วันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๖ มีนาคม แล้วความที่จะทูลสนองลายพระหัตถ์ฉะบับนี้บางข้อจะเปนเรื่องแปลกปลาดอยู่บ้าง แต่จะทูลเรียงตามลำดับข้อในลายพระหัตถ์

หนังสือของหม่อมเจ้าปิยภักดีนาถนั้น หม่อมฉันเห็นจะทูลได้ว่าเคยเห็นหมดหรือโดยมากทีเดียว ที่เปนหนังสือดีจริงนั้นคือหนังสือฉะบับหอหลวงเขียนในรัชชกาลที่ ๑ เธอได้ไว้หลายเรื่อง เช่น สมุดภาพกระบวรแห่เพ็ชรพวงเปนต้น เรื่องใดที่ดีหม่อมฉันได้ขออนุญาตเธอคัดสำเนาไว้ในหอพระสมุดแล้วทั้งนั้น คราวนี้ได้ตัวต้นฉะบับกลับมาก็ควรยินดี เหตุใดหม่อมเจ้าปิยจึงได้หนังสือฉะบับหอหลวงไว้มาก เรื่องพิลึกอยู่ ควรจะทูลโดยพิศดาร

หนังสือหอหลวงเดิมก็เก็บรักษาไว้ในห้องอาลักษณ อยู่ตรงหน้าพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นเมื่อจะรื้อตึกแถวนั้นทำเปนตึกยาวที่กรมวังอยู่เดี๋ยวนี้ เวลานั้นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณเปนจางวางกรมอาลักษณ ท่านจึงให้ขนหนังสือหอหลวงไปเก็บรักษาไว้ที่วัง ครั้นถึง ร.ศ. ๑๐๐ (พ.ศ. ๒๔๒๔) มี “เอกสหิบิเชน” ที่ท้องสนามหลวงเนื่องในการสมโภชพระนคร ขอแรงเจ้านายและใครๆ ที่มีแก่ใจจะช่วยให้จัดของมาแสดงเรียงกันเปนห้องๆ กรมหลวงบดินทรเอาสมุดหอหลวงมาแสดง อยู่ต่อกับห้องของนาย ก ส ร กุหลาบ แสดงหนังสือฉะบับพิมพ์ต่างๆ เช่น ใบปลิว ประกาศในรัชชกาลที่ ๔ เปนต้น ซึ่งเขาได้พยายามรวบรวมไว้มาก นายกุหลาบได้เห็นหนังสือหอหลวงเรื่องต่างๆ เมื่อเอกสหิบิเซนนั้น เกิดอยากได้สำเนาหนังสือพวกพงศาวดารต่างๆ พอเสร็จการเอกสหิบิเซนจึงไปประจบประแจงอย่างถวายตัวเปนศิษย์ กรมหลวงบดินทรก็ทรงพระเมตตา แต่ทูลขอคัดสำเนาหนังสือหอหลวงท่านไม่ประทานอนุญาต ตรัสว่าเปนของหวงแหนห้ามปรามมาแต่ก่อน นายกุหลาบจึงคิดกลอุบายทูลขอยืมไปอ่านเพียงครั้งละเล่มแล้วรีบส่งคืนมิให้ช้ากว่าวันหนึ่ง กรมหลวงบดินทรหลงกลนายกุหลาบยอมให้ยืมหนังสือหอหลวงไปอ่าน นายกุหลาบได้หนังสือไปก็เอาข้ามไปที่วัดอรุณ เอาเสื่อม้วนปูที่พระระเบียง คลี่สมุดออกวางตลอดเล่ม จ้างเสมียนให้ช่วยกันคัดคนละตอน คัดหน้าหนึ่งแล้วกลับสมุดคัดอีกหน้าหนึ่ง พอบ่ายก็คัดเสร็จทั้งเล่ม เอาหนังสือกลับมาบ้านเหมือนอย่างเอามาอ่าน พอรุ่งเช้าก็เอาถวายคืนกรมหลวงบดินทรได้ตามสัญญา กรมหลวงบดินทรก็ตายพระทัย ยอมให้นายกุหลาบยืมหนังสือหอหลวง “ไปอ่าน” ได้โดยสดวก นายกุหลาบจึงลักคัดหนังสือหอหลวงด้วยวิธีดังกล่าวมานี้ หม่อมฉันทราบเมื่อภายหลังจากนายทหารมหาดเล็กชั้นเก่า ว่า “นายเมธะแปลว่ารู้ นายเมธปสิมา” บุตรจ่าอัศวราช เมื่อยังเปนทหารมหาดเล็กเคยไปรับจ้างนายกุหลาบคัดหนังสือที่วัดอรุณดังว่ามา เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดวิตกเกรงว่าถ้าใครเห็นเข้ารู้ว่าสำเนาหนังสือหอหลวงจะเกิดความ จึงคิดทำกลอุบายอีกอย่างหนึ่ง ด้วยแก้ความและถ้อยคำในหนังสือเสียบ้างพอให้ผิดกับต้นฉะบับหอหลวง เผื่อเกิดความจะได้อ้างว่าได้ฉะบับมาจากที่อื่น หนังสือของนายกุหลาบ ความและสำนวนจึงวิปลาศหมดทุกเรื่องด้วยเหตุนี้ จะยกเปนอุทาหรณ์เช่นเรื่องพงศาวดารรัชชกาลที่ ๓ ซึ่งนายกุหลาบลักคัดไป ตอนพรรณนาว่าด้วยแห่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย นายกุหลาบไปคัดเอารายการแห่พระบรมศพสมเด็จพระนารายน์มหาราชในหนังสือพระราชพงศาวดารฉะบับพิมพ์ ซึ่งมีว่าสมเด็จพระเพทราชาทรงโบกวีชนีเปนสัญญาให้เดินกระบวรแห่ มาแทรกลงว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโบกวิชนี เพื่อให้ผิดกับฉะบับที่เจ้าพระยาทิพากรวงศแต่ง นายกุหลาบเห็นจะพยายามคัดหนังสือหอหลวงอยู่หลายปี ได้สำเนาไปหลายเรื่องทีเดียว เรื่องแรกที่เอาออกพิมพ์นั้น ดูเหมือนจะเปน “คำให้การขุนหลวงหาวัด” โรงพิมพ์หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ขายอ้างว่าได้ฉะบับไปจากนายกุหลาบ สมัยนั้นเผอิญประจวบเวลาแรกตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ สมาชิกกำลังเอาใจใส่เรื่องพงศาวดาร เห็นหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดก็ออกจะตื่นกัน ด้วยไม่เคยอ่านกันโดยมาก และไม่มีใครรู้ว่านายกุหลาบได้ฉะบับมาแต่ไหน นายกุหลาบก็เริ่มมีชื่อเสียงว่ามีตำหรับตำรามาก จนได้เข้ามาเปนสมาชิกหอพระสมุด และดูเหมือนจะได้ให้หนังสือพวก “วิปริต” อย่างเดียวกันไว้ในหอพระสมุดด้วยหลายเรื่อง ต่อมาก็เลยตั้งตัวเปนนักปราชญ์ออกหนังสือพิมพ์ “สยามประเภท” เอาสำเนาหนังสือหอหลวงที่ทำให้วิปริตแล้วลงพิมพ์เรื่อยมา กรมพระสมมตทรงปรารภกับหม่อมฉันเนืองๆ ว่าหนังสือที่นายกุหลาบพิมพ์นั้นดูเปนเท็จปนจริง จะว่าเท็จทีเดียวหรือจริงทีเดียวไม่ได้ทั้ง ๒ สถาน จึงเรียกกันว่าหนังสือ “กุ” (หม่อมฉันได้รวมไว้ตู้หนึ่งต่างหากที่ในหอพระสมุดวชิรญาณ) เรื่องที่บรรยายมาตอนนี้ เปนปฐมเหตุที่หนังสือหอหลวงจะกระจายไปที่อื่น ชั้นแรกกระจายไปแต่สำเนาก่อน

ต่อมาเมื่อกรมพระสมมตเปนราชเลขาธิการและได้ทรงบัญชาการกรมอาลักษณด้วย จะให้ขนหนังสือหอหลวงที่อยู่วังกรมหลวงบดินทรกลับไปรักษาไว้ในออฟฟิศหลวง พวกชาววังกรมหลวงบดินทร (จะเปนบุคคลชั้นไหนไม่ทราบ) ยักเอาหนังสือที่ดีๆ ไว้ไม่ส่งคืน ฝ่ายกรมพระสมมตไม่ทรงทราบว่าหนังสือหอหลวงมีหนังสือเรื่องอะไรบ้างก็ทรงรับไว้โดยชื่อเพียงเท่าที่ส่งไป แต่นั้นพวกชาววังกรมหลวงบดินทรก็เริ่ม (หรืออาจจะลักก็เปนได้) เอาหนังสือหอหลวงซึ่งยักไว้ที่วังกรมหลวงบดินทรออกขายเปนอาณาประโยชน์ หม่อมเจ้าปิยเล่าให้หม่อมฉันฟัง แต่เธอไม่บอกแหล่งหรือตัวคนที่ขาย เปนแต่ว่ามีคนเอาหนังสือเก่า ๆ เที่ยวขาย พวกเยอรมันซื้อสมุดรูปภาพไตรภูมิส่งไปยุโรปเล่ม ๑ ให้ราคาถึง ๑,๐๐๐ บาท เธอกลัวหนังสือฉะบับเก่า ๆ ของไทยจะออกไปยุโรปเสียหมด เธอจึงรับซื้อไว้บ้าง แต่เลือกซื้อฉะเพาะฉะบับที่เขียนงาม (คือไม่เอาใจใส่ส่วนตัวเรื่องเท่าใดนัก)

ครั้นมาถึงสมัยตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร กรรมการปรึกษากันเห็นว่าหอพระสมุดควรจะคิดหาหนังสือไทยที่เปนฉะบับเขียนของเก่าเสียก่อน เพราะหนังสือฉะบับพิมพ์จะซื้อเมื่อใดก็ซื้อได้ แต่หนังสือไทยฉะบับเขียนกระจัดกระจายอยู่มาก ถ้ายิ่งช้าไปก็จะเปนอันตรายหายสูญมากไปทุกที หม่อมฉันจึงคิดอุบายหาหนังสือฉะบับเขียน ด้วยไปขอตามที่มีเปนแหล่งใหญ่ เช่นในวังหน้าเปนต้น หรือที่เจ้าของเอามาให้เองก็มี ได้หนังสือมาด้วยประการฉะนี้อย่างหนึ่ง แต่การหาหนังสือที่กระจัดกระจายอยู่ในพื้นเมืองเปนการยาก ด้วยไม่รู้ว่าจะมีอยู่ที่ไหนบ้าง หม่อมฉันจึงใช้อุบายอีกอย่างหนึ่ง ขอแรงพนักงานในหอพระสมุด ให้เที่ยวเล่าลือว่าถ้าใครเอาสมุดฉะบับเขียนมาขายหอพระสมุดจะซื้อ ก็เริ่มมีคนเอาหนังสือมาขายหอพระสมุด หม่อมฉันประสงค์จะหาหนังสือเรื่องแปลก ๆ เปนสำคัญ จึงคิดวิธีซื้อขึ้นใหม่คือ ๑) ไม่ให้ถามว่าผู้ขายได้หนังสือมาจากที่ไหน ด้วยนึกว่าถ้าเปนหนังสือดีถึงลักมาเจ้าของมาพบก็จะคืนให้ เปนแต่ขอคัดสำเนาไว้ก็จะเปนประโยชน์ไม่เสียเงินเปล่า (แต่ก็ไม่มีเหตุเช่นนั้นเลย) ๒) หม่อมฉันเปนผู้เลือกซื้อแต่ผู้เดียว ให้ราคาตามที่หม่อมฉันเห็นเปนค่าของหนังสือ บางทีเจ้าของตีราคาบาท ๑ หม่อมฉันให้ตั้ง ๔ บาท ๕ บาทก็มี ที่ผู้ขายตีราคาสูงหม่อมฉันไม่เห็นเปนเรื่องสำคัญจะให้แต่ราคาต่ำ ๆ หรือไม่ซื้อทีเดียวก็มี อาศัยวิธีนี้มีผู้เอาหนังสือมาขายหรือไปเที่ยวหาหนังสือมาขายหอพระสมุดมากขึ้น และบรรดาคนขายไม่ตีราคาเองบอกว่าสุดแล้วแต่จะประทานเปนประเพณีมา ในกาลครั้งหนึ่งมีผู้เอาหนังสือพงศาวดารฉะบับพระราชหัตถ์เลขามาขายสักสองสามเล่ม หม่อมฉันเห็นเข้าก็ปลาดใจ ตีราคาให้เล่มละ ๑๐ บาท และเกิดพิศวงว่าเหตุใดหนังสือมีลายพระราชหัตถ์เลขานั้นจึงไปตกอยู่ในท้องตลาด กระซิบสั่งให้สืบดูเงียบ ๆ ได้ความว่าคนที่เอามาขายนั้นเคยเปนมหาดเล็กกรมหลวงบดินทรอยู่แต่ก่อน เมื่อคนนั้นขายได้ราคาสูงเกินคาดก็เอามาขายให้อีก ซื้อไว้ได้หมด ต่อมายังเก่งขึ้นไปกว่านั้นอีก คนนั้นเองเอาหนังสือกฎหมายต้นฉะบับหลวงประทับตรา ๓ ดวงมาขายหอพระสมุด ๔ เล่ม หม่อมฉันให้ราคาเล่มละ ๒๐ บาท ก็ยินดีถึงออกปากว่า “ไม่รู้อย่างนี้ เลยเอาไปขายให้นายกุหลาบ ๒ เล่ม นายกุหลาบให้เล่มละ ๒ บาทเท่านั้น” (กฎหมายที่นายกุหลาบซื้อไป ๒ เล่มนั้นยังไปมีเรื่อง เล่าจะยืดยาวนัก จะทูลแต่ว่าลงที่สุดก็ได้มาเปนของหอพระสมุดเหมือนกัน) ผู้ขายหนังสือคนนั้นเลยเปนเจ้าจำนำเอาหนังสือมาขายหอพระสมุดมาอีกนาน จนบอกว่าหนังสือที่มีขายหมดแล้ว หม่อมฉันจึงเข้าใจว่าหนังสือฉะบับหอหลวงที่ตกค้างอยู่กับพวกชาววังกรมหลวงบดินทรเท่าใด หอพระสมุดซื้อได้จนหมด และเมื่อเร็ว ๆ นี้หม่อมฉันทราบความตามจดหมายของพระยาอนุมานราชธน จ่ากรมราชเลขาธิการส่งหนังสือสมุดไทยที่เคยเก็บรักษาไว้ในกรมนั้นสัก ๓,๐๐๐ เล่ม มาให้หอพระสมุด ก็เปนอันว่าหอพระสมุดวชิรญาณได้หนังสือหอหลวงหมดแล้วด้วยประการต่างๆ ดังทูลมา

ปราสาทที่สร้างไปตั้งแสดงพิพิธภัณฑ์ที่ปารีสนั้น เจ้าชายสมัยได้เอารูปฉายมาให้หม่อมฉันดูรูปคล้ายปราสาทโรงโขน คือปราสาทมีมุขยาวหน้าหลัง ตรงกลางตั้งฐานทรงฝรั่งวางพานรองอะไรรูปเปนพุ่มเข้าบิณฑ์อยู่บนนั้น ขนาดปราสาทเล็กกว่าที่ชายใสประมาณ จะเท่าๆ กับพลับพลาซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสร้างไว้ในถ้ำเขาสามร้อยยอด ถ้าหากท่านยังมิได้เสด็จไปทอดพระเนตร หาที่เปรียบแห่งอื่น ดูก็จะขนาดประตูยอดทางเข้าลานพระมหาปราสาท แต่ที่ว่าเจ้าสมัยมิได้ดูเมื่อเวลาปรุงและปลดตัวไม้นั้น ดูประมาทมากทีเดียว

เรื่องศาลเจ้าหลักเมืองสุพรรณบุรีนั้น หม่อมฉันจะทูลได้ถึงเปนเรื่องตำนาน ด้วยเคยเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันด้วยมาก แต่ยังไม่เคยเขียนลงเปนหนังสือ จึงจะเลยทูลบรรเลงเรื่องมาแต่ต้น เมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) หม่อมฉันเปนเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อขึ้นปีใหม่ พอถึงเดือน ตุลาคม ในปีนั้นก็ไปตรวจหัวเมืองเหนือ ขากลับหมายจะขึ้นเดินบกที่เมืองอ่างทอง ไปเมืองสุพรรณแล้วกลับกรุงเทพฯ จึงสั่งให้เรือไปคอยรับที่เมืองสุพรรณ ครั้นกลับลงมาถึงเมืองอ่างทอง เวลานั้นพระยาอ่างทอง (ชื่อเถียนหรือชื่อไรสงสัยอยู่ แต่เคยเปนหลวงนายฤทธิ์อยู่นาน คุ้นกับหม่อมฉันมาแต่เด็ก) แกพูดจาออดแอดจะไม่ให้ไป ว่าทางยังกันดารเปนน้ำเปนโคลนเดินทางลำบากนัก หม่อมฉันบอกว่าอย่างไรๆ ก็ต้องไป ด้วยให้เรือไปคอยรับอยู่ที่นั่นแล้ว แกเห็นห้ามหม่อมฉันไม่อยู่ จึงกระซิบพูดกับพระยาวรพุฒิว่า “นี่ในกรมไม่ทรงทราบหรือว่าเขาห้ามไม่ให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณมาแต่บรมโบราณ” พระยาวรพุฒิตกใจรีบมาบอกหม่อมฉัน ๆ ให้กลับไปถามว่าห้ามเพราะเหตุใด ได้ความกลับมาบอกว่าที่เมืองสุพรรณนั้นเจ้าหลักเมืองศักสิทธิ์นัก และเจ้าหลักเมืองนั้นไม่ชอบเจ้านาย ถ้าหม่อมฉันไปเกิดภัยอันตรายอย่างใดแกก็จะมีความผิดฐานไม่ทักท้วงห้ามปราม หม่อมฉันจึงให้พระยาวรพุฒิกลับไปบอก ว่าธรรมดาเทวดาย่อมเปนคนดีมีศิลสัตย์มาแต่ก่อน ผลบุญจึงบันดาลให้เปนเทวดา ก็การที่หม่อมฉันไปเมืองสุพรรณนั้น ไม่ได้ประสงค์จะไปประพฤติความชั่วร้ายอย่างไร ตั้งใจจะไปทำนุบำรุงบ้านเมืองและราษฎรให้อยู่เย็นเปนสุข หม่อมฉันเห็นว่าเจ้าหลักเมืองจะยินดีเสียอีก ไม่เห็นว่าจะมาทำอันตรายหม่อมฉันด้วยเหตุใด แกก็จนถ้อยคำสำนวน ได้ออกจากเมืองอ่างทองวันรุ่งขึ้นเวลาเช้า แต่ทางยังลำบากจริงดังแกว่า ต้องขี่ม้าราว ๘ ชั่วโมงจึงไปถึงเมืองสุพรรณ วันรุ่งขึ้นหม่อมฉันไปทำพลีกรรมที่ศาลเจ้าหลักเมือง ตัวศาลรูปร่างอย่างไทยทำด้วยไม้มุงกระเบื้อง สร้างไว้บนโคกอันหนึ่ง ในศาลมีเทวรูปศิลา ๒ องค์ เปนรูปพระวิษณุแบบเก่ามาก คืออย่างที่เหมือนใส่หมวกเติ๊ก ตัวอย่างในพิพิธภัณฑ์สถานกรุงเทพ ฯ ก็มี แต่รูปพระวิษณุที่ศาลหลักสุพรรณจำหลักเปนอย่าง Bas relief ติดอยู่กับแผ่นศิลาข้างหลังสูงสักราว ๓ ศอก หม่อมฉันเห็นศาลทรุดโทรมมาก จึงออกเงินมอบให้กรมการจีนที่เปนคนจัดพิธีบวงสรวงให้เขาสร้างศาลเสียใหม่ให้เปนตึกมั่นคง เขาก็รับจัดการด้วยยินดีแล้วบอกมาว่าได้จัดการสร้างศาลเสร็จแล้ว และว่ามีผู้บริจาคทรัพย์ช่วยก็หลายราย หม่อมฉันไปเมืองสุพรรณอีกครั้งหนึ่งจึงได้เห็นว่าศาลที่สร้างใหม่นั้นเปนเก๋งจีนแต่ทำเรียบร้อยดี ถึงมีเฮียกงอยู่ประจำศาลด้วย คนนับถือมากทั้งไทยและจีน ต่อมาในปีหนึ่ง หม่อมฉันทำโปรแกรมเสด็จประพาสเมืองสุพรรณ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าเข้าทีดีหนักหนา แต่เขาห้ามมิให้เจ้านายไปเมืองสุพรรณ ว่าถ้าขืนไปจะเปนบ้ามิใช่หรือ หม่อมฉันก็ทูลเล่าเรื่องที่หม่อมฉันขืนไปให้ทรงทราบ ครั้นเสด็จไปเมืองสุพรรณทรงพลีกรรมที่ศาลเจ้าหลักเมืองแล้ว พระราชทานเงินให้สร้างบริเวณศาลเพิ่มเติมที่หม่อมฉันได้สร้างไว้ จึงก่อเขื่อนรอบเนินศาล และทำชานที่คนบูชามีกำแพงแก้ว และศาลาต่อออกมาข้างหน้าศาล แต่ทำตามแบบจีนให้เข้ากับเก๋งศาลทั้งนั้น แต่ชั้นหลังมาเขาจะแก้ไขเพิ่มเติมอะไรอีกหม่อมฉันหาทราบได้ เหตุที่จะคิดทำปราสาท ที่ตรัสก็เห็นจะเปนด้วยเก๋งเดิมชำรุดทรุดโทรมอย่างไรไป จึงคิดจะสร้างตัวศาลใหม่

พัดยศพระอย่างใหม่ที่ตรัสชมมานั้น ดูเหมือนหม่อมฉันจะได้มีส่วนช่วยเจ้าพระยาวิชิตวงศ์คิดด้วย เกิดขึ้นเมื่อตั้งพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ อนุโลมตามแบบปกครองทางฝ่ายอาณาจักร จะมีพระครูคณะแขวงทุกอำเภอจึงคิดแบบพัดยศสำหรับพระครูชั้นนั้น พัดยศพระหัวเมืองแต่ก่อนมา พื้นสักหลาดเอาทองแผ่ลวดตัดติดเปนลายรูปพัดพระครูสังฆป่าโมกข เจ้าคณะเมืองเหมือนพัดแฉกพระราชาคณะ พัดพระครูที่มิได้เปนสังฆป่าโมกขเปนเหมือนพัดพุดตาล กับมีพัดพระมอญไปอีกอย่างหนึ่ง พัดที่คิดใหม่นี้มีแต่พัดพุดตาล อย่างหุ้มแพรแดงล้วนสำหรับพระครูเจ้าคณะแขวงที่ไม่มีราชทินนาม ที่มีสีขาบแทรกตรงกลางสำหรับพระครูคณะแขวงที่ได้รับสัญญาบัตรมีราชทินนาม หม่อมฉันเคยเกี่ยวข้องด้วยเพียงเท่านี้ มาถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณะจะทรงแก้ต่อไปอย่างไรอีกหม่อมฉันหาทราบไม่

ทูลถึงเรื่องพัดยศ นึกอะไรขึ้นได้อย่างหนึ่งซึ่งดูเหมือนหม่อมฉันยังจะไม่ได้เคยทูล ได้อ่านในหนังสือรายงานทูตลังกาที่เข้ามาขอพระสงฆ์ ครั้งรัชชกาลพระเจ้าบรมโกศ พรรณนาถึงไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชที่วัดมหาธาตุ ว่าสมเด็จพระสังฆราชประทับบนบัลลังก์มีพัดตั้ง ๒ ข้างๆ หนึ่งเปนพัดปักทองยอดแหลม อีกข้างหนึ่งเปนพัดงารูปกลมรี แล้วมีพระฐานานุกรมยืนประนมมือข้างละองค์ดังนี้ พอหม่อมฉันอ่านก็นึกขึ้นทันทีว่าสร้อยราชทินนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่ลงท้ายว่า “คามวาสี อรัญวาสี” คงหมายความว่าเปนใหญ่แก่พระสงฆ์ ทั้งคามวาสีและอรัญวาสีมีพัดยศ ๒ เล่ม ส่วนพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นรองลงมาท้ายสร้อยซึ่งมีแต่คามวาสีหรืออรัญวาสีชั้นนี้มีแต่พัดเล่มเดียว พวกคามวาสีถือพัดแฉก พวกอรัญวาสีถือพัดงาสาน หม่อมฉันได้นำความไปทูลสมเด็จพระมหาสมณะ ท่านตรัสว่าความคิดนั้นถูกทีเดียวแต่ทรงเสียดายอยู่ที่หม่อมฉันไปทูลท่านช้าไป ท่านทรงคิดแบบตราตำแหน่งเจ้าคณะอยู่ก่อนนั้นไม่นานนัก ทำแต่รูปพัดแฉกอย่างเดียว ถ้าได้ทรงทราบเสียก่อน ตราสมเด็จพระราชาคณะจะทำรูปพัดแฉกข้างหนึ่ง พัดงาสานข้างหนึ่ง

เรื่องฝีมือช่างโบราณนั้น ตามที่หม่อมฉันสังเกตเข้าใจว่าในสมัยครั้งกรุงธนบุรี ช่างไทยเห็นจะเหลือน้อยเต็มที ฝีมือของที่ทำครั้งกรุงธนบุรีอยู่ข้างหยาบมาก ฝีมือช่างมากลับดีขึ้นเมื่อรัชชกาลที่ ๑ เห็นจะเปนช่างที่หัดขึ้นใหม่ทั้งนั้น และจะกวดขันการฝึกหัดมากเพราะต้องสร้างของต่าง ๆ ตั้งแต่เครื่องราชูปโภค ราชมณเฑียรสถาน ราชยาน ตลอดจนวัดวาอาราม และรัชชกาลที่ ๑ ถึง ๒๘ ปีจึงเกิดช่างฝีมือดีมีขึ้นมาก แต่พึงสังเกตได้อย่างหนึ่งว่าของที่สร้างในรัชชกาลที่ ๑ ทำตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ถึงรัชชกาลที่ ๒ จึงคิดแผลงไปต่างๆ

เรื่องวัดพระพุทธสาสนาในเมืองจีนที่สร้างตามถ้ำนั้น ตามเรื่องพงศาวดารว่าเดิมประเทศมองโกเลียเปนประเทศใหญ่ พระพุทธสาสนารุ่งเรืองมาก เพราะอยู่ใกล้อินเดีย พระสาสนาแผ่ขึ้นไปทางเหนือ ขึ้นไปถึงประเทศมองโกเลียก่อนแล้วจึงไปถึงเมืองจีน ประเทศมองโกเลียถูกจีนปราบปรามในภายหลังจึงได้ทรุดโทรม วัดวาอารามร้างมาจนบัดนี้

ในสัปดาหะนี้หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ ท่อนที่ ๔ มาถวายอีกท่อนหนึ่ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ