เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๘ เรื่องเที่ยวเมืองแปร (ท่อนที่ ๑)

เมืองแปรพะม่าเรียกว่า “ปเย” Pye (เพราะพะม่าพูดเสียงตัว ร ไม่ชัด) มอญไทยยักไข่เรียกว่า “แปร” เหมือนกัน แต่เหตุใดอังกฤษจึงเรียกว่า “โปรม” Prome ฉันสืบยังไม่ได้ความ ฝรั่งกับพะม่าเรียกผิดกันอยู่จนทุกวันนี้ แต่ที่จริงเปน ๒ เมือง ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำเอราวดีด้วยกัน เมืองหนึ่งซึ่งเดี๋ยวนี้เปนเมืองร้างเรียกแต่โบราณว่า “เมืองสารเขตร์” Tha re Khettra อยู่ห่างแม่น้ำเข้าไปสัก ๑๕๐ เส้น อีกเมืองหนึ่งสร้างภายหลังเรียกว่า “เมืองแปร” อยู่ริมฝั่งแม่น้ำเอราวดีแต่ในปัจจุบันนี้คนทั้งหลายเรียกรวมกันทั้ง ๒ เมืองว่า “เมืองแปร” ชื่อเมืองสารเขตรยังมี แต่ในหนังสือโบราณและเรียกกันในพวกนักเรียนโบราณคดี

เรื่องตำนานเมืองทั้ง ๒ นั้นมีแปลเปนภาษาอังกฤษ แต่ผู้แปลกล่าวว่าต้นฉะบับภาษาพะม่า ดูเปนหนังสือแต่งในชั้นหลัง และบ่นต่อไปว่าพะม่าผู้แต่งๆ ด้วยรักบ้านเมืองยิ่งกว่ารักความจริง แต่จะว่าเรื่องไม่มีหลักฐานอันใดเลยก็ว่าไม่ได้ เริ่มเรื่องตำนานด้วยอ้างถึงพระพุทธเจ้าแบบเดียวกับตำนานเมืองอื่นๆ ที่เปนเมืองสำคัญในประเทศพะม่า ว่าในกาลครั้งหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จมาโปรดสัตว์ ประทับอยู่บนภูเขาข้างตะวันออกเฉียงเหนือเมืองแปร ทอดพระเนตรเห็นมูลโคกองหนึ่งลอยอยู่ในทะเล และในขณะนั้นมีหนูตัวหนึ่ง ออกจากกอไม้ไผ่เข้าไปแสดงอาการเคารพแทบพระบาทยุคล พระพุทธองค์ทรงแย้มพระโอษฐ (คือยิ้ม) พระอานนท์ทูลถามจึงมีพระพุทธฎีกาพยากรณ์ ว่าต่อไปภายหน้าจะเกิดอัศจรรย์ ๕ อย่างในถิ่นนี้ คือ ๑) แผ่นดินไหว ๒) ทะเลจะตื้นขึ้นเปนแผ่นดิน ๓) ภูเขาที่เสด็จประทับนั้นจะจมทลายกลายเปนหนองน้ำ ๔) จะเกิดมีลำแม่น้ำผ่านที่ตรงนั้น และ ๕) จะมีเทือกภูเขาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อเกิดอัศจรรย์ทั้ง ๕ อย่างนั้นแล้ว หนูตัวนี้จะเกิดเปนมนุษย์ได้เปนพระยามหากษัตริย์ทรงนามว่า “ทุตตะบอง” Tut ta baung สร้างเมืองสารเขตร์เปนราชธานีตรงที่มูลโคลอยอยู่นั้นเมื่อพระตถาคตเข้าพระนิพพานแล้วได้ ๑๐๑ ปี และจะอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธสาสนาให้รุ่งเรืองแพร่หลายในประเทศอันนี้ ต่อมาอัศจรรย์ก็เกิดมีทั้ง ๕ อย่าง สมดังพุทธทำนาย เมื่อทะเลตรงนั้นสูงขึ้นเปนแผ่นดินอันอุดม มีมนุษย์ ๓ จำพวก เรียกว่า “กะรัน” Karan พวก ๑ เสต Thet พวก ๑ และพยุ Pyu พวก ๑ มาแต่ต่างทิศ ต่างขอบใจจะเอาที่ถิ่นนั้นตั้งภูมิลำเนาของพวกตน เกิดรบพุ่งแย่งแผ่นดินกัน พวกกะรันและพวกเสตสู้พวกพยุไม่ได้ก็พากันอพยบหลบหนีไปอยู่ทางเมืองยักไข่ พวกพยุจึงได้เปนเจ้าของถิ่นแต่นั้นมา ต่อมาถึงสมัยหนึ่ง เกิดมีหมูผีขึ้นในถิ่นนั้นตัวหนึ่งใหญ่โตร้ายกาจเที่ยวขวิดคนล้มตาย ในพวกพยุไม่มีใครจะสู้หมูผีได้ (จึงพากันไปทูล) พระเจ้าสะโดะ ซึ่งครองเมืองตะโก้งรัชชกาลที่ ๑๗ ก็ตรัสสั่งให้มหาอุปราช ผู้เปนพี่มเหษี คุมกำลังลงมาปราบหมูผี เมื่อกำจัดหมูผีสำเร็จแล้วมหาอุปราช (เห็นถิ่นนั้นเปนที่สบาย) เกิดเบื่อหน่ายราชการจึงเวรคืนยศศักดิ์แล้วออกบวชเปนฤษีจำศีลอยู่ที่ในป่าถิ่นนั้น ก็และป่านั้นเปนที่มีฝูงกวางอาศัย อยู่มานางกวางตัวหนึ่งเที่ยวกินดินโป่งมาถึงที่พระฤาษีมักไปถ่ายปัสสาวะ กินเชื้อชาติอันติดอยู่กับปัสสาวะของฤาษีเข้าไปก็ตั้งครรภ์ ครั้นถึงกำหนดคลอดลูกมาเปนมนุษย์นางกวางก็ตกใจหนีไป พระฤาษีได้ยินเสียงเด็กร้องออกไปดูเห็นทารกหญิงทิ้งอยู่กลางป่าก็สงสาร จึงอุ้มมายังบรรณศาลาแล้วอธิษฐาน (เหมือนอย่างมีในนิทานชาดก) ให้เกิดน้ำนมออกทางปลายนิ้วมือเลี้ยงทารกนั้นมาจนเติบใหญ่ ให้นามว่า “เภทารี” Phe da rie อยู่รับใช้สอยปฏิบัติพระฤาษีมาเหมือนอย่างลูก ครั้นนางเปนสาวขึ้นพระฤาษีนึกรังเกียจว่าจะอยู่คลุกคลีกับหญิงสาวหาควรไม่ จะขับไล่ไปเสียเล่าก็สงสารด้วยเกรงจะไปมีภัยอันตราย จึงคิดอุบายทำลูกน้ำเต้าสำหรับตักน้ำขึ้นใหม่ใบหนึ่ง แกล้งเจาะช่องทางน้ำเข้าให้เล็ก แล้วให้นางเภทรีไปตักน้ำสำหรับใช้ที่กุฎีด้วยน้ำเต้าใบนั้น เพราะช่องน้ำไหลเข้าลูกน้ำเต้าเล็ก นางก็ต้องคอยอยู่นานจึงได้น้ำเต็มลูกน้ำเต้า เอาน้ำมาเทลงตุ่มแล้วกลับไปตักใหม่ และต้องไปคอยอยู่นานๆ เช่นนั้นอีก จึงมิใคร่มีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันกับพระฤๅษี คราวนี้ย้อนความไปกล่าวถึงเมืองตะโก้งว่าเมื่ออุปราชออกบวชเปนฤาชีแล้วไม่ช้า นางมเหษีซึ่งเปนน้องก็มีราชบุตร ๒ องค์ ชื่อ มหาสัมพวะ Maha Thambawa องค์ ๑ จุลสัมพวะ Tsoola Thambawa องค์ ๑ แต่เผอิญจักษุบอดทั้ง ๒ ข้างแต่กำเนิดทั้ง ๒ องค์ พระบิดามีความละอายไพร่บ้านพลเมืองจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่นางมเหษีทำกลอุบายส่งกุมารทั้ง ๒ ไปฝากคนอื่นให้ซ่อนเลี้ยงไว้ได้จนเปนหนุ่มนางคิดวิตกว่าถ้าให้กุมารทั้ง ๒ อยู่ในเมืองตะโก้งต่อไป พระบิดาทราบก็จะไม่พ้นอันตราย จึงให้ต่อแพบรรทุกสะเบียงอาหารแล้วให้ลูกชาย ๒ องค์ลงแพล่องลงมาทางแม่น้ำเอราวดี เมื่อมากลางทางมียักษตนหนึ่งลงไปดู เห็นกุมารดาบอดนั่งกินอาหารอยู่ด้วยกัน ก็ลอบสอดมือลงไปลักเอาอาหารมากินบ้าง แต่เผอิญมือไปถูกตัวกุมารเข้า กุมารทั้ง ๒ ก็ช่วยกันจับยักษได้จะฆ่าเสีย ยักษกลัวตายวิงวอนขอโทษ กุมารมีความกรุณาก็ยกโทษให้ ยักษนั้นคิดถึงบุญคุณจึงไปเที่ยวหายามารักษาให้นัยตาหายบอดได้ทั้ง ๒ องค์ ก็ล่องแพลงมาได้โดยสดวก เมื่อมาถึงท่า (ที่เมืองแปร) เห็นนางเภทารีลงไปตักน้ำก็มีจิตรรักใคร่ แต่สังเกตเห็นนางต้องเวียนลงไปตักน้ำวันละหลายๆ เที่ยวได้ความลำบาก เมื่อได้พูดจารู้จักกันแล้วจึงช่วยคว้านน้ำเต้าให้ช่องกว้างกว่าเก่า ก็ตักน้ำได้เร็วขึ้น พระฤาษีเห็นผิดสังเกต ถามนางเภทารีก็เล่าความตามไปพบชายหนุ่ม ๒ คนช่วยแก้ไขลูกน้ำเต้าให้ตักน้ำได้เร็วกว่าแต่ก่อน พระฤาษีจึงให้นางเรียก ๒ กุมารไปหา ไต่ถามได้ความว่าเปนหลานก็ยินดี จึงยกนางเภทารีเปนภรรยามหาสัมพวะ ในกาลนั้นประจวบเวลาว่างตัวหัวหน้าพวกพยุ พวกพยุทราบว่ามีหน่อเชื้อกษัตริย์ลงมาอยู่ที่นั่น จึงพร้อมกันเชิญเจ้ามหาสัมพวะขึ้นเปนเจ้าเมือง พระเจ้ามหาสัมพวะก็ตั้งนางเภทารีเปนอัครมเหษี และตั้งเจ้าจุลสัมพวะน้องชายให้เปนอุปราช เมื่อพระเจ้ามหาสัมพวะยังอยู่กับพระฤาษีมีบุตรด้วยนางเภทารีองค์หนึ่ง ให้นามว่า “ทุตตะบอง” เมื่อเปนเจ้าเมืองแล้วได้นางพยุเปนมเหษีอีกคนหนึ่ง มีธิดากับมเหษีใหม่ ให้นามว่า “จันทาเทวี” Tsanda Dewee แต่พระเจ้ามหาสัมพวะครองเมืองอยู่เพียง ๖ ปีก็สิ้นชีพ เจ้าจุลสัมพวะอุปราชได้ครองเมืองก็ตั้งให้นางเภทารีเปนอัครมเหษีต่อมา ครั้งเจ้าทุตตะบองราชบุตรและนางจันทาเทวีราชธิดาของพระเจ้ามหาสัมพวะเปนหนุ่มสาวก็ให้อภิเศกกัน พระเจ้าจุลสัมพวะครองราชสมบัติอยู่ ๓๕ ปี สิ้นชีพเจ้าทุตตะบองก็ได้รับรัชชทายาท

ในตำนานว่าพระเจ้าทุตตะบองเสวยราชย์แต่ พ.ศ. ๑๐๐ จนถึง พ.ศ. ๑๗๐ (ก่อนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชในอินเดีย กว่า ๑๕๐ ปี) และนับว่าพระเจ้าทุตตะบองเปนมหาราช ด้วยมีอานุภาพมาก สามารถขยายอาณาเขตต์ของพวกพยุได้กว้างใหญ่ไพศาลตลอดตอนกลางของประเทศพะม่า คือ ตั้งแต่เมืองมอญข้างฝ่ายใต้ขึ้นไปจนต่อเมืองม่านข้างฝ่ายเหนือแล้วให้แผ้วถางป่าที่พระฤาษีองค์อัยกาเคยอยู่สร้างเมืองสารเขตร์เปนมหานครราชธานี แต่ไม่มีเรื่องปรากฎเปนรายการ นอกจากว่าเมืองสารเขตร์เคยเปนประเทศที่รุ่งเรืองด้วยพระพุทธสาสนากับทั้งศิลปาคม และไปมาค้าขายเปนไมตรีกับนา ๆ ประเทศ ข้อที่ว่านี้มีหลักฐานทั้งโบราณวัตถุ และในจดหมายเหตุประเทศอื่น เช่นเมืองจีนเปนต้น เคยเรียกประเทศพะม่าว่าเมืองพยุอยู่ช้านาน ราชวงศ์พระเจ้าทุตตะบองครองบ้านเมืองสืบกันมา ๑๐ ชั่ว ถึงเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง (ชรอยจะไม่มีราชบุตร) ตั้งกุมารสกุลอื่นอันเลี้ยงเปนราชบุตรบุญธรรมชื่อว่า เตปา Tepa อันเปนผู้ทรงธรรมในพระพุทธสาสนาเปนอุปราช แล้วได้เปนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อ พ.ศ. ๔๓๖ ราชวงศ์พระเจ้าเตปาครองบ้านเมืองต่อมาอีก ๒๐ ชั่วจนถึงคราวเสื่อมทรามด้วยเกิดแตกสามัคคีรบพุ่งกันเองจนบ้านเมืองเปนจลาจล จึงเสียเมืองสารเขตร์แก่พวกมอญเมืองสะเทิมเมื่อ พ.ศ. ๖๕๑ ดังกล่าวมาแล้วในตำนานเมืองพุกาม รวมเวลาที่เมืองสารเขตร์ได้เปนประเทศใหญ่อยู่ ๕๕๑ ปี แต่นั้นก็มิได้เปนเมืองมีอิสระภาพอีกจนทุกวันนี้ เรื่องสร้างเมืองแปรขึ้นใหม่ที่ริมแม่น้ำหามีในตำนานไม่ กล่าวแต่ว่าเมื่อเสียเมืองสารเขตร์แก่มอญแล้ว บ้านเมืองร้างอยู่คราวหนึ่ง แต่พิเคราะห์ความไปเข้ากับเรื่องตำนานเมืองพุกาม ว่าเมื่อพวกพยุเสียเมืองสารเขตร์แก่มอญแล้วไปรวบรวมกับพวกพะม่าตั้งเมืองพุกามขึ้นเปนเมืองหลวง เมื่อตั้งเมืองพุกามได้มั่นคงแล้ว คงแบ่งผู้คนให้กลับลงมาตั้งเมืองเดิมอีก แต่ถึงสมัยนั้นคงเปนเพราะตลิ่งงอกออกมากว่าเก่ามาก เมืองสารเขตร์เดิมกลายเปนเมืองดอนอยู่ห่างน้ำเสียแล้ว จึงตั้งเมืองแปรขึ้นใหม่ใกล้กับเนินเขาพระมหาธาตุสิงคุดรที่ริมนำ เรื่องตำนานเมืองแปรใหม่น่าจะเปนเช่นว่ามานี้

เรื่องเมืองแปรมีปลาดผิดกับเมืองอื่นอยู่อย่างหนึ่งถึงน่าพิศวงด้วยเมืองพะม่ามีคนหลายชาติหลายภาษาซึ่งเคยอยู่มาแต่ก่อนเก่า เช่น พวกมอญ พวกยักไข่ พวกเกรี่ยง พวกละว้า และพวกไทยใหญ่ เปนต้น ยังมีเชื้อสายปรากฎอยู่ แต่พวกพยุนั้นสูญหมดทีเดียว ยังมีแต่ศิลาจารึกด้วยภาษาพยุและจารึกเปนตัวอักษรของพวกพยุ ปรากฎอยู่ทั้งที่เมืองสารเขตร์ และเมืองพุกาม ไม่มีใครอ่านออกมาช้านาน จนเมื่อเมืองพะม่าตกเปนของอังกฤษพบศิลาจารึกหลักหนึ่งที่วัดมงคลเจดีย์ ณ เมืองพุกาม จารึกเปนตัวอักษรแลภาษาต่างกันทั้ง ๔ ด้าน เปนภาษามคธด้าน ๑ ภาษาพะม่าด้าน ๑ ภาษามอญด้าน ๑ และภาษาพยุด้าน ๑ นักปราชญ์อังกฤษคนหนึ่งชื่อ แบลกเดน Blagden จึงพากเพียรอ่านภาษาพยุได้ด้วยเทียบเคียงกับภาษาอื่น ซึ่งจารึกความอย่างเดียวกันในหลักศิลานั้น เหมือนอย่างฝรั่งสามารถอ่านหนังสืออียิปต์ที่เปนรูปภาพได้ด้วยพบแผ่นศิลาจารึกแผ่นหนึ่งที่ตำบลโรเสตตา มีจารึกทั้งภาษาครีกและภาษาอียิปต์ด้วยกันฉะนั้น ได้ความว่าพวกพยุเอาแบบอักษร กะดัมพะ Kadamba ซึ่งใช้กันในอินเดียฝ่ายใต้ในราว พ.ศ. ๙๐๐ มาเปนต้นแบบอักษรพยุ มีอักษรพยุแล้วพวกมอญกับพวกพะม่าจึงเอาแบบตัวอักษรพยุไปแก้ไขเปนอักษรมอญและอักษรพะม่าเช่นที่ใช้กันสืบมา เหตุที่พวกพยุกับภาษาพยุสูญไปนั้นก็เพราะไปอยู่ระคนปนกับพะม่าช้านานเข้าก็เลยกลายเปนพะม่าไป เขาชี้เช่นให้เห็นประจักษดังเปนอยู่แก่พวกมอญทุกวันนี้ ว่าต่อไปอีกสัก ๒๐๐ ปี ทั้งมอญและภาษามอญในเมืองพะม่าก็คงสูญไปอย่างเดียวกันกับพวกพยุ

วันพุธที่ ๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๘ นาฬิกาไปดูเมืองสารเขตร์ แต่พวกพะม่าที่เมืองแปรเรียกกันเปนสามัญว่าเมืองฤาษี Yethe Myo การเที่ยวที่เมืองแปรพวกกรมการพะม่าเขาจัดรถยนต์และเกวียนที่ต้องใช้ให้ทุกอย่างทั้งตัวพวกเขาเองและลูกเมียก็มา “ตามเสด็จ” ด้วยพวกเรามีผู้หญิงไปด้วยไปไหนไปเปนกระบวรราวกับแห่แหน และเขาจัดชายหนุ่มผู้ชำนาญโบราณคดีในท้องที่ให้เปนผู้นำทางด้วยคนหนึ่ง นอกจากนั้นยังมีพวกพะม่าช่างฉายรูปส่งหนังสือพิมพ์ตามไปด้วยอีกพวกหนึ่ง แต่ใจดีรับว่ารูปที่ฉายนั้นจะให้เราแผ่นหนึ่งเสมอไป เมื่อแรกออกจากที่พักสังเกตดูเมืองแปรตั้งยาวตามริมแม่น้ำ มีทางรถไฟลงมาจนใกล้ฝั่ง กลางเมืองมีเนินเขาศิลาแลงเปนเทือกบนยอดที่สูงกว่าเพื่อนสร้างพระมหาธาตุสิงคุดร ยอดอื่นสร้างบ้านข้าราชการอยู่เปนหย่อมๆ ไป ดูน่าสบายแต่ผู้อยู่เขาว่าลำบากด้วยท่อน้ำประปาขึ้นไปไม่ถึง พอออกพ้นชานเมืองก็เปนบ้านป่าและเปนท้องนามีถนนไปจนถึงเมืองสารเขตร์

พอถึงเมืองสารเขตร์ยังไม่ทันจะเข้าในเมืองก็เกิดปลาดใจ ด้วยมีพระเจดีย์ใหญ่อยู่ริมทางองค์หนึ่งเปนของโบราณมาก รูปผิดกับพระเจดีย์องค์อื่นๆ ที่ได้เห็นมาในเมืองพะม่าทั้งหมด องค์ระฆังใหญ่ตั้งบนฐานทำเช่นบันได ๕ คั่นอยู่กับพื้นดิน รูปทรงองค์พระเจดีย์นี้ ถ้าบอกให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือนกับโคมหวดคว่ำ มียอดแต่ฉัตรโลหะปักบนก้นโคมอันน่าจะเปนของทำต่อภายหลัง ฉันได้เคยเห็นรูปฉายพระเจดีย์รูปคล้ายกันสร้างไว้บนยอดภูเขาที่เมืองสะแคง เห็นจะถ่ายแบบไปจากองค์นี้ ด้วยคนนับถือมากมาแต่โบราณ พอแลเห็นองค์เดิมก็ “หูผึ่ง” ต้องให้หยุดรถลงดูทันที ต่อมาค้นดูในหนังสือนำทาง ได้ความว่าพระเจดีย์ใหญ่เช่นนี้เดิมมีที่เมืองสารเขตร์ ๕ องค์ ถูกซ่อมแปลงผิดรูปเดิมไปเปนอย่างอื่นเสียแล้ว ๒ องค์ ยังคงรูปเค้าเดิมอยู่ ๓ องค์ ว่าองค์ที่เราเห็นนี้ยังดีกว่าเพื่อน รัฐบาลรับรักษา ต่อนั้นเมื่อเข้าไปข้างในเมืองแลเห็นพระเจดีย์ใหญ่อยู่ห่างทางอีกองค์หนึ่ง แต่รูปทรงตรงขึ้นไปคล้ายกับ “กระบอก” ไม่รัดยอดเหมือนองค์แรกเห็น รูปพระเจดีย์ทั้ง ๒ อย่างนี้มีแบบฉันเคยเห็นรูปฉาย แบบพระเจดีย์ทรงโคมหวดคว่ำนั้นเหมือนอย่างพระเจดีย์ที่เมืองอนุราฐบุรีในลังกาทวีป พวกที่สร้างตอนแรกพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจดีย์อย่างทรงกระบอกก็มีอยู่ที่เมืองคันธารราฐ อยู่ในแดนประเทศอัฟฆานิสถานบัดนี้ เปนของสร้างสมัยพระเจ้ามิลินทภายหลังพระเจ้าอโศกมาสักร้อยปีเศษ ผู้ขุดตรวจเขาเขียน “แผนผ่า” Section ไว้ให้เห็น ว่าทำพระสถูปขนาดน้อยรูปทรงหวดคว่ำบรรจุพระธาตุไว้ข้างใน แล้วก่อพระสถูปทรงกระบอกครอบไว้ข้างนอก พิเคราะห์พระเจดีย์ทรงหวดคว่ำเปนหลักให้เห็นว่าพระพุทธสาสนาได้มาประดิษฐ์ในเมืองพะม่าแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชจริง หากผู้แต่งหนังสือพงศาวดารพะม่าว่าถึงรายการเล่าเรื่องเหลวใหลจนไม่น่าเชื่อ ผู้นำทางเขาบอกว่าแนวกำแพงเมืองสารเขตร์ไม่เปน ๔ เหลี่ยมเหมือนเช่นเมืองมัณฑเล ทำยาวรีมุมมนเปนสันฐานเหมือนอย่างลูกมะตูม มีพระเจดีย์ใหญ่เช่นเราเห็นทิศละองค์ อยู่กลางเมืององค์หนึ่ง มีถนนรถยนต์เข้าไปได้ถึงกลางเมือง แต่พระเจดีย์ซ่อมแปลงรูปเปนอย่างใหม่ไปเสียแล้ว เขาบอกว่าราชวังเดิมก็สร้างในแถวนั้น เดี๋ยวนี้มีแต่วัดพระสงฆ์กับโรงพิพิธภัณฑ์สถานของกรมตรวจโบราณคดีสร้างไว้หลังหนึ่ง เปนที่เก็บของโบราณที่รวบรวมได้ในเมืองแปร แต่ของโบราณที่พบ ณ เมืองสารเขตร์ก็แปลกกับที่อื่นในเมืองพะม่า ด้วยเปนเครื่องศิลาจำหลักเปนพื้นที่เปนชิ้นใหญ่ๆก็มี พิจารณาดูลวดลายที่จำหลักยิ่งปลาดใจ ด้วยเปนแบบอินเดียสมัยคุปตะ (ในระหว่างพ.ศ. ๘๙๓ จน พ.ศ. ๑๐๔๓) เหมือนลายจำหลักที่พระปฐมเจดีย์ ส่อให้เห็นว่าจะรุ่งเรืองในสมัยเดียวกัน ดูพิพิธภัณฑ์สถานแห่งนี้แล้วต้องขึ้นเกวียนเทียมโคไปดูพิพิธภัณฑ์สถานของกรมตรวจโบราณคดีอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างไว้ในวัดร้างอยู่ห่างไปสักสี่ห้าเส้น มีทั้งเครื่องศิลาจำหลักและกรุพระพิมพ์ซ่อนไว้ณะที่นั้น ในพวกเครื่องศิลาชั้นเก่ามีของแปลกซึ่งยังไม่เคยเห็นที่อื่นในเมืองพะม่า คือผอบศิลาที่บรรจุอัฐิธาตุของพระมหาเถระ รักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานทั้งผอบและอัฐิ ผอบทำสันฐานกลมขนาดใหญ่เกือบเท่าพ้อม จำหลักลายขอบและขัดชักเงาที่หน้ากระดานตรงกลางจารึกแสดงประวัติและคุณธรรมของพระมหาเถระองค์นั้น เปนอักษรแลภาษาพยุ (ผู้ที่ไปด้วยไม่มีใครอ่านออกจึงไม่ทราบความจะแจ้ง) ของซึ่งควรเรียกว่า “ของชั้นหลัง” สร้างเพียงครั้งสมัยเมืองพุกามก็มีหลายสิ่ง คงเปนของที่มีผู้ศรัทธานำมาแต่เมืองพุกามเมื่อภายหลัง การขุดพระพิมพ์ที่เมืองสารเขตร์อยู่ข้างจะสนุก ด้วยเปนของมองสิเออดือรอยเซลให้ฝังซ่อนไว้และกำชับห้ามภารโรงมิให้บอกให้ใครรู้ ตาภารโรงได้รับคำสั่งของมองสิเออดือรอยเซลให้พาพวกเราไปขุดก็ออกสนุกด้วย หาจอบเสียมเตรียมไว้พร้อม ตัวแกเปนผู้ขุดหาพระพิมพ์ เรานั่งดูอยู่ที่ปากกรุ เขาอนุญาตให้พวกเราเลือกเอามาได้ตามชอบใจ ดูเหมือนพวกพะม่าที่ไปด้วยก็จะพลอยได้ไปด้วย เปนพระพิมพ์ดินเผาแบบพุกามทั้งนั้น พวกเราต่างคนต่างเลือกเอามาเปนที่ระลึกในการไปเมืองพะม่า และขอเอามาฝากพวกพ้องด้วยบ้าง เที่ยวที่เมืองสารเขตร์แห่งเดียวจนเวลากลางวันจึงได้กลับมาที่พัก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ