วันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๘ ตุลาคม ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ท่อนที่ ๗ ล่องแม่น้ำเอราวดี กับทั้งรูปฉายประกอบเรื่องอีก ๓ รูป ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า

ได้ทราบความตามพระดำรัสชี้แจงถึงที่ตั้งจันทนคร ทำให้ตื่นใจด้วยไม่ทราบเสียเลยว่าฝรั่งเศสมีที่ดินอยู่ในแผ่นดินอินเดีย

เรื่องโกศอัฐิ ประทานพระดำริตกลงให้ทำอย่างเดิม แต้ให้ลดหย่อนฝีมือลงนั้น จะอำนวยการให้เปนไปตามพระประสงค์ จะทรงพระดำริถึงอะไรก็ตาม แต่เห็นด้วยเกล้าว่าอย่างไรก็ไม่ควรทำตามโกศใบที่หาย เพราะโกศใบนั้นเกล้ากระหม่อมอยากจะปรับว่าทำผิด จึงเปนการไม่ควรทำผิดซ้ำเปนครั้งที่ ๒ ที่ว่าทำผิดนั้นเกล้ากระหม่อมเข้าใจว่า ฝ่าพระบาทมีพระประสงค์เพียงให้ทำเปนโกศไม้สิบสองอย่างที่ประกอบศพแต่โดยรูปเท่านั้น ทรงตระนักในพระทัยว่านายมารเกรตต์ ดูการทำได้เกลี้ยงเกลาเรียบร้อยดี จึงตรัสสั่งให้นายมารเกรตต์ทำเพื่อให้ได้ของดี แต่นายมารเกรตต์รับสั่งด้วยเข้าใจผิดจัดให้ทำถ่ายเอาเหมือนประกอบโกศศพหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อทำดังนั้นลายก็ละเอียดยิบจนใบเทศเท่าเมล็ดงา ดูด้วยตาเปล่าเกือบไม่เห็นลาย ไม่มีใครเขาทำกันเช่นนั้นเพราะไม่มีประโยชน์ ทำให้เสียค่าแรงมากเปล่า ๆ เกล้ากระหม่อมจะอำนวยการทำถวายในครั้งนี้ จะทำเปนรูปโกศไม้สิบสองเหมือนอย่างเดิมตามพระประสงค์เดิม แต่ลายจะผูกใหม่พอให้เห็นงาม จะไม่ต้องเสียค่าแรงมากเช่นครั้งก่อน ทั้งจะดูงามกว่าด้วย

ข้อที่ทรงพระปรารภถึงความป่วยของพระยาสุริยา ว่าเปนประการใดไม่ได้ทรงทราบนั้น ขอประทานโทษ เกล้ากระหม่อมก็หาได้ทูลมาไม่ ได้ความจากคุณหญิงลิ้นจี่ว่า เดิมลงไปตักบาตรที่หน้าบ้าน ตักยังไม่ทันหมดก็ลงนั่งบอกว่าปวดขา แล้วก็รู้สึกอ่อนเพลีย จึงพากันช่วยประคองขึ้นเรือน ความปวดก็ทวีขึ้น จึ่งโทรศัพท์ตามลูกชาย มาตรวจว่าเปนที่เส้นโลหิต ให้นอนนิ่งไม่ให้ลุกจากที่นอน แต่ท่านก็ไม่ฟัง โรคก็กำเริบขึ้นถึงลิ้นกระด้างคางแข็งพูดไม่ได้ ร่างกายเบื้องซ้ายตายไปแถบหนึ่ง ได้หาหมอมาอีก ๒ คน รวมเปน ๓ ทั้งลูกชาย ช่วยกันแก้ไขก็ไม่ฟื้น อยู่ได้ ๔ วันถึงอนิจกรรม โรคนี้ว่าเคยเปนมาคราวหนึ่งแล้ว แต่แก้หาย

เจ้าผิวสมมตฝ่าพระบาทว่าเปนอาว์ เปนการตีสนิทชะนิดหนึ่ง แต่ไม่มีภัยอะไร ตามที่ตรัสถามไปถึงลำดับเจ้าพะม่า ว่านับเปนเจ้าลงมากี่ชั้นนั้นดี จะได้เทียบกับประเพณีของเรา เกล้ากระหม่อมให้นึกว่าน่าจะเปนเจ้าไม่มีขาด อย่างเดียวกับประเพณีทางเชียงใหม่ แต่เขาคงจะมีคำต่างให้รู้ได้ว่าเปนเจ้าชั้นไร กับที่ตรัสขอให้อาจารย์อูโปคยาสืบหนังสือโลกพยูหะนั้นก็ดีมาก ถ้าหากเปนภาษาบาลีแล้วจะดี จะได้มาวานพระท่านแปลเอาความได้ แต่ถ้าเปนภาษาพะม่าแล้วก็ “ป้วย”

แผ่นเสียงเพลงยุหงิดคิดว่าเฟเลีย จะเล่าความเฟเลียถวายเรื่องหนึ่งเมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวเมืองพะม่า หาพวกดนตรีมาเล่นให้ฟัง ถามเขาถึงเพลงไทย เขาได้ไว้เพลงหนึ่ง ให้เขาทำให้ฟัง ฟังก็ไม่รู้สึกว่าเปนเพลงไทย แล้วเกล้ากระหม่อมได้ทำเพลงหนึ่งให้เขาฟัง เพลงนั้นได้กันมาแต่เชียงใหม่ เมื่อครั้งกรมหลวงพิชิตเสด็จขึ้นไปเปนข้าหลวง ว่าเปนเพลงพะม่า แต่ไม่ได้ชื่อมาว่าชื่อเพลงอะไร เกล้ากระหม่อมอยากทราบชื่อจึงทำให้เขาฟัง และถามเขาว่าเพลงอะไร เขาตอบว่าเปนเพลงไทยเขาไม่ทราบ จบกันเท่านั้นเอง

อ่านพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ รู้สึกว่าเรื่องอังกฤษรบพะม่านั้น พวกนายเรือเอราวดีโฟลติลลาเห็นจะรู้กันคนละมากๆ เมื่อเกล้ากระหม่อมไปเที่ยวเขาก็เล่าให้ฟังหลายเรื่อง ต่อมาจนถึงฝ่าพระบาทเสด็จไปคราวนี้ แม้กาลล่วงมานานเขาก็ยังเล่าถวายได้อีกเปนหลายเรื่อง ในเรื่องกบฏ ฝ่าพระบาทตรัสใช้คำว่าเปนเหตุด้วย “เศรษฐกิจฝืดเคือง” เกิดมีญาณหยั่งเห็นขึ้นว่า คำนี้ตรงกับที่แต่ก่อนใช้ว่า “ทุพภิกขภัย” หรือ “ฝนแล้งเข้าแพง” นั้นเอง

ญาณชะนิดนี้ได้เกิดขึ้นอีกเมื่ออ่านกฎมณเทียรบาลพะม่าซึ่งโปรดประทานไปว่าเรือพระที่นั่งขนานซึ่งชื่อว่า “การเวก” นั้นพายไม่ได้ ทรงพระดำริว่าเห็นจะจูงด้วยเรือกระบวน ทำให้เห็นแจ้งขึ้นว่าเรือกระบวนคู่ใน ซึ่งเรียกว่าเรือคู่ชักนั้น สำหรับชักลากเรือพระที่นั่งชะนิดพายไม่ได้อย่างชักพระนั้นเองเรือพระที่นั่งชะนิดพายไม่ได้แต่ก่อนของเราก็คงเคยมีแต่เห็นงุ่มง่ามจึงเลิกทิ้งกันไปเสียจนรู้สึกไม่ได้ว่าเรือคู่ชักนั้นชักอะไร เรือขนานยังได้เห็นอยู่ก็เรือบัลลังก์แต่เข้าใจไปเสียว่าทำจอดต่างแพ ไม่ได้คิดเลยว่าจะใช้ทรงไปไหนต่อไหนด้วยอันหัวเรือพระที่นั่ง “การเวก” ลำเก่า ซึ่งทำเปนหัวนกอย่างรูปสัตว์หิมพานนั้นถูก ในตำราสัตว์หิมพานมีจริงๆ แต่เรียกชื่อว่า “นกการวิก” ใกล้ไปทางบาลีซึ่งเรียกว่า “กรวีก”

กับขอประทานทูลปรึกษา ในกฎมณเทียรบาลพะม่ามีพรรณนามาถึงพระราชยานซึ่งเรียกว่า “วอ” อันมีสาวพรหมจารีขึ้นนั่งไปด้วย ชาวเราเห็นจะหลับตาคิดไม่เห็นเลยว่ารูปร่างท่วงทีจะเปนอย่างไร รูปต่างๆ ที่ประทานไปมีรูปวอพระประเทียบอยู่รูปหนึ่ง ถ้าจะทำพิมพ์ตีติดไปด้วยพอให้เห็นเค้า ว่าวอราชยานคงมีท่วงทีคล้ายอย่างนั้น จะควรหรือไม่ กับมีรูปสุเมรูปราสาทครั้งบ้านเมืองดี ซึ่งโปรดประทานไปอีกรูปหนึ่ง ถ้าจะพิมพ์ตีติดไปด้วยอีกจะควรหรือไม่

พรุ่งนี้วันที่ ๑๘ เขาจะเผาศพท่านเม้าที่วัดปทุมวัน ท่านเม้าแก่พอใช้ ปีเดียวกับแม่ใหญ่ (เทวกุล) เคยกราบทูลรายงานมา ว่าแม่ใหญ่นั้นแขงแรงผิดประหลาดมาก บัดนี้ได้ข่าวมาว่าหลงเลอะไม่รู้จักหนเหนือหนใต้อะไรเสียแล้ว แต่ความแขงแรงแห่งร่างกายไม่ลดลง ลูก ๆ พาเอากลับเข้าไประวังรักษาไว้ที่กรุงเทพฯ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ