วันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม กับลายพระหัตถ์ฉะบับเล็กที่สอดซองส่งมาด้วยกันนั้นแล้ว หนังสือที่จะทรงพิมพ์แจกในงานศพชายถึก ซึ่งพระยาอนุมานราชธนเลือกถวาย หม่อมฉันรู้จักทั้ง ๓ เรื่อง

เรื่องกฎหมายไทยฉะบับตรา ๓ ดวงนั้น ความก็เหมือนกับกฎหมายพิมพ์ ๒ เล่มที่รู้กันดื่น อักขรวิธีความรู้ในรัชชกาลที่ ๑ ก็ไม่แปลกปลาด และที่สุดลายมือที่เขียน มองสิเออร์ เบอรนี ฝรั่งเศสที่ปรึกษากฎหมายเขาก็ฉายรูปออกพิมพ์แล้ว ไม่เห็นประโยชน์อันใดที่จะทรงพิมพ์แจก

เรื่องพงศาวดารกรุงละแวกฉะบับนักพระองค์แก้วนั้น ข้อเสียสำคัญอยู่ที่ขาดความตอนกลาง และมีพงศาวดารเขมรฉะบับอื่นดีกว่าฉะบับนั้นพิมพ์ไว้แล้ว หม่อมฉันจึงเห็นหาควรจะทรงพิมพ์ไม่

เรื่องพงศาวดารพระร่วง พระยาอนุมานเขาคัดสำเนาส่งมาให้หม่อมฉันอ่านนานแล้วเปนแต่นิทานแต่เปนหนังสือดี “สำหรับวินิจฉัยบ่อเกิดหนังสือพงศาวดารสยาม” มิใช่ดีสำหรับได้ความรู้เรื่องพงศาวดารถ้าพิมพ์ต้องแต่ง “วิจารณ” ประกอบจึงจะเห็นประโยชน์ ถ้าจะทรงพิมพ์หม่อมฉันแต่งวิจารณถวายก็ได้ แต่เกรงจะมีคนชอบอ่านหนังสือนั้นไม่กี่คนเพราะความนิยมมันเปลี่ยนแปลกเสียมากแล้ว ทรงพิมพ์หนังสือนั้นอาจจะถูกหัวเราะเยาะว่าไปเอาเรื่องเหลวไหลมาแจกก็เปนได้ หม่อมฉันนึกหาหนังสืออื่นถวายเพื่อเลือกได้อีก ๓ เรื่อง จะทูลเปนลำดับไป

๑. กลอนพระนิพนธ์กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มีอยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษบ้าง ในหนังสือประชุมสุภาษิตต่าง ๆ ที่เจ้านายช่วยกันแต่งบ้าง แต่อยู่ในหนังสือนารีรมย์เปนอันมาก ถ้ารวมเห็นจะพอพิมพ์เปนเล่มสมุดได้

๒. กฎมณเฑียรบาลพะม่าที่หม่อมฉันแปลถวายท่าน เปนเรื่องที่ยังไม่เคยมีในภาษาไทยและเหมาะด้วยชายถึกเปนเนติบัณฑิต แต่ต้องทูลว่าการที่จะพิมพ์หนังสือนั้นหม่อมฉันนึกรังเกียจอยู่บ้าง ที่อาจจะเกิดโจทยก์กันว่าหม่อมฉันกลับเสือกสอดเข้าไปเกี่ยวข้องในการงานอีก แต่ถ้าท่านโปรดจะพิมพ์หม่อมฉันก็ไม่ขัด แต่จะต้องตรวจชำระใหม่ เพราะเมื่อแปลยังไม่ได้ไปเห็นเมืองพะม่า

๓. เรื่องสุภาษิตพระร่วงหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บัญญัติพระร่วง” ซึ่งเปนหนังสือมีมาช้านาน บรรดานักเรียนสมัยเก่าที่ใครจะไม่รู้จักเห็นจะไม่มี หนังสือนั้นแต่งเปนร่าย บางฉะบับขึ้นต้นว่า “ศรีสวัสดิแช่มช้อยรู้ถี่ถ้อยทุกประการ” บางฉะบับขึ้นว่า “พระผู้ใฝ่สรรเพชญ์ เลงเห็นเสร็จทุกประการ” บางฉะบับขึ้นว่า “เราผู้ปรีชาฉลาด องอาจในข้อสอน” หม่อมฉันเคยอ่านแต่เมื่อยังเปนหนุ่ม เข้าใจแต่ว่าเปนคำสั่งสอนให้พระพฤติดีต่าง ๆ จนเมื่อเปนนายกราชบัณฑิตยสภาไปเปิดอ่านดูอีก จึงคิดขึ้นว่าสำนวนร่ายนั้นเปนโวหารแต่งขึ้นหลัง เกิดอยากรู้ว่าตัวเรื่องอาศัยหลักอะไร จึงเรียกชื่อขึ้นไปถึงพระร่วงพิจารณาต่อไปเห็นมักเอาเค้าคำสุภาษิตที่ชอบพูดกันดื่นบ้านดื่นเมืองเช่น “ชี้โพรงให้กะรอก กลิ้งครกขึ้นเขา จับงูข้างหาง” เปนต้นมาอ้าง จึงเกิดญาณจักขุขึ้นในขณะนั้นว่าสุภาษิตพวกนี้เปนของทูลกระหม่อมโปรด ฯ ให้เขียนไว้ที่ฉนวนพระบิณฑบาตพระอภิเนาวนิเวศน์แห่ง ๑ ที่ “แผละ” (หรือเรียกอย่างไรจำไม่ได้) หน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อาจารย์อินโข่งเปนผู้เขียนหม่อมฉันได้เห็นตัวแกที่นั่นสักครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ใช่แต่เท่านั้นต่อมาเมื่อแรกสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์ โปรดฯ ให้ก่ออ่างแก้วและภูเขาข้างหลังพระที่นั่งสนามจันทร์ ที่ริมกำแพงบริเวณทำชั้นตั้งกระถางต้นไม้เคลือบขนาดใหญ่เรียงกันเปนแถว แต่ละกระถางให้พระองค์เจ้าประดิษฐ ฯ ทำรูปภาพเรื่องสุภาษิตพวกนั้น หล่อด้วยตะกั่วประดับไว้ด้วย จึงเกิดความคิดขึ้นว่าที่เรียกว่า “สุภาษิตพระร่วง” นั่น เห็นจะเปนสุภาษิตที่ไทยชอบพูดกันในพื้นบ้านพื้นเมืองนั่นเอง แต่พูดกันมาแต่โบรมโบราณจึงสมมตให้เปนของพระร่วง หม่อมฉันเห็นว่าน่าจะรวมคำสุภาษิตเหล่านั้นพิมพ์รักษาไว้ แต่ขัดข้องไม่รู้ว่าจะรวมอย่างไรให้หมดหรือเพียงโดยมากได้ก็ต้องรอมา ต่อมาวันหนึ่งหม่อมฉันไปที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เข้าไปในพระอุโบสถเที่ยวเดินดูภาพเขียนผนัง ไปสังเกตเห็นภาพสุภาษิตที่อาจารย์อินโข่งเขียนไว้นั้น มีศิลาจารึกโคลงติดไว้ด้วยทุกช่องหรือโดยมาก หม่อมฉันเห็นได้ที กลับมาจึงสั่งให้พนักงานหอพระสมุดไปคัดโคลงเหล่านั้น เมื่อได้มาแล้วมาปรากฎความยากขึ้นอย่างหนึ่ง ที่จะต้องหยิบคำสุภาษิตโบราณออกจากโคลง หม่อมฉันไม่มีเวลาจะทำเอง ถามพระพินิจก็ไม่กล้ารับทำ การจึงค้างมา พระยาอนุมานเขาจะสามารถทำได้ดอกกระมัง ถ้าได้เรื่องสุภาษิตพระร่วงพิมพ์ ดูเหมือนจะมีคนชอบมากกว่าเรื่องอื่นที่ทูลมาแล้ว รูปภาพก็มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ เขียนใส่สมุดไทยไว้เล่มหนึ่ง หม่อมฉันซื้อไว้แล้วให้คลี่ใส่ตู้กระจกไว้ ขอให้ทรงพระดำริดูเถิด

ในสัปดาหะนี้ หม่อมฉันส่งหนังสือเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามาถวายอีกท่อนหนึ่งเปนท่อนที่ ๔ ในตอนที่ ๕ มีรูปฉายประกอบ ๓ รูป คือ

๑. รูปหมู่ถ่ายกับเจ้าผิว

๒. รูปหมู่ถ่ายกับพระองค์ปิ่นและพระองค์หญิงดารา

๓. รูปตำหนักพระองค์ปิ่น

เมื่อวันจันทรที่ ๒๔ สิงหาคมนี้แผ่นดินไหวอีก ที่ปีนังรู้สึกเวลา ๔.๓๐ นาฬิกา หม่อมฉันและผู้อื่นหลับมีแต่หญิงพูนกับหญิงเหลือรู้สึก หญิงพูนเมาแผ่นดินไหวด้วย มาเล่าให้หม่อมฉันฟังตอนเช้าออกมิใคร่เชื่อ ต่อวันหลังได้เห็นในหนังสือพิมพ์จึงต้องยอมว่าจริง ต้นเหตุเกิดที่เกาะสุมาตรานัยว่าคนตายถึง ๑๐ คน เจ็บลำบากกว่า ๒๐ คน ก็ไม่น่าปลาดใจด้วยมีภูเขาไฟอยู่ในเกาะสุมาตรา และเกาะนั้นไม่ห่างจากปีนังนัก

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้าตระหนักนิธิผล ไชยันต์

  2. ๒. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ต้นราชสกุล ไชยันต์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ