วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ท่อนที่ ๗ เที่ยวเมืองพุกาม ตอนที่ ๘ กับรูปฉายประกอบกัน ๔ รูป ได้รับประทานแล้วด้วยดี เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

พอเห็นรูปวัดอานันทก็กระทบกระเทือนใจ แต่จะระบุว่าใจเปนอย่างไรทูลไม่ถูก ให้นึกอยากไหว้ ไม่ใช่ไหว้พระ อยากไหว้คนออกแบบทำวัดนั้น ในฐานเคารพเปนครูบาอาจารย์ ด้วยงานอันได้กระทำขึ้นแล้วนั้นงามจับใจยิ่งนัก แล้วซ้ำแว้งไปฉุนเอารูปฉายเข้าด้วยว่าเล็กนักเห็นอะไรไม่ถนัด แต่ความจริงนั้นดีกว่าไม่ได้เห็นอะไรเสียเลยเปนไหน ๆ ท่านผู้ออกแบบนั้นท่านเปนผู้เลิศประเสริฐมนุษย์ มีปัญญาฉลาดอาจคิดทำได้ดีจริง ๆ ข้อที่มีเสียงกล่าวกันว่าอาจจะโกปีเจดียฐานในอินเดียมาทำนั้น เปนเสียงกล่าวสบประมาท เปนไปไม่ได้เลย การโกปีเปนคติของนักเรียนเท่านั้น งานใหญ่โตเท่าที่ปรากฎนั้นอยู่นอกทางที่เขาจะใช้นักเรียนทำเขาต้องใช้นายช่าง คนชั้นนายช่างย่อมทิ้งทางโกปีเสียหมดแล้ว จริงอยู่อาจมีอะไรตรงไหนเค้าเหมือนที่ไหนได้อยู่บ้าง เพราะปกติผู้ที่เปนนายช่างยิ่งอย่างดีก็ยิ่งเห็นอะไรมามาก แต่การเห็นมากนั้นจัดเหมือนหนึ่งว่ากินสิ่งเหล่านั้นเข้าไป แล้วไฟธาตุก็ย่อยสิ่งเหล่านั้นให้ละลายกลายเปนวัตถุอันอื่นไหลกลับออกมา มีเหงื่อเปนต้น เกิดจากอาหารที่กินเข้าไปนั้นจริงอยู่ แต่แปรรูปกลับเปนอื่นไปเสียแล้ว จะเรียกว่าโกปีหาได้ไม่

การก่อสร้างแห่งวัดอานันท พิจารณาเห็นเปนว่าท่านผู้ออกแบบตั้งใจจะทำให้เห็นเปนพระมหาสถูป ไม่ได้ตั้งใจจะให้เปนพระมหาวิหาร เหตุใดจึ่งว่าดั่งนั้น เหตุด้วยเมื่อดูไปแล้วเห็นเปนพระสถูปมากมาย ตั้งอยู่เหนือฐานอันลดหลั่นเปนชั้นๆ หาเห็นเปนวิหารใหญ่ไม่ วิหารนั้นกลายเปนของเล็กน้อยแฝงอยู่ในฐานพระสถูปเท่านั้นเอง ตามแบบการก่อสร้างปูชนียวัตถุของพะม่าก็สร้างพระสถูปเปนที่ตั้ง ตั้งแต่สร้างพระสถูปลงที่พื้นดินเปนต้น และสร้างบนแท่นฐานเปนที่สุด ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายก็คือก่อพระทรายลานวัดและก่อพระทรายเตียงยกนั้นเอง เตียงยกได้แก่แท่นฐาน ถ้ามีขนาดใหญ่ทำไปแต่เกลี้ยงๆ ก็ดูน่าเกลียด จึงตกแต่งให้เปนคูหามีซุ้มประกอบเข้าพระอานันทเจดีย์เปนของใหญ่โตมาก ซุ้มคูหาจึ่งกลายเปนวิหารอันใหญ่ไป

ข้อพิเศษในความคิดของท่านผู้ออกแบบอานันทเจดีย์นั้น วิเศษที่เปลี่ยน “สเคล” ให้เห็นแปลกตาไป อำนาจแห่ง “สเคล” นั้น อาจใช้ให้ลวงตามนุษย์เห็นต่างๆ ไปได้ เช่นทำของใหญ่ให้เห็นเปนเล็ก ของเล็กให้เห็นเปนใหญ่ เปรียบว่ามีเนื้อที่อยู่งานหนึ่ง หากสร้างพระสถูปองค์เดียวลงเต็มเนื้อที่ นั่นก็คือทำของใหญ่ให้เห็นเปนเล็ก หากทำพระสถูปใหญ่น้อยหลายองค์บนฐานหลั่นลดลงเต็มเนื้อที่ นั่นก็คือทำของเล็กให้เห็นเปนใหญ่ตามปกติความถนัดของพะม่ามอญหรือรวมทั้งไทยด้วย ดูเหมือนจะถนัดแต่ในทางทำของใหญ่ให้เห็นเปนเล็ก ตัวอย่างเช่นพระสถูปมุเตา ตะเกิง สิงคุดร ตลอดมาจนถึงพระปฐมเจดีย์เปนต้น ทางที่ทำเล็กให้เห็นเปนใหญ่นั้นไม่ใคร่มีใครนึกถึง เมื่อท่านผู้ออกแบบอานันทเจดีย์มาคิดทำขึ้น จึงเห็นแปลกตาสดุดใจยิ่งนัก มีสิ่งที่ข้องใจอยู่แต่ยอดตอนที่ปิดทอง ดูไม่สู้กินทรงกับองค์พระสถูปเข้าใจว่าเปนของซ่อมใหม่ ทำเดาเอาไม่เหมือนยอดเดิม

ส่วนชื่อแห่งเจดีย์ฐานอันนั้น ยากที่จะวางใจเชื่อลงไปได้ว่าชื่อไรแน่เท่าที่รู้อยู่บัดนี้ก็เถลีงกันเสียแล้ว “นันท” ก็มี “อนันต” ก็มี “อานันท” ก็มีลางทีเมื่อครั้งแผ่นดินพระเจ้าคันชิตจะไม่ได้สื่ออย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนอย่างเหล่านี้เลยก็เปนได้ เช่น ตาพรหม ตาแก้ว บายน บาแคง และอื่นอีกในเมืองเขมร ซึ่งเดี๋ยวนี้รู้สึกกันดีแล้วว่าเปนชื่อเกิดขึ้นทีหลังทั้งสิ้น ด้วยได้ศิลาจารึกมา อันมีความว่าแรกสร้างพระนครหลวงนั้นสร้างปราสาท “ยโสธรคิรี” ขึ้นก่อน ปราสาทชื่อนั้นในพระนครหลวงไม่มี พวกนักปราชญ์ยังงมกันอยู่จนทุกวันนี้ว่าเปนปราสาทหลังไหน

รูปพระประธานในวิหารอานันทเจดีย์ ดูเห็นปรากฎชัดทีเดียวว่าเปนฝีมือพะม่าทำ ตามที่กล่าวเช่นนี้มีใช่สังเกตแต่พระภักตร์และผ้าทรง สังเกตรูปทั้งพระองค์ทีเดียว โดยลักษณที่พะม่าทำมักมีทรงตีบ ๆ (stiff) ผิดกันกับพระประธานที่พระสถูปชินคง องค์นั้นมีลักษณละเลิงมาก ไม่ลงรอยฝีมือพะม่า

จะกราบทูลเสริมข้อที่ตรัสอ้าง ถึงท่านผู้ที่คิดสร้างวิหารพระชินราชว่ามีความคิดฉลาดในการไว้ช่องแสงสว่างเหมือนกันนั้นชอบแล้ว ความฉลาดอันมีในครั้งนั้นไม่ใช่มีแต่การทำวิหาร การสร้างองค์พระชินราชก็ฉลาดทำที่จะให้เห็นงามเปนอย่างยิ่งอีกด้วย เมื่อองค์พระชินราชซึ่งหล่อจำลองจะใช้ตั้งที่วัดเบญจมบพิตร เชิญลงมาแต่งอยู่ที่โรงงานกรมทหารเรือ เกล้ากระหม่อมไปดูไม่รู้สึกว่างามอยู่ที่ตรงไหนเลย กลับเห็นมีสิ่งที่น่าเกลียดไปเสียด้วยซ้ำ เช่นพระหัตถ์ซ้ายขวาไม่เท่ากัน พระหัตถ์ขวาใหญ่กว่าพระหัตถ์ซ้ายไปเปนกอง แต่ครั้นเชิญขึ้นตั้งที่แล้วงามพริ้ง พระหัตถ์ที่ใหญ่กว่ากันมากก็เห็นเสมอกัน มานึกหาเหตุว่าอะไรทำให้เปนเช่นนั้นก็เลงเห็น เพราะพระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าสมาธิย่อมเห็นตามยาว ส่วนพระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าภูผัสสะย่อมเห็นตามกว้าง ถ้าทำเท่ากันแล้วจะเห็นพระหัตถ์ข วาเล็กกว่าพระหัตถ์ซ้ายไปเปนอันมาก จึงทำเข่นให้โตกว่ากันไว้ การกระทำเช่นนี้ถ้าหากปั้นหุ่นกับพื้นโรงงานอันเปนที่อัดแอแล้วจะคิดเห็นไปถึงไม่ได้ จะต้องปั้นหุ่นบนที่สูงเท่ากับที่จะตั้งจริงๆ ทั้งมีที่ดูไกลได้เท่ากับมีที่ในวิหาร ปั้นไปดูไป อะไรเห็นไม่งามก็แก้ไป จนดูเพริศพริ้งทุกสิ่ง คิดว่าต้องทำเช่นนั้นจึ่งงามพร้อมได้ ในการที่ทำเช่นนั้นก็เห็นได้ว่าต้องประกอบด้วยประโยคพยายามเปนอันมาก ความคิดต้องติดเนื่องถึงกัน ว่าจะทำวิหารอย่างไร ตั้งพระสูงเท่าไร ไกลใกล้แค่ไหน ปรับปรุงพร้อมกันไปหมด ไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้วเอาไปตั้งขึ้นตามบุญตามกรรม ข้อนี้แหละส่อให้เห็นได้ ว่านายช่างครั้งนั้นคิดการทำการรอบคอบกว่านายช่างชั้นหลังมาก ขอได้ทรงระลึกถึงพระศรีสักยมุนี วิหารที่ตั้งอยู่ก่อนนี้เปนอย่างไร วิหารที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้เปนอย่างไร พระศรีสักยมุนีก็เหลือแต่เพียงรู้กันอยู่ในใจว่าเปนพระสำคัญเท่านั้น

ทีนี้จะกราบทูลสนองความลางข้อซึ่งมีในลายพระหัตถ์

ระบำ เปนสิ่งที่รำดูกันเล่นงาม ๆ เห็นจะสืบมาจากนัจจะทางอินเดียคงจะมีมาก่อนที่คิดรำประกอบเรื่องเปนเล่นละคร เมื่อมีละครเล่นเปนเรื่องขึ้นแล้ว ระบำรำเฉย ๆ ก็จืด จึ่งหาเรื่องมาประกอบให้เปนเรื่อง ก็ได้เรื่องเทวดาสุขเกษมเปรมปรีดิ์เมื่อตอนอภิเษกไกรลาศมาประกอบให้เปนเรื่องขึ้น ตามที่ปรากฎจากพระดำรัส อ้างถึงคำเล่าของลาลอร์แบร์ ว่ามีพักเล่นกวนมกพูดหยาบๆ ในการที่เอารามสูรเมขลาเข้าประกอบระบำก็ดีหรือที่ฝ่าพระบาทเคยทรงจัดเอานารายณ์ปราบนนทุกเข้าประกอบระบำก็ดี ทั้งนั้นก็คือเล่นกวนมกแก้จืดนั้นเอง แต่เปนกวนมกอย่างงาม อย่างดี ตามปกติการเล่นละครผู้จัดเล่นก็ปรารถนาจะให้คนดูเพลินเท่านั้น ย่อมจับเรื่องตอนโน้นมาชนตอนนี้ สุดแต่จะให้เล่นไปได้คล่องสมใจก็เปนแล้วกัน ไม่ได้คำนึงถึงลำดับเรื่อง ดูแต่เรื่องรามเกียรติในรัชชกาลที่ ๑ กับที่ ๒ ก็ไม่เหมือนกัน สับเปลี่ยนเนื้อเรื่องกันไป สุดแต่จะให้เล่นละครได้ดูดีเปนแล้วกัน

คราวนี้จะเดาเรื่องติดรูปรามสูรเมขลาที่โรงโขนโรงหุ่นถวาย อันโรงโขนโรงหุ่นนั้น เขาแต่งออกจะเปนไตรภูมิโลกสัณฐานอยู่กลายๆ มีสวรรคโลกมนุษย์โลกอยู่พร้อม มีรูปพระอาทิตย์พระจันทร์รามสูรเมขลาติด รูปสี่อย่างนั้นเกรงว่าจะหมายถึงสามฤดู พระอาทิตย์หมายถึงฤดูร้อน พระจันทร์หมายถึงฤดูหนาว (ในชื่อ “หิมรังสี”) รามศุรเมขลาจะหมายถึงฤดูฝน คือ เปนผู้ทำให้ฝนตก อย่างนี้จะได้กระมัง

จะกราบทูลรายงานเรื่องผ้าลายญี่ปุ่นต่อไป หญิงอี่ได้นำมาให้ดู เปนพวกดอกเล็กๆ อย่างผ้าลายแขก เธอว่าดอกโตๆ อย่างผ้าลายอย่างก็มีแต่เขาจะขายทั้งกุลี จะซื้อย่อยมาดูเปนตัวอย่างไม่ได้ เลยไม่มีโอกาสจะได้เห็น จะดูให้ได้เห็นจะต้องไปดูที่ร้าน ในการที่เขาไม่ขายย่อยนั้นเปนอันปรากฎว่าแม้คนนุ่งผ้าลายก็ไม่พอใจจะซื้อผ้าลายอย่างเก่าที่ดอกโตๆ นุ่ง เขาว่ากาววาวน่าเกลียด เพราะฉะนั้นการทำผ้าลายแบบเก่ามาขายคงต้องเลิกล้มไปไม่จำเริญได้

เมื่อวันที่ ๒๑ มีการทำบุญร้อยวันที่พระศพกรมพระกำแพงเพชรเกล้ากระหม่อมก็ได้ไปในการนั้น งานคึกคักดี มีเจ้านายตลอดพระราชวงศ์ไปกันแน่นหนาน่าปีติ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. หม่อมเจ้าหญิงประโลมจิตร จิตรพงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ