วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันมารู้สึกตัวขึ้น ว่าได้ทูลชวนให้เข้าพระทัยผิดไปอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่อง “เรียกหอพระสมุด” เพิ่งมาคิดเห็นหลักฐานว่าชื่อหอพระสมุดวชิรญาณก็ดี หอพระสมุดวชิราวุธก็ดี ที่จริงยังมีอยู่อย่างเดิม จะเรียกอย่างนั้น หรือจะเรียกโดยย่อว่า “หอพระสมุด” ก็เรียกได้ไม่ผิดกฎหมายและใครจะคัดค้านไม่ได้เลย เพราะในเรื่องประวัติมีดังจะทูลต่อไปนี้

เดิมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ จำนวนปีแต่พระบรมราชสมภพของทูลกระหม่อมครบสัตพรรษ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมีพระราชประสงค์จะทรงสถาปนาสิ่งอนุสสรณ์เฉลิมพระเกียรติทูลกระหม่อมในอภิลักขิตกาลนั้น จึงโปรดฯ ให้ตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร พระราชทานนามว่า “หอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร” เดิมอยู่ที่ศาลาสหทัยสมาคม ถึงรัชชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ย้ายออกไปตั้งที่ตึกหน้าวัดมหาธาตุ สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทำพิธีเปิดหอด้วย

ถึงรัชชกาลที่ ๗ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาราชบัณฑิตย์สภาขึ้นแทนกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนครแล้ว พระราชทานสมุดในหอพระสมุดสำหรับพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร ราชบัณฑิตย์สภาปรึกษากันเห็นว่าสมุดกับทั้งตู้หนังสือของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ที่พระราชทานมาใหม่เปนของมาก จะเอารวมเข้ากับหอพระสมุดวชิรญาณตึกที่หน้าวัดมหาธาตุไม่มีที่พอจะรวมได้ อีกประการหนึ่งเห็นว่า ถ้ารวมกันเปนหอพระสมุดเดียวจะไม่ปรากฎพระนามของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกราบบังคมทูลว่าเห็นควรจะแยกหอพระสมุดสำหรับพระนครออกเปน ๒ หอ หอหนึ่งเปนที่เก็บหนังสือฉะบับเขียน เรียกว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ” ยกไปตั้ง ณ พระที่นั่งศิวโมขพิมานในวังหน้า อีกหอหนึ่งเปนที่เก็บหนังสือฉะบับพิมพ์เรียกว่า “หอพระสมุดวชิราวุธ” คงตั้งอยู่ที่ตึกหน้าวัดมหาธาตุ ให้เรียกหอพระสมุด ๒ หอนั้นรวมกันว่า “หอพระสมุดสำหรับพระนคร” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตและได้เสด็จมาเปิดหอพระสมุดวชิราวุธ แต่นั้นหอพระสมุดสำหรับพระนครก็เปน ๒ หอ ต่อมารัฐบาลใหม่ให้แก้แต่ชื่อรวม ซึ่งเคยเรียกว่า “หอพระสมุดสำหรับพระนคร” เปลี่ยนเปน “หอสมุดสำหรับชาติ” หอสมุดที่อยู่หน้าวัดมหาธาตุยังคงมีชื่อว่า “หอพระสมุดวชิราวุธ” หอสมุดที่อยู่ ณ พระที่นั่งศิวโมขพิมานก็คงมีชื่อว่า “หอพระสมุดวชิรญาณ” อยู่อย่างเดิมหาได้ประกาศให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นจะทรงใช้คำว่า “หอพระสมุด” ก็ไม่ผิด เพราะเรียกเปนอย่างย่อของนามหอพระสมุดวชิราวุธ อันเปนสำนักงานพิมพ์หนังสือ ที่จะตัดคำ “พระ” ออกเสีย เรียกแต่ว่า “หอสมุด” นั้น หม่อมฉันรู้สึก “เยือกเย็น” นัก ในหนังสืองานศพพระยาโบราณฯ หม่อมฉันก็ใช้คำว่า “หอพระสมุด” ทุกแห่ง ถึงทรงใช้คำ “หอพระสมุด” ก็เห็นจะไม่มีใครนำพาดอก

ยังมีความอีกข้อหนึ่งซึ่งหม่อมฉันเผลอไปไม่ได้ทูลสนองในจดหมายเวรฉะบับสัปดาหะก่อน เพิ่งมานึกขึ้นได้เหมือนกัน คือเรื่องอุปราชอินเดียไปเที่ยวเมืองพะม่า หม่อมฉันก็ได้อ่านหนังสือพิมพ์แล้วที่อุปราชไปครั้งนี้นับว่าไปโดยบรรดาศักดิ์เปนครั้งที่สุด เพราะตั้งแต่เดือนเมษายนเมืองพะม่าจะแยกขาดจากอินเดีย เมื่ออุปราชไปถึงเมืองมัณฑเลไปพักอยู่ที่ปราสาทซึ่งลอร์ดเคอสันให้สร้างบนกำแพงอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ปราสาทนั้นมีสวนทั้งข้างด้านหลังที่อยู่ในกำแพงเมืองและด้านหน้าที่อยู่นอกกำแพงเมืองลงไปจนจรดคูเมือง คงมีประตูลับเดินได้ถึงกัน เรือ “การเวก” นั้นเห็นจะทำขึ้นใหม่โดยฉะเพาะได้ความรู้ตามที่ทรงพระดำริเปนแน่อย่างหนึ่ง ว่ามีเรือดั้งคู่ชักเรือการเวก ๒ คู่ (๔ ลำ) การที่อุปราชลงเรือการเวกนั้นก็เห็นจะไปตามคูเมืองสักหน่อยพอเปนการพิธี เพราะตะพานข้ามคูเมืองเดี๋ยวนี้ทำอย่างมั่นคงเสียแล้ว การเลี้ยงบนบกที่ในสวนนั้นในหนังสือพิมพ์ว่าเจ้าฟ้าราชธิดาของพระเจ้าสีป่อองค์หนึ่งมารับ และได้รับเกียรติยศนั่งโต๊ะข้างขวาอุปราช เจ้าฟ้าหญิงองค์นี้เขาบอกหม่อมฉันที่เมืองมัณฑเลว่าได้ฝรั่งเปนผัวอยู่ด้วยกันที่เมือง เมมะโย Maymyo ใกล้กับเมืองมัณฑเล

หม่อมฉันรับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ แล้ว เรื่องสวดสพฺพพุทฺธา ตามที่ตรัสเล่ามาในลายพระหัตถ์ประจำเวรฉะบับนี้ ออกขบขันด้วยความคาดคเนของหม่อมฉันที่ทูลไปถูกตอนหนึ่งผิดตอนหนึ่ง ที่ถูกนั้นคือมีบุคคลภายนอกเข้าไปทูลแนะนำสมเด็จพระสังฆราช แต่ข้อนี้ยังน่าคิดวินิจฉัยต่อไป ด้วยสมเด็จพระสังฆราชได้ทรงตั้งแบบให้สวด โสอตฺถลทฺโท ใช้เปนยุติมาแล้วกว่า ๒ ปีที่มาเปลี่ยนไปสวดอย่างอื่น ความส่อว่าต้องเห็นว่าสวด โสอตฺถลทฺโท ไม่ดี หรือยังไม่ถูกจึงเปลี่ยนไปสวด สพฺพพุทฺธา ท่านทรงพระดำริเห็นว่าไม่ดีหรือไม่ถูก เพราะเหตุใดข้อนี้ยังน่าพิศวงนัก ที่หม่อมฉันคาดผิดนั้น นึกว่าท่านคงได้ทรงปรึกษาสมเด็จพระราชาคณะองค์อื่นๆ ทรงแสดงเหตุให้เข้าใจและเห็นชอบด้วยกันแล้วจึงทรงแก้ไข ที่ผู้อื่นบังอาจเข้าไปทูลสอนแบบแผนตรงกับที่ว่า “บอกหนังสือพระสังฆราช” และสมเด็จพระสังฆราชยอมทรงกระทำตามโดยพละการดูน่าพิศวงยิ่งนัก ขอให้ทรงฟังต่อไป ว่าเรื่องที่จริงมันเปนอย่างไร ในเรื่องสวด โสอตฺลทฺโท นี้ หม่อมฉันทูลอธิบายในจดหมายฉะบับก่อนใช้ศัพท์ว่า อุภโตปญหา นั้นผิดไป เพิ่งนึกได้ว่าในหนังสือมิลินทปญหา เรียกว่า เมณฑกปฺหา เปนปญหาที่ความขัดกัน

เรื่องบ้าน “ตัดหัว” ที่ตรัสเล่ามานั้นก็ปลาดหนักหนา หม่อมฉันจะทูลเล่าซ้ำถึงบ้านนั้น ตามที่หม่อมฉันได้รู้เห็นมาเอง ราว ๕๐ ปีมาแล้วหม่อมฉันยังเปนนายทหารมหาดเล็กไปขี่ม้าเที่ยวเล่นทางถนนวัวลำพองเห็นตึกนั้นร้างอยู่ ออกปากถามเพื่อนที่ไปด้วยเขาบอกว่าบ้านนั้นผีดุมาก ใครไปอยู่ไม่ช้าก็ต้องขายผู้อื่นที่ไม่รู้เหตุต่อไป เมื่อมีผู้รู้กันมากขึ้นไม่มีใครกล้าซื้อจึงร้างอยู่ ต่อมาในระหว่างนั้นจะอย่างไรจำไม่ได้จนถึงรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิทธศักดิ์กลับลงมาอยู่กรุงเทพฯ ไปซื้อบ้านนั้นอยู่ หม่อมฉันได้บอกเรื่องเดิมของตึกนั้นให้รู้แต่จะเปนเพราะคำของหม่อมฉันหรือเหตุอื่นไม่ทราบแน่เจ้าพระยาสุรสีห์อยู่ไม่ช้าก็ย้ายไปสร้างบ้านอยู่ใหม่ แถวสระปทุมที่ยังอยู่เดี๋ยวนี้ ต่อนั้นนายฉลองนัยเนตร (ยูเสง) ไม่กลัวผีไปซื้อตึกนั้นอยู่ ๆ ได้ไม่ช้าก็ติดคุก ต้องขายตึกนั้น ต่อมาพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) พ่อพระนางสุวัฒนาไปซื้ออยู่ หม่อมฉันก็ได้บอกอีก แต่เขาไม่กลัวผีอยู่มาก็เปนบ้าแล้วเลยตายที่ตึกนั้น หม่อมฉันได้รู้จักตัวผู้เคยอยู่ถึง ๓ คนดังทูลมา ปลาดที่ในปีนังก็มีตึกผีดุเช่นเดียวกันอยู่ที่ริมถนน “พะม่า” Burma Road หลัง ๑ หม่อมฉันผ่านไปบ่อยๆ เห็นเปนตึกร้างอยู่ช้านานปรารภขึ้น ซุยบิ๊คนขับรถบอกว่าเปนตึกผีดูไม่มีใครอยู่ได้ยืดยาวจึงร้าง ต่อมาวันหนึ่งหม่อมฉันผ่านไปทางนั้น เห็นหน้าต่างประตูเปิดมีการประชุมพวกแขกชาวอินเดียอยู่ที่สนามหน้าตึกมาก สืบถามได้ความว่าพ่อค้าชาวอินเดียคนหนึ่งไปเช่าอยู่ หม่อมฉันออกปากว่า “เออสิ้นเคราะห์ไปที” แต่ต่อมาไม่ถึงเดือน ผ่านไปเห็นตึกนั้นปิดประตูหน้าต่างร้างอีก ให้สืบถามได้ความว่าพ่อค้าคนที่มาเช่าอยู่นั้นตายเสียแล้ว ต่อนั้นมาอีกไม่ช้านัก มีคนไปเช่าอยู่อีกรายหนึ่ง อยู่ไม่ถึง ๓ เดือนก็ทิ้งไปแต่ไม่ทราบว่าจะเปนเพราะเหตุใด ตึกร้างมาอีกพักหนึ่ง เดี๋ยวนี้มีคนไปเช่าอยู่อีกรายหนึ่งอยู่มาสัก ๒ เดือนแล้ว ให้สืบถามได้ความว่าเปนคนมาแต่เมืองแปะระ จะสบายดีหรืออย่างไรไม่ทราบ

พระอาการประชวรของพระองค์หญิงพิศมัยคราวนี้เห็นจะพ้นเยียวยาน่าสงสาร แต่ปลาดอยู่ที่เธอเคยประชวรถึงคาดว่าจะไม่กลับฟื้นมาคราวหนึ่ง ก็กลับฟื้นอยู่มาได้เปนนานจึงมาประชวรอีกในคราวนี้

พระองค์หญิงวัลภาเทวีมาประทับอยู่ซินนามอนฮอล ๔ วัน กลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ ๘ นี้ ดูพอพระหฤทัยว่ามาพักอยู่ปีนังสบายดี เธอเล่าว่าเดิมเธอไม่ใคร่สบายอยากแปรสถานมาเปลี่ยนอากาศตามหัวเมือง พระยามหาอำมาตย์มีความเคารพด้วยได้หญิงที่เธอเคยเลี้ยงไปเปนภรรยา เชิญเสด็จไปพักที่บ้านของพระยามหาอำมาตย์ ณ เมืองนครศรีธรรมราช พักอยู่ที่นั่นเดือนหนึ่งแล้วจึงทูลลาเลยมาเที่ยวถึงเมืองปีนัง วันเธอมาถึงเผอิญหม่อมฉันไปรถผ่านกับรถของเธอจึงพบกันและรับมาอยู่กับลูกหญิงของหม่อมฉันดังทูลไปแล้ว ดูเธอระวังรักษาพระองค์มาก เปนต้นว่าเนื้อหมูก็ไม่เสวย ว่าเมื่อเปนโรคเนื้องอกภายในถึงต้องผ่าพระนาพีตัดเนื้องอกออกเสีย หมอเขาห้ามไม่ให้เสวยสัตว์ที่เปนเนื้อหนักต่อไป เธอก็เลิกมาแต่นั้น ว่ากลับจากปีนังจะไปอยู่ที่หัวหิน เห็นจะให้สิ้นกำหนดที่ได้ทูลลาจึงกลับกรุงเทพฯ

หม่อมฉันได้รับจดหมายจากหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ฉะบับหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าพิพิธภัณฑ์สถานได้ของเพิ่มเติมอีกมาก ด้วยรัฐบาลรับซื้อพิพิธภัณฑ์ของหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถ จากหม่อมหลวงแดง สุประดิษฐผู้ได้รับมรดก เปนราคา ๔๐,๐๐๐ บาท แล้วส่งมาให้พิพิธภัณฑ์สถาน หม่อมฉันเคยเห็นพิพิธภัณฑ์ของหม่อมเจ้าปิยฯ เมื่อเธอจัดไว้ที่บ้านของเธอ เคยนึกในใจว่าหม่อมเจ้าปิยรวบรวมเหล่านั้นด้วย “ความรัก” มิใช่รวบรวมด้วย “ความรู้” สุดแต่อะไรเปนของเก่าเห็นแปลกก็ซื้อหาเอามาไว้ แต่เธอลงทุนมากและพยายามสะสมมาช้านานจึงมีของมาก หม่อมฉันได้ไปดูหลายครั้งโดยฉะเพาะเมื่อกำลังจัดพิพิธภัณฑ์สถานของหลวง เคยอยากได้ของเจ้าปิยมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ของหลวงไม่กี่สิ่ง ว่าตามที่จำได้ในเวลานี้ คือเงินพตด้วงตราต่างๆ อย่าง ๑ หนังสือเรื่องต่างๆ ที่เขียนสมุดไทยอันเปนตัวต้นฉะบับในหอหลวงครั้งรัชชกาลที่ ๑ อย่าง ๑ (แต่หม่อมฉันได้ขอคัดสำเนาไว้แล้วทั้งนั้น) ลับแลลายกำมลอเขียนเรื่องอิเหนาฝีมือครั้งรัชชกาลที่ ๓ แผ่น ๑ กับดูเหมือนมีพระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์องค์ ๑ ที่หม่อมฉันชอบ นอกจากนั้นเห็นเปนอย่าง “สวะ” โดยมาก พระองค์ท่านก็คงได้เคยทอดพระเนตรเหมือนกัน จะทรงพระดำริอย่างไรหม่อมฉันไม่ทราบ

ที่ปีนังเวลานี้เปนตรุษจีน เมื่อก่อนมาไม่ช้าพวกทมิฬก็ทำพิธี “ไทปุสัม” ตามเคยเหมือนแต่ก่อนจนหม่อมฉัน “เบื่อ” เมื่อวันพิธีไทปุสัมเปนแต่ขึ้นรถให้ขับช้า ๆ ผ่านหน้าร้านขายของอินเดีย หมายว่ามีอะไรแปลกจะซื้อส่งไปถวายเช่นเคยส่งสังข์และหม้อน้ำมนต์ไปแต่ก่อนปีนี้ก็ไม่เห็นมีของแปลก ได้แต่ถวายรายงาน

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอน ๙ ท่อน ๓ มาถวายกับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อน ๑ อยู่ข้างสั้นกว่าท่อนก่อนๆ เพราะหม่อมฉันเขียนจดหมายเวรคราวนี้ยาว เอาเวลาไปใช้เขียนจดหมายเสียมาก อีกประการหนึ่ง เรื่องก็พอลง “หัวตะปู” เรื่องที่จะเขียนสำหรับวันหน้าจะว่าด้วย “การเมือง” ในประเทศพะม่าเห็นจะยาวสักหน่อย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิทธิศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ