วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ตำหนักปลายเนีน คลองเตย

วันที่ ๕ กันยายน ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ประทานไปพร้อมด้วยพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๕ เที่ยวเมืองมัณฑเลภาคปลาย ท่อน ๔ กับรูปฉายประกอบกัน ๓ รูป ได้รับประทานด้วยดีแล้ว

จะกราบทูลสนองความตามลายพระหัตถ์ก่อน

เรื่องจะตีพิมพ์หนังสือแจกงานศพชายถึก ตามที่ทรงพระเมตตาโปรดแนะนำไปนั้น ดีกว่าที่พระยาอนุมานราชธนแนะนำมาให้ทั้ง ๓ เรื่อง จะกราบทูลตัดความให้สั้น เกล้ากระหม่อมชอบเรื่องกฎมนเทียรบาลพะม่า เห็นว่าดีกว่าเรื่องอื่นหมด อยากได้เรื่องนั้นตีพิมพ์ ข้อที่ทรงพระวิตกอยู่ว่าอาจจะเกิดโจษกัน ว่าฝ่าพระบาทสอดเข้าเกี่ยวข้องในการงานอีกนั้น เห็นด้วยเกล้าว่าแก้ได้ด้วยเปลี่ยนทางเดินเสียใหม่ เปนฝ่าพระบาทมีลายพระหัตถ์ถึงเกล้ากระหม่อม ว่าได้ทรงพบกฎมนเทียรบาลพะม่า ทรงพระดำริเห็นว่าเปนเรื่องแปลกที่ยังไม่เคยทรงทราบ จึงได้ทรงทำบันทึกส่งประทานแก่เกล้ากระหม่อม แล้วเกล้ากระหม่อมจะมีหนังสือกราบทูลสนองรับ และขอประทานอนุญาตตีพิมพ์จดหมายบันทึกนั้นแจกในงานศพชายถึก แล้วฝ่าพระบาทมีลายพระหัตถ์ตอบอนุญาตและจะตรัสโมทนายกย่องชายถึกด้วยหรือไม่ก็ได้ แล้วเกล้ากระหม่อมเขียนคำอธิบายว่าได้เรื่องมาอย่างไร ทำอุททิศให้แก่ชายถึกแล้วส่งหนังสือทั้งหมดไปตีพิมพ์ด้วยตัวเกล้ากระหม่อมเอง ตรวจปรู้ฟเอง ไม่ผ่านเข้าหอสมุด หากทำดังนี้จะมีใครจำโนทโจทนาปรามาทด้วยยกโทษฝ่าพระบาทว่ากะไรนั้นเห็นไม่มีทาง ถ้าฝ่าพระบาททรงพระดำริเห็นว่าที่กราบทูลเช่นนี้จะพ้นข้อที่ทรงรังเกียจได้แล้ว ขอได้ทรงพระเมตตาโปรดแต่งพระวิจารณประกอบกฎมนเทียรบาลพะม่าประทานแก่เกล้ากระหม่อม จะเปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า คิดจะทำงานในเดือนกุมภาพันธ์ เพราะก่อนนั้นไม่สดวกด้วยทูลกระหม่อมชายตรัสให้หาชายถาวรออกไปอยู่เปนเพื่อนหญิงประสงค์ ส่วนพระองค์จะเสด็จไปเที่ยวทางอาฟริกาใต้ ชายถาวรจะกลับมาได้ต่อเดือนมกราคม

จะต้องกราบทูลถึงฉะบับซึ่งพระยาอนุมานราชธนส่งมาให้ดูไว้ในที่นี้ด้วย เพื่อจะไม่ให้ความเห็นซึ่งเกิดขึ้นแล้วสูญหายไปเสีย อันเรื่องพระร่วงนั้นตรวจเห็นท่านผู้แต่งบอกไว้ในนั้นว่า “แลว่ามาทั้งนี้โดยย่อ ที่พิสดารวิดถารนั้นมีอยู่ในคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์โน้น” ทำให้เข้าใจได้ว่าหนังสือเรื่องนั้น คัดเอาความย่อมาจากคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ แล้วลงท้ายเมื่อสิ้นเรื่องพระร่วงมีว่า “ปฐโม ปริจฺเฉโท” ต่อนั้นไปเปนเรื่องกำเนิดพระเจ้าอู่ทอง อันคาบเข้าไปในคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ที่ตีพิมพ์แล้ว ซึ่งหอพระสมุดหามาได้แต่ผูก ๒ ผูกเดียวทำให้รู้ขึ้นได้ว่าคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ผูก ๑ ซึ่งเปนปฐมบริเฉทแต่หามาไม่ได้นั้นเปนเรื่องประวัติพระร่วงนั้นเอง อนึ่งพระยาอนุมานราชธนยังได้ส่งคำถวายเทศนาจุลยุทธการวงศ์ อันไม่ปรากฎว่าใครแต่งมาให้ด้วย ออกความเห็นว่าถ้าตีพิมพ์คำถวายเทศนาเรื่องจุลยุทธการวงศ์นั้นควบไปด้วย เกล้ากระหม่อมได้อ่านตรวจคำถวายเทศนานั้น มีกล่าวโดยย่อตั้งแต่แผ่นดินพระเจ้าอู่ทองลงมาจนถึงรัชชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทรเปนปัจจุบันกาล ลงท้ายประกอบด้วยพระไตรลักษณญาณตามธรรมเนียมเทศนา เห็นว่าจะเปนผู้อื่นเรียบเรียงไม่ได้ นอกจากสมเด็จพระวันรัตนผู้แต่งคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลยคงจะทรงทราบข่าว ว่าสมเด็จพระวันรัตนได้แต่งคัมภีร์จุลยุทธการวงศ์ขึ้น อยากทรงทราบว่าแต่งไว้มีรูปพรรณสัณฐานประการใด จึงให้เข้ามาถวายเทศนาตามความที่แต่งไว้

อ่านพระนิพนธ์เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าคราวนี้ ให้นึกสงสารเจ้าผิวเปนกำลัง ช่างกะไรเลยหนอพะม่า ใจคออำมหิทธ์ถึงปานนั้น หัวหน้าผู้บงการก็เปนผู้หญิงเสียด้วยซ้ำไป และในกาลเดียวกันก็นึกชมรัฐบาลอังกฤษ ว่าเขาเกื้อหนุนพระราชวงศ์อยู่บ้างมิได้ทอดทิ้ง เปนความดีของเขาอยู่

จะเล่าถวายถึงเรื่องรูปตำหนักองค์ปิ่น พอลายพระหัตถ์ถึงมือตัดซองออกก็ดูรูปก่อนอะไรหมด เห็นหลังคาตำหนักพระองค์ปิ่นก็อิดใจ พอดีหญิงอี่ขึ้นมาหา เกล้ากระหม่อมก็ส่งรูปให้ดู เธอขยายดูแล้วร้อง อุ๊ย เชิดรูปตำหนักพระองค์ปิ่นและบอกว่าดูหลังคานี่แน่ะ เกล้ากระหม่อมก็บอกว่าพ่อเห็นแล้ว อิดใจอยู่เหมือนกัน เธอถามว่าเรือนใคร เกล้ากระหม่อมก็จนบอกเธอว่าพ่อก็ยังไม่รู้ ยังไม่ได้อ่านลายพระหัตถ์ คงมีความแจ้งอยู่ในลายพระหัตถ์ ทั้งนี้ก็เปนการประหลาด หญิงอี่ก็เปนผู้หญิง ควรที่จะชอบหลังคากระจุ๋มกระจิ๋มเช่นนั้น แต่ไม่ยักชอบ

พออ่านข่าวที่ตรัสเล่าถึงท่าเรือเมืองมัณฑเลก็ต้องหัวเราะ นึกถึงอยู่เหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้เขาจะแก้ไขทำดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง แต่เปล่าเลยเคนเห็นมาแต่ก่อนอย่างไร ฟังตรัสเล่าก็คงอยู่อย่างนั้น บรรดาท่าเรือในแม่น้ำอีรวดีเลวที่สุดทุกท่า ลางท่าถึงต้องคลานสี่ขาปีนตาหลิ่ง รองท้าวและผ้านุ่งเปื้อนฝุ่นหมด ได้พิจารณาเหมือนกัน ว่าทำไมเขาไม่ทำสะพานท่าน้ำให้คนเดินขึ้นลงสดวก พิจารณาก็เลงเห็นว่าทำไม่ได้ ด้วยดินมันกำมะลอเต็มทีชั่วแต่เรือเดินผ่านคลื่นซัดถูกตาหลิ่งก็พังลงน้ำก้อนโตเปนเมตร ๆ แม้ทำสะพานลงตาหลิ่งก็เห็นจะพาเอาสะพานพังไปด้วย จึงต้องคลานสี่ขาอยู่เช่นนั้น

เมื่อวันเสาร์ก่อนเขียนหนังสือเวรถวายมา มีบ่นกะปอดกะแปดเรื่องใช้คำผิด ภายหลังได้พบสักรวาเขาแต่งโต้ตอบกันลงหนังสือพิมพ์ อ่านแล้วนึกชอบใจจึงคัดถวายมาต่อไปนี้ เพื่อทอดพระเนตรเล่น

๏ สักรวา “ผัดวันประกันพรุ่ง” ใช้กันยุ่งเปน “ผลัด” ให้อัดอั้น
อันผัดช้าง ผัดคน หรือผัดวัน มันต่างกันตรงไหนสิใคร่รู้
คำว่า “ผลัด” ใช้ชัดเปนผลัดเปลี่ยน “ผ่อนผัด” เขียนเช่นนี้ความดีอยู่
คือผ่อนไปอย่าให้ทันมาพันตู ไฉนสู่รู้เห็นเปน “ผลัด” เอย ฯ

เขียวหวาน

๏ สักรวานายสวัสดิจะผลัดช้าง ลากไม้ยางท่อนใหญ่ให้เขยื้อน
ซุงทั้งต้นทนคร่าจนบ่าเบือน มันไม่เคลื่อนจากที่สักทีเดียว
จะกล่าวฝ่ายนายเขียวไปเกี่ยวหญ้า พบช้างป่าตัวใหญ่น่าใจเสียว
มันตกมันอาบหน้าดูท่าเฮี้ยว จึงนายเขียวผัดช้างห่างๆ เอย ฯ
๏ สักรวานายเขียวผู้เกี่ยวหญ้า ไปผัดช้างกลับมาจากป่ากว้าง
เห็นวุ่นวายนายสวัสดิ์ผู้ผลัดช้าง กำลังง้างงัดซุงยุ่งไม่น้อย
ครั้นนายเขียวไปถึงจึ่งสวัสดิ บอกว่าผลัดหน่อยพ่อฉันขอม่อย
เขียวว่าหนีช้างรอดแต่ปอดลอย ขอผัดหน่อยจึ่งจะผลัดสวัสดิเอย ฯ

น.ม.ส.

สักรวา “ผัด ผลัด” ซัดกันยุ่ง ผัดผ้านุ่ง ผลัดหน้า ทำท่าสรวย
เจอะเจ้าหนี้ผลัดว่าข้ายังซวย ผลัดให้รวยล้อตเตอรี่ก่อนซีจ๊ะ
ยอมผ่อนผลัดหลายนัดยิงผลัดต่อ ผ่อนผันก้อผลัดไปไม่ไหวหละ
“ผัด” เปน “ผลัด” เช่นนี้เต็มทีนะ โปรดเถอะคะใช้ “ผัด” ตามอัตถ์เอยฯ

แม่วัน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ