เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เรื่องเที่ยวเมืองพุกาม (ท่อนที่ ๗)

วัดพุทธาวาส สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปสร้างณเมืองพุกาม ทำเปนวิหารยอดทั้งนั้น ยอดทำเปนพระสถูปบ้าง เปนปรางค์อย่างอินเดียบ้าง ข้างในวิหารมีพระพุทธรูปนั่งบนฐานชุกชี ริมฝาข้างด้านหลังองค์ ๑ ดูเปนแบบเดียวกันทั้งนั้น ทำวิหารเดี่ยวโดยมาก มีบางวัดซึ่งสร้างตามลัทธิมหายาน ทำวิหารเรียง ๓ หลังมีมุขกระสันต่อถึงกัน ด้วยสมมตพระพุทธรูปเปน “ตรีกาย” ของพระพุทธเจ้า คือพระธรรมกายองค์ ๑ พระสัมโภคกายองค์ ๑ และพระนิมานรกายองค์ ๑ ฝาผนังข้างในวิหารมักเขียนระบายสีเปนรูปภาพและลวดลายอย่างงดงามมีหลายวัด ลักษณรูปภาพและลวดลายที่เขียนมีเค้าแบบอินเดียกับแบบจีนและแบบทางเมืองชวาคละกันชอบกล บางวัดก็ทำลวดลายและรูปภาพด้วยดินเผาหรือปั้นปูนประดับฝาผนัง ในสมัยเมื่อเมืองพุกามเปนราชธานี เห็นจะมีวัดที่ทำน่าชมมากด้วยกัน แต่สังเกตดูวัดที่สร้างก่อนรัชชกาลพระเจ้าคันชิต (พ.ศ. ๑๖๒๗) เปนขนาดย่อมๆ วัดที่ทำเปนอย่างวิหารใหญ่โตเห็นจะเริ่มมีตั้งแต่รัชชกาลพระเจ้าคันชิตเปนต้นมา ในหนังสือนำทางอ้างว่าวัดใหญ่วัดหนึ่งเรียกวัด “มนูหะ” ว่าเปนของพระเจ้ามะนูหะ เจ้าเมืองสะเทิมที่ถูกพระเจ้าอนุรุธมหาราชจับเปนเชลยเอามาเลี้ยงไว้ที่เมืองพุกาม ขายธำมรงค์ได้เงินสร้างวัดนั้น พิเคราะห์ดูไม่น่าเชื่อ มีวัดปลาดอยู่วัดหนึ่งซึ่งสร้างอย่างเดียวกันกับพุทธาวาสขนาดย่อมที่กล่าวมา แม้จนมีพระพุทธรูปตั้งเป็นประธานข้างในวิหาร แปลกแต่ทำซุ้มคูหารายรอบฝาผนังข้างนอก ในซุ้มมีรูปพระนารายณ์ปางต่างๆ จำหลักด้วยศิลาตั้งไว้ ๙ ปางรวมเป็น ๑๐ ทั้งพระประธานในวิหารซึ่งสมมตเปนรูปพระนารายณ์ปางพุทธาวตารเขาบอกว่าทั้งเมืองพุกามมีเทวะสถานแห่งเดียวเท่านั้น คงเปนเพราะมีพราหมณ์แต่สำหรับทำการพิธี (เช่นในกรุงเทพฯ นี้) ไม่เปนคณะในการสอนสาสนาเหมือนเมืองเขมรแต่โบราณ อนึ่งวัดพุทธาวาสที่เมืองพุกาม ดูมีพระพุทธรูปน้อยผิดกับวัดโบราณในประเทศสยามและประเทศกัมพูชา อาจจะเปนเพราะเวลาเมื่อพระพุทธสาสนารุ่งเรืองที่เมืองพุกามชาวเมืองถือคติอย่างหินยานนิยมการสร้างพระสถูปเปนสำคัญ แต่ในประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาเวลาพระพุทธสาสนารุ่งเรือง ชาวเมืองถือคติอย่างมหายานนิยมการสร้างพระพุทธรูปเปนสำคัญก็เปนได้ พระพุทธรูปเมืองพุกามที่ตั้งเปนประธานในวิหาร มักเปนพระปั้น พระพิมพ์ดินเผามีมากกว่ามาก พระศิลาจำหลักมีแต่ขนาดย่อมๆ ที่จะทำองค์ใหญ่ถึงขนาดตั้งเปนพระประธานหามีไม่ พระหล่อด้วยโลหะมีน้อยแทบจะนับองค์ถ้วน ในหนังสือนำทางว่ามีพระนอนขนาดใหญ่ ๒ องค์แต่ฉันไม่ได้เห็น พระปั้นที่ได้เห็นก็หักพังหรือเปนรอยปฏิสังขรณ์ สังเกตลักษณะว่าจะเปนอย่างไรเมื่อแรกสร้างไม่ได้ทั้งนั้น พิจารณาลักษณะพระพุทธรูปโบราณที่เมืองพุกามดูเปน ๒ แบบ แบบ ๑ (มักทำเปนพระนั่งขัดสมาธอุ้มบาตร) ส่วนพระเศียรใหญ่ พระภักตรกลม และองค์อ้วน ดูไม่งามต้องตา เห็นจะเปนแบบเก่าแต่ครั้งยังถือลัทธิมหายาน ด้วยลักษณะเหมือนกันกับภาพพระพุทธรูปที่เขียนฝาผนังวิหารวัดฝ่ายมหายาน พระพุทธรูปที่งามล้วนทำตามแบบยินเดียสมัย “ปาละ” อันรุ่งเรืองเมื่อราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ทั้งนั้น ในเรื่องตำนานว่า เมื่อครั้งพระเจ้าคันชิตสร้างวัดอานันท ให้หาช่างชาวอินเดียมาทำพระพุทธรูป พิจารณาดูพระพุทธรูปศิลาที่ยังปรากฎอยู่ในวัดอานันท (ซึ่งจะพรรณนาต่อไปข้างหน้า) ก็เห็นเปนฝีมือชาวอินเดียสมดังว่า แม้จะพิมพ์ที่เมืองพุกามก็ทำตามแบบอินเดียทั้งนั้น

หอปิฏก พะม่าเรียกว่า Bitagat Taik แต่ละหลังที่จะพรรณนานี้จะแปลว่า “หอมณเฑียรธรรม” ก็ได้ ด้วยเปนของพระเจ้าอนุรุธมหาราชสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๑ สำหรับไว้คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ไปตีเมืองสะเทิมได้มาตัวหอเปนมณฑปสี่เหลี่ยมหลังคา ๕ ชั้นก่อรวบเปนยอดเกี้ยวยังบริบูรณ์อยู่ทั้งหลัง แต่เข้าใจว่าจะไม่เหมือนของเดิมแท้ทีเดียว เพราะพระเจ้าแผ่นดินพะม่าปฏิสังขรณ์เมื่อภายหลัง ด้วยนับถือกันว่าเปนของสำคัญอย่างยิ่งสิ่งหนึ่งในพงศาวดารเมืองพุกาม จึงไม่ปล่อยให้หักพัง

สังฆาวาส ของเดิมสร้างด้วยเครื่องไม้จึงสูญไปเสียหมดแล้วยังเหลืออยู่ในเมืองพุกามแต่โบสถ์หลังหนึ่ง เรียกตามภาษาพะม่าว่า Upali Thein แปลว่า “โบสถ์อุบาลี” ว่าเปนของพระเจ้าอนุรุธมหาราชสร้างเมื่อแรกตั้งคณะสงฆ์นิกายหินยาน คือให้พระสังฆราชฉินระหันตผูกพัทสีมาสำหรับทำสังฆกรรม เช่นให้อุปสมบทเปนต้น ให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ จึงเอานามพระอรหันต์พุทธสาวกผู้นำสังคายนาพระวินัยมาขนานเปนนามวัด ตัวโบสถ์ขนาดสักเท่าพระอุโบสถวัดปรินายกในกรุงเทพฯ หรือถ้าว่าอย่างสามัญก็ยาวขนาด ๕ ห้อง มีเวทีทักษิณรอบ หลังคาก่อรวบทำรูปทรงอย่างหลังคาไม้ ๒ ชั้น มีพระสถูปอยู่บนอกไก่ตรงกลางหลังคาองค์ ๑ และมีปราลีประดับทั้งที่บนอกไก่และชายคา ประตูโบสถ์ก็มีซุ้มปั้นปูนเปนลวดลายและฝาผนังข้างในเขียนลวดลายระบายสีด้วย ดูเปนของสร้างอย่างปราณีตมาแต่เดิม และพระเจ้าแผ่นดินพะม่าในภายหลัง ก็ได้เคยปฏิสังขรณ์ เพราะถือว่าเปนของสำคัญคู่กับหอมณเฑียรธรรม นอกจากโบสถ์อุบาลีที่เมืองพุกามมีสังฆาวาสอีกชนิดหนึ่งอยู่ในถ้ำ ฉันไม่ได้ไปดูเพราะอยู่ไกล แต่ว่าฉันได้เคยเห็นวัดชนิดนี้ที่ “ถ้ำกาลี” Kali Caves ในอินเดียมาแต่ก่อน เปนวัดสำหรับพระสงฆ์อยู่บำเพ็ญสมณธรรมทางวิปัสนาธุระ จึงหาที่สงัดสร้างห่างบ้านเมืองในที่เปลี่ยวเช่นนั้น จะปลูกสร้างเหมือนอย่างวัดในบ้านเมืองเห็นไม่ปลอดภัย ผู้มีศรัทธากล้าจึงพยายามสกัดหินตรงหน้าผาภูเขา หรือแต่งถ้ำที่มีอยู่แล้ว ขุดทำเปนวิหารและห้องให้พระสงฆ์อยู่ในภูเขานั้น ให้พ้นภัยจากสัตว์ร้ายเปนต้น เพราะวัดชนิดนี้ทำได้ด้วยยาก พระมหากษัตริย์และเศรษฐีแต่โบราณจึงชอบสร้างเฉลิมความเลื่อมใสในพระสาสนา แต่ละวัดมักทำเปนห้องใหญ่ห้อง ๑ มีพระสถูปหรือพระพุทธรูป (ซึ่งจำหลักหินในนั้นเอง) เปนประธาน สำหรับพระสงฆ์ทำวัตร ไหว้พระสวดมนต์ ทำห้องใหญ่ขนาดรองลงมาเปนหอฉันและห้องพักอีกห้อง ๑ ตามฝารอบห้องนี้ขุดหินเข้าไปทำเปนห้องเล็กๆ รายตลอดไปเปนแถว หรือทำห้องเล็กตามหน้าผาต่อไปอีกก็มี สำหรับพระสงฆ์นั่งบำเพ็ญสมณธรรมองค์ละห้อง วัดถ้ำ Cave Temple เช่นนี้มีทั้งที่ในอินเดียและในเมืองจีน ที่เมืองพุกามทำที่ภูเขาข้างหลังเมืองว่ามีมาแต่ก่อนสมัยพระเจ้าอนุรุธมหาราช ๆ และพระเจ้าคันชิตก็ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ด้วย วัดชนิดนี้สำหรับพระสงฆ์ฉะเพาะแต่ที่ปรารถนาจะบำเพ็ญสมณธรรมไปอยู่ชั่วคราว เช่น ไปจำวัสสาเปนต้น หาอยู่ประจำเหมือนวัดในเมืองไม่ จะพรรณนาว่าด้วยวัดใหญ่โตที่เปนวัดสำคัญ ณ เมืองพุกามต่อไป วัดใหญ่ที่เปนต้นแบบอย่างมี ๓ วัด คือวัดพระมหาธาตุเวชีคน Swezigon ที่พระเจ้าอนุรุธมหาราชสร้างวัด ๑ วัดอานันท Ananda ที่พระเจ้าคันชิตสร้างวัด ๑ กับวัดสัพพัญญ Thatbyinyu ที่พระเจ้าอลองสิทธุสร้างวัด ๑ วัดใหญ่อื่นๆ ดูเอาอย่างวัดใดวัดหนึ่งใน ๓ วัดนี้ไปทำทั้งนั้นเปนแต่แก้ไขยักเยื้องไปบ้าง

วัดพระมหาธาตุ ชเวชีคน (“ชเว” แปลว่าทอง หมายความว่าปิดทองทั้งองค์คำ “ชีคน” เปนชื่อ) อยู่ที่ตำบลหนองอูใกล้ท่าขึ้นเมืองพุกามทำเปนมหาสถูป จะสูงสักเท่าใดไม่พบในหนังสือ คะเนดูเห็นจะราวสัก ๓๐ วา แต่สร้างกับพื้นแผ่นดินไม่มีเนินเขาหนุนจึงไม่แลเห็นได้ไกลเหมือนพระเกษธาตุและพระมุเตา ในตำนานว่าพระเจ้าอนุรุธมหาราชสร้างค้างอยู่ พระเจ้าคันชิตสร้างต่อมาจนสำเร็จ เมื่อแรกสร้างสำเร็จเห็นจะใหญ่ยิ่งกว่ามหาเจดีย์องค์อื่นๆ ในเมืองพะม่า เพราะสมัยนั้นพระมหาธาตุองค์อื่นๆ ยังเปนแต่พระเจดีย์ขนาดย่อมอยู่ทั้งนั้น ทุกวันนี้นับถือกันว่าพระมหาธาตุชินคงเปนมหาเจดีย์สถานแห่งหนึ่งใน ๕ แห่งที่มีในเมืองพม่า อีก ๔ แห่งนั้นคือพระเกษธาตุที่เมืองร่างกุ้ง พระมุเตาที่เมืองหงสาวดีพระพุทธรูปมหามัยมุนีที่เมืองมัณฑเล และพระมหาธาตุชเวสันดอ Shwe Sandaw (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพระมหาธาตุสิงคุดร) ที่เมืองแปร แต่พระเจดีย์ที่เรียกชื่อขึ้นคำชเวนำหน้าชื่อมีมาก พระเจดีย์องค์ไหนมีคนศรัทธาปิดทองทั้งองค์ก็เรียกว่า ชเว ได้ทั้งนั้น

ลักษณพระมหาธาตุชินคง เมื่อพิจารณาดูเห็นชอบกล รูปองค์ระฆังเปนอย่างบัวคว่ำปากผาย มีลายปั้นประดับเปน ๓ แถว ตั้งบนฐานเขียง “ไม้ยี่สิบ” ต่อลงมามีฐานทักษิณสี่เหลียมย่อเก็จรองอีก ๓ ชั้น มีพระเจดีย์ขนาดน้อยรูปอย่างพระมหาธาตุนั้น เปนบริวารอยู่บนฐานทักษิณชั้นบนทั้ง ๔ มุม ยอดพระสถูปตอนต่อองค์ระฆังขึ้นไปไม่มีบัลลังก์เหมือนอย่างพระสถูปแบบอินเดียเอา “ปล้องไฉน” ลงมาต่อกับหลังระฆังทีเดียว รูปปล้องไฉนดูคล้ายกับระใบฉัตรซ้อนลดขนาดขึ้นไป ๕ ชั้น ต่อปล้องไฉนขั้นไปทำบัวคว่ำบัวหงาย แล้วถึง “ปลี” เปนทรงอย่างสั้น รองฉัตรโลหะที่ปักบนยอด หรือว่าอีกอย่างหนึ่งจะว่าเหมือนยอดพระเจดีย์มอญเปนแต่ทำส่วนผิดกันก็ว่าได้ พิเคราะห์ดูเปนปัญหาน่าคิด ว่าพระเจ้าอนุรุธสร้างไว้เพียงไหน และพระเจ้าคันชิตสร้างต่อตั้งแต่ไหนขึ้นไป ถ้าสันนิษฐานว่าพระเจ้าอนุรุธฯ สร้างค้างอยู่เพียงองค์ระฆัง พระเจ้าคันชิตสร้างต่อตอนยอด แบบยอดที่พระเจ้าคันชิตประดิษฐขึ้นใหม่ก็อาจจะเปนต้นแบบพระสถูปในเมืองพะม่าอย่างที่ไม่มีบัลลังก์ ใช่แต่เท่านั้น อาจจะเปนต้นแบบ “พระเจดีย์มอญ” เช่น พระเกษธาตุที่ทำชั้นหลังด้วย เปนแต่มอญมาขยายส่วนยอดให้สูงขึ้นไป

จะแทรกวินิจฉัยว่าด้วยพระเจดีย์มอญสักหน่อย อันได้กล่าวมาแล้วว่ารูปทรงพระเจดีย์พะม่ากับพระเจดีย์มอญไม่เหมือนกัน พระเจดีย์พะม่าแม้ที่สร้างในภายหลัง สร้างตามอย่างพระเจดีย์ที่เมืองพุกามดังพรรณนามาแล้วแต่ลักษณะพระเจดีย์มอญนั้น ทำฐานกว้างแล้วรัดทรงรวบเรียวขึ้นไปตั้งแต่ชั้นทักษิณจนตลอดองค์ระฆัง ไปขยายส่วนให้สูงตอนยอด (ถ้าเอาของฝรั่งมาเปรียบก็ดู คล้ายกับทรงหอไอเฟลที่เมืองปารีส) สันนิษฐานว่าพระเจดีย์มอญที่ปรากฎอยู่โดยมาก น่าจะถ่ายแบบพระมหาธาตุในเมืองมอญ เช่นพระเกษธาตุ หรือพระมุเตา และพระธาตุสิงคุดรไปทำแบบรูปทรงของพระมหาธาตุทั้ง ๓ องค์นั้น น่าสันนิษฐานว่าเกิดแต่ประสงค์จะสร้างพระเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ครอบพระเจดีย์ที่มีอยู่แล้ว โดยไม่รื้อแย่งพระเจดีย์องค์เดิมอย่างหนึ่งอย่างใด (เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระปฐมเจดีย์) จึงต้องทำฐานให้กว้างพอรับน้ำหนักแล้วก่อทรงพระเจดีย์รัดเข้าไปตั้งแต่ชั้นทักษิณและองค์ระฆัง จนสูงพ้นพระเจดีย์องค์เดิมแล้วจึงทำแบบยอดขยายส่วนให้สูงถึงขนาดที่เจตนาจะสร้างดูก็ไม่ขัดตา แต่พระเจดีย์มอญขนาดเล็ก เช่นที่ไปสร้างในเมืองไทย ถ่ายแบบของใหญ่ไปทำเปนของเล็กจึงเสียทรง ดูตอนองค์ระฆังเล็กหลิมราวกับว่ามีแต่ฐานกับยอดเปนสำคัญ แต่องค์พระมหาธาตุที่ทำอย่างแบบพระเจดีย์มอญซวดทรงงามทุกแห่ง

จะว่าด้วยวัดมหาธาตุชินคงต่อไป ลานรอบฐานทักษิณมีต้นไม้ทรงภุ่มเข้าบิณฑ์ใบทำด้วยโลหะปิดทองบ้างเงินบ้างตั้งบนฐานปูนรายรอบ มีวิหารที่บูชาและวิหารทิศ ต่อออกมาเปนลานชาลาแล้วมีคลังกับศาลารายอยู่ริมกำแพงทุกด้าน ที่วัดนี้มีของแปลกถึงควรยกขึ้นกล่าวโดยฉะเพาะ ๒ สิ่ง สิ่งหนึ่งคือพระพุทธรูปยืนสูงสัก ๕ ศอก เปนของหล่อปิดทองตั้งเปนประธานอยู่ ในวิหารทิศวิหารละองค์ พระพุทธรูป ๒ องค์นี้เปนแบบอินเดียสมัยปาละงามกว่าพระพุทธรูปองค์อื่น ๆ ที่ได้เห็นในเมืองพุกามทั้งนั้น อีกสิ่งหนึ่งนั้นคือ “หอผีแน็ต” มีอยู่ในอุปจารวัด เปนของสร้างชั้นหลังเปนวิหารยาวสัก ๔ ห้อง ในนั้นตรงกลางทำฐานชุกชียาวตลอดหลัง ตั้งรูปเจ้าผีแน็ตไว้ครบจำนวนทั้ง ๒๙ องค์ (ว่าในเมืองพะม่ามีที่ไว้รูปผีแน็ตครบจำนวนแต่แห่งเดียวเท่านี้) เปนที่มีคนชอบไปเส้นสรวงและถึงปีมีงานไหว้ผีมิได้ขาด พวกเราเข้าไปก็เส้นด้วยธนบัตร ซึ่งเขามีหีบไว้ให้หยอด พิจารณาดูรูปเจ้าผีแน็ตที่ทำไว้เห็นงามต้องตาอยู่องค์ ๑ เปนรูปขนาดเท่าคนยืนทรงเครื่องต้นอย่างมหากษัตริย์แบบโบราณ แต่จะทำด้วยปูนปั้นหรือไม้จำหลัก หรือหล่อโลหะหาทราบไม่เพราะปิดทองทั้งองค์ อยากจะเข้าไปพิจารณาดูใกล้ๆ และฉายรูปมาก็ขัดข้อง ด้วยรูปปั้นนั้นตั้งอยู่ข้างหลังจะต้องเดินลุยรูปเจ้าผีแน็ตองค์อื่น ๆ เข้าไป เกรงใจพวกพะม่าจึงต้องงดเขาบอกว่ารูปนั้นเป็นรูปสักกเทวราช (คือพระอินทร) อันเปนเจ้าของผีแน็ตทั้งปวง รูปเจ้าผีแน็ตอีก ๒๘ องค์นั้นทำขนาดย่อมคะเนสักเท่าตัวหุ่นที่เล่นมหรสพงานหลวง เห็นจะทำด้วยไม้ แล้วเอาผ้าตัดทำเปนเครื่องนุ่งห่ม แต่ฝีมือทำเลวเต็มที หน้าหุ่นดูราวกับเด็กปั้นเล่น แลเห็นก็หน้าสมเพศ จึงสันนิษฐานว่ารูปโบราณองค์ที่ว่าเปนรูปพระอินทรนั้น ที่จริงเดิมเห็นจะสร้างเปนรูปพระเจ้าอนุรุธมหาราช เพื่อประดิษฐานไว้เปนอนุสสรณ์ในวัดพระมหาธาตุชินคง เหมือนอย่างรูปพระเจ้าคันชิตที่สร้างไว้ที่วัดอานันท แต่เมืองพุกามเคยร้างอยู่นานจนหมดตัวผู้รู้ ครั้นสร้างหอเจ้าผีแน็ตเห็นแต่มีรูปนั้นอยู่ในวัด ไม่รู้ว่ารูปใครจึงเอามาสมมตเปนรูปพระอินทร เพราะเห็นทำทรงเครื่องทรงอย่างพระราชามหากษัตริย์ ที่จริงเปนของดีอันควรเปนศิริของพิพิธภัณฑ์สถานได้สิ่งหนึ่ง แต่รัฐบาลเห็นจะไม่กล้าไปแตะต้องด้วยเกรงใจพะม่า

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ