เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๘ เรื่องเที่ยวเมืองแปร (ท่อนที่ ๒)

เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกา (วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ นั้น) ไปบูชาพระมหาธาตุสิงคุดร Shwe Sandaw พวกกรมการพะม่าทั้งลูกเมียและคนนำทางที่ไปเมืองสารเขตร์ด้วยกันเมื่อตอนเช้ามาไปด้วยอีก และจัดเครื่องสักการะไปให้พวกเราบูชาด้วย เมื่อไปถึงแลดูบริเวณวัดพระมหาธาตุสิงคุดร ก็เปนเค้าเดียวกันกับวัดพระเกศธาตุและมุเตา คือที่หน้าบันไดทางขึ้นเนิน (จะมีกี่ทางฉันไม่ได้สังเกต) ก่อรูปสิงห์ใหญ่โตไว้คู่หนึ่ง ประตูทางขึ้นทำเปนศาลายอดปราสาท ทางขึ้นบันไดต่อไปเปนฉนวนหลังคาซ้อนกันขึ้นไป ทำเปนศาลายอดปราสาทคั่นเปนระยะ สองข้างทางตั้งร้านขายของ มีทางประทักษิณชั้นหนึ่งก่อนจึงถึงลานพระเจดีย์ แต่เนินเขาเตี้ยกว่าและองค์พระมหาธาตุสิงคุดรก็ย่อมกว่าพระเกศธาตุและพระมุเตา เรื่องตำนานพระมหาธาตุสิงคุดรเริ่มต้นก็อ้างเนื่องถึงเรื่องพระพุทธประวัติเหมือนกันว่าในกาลครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ ประทับอยู่ที่เกาะ “เชงคยัน” Zeng Gyan ในแถวนั้น มีพระยานาคมาเฝ้าด้วยความเลื่อมใส แล้วทูลขอสิ่งอนุสสรณ์ไว้สักการะบูชา พระพุทธองค์ตรัสว่าได้ประทานพระเกษาแก่บุรุษพี่น้อง ๒ คน ชื่อ ตะปุสสะ กับ ผลิกะ ชาวเมืองสะเทิมไว้ให้สร้างพระเกศธาตุแล้ว พระยานาคกราบทูลขอให้มีที่บูชาเช่นนั้นอีกสักแห่งหนึ่ง ถ้าไม่ประทานสิ่งอนุสสรณ์แก่ตนก็ขอเพียงให้ได้รับรักษาไว้ให้แก่บุรุษตะปุสสะ และผลิกะ พระพุทธองค์จึงทรงเสยพระเกษาประทาน ๓ เส้น ฝ่ายพระยานาคก็เอาหีบแก้วมรกฎรับเส้นพระเกษาไปประดิษฐานไว้บนยอดไม้ต้นหนึ่ง ครั้นบุรุษตะปุสสะกับผลิกะไปถึงที่นั้นเห็นรัศมีส่องสว่างอยู่บนยอดไม้ ขึ้นไปพบเส้นพระเกษาเหมือนอย่างพระพุทธองค์เคยประทานแก่ตนแต่หนหลังก็ช่วยกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นบรรจุเส้นพระเกษาไว้ที่บนยอดเนินเขานั้น แต่เมื่อบุรุษทั้ง ๒ กลับไปได้ ๗ วัน พระเจดีย์องค์นั้นจมลงในแผ่นดินหายไปเสีย จนถึงสมัยพระเจ้าทุตตะบองครองประเทศนั้น ทรงเลื่อมใสในพระพุทธสาสนาได้ทราบเรื่องแต่หนหลัง จึงตั้งอธิษฐานอัญเชิญพระเกศธาตุพระเจดีย์ก็โผล่กลับขึ้นมาประดิษฐานอยู่อย่างเดิม พระเจ้าทุตตะบองจึงทรงสร้างเปนพระมหาธาตุสำหรับบ้านเมือง และพระเจ้าแผ่นดินภายหลังก็ทรงปฏิบัติบูชาสืบมา มีรายการปรากฏในพงศาวดารพะม่าชั้นหลัง ว่าพระเจ้าอลองพระได้ปิดทองทั้งองค์เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ และต่อมาพระเจ้าสารวดี (พระชนกของพระเจ้ามินดง) ได้ทรงบุรณปฏิสังขรณ์ ให้ทำฉัตรใหญ่ปักบนยอดและปิดทองใหม่ทั้งองค์พระเจดีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ อีกครั้งหนึ่ง พิเคราะห์ตามรายการที่ว่ามาประกอบกับรูปทรงพระมหาธาตุสิงคุดรดูชอบกล ด้วยรูปพระสิงคุดรผิดกับพระเกศธาตุและพระมุเตาทั้ง ๒ องค์ ตอนล่างตั้งแต่ชั้นทักษิณขึ้นไปจนถึงหลังองค์ระฆังดูรูปทรงคล้ายกับพระมหาธาตุชินคงที่เมืองพุกามหรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่งดูเปนรูปพระเจดีย์พะม่า ต่อพ้นองค์ระฆังขึ้นไปจึงขยายยอดให้สูงและทำใหญ่เกินส่วนเพื่อจะปักฉัตรใหญ่ซึ่งทำขึ้นใหม่ สมกับกล่าวในตำนานว่าลักษณพระมหาธาตุเช่นเปนอยู่ทุกวันนี้พระเจ้าสารวดีทรงปฏิสังขรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ ขนาดพระมหาธาตุสิงคุดรสูงแต่พื้นลานขึ้นไปจนถึงยอดฉัตรสูง ๓๕ วา ในลานรอบองค์พระมหาธาตุมีวิหารทิศที่บูชาและมีต้นไม้เงินทองรายรอบฐานพระเจดีย์ มณฑปสำหรับไว้พระพุทธรูปก็มีมากแต่สร้างข้างด้านนอกชาลาลานทักษิณทั้งนั้น สร้างรายเรียงเปนหลายแถวมีทางเดินระหว่างมณฑปออกไปถึงศาลารายซึ่งอยู่ภายนอกที่สุด ปลาดตาอยู่อย่างหนึ่งที่พระพุทธรูปตั้งตามมณฑป ฝีมือทำงาม น่าชมมีมากกว่าที่ไหน ๆ หมด แต่เปนแบบพระสมัยชั้นหลัง มีทั้งพระหล่อทองสัมฤทธิ์และพระศิลาขาว ชรอยจะมีช่างฝีมือดีกว่าเมืองอื่น ๆ อยู่ที่เมืองแปรในสมัยอันหนึ่ง น่าชมอีกอย่างหนึ่งที่วัดพระมหาธาตุสิงคุดรยังบริบูรณ์ไม่ถูกไฟไหม้หรือแผ่นดินไหว ได้เห็นของเก่ายังดีอยู่โดยมาก มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่อเปนอย่าง “พระโต” อยู่ที่เชิงเนินองค์หนึ่งขนาดสักเท่าพระพุทธรูปที่วัดไชโย สร้างไว้กลางแจ้งดูลักษณจะไม่ใช่ของเก่าแก่นัก เดี๋ยวนี้พวกสัปรุษกำลังทำวิหารเสาเหล็กโปร่งอย่างที่วัดพระนอน ณ เมืองหงสาวดี ยกเสาขึ้นไว้บ้างแล้ว เมื่อดูวัดพระมหาธาตุสิงคุดรแล้วกลับลงมาขึ้นรถเที่ยวดูเมืองจนจวนพลบจึงกลับที่พัก กรมการเขาจัดตำรวจพะม่าหมวดหนึ่งมาอยู่ประจำให้เปนเกียรติยศ ดูเหมือนจะเลือกคัดคนที่นับเปนชั้นดีของเขามาอวดด้วย ดูล้วนกำลังหนุ่มฉกรรจ์ท่าทางขึงขัง คล่องแคล่ว มีเหรียญติดเสื้อแทบทุกคน เห็นจะได้ทำความชอบเมื่อครั้งปราบพวกขบถที่ฉันเล่าเรื่องมาแล้ว พอถึงตัวนายที่คุมหมวดก็เข้ามารายงานบอกให้ทราบ ว่าจะมาอยู่ประจำรักษาพระองค์ ได้ตอบขอบใจและเดินผ่านแถวตามธรรมเนียม

ค่ำวันนี้มองโปกินหัวหน้ากรมการที่ต้อนรับเขาขอเชิญพวกเราไปกินอาหารที่บ้านเขา ว่าจะเลี้ยงอย่างพะม่าพวกเราก็รับเชิญด้วยยินดีเพราะนึกอยากจะเห็นการกินของพะม่าอยู่แล้ว พอเวลา ๒๐ นาฬิกาก็ไปพร้อมกัน เขาเชิญมองกยออูผู้พิพากษาที่เมืองแปร (คนนี้เปนชาวยักไข่ ได้เปนเนติบัณฑิตย์อังกฤษ) และภรรยา และมองโปสันนายตำรวจรองตัวเขากับทั้งภรรยา มาเปนแขกด้วย นอกจากนั้นก็มีแต่พวกเรากับพวกเจ้าของบ้านทั้งตัวและภรรยากับลูกสาวอีก ๒ คน การเลี้ยงเห็นจะจัดบรรจงมาก เวลาแขกไปพร้อมกันแล้วบ่าวยังมาเชิญเมียเจ้าของบ้านไปครัวถึง ๒ ครั้ง แต่อาหารพะม่าที่เขาเลี้ยงดีผิดคาดหมาย ทั้งปลาดใจที่กับเข้าพะม่าเหมือนอย่างกับไทยที่กินกันในกรุงเทพฯ มากด้วยลักษณการเลี้ยงนั้นตั้งกับเข้าเรียงไว้เต็มบนโต๊ะ มีทั้งแกงเผ็ด แกงจืด ผักจิ้มน้ำพริกกินกับปลาย่าง แต่น้ำพริกพะม่าเรียกว่า “งาปิ” (คำเดียวกับ “กะปิ” ของเรานั้นเอง) และมีของผัดพริกขิงและยำทอดผัดอย่างอื่นอีก พอเรานั่งโต๊ะคนรับใช้ก็ยกชามเข้าจ้าวมาให้เราตักแบ่งลงจานที่ตั้งตรงหน้าเรา ใครจะกินกับเข้าสิ่งไหนก็เลือกกินตามชอบใจ ปรุงรสกับเข้ากินอร่อยดีด้วย ผิดกันกับไทยแต่พะม่าไม่กินของหวาน (เช่นเดียวกับพวกมณฑลพายัพ) แต่วันนี้เขาหาของหวานอย่างฝรั่งมาเลี้ยง

เมื่อเลี้ยงแล้วออกมานั่งพูดจากันต่อไป ฉันปรารภขึ้นว่าฉันไปเมืองพะม่าได้พบผู้คนและเห็นของต่างๆ พอใจมาก ขาดอยู่อย่างเดียวแต่ที่ไม่ได้เห็นการฟ้อนรำของพะม่า ฉันได้ยินว่ามีกระบวรฟ้อนรำอย่างหนึ่งซึ่งพะม่าได้ไปจากเมืองไทย พวกที่มากินเลี้ยงเขาบอกว่ามีละคอนโรงใหญ่ของมองโปซินตัวละคอนสำคัญในเมืองพะม่ามาเล่นอยู่ที่เมืองแปรหลายวัน วันฉันไปถึงเขาเล่นเปนครั้งสุดท้าย พวกกรมการเขาได้ปรึกษากันว่าจะควรเชิญฉันไปดูหรือไม่ แต่เห็นกันว่าฉันเดินทางมาถึงจนค่ำมืดเห็นจะเหน็ดเหนื่อยให้พักเอาแรงจะดีกว่า จึงมิได้บอกให้ทราบ ฉันตอบว่าเสียดายที่เขาไม่ได้บอก ถ้ารู้ก็คงไปดูเพราะฉันมาทางเรือไม่เหน็ดเหนื่อยอย่างไร ขณะนั้นมองกยออูผู้พิพากษาพูดขึ้นว่าดูเหมือนตัวมองโปซินยังอยู่ในเมืองแปร จะไปลองพูดจาหาโอกาสให้ฉันได้ดูละคอนแล้วขึ้นรถไปพวกที่ยังนั่งอยู่เขาเล่าเรื่องประวัติของมองโปซินให้ฉันฟัง ว่าเปนนายโรงมีชื่อเสียงมาแต่ยังหนุ่ม ว่าในการเล่นละคอนไม่มีตัวสู้ มองโปซินเล่นละคอนหาเงินได้มากจนสามารถเลิกเล่นละคอนไปตั้งตัวทำมาหากินอยู่คราวหนึ่ง แต่ทีหลังไปเข้าหุ้นตั้งบริษัทค้าขายด้วยกันกับผู้อื่น เผอิญบริษัทนั้นล้มละลายมองโปซินสิ้นทรัพย์หมดตัว จึงต้องกลับมาหาเลี้ยงชีพด้วยเล่นละคอนอีก รวบรวมคนทั้งชายหญิงได้สัก ๕๐ คนเที่ยวเล่นไปตามเมืองและตำบลต่างๆ คนยังติดมองโปซิน เล่นที่ไหนก็มักมีคนไปดูมาก แต่ส่วนตัวมองโปซินเองนั้นอายุได้ ๕๘ ปีแล้วบ่นว่าเล่นมิใคร่ไหว ถ้าได้เงินพอเลี้ยงตัวเมื่อใดก็จะเลิก มองกยออูผู้พิพากษาหายไปสักครึ่งชั่วโมงกลับมาบอกว่าได้ไปพบตัวมองโปซิน ๆ อยากรำให้ฉันดูนัก ว่าพะม่าที่รำอย่าง “โยเดีย” ได้เดี๋ยวนี้มีน้อยตัว กระบวรรำอย่างโยเดียในเมืองพะม่าจวนจะสูญอยู่แล้ว แต่จนใจด้วยไม่รู้ว่าฉันจะมา ได้ส่งเครื่องโรงและพวกละคอนไปยังเมืองจองเดเสียแล้ว และได้ประกาศที่เมืองจองเดว่าจะเล่นพรุ่งนี้เปนคืนแรกด้วย พวกกรมการปรึกษากันเห็นอุบายอย่างหนึ่งซึ่งจะให้ฉันได้ดูละคอนสมประสงค์ เพราะเวลารถไฟที่ฉันจะกลับเมืองร่างกุ้งกำหนดจะออกจากสถานีเมืองแปรเวลา ๒๑ นาฬิกาครึ่ง และจะไปถึงเมืองจองเดเวลา ๒๓ นาฬิกา ถ้าฉันไปจากเมืองแปรด้วยรถยนต์แต่เวลา ๑๙ นาฬิกาจะถึงเมืองจองเดราว ๒๑ นาฬิกา มีเวลาพอจะดูละคอนได้สัก ๒ ชั่วโมง แล้วจึงขึ้นรถไฟที่เมืองจองเดกลับเมืองร่างกุ้งฉันเห็นชอบด้วยก็เปนอันตกลงกันอย่างนั้น

วันพฤหัสบดีที่ ๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าพวกกรมการเขากะให้ไปดูตลาด ฉันให้แต่พวกเจ้าหญิงไป ส่วนตัวฉันอยู่กับเรือนที่พักด้วยมีกิจจะเขียนจดหมายตอบขอบใจเจ้าเมืองแปร และมีข้าราชการพะม่าที่เปนปลัดเมืองแปรมาหาด้วย เขาบอกว่ากลับมาจากเที่ยวตรวจราชการก็เลยมาหาดูยังหนุ่มพูดภาษาอังกฤษคล่องเห็นจะเปนเนติบัณฑิตย์ที่ได้ไปเรียนมาจากยุโรป กิริยาอัชฌาสัยก็เรียบร้อยดี สนทนากันในทางสุนทรกะถาเปนพื้น แต่มีคำถามของเขาคำหนึ่งซึ่งฉันออกปลาดใจ ถามว่าฉันคิดว่ายี่ปุ่นจะเอาเมืองพะม่าด้วยหรือไม่ ความที่พะม่าหวาดเสียวในเรื่องนี้ฉันเคยได้ยินแต่เมื่อแรกถึงเมืองร่างกุ้ง ฝรั่งคนหนึ่งบอกว่ามีญี่ปุ่นที่ไปตั้งค้าขายอยู่ในเมืองพะม่ากำลังหาซื้อที่บ้าน พูดอวดว่าในไม่ช้าเมืองพะม่าก็จะเปนของญี่ปุ่น ฉันเห็นว่ามันเปนแต่คำเล่าลือหลอกหลอนกัน ก็ไม่ได้นำพา เมื่อปลัดเมืองแปรถามเรื่องญี่ปุ่นขึ้นอีก ฉันจึงตอบว่าพวกญี่ปุ่นเขาจะคิดอย่างไรนั้นฉันไม่สามารถจะคาดได้ แต่เห็นว่าเมืองพะม่านั้นอังกฤษถือว่าที่สำคัญในอาณาเขตต์แห่งหนึ่ง เพราะเปนแหล่งน้ำมันดิบเปนต้น ถ้าญี่ปุ่นจะเอาเมืองพะม่าก็ต้องรบกับอังกฤษก่อน การที่รบกันนั้นญี่ปุ่นจะต้องยกกองทัพเรือมาไกลมากนัก เห็นยากที่จะมาแย่งเมืองพะม่าจากอังกฤษได้ ต่อเมื่อเขาไปแล้วฉันจึงนึกเฉลียวใจ ว่าบางทีข่าวที่หนังสือพิมพ์เคยลือว่าไทยจะยอมให้ญี่ปุ่นขุดคลองกระจะเปนเหตุให้พวกพะม่าระแวงว่าไทยจะช่วยญี่ปุ่นตีเมืองพะม่าข้างทางบกดอกกระมัง จึงอุบายถามหยั่งดูเลศนัย

บ่ายวันนั้นพวกเราสาละวนเก็บของลงหีบจะเดินทางไม่ได้คิดจะไปไหน แต่เมียผู้พิพากษาเอารถมารับเจ้าหญิงชวนให้ไปเที่ยว จะบอกปัดก็เกรงใจจึงสมมตให้หญิงพูนกับหญิงพิลัยไปกับเขา แต่ที่จริงไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน พาตรงไปยังบ้านผู้พิพากษาที่อยู่บนเขาด้วยเขาเตรียมจะเลี้ยงน้ำชา แต่เมียมาบอกเปนชวนไปเที่ยว กลับมาพร้อมกันจนจวนค่ำ รีบกินอาหารเย็นแต่ ๑๘ นาฬิกา กินแล้วแต่งตัวพอเสร็จพวกกรมการและผู้พิพากษากับทั้งลูกเมียก็พร้อมกันเอารถมารับออกจากที่พักเมืองแปรเวลา ๑๙ นาฬิกา มีรถตำรวจนำหลังหนึ่งรถพวกเราตาม ๔ หลัง หนทางที่มาดูเหมือนเลียบฝั่งแม่น้ำเอราวดีลงมาสักครึ่งชั่วโมงแล้วถนนจึงโอนเข้าข้างใน แต่ภูมิที่จะเปนอย่างไรแลไม่เห็นชัดด้วยเปนเวลากลางคืน ผ่านหมู่บ้านใหญ่ ๆ ในระหว่างทางสักสองสามหมู่ จุดไฟฟ้าตามถนน (เพราะมีเทศบาล) บ้างไม่มีไฟฟ้าบ้าง ถึงเมืองจองเดสังเกตดูมีบ้านช่องแน่นหนาถนนหนทางก็มีหลายสายล้วนจุดไฟฟ้า เห็นจะเปนที่มีผู้คนและการค้าขายมากรัฐบาลจึงเอาสถานที่ว่าการจังหวัดแปรมาตั้งที่นั่น พวกเราไปถึงโรงละคอนก่อนเวลา ๒๑ นาฬิกาสัก ๑๐ นาที พอเหมาะดี มีพวกกรมการเทศบาลเมืองจองเดมารับถึงที่จอดรถทั้งคณะ ทางที่เดินต่อไปถึงโรงละคอนก็มีโคมรายและให้พวกพลสำหรับดับเพลิงยืนแถวเปนกองเกียรติยศรับทั้ง ๒ ข้างทาง นายกเทศบาลพาพวกเราเข้าไปยังที่นั่งที่จัดไว้ในโรงละคอน มีน้ำร้อนน้ำเย็นหมากบุหรี่ตั้งเตรียมรับไว้เสร็จ

โรงละคอนนั้นอยู่ในที่ว่างห่างบ้านเรือน จะเปนทุ่งหรือสนามไม่เห็นถนัด ปลูกเปนโรงสำหรับเล่นชั่วคราว คล้ายกับเตนต์ละคอนม้าขนาดก็จะเท่าๆ กัน แต่ทำด้วยเครื่องไม้มุงจากฝา แผงรอบมีประตูคนดูเข้าทางด้านสกัดด้านหนึ่ง เวทีที่เล่นละคอนและห้องแต่งตัวละคอนอยู่ทางด้านสกัดอีกด้านหนึ่ง ที่นั่งของคนดูอยู่กับพื้นดินตอนกลาง แต่จัดแปลกอยู่ด้วยเก้าอี้ที่นั่งของคนดูชั้นที่ ๑ ที่ ๒ นั่ง ตั้งที่เฉลียงโรง ที่ในประทานตรงหน้าเวทีเปนที่สำหรับพวกซื้อตั๋วชั้นที่ ๓ ที่ ๔ นั่งดูกับพื้น ลักษณที่แบ่งสองชั้นนี้ก็แปลก คนดูชั้นที่ ๓ เสียค่าเข้าเท่ากับพวกชั้นที่ ๔ แต่ต้องเสียค่าเช่าเสื่อเพิ่มอีกโสดหนึ่ง มีสิทธิที่จะเอาเสื่อปูข้างหน้า และนั่งเสื่อพวกละผืนไม่ต้องเบียดเสียดกับพวกอื่น พวกชั้นที่ ๔ นั้นนั่งกับพื้นดินปะปนกันอยู่ข้างหลัง ตัวเวทีเหมือนอย่างละคอน “ปราโมทัย” ของเราหมดไม่ต้องพรรณนา พวกปี่พาทย์อยู่ข้างหน้าเวที แต่เวลาเล่นละคอนพะม่าผิดกับไทย ลงโรงเวลา ๒๑ นาฬิกาเล่นไปจนรุ่งสว่างจึงเลิกเปนนิจ เขาบอกว่าถ้ามิฉะนั้นคนอยู่ตามบ้านนอกไม่มาดู ว่าได้ดูน้อยเสียเปรียบพวกชาวคนในเมือง เพราะประสงค์จะดูมองโปซินด้วยกันทั้งนั้น มองโปซินต้องแบ่งเวลาเล่นตอนหัวค่ำครั้งหนึ่งแล้วไปนอนเสีย ให้คนอื่นเล่นไปจนดึกจึงตื่นขึ้นแต่งตัวกลับมาเล่นอีกครั้งหนึ่ง แต่อาจจะเปนธรรมเนียมเดิมฉันเคยได้ยินพระอรัญรักษา (ซอเหลียง) กรมป่าไม้เล่า เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าละคอนเล่นในวังก็เล่นคืนยังรุ่ง บางทีเล่น ๒ รุ่ง ๓ รุ่ง ติด ๆ กันก็มี

พอพวกเราไปนั่งที่แล้วสัก ๕ นาทีก็ถึงเวลาละคอนลงโรง ปี่พาทย์ทำโหมโรงสักประเดี๋ยวเปิดม่าน ตอนแรกพวกละคอนนั่งเต็มโรงร้องเพลงไหว้ครู หมดเพลงร้องแล้วมองโปซินกับนางเอก ๒ คนรำไหว้ครูจนหมดกระบวรแล้วปิดม่าน

สังเกตดูเครื่องแต่งตัวละคอนพะม่า เครื่องแต่งตัวนายโรงที่มองโปซินแต่ง ดูคล้ายกับรูปฉายที่พระเจ้ามินดงแต่งเต็มยศ คือเกล้าผมจุกโพกผ้าขาวอย่างใส่มงคล ใส่เสื้อกระบอกผ้าขาว นุ่งผ้าไหมลอยชายอย่างพะม่า แต่คาดชายไหวชายแครงกำมะหยี่ปักทองห้อยข้างหน้า เครื่องประดับที่ตัวจะมีอะไรอื่นอีกไม่ทันสังเกต เพราะนัยตาลายเสียด้วยดูเหรียญห้อยแพรแถบสีต่างๆ ที่ติดอกมองโปซินเรียงเปนแถวๆ ตั้งแต่ตรงหัวไหล่ลงมาจนถึงพุง ถ้านับจำนวนก็เห็นจะไม่น้อยกว่า ๕๐ ใช่แต่เท่านั้น ข้างหลังก็ยังติดเหรียญเช่นนั้นอีกเต็มหลัง ถ้าเปนเหรียญบำเหน็จฝีมือได้จากรัฐบาลต่าง ๆ ก็เห็นจะเกินจำนวนรัฐบาลที่มี แต่รูปร่างทรวดทรงมองโปซินยังดี ผัดหน้าแต่งตัวแล้วดูเปนหนุ่มราวกับอายุเพียงสัก ๓๐ ปี ยังพอผู้หญิงติดได้ ท่าทางที่รำเต้นว่าตามตาไทย ก็เห็นสมกับคำเลื่องลือว่ามองโปซินรำดี พวกนางละคอนนั้นแต่งตัวเกล้าผมบนกระบาล นุ่งผ้าไหมใส่เสื้อเอว มีเครื่องประดับแวววาวเหมือนเพ็ชร์พลอยประกอบด้วยดอกไม้เหมือนอย่างละคอนพะม่าที่เคยมาเล่นในเมืองไทยไม่ต้องพรรณนา แต่ดูก็งามดี ตัวนางเอกเปนชั้นผู้ใหญ่สักหน่อย พวกนางระบำกำนัลเปนหญิง กำลังรุ่นสาวทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมีผู้ชายเปนพวกเสนาแต่งตัวใส่เสื้อสีต่างๆ นุ่งผ้าบ้างกางเกงบ้าง และมีจำอวดสองสามคน (เขาว่าบางคนเล่นขบขันแต่อยู่ข้างจะหยาบ) กระบวรเล่นที่เขาจัดสำหรับให้ฉันดูเปนพิเศษนั้น เปิดม่านที่ ๒ ตัวมองโปซินนั่งเตียงอย่างเปนท้าวพระยา นางเอกนั่งสองข้าง นางกำนัลนั่งเปนแถวกับพื้น เหมือนอย่างว่าเสด็จออกพระโรงใน มองโปซินลุกจากเตียงมายืนอยู่กลางเวทีพูดประกาศแก่คนดูอยู่นาน ฉันฟังไม่เข้าใจ พวกกรมการเขาแปลให้ฟังว่าตอนต้นพูดแสดงความยินดีที่ฉันไปดูและอำนวยพรแก่พวกฉัน แล้วเล่าถึงวิธีรำอย่างโยเดียซึ่งเขาจะเล่นให้ฉันดูในวันนั้นแล้วกลับเข้าไปนั่งเตียง พวกนางกำนัลก็ขึ้นรำร้องเพลง “โยเดีย” การที่รำฟ้อนเข้ากับร้องเพลงโยเดีย เห็นจะซักซ้อมกันในตอนกลางวันวันนั้นหลายเที่ยว ตัวนางระบำสัก ๑๐ คน ต้องมีนางผู้ใหญ่ที่เปนครูออกมายืนกำกับและร้องนำอยู่ในวงด้วย เพลงที่ร้องก็สังเกตได้ว่าเปนเพลงไทยจริง เพราะเพลงพะม่ามักมีทำนองกระโชก ไม่ร้องเรื่อยเหมือนเพลงไทย เพลงที่เอามาร้องก็ไพเราะดี แต่จะเปนเพลงไหนหาทราบไม่ ถามหญิงเหลือที่รู้จักเพลงมากกว่าเพื่อนที่ไปก็ว่าไม่รู้ พอหมดเพลงปิดม่านครั้งที่ ๒ เปิดม่านครั้งที่ ๓ มองโปซินเปนพระรามถือศรมีกระบวรเสนาตาม มองโปซินรำคนเดียวเปนท่าเดินนาดกรายเข้ากับจังหวะปี่พาทย์ดูก็พอสังเกตได้ว่าเปนท่าละคอนไทย เพราะช้ากว่าและไม่กะดุ้งกะดิ้งเหมือนละคอนพะม่า แล้วปิดม่านหมดกระบวรที่เล่นสำหรับให้เราดู เปิดม่านที่ ๔ เล่นเปนละคอนพะม่า เรื่องนาง ๒ คนหึงหวงชิงพระเอกกันดูก็เล่นดีตามประสาพะม่า มีติดตลกถึงคนฮาแต่พวกเราไม่เข้าใจ พอจวนเวลาพวกเราจะต้องไปขึ้นรถไฟ เขาเรียกตัวมองโปซินออกมา “เฝ้า” ผู้พิพากษาทำพวงมาลัยไปด้วย ฉันคล้องพวงมาลัยให้แล้ววานให้เขาแปลคำชมเชยของฉันแก่มองโปซิน ๆ เลยขอหนังสือของฉันไว้สำหรับตัว ฉันก็ทำหนังสือชมส่งไปให้จากเมืองร่างกุ้ง พวกเราขอบใจล่ำลาพวกกรมการเทศบาลแล้วขึ้นรถไปยังสถานีรถไฟ คอยอยู่สัก ๒๐ นาทีรถไฟมาถึง ขอบใจล่ำลาพวกเมืองแปรอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ขึ้นรถไฟกลับเมืองร่างกุ้ง ต้องนอนทนเขย่าขย่อนมาเหมือนเมื่อขึ้นไปเมืองมัณฑเล และยิ่งซ้ำร้ายด้วยกำหนดรถไฟถึงสถานีเมืองร่างกุ้งเวลาใกล้รุ่งวันศุกรที่ ๗ กุมภาพันธ์ ต้องตื่นขึ้นแต่งตัวและเก็บของแต่ ๔ นาฬิกาเศษ ถึงเมืองร่างกุ้งพอสางๆ สถานียังจุดไฟ ถึงกระนั้นมิสเตอรคัสโตเนียนายห้างอิสต์เอเซียติคยังอุส่าห์ไปรับถึงสถานี ขึ้นรถมาโฮเต็ล นึกสงสัยมากลางทางว่าจะไปเรียกให้เขาเปิดประตูโฮเต็ลอย่างไร แต่โฮเต็ลเขาเปิดคอยอยู่แล้ว เพราะมีพวกท่องเที่ยวกลับมาเวลานั้นเช่นกับพวกเราเนือง ๆ ถึงเขาเตรียมคนไว้คอยรับแต่เช้ามืดทุกวัน พอเวลา ๘ นาฬิกา มิสเตอรแนชกรมเลขาธิการของรัฐบาลกับกงซุลสยามมารับ และขอโทษที่ไม่ได้ไปรับถึงสถานี บอกตามตรงว่าเพราะเวลารถไฟมันวิปริตนัก พอพบมิสเตอรแนช กับกงซุลและกินอาหารเช้าแล้ว พวกเราต่างก็เข้านอน ด้วยรู้สึกสะบักสะบอมด้วยกันทุกคน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ