วันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๑๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๒ กันยายนแล้วจะทูลสนองความบางข้อในลายพระหัตถ์ก่อน

คำว่า “ป่า” หม่อมฉันเห็นว่าหมายความเพียงว่าเปนที่อันวัตถุที่บ่งนามต่อคำป่านั้น “มีมาก” จึงเรียกว่า ป่าถ่าน ป่าผ้าเหลือง และป่าตอง แหล่งที่อันมีต้นไม้มากควรเรียกว่า “ป่าไม้” หรือมิฉะนั้นต้องเติมอื่นลงให้ชัด เช่นว่า “ป่าดง” หมายความว่าเปนแหล่งมีต้นไม้ทั้งใหญ่น้อยทึบโดยมาก คำว่า “ป่าดิบ” หมายความว่ามีต้นไม้เขียวฉอุ่มทุกระดูอยู่โดยมาก “ป่าแดง” หมายความว่ามีต้นไม้ที่ใบแห้งในระดูแล้งอยู่โดยมาก เรื่องป่านี้หม่อมฉันเคยตั้งปัญหาถามพระครั้งหนึ่งถึงคำที่เรียกคณะสงฆ์ว่าฝ่าย “อรัญวาสี” เห็นในหนังสือเมืองลังกาเขาเรียกว่า “วันวาสี”หมายความว่าอยู่ป่าเหมือนกัน ป่าที่เรียกว่า “อรัญ” กับป่าที่เรียกว่า “วัน” ผิดกันอย่างไร เมื่อหม่อมฉันถามพระราชาคณะผู้ใหญ่อยู่กันหลายองค์ บางองค์ตอบว่า อรัญ-หรือ-วัน ก็หมายว่าป่าเหมือนกัน บางองค์ท้วงว่าจะต้องเปนป่าชนิดผิดกันจึงเรียกด้วยศัพท์ต่างกัน แต่ก็ไม่สามารถบอกอธิบายได้ว่าผิดกันอย่างไร ทีหลังหม่อมฉันไปถามสมเด็จพระมหาวีรวงศ ท่านว่าป่าอรัญกับวันต้องผิดกัน ท่านสังเกตในคัมภีร์เรื่องผูกสีมาดูเหมือนป่าซึ่งเรียกว่าอรัญ จะเปนครึ่งป่าครึ่งบ้านไปมาถึงกันง่าย ไม่โดดเดี่ยวเหมือนป่าอย่างที่เรียกว่าวัน หม่อมฉันได้วิสัชนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศมาคิดพิเคราะห์ โดยอาศัยความสังเกตเมื่อเที่ยวเตร่ได้เห็นภูมิลำเนามาด้วยตาตนเองมาแต่ก่อน เห็นมีหลักวินิจฉัยอยู่ที่พระภิกษุจำต้องเลี้ยงชีพด้วยบิณฑบาต จะอยู่ป่าอย่างไหนก็คงต้องใกล้บ้านคนพอเดินไปรับบิณฑบาตได้ทุกวัน สังเกตเห็นที่เมืองเชียงใหม่ เมืองสุโขทัย วัดพระสงฆ์พวกอรัญวาสีแต่โบราณก็ตั้งอยู่ห่างเมืองออกไปเพียงสักร้อยเส้น ที่พระนครศรีอยุธยา วัดพระสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีเช่นวัด (เดิม) ศรีอโยทธยา วัดประดู่ และวัดป่าแก้ว ก็อยู่นอกพระนครเพียงขนาดนั้นในกรุงเทพ ฯ วัดอรัญวาสีเช่นวัด (พลับ) ราชสิทธิ วัดสมอราย (ราชาธิวาศ) และวัด (สะแก) สระเกส ก็ห่างพระนคร ครั้งกรุงธนบุรีทำนองเดียวกัน คำอรัญจึงควรหมายความว่าที่ว่างห่างบ้านเมืองพอไปบิณฑบาตถึง เหตุใดที่เมืองลังกาจึงเรียกว่า “วันวาสี” ข้อนี้หม่อมฉันเห็นว่าพื้นที่เมืองลังกาเปนภูเขา บ้านเมืองตั้งอยู่ตรงที่ราบ จนออกจากบ้านเมืองไปไม่เท่าใดก็ถึงป่าดงบนภูเขา พระสงฆ์พวกที่บำเพ็ญวิปัสนาธุระมักขึ้นไปอยู่ในป่าดงบนภูเขา จึงเรียกว่าวันวาสี แต่ก็คงอยู่ห่างบ้านเมืองเพียงเดินลงมาบิณฑบาตได้อยู่นั่นเอง

จะทูลวินิจฉัยถึงเรื่องผ้ากราบต่อไปอีกสักหน่อย เสด็จพระอุปัชฌาย์ ท่านทรงได้หลักอันใดลงมติว่าผ้ากราบเปนผ้าสันถัดสำหรับรองนั่งหม่อมฉันก็ไม่ทราบ แต่ผ้ากราบไม่ได้ใช้แต่พระ ขุนนางเข้าเฝ้าแต่ก่อนก็ต้องคาดผ้ากราบ และชื่อที่เรียกว่า “ผ้ากราบ” ก็บ่งความชัดว่าสำหรับปูวางศีร์ษะเมื่อเวลากราบ ที่หม่อมฉันรื้อเรื่องกลับมาทูลเพราะนึกขึ้นได้ว่าเมื่อไปเมืองพะม่าเวลากราบพระมหาเจดียสถาน เคยรังเกียจโสโครกตรงพื้นที่จะกราบ ถึงต้องเอาผ้าเช็ดหน้าออกมาปูเปนผ้ากราบแทบทุกครั้ง พวกสัปรุษไปถือศีลเขามักห่มผ้าเฉียงบ่าไป ดูก็จะสำหรับปูกราบเช่นเคยเห็นบ่อยๆ ดอกกระมัง จึงอยากจะคัดค้านว่าผ้ากราบนั้นมิใช่ผ้าสันถัดสำหรับปูนั่ง

คนตาบอดสีซอขอทานที่ท่านตรัสถึงนั้น หม่อมฉันรู้จักดีทีเดียวเคยเรียกแกว่า “ตาสังขารา” เพราะแกชอบขับเรื่องปลงสังขารกับเรื่องพระยาฉัตรทันต์ รู้สึกไพเราะจับใจมาก ปลาดอยู่ที่ไปพบคนเช่นนั้นที่เมืองพะม่า เมื่อหม่อมฉันขึ้นไปบูชาพระมหาธาตุสิงคุดรที่เมืองแปร มีคนขอทานตาบอด ๒ คนนั่งอยู่ที่ร้านข้างทาง คนหนึ่งขับลำนำและสีซออู้อีกคนหนึ่งตีระนาด (ไทย) ประสานกันไป ฟังไพเราะจับใจ เสียแต่ไม่เข้าใจคำขับ ถึงกระนั้นก็ต้องหยุดยืนฟังทั้งเมื่อขาขึ้นและขาลง จะทูลเลยไปถึงเรื่องหุ่นกระบอกเพราะเรื่องประวัติเกี่ยวข้องกับตัวหม่อมฉันเองมากอยู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ปีที่หม่อมฉันเข้าว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงเดือนตุลาคมหม่อมฉันขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ ครั้งนั้นลูกชายกลางอิทธิดำรง (น้องรองจุลดิศ) อายุได้สัก ๕ ขวบติดหม่อมฉันจึงตามไปด้วย หม่อมราชวงศเถาะ (เปนทหารมหาดเล็กอยู่ก่อน ท่านคงทรงรู้จัก) รับอาสาไปเปนพี่เลี้ยง เมื่อไปถึงเมืองอุตรดิฐ สามเณรรณชัยเวลานั้นเปนพระยาศุโขทัยให้หุ่นกระบอกมาเล่นให้ดู ได้เห็นเปนครั้งแรกแกเล่าให้ฟังว่าหุ่นกระบอกนั้นเกิดขึ้นที่เมืองสุโขทัย ด้วยคนขี้ยาคนหนึ่งชื่อเหน่ง ซึ่งเที่ยวอาศัยอยู่ตามวัด เห็นหุ่นจีนไหหลำจึงเอาอย่างมาคิดทำเปนหุ่นไทยและคิดกระบวรร้องตามรอยหุ่นไหหลำ มีคนชอบจึงเลยเที่ยวเล่นหากิน ลูกชายกลางของหม่อมฉันได้เห็นหุ่นชอบเปนกำลัง สามเณรรณชัยจึงไปขอเขามาให้เธอตัวหนึ่ง แต่เวลาเดินทางหม่อมฉันให้เขาทำวอป่าให้เธอนั่งมา ก็เล่นเชิดหุ่นกับคุณเถาะเรื่อยมาตลอดทาง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ ได้สักหน่อยหนึ่งชายกลางป่วยสิ้นชีพ คุณเถาะเกิดความคิดที่จะเล่นหุ่น ยืมเงินหม่อมฉันได้ลงทุนทำก็เกิดมีหุ่นกระบอกขึ้นในกรุงเทพ ฯ ราวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ แต่แรกมักเรียกกันว่า “หุ่นคุณเถาะ” ด้วยประการฉะนี้

ในสัปดาหะนี้เกิดความเศร้าสลดใจด้วยกรมพระกำแพงเพ็ชร ฯ สิ้นพระชนม์ น่าสงสารพระองค์หญิงประภาวสิตเปนอย่างยิ่ง เห็นในหนังสือพิมพ์ว่าจะไว้พระศพที่เมืองสิงคโปร์เดือนหนึ่ง แล้วจะเชิญเข้าไป “ฝัง” ในกรุงเทพ ฯ ที่ว่าฝังจะเปนคำเผลอพูดตามคติฝรั่งหรือจะเปนเจตนาจริงเพราะวังดอกไม้ให้เช่าเสียแล้ว หม่อมฉันไม่ทราบแน่แต่ก็อนาถใจเปนอย่างยิ่ง

เรื่องเที่ยวเมืองพะม่าจะต้องทูลขอผัดสำหรับท่อนนี้อีก เพราะในสัปดาหะนี้มีสมาธิไม่พอ เรื่องที่แต่งตอนนี้ก็คล้ายกับแปลหนังสือสามนต์ ต้องค้นโยชนาและฎีกาสังคหะเนือง ๆ จึงกินเวลามาก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ