วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ ลงวันที่ ๙ ประทานไปพร้อมด้วยรายงานเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๓ กับรูปพระมุเตาพัง ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ชื่อพระเกศธาตุที่มอญเรียกนั้น แน่ใจทีเดียวว่า คำ “กยัต ตะเกอง” เปนคำเก่า เรียกกันทั่วไปในหมู่มอญทั้งที่อยู่นอกและอยู่ในเมืองไทย คำ “ธาตุสก” เกรงจะเปนมอญในเมืองไทยผูกขึ้นเรียกกันอยู่แต่ในเมืองไทย ไม่ได้ใช้ตลอดออกไปจนถึงเมืองมอญ คาถาบูชาพระเจดีย์ที่พระสุเมธให้มา เกรงว่าพระมอญจะเอาคาถาที่ถวายมาบัดนี้ ยุบแต่งเทียบเทียมขึ้น

“สุวณฺณมาลิเก

สุวณฺณปพฺพเต

สุมนกูเฏ โยนกปุเร

นมฺมทาย นทิยา

ปฺจปาทวรํ านํ

อหํ วนฺทามิ ทูรโต

อหํ วนฺทามิ สพฺพโส”

จริงอยู่ บริกขารเจดีย์มีปรากฏในปฐมสมโพธิ แต่พวกมอญที่งุ่มง่ามย่อมเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าเปนมอญเกิดในเมืองมอญ สิ่งสำคัญทั้งหลายในครั้งพุทธกาลก็อยู่ในเมืองมอญ แม้ไทยเราก็มีคนเช่นนั้นเหมือนกัน เชื่อว่าพระพุทธเจ้าเปนไทยเกิดในเมืองไทย อยู่ในเมืองไทย ดงศรีมหาโพธิเปนที่ตรัสรู้ ใครว่าพระพุทธเจ้าเปนแขกเกิดในประเทศอินเดียแล้วโกรธเอาด้วยซ้ำ

จะทูลถวายรูปนรสิงห์เมืองไทย ที่เก่ากว่ารูปซึ่งพระองค์เจ้าประดิษฐวรการทำไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีในชามเบญจรงค์ลายเทพประนมนรสิงห์ แต่จะเก่าเพียงไรเกล้ากระหม่อมไม่มีใจใฝ่ในทางถ้วยชาม ฝ่าพระบาทคงจะทรงพระวินิจฉัยได้ดีกว่า แท้จริงคำนรสิงห์นั้น เขาผูกขึ้นด้วยหมายถึงคนกล้าคนดุ คนมีเดช ประดุจสิงห์ ไม่ได้หมายจะให้เปนสัตวอันมีรูปเปนครึ่งคนครึ่งสิงห์ มีพยานจะอ้างได้ที่มีพระนามพระพุทธเจ้าอย่ว่า “สกฺยสีโห” หมายความว่าพระพุทธเจ้าเปนสิงห์ของกษัตริย์ศากย ใช่จะหมายความว่ากษัตริย์ศากยรวมทั้งพระพุทธเจ้ามีรูปกายเปนครึ่งคนครึ่งสัตวก็หามิได้ โดยนัยนี้ คชสีห์ ก็ควรจะแปลว่า ช้างดุเท่านั้น

กินนรนั้นมีรูปทำไว้ทั้งสองอย่าง เปนรูปครึ่งนกครึ่งคนก็มี เปนรูปนางมนุษย์ติดปีกหางก็มี เกล้ากระหม่อมได้รูปตัวอย่างไว้ทั้งสองอย่าง ทำงามเลิศ ฝีมือไม่ต่ำกว่าในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ ครุฑก็ทำสองอย่างเหมือนกัน ถ้าอยู่โดยลำลองก็ทำเปนครึ่งนกครึ่งคน ถ้าเข้าแถวเทพชุมนุมก็ทำตัวเปนคน คงแต่หน้าเปนครุฑเท่านั้น ไม่มีปีกไม่มีหาง เรื่องรูปกายต่าง ๆ นี้ เกิดวิปริตขึ้นที่ลิ้นของท่านพวกแต่งหนังสือ อยากว่ากะไรก็ว่าไปตามชอบใจ เช่นครุฑเปนต้น หนังสือลางฉะบับก็แต่งให้มีกิริยาเปนนก ลางฉะบับก็แต่งให้มีกิริยาเปนคน อย่าว่าแต่หนังสือต่างฉะบับกันเลย แม้ในฉะบับเดียวกันก็แต่งไม่อยู่ที่ ประเดี๋ยวว่าอย่างโน้นประเดี๋ยวว่าอย่างนี้ ไม่ต้องอ้างไปไกล เอาแต่เรื่องไชยเชษฐของเรานี้เอง เมื่อกล่าวถึงนางแมว ลางคาบก็กล่าวเหมือนเปนแมว ลางคาบก็กล่าวเหมือนเปนคน ช่างเขียนผู้จะเขียนรูปตามเรื่องมันก็ตายโหงเท่านั้น มีนิทานจะเล่าถวาย เมื่อครั้งปฏิสังขรณ์วัดพระแก้วคราวร้อยปี เกล้ากระหม่อมมีหน้าที่เปนนายด้านปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์ แล้วก็กำลังใฝ่ใจในวิชาเขียนอยู่ด้วย เสร็จธุระดูการในหน้าที่ของตนแล้วก็เดินเที่ยวดูเขียนรอบพระระเบียงรอบหนึ่งเปนอย่างน้อย และประจบคนฝีมือดีเปนลูกศิษย์เขาตลอดไป วันหนึ่งไปหยุดดูพระอาจารย์แดงเขียนอยู่ที่ห้องหณุมานอาสา สมเด็จพระราชปิตุลาผู้เปนนายด้านการเขียนพระระเบียงซีกหนึ่ง ตรัสสั่งบังคับไว้ว่า รูปทศกรรฐ์ต้องเขียนให้ครบ ๒๐ กรจริง ๆ ซึ่งแต่ก่อนก็เขียนกันแต่ ๒ กรอย่างคนธรรมดา แม้ว่าถึงที่สำแดงเดชจะใส่มากเข้าไปอีกก็เพียง ๖ กรเท่านั้น ครั้นถูกบังคับให้ทำ ๒๐ กรก็ดิ้นกันขลุกขลัก ไม่ใช่ว่าจะเขียนไม่ได้ เขียนได้ดอก แต่ก็เหมือนกับเอาหวีกล้วยเข้าขนาบไว้สองข้าง จะทำกิริยาให้เห็นปรากฏว่าโกรธหรือว่าชอบใจอะไรก็ไม่ได้ อาจารย์แดงกำลังพยายามจะเขียนทศกรรฐ์ให้มีกิริยาโกรธ ประจุแขนเพื่อให้สมกิริยา ลบ ๆ เขียน ๆ เลื่อนไปเลื่อนมาจนเหื่อแตกไม่สำเร็จ วางมือลงจากร่างร้านมานั่งพิงเสาพระระเบียงเพ่งดูรูปที่เขียน ทีจะตริตรองว่าจะทำอย่างไรดี ในที่สุดพูดกับเกล้ากระหม่อมว่า “ขอถวายพระพร ทศกรรฐ์นี่ อาตมภาพเห็นว่าจะดีอยู่อย่างเดียวก็แต่งมกุ้งเท่านั้นแหละขอถวายพระพร เปนลอดไปข้างไหนไม่ได้เทียว”

เมื่อสองสามวันนี้ พราหมณ์ศาสตรีมารดน้ำสงกรานต์ ได้สอบถามถึงสิ่งที่นับถือตามที่ทูลถวายมาเมื่อคราวก่อนว่าจะผิดถูกเปนประการใด แกว่าที่จะจัดเปนลำดับว่าอะไรก่อนอะไรหลังนั้นไม่ไหว ยุ่งเหยิงหนัก เอาเปนแน่ได้แต่ว่านับถือสิ่งที่เปนธรรมดา (คือ Nature) มาก่อน แล้วทีหลังจึงนับถือเทวดา ถามแกว่า ลึงค์ เปนของเก่าหรือใหม่ แกว่าเก่ามากทีเดียว ไม่ใช่มีแต่ของพราหมณ์ของชาติอื่นก็มี จึงถามแกว่าก็เก่าเปนไหน ๆ แล้วทำไมจึงว่าเปนศิวลึงค์ พระศิวเปนของเกิดใหม่ไม่ใช่หรือ แกว่าตรงนี้สิเปนที่เสียหายมากที่สุด ที่คิดอะไรขึ้นใหม่แล้วไปลากเอาของเก่ามาคลุกคละย้อมแปลงเสียให้หลงจนไม่รู้ได้ว่าอะไรเปนอะไร

ธงยอดฉัตรที่ตรัสถึงนั้น เห็นหาใช่หมายถึงพระเกตุไม่ คงจะทรงระลึกได้ ฉัตรเบญจะรงค์ที่ปักใช้ในงานต่าง ๆ ยอดก็เปนธง ฉัตรกระดาษซึ่งทำในการพิธีต่าง ๆ เช่นหล่อพระชันษาหรือฉัตรคาถาพันยอดก็เปนธง เครื่องบูชานพเคราะห์ มีฉัตรเท่ากำลังเทวดา มีธงเท่ากำลังเทวดา มีคำบูชาว่า “ธูปประทีปและธงฉัตร” หมายความว่าฉัตรก็เปนเครื่องบูชา ธงก็เปนเครื่องบูชา ที่ทำยอดฉัตรเปนธงนั้นก็คิดเอาเครื่องบูชาสองอย่างเข้าผสมกันเปนชิ้นเดียวเสร็จเท่านั้น

ดีใจมากที่ทรงพระเมตตาโปรดจะประทานสมุดรูป กำลังจะหาอยู่เหมือนกัน รูปต่าง ๆ ที่ประทานเข้าไปแล้วนั้น เวลานี้เก็บไว้กับลายพระหัตถ์

ดีใจที่จะได้เห็นรูปเขียนที่เมืองพุกาม ตามที่ทรงพระเมตตาจะโปรดประทานเข้าไปให้ดู สมใจเปนอย่างยิ่งที่อยากเห็นหนัก ถ้าเหมาะใจจะเปนครูได้จะให้พระงั่วถ่ายรูปต่อไว้ดู พระงั่วทำนั้นห้ามได้ไม่ให้ปล่อยกระจุยกระจายไปที่ไหนให้เขาว่าเอาได้

อ่านเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าที่ประทานไปคราวนี้ รู้สึกว่าผู้ที่มีอำนาจวาสนา หรือจะเรียกว่าวีรบุรุษย์อะไรก็ตาม จะมีชื่อเสียงได้ก็ต้องมีโชคมีช่องประกอบให้เปนเคราะห์ดีด้วย หรือจะว่าเทวดาช่วยก็ตาม ถ้าแต่ลำพังตนแม้จะมีความสามารถสักเพียงไร เมื่อไม่ได้โชคได้ช่องก็ตะเกียกตะกายไปไม่ได้ถึงไหน

สังเกตรูปพระมุเตาซึ่งโปรดประทานเข้าไปคราวนี้ รู้สึกว่าเห็นองค์จะไม่สู้ใหญ่มากนัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ