เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ เรื่องเที่ยวเมืองพุกาม (ท่อนที่ ๙)

วัดสัพพัญญู Thatbyannyu พระเจ้าอลองคสิทธุ ซึ่งเสวยราชย์ต่อรัชชกาลพระเจ้าคันชิต สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๖๘๗ ภายหลังวัดอานันทวิหาร ๕๓ ปี พระเจ้าอลองคะสิทธุเปนราชนดาของพระเจ้าอนุรุทธมหาราชทางฝ่ายพระชนก และเปนราชนดาของพระเจ้าคันชิตทางฝ่ายพระชนนี จึงสร้างวัดประจำรัชชกาลเปนอย่างใหญ่โตตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าคันชิตสร้างวัดอานันทวิหาร และเลือกที่สร้างไม่ห่างกันนัก แต่แบบที่สร้างวัดสัพพัญญู ดูเหมือนจำนงจะให้แปลกกับวัดอานันทวิหารหมดทุกอย่าง คงแต่เปนวิหารยอดด้วยกันเท่านั้น ดังเช่นวัดอานันทวิหารทำชั้นเดียวมีมุขทั้ง ๔ ด้าน วัดสัพพัญญูทำเปน ๕ ชั้นแต่มีมุขเดียวเปนต้น ขนาดก็พอไล่เลี่ยกัน วัดสัพพัญญูย่อมกว่าแต่สูงกว่าวัดอานันทวิหารสักเล็กน้อย ดูตั้งใจจะทำวัดทั้ง ๒ นั้นให้เปนคู่กัน เปรียบเหมือนอย่างวัดมหาธาตุกับวัดราชบุรณที่ในพระนครศรีอยุธยา

วิหารวัดสัพพัญญูรูปเปน ๔ เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๓๐ วา (๑๘๐ ฟุต) สูงตลอดยอด ๓๓ วา เศษ (๒๐๑ ฟุต) ตัววิหารเปน ๒ ตอน ซ้อนกัน ตอนล่างพื้น ๒ ชั้น ชั้นต่อกับแผ่นดินเปนที่สำหรับคฤหัสถ์พัก ชั้นที่ ๒ เปนที่สำหรับพระสงฆ์พัก หมดตอนล่างทำหลังคาตัดเปนทางทักษิณ ย่อเข้าไปโดยลำดับเปน ๓ ชั้น แล้วถึงวิหารตอนบนนับเปนชั้นที่ ๓ รูปทรงเปนอย่างมณฑปมีมุขทางด้านหน้า ในนั้นตั้งพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักสัก ๓ ศอกบนฐานชุกชีที่ริมผนังด้านหลังเปนพระประธานของวัด แต่เปนพระปั้นปิดทอง ข้างหน้าพระออกมาเปนห้องที่บูชาจนถึงประตู ต่อห้องที่ตั้งพระประธานขึ้นไปนับเปนชั้นที่ ๔ ว่าเปนที่ไว้พระไตรปิฎก (แต่จะทำเปนอย่างไรฉันไม่ได้ขึ้นไปดู) พ้นนั้นขึ้นไปทำเปนชั้นทักษิณย่อเข้าไปอีก ๓ ชั้น ถึงองค์พระสถูปทรงปรางค์ที่เปนยอด นับเปนชั้นที่ ๕ ว่าเปนที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ มีบันไดก่อเปนทางขึ้นข้างในไปถึงกันทุกชั้น ฝีมือทำและกระบวรตกแต่งข้างในแต่เดิมจะเปนอย่างไร เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรเหลือเปนที่สังเกตเหมือนอย่างที่วัดอานันทวิหาร แต่ข้างนอกวิหารยังมีลายปั้นปูนเปนซุ้มจรนำตามหน้าต่างประตูและมีลวดลายตามขอบพื้นลด พิเคราะห์ดูเหมือนจะไม่สร้างอย่างประณีตบรรจงเหมือนกับวัดอานันทวิหาร แต่จะลงความเห็นเปนอย่างแน่นอนก็ยากอยู่ เพราะวัดสัพพัญญูร้างมาช้านานกว่าวัดอานันทวิหาร กรมตรวจโบราณคดีของอังกฤษเพิ่งปฏิสังขรณ์ไม่กี่ปีมานัก เปนแต่แก้ไขที่ชำรุดแล้วฉาบปูนขาวทั้งข้างนอกข้างใน ถึงกระนั้นก็ว่าสิ้นเงินถึง ๔๐,๐๐๐ รูปีย์ ทุกวันนี้ก็ยังเปนวัดร้าง กรมตรวจโบราณคดียังต้องรักษา เพราะยังไม่มีพวกสัปรุษรับเปนกรรมการรักษาเหมือนเช่นวัดอานันทวิหาร

ในหนังสือนำทางอ้างตามคำที่กล่าวกันในเมืองพะม่า ว่าพระเจ้าอลองคะสิทธุได้แบบวัดในอินเดียมาสร้างวัดสัพพัญญู แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าวัดอันเปนต้นแบบอย่างอยู่ที่ไหน แต่พิเคราะห์ดูมีทางวินิจฉัยอยู่บ้าง ด้วยแบบพุทธาวาสที่สร้างสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปมักทำเปนชั้นเดียว วัดที่ทำเปน ๔ ชั้น ๕ ชั้นเช่นนี้ มีตัวอย่างที่รู้กันแพร่หลายอยู่ ณ เมืองอนุราฐบุรีในลังกาทวีปแห่งหนึ่ง เรียกว่า “โลหะปราสาท” เดี๋ยวนี้ยังเหลือแต่เสาศิลาปักอยู่เปนอันมาก แต่มีพรรณนาลักษณเมื่อยังบริบูรณ์อยู่ในหนังสือ “มหาวงศ” พงศาวดารลังกา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้สร้างโลหะปราสาทตามลักษณะที่พรรณนานั้น ขึ้นที่วัดราชนัดดาในกรุงเทพฯ ยังปรากฎอยู่ นอกจากนั้นฉันเคยเห็นรูปภาพวัดโบราณทำเปนหลายชั้นอย่างโลหะปราสาท มีที่เนปาลราฐในอินเดีย ต้นแบบปรางค์จีนทำเปนห้องซ้อนๆ กันขึ้นไปหลายชั้น ที่เราเรียกกันว่า “ถะ” ก็น่าจะอยู่ในวัดชนิดนั้น ความคิดที่สร้างดูเหมือนจะให้เปนห้องที่สงัดสำหรับพระภิกษุคามวาสีบำเพ็ญฌานสมาบัติ โดยไม่ต้องทิ้งบริษัทออกไปอยู่ตามถ้ำ ถ้าเอาแบบโลหะปราสาทที่วัดราชนัดดาเทียบก็พอเห็นได้ง่าย คือให้เปนที่สำหรับพระนั่งบำเพ็ญฌานห้องละองค์ เหมือนอย่างห้องในถ้ำที่พรรณนามาแล้ว ฉันได้เคยเห็นวัดในมณฑลอุดร เมื่อถึงเวลาเข้าพรรษาพวกทายกมักศรัทธาทำ “ตูบ” เล็กๆ พอพระอยู่ได้องค์หนึ่ง รายเปนเแถวในลานวัดสำหรับพระที่บำเพ็ญวิปัสนาธุระไปอยู่จำพรรษาในตูบนั้น เห็นว่าจะเปนประเพณีสืบมาแต่เรื่องเดียวกันทั้งนั้น แม้ “คณะกุฎ” ที่ก่อสร้างไว้ตามวัดหลวงในกรุงเทพฯ เช่นที่วัดสระเกษเปนต้น แต่เดิมก็น่าจะสำหรับพระสงฆ์อยู่บำเพ็ญสมณธรรมชั่วคราว มิใช่อยู่ประจำอย่างกุฎีในคณะใหญ่ ชรอยพระเจ้าอลองคสิทธุจะเอาแบบวัดพวกโลหะปราสาทมาสร้างวัดสัพพัญญู แต่แก้ลักษณะที่ใช้ให้เปนประโยชน์แก่พระสาสนาทุกสถานจึงผิดกัน ที่ว่ามานี้ตามวินิจฉัยของฉันเองอาจจะไม่ถูกก็เปนได้

ยังมีวัดใหญ่อีกวัดหนึ่งซึ่งกรมตรวจโบราณคดีเมืองพะม่าได้ปฏิสังขรณ์ให้คืนดี พะม่าเรียกว่าวัด Caw daw balin แปลว่าวัด “พระทันตบัลลังก์” พระเจ้านรปติสิทธุราชนดาของพระเจ้าอลองคสิทธุ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๗ ภายหลังวัดสัพพัญญู ๓๐ ปี สังเกตเห็นได้ว่าเอาแบบอย่างวัดสัพพัญญูมาสร้าง เปนแต่ลดขนาดให้ย่อมลงและทำพื้นเปน ๒ ชั้น ชั้นล่างเปนที่คนพัก ทำหลังคาตัดเปนลานทักษิณ ชั้นบนเปนมณฑปที่ตั้งพระประธาน ฝีมือที่ทำก็ทำอย่างหยาบๆ ที่นับถือกันว่าวัดพระทันตบัลลังก์เปนวัดสำคัญวัดหนึ่ง เพราะสร้างอยู่บนเนินริมแม่น้ำแลเห็นเปนสง่าไปไกลกว่าวัดอานันทวิหารและวัดสัพพัญญูซึ่งสร้างห่างเข้าไปข้างใน อีกประการหนึ่งวัดนี้อยู่ใกล้ชิดกับเรือนรับแขก ไปดูได้ง่ายกว่าวัดอื่นด้วย แต่พิจารณาดูไม่เห็นมีรายการอันใดที่น่าพรรณนา

ในหนังสือนำทางเขาบอกชื่อโบราณสถานต่าง ๆ ณ เมืองพุกามที่ว่าน่าดูมีถึง ๔๒ แห่ง ฉันได้ดูสักครึ่งจำนวนนั้น เพราะพักอยู่เพียง ๓ วัน ต้องดูด้วยอาการต่าง ๆ บางแห่งก็ดูเมื่อผ่านไป บางแห่งก็หยุดดู บางแห่งก็เข้าไปดู ต่อบางแห่งเปนที่สำคัญจึงดูด้วยพินิจพิจารณา การที่เที่ยวดูวัดเมืองพุกามนอกจากมีเวลาน้อยยังมีความลำบากแก่ฉันอย่างอื่นอีก ด้วยต้องเดินตีนเปล่า เหยียบกรวดและก้อนอิฐหักบางทีก็ถูกหนามตำเจ็บระบมจนเบื่อ บางทีก็มีขับขัน วันฉันไปดูวัดพระมหาธาตุชินคงอยากจะฉายรูปพระมหาธาตุให้เห็นทั้งองค์ เที่ยวเดินหาที่ฉายในลานวัดเผลอผ่าเข้าไปในดงหญ้ามีหนาม ติดอยู่ในนั้นจนพวกกรมตรวจโบราณคดีเขาไปช่วยถางทางเดินให้จึงออกมาได้ ต่อมาอีกวันหนึ่ง ไปดูพิพิธภัณฑสถานของกรมตรวจโบราณคดี ที่อยู่หน้าวัดอานันทวิหาร แต่งตัวใส่เกือกถุงตีนไปอย่างปกติด้วยไม่ต้องเข้าในวัด ไปถึงเวลาเช้า ๙ นาฬิกากำลังแสงแดดเหมาะ อยากจะฉายรูปอานันทวิหารให้เห็นใกล้ๆ เดินเลียบข้างนอกกำแพงวัดเที่ยวหาที่ฉาย เผลอเข้าไปในลานพระเจดีย์ที่สร้างใหม่ๆ ใกล้กุฏิสงฆ์โดยไม่ทันสังเกต มีพระองค์หนึ่งลงมาจากกุฏิ ตรงเข้ามาทำตาเขียวพูดว่ากะไรฉันไม่เข้าใจ จนเธอใช้ใบ้ชี้ที่เกือกของฉันแล้วโบกมือให้ออกไปเสีย ขณะนั้นฉันเห็นพระองค์นั้นเองก็เผลอใส่เกือกคีบเข้าไปในลานพระเจดีย์ด้วย ฉันจึงชี้ที่เกือกของเธอบ้าง ก็หันกลับขึ้นกุฏิ ฝ่ายข้างฉันก็กลับออกมา เปนอันหายกัน ที่พะม่าห้ามมิให้ใครใส่เกือกเข้าวัดมีการผ่อนผันอย่างหนึ่งซึ่งฉันยังไม่ได้เล่า คือเขาไม่รังเกียจหมวก เราจะใส่หมวกเข้าไปถึงไหนๆ ก็ได้ พะม่าเห็นจะถือว่าหมวกเหมือนผ้าโพกหัวซึ่งพวกเขาเองก็โพกเข้าวัดเสมอ

ที่เมืองพะม่าแต่ก่อนเคยมีพิพิธภัณฑสถานใหญ่อยู่ในเมืองร่างกุ้ง แต่รัฐบาลรื้อเอาที่สร้างโรงพยาบาล ว่าจะสร้างพิพิธภัณฑสถานใหม่ในที่อื่น แต่ยังไม่ได้สร้างจนบัดนี้ค้างมาถึง ๒๕ ปี เมื่อตั้งกรมตรวจโบราณขึ้น พวกพนักงานในกรมนั้นเที่ยวตรวจพบของโบราณไม่มีที่จะเอาไว้ รัฐบาลจึงอนุญาตให้ทำโรงขนาดย่อมๆ เปนที่เก็บของโบราณขึ้นตามเมืองที่มีของต้องรักษาหลายแห่ง ใช้นามเรียกว่าพิพิธภัณฑสถาน Museum ถ้าเรียกว่า “คลัง” จะตรงกว่า พิพิธภัณฑสถานเล็กๆ เหล่านั้น บางแห่งก็ทำเปนตึก บางแห่งก็เปนเครื่องไม้ ที่เปนแต่โรงหลังคาสังกะสีก็มี ที่เมืองพุกามนี้ทำเปนตึกชั้นเดียวมีเฉลียงรอบ ดูเรียบร้อยกว่าตามเมืองอื่นที่ฉันได้เห็น ที่เฉลียงตั้งศิลาจารึกเรียงรายเปนหลายแถวจนรอบ ดูเหมือนจะมีมากกว่าที่รวบรวมไว้แห่งอื่น และมีเทวรูปศิลาจำหลักติดเรือนแก้วขนาดย่อมกว่าตัวคนยืน ตั้งพิงฝาไว้องค์ ๑ เปนแบบอินเดีย พิเคราะห์ลักษณดูเปนรูปพระวิษณุ มีเทวรูปองค์เดียวเท่านั้น ข้างในประธานจะเรียกอย่างอื่นให้เหมาะกว่า “คลัง” ไม่ได้ เพราะจัดแต่เปนที่เก็บของรักษาไว้ ด้านสกัดตั้งตู้บานกะจกลั่นกุญแจสักสี่ห้าตู้ไว้ของดีที่เปนชิ้นเล็กๆ ด้านข้างๆ ทำแต่เปนชั้นไม้ และตรงกลางห้องทำเปนโต๊ะยาวสำหรับวางของ พวกของศิลาที่น้ำหนักมากเอาวางไว้กับพื้นข้างใต้โต๊ะ ที่ในลานบริเวณมีเรือนสำหรับพวกภารโรงอยู่ ตัวตึกพิพิธภัณฑสถานลั่นกุญแจเปนนิจ ใครจะดูต้องไปบอกให้ภารโรงเปิด แต่พวกเราไปเขาเตรียมรับอยู่ เมื่อเดินประเมินดูแล้วอยากดูของสิ่งใดโดยพิจารณาหรือจะฉายรูป เขาก็ยกออกมาให้ตามเราปรารถนาทุกสิ่ง ของในพิพิธภัณฑสถานเปนของโบราณครั้งสมัยพุกามโดยมาก ฉันเลือกพิจารณาแต่สิ่งซึ่งเห็นว่าน่าชม เช่น พระพุทธศิลาบ้าง พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์บ้าง ที่เปนขนาดย่อมๆ พิเคราะห์ดูลักษณน่าจะเอามาจากอินเดียทั้งนั้น มีของที่ฉันตั้งใจค้นเพื่อเทียบกับของโบราณที่พบในเมืองไทยอยู่ ๒ อย่าง คือ พระพิมพ์อย่าง ๑ กับเงินตราอย่าง ๑ ก็สำเร็จตามความปรารถนา รู้ได้ว่าพระพิมพ์แบบอินเดียที่พบ ณ พระปฐมเจดีย์มีที่เมืองพุกามหมดทุกอย่าง และพบหลายอย่างที่เมืองพุกามมีแปลกออกไป มีต้องตาฉันอยู่อย่างหนึ่งเปนพระพิมพ์แผ่นใหญ่สักเท่าแผ่นกะเบื้องเกล็ดที่มุงหลังคา มีพระพุทธรูปทำตามเรื่องพุทธประวัติ ๔ ปาง คือ ปางประสูติที่เมืองกบิลพัสดุ์ ปางตรัสรู้ที่พุทธคยา ปางปฐมเทศนาที่เมืองพาราณสี ปางปรินิพพานที่เมืองกุสินาราย มีพระพุทธรูปทำตามพุทธ์ปาฏิหารย์อีก ๔ ปาง คือ ปางเสด็จลงจากดาวดึงษที่เมืองสาเกต ปางยมกปาฏิหารย์ที่เมืองสาวัตถี ปางทรมานช้างนาฬาคิรีที่เมืองราชคฤห์ และปางทรมานพระยาวานรที่เมืองโกสัมพี รวมทั้งหมดเปน ๘ ปาง เขาว่าพระพิมพ์แบบนี้หายากยิ่งนัก กรมตรวจโบราณคดีพบ ณ วัดมงคลเจดีย์ในเมืองพุกาม มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานสักสี่ห้าแผ่นเท่านั้น ฉันนึกอยากได้สักแผ่นหนึ่งแต่มิรู้ที่จะขอเขาอย่างไรเพราะเปนของมีน้อย เมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้งฉันพบเลขานุการใหญ่ของรัฐบาล เขาถามถึงการที่ฉันขึ้นไปเที่ยวเมืองพะม่าเหนือชอบใจอะไรบ้าง ได้ช่องฉันจึงบอกว่าชอบพระพิมพ์ที่ในพิพิธภัณฑ์สถานเมืองพุกามอย่างหนึ่งที่มีพระพุทธรูป ๘ ปาง แต่จะขอก็เกรงใจด้วยเปนของมีน้อย พูดกันเท่านั้นแล้วก็เปนอันสงบมา จนฉันกลับมาถึงปินังแล้วเลขานุการจึงมีจดหมายส่งพระพิมพ์นั้นมาแผ่นหนึ่ง ว่ารัฐบาลให้ฉันเพื่อเปนของที่ระลึกในการที่ไปเมืองพะม่าครั้งนี้ ได้ยินว่าต้องขออนุญาตไปยังเมืองกาลกัตตาก่อน ได้รับอนุญาตแล้วจึงส่งมา

ว่าถึงลักษณพระพิมพ์เมืองพะม่า ถึงทำหลายต่างกันก็ดีลักษณย่อมอยู่ในคติ “หินยาน” และทำด้วยดินเผาทั้งนั้น พระพิมพ์ที่พบ ณ เมืองนครปฐมและเมืองอื่นๆ ข้างเหนือขึ้นไปในเมืองเรา ก็เปนอย่างเดียวกันกับพะม่า ผิดกับพระพิมพ์ที่พบในมณฑลนครศรีธรรมราชแลมณฑลปัตตานี ทำตามคติ “มหายาน” ชอบทำรูปพระโพธิสัตว์ และทำด้วยดินดิบทั้งนั้น ฉันเคยสืบหามูลเหตุที่ทำผิดกันนั้น ได้ความว่ามอญและลาวถือพระพุทธสาสนาตามคติหินยานมาแต่เดิม เมื่อพวกพะม่าลงมาได้เปนใหญ่ก็เข้ารีดถือคติหินยาน พวกไทยลงมาได้เปนใหญ่ก็มาเข้ารีดถือคติหินยานอย่างเดียวกัน พวกชาวอินเดียพาพระพุทธสาสนาคติมหายานไปตั้ง ณ ประเทศศรีวิชัยในเกาะสุมาตราก่อน และในสมัยนั้นอาณาเขตต์ประเทศศรีวิชัยแผ่มาจนในแหลมมลายู พวกเมืองศรีวิชัยพาพระพุทธสาสนาคติมหายานมาตั้งในมณฑลปัตนี มณฑลนครศรีธรรมราช ตลอดถึงเมืองไชยา ในเมืองไทยเราจึงถือพระพุทธสาสนาทั้งคติหินยานและมหายานด้วยกันมาช้านาน จนรับลัทธิลังกาวงศจึงค่อยเปลี่ยนมาถึือคติหินยานแต่อย่างเดียว เหตุที่ทำพระพิมพ์ด้วยดินเผาและดินดิบนั้นก็สืบได้เค้า ว่าเพราะทำด้วยเจตนาต่างกัน พวกถือคติหินยานทำพระพิมพ์แล้วมักฝังไว้เพื่อจะสืบอายุพระพุทธสาสนาให้อยู่ถึง ๕,๐๐๐ วัสสา แต่พวกถือคติมหายานทำพระพิมพ์เพื่อบำรุงพระโพธิสัตว์ว่ายังทำกันอยู่ในเมืองธิเบตจนทุกวันนี้ เมื่อพระมหาเถระที่ผู้คนนับถือมากถึงมรณภาพลง ทำฌาปนกิจแล้วเก็บอัฐิธาตุผสมดินทำเปนพระพิมพ์ไว้ตามถ้ำเพื่อให้อานิสงส์เปนปัจจัยให้พระมหาเถระองค์นั้นบรรลุภูมิโพธิสัตว์ในอนาคตกาล ที่ทำเปนดินดิบเห็นจะเปนเพราะถือว่าได้ทำฌาปนกิจครั้งหนึ่งแล้วจะเผาซ้ำอีกหาควรไม่

เรื่องเงินตรานั้นเปนปัญหาแก่ฉันมาตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองนครปฐมเปนที่ว่าการมณฑลในรัชชกาลที่ ๕ ด้วยขุดพบเงินตราของโบราณที่นั่นเนืองๆ เปนเงินเหรียญขนาดสักเท่าเงินครึ่งบาท มีตราด้านหนึ่งเปนรูปสังขอีกด้านหนึ่งคล้ายกับมณฑปมีรูปปลาอยู่ข้างล่าง ฉันให้สืบถามดูว่าเงินอย่างนั้นพบที่ไหนอีกบ้าง ได้ความว่าพบที่เมืองอู่ทอง (คือเมืองสุพรรณภูมิ) แต่โบราณอยู่เหนือเมืองนครปฐมขึ้นไปอีกแห่งเดียว ฉันอยากจะรู้ว่าเปนเงินตราของเมืองนครปฐมเมื่อเปนราชธานี หรือมาจากประเทศอื่น จึงให้ฉายรูปส่งไปถามที่พิพิธภัณฑ์สถาน บริติช British Museumในลอนดอนว่าเงินตราอย่างนี้เปนของประเทศไหน ได้รับตอบมาว่าเงินตราอย่างนี้พบแต่ที่เมืองพุกามแห่งเดียว ทำให้ฉันคิดอยากไปดูของโบราณที่เมืองพุกามมาแต่นั้น ต่อมาได้เงินเหรียญตราโบราณที่ขุดพบในดงศรีมหาโพธิ์จังหวัดปาจิณบุรีมาอีกอย่างหนึ่งขนาดสักเท่าเงินบาทแต่บางกว่า ตราข้างหนึ่งเปนรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกอยู่กลางรัสมี อีกข้างหนึ่งลายคล้ายรูปมณฑปเช่นเงินเมืองนครปฐม ฉันสันนิษฐานว่าจะเปนเงินของพวกขอม เพราะเมื่อเราพบเงินชนิดนี้แล้ว ไม่ช้านักฝรั่งเศสก็ขุดพบเงินอย่างเดียวกันในแผ่นดินญวนเมืองไซ่ง่อน เขาถามมาว่าในประเทศสยามพบบ้างหรือไม่ เงินโบราณทั้ง ๒ อย่างที่ว่ามายังรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานในกรุงเทพฯ ฉันไปถึงเมืองพะม่าไปเห็นในหนังสือแต่งเมืองพะม่าฉบับหนึ่ง เขาจำลองรูปเงินโบราณต่างๆ ที่พบในเมืองพะม่าพิมพ์ไว้ในนั้น มีทั้งเงินตราอย่างที่พบ ณ เมืองนครปฐมและที่ดงศรีมหาโพธิ์ และยังมีตราอย่างอื่นอีก สอบหลักฐานได้ความว่าเปนเงินอินเดียทั้งนั้น คือเงินที่พวกชาวอินเดียเอามาใช้ในการค้าขาย มิใช่เงินตราทำในพื้นเมืองนครปฐมหรือเมืองพุกาม ยังได้ความต่อไปว่าพะม่าไม่มีเงินตราของตัวเองมาจนถึงรัชชกาลพระเจ้ามินดงในระหว่าง พ.ศ. ๑๓๙๖ จน พ.ศ. ๒๔๒๑ (ตรงกับสมัยรัชชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร) จึงได้ทำเงินรูปีย์ของพะม่าขึ้นเอง แต่ชั้นเดิมในการซื้อขายใช้เงินด้วยชั่งน้ำหนัก อันเปนประเพณีเหมือนกันตั้งแต่อินเดียไปจนเมืองจีน ชาวอินเดียได้แบบอย่างจากชาวยุโรปคิดทำเงินตราเปนเหรียญรูปีย์ขึ้นใช้ก่อน พะม่าชอบใจก็เอาเหรียญรูปีย์ของอินเดียมาใช้เปนเงินเมืองพะม่า ขันอยู่ที่เมืองจีนก็ทำอย่างเดียวกัน พอพวกชาวเม็กสิโคในอเมริกาทำเงินเหรียญดอลาร์ จีนก็รับใช้เงินเมืองเม็กสิโคมาใช้ แต่ไทยไม่ตามอย่างทั้ง ๒ ฝ่าย เมื่อไทยลงมาได้เปนใหญ่ในอาณาเขตต์ลานนา (มณฑลพายัพ) ทำเงินมีตราตัวอักษรบอกนามเมือง และอนุโลมเอาแบบจีนมาทำให้หนักแท่งละตำลึงจีน (๒ บาทครึ่ง) เปนพื้น แต่มีน้ำหนักยิ่งและหย่อนกว่าตำลึง สำหรับใช้เงินปลีกด้วยรูปเงินทำเปน “สองขา” (หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ขาคีม”) ให้หักใช้ได้ทีละครึ่งตามปราถนา พวกไทยที่ลงมาตั้งราชอาณาจักรสุโขทัยก็คิดทำเงินตราใช้เช่นกันเอง แต่ทำรูปเปนก้อนเรียกว่า “พดด้วง” น้ำหนักก้อนละตำลึงจีนเหมือนเงินสองขา และมีขนาดย่อมลงมาใช้เปนเงินปลีก ถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาคงใช้เงินตราอย่างพดด้วง แต่ขนาดหนักบาทหนึ่งเปนพื้นมีขนาดย่อมลงมาเปนเงินปลีก เปนประเพณีต่อมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร มาเปลี่ยนเงินพดด้วงเปนเงินเหรียญเมื่อรัชชกาลที่ ๔ ก็คงมาตราอยู่ตามเดิมหรือถ้าว่าอีกอย่างหนึ่ง ประเทศสยามมีเงินตราของตนทำเองมาแต่โบราณผิดกับพะม่าและจีนซึ่งเปนเพื่อนบ้านทั้ง ๒ ฝ่าย

เมื่อเที่ยวดูของโบราณที่เมืองพุกามแล้ว เห็นข้อค้านพงศาวดารพะม่าขึ้นอีกข้อ ๑ นอกจากข้อที่ว่าพระเจ้าอนุรุธมหาราชตีเมืองสะเทิมด้วยปรารถนาจะได้พระไตรปิฎกดังกล่าวมาแล้ว ในพงศาวดารพะม่าว่าเมื่อพระเจ้าอนุรุธทรงเลื่อมใสรับคติหินยานเปนสาสนาสำหรับบ้านเมือง แล้วให้กำจัดภิกษุสงฆ์ “อรี” คือพวกมหายานเสียจากพระนครนั้น ข้อนี้มีหลักฐานว่าไม่จริง ด้วยวัดมหายานกับหินยานที่รูปทรงแลฝีมือสร้างแบบอย่างสมัยเดียวกันมีอยู่ปะปนกันอยู่ที่เมืองพุกามมาก ส่อให้เห็นว่าคณะสงฆ์คงเปน ๒ นิกายอยู่ช้านาน บางทีจะมีอยู่ตลอดสมัยเมืองพุกามก็เปนได้ การกำจัดที่กล่าวในพงศาวดาร เห็นจะกำจัดเพียงพวกภิกษุที่อลัจชีเท่านั้นหาได้รวมพระสงฆ์ให้เปนนิกายเดียวดังกล่าวไม่

วันอาทิตย์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ถึงกำหนดวันกลับจากเมืองพุกามเวลาเช้า อูเงวสินผู้ที่รัฐบาลจัดให้มานำทางขอลาเพียงที่นี่ (ชรอยแกจะไม่สู้สันทัดโบราณคดีในเมืองแปร) บอกว่ารัฐบาลได้จัดคนไว้คอยนำทางที่เมืองแปรแล้ว จับมือขอบใจและอำลากันแล้ว ถึงเวลา ๘ นาฬิกาเศษขึ้นรถยนต์มายังท่าลงเรือที่ตำบลหนองอู พวกกรมการที่เคยรับก็พากันมาส่ง พอเรือด่วนของบริษัท ลำชื่อ “เซลอน” Ceylon มาถึงก็ลงเรือล่องจากเมืองพุกามราวเวลา ๑๑ นาฬิกา

เรื่องล่องแม่น้ำเอราวดีตั้งแต่เมืองพุกามลงมาจนถึงเมืองแปรฉันได้เล่าในตอนที่ ๖ แล้ว ตอนหน้าจะเล่าเรื่องเที่ยวเมืองแปรต่อไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ