วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

KHAW JOO TOK’S BUNGALOW,

Penang Hill, Penang, S.S.

วันที่ ๒๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศร ฯ

คราวเมล์วันศุกรที่ ๒๔ เมษายนนี้มีโอกาส ด้วยชายน้อย ดิศศานุวัติจะกลับไปกรุงเทพ ฯ หม่อมฉันจึงฝากจดหมายฉะบับนี้กับรูปฉายาลักษณ์ลายเฟรสโคที่เมืองพุกามมาถวาย รูปลายเฟรสโคนั้นจะเอาไว้ทอดพระเนตร์นานสักเท่าใดก็ได้ เมื่อทอดพระเนตร์พอแล้วมีใครจะออกมา จึงทรงฝากคืนมา

มีอธิบายที่ควรทูลประกอบกับรูปลายเฟรสโคอยู่บ้าง เจดียสถานของโบราณที่เมืองพุกามนั้นแม้มีมากนับไม่ถ้วน ถ้าว่าโดยประเภทก็มีแต่ ๒ อย่าง คือสถูปอย่าง ๑ วิหารอย่าง ๑ เปนแต่ยักเยื้องรูปร่างต่าง ๆ กัน ในจำพวกวิหารยังจำแนกเปน ๓ อย่าง คือพุทธวิหารไว้พระพุทธรูป (มีเปนพื้น) อย่าง ๑ ธรรมวิหารไว้พระไตรปิฎก (มีหลังเดียว) อย่าง ๑ สงฆวิหารคือโบสถ์ (มีหลังเดียว) อย่าง ๑ รูปเฟรสโคมีอยู่แต่ที่ในพุทธวิหารวัด Parathongu Temple แห่ง ๑ กับวัด Nandmańńa Temple แห่ง ๑ อยู่ใกล้ ๆ กันและเปนวัดฝ่ายมหายานทั้ง ๒ วัด มีวัดมหายานอีกวัดหนึ่ง แต่หามีรูปเขียนไม่ วัดโบราณที่เมืองพุกามยังต่างกันด้วยลัทธิสาสนาอีกสถานหนึ่ง เปนวัดพระพุทธสาสนาคติหินยานแทบทั้งนั้น มีวัดลัทธิอื่นแต่วัดมหายาน ๓ วัดที่พรรณนามาแล้ว กับวัดสาสนาพราหมณ์มีอีกวัดหนึ่งไปดูก็เห็นแปลกนักหนา ด้วยทำวิหารตั้งพระพุทธรูปเปนประธานในนั้นเหมือนวัดพระพุทธสาสนา ผิดกันแต่ตามผนังข้างภายนอกวิหารทำซุ้มเล็ก ๆ รายรอบ ในซุ้มเหล่านั้นตั้งรูปพระนารายน์ปางอื่นๆ ทำด้วยศิลาอีก ๙ ปาง สมมตพระพุทธรูปที่ตั้งเปนประธานในวิหารว่ารูปพระนารายน์ปางพุทธาวตาร เทวสถานตามแบบอินเดียหามีไม่

ตามเรื่องพงศาวดารที่เปนวินิจฉัยชั้นหลัง ว่าในสมัยเมื่อพระพุทธสาสนาในอินเดียถูกพวกถือสาสนาพราหมณ์ และพวกถือสาสนาอิสลามเบียดเบียนนั้น การถือพระพุทธสาสนาแยกกันอยู่เปนนิกายหินยานและมหายาน ในพวกมหายานยังแยกออกถือคติ “ตันตร Tantra” อีกนิกายหนึ่งถือวิทยาคมเปนสำคัญ พวกถือพระพุทธสาสนาพากันหนีภัยลงมาข้างใต้ พวกถือคติหินยานมารวบรวมกันอยู่ที่เมืองคอนชิวรัม Conjivaram พวกถือคติมหายานมาตั้งอยู่ข้างใต้ต่อลงมาอีก พวกถือคติตันตรเดินบกแยกไปทางเมืองพะม่า เพราะฉะนั้นพระพุทธสาสนามหายานอย่างคติตันตร จึงไปประดิษฐานในเมืองพะม่าข้างฝ่ายเหนือ ส่วนพวกชาวอินเดียที่ถือพระพุทธสาสนาตามคติหินยานเที่ยวค้าขายทางเรือ ก็พาพระพุทธสาสนาคติหินยานไปประดิษฐานที่เมืองสารเขตร์และเมืองสะเทิมเมื่อยังเปนเมืองมอญอยู่ชายทะเลข้างใต้แดนพะม่า พวกถือพระพุทธสาสนาคติมหายานก็พาคติของตนมาประดิษฐานในเมืองชะวามลายูโดยทำนองเดียวกัน เมื่อพระเจ้าอนิรุทธ์ได้เปนใหญ่ในเมืองพุกามราว พ.ศ. ๑๖๐๐ ชาวเมืองนั้นถือพระพุทธสาสนาตามคติตันตรอยู่แล้ว พวกภิกษุสงฆนิกายนั้นพะม่าเรียก “อริ(ย)” ประพฤติลามกมาก ครั้งนั้นมีพระมหาเถรที่ถือคติหินยานชาวเมืองสะเทิมองค์ ๑ พะม่าเรียกว่า “พระอรหันต์” ขึ้นไปสอนพระพุทธสาสนาตามคติหินยานที่เมืองพุกาม สามารถทำให้พระเจ้าอนิรุทธ์ทรงเลื่อมใสก็ฟื้นพระพุทธสาสนาเปลี่ยนเปนถือคติหินยาน และบำรุงคตินั้นให้รุ่งเรืองในเมืองพุกามต่อมา แต่ก็ไม่สามารถจะทำลายล้างคติมหายานให้สูญไปได้ทีเดียว จึงยังมีวัดซึ่งสร้างตามคติมหายานอยู่บ้าง

ว่าถึงรูปภาพในเฟรสโค หม่อมฉันไม่มีความรู้ในวิชชาช่าง คิดวินิจฉัยทูลได้แต่เพียงเห็นเค้าเงื่อนดูปะปนกันทั้งแบบอินเดีย แบบจีน และแบบที่มาใช้ในเมืองชะวา ขอให้ท่านทรงพิจารณาดูด้วยพระปรีชาญาณ คงจะได้วินิจฉัยดีกว่าความคิดของหม่อมฉัน

แต่รูปเฟรสโคนี้ทำให้หม่อมฉันทูลสนองความในลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๑๘ เมษายนได้อย่างหนึ่งถึงเรื่องนรสิงห์ ซึ่งหม่อมฉันลืมสนิทเมื่อเขียนจดหมายถวายฉะบับก่อน ไม่ได้คิดถึงลายชามเทพนมนรสิงห์อันมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่มาได้ความเปนหลักแล้วด้วยรูปนรสิงห์อย่างเปนมนุษย์ครึ่งตัวเปนสิงห์ครึ่งตัว กับทั้งรูปนกหัวเปนมนุษย์มีในลายเฟรสโคนั้น แปลว่ามีมากว่า ๑๐๐๐ ปีแล้วเปนสิ้นปัญหา

หม่อมฉันส่งฉายาลักษณ์รูปวัดที่มีเฟรสโค กับรูปลายปั้นข้างนอกวิหารมาถวายด้วย

ในคราวนี้หม่อมฉันได้ส่งเรื่องเล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่ามาถวายอีกท่อนหนึ่ง เปนท่อนสุดท้ายของเรื่องตำนานเมืองหงสาวดี ท่อนที่จะส่งถวายคราวหน้าเห็นจะหมดตอนที่ ๓

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. หม่อมเจ้า ดิศศานุวัติ ดิศกุล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ