เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ยังอยู่ในตอนที่ ๒

วันพฤหัสบดีที่ ๒๓ มกราคม ไปเที่ยวเมืองหงสาวดีทั้งวัน รายการเรื่องเที่ยวเมืองหงสาวดีจะรอไว้เล่าเปนตอนหนึ่งต่างหากต่อไปข้างหน้า

วันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม ไปเที่ยวตลาด เพราะเขาบอกในหนังสือนำทางว่าเปนของที่น่าดูในเมืองร่างกุ้งอย่างหนึ่ง ไปดูก็เห็นน่าดูจริง ด้วยใหญ่โตและจัดดีกว่าตลาดที่เมืองอื่น ๆ ในแถวตะวันออกนี้ที่เคยเห็นมา และมีถึง ๓ ตลาดใกล้ ๆ กันที่กลางเมือง กระบวรจัดเปนทำนองเดียวกันทุกแห่ง คือที่ขายสินค้าอย่างใด ก็ตั้งร้านขายแต่สินค้าอย่างนั้นเปนถ่องแถวติดต่อกันไปไม่สับปลับ ดังเช่นตลาดแห่งหนึ่งเปนที่ขายของสด ร้านแถวหน้าริมถนนล้วนแต่ขายดอกไม้กับผลไม้ แถวข้างหลังต่อเข้าไปเปนร้านขายของเครื่องทำกับเข้า เครื่องสำหรับกินกับหมากพลู และของสดประเภทอื่น ๆ ต่อกันไป เอาร้านขายของจำพวกที่มีกลิ่น เช่นปลาและเนื้อสัตว์ตลอดจนกะปิน้ำปลาไว้ข้างหลังที่สุด ส่วนตลาดที่ขายของแห้งนั้น ก็มีร้านขายของทองเงินเครื่องประดับและของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่นเกือกและร่มเปนต้น ตลอดจนร้านขายของแห้งที่เปนของกิน ตั้งรายอยู่แถวหน้าริมถนน มีชานกว้างสำหรับคนเดินในร่มตลอดหน้าร้าน ต่อเข้าไปข้างในถึงแถวร้านขายผ้าแล้วถึงร้านขายของจำพวกอื่น ๆ เปนลำดับไป ตึกนั้นยังมีชั้นบนเปนตลาดอีกชั้นหนึ่ง มีทั้งบรรไดและห้องลอย Lift สำหรับคนขึ้น ร้านที่อยู่ชั้นบนเปนพวกหัตถกรรม เช่นช่างเย็บเสื้อเปนต้น ตลอดจนร้านขายเครื่องเรือนตั้งแต่เครื่องปูลาด ตลอดจนมุ้งม่าน ที่หลับที่นอนก็มีขาย คนขายของในตลาดเปนแขกชาวอินเดียโดยมาก พะม่าเห็นมีแต่ผู้หญิงนั่งขาย ร้านจีนก็มีบ้างไม่มากนัก พรรณนาแต่พอเปนเค้า ฉันได้ดูไม่สู้ถ้วนถี่นัก ในเรื่องตลาดเจ้าหญิงรู้มากกว่าฉัน เพราะธรรมดาผู้หญิงสันทัดการเที่ยวตลาดกว่าผู้ชาย แต่การที่ไปเที่ยวตลาดเมืองร่างกุ้งก็มีข้อขบขันอยู่บ้าง วันแรกพวกเรายังไม่รู้เค้า เอารถ “อาคาข่าน” ไปจอดที่หน้าตลาดแล้วลงเดินดูร้าน พอคนเห็นพวกเราก็รู้ว่าเปนชาวต่างประเทศที่มีบันดาศักดิ์ จะเดินไปทางไหนคนก็ตามดู ทั้งพวกที่เร่ของขายก็พากันดักหน้าตามหลังกวนจะให้ซื้อ เมื่อเข้าถึงร้านถามราคาของสิ่งใดก็ผ่านขึ้นไปตั้งสองสามเท่า ไม่ได้เรื่องต้องรีบกลับ ไปวันหลังต้องใช้อุบายเอารถจอดเสียห่าง ๆ แล้วลงเดินแยกกันไปเปนหลายพวก จึงเที่ยวได้สดวก เจ้าหญิงตั้งใจจะหาซื้อแพรพะม่า จึงไปที่ร้านแขกขายแพรก่อน ลักษณร้านในตลาดนั้นยกพื้นปูกระดานสูงสัก ๒ ศอก ตั้งตู้วางม้วนผ้าม้วนแพรไว้ข้างด้านในและด้านข้าง คนขายนั่งกับพื้นตรงหน้าตู้ เวลามีใครมาซื้อเขายกเก้าอี้มาตั้งเชิญให้นั่งที่หน้าร้าน ดูก็เปนการจำเปน เพราะกว่าจะซื้อได้ต้องเสียเวลาเลือกสรรและต่อตามกันช้านาน ยืนอยู่ตลอดเวลาก็แทบขาแข็ง พอเจ้าหญิงถามถึงแพรพะม่าเจ้าของร้านก็รับในทันทีว่ามีหลายอย่าง แล้วไปหยิบเอาลงมาให้เลือกเปนหลายม้วน เผอิญเจ้าหญิงคลี่ออกดูม้วนหนึ่งเห็นตรงชายผ้ามีอักษรโรมันบอกว่า Made in Japan (แปลว่าทำที่เมืองยี่ปุ่น) ซึ่งต้องแสดงไว้ตามกฎหมายบังคับ หันไปต่อว่าเจ้าของร้านก็หน้าด้านยิ้มกริ่มไม่อดสู ไปวันหลังต้องวานเจ้าฉายเมืองลูกเจ้าฟ้าเชียงตุงให้นำทาง ด้วยเธอรู้เบาะแสเมืองร่างกุ้ง พาไปที่ร้านพะม่าร้านหนึ่งในตลาดใหญ่นั้น มีผ้าไหมขายมาก เจ้าหญิงเรียกเอาสิ้นไหมมาเลือก สังเกตเห็นเหมือนกันกับสิ้นไทยที่ทำทางเมืองเชียงใหม่ และเมืองอุบล เมืองนครราชสีมา ถามว่าสิ้นเหล่านี้ทอในเมืองพะม่าหรือ ผู้หญิงพะม่าคนขายบอกโดยซื่อว่าไม่ใช่ของพะม่าเปนของไปจาก “โยเดีย” ทั้งนั้น แต่พะม่าชอบใช้ด้วยทอเนื้อดีกว่าผ้าไหมในเมืองพะม่า ฟังดูออกปลาดใจ วันอื่นต่อมาฉันได้พบพะม่าชั้นผู้ดีก็เห็นมักนุ่งผ้าไหมไทยทั้งผู้ชายผู้หญิง ชอบนุ่งผ้าหางกะรอกโดยฉะเพาะ เขาก็บอกเช่นเดียวกับชาวร้านว่าผ้าไหมไทยเนื้อดีกว่าผ้าไหมทอในเมืองพะม่า เรื่องนี้เมื่อก่อนจะกลับฉันได้สนทนากับข้าราชการอังกฤษที่เปนชั้นผู้ใหญ่ในเมืองพะม่าคนหนึ่ง พูดกันถึงการค้าขายในระวางเมืองไทยกับเมืองพะม่า เขาบอกว่าสินค้าไทยที่ส่งไปขายในเมืองพะม่า ผ้าไหมเปนสินค้าใหญ่อย่างหนึ่ง ฉันตอบว่าแต่ก่อนฉันก็เคยเข้าใจอย่างนั้น แต่มาได้ยินว่ารัฐบาลอังกฤษเพิ่มพิกัตภาษีผ้าไหมแรงจนสินค้านั้นตกไปเสียแล้ว เขาว่าเพิ่มพิกัตภาษีจริง แต่เขาเข้าใจว่าสินค้าผ้าไหมไทยหาตกไม่ เพราะเดี๋ยวนี้พวกพ่อค้าหาวิธีหลีกเลี่ยงด่านภาษี ด้วยลอบเอาผ้าไหมเข้าทางเมืองไทยใหญ่ได้หลายทาง บางทีผ้าสิ้นไทยที่ฉันเล่าว่าไปเห็นในห้องตลาดจะอยู่ในพวกนั้นก็เปนได้ เพราะโดยธรรมดาถ้ามีคนชอบซื้ออยู่ตราบใด ก็คงมีคนหาไปขายอยู่ตราบนั้น ฉันเคยได้เค้าเมื่อไปเมืองนครราชสีมาครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เห็นชอบทอผ้าไหมหางกะรอกกันแทบทุกบ้าน ถามเขาว่าทอกันมากมายเช่นนั้นจะขายอย่างไรได้ เขาบอกว่าถึงระดูแล้งมีพวกพะม่ามาเที่ยวกว้านซื้อผ้าไหมหางกะรอก เอาไปขายในเมืองพะม่าทุกปี มาได้ฟังเรื่องหนีภาษีจึงเข้าใจว่าพวกที่ลอบเอาผ้าไหมไทยเข้าไปขายในเมืองพะม่า คงเปนพวกพะม่าหรือไทยใหญ่ หาใช่ชาวสยามไม่ จะเลยเล่าต่อไปถึงการแต่งตัวของพวกพะม่าในสมัยนี้ประเพณีที่ผู้ชายไว้ผมยาวเกล้าจุกเช่นแต่ก่อนมาเปนอันเลิกหมดแล้ว เดี๋ยวนี้ตัดผมสั้นเหมือนอย่างไทยเรา แต่ยังชอบโพกหัวแต่งตัวอย่างพะม่าอยู่ตามเดิม ชั้นผู้ดีทำหมวกสานตาชลอมเปนโครงครอบหัวก่อน แล้วจึงโพกผ้าให้เห็นเหมือนมีผมจุกอยู่อย่างแต่ก่อน พวกไทยใหญ่เดี๋ยวนี้ในชั้นผู้ดีก็ตัดผมกันโดยมาก แต่โพกผ้าไม่มีหมวกเปนโครงดูแปลกไปไม่พากพูมเหมือนพะม่า ผ้าโพกดูชอบใช้แต่แพรสีชมพูเหมือนกันทั้งพะม่าและไทยใหญ่ เสื้อนั้นใช้เสื้อชายสั้นกระดุมถักตามแบบจีน พะม่าใส่เสื้ออย่างเราเรียกกันว่า “กุยตั๋ง” คือที่ตอนล่างใส่กระดุมไพล่มาข้างข้าง แต่พวกไทยใหญ่ใส่เสื้ออย่างที่เราเรียกว่า “กุยเฮง” คือใส่กระดุมตรงลงมาจนชายเสื้อ เครื่องนุ่งนั้นพะม่านุ่งผ้าไหมอย่างปล่อยชายปุกปุยอยู่ข้างหน้า แต่ไทยใหญ่ชอบนุ่งกางเกงจีน นุ่งผ้าอย่างพะม่าดูรุ่มร่าม เวลาเดินก็ต้องคอยระวังชายผ้าอยู่เสมอ แต่ฉันมาทราบภายหลังว่าเขานุ่งปล่อยชายเช่นนั้นแต่ในเวลาออกแขก ถ้าอยู่กับบ้านเรือนหรือแม้ไปไหนไม่ออกหน้าเขาก็นุ่งตามสบาย บางทีก็ถึงนุ่งกางเกงจีน ฉันเคยถามพวกพะม่าที่เปนข้าราชการ ว่ามีข้อบังคับอย่างไรในเรื่องเครื่องแต่งตัวบ้างหรือไม่ และเขาใช้เครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่งในโอกาสอย่างไร เขาตอบว่าในเรื่องเครื่องแต่งตัวไม่มีข้อบังคับ เวลามีการงานในรัฐบาลจะแต่งตัวอย่างพะม่าหรืออย่างฝรั่งไปก็ได้ตามใจ เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในกรมอันมีเครื่องแบบ เช่นเปนนายโปลิศเปนต้น จึงต้องแต่งตัวตามแบบนั้น ๆ ข้าราชการที่เปนพะม่ามักแต่งอย่างพะม่าไปทำงานเปนปกติ เพราะไม่สิ้นเปลืองเหมือนเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง มักแต่งอย่างฝรั่งแต่ในเวลาไปเล่นกีฬา เช่นเล่นเตนนิส เปนต้น พะม่าที่ชอบแต่งตัวอย่างฝรั่งก็มี แต่น้อยกว่าที่ชอบแต่งอย่างพะม่า ส่วนผู้หญิงนั้นไม่ยอมแต่งตัวอย่างฝรั่งเลยทีเดียว แต่เมื่อสังเกตดูเห็นได้ว่าแม้ยังแต่งตามแบบพะม่า ก็แก้ไขเครื่องแต่งตัวเอาแบบฝรั่งมาใช้หลายอย่าง เปนต้นว่าแต่ก่อนมาผู้หญิงพะม่ามักใส่เสื้อเปิดอก ข้างในเอาแพรแถบคาดตัวตัดสีกับเสื้อนอก แต่เดี๋ยวนี้ชั้นในใส่เสื้อแขวนบ่าเหมือนอย่างเช่นผู้หญิงไทยเราใช้กันทั่วไป เสื้อชั้นนอกก็มักปิดคอและขลิบผ้าโปร่งไปข้างแบบฝรั่ง แต่นุ่งสิ้นกันเปนพื้น มิใคร่เห็นใครนุ่งอย่างเช่นเราเรียกกันว่า “ผ้าแวบ” ที่ปล่อยชายไปข้างหลังอย่างแต่ก่อน การสมาคมกับพวกพะม่าชั้นผู้ดีในสมัยนี้อยู่ข้างสดวก ด้วยผู้ดีมักได้เข้าโรงเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ไม่ต้องมีล่าม

การที่ฉันเที่ยวในเมืองร่างกุ้งมีลักษณต่างกันเปน ๒ อย่าง คือ ไปเที่ยวตามอำเภอใจอย่าง ๑ ไปเที่ยวด้วยได้รับเชิญอย่าง ๑ ทั้งเมื่อขาไปและขากลับ เพื่อจะให้สดวกแก่ผู้อ่าน จะเอาเรื่องที่เที่ยวตามอำเภอใจมารวมเล่าเสียในตอนนี้ รอเรื่องเที่ยวด้วยได้รับเชิญไว้เล่าเมื่อขากลับ จะเล่าถึงไปดูที่เลี้ยงสัตว์ ๒ แห่งก่อน แห่ง ๑ เปนสระโบราณสำหรับเลี้ยงปลา ซึ่งในหนังสือนำทางเรียกในภาษาอังกฤษว่า Sacred Fish แปลว่า “ปลาศักดิ์สิทธิ์” ที่จริงเปนสระอภัยทาน ด้วยห้ามมิให้ใครทำอันตรายปลาซึ่งอาศัยอยู่ในสระนั้น ไม่เลือกว่าปลาอย่างใด ๆ สระนั้นไม่ใหญ่โตสักเท่าใดนัก เปนที่น้ำขังคดค้อมไปตามเชิงเนินมีศาลาอย่างเรือนแพปลูกลงไปในสระสองสามหลัง และคนที่รักษาสระตั้งร้านขายขนมปังกับเข้าตอก สำหรับพวกท่องเที่ยวหรือคนอยากทำบุญซื้อโปรยให้ทานปลา ปลาในสระนั้นดูเปนปลาดุกทั้งนั้นไม่เห็นมีปลาอื่น ขันอยู่ที่มีเป็ดฝูงใหญ่ไปกำกับปลาอยู่ในสระนั้นด้วย ชำนาญการรับทานและชอบกินขนมปังกับเข้าตอกทั้งปลาและเป็ด แต่เป็ดดูเหมือนจะได้เปรียบปลา เพราะขนมปังและเข้าตอกที่โปรยลงไปลอยน้ำเป็ดชิงกินได้ก่อน คงมีคนเห็นว่าปลาเสียเปรียบเป็ดจึงเอาไม้รวกปักทำเปนคอกไว้ตรงหน้าศาลากันมิให้เป็ดเข้าในคอกนั้น ถ้าใครจะให้ทานแต่ปลาก็เอาอาหารโปรยลงในคอก ถ้าจะให้ทานเปนสาธารณก็โปรยออกไปข้างนอกคอก ที่เลี้ยงสัตว์อีกแห่ง ๑ นั้นอยู่ในสวนซึ่งสร้างเปนอนุสสรณ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย เรียกว่า Victoria Memorial Park อยู่ที่หมู่เนินนอกเมืองข้างด้านหลัง มีสัตว์ต่าง ๆ หามาเลี้ยงไว้ให้คนดูมากมายหลายอย่าง เก็บค่าเข้าคนละ ๒ อันนา (ราว ๑๐ สตางค์) ถึงวันอาทิตย์มีแตรวงให้ฟังด้วย สวนเลี้ยงสัตว์ที่เมืองร่างกุ้งดูเหมือนจะดีกว่าแห่งอื่นในแถวตะวันออก ทั้งที่มีสัตว์ต่าง ๆ มากและทำที่เลี้ยงเรียบร้อยดี แต่สัตว์จำพวกต่าง ๆ ที่มีในสวนนั้นฉันได้เคยเห็นในยุโรปแล้วโดยมาก แปลกตาแต่ ๒ อย่าง คือจรเข้พันธุ์ปากแหลมคล้ายปลากะทงเหวอย่าง ๑ กับลิงบาบูนตัว ๑ โตสักเท่าเด็กสามสี่ขวบ สีดำขนยาวปากยื่นเหมือนหัวสุนัขที่โครงจมูกมีริ้วสีน้ำเงินสีแดงสลับกันเหมือนกับใครแกล้งเขียนไว้ดูน่าพิสวง บางทีสัตว์อย่างอื่นในจำพวกนกและลิงที่ฉันไม่เคยเห็น หรือเห็นในยุโรปแล้วแต่จำไม่ได้ก็จะมีอีก- ที่สวนนี้มีคนจำพวกหนึ่งหากินด้วยถือกระจาดอาหารมีกล้วยเปนต้น คอยเดินตามหลังคนดูด้วยรู้ว่าอดซื้อให้ทานสัตว์ไม่ได้ ฝ่ายพวกสัตว์ก็เคยกินจนรู้ธรรมเนียม พอเห็นใครไปยืนที่ริมกรงก็ออกมาคอยรับอาหาร เว้นแต่สัตว์จำพวกกินเนื้อเช่นเสือและราชสีห์เปนต้นไม่นำพา เพราะของที่คนดูซื้อเลี้ยงสัตว์มีแต่กล้วยอ้อย มิใช่อาหารของสัตว์จำพวกนั้น ต่อสวนเลี้ยงสัตว์ไปไม่ไกลนัก ถึงสวนอีกแห่ง ๑ เรียกว่า “ดัลฮูสี Dalhusy Park” ตามนามของผู้สำเร็จราชการอินเดียคนหนึ่ง เปนที่สำหรับคนไปเที่ยวตากอากาศที่ริมทะเลมหาราช King’s Lake มีป่าไม้และลานหญ้ารอบขอบทะเลเดินไปได้ไกล บ่าย ๆ มีคนไปเที่ยวกันมากดูสบายดี

คราวนี้จะเล่าถึงไปดูที่ทำของต่าง ๆ อันเปนหัตถกรรมของพะม่า ไปดูที่ช่างทำพระพุทธรูปก่อน ที่นั้นอยู่ตำบลเกเมนไดน์ Kemendine ห่างเมืองร่างกุ้งสัก ๒๐๐ เส้น เขาว่าแต่เติมเปนบ้านนอก ครั้นขยายเมืองร่างกุ้งออกไป ตำบลนั้นกลายเปนชานเมือง มีทั้งถนนรถยนต์และรถรางออกไปครู่หนึ่งก็ถึง พอแลเห็นก็เข้าใจได้ว่าเดิมคงเปนอย่างเดียวกันกับบ้านพวกช่างหัตถกรรมของไทยเรา เช่น “บ้านหล่อ” และ “บ้านพานถม” เปนต้น พวกช่างอย่างหนึ่งก็คงตั้งบ้านเรือนอยู่ตำบลหนึ่ง เพราะเปนญาติร่วมสกุลที่อาศัยวิชชาอาชีพอย่างเดียวกัน ต่างครัวต่างทำการที่ในบ้านของตน ครั้นขยายชานเมืองมีถนนหนทางไปถึงตำบลนั้น พวกช่างพระก็คิดแก้ไขกระบวรการอาชีพเพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น เปลี่ยนเปนสร้าง (หรือเช่า) โรงแถวเปนที่ทำงานและขายของด้วยกันที่ริมถนนครัวหนึ่งมีร้านหนึ่งเรียงติดต่อกันไปยืดยาวในถนนนั้น ทำของขาย ๓ อย่างเหมือนกันทุกร้าน คือฉัตรทองสัมฤทธิ์ยอดพระเจดีย์อย่าง ๑ พระพุทธรูปหล่ออย่าง ๑ กับพระพุทธรูปศิลาขาวอีกอย่าง ๑ แต่ละอย่างทำเปนหลายขนาด ที่เปนขนาดใหญ่ตั้งไว้ขายข้างหน้าร้าน ขนาดย่อมลงมาตั้งได้ในร้านหรือในตู้กระจก ใครปราร์ถนาจะซื้อก็เลือกได้ตามชอบใจ ที่เพิงหน้าร้านนั้นใช้เปนโรงงานจำหลักพระพุทธรูปศิลาด้วย ศิลาขาวที่ทำพระพุทธรูปนั้น มีพวกต่อยศิลาทำเปนหุ่นโกลนอยู่เมืองอื่นต่างหาก ช่างพวกนี้ไปซื้อมาจำหลักชักเงาสำเร็จเปนองค์พระพุทธรูป ทำปางมารวิชัยเปนพื้นทั้งพระศิลาและพระหล่อ ปลาดอยู่ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันเหมือนกับพระพุทธรูปไทย ข้อนี้ฉันเคยตรวจ เห็นพระพุทธรูปอินเดียก็ดี พระพุทธรูปที่ทำในประเทศสยามแบบเก่าก่อนสมัยสุโขทัยก็ดี ย่อมทำนิ้วพระหัตถ์อย่างนิ้วธรรมดาของคนทั้งหลาย เห็นแต่พระพุทธชินราชกับพระพุทธชินศรี ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันเก่าก่อนเพื่อน พระพุทธรูปที่เมืองพะม่าที่เปนของชั้นเก่าก็ทำนิ้วพระหัตถ์อย่างนิ้วธรรมดา มีแต่พระพุทธรูปชั้นหลังที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากัน จึงสันนิษฐานว่าเห็นจะได้แบบของไทยไปทำในกาลครั้งใดครั้งหนึ่ง บางทีพะม่าจะได้พวกช่างพระเปนเชลยไปจากพระนครศรีอยุธยา ไปทำแบบนี้ขึ้นก็เปนได้ ที่ร้านพวกช่างพระไม่เห็นขายของหล่อสิ่งอื่นเช่น ฆ้อง ระฆัง กังสดาล เปนต้น ของเหล่านั้นเห็นมีขายแต่ตามร้านย่อย เจ้าฉายเมืองบอกว่าฆ้องนั้นทำที่เมืองตะโก้งเปนพื้น เพราะชาวเมืองนั้นชำนาญการทำฆ้องสืบต่อกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ เดิมเปนเมืองของพวกไทยใหญ่เรียกชื่อเปนภาษาไทยว่า “เมืองท่าฆ้อง” พะม่าเรียกไม่ชัดจึงกลายเปน “ตะโก้ง Tagaung” แต่พบในหนังสือฝรั่งแต่งว่าชื่อเมืองนั้นมาแต่คำ “ท่ากอง” (คือ “ท่ากลอง” ฝรั่งใช้คำว่า Drum) เจ้าฉายเมืองยังบอกอธิบายต่อไปอีกเมืองหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เมืองภาโม Bhamo” ชื่อเดิมก็เปนภาษาไทย เรียกว่า “บ้านหม้อ” เพราะชาวเมืองชำนาญการทำหม้อเคลือบ ยังทำส่งสั่งมาขายในเมืองพะม่าปีละมาก ๆ จนทุกวันนี้ (ฉันก็ได้เห็นแพบรรทุกหม้อเคลือบ เมื่อล่องลำน้ำเอราวดี) แต่ระฆังกับกังสดาลนั้นไม่รู้ว่าทำที่ไหน บางทีจะมีช่างอีกพวกหนึ่ง ด้วยถือเปนวิชชาอีกอย่างหนึ่งต่างหาก เพราะต้องรู้วิธีประสมทองให้เหมาะส่วนเสียงจึงไพเราะ ไม่เหมือนกับประสมทองหล่อพระ ต่อนั้นฉันได้ไปดูการช่างอีก ๒ อย่าง คือช่างแกะงากับช่างจำหลักเงิน ช่าง ๒ พวกนี้อยู่ตึกแถวที่ในเมืองมีร้านเรียงต่อกันเปนพวกทำนองเดียวกับช่างพระ พิจารณาดูฝีมือช่างพะม่ายังทำดีทั้งช่างแกะงาและช่างจำหลักเงิน ถึงช่างพระที่จริงฝีมือก็ไม่เลว มีที่ติเปนข้อสำคัญอยู่ที่เพียรทำตามแบบอย่างเช่นเคยทำกันมา หรือว่าอีกอย่างหนึ่งทำเปนแต่หัตถกรรม ไม่พยายามขวนขวายให้เปนทางศิลปากร การที่ทำจึงเปนแต่ทรงอยู่หรือชักจะเลวลง มีอังกฤษคนหนึ่งซึ่งไปอยู่เมืองพะม่าช้านาน จะกลับไปยุโรปในเร็ว ๆ นี้ บอกฉันว่าอยากได้พระพุทธรูปฝีมือพะม่าไปเปนที่ระลึกสักองค์ ๑ เที่ยวเสาะหาตามร้านช่างพระ จะหาให้งามเหมือนพระโบราณไม่มีสักองค์เดียว ฉันเองเดิมก็นึกว่าจะหาพระพุทธรูปฝีมือพะม่ามาสักองค์ ๑ เที่ยวเลือกดูไม่พบที่งามจับใจจึงเลยไม่ได้ซื้อ

มีเรื่องหาซื้อของน่าจะเล่าอีกเรื่องหนึ่ง วันฉันกินกลางวันที่บ้านเจ้าเมืองหงสาวดี เจ้าเมืองคนนั้นเปนพะม่าจึงพูดถึงข้อที่ฉันอยากเห็นฟ้อนรำและฟังดนตรีอย่างโยเดีย เขาบอกว่าเขาเคยได้ยินในคราโมโฟนครั้งหนึ่ง ฉันก็อยากหาซื้อเขาจึงบอกชื่อร้านขายแผ่นคราโมโฟนมาให้ ฉันได้ไปถึงร้านนั้น เปนร้านใหญ่ขายแต่เครื่องดีดสีดีเป่าชั้นล่าง ชั้นบนขายเครื่องคราโมโฟนกับแผ่นเสียง และมีห้องสำหรับให้นั่งฟังเวลาเลือกด้วย ถามถึงเพลงโยเดียเขาบอกเถลไถลดูไม่เข้าใจความที่หมาย จึงให้เอาแผ่นเพลงลำนำของพะม่ามาเปิดให้ฟัง ก็มีแต่เสียงผู้หญิงขับลำนำพะม่าประสานกับหีบเพลงเปียโน หรือมิฉะนั้นก็ประสานกับซอไวโอลินฝรั่ง เปนอย่างสมัยใหม่ทั้งนั้น ถามเขาว่าเสียงขับเข้ากับเครื่องดุริยางคดนตรีอย่างพะม่ามีหรือไม่ เขาตอบว่าอย่างนั้นเปนแบบเก่าเขาเลิกไม่ทำแผ่นคราโมโฟนมาเสียหลายปีแล้ว ฟังเขาบอกก็ได้แต่ถอนใจใหญ่

วันศุกรที่ ๒๔ มกราคม ตอนเช้าไปเที่ยวแล้วกลับมาเก็บของเตรียมตัว พอค่ำรีบกินอาหารที่โฮเตลแล้วไปยังสถานีรถไฟ มิสเตอร์แกชในรัฐบาล มิสเตอร์คัสโตเนียนายห้างอิสต์เอเซียติค และผู้แทนกงสุลสยาม (ตัวกงสุลไม่อยู่) กับทั้งหลวงอุปถัมภ์นรารมณ์ซึ่งไปอยู่เมืองร่างกุ้งด้วยกิจธุระของเขาเองมีแก่ใจไปส่ง เวลา ๒๐ นาฬิกาขึ้นรถไฟออกจากเมืองร่างกุ้งไปเมืองมัณฑเล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ