว้ที่หน้าปราสาทพระเทพบิดร พระองค์ประดิษฐ์หล่อตามตำราภาพสัตว์พิมพาน ซึ่งหม่อมฉันสงสัยว่าคิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทรนี้ หรือถ้าก่อนขึ้นไปก็เพียงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา นึกหาภาพเก่ากว่านั้นขึ้นไปอีกไม่ได้ มีแต่ภาพนกหัวเปนมนุษย์ที่เราเรียกกันว่า “อรหันต์” กับ “กินร” ที่ทำเปนคนกับนกปนกัน แต่ก็ไม่ตรงกับกินรในชาดกเรื่องพระสุธน ในชาดกว่ากินรรูปร่างเหมือนมนุษย์ เปนแต่มีปีกหางสำหรับสวมตัวเวลาบิน จะถอดหรือใส่เมื่อใดก็ได้

เรื่องเทวดานพเคราะห์ของพะม่า หม่อมฉันก็ทูลความขาดไป เพราะพึ่งนึกขึ้นได้เมื่อส่งจดหมายไปถวายแล้ว คือเมื่อหม่อมฉันไปเมืองหงสาวดี พวกกรรมการเขาพาไปที่คลัง ให้ดูของต่าง ๆ ที่เคยอยู่กับองค์พระมุเตาเมื่อก่อนพัง เห็นยอดฉัตรพระเจดีย์มีธงชัย ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ที่ยอดพระเกศธาตุก็มีเหมือนกัน หม่อมฉันสำคัญว่าทำไว้สำหรับดูทางลมเหมือนเช่นฝรั่งทำเปนรูปลูกศร แต่ก็นึกฉงนอยู่ว่าทำธงเล็กเท่านั้น คนอยู่กับแผ่นดินที่ไหนจะแลเห็นชัด พึ่งมาคิดได้ว่าหม่อมฉันเขวไปเอง ที่จริงนั้นคงหมาย “พระเกตุ” ทำไว้สูญกลางให้ครบนพเคราะห์ ขอให้ทรงพระดำริดูเถิด

พะม่ายังเชื่อคติโบราณ “อย่างซึมทราบ” อยู่มาก หม่อมฉันเข้าใจว่าพะม่ายังถือว่าเปรตเปนอ้ายตัวสูงโย่งเย่งทั้งนั้น แม้ไทยเราถ้าจับตามเรียงตัวในเวลานี้ แปดหรือเก้าในสิบคนก็เห็นจะเชื่อเช่นนั้นที่รู้ว่าหมายความว่าผู้ตายแล้วทั่วไปจะมีน้อยและน่าจะพึ่งมีไม่ก่อนรัชชกาลที่ ๔ เท่าใดนัก เพราะในหนังสือเรียนภาษามคธเช่นคัมภีร์ธรรมบทเปนต้น เมื่อกล่าวอธิบายเรื่องเปรตก็มักจะให้เข้าใจไปทางนั้น

หม่อมฉันถวายหนังสือเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามากับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อนหนึ่งขึ้นตอนที่ ๓ ว่าด้วยเที่ยวเมืองหงสาวดี ตอนนี้ก็จะมีต่อไปอีกท่อนหนึ่งหรือสองท่อนจึงจะหมดตอน รูปฉายาลักษณ์ที่ถวายมาในคราวนี้เปนรูปพระมุเตาพัง ๒ แผ่น ดูเหมือนจะได้เคยถวายแล้วแต่ก็ไม่เปนไร หม่อมฉันกำลังหาสมุดอาลบั้มสำหรับปิดรูปที่ถวายเปนคราว ๆ จะถวายสมุดอาลบั้มรูปนี้ในวันเฉลิมพระชันสาของท่านในปีนี้ ขออย่าทรงซื้อสมุดอัลบั้มและจงทรงปิดรูปที่ได้ถวายไปแล้วกับที่จะถวายต่อไปในเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าในสมุดเล่มนั้นจนกว่าจะตลอดเรื่อง

เมื่อณวันจันทรที่ ๖ เมษายนนี้ กรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่า เขาส่งรูปฉายาลักษณ์ตามมาให้หม่อมฉันชุด ๑ เปนรูปเฟรสโคพวกมหายานเขียนไว้ในวิหารเมืองพุกาม ๓ แห่งตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้าอนิรุทธ เมื่อหม่อมฉันไปเห็นชอบใจ ถามเขาว่าได้จำลองเปนรูปฉายาลักษ์ไว้หรือไม่ เขาบอกว่าได้จำลองไว้ หม่อมฉันอยากได้เขาจึงพิมพ์ส่งมาให้และบอกมาให้ทราบว่ากรมตรวจโบราณคดีในอินเดีย ห้ามมิให้ใครอื่นจำลองออกโฆษณา หม่อมฉันได้รับรูปเหล่านั้นภายหลังคนของหม่อมฉันขึ้นรถไฟกลับไปสักครึ่งชั่วโมงเท่านั้น มิฉะนั้นก็จะได้ฝากมาถวายทอดพระเนตร์ในวันนั้นเอง นี่จะต้องรอจนหาคนฝากที่ไว้ใจได้จึงจะส่งเข้าไปถวาย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา

  2. ๒. เจ้าจอมมารดาอ่อน (บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๕

  3. ๓. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ