วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๔ มกราคม โปรดประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ ท่อนที่ ๑ ได้รับประทานแล้ว

เสียดายเรื่องเสด็จไปเที่ยวเมืองพะม่าจะจบเสีย เปนเรื่องสนุกอันหนึ่ง ทั้งได้ความรู้มากมายด้วย อ่านพระนิพนธ์ซึ่งโปรดประทานไปคราวนี้ มีข้อจับใจในคำนำชื่อที่ใช้กันตามประเพณีพะม่า ซึ่งอาจารย์ อู โป กยา ทูลถวาย เมื่อรำลึกถึงประเพณีของไทยเราก็มีอยู่เหมือนกัน แล้วนึกเห็นขบขันที่ว่าเราใช้คำนำชื่อนั้น เจตนาเดิมก็เพื่อยกย่อง เช่นเรียกผู้มีอายุสูงมากกว่า “ตา ยาย” ก็เป็นคำยกย่องว่าเปนผู้มีอายุเสมอตายาย ถัดลงมาก็ “พ่อแม่” นี่ยกย่องว่าเสมอกับพ่อแม่ ถัดลงมาอีกก็ “อ้าย อี่” นี่ยกย่องว่าเสมอเปนพี่ชายหญิง แล้วยังมีคำ “นาย นาง” อีก ซึ่งน่าจะเปนคู่กัน แต่คำซึ่งเจตนาจะยกย่องเหล่านั้น ลางคำกลายเปนสบประมาทไป เช่น “อ้าย อี่” เดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้ทีเดียว คำ “ตา ยาย” ยังใช้ได้อยู่บ้าง แต่ผู้ถูกเรียกเปนอันไม่พอใจ คงยังใช้ได้ดีอยู่แต่ “พ่อ แม่” แต่ก็ใช้ในที่ผิดชั้น ส่วนคำ “นาย นาง” นั้น เดิมก็คงเปนคำยกย่อง ด้วยเห็นอยู่ว่า “นาย” หมายความว่าเปนผู้อยู่เหนือตน เดิมน่าจะเปนคำเรียกจำเพาะผู้ชาย เพราะผู้ชายยังใช้กันเกลื่อนกลาดอยู่ทุกวันนี้จนกระทั่งเรียกตัวเอง ผู้หญิงก็มีเรียกกันอยู่บ้าง แต่สงสัยว่าจะเปนคำใช้ใหม่ ส่วนคำ “นาง” นั้นเคยตกไปเป็นคำหยาบมาเสียแล้ว แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๖ ทรงย้อนจัดยกมาใช้ให้เปนคำดีขึ้น เดี๋ยวนี้ก็เปนคำดีเปนที่พอใจไปด้วยกันหมดแล้ว

ตามข้อความในลายพระหัตถ์ ตรัสแนะให้ดูตำราขี่ช้าง ว่ามีกระบวรนุ่งผ้าอยู่หลายอย่างนั้นดีมาก เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า จะได้ตรวจดู กลัวจะมีแต่ชื่อ เช่น “กลม้ากินสวน กลพวนเรือโยง” อย่างในตำราพิไชยสงคราม กรมหมื่นมหิศรกริ้ว ว่าจะให้ทำอย่างไรก็ไม่บอก เอาแต่ชื่อมาเขียนไว้จะมีประโยชน์อะไร พระยาอุไทยธรรม ถึงจะแก่มากก็ไม่หวังว่าจะรู้ไปทุกอย่าง จะรู้ก็จะเท่ากับที่ได้เห็นนุ่งกันในชีวิตของท่านเท่านั้น ข้อที่ทรงพระปรารภว่ากระบวรนุ่งผ้าจะนุ่งอย่างไรจึ่งจะเห็นทั้งสองชายเปนปัญหาสำคัญอันน่าคิดเป็นที่สุด เมื่อติดตามก็เห็นขึ้นง่ายๆ ว่านุ่งลอยชายเรานี่เอง จะเห็นหมดทั้งสองชายและเชิงท้องทั่วหมด ชั้นเดิมเห็นจะนุ่งลอยชายกันเปนปกติ ดูแต่พะม่าก็นุ่งลอยชายเหมือนกัน หากเรามาเกิดถือกันขึ้น ว่านุ่งลอยชายเปนกิริยาที่แสดงว่าวางภาคภูม จึงได้หลบหลีกไปเปนนุ่งโจงกระเบนกันเสีย พะม่าก็มีนุ่งโจงกระเบนเหมือนกัน แต่เขาถือกันว่านุ่งอย่างนั้นแสดงว่าเปนนักเลง คือเตรียมพร้อมที่จะเข้าประจันตีรันฟันแทง ถ้านุ่งลอยชายแล้วแสดงว่าเปนคนสุภาพ เขาจึ่งยังคงนุ่งลอยชายกันอยู่ ทางเราถ้านุ่งลอยชายอยู่ พบผู้ลากมากดีต้องรวบชายเข้าโจง จึ่งนับว่าเปนการเคารพ ส่วนทางพะม่าถ้านุ่งโจงกระเบนอยู่ พบผู้ลากมากดีต้องปลดชายกระเบน จึ่งจะนับเปนเคารพ ตรงกันข้ามดูขันดี

ข้อที่ตรัสว่าจะทรงวินิจฉัยข้อความตาม “พุทธทำนาย” ประทานนั้น อยู่ข้างจะหนักใจ เพราะไม่เคยอ่านหนังสือชะนิดนั้นเสียเลย ด้วยนึกว่าเปนคำทำนายก็เท่ากับตำราหมอดู จะหาประโยชน์อะไรในนั้นไม่ได้ แต่เมื่อทรงพระดำริจะวินิจฉัยประทานแล้วก็จะต้องไปหาหนังสือเหล่านั้นมาอ่านให้ทราบเรื่อง ไม่ฉะนั้นก็จะกราบทูลอะไรไม่ถูก แต่ไม่เปนไร อยู่เปล่า ๆ ก็เรียนไปไม่ว่าอะไร สนุกดี

ทีนี้จะกราบทูลเรื่องหนังสือซึ่งกล่าวด้วยพระคเณศอันได้ฝากหม่อมเจิมมาถวายคืน คำนำของศาสตราจารย์ ฟูแช นั้นพูดสำแดงความเห็นวินิจฉัยดีจริง ๆ เชื่อว่าเปนความจริงตามที่กล่าวไว้นั้น แต่ส่วนเนื้อเรื่องของพระคเณศนั้นเหลวตามเคย ไปดีอีกทีก็ที่รูปข้างท้าย อุตส่าห์หาแต่ทุกบ้านทุกเมืองมารวมไว้ให้ดู ทำเปนก็มี ทำไม่เปนก็มี แล้วก็ได้สติที่ว่าเปนพระคเณศของเมืองนั้นจะเปนของเมืองนั้นจริงก็มี ไม่จริงก็มี เช่นพระคเณศรูปหล่อของอยุเธียน คงจะได้จากอยุธยาจริง แต่ฝีมือที่ทำรูปนั้นเปนแขมร์หาใช่อยุเธียนไม่ เปนแต่อยุเธียนนำมาไว้ รูปอันจับใจที่สุดก็รูปอยุเธียนซึ่งเขียนเส้นฝุ่นบนสมุดไทย รูปนั้นมิใช่ใครอื่นเขียน เปนฝีมือเกล้ากระหม่อมเขียนเอง ได้ยืมตำราเทวรูปเขามาเขียนลอก เปนการหัดเขียนแต่เมื่ออายุ ๑๗ ปี แล้วใครยืมเอาสมุดนั้นไปลอก จำตัวไม่ได้เลยหายสูญเพิ่งมาปรากฎในสมุดที่ฝรั่งตีพิมพ์ขึ้นนี้ ก็เปนอันพึงใจว่าแรงที่เราออกไปไม่เสียเปล่า ได้เปนประโยชน์ขึ้นในโลก ถ้าสมุดนั้นอยู่กับเราไม่หายก็คงจะไม่เปนประโยชน์อะไรแก่โลก เกล้ากระหม่อมก็ลืมดูไปว่ารูปนั้นเขาคัดมาแต่ไหน เขาจดบัญชีบอกไว้ละเอียดข้างต้นสมุด แต่อย่างไรก็ดี สมุดเล่มนั้นคงตกไปอยู่ในที่มีเจ้าของหวงแหนรักษาไว้ด้วยดีแล้วก็เปนอันพอใจ มีสมุดคู่กันอีกเล่มหนึ่ง ตำราพระปาง เกล้ากระหม่อมเขียนหัดเหมือนกัน นั้นจำได้ท่านเจ้าสายวัดบวรนิเวศยืมเอาไปลอก ครั้นท่านถึงมรณภาพลงไปติดตามเอาคืน พระเขมาภิมุขธรรมผู้จัดการมรดกว่าไม่รู้ไม่เห็นเลยสูญเหมือนกัน แต่ยังไม่ปรากฎผุดขึ้นที่ไหน

เมื่อเวรก่อนได้กราบทูลมาด้วยเรื่องหูตึง ทูลถวายจะเปนไปในทางข้างไม่ดี ทีนี้จะกราบทูลในทางข้างดี ผัวเมียที่เรือนข้างเรือนเขาวิวาทกัน ใครทุกคนต้องตื่นหมด เว้นแต่เกล้ากระหม่อมคนเดียวไม่ต้องตื่น นอนอุตุเพราะไม่ได้ยินอะไร นี่เปนคุณความดีในทางหูเสีย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ