เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ (ท่อนที่ ๒)

วันเสาร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ กรรมการสนามม้าติณมัยสโมสร Stewarts of the Turf Club เชิญไปกินกลางวันที่สโมสรในบริเวณสนามม้าด้วยเปนวันสำคัญของการแข่งม้าที่เมืองร่างกุ้ง อย่างวันแข่งม้าชิงถ้วยทองของพระราชทานในเมืองเรา ผู้ที่เปนกรรมการล้วนแต่เปนคนสำคัญทั้งในราชการและในการอื่นเหมือนอย่างว่าเลือกสรรแต่ชั้นพวกที่เปนหัวหน้าทั้งนั้น มีทั้งฝรั่งแขกและพะม่า เลี้ยงกันแต่ผู้ชายประมาณสัก ๒๐ คน ฉันนั่งระหว่างอธิบดีผู้พิพากษาศาลสูง Chief Justice of the Supreme Court ข้าง ๑ กรอ เลขานุการใหญ่ของรัฐบาลเมืองพะม่า Chief Secretary of the Government of Burma ข้าง ๑ ในเวลาที่นั่งโต๊ะฉันมีโอกาสได้สนทนาไต่ถามกิจการต่างๆ ในเมืองพะม่าดังเล่ามาในตอนต้น ๆ หลายอย่าง สนามม้าที่เมืองร่างกุ้งทำเรียบร้อยโอ่โถงมีสถานที่ต่างๆ บริบูรณ์และรักษาดีกว่าสนามม้าแห่งอื่น ๆ ที่ฉันเคยเห็นทางตะวันออกนี้ ฉันออกปากชม เขาบอกว่านอกจากสนามม้าที่เมืองกาลกัตตาไม่มีแห่งอื่นที่จะเปรียบกับสนามม้าเมืองร่างกุ้งได้ แต่ตัวอันไม่เข้าใจในการเล่นแข่งม้า พอเสร็จการเลี้ยงก็ลากลับมา ถึงตอนเย็นเขาเชิญให้เจ้าหญิงไปดู กลับมาเล่าว่ามีผู้คนมากมาย เจ้าเมืองไปให้ถ้วยรางวัล ส่วนตัวฉันกับหญิงเหลือซึ่งอยู่เปนเพื่อนพากันย่องขึ้นไปนมัสการลาพระเกศธาตุและเที่ยวถ่ายรูปอีกครั้งหนึ่ง เวลานี้ที่เนินนอกบริเวณพระเกศธาตุเขากำลังเตรียมการจะปลงศพพระมหาเถร Sayadaw องค์หนึ่งในเดือนมีนาคม เห็นกำลังปักรั้วไม้ไผ่รอบบริเวณ ในนั้นสานโครงรูปราชสีห์อย่างใหญ่โตอยู่ตัวหนึ่ง กับสานโครงรูปหงสหรือรูปอะไรอย่างใหญ่โตอีกตัวหนึ่ง การเผาศพพระพะม่าอันได้เคยเห็นเมื่อไปเมืองร่างกุ้งครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๓๔ ด้วยประจวบกับงานปลงศพพระสังฆราช เขาพาฉันไปดูในวันปลงศพ ดูเปนงานมหรสพใหญ่โตมีออกร้านขายของเล่นละคอนและระบำ (ซึ่งฉันเห็นการฟ้อนรำของพะม่าเปนครั้งแรก) และมีรูปสัตว์สานโครงปิดกระดาดตัวใหญ่ๆ อย่างเห็นทำอยู่ในคราวนี้หลายตัว แต่จะเปนรูปสัตว์อะไรลืมเสียแล้ว เขาได้พาไปดูที่เผาศพด้วย วิธีเผาศพอย่างพะม่าดูชอบกล เขาไม่เอาหีบศพขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน ใช้ขุดหลุมลงไปในแผ่นดิน เอาฟืนเรียงขึ้นมาแต่ก้นหลุมกลบหีบหรือห่อศพไว้ในกลางกองฟืนไม่แลเห็น ที่ริมหลุมเห็นจะเปนข้างด้านปลายเท้าศพ มีสูบแฝดอย่างเช่นใช้หลอมทองหล่อพระตั้งไว้ พอจุดไฟติดฟืนแล้วก็สูบลมช่วยเร่งไฟให้แรงขึ้นจนไหม้ศพและฟืนหมดทั้งหลุม ต่อไปในวันรุ่งขึ้นก็เก็บอัฐิธาตุไปบรรจุ่ในสถูปเปนที่สุด วิธีเผาศพด้วยจุดดอกไม้ไฟที่เรียกว่า “ลูกหนู” เห็นจะเปนวิธีของมอญ ไม่เห็นมีร่องรอยในการเผาศพพระพะม่าซึ่งฉันไปดูในวันนั้น พิเคราะห์พิธีการเผาศพไทยกับพะม่าดูมีทั้งที่เหมือนกันและผิดกันชอบกล การสร้างบริเวณงานเผาศพ ทำรูปสัตว์ต่างๆ แห่แหนและมีมหรสพ เห็นเหมือนกัน แต่ส่วนวิธีเผาศพนั้นผิดกันเปนข้อสำคัญ ไทยทำตามอย่างสาสนาพราหมณ์ พะม่าทำตามอย่างทางพระพุทธสาสนา ตามคติพราหมณ์นั้น แต่ใครเกิดก็ต้องจุดดวงไฟสำหรับตัวดวงหนึ่ง และต้องบูชารักษาไฟดวงนั้นไว้ตลอดชีวิต เมื่อตายเอาไฟดวงนั้นเผาศพแล้วจึงดับได้ ไทยเราจะรับตำราบูชาไฟเช่นว่ามาใช้เพียงไรแต่โบราณไม่ทราบชัด แต่ยังมีการที่ทำกันในเหล่าบุคคลชั้นสูงศักดิ์เปนเค้าอยู่จนทุกวันนี้ เปนต้นว่าพอลูกคลอดออกมาก็ให้จุดเทียน เรียกว่า “เทียนกัลเม็ด” ตั้งไว้ในห้องที่ทารกอยู่ รักษาดวงไฟมิให้ดับเดือนหนึ่ง แต่ภายหลังลดลงมาเพียง ๓ วัน ๗ วัน เมื่อใครตายลงก็จุดเทียนกัลเม็ดอย่างเดียวกันนั้นไว้ที่ข้างศพ จนย้ายศพไปตั้งหรือไปฝังแล้วจึงดับเทียนกัลเม็ด เมื่อจะเผาศพ ถ้าเปนพระศพเจ้าหรือศพขุนนางพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานดวงไฟไปเผาศพ จึงเรียกกันว่า “พระราชทานเพลิง” ไฟที่พระราชทานไปเผาศพนั้นมิใช่ไฟสามัญ พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงฉายแสงอาทิตย์ด้วยแว่นให้เกิดดวงไฟ เรียกกันแต่ก่อนว่า “ไฟฟ้า” ทรงจุดเทียนด้วยไฟนั้นพระราชทานไปให้แห่นำหน้าศพไปยังเมรุ แล้วเผาศพด้วยไฟดวงนั้น ถ้าเปนเวลาไม่มีแสงแดดพอจะทรงฉายแว่นได้ก็ทรงสับศิลาหน้าเพลิงให้เกิดไฟฟ้าอย่างเดียวกัน เพิ่งมาแก้ไขในรัชชกาลที่ ๕ โปรดให้จุดไฟฟ้า (คือไฟที่ทรงฉายมาจากแสงอาทิตย์) มีประจำไว้ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเปนนิจสำหรับพระราชทานเพลิงศพ ไม่ให้ต้องทรงฉายแสงอาทิตย์หรือสับศิลาหน้าเพลิงทุกคราวไป ถ้าพระราชทานเพลิงศพตามหัวเมือง อันไม่สามารถจะส่งดวงไฟไปได้ ก็พระราชทานศิลาหน้าเพลิงไปให้ผู้แทนพระองค์ในที่นั้นตีให้เกิดดวงไฟที่พระราชทานเพลิงศพ พิเคราะห์ความตามที่กล่าวมาส่อให้เห็นได้ว่าไทยเราเคยถือคติเรื่องดวงไฟอย่างพราหมณ์มาแต่ก่อน ประเพณีการพระราชทานเพลิงศพทุกวันนี้ ถ้าใครสังเกตก็จะเห็นได้ว่ามีของ ๓ อย่าง คือ ผ้าบังสกุล ทำบุญอุทิศพระราชทานแก่ผู้ตายอย่าง ๑ เข้าตอกดอกไม้ธูปเทียน ทรงขมาศพเพื่อระงับเวรกับผู้ตายอย่าง ๑ ดวงไฟสำหรับเผาศพอย่าง ๑ คนที่ไม่รู้มักสำคัญว่าธูปเทียนที่พระราชทานไปก็ดี ที่ตนเองเอาไปก็ดี สำหรับเผาศพตามที่จริงมิใช่เช่นนั้น ธูปเทียนกับทั้งเข้าตอกดอกไม้เปนของสำหรับขมาศพเท่านั้น ในบัตรหมายก็เรียกว่า “เครื่องขมา” การที่เผาศพเผาแต่ด้วยดวงไฟที่พระราชทานไป ในเมืองเขมรเขายังใช้ประเพณีอันนั้นแลเห็นชัด เช่นเมื่อถวายพระเพลิงพระศพเจ้าศรีสวัสดิ์ พระเจ้ามณีวงศ์ผู้เปนรัชชทายาทขึ้นไปถวายบังคมวางเข้าตอกดอกไม้ธูปเทียนขมาพระศพก่อนแล้วออกมานอกพระเมรุ (เอาไฟฟ้า) จุดฝักแคถวายพระเพลิง ประเพณีในเมืองไทยถ้าเปนศพที่สูงศักดิ์ พระเจ้าแผ่นดินเสด็จเข้าไปทรงขมาถึงที่ตั้งศพ แล้วทรงจุดไฟฟ้าด้วยเทียนขมานั้นเองพระราชทานเพลิงศพ ถ้าเปนศพศักดิ์ต่ำลงมาก็โปรดให้มีผู้แทนพระองค์เข้าไปวางเครื่องขมาที่ศพ แล้วจึงทรงจุดฝักแคด้วยไฟฟ้าพระราชทานเพลิง ถึงกระนั้นก็เปนแต่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่พระราชทานเพลิง ถ้ามิได้เสด็จไปเองก็ให้ผู้แทนพระองค์พระราชทานเพลิง ผู้อื่นมีกิจเพียงเอาธูปเทียนของตนไปวางขมาที่ศพเท่านั้น หามีกิจที่จะเผาศพไม่ การเผาศพคนสามัญขันคฤหบดีแต่เดิมก็น่าจะเปนตัวหัวหน้าในพวกเจ้าภาพที่เปนผู้เผา แต่ภายหลังเกิดสำคัญกันไปว่า ช่วยเผาศพเอาบุญ ก็พากันเอาเทียนขมาจุดไฟช่วยเผาศพด้วยทุกคน บางคนถึงเกรงว่าวางเทียนที่ใต้โลงจะไม่เปนอันเผา จุดเทียนทิ้งลงไปทางปากโลงก็มี มันเลือนมาดังนี้ แต่ก็อยู่ในเลือนมาในประเพณีพราหมณ์อยู่นั่นเอง เมื่อฉันไปดูเผาศพพระพะม่ากลับมาเสียก่อนเขาจุดไฟ ด้วยเกรงว่าจะกีดขวางเขา ไม่เห็นมีผู้มียศศักดิ์ไปนั่งงาน มีแต่พวกกรรมการที่ศิษย์พามาพาไปเที่ยวดูงาน นึกไม่ได้ว่าได้เห็นผู้คนถือธูปเทียนขมา หรือเขาจะขมากันเสียเมื่อเวลายังตั้งศพก็เปนได้

วันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ เวลาบ่ายมิสเตอร คัสโตเนีย ผู้จัดการห้างอิสต์เอเซียติค และเปนกงซุลเดนมาร์คในเมืองพะม่า เชิญไปเลี้ยงน้ำชาเปนการรับรองพวกเราที่บ้านของเขาอยู่บนเนินเขาข้างนอกเมืองร่างกุ้ง เขาเชิญพวกพะม่าที่เปนคนสำคัญให้มาพบพวกเราหลายคน ตั้งโต๊ะหลายตัวรายไปในสนาม ให้พวกเราแยกกันนั่งคนละโต๊ะ โต๊ะที่ฉันนั่งเขาจัดให้ขุนนางพะม่า ๒ คน คือ เซอ มอง บา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย (แต่เขาใช้ชื่อเรียกว่าเลขานุการ Secretary of the Interior) มานั่งด้วยคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งเปนผู้พิพากษาศาลสูง Supreme Court อย่างศาลฎีกา (ฉันลืมชื่อไปเสียแล้ว) อีกคนหนึ่งอังกฤษที่เปนอธิบดีผู้พิพากษาศาลสูง เปนเซอ- ชื่ออะไรฉันก็ลืมไปเสียแล้ว กับทั้งภรรยาผู้ที่กล่าวมา ฉันไปเมืองพะม่าไม่ได้คิดที่จะไปหาความรู้เรื่องการเมือง ตั้งใจแต่จะไปเที่ยวดูของโบราณ วันนี้เมื่อเขาเชิญพวกคนสำคัญในการเมืองมาให้พบ เรื่องที่สนทนากันก็เลยเข้าไปในการเมืองด้วย แต่ดูปลาดอยู่อย่างหนึ่ง ที่พวกนักการเมืองในเมืองพะม่าทั้งฝรั่งและพะม่าไม่มีใครไต่ถามฉันถึงการเมืองในประเทศสยามเลยสักคนเดียว จะเปนด้วยเขาเกรงใจหรืออย่างไรหาทราบไม่ ฝ่ายฉันจึงมีโอกาสที่จะถามเขาได้มาก สนทนากันด้วยยินดีมีไมตรีจิตรต่อกันทั้ง ๒ ฝ่าย

เรื่องที่สนทนากับท่านเซอ อธิบดีผู้พิพากษาศาลสูงออกจะขบขันอยู่บ้าง แกถามฉันว่าได้ไปเรียนในประเทศอังกฤษหรือ ฉันตอบว่าเรียนในประเทศของฉันเอง ด้วยสมัยเมื่อฉันยังเล่าเรียนนั้นยังมิใคร่นิยมในการส่งเด็กไทยไปเรียนในยุโรป แกปลาดใจบอกว่าเมื่อตัวแกยังเปนนักเรียนอยู่ที่วิทยาลัยไครสเชิชในมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ดนั้น มีนักเรียนไทยอยู่ร่วมวิทยาลัยได้คุ้นเคยกับแกคนหนึ่ง แกนึกว่าจะเปนตัวฉัน ฉันถามว่า แกรู้จักชื่อเขาหรือไม่ แกนิ่งอยู่สักประเดี๋ยวแล้วบอกว่า นึกชื่อได้แล้ว ชื่อ รพี Rabi เปนน้องของฉันหรือ ฉันบอกเปนหลานด้วยเปนพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดินที่เปนพระเชษฐาของฉัน แกหัวเราะด้วยเห็นจะออกแคลงใจ ว่าถ้าเช่นนั้นอายุฉันก็เห็นจะถึง ๘๐ แล้ว เพราะตัวแกเปนนักเรียนรุ่นเดียวกับรพี ยังถึงเวลาที่จะออกรับเบี้ยบำนาญในปีนี้ ฉันตอบว่าที่ฉันบอกนั้นเปนความจริงจะพิศูจน์ได้ ด้วยฉันเองเปนผู้พารพีไปส่งที่วิทยาลัยไครสเชิชเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๑ เวลานั้น ดีน Dean ผู้บัญชาการวิทยาลัยชื่อแปเช็ต Peget ต่อมาได้เปนบิฉอบเมืองออกสฟอร์ดเปนผู้รับ แต่เสียใจที่จะต้องบอกว่า รพี (คือกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) นั้นสิ้นพระชนม์เสียแล้วแกก็สิ้นสงสัย

สนทนากับผู้พิพากษาศาลสูงคนที่เปนพะม่า ฉันถามว่าในเมืองพะม่ ามีคนต่างชาติต่างภาษาและต่างสาสนามาก ให้กฎหมายพิพากษาคดีอย่างไร แกตอบว่าในคดีที่เปนความแพ่งและความอาญาสามัญ ใช้กฎหมายที่รัฐบาลอังกฤษตั้งสำหรับประเทศพะม่าเหมือนกันหมด แต่ถ้าคดีที่เปนลักษณผัวเมียหรือมรดกใช้กฎหมายตามลัทธิสาสนาและประเพณีของคู่ความ ฉันถามว่ากฎหมายเช่นนั้นสำหรับพวกพะม่าใช้กฎหมายอะไร ตอบว่าใช้กฎหมายธรรมศาสตร์ (พะม่าเรียกกฎหมายของตนรวมกันว่าธรรมศาสตร์ อย่างไทยเราใช้คำว่ากฎหมายเรียกรวมกัน) แกบอกอธิบายต่อไป ว่าเมื่อครั้งมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองประเทศพะม่านั้น กฎหมายที่ใช้อยู่ข้างฟั่นเฝือ ด้วยธรรมศาสตร์เปนคัมภีร์ใหญ่ บทกฎหมายมีที่ใช้มากก็มี ต่อนาน ๆ จึงใช้ก็มี ใช้เข้ากับสมัยไม่ได้ก็มี เมื่ออังกฤษได้เมืองพะม่าจึงให้ชำระธรรมศาสตร์คงไว้แต่มีที่ใช้ การนั้นได้อาศัย “อู ฆ้อง” U Gaung ซึ่งเคยเปนอัครมหาเสนาบดีพะม่า ที่เกงหวุ่นแมงคยีมาแต่ก่อนเปนผู้ชำระ แล้วให้แปลเปนภาษาอังกฤษพิมพ์ไว้ด้วยกันกับภาษาพะม่า และยังมีกฎหมายซึ่งเนื่องกับพระพุทธสาสนาอีกแผนกหนึ่ง กฎหมายแผนกนี้เอาเรื่องคดีที่เคยตัดสินแล้วพิมพ์ไว้เปนตัวอย่าง สำหรับพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นใหม่ การที่สนทนากันด้วยเรื่องกฎหมายนี้ รุ่งขึ้นวันหลังผู้พิพากษาคนนั้นมีแก่ใจรวบรวมสมุดกฎหมายต่างต่างที่ได้บอกในวันก่อน ส่งมาให้เปนที่ระลึกชุดหนึ่ง ๕ เล่มสมุด ได้เขียนจดหมายตอบขอบใจเขามาก พิเคราะห์อธิบายที่กล่าวถึงกฎหมายพะม่าเมื่อครั้งยังมีพระเจ้าแผ่นดิน ก็เห็นจะเปนเช่นเดียวกันกับจดหมายเก่าของไทยเรา ที่พิมพ์ในสมุด ๒ เล่มนั่นเอง เพราะพะม่ากับไทยแต่โบราณเห็นจะถือคติซึ่งได้มาจากอินเดียอย่างเดียวกัน ว่าธรรมศาสตร์เปนของสุขุมคัมภีรภาพควรรอบรู้แต่ผู้ซึ่งทรงคุณธรรม ถ้าตกไปถึงมือคนอันทพาลจะเอาไปใช้ให้เกิดโทษแก่มหาชน แม้กฎหมายไทยก็เพิ่งรู้กันได้ทั่วไปด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอนุญาตให้พิมพ์เมื่อรัชชกาลที่ ๔ ครั้งฉันไปเมืองเขมรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้สนทนากับฝรั่งเศสซึ่งเปนหัวหน้าหรือที่ปรึกษากระทรวงยุติธรรมอยู่ที่เมืองพนมเพ็ญ เขาบอกว่าในกระบวรพิจารณาความในศาลเมืองเขมรเวลานั้น ยังไม่ยอมให้คู่ความมีทนายเข้าช่วยแก้ความในศาล เพราะกฎหมายเขมรห้ามมาแต่โบราณ ด้วยเกรงพวกเจ้าถ้อยหมอความจะเข้าไปทำให้ยุ่งยากในการพิจารณาคดี เดิมเห็นจะถือคติอย่างเดียวกันทุกประเทศทางตะวันออกนี้

เรื่องการเมืองที่ได้สนทนากับ เซอ มอง บา รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย จะรอไว้เล่ารวมกับเรื่องไปดูเนติสภาเมืองพะม่าในวันอื่นต่อไป

  1. ๑. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๕ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ สิ้นพระชนม์วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ เป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ