วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

เมื่อวันอาทิตย์ก่อน หม่อมเจ้าอุปลีสาณเธอกลับจากปินังเข้าไปหาเชิญลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายนไปให้ พร้อมทั้งพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอน ๔ ท่อน ๓ กับรูปฉายเรือนเจ้าเมืองพะม่า เปนพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้

ในตำนานเมืองมัณฑเลซึ่งตรัสเล่าคราวนี้ มีข้อความที่ไม่เคยทราบวี่แววมาแต่ก่อนเลยอยู่หลายประการ ข้อต้นก็คือความคิดหลอดดัฟเฟอรินในครั้งแรก ไม่ได้ตั้งใจจะล้มเลิกการมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเมืองพะม่า หากแต่เปนไปไม่ได้จึงต้องล้มเลิกนั้น ต้องชมว่าเปนการที่เขาคิดรอบคอบมาอย่างดีแล้วไม่ใช่เห็นแก่ตัว (คืออังกฤษ) มากเกินไป

ถัดมาก็ขอบใจหลอดเคอสันเปนล้นพ้น ที่สั่งกลับไม่ให้ล้างพระราชมนเทียรเดิม ถ้าไม่ฉะนั้นเราจะไม่ได้เห็นอะไรเปนทางประกอบความรู้เลย แต่การสร้างปราสาทที่พักเจ้าเมืองพะม่าขึ้นนั้นไม่เห็นชอบด้วย เห็นไม่จำเปนเลยที่พักเจ้าเมืองพะม่านั้นควรมีดอก แต่ควรเลือกที่สร้างให้อยู่สบาย ไม่จำเปนต้องทำเปนปราสาทบนกำแพงเมือง

ในหนังสือซึ่งถวายมาคราวก่อน กราบทูลเดาเสาข้างประตูเมืองมัณฑเลว่าจะเปนเสาไต้ และกราบทูลว่าในหนังสือเก่า ๆ ท่านพรรณนาถึงเสาไต้ว่าแต่งวิจิตรพิสดารนั้น ต่อมาเผอิญได้พบในหนังสือปฐมสมโพธิ ตอนกล่าวถึงพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาอนัตตลักขณสูตร เปรียบรูปขันธกับเสาไต้ว่าดั่งนี้

“รูปขันธของอาตมา จงโสภาผ่องใส
ประดับไปด้วยอลังการ ปานประหนึ่งว่าเสาไต้
อันแล้วไปด้วยทองแลผ้าแดง อันตกแต่งไว้เปนอันดี
เปนที่ทัศนาการ ชื่นบานแห่งจิตร”

คัดมาถวายเพื่อประกอบคำที่กราบทูลมาก่อน

อีกเรื่องหนึ่ง ได้เห็นถ้อยคำนายเนตร พูนวิวัฒน์ ส.ส. เขาแต่งลงหนังสือพิมพ์ว่าด้วยไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เม่งจูก๊ก และประเทศจีนเขาว่าพื้นที่ตอนตั้งแต่กำแพงใหญ่ (บ้วนลีเซงเสีย) เข้ามาถึงเมืองปักกิ่งนั้น กันดารแห้งแล้งมาก ราษฎรจนยากเหลือประมาณ ห้วงจุ๊ยศพชาวบ้านฝังกันไว้ในท้องนานั่นเอง พูนดินทับหลุมไว้เหมือนก่อพระทราย อันนี้ก็ไปเข้าเรื่องสถูปธาตุประเพณีโบราณเก่าแก่นั้นทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่ง เขาลงพิมพ์ในหนังสือ “บางกอกไตม์” วันที่ ๑๓ เดือนนี้ว่าขุดได้พระพุทธรูปทองคำที่หนองโพน (หรืออะไรเค้านั้น) ในแขวงเมืองเวียงจันทน์มีขนาดสูงถึง ๒๒ เซนติเมตร กว้าง ๑๒ เซนติเมตร สันนิษฐานตามส่วนที่ว่านี้น่าจะเปนพระยืน หวังว่าคงทอดพระเนตรเห็นข่าวนั้น ไม่ผ่านพระเนตรไป เขาเดาไว้ในนั้นว่าเห็นจะสร้างยุคพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงพระนามว่า Saya Setha Thamilkarat อยู่ข้างจะมัวซัว สมจะเปนว่า ชัยเชฐธรรมิกราช เขาเดาว่าพระนั้นสร้างเมื่อ (ค.ศ.?) ๑๗๑๔ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๒๕๗) อย่างไรก็ดี ให้นึกประมาทว่าต้น เพราะพระทางนั้นไม่เคยเห็นที่งามเลย จะสำคัญอยู่ก็ที่เปนทองคำเท่านั้น

อีกเรื่องหนึ่งขอประทานทูลหารือ ด้วยพี่วาณี เมื่อก่อนจะสิ้นพระชนม์ตรัสสั่งเกล้ากระหม่อมให้จัดการเรื่องพระบรมอัฏฐิของท่าน สุดแท้แต่เกล้ากระหม่อมเห็นว่าสมควรจะจัดอย่างไร พระบรมอัฏฐิของท่านซึ่งมีอยู่นั้น คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรดาพระบรมอัฏฐิซึ่งใครต่อใครเวนถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้นั้นมีมากต่อมาก เจ้าพนักงานรับเก็บเข้ารวมไว้ในปราสาทพระเทพบิดรมุขหลังทั้งนั้น เกล้ากระหม่อมจะจัดให้ไปรวมอยู่แห่งเดียวกันก็รู้สึกว่าไม่สู้เปนการสมควร เพราะดูเปนการเชิญเข้าพักไว้ไม่เปนที่หวังใจได้ว่าเปนหลักแหล่งมั่นคงแล้วอาจมีเวลากระจัดกระจายไปข้างไหนในภาคหน้าอีกก็ได้ จึงคิดว่าถ้าได้จัดการบรรจุเสียณที่แห่งใดแห่งหนึ่งจะเปนดีกว่า พระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คิดจะเชิญไปบรรจุไว้ในฐานพระประธานวัดหงษรัตนาราม พระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เห็นว่าเชิญไปบรรจุไว้ในฐานพระประธานแห่งวิหารน้อยโพธิ์ลังกา ในวัดมหาธาตุจะเปนเหมาะ ส่วนพระบรมอัฏฐิพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ยังนึกไม่ออกว่าควรจะเชิญไปบรรจุไว้ที่ไหน ขอประทานหารือว่าความคิดอย่างนี้ จะเปนการสมควรหรือไม่ หากทรงพระดำริเห็นประการใดได้โปรดประทานพระดำริด้วย จะเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า จะได้จัดให้สำเร็จไปเสีย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวาณีรัตนกัญญา ประสูติวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๐ สิ้นพระชนม์วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ