เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๔ ท่อน ๓

เรื่องตำนานเมืองมัณฑเลเมื่อตกเปนของอังกฤษแล้ว มีความเบื้องต้นว่าเมื่ออังกฤษตีเมืองพะม่าครั้งหลัง อันเปนครั้งที่ ๓ และครั้งที่สุดนั้นปราร์ถนาเพียงจะกำจัดพระเจ้าสีป่อ พวกที่ยุยงส่งเสริมเสียจากเมืองพะม่า แล้วจะบังคับพระเจ้าแผ่นดินพะม่าองค์ที่เปนแทนให้สัญญายอมมอบอำนาจในการเกี่ยวข้องกับต่างประเทศให้แก่อังกฤษ มิได้คิดจะเลิกราชาธิปตัย Annex เอาประเทศพะม่าเปนอาณาเขตต์ของอังกฤษความข้อนี้ตัว ลอร์ด คัฟเฟอริน ผู้เปนไวสรอยอินเดียบัญชาการรบพะม่าครั้งนั้นได้บอกฉันเองเมื่อไปรู้จักคุ้นกันในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ว่าได้คิดหาอุบายที่จะมิต้องเลิกราชาธิปตัยประเทศพะม่าหมดทุกทาง ต่อไม่เห็นมีทางอย่างอื่นแล้ว จึงประกาศเอาประเทศพะม่าเปนอาณาเขตต์ของอังกฤษด้วยความจำเปน ที่ว่านี้ก็สมตามรายการที่ปรากฎในเรื่องพงศาวดาร ว่ากองทัพอังกฤษที่มาตีเมืองพะม่าครั้งนั้นจำนวนทหารเพียง ๑๕๐๐๐ คน ใช้ยุทธวิธีเอาทหารลงเรือกำปั่นไฟเร่งรีบขึ้นไปทางแม่น้ำเอราวดี ได้รบกับพะม่าในกลางทางแต่เล็กน้อย กองทัพอังกฤษขึ้นไปถึงเมืองมัณฑเลก่อนพะม่าเตรียมการต่อสู้พร้อมเพรียง พระเจ้าสีป่อก็ต้องยอม “มอบพระองค์กับทั้งราชสมบัติและราชอาณาเขตต์” แก่อังกฤษโดยไม่มีข้อไข เมื่ออังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อกับมเหษีและนางอเลนันดอ ตัวการที่ก่อยุคเข็ญส่งไปอินเดียแล้ว จึงปรากฎความขัดข้องเปนข้อใหญ่ขึ้น ๒ ข้อ คือข้อหนึ่งหาเจ้านายครองแผ่นดินแทนพระเจ้าสีป่อไม่ได้ เพราะลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงชั้นผู้ใหญ่ถูกจับปลงพระชนม์เสียเมื่อแรกพระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติหมด มีเหลือแต่ที่หนีไปอยู่ต่างประเทศ ๒ องค์ คือเจ้าเมงกูนองค์หนึ่งก็มีมลทินชั่วร้าย ด้วยเคยพยายามจะกระทำปิตุฆาฏเมื่อเปนขบถ ทั้งในเวลานั้นไปอาศัยอยู่กับฝรั่งเศสด้วย เจ้านะยองโอ๊กอีกองค์หนึ่งซึ่งหนีพ้นภัยในครั้งพระเจ้าสีป่อไปอาศัยอังกฤษอยู่ในอินเดีย ก็ได้ความว่าแต่ก่อนเคยประพฤติเปนคนพาล พวกพะม่าเกลียดชัง นอกจาก ๒ องค์นั้นลูกเธอของพระเจ้ามินดงที่รอดชีวิตมาได้เพราะเปนเด็กก็ยังเยาว์อยู่ทั้งนั้น จะปกครองแผ่นดินยังไม่ได้ ว่าโดยย่อเกิดขัดข้องด้วยไม่มีตัวคนที่จะเปนพระเจ้าแผ่นดินอย่างหนึ่ง แต่ความขัดข้องสำคัญกว่านั้นยังมีอีกข้อหนึ่ง ด้วยพระเจ้าสีป่อได้ทำสัญญายอมให้ฝรั่งเศสมีสิทธิในเมืองพะม่าหลายอย่าง เช่นให้ทำทางรถไฟและตั้งธนาคารออกธนบัตรเปนต้น แต่ล้วนเปนปฏิปักษ์กับประโยชน์ของอังกฤษ ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าอยู่ตราบใด สิทธิที่ต่างประเทศได้จากพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนย่อมผูกพันธ์ตกต่อถึงพระเจ้าแผ่นดินที่เปนรัชชทายาท ถึงอังกฤษจะได้อำนาจในการเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ พวกต่างประเทศก็คงยอมแต่ว่ามีสำหรับภายหน้า หาย้อนขึ้นไปลบล้างสิทธิที่เขาได้รับไว้แต่ก่อนไม่ ที่จริงเห็นจะเปนข้อนี้เองที่ทำให้อังกฤษต้องเลิกราชาธิปตัย แปลงประเทศพะม่าเปนอาณาเขตต์ของอังกฤษ เพื่อจะทำลายสิทธิที่ชาวต่างประเทศได้ไว้จากราชาธิปตัยให้สูญไปเสียตามกันการล้างสัญญาด้วยวิธีอย่างนี้ ต่อมายังมีปรากฏในประเทศอื่น เช่น เมื่อยี่ปุ่นได้ประเทศเกาหลีไว้ในอำนาจ แต่เดิมก็คงให้มีพระเจ้าแผ่นดินเปนแต่ลดศักดิ์ลงเปนประเทศราช เกิดลำบากขึ้นด้วยข้อสัญญาซึ่งพระเจ้าแผ่นดินเกาหลีได้ทำไว้กับต่างประเทศเมื่อยังเปนอิสสระ ยี่ปุ่นจึงต้องเลิกราชาธิปตัยยุบฐานะประเทศเกาหลีลงเปนอาณาเขตต์ประเทศยี่ปุ่น ถึงที่ประเทศอิตาลีประกาศเอาประเทศอับบิสสิเนียเปนอาณาเขตต์ของอิตาลีเมื่อเร็วๆ นี้ ก็น่าจะคิดล้างหนังสือสัญญาที่เอมปเรอร์อับบิสสิเนียได้ให้สิทธิไว้แก่ต่างประเทศทำนองเดียวกัน

การที่อังกฤษเลิกราชาธิปตัยเอาประเทศพะม่าเปนอาณาเขตต์ครั้งนั้น แม้พ้นความลำบากได้อย่างหนึ่ง ก็เกิดความลำบากอย่างอื่นเกินคาดหมายหลายเท่า ตามเรื่องที่ปรากฏในพงศาวดารว่าเมื่ออังกฤษจะเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเล ได้ถามพวกเสนาบดีพะม่าว่าจะยอมรับราชการกับอังกฤษต่อไปหรือไม่ พวกนั้นรับอังกฤษจึงให้สภาเสนาบดี (พม่าเรียกว่า “ลุดดอ” Hlutdaw) คงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองอยู่อย่างเดิม เปนแต่ให้นายพันเอก สะเลน อันเคยเปนเอเยนต์ Agent (เหมือนอย่างเปนราชทูต) อังกฤษอยู่ที่เมืองมัณฑเล เปนผู้กำกับไปจนกว่าจะได้วางระเบียบการปกครองเปนยุติ แต่เมื่ออังกฤษเอาพระเจ้าสีป่อไปจากเมืองมัณฑเลแล้ว ในค่ำวันนั้นเองคนที่อยู่ในวังก็ชวนพวกพ้องข้างภายนอก เข้าไปช่วยกันลักเก็บเอาเครื่องเพ็ชรพลอยเงินทองของมหัครภัณฑ์อันเปนราชสมบัติทั้งที่อยู่ในคลังและบนพระราชมนเฑียรไปเสียเปนอันมาก เพราะไม่มีใครเปนใหญ่ในราชฐาน วันต่อๆ มาก็เริ่มเกิดจลาจลปล้นสดมภ์และเผาบ้านเรือนที่ในพระนครเนือง ๆ อังกฤษเห็นว่าเสนาบดีพะม่าไม่สามารถปกครองได้ พอประกาศเอาประเทศพะม่าเปนอาณาเขตต์ของอังกฤษแล้วก็เข้าปกครองเอง ให้แปลงนครมัณฑเลเปนป้อม ให้ชื่อว่า “ป้อมดัฟเฟอริน” Fort Dufferin ตามนามไวสรอยที่ได้เมืองพะม่า เอาเปนที่ตั้งกองทัพกับตั้งทะบวงการต่างๆ ฝ่ายพลเรือน สำหรับปกครองอาณาเขตต์พะม่าเหนือ แต่เมื่อกิตติศัพท์ระบือออกไปตามหัวเมือง ว่าประเทศพะม่าไม่มีพระเจ้าแผ่นดินแล้วก็เกิดจลาจลแพร่หลาย กองทัพอังกฤษที่ไปตีได้ประเทศพะม่าจำนวนทหารไม่พอจะระงับจลาจล ก็ได้แต่ตั้งรักษาเมืองสำคัญเช่นเมืองมัณฑเลเปนต้น รัฐบาลอินเดียต้องส่งทหารเพิ่มเติมมาจนถึง ๓๕๐๐๐ คน และต้องรบพุ่งปราบปรามอยู่ถึง ๓ ปี เมืองพะม่าจึงเรียบร้อยราบคาบ บางทีผู้มีสติปัญญาเช่น ลอร์ด ดัฟเฟอริน คิดการไกลเกรงจะเกิดจลาจลเช่นนั้น จึงไม่อยากเลิกราชาธิปตัยพะม่าก็เปนได้

เมื่ออังกฤษแปลงนครมัณฑเลเปนป้อมนั้น สั่งให้ย้ายวังเจ้าบ้านขุนนางและเรือนไพร่พลเมือง ออกไปปลูกสร้างข้างนอกเมืองทางฝ่ายใต้ พวกที่เคยอยู่ในวังก็หาที่ให้ไปอยู่นอกเมืองทำนองเดียวกันแล้วปราบที่กะแผนผังตั้งโรงทหาร กับทั้งสำนักงานต่างๆ ฝ่ายพลเรือนที่ในป้อม แต่ส่วนพระราชวังนั้น รัฐบาลตกลงเปนยุติว่าเมื่อสร้างสถานที่ราชการขึ้นใหม่บริบูรณ์ตามแผนผังที่กะแล้ว จะรื้อปราสาทราชมณเฑียรและราชวังเดิมเสียให้หมด มิให้ปรากฏอยู่เตือนตาพวกพะม่าให้หวังใจว่าจะมีพระเจ้าแผ่นดินพะม่าขึ้นอีก เพราะฉะนั้นในเวลาเมื่อกำลังสร้างโรงทหารและสถานที่ต่างๆ ที่ในป้อม จึงอาศัยปราสาทราชมณเฑียรและตำหนักรักษาที่ในวังเปนที่ทำการต่างๆ เปนต้นว่าเปนสำนักงานเปนโรงสวด และเปนสโมสรที่เล่นที่เลี้ยงดูกัน ตรงไหนมีอะไรกีดขวางก็รื้อหรือดัดแปลงไปตามอำเภอใจไม่คิดบำรุงรักษา เพราะรู้กันว่าเปนของที่รัฐบาลจะรื้อทิ้งเสียในที่สุด เปนเช่นนั้นมาจนถึงสมัยเมื่อลอร์ดเคอสันเปนไวสรอยอินเดียมาตรวจราชการถึงเมืองพะม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ เห็นว่าพะม่ามีแบบแผนศิลปากรแปลกเปนอย่างหนึ่งต่างหากมา มาแต่โบราณสมควรจะรักษาไว้อย่าให้สูญเสีย เห็นไม่จำเปนจะต้องทำลายปราสาทราชมณเฑียรให้พวกพะม่าสิ้นหวัง จึงสั่งให้เอาการต่าง ๆ ที่ไปอาศัยทำในราชวังย้ายไปทำเสียที่อื่น แล้วให้บุรณปฏิสังขรณ์ปราสาทราชมณเฑียรสถานให้คืนดีดังแต่ก่อน และให้สร้างเรือนขึ้นใหม่หมู่หนึ่งที่บนกำแพงเมืองข้างด้านเหนือ ทำเปนปราสาทพะม่ามีเรือนปรัศว์ต่อตามยาวสองข้าง (คล้ายกับพระที่นั่งศุทไธศวรรย์ในกรุงเทพฯ) สำหรับเปนที่พักของเจ้าเมืองพะม่าเวลาเมื่อขึ้นไปตรวจราชการ เปลี่ยนทำนองไปให้ชาวเมืองเข้าใจว่าเจ้าเมืองพะม่ามีศักดิ์เสมอพระเจ้าแผ่นดินพะม่าแต่ปางก่อน เวลาเจ้านายอังกฤษเช่น ปรินซ์ ออฟ เวลส์ เสด็จไปเมืองพะม่า ก็จัดเรือนหมู่นั้นเปนที่รับเสด็จ (เลดี สตีเฟนสัน ภรรยาเจ้าเมืองพะม่าบอกเจ้าหญิงว่าเรือนหลังนั้นอยู่ไม่สบายเลย) แต่เมื่อ ลอร์ด เคอสันสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์นั้น ราชมณเฑียรสถานตกเปนที่ไม่มีใครสงวนมาได้ถึง ๑๕ ปี สถานที่ต่างๆ หักพังสูญไปเสียก็มาก ที่เหลืออยู่แต่ซวดเซปรักหักพังจะซ่อมไม่ไหวก็มี ลอร์ด เคอสันจึงสั่งให้ปฏิสังขรณ์แต่สิ่งสำคัญเช่น ปราสาทราชมณเฑียรเปนต้น ให้กลับคืนเปนอย่างเดิม แล้วให้รักษาไว้เปนที่สำหรับมหาชนไปชม เหมือนอย่างพิพิธภัณฑสถานมาจนบัดนี้ จะพรรณนาเมื่อวันไปดูราชวังต่อไปข้างหน้า ครั้งนั้น ลอร์ด เคอสัน ให้ปฏิสังขรณ์ตลอดจนถึงปราสาท (Pyatthat) ซุ้มประตูเมือง และปราสาทบนป้อมกับหอรบรอบกำแพงเมืองรวม ๔๘ หลังให้คืนดีอย่างเดิมด้วย การที่ลอร์ด เคอสัน ปฏิสังขรณ์เมืองมัณฑเล ควรได้รับความสรรเสริญเปนนิรันดร เพราะถ้าลอร์ด เคอสัน มิได้ลบล้างมติเดิมของรัฐบาลอินเดีย ปานนี้ปราสาทราชฐานและเครื่องประกอบปราการ เมืองมัณฑเลก็คงศูญ หรือกลายไปเปนอย่างอื่นเสียหมดแล้ว อาศัยคำสั่งของ ลอร์ด เคอสัน แต่ครั้งนั้น จึงได้เกิดการรักษาของเดิมในเมืองพะม่า ว่าฉะเพาะเมืองมัณฑเลแม้จนทางเข้าประตูเมืองที่ต้องเลี้ยวหลีกลับแล แม้ลำบากแก่การใช้รถยนต์ในสมัยนี้ก็ให้คงอยู่อย่างเดิม เปนแต่ตั้งเครื่องสัญญาและวางตำรวจประจำสำหรับบอกมิให้รถสวนกันที่ตรงนั้น ทุกวันนี้ชาวต่างประเทศไปถึงเมืองมัณฑเล แต่พอเห็นแนวกำแพงพระนครรักษาได้เรียบร้อย และบนนั้นมีปราสาทแบบพะม่ารายอยู่เปนระยะ และมีคูกว้างใหญ่น้ำใสสอาดขังอยู่ข้างนอกตลอดแนวกำแพงเมือง ก็รู้สึกว่าเปนสง่าน่าชมสมกับเคยเปนราชธานีมาแต่ก่อน ถ้าจะให้เปรียบเมืองมัณฑเลกับเมืองอื่นที่ฉันได้เคยเห็นมาดูคล้ายกับเมืองเชียงใหม่ยิ่งกว่าเมืองอื่น เปนแต่เมืองเชียงใหม่เล็กกว่าและมิได้รักษาเมืองอย่างเมืองมัณฑเล แม้ดินฟ้าอากาศก็คล้ายกันแต่บ้านช่องตอนชานเมืองข้างนอกกำแพงฉันไม่มีเวลาจะเที่ยวดูให้ทั่ว ไม่สามารถจะพรรณนาได้ถ้วนถี่ แต่ไม่เห็นอะไรแปลกกับเมืองอื่น รู้แน่แต่ว่าอังกฤษทำนุบำรุงเจริญขึ้นเสมอมา แต่ไม่เจริญเหมือนเมืองร่างกุ้ง ถึงกระนั้น นอกจากเมืองร่างกุ้งเมืองมัณฑเลก็เปนเมืองใหญ่ยิ่งกว่าเมืองอื่นในประเทศพะม่าเวลานี้ แต่มีเหตุอย่างหนึ่งซึ่งถ่วงความเจริญของเมืองมัณฑเลด้วยเกิดมีเมืองใหม่ที่บนเขาข้างฝ่ายตะวันออก ห่างเมืองมัณฑเลเพียงสัก ๑๕๐๐ เส้น (๔๖ ไมล์) ฉันไม่มีเวลาจะไปดูเปนแต่ได้ทราบเรื่องของเมืองนั้น ว่าเมื่อแรกอังกฤษได้ประเทศพะม่าเหนือเปนอาณาเขตต์ แต่งกองทหารไปเที่ยวตรวจท้องที่ต่างๆ นายพันเอกคนหนึ่งชื่อ เม Colonel May ไปเห็นที่ราบมีอยู่บนภูเขาแห่งหนึ่ง สูงกว่าระดับทะเลสัก ๕๐๐ วา (๓๐๐๐ ฟุต) เปนที่อากาศเย็นตลอดปีและมีน้ำบริบูรณ์ เมื่อรัฐบาลสร้างถนนไปเมืองไทยใหญ่ Shan State ฝ่ายเหนือ จึงได้กรุยถนนผ่านไปทางที่ราบนั้น แล้วให้ถากถางที่ตำบลนั้นตั้งสถานีที่พัก สำหรับพวกฝรั่งหนีร้อนขึ้นไปอาศัยตามระดูกาล นานมามีบ้านเรือนมากขึ้นโดยลำดับจนกลายเปนเมือง รัฐบาลให้เรียกชื่อตามนามนายพันเอกเมผู้ไปพบว่า “เมมะโย” May Myo (แปลว่า “เมืองเม” ด้วยคำ “มะโย” ภาษาพะม่าหมายความว่า “เมือง”) แต่ในสมัยเมื่อก่อนใช้รถยนต์ จะไปจากเมืองมัณฑเลต้องค้างทางคืนหนึ่งจึงถึงเมืองเมมะโย พอใช้รถยนต์กันแพร่หลายอาจจะไปจากเมืองมัณฑเลให้ถึงได้ใน ๒ ชั่วโมง เมืองเมมะโยก็เลยรุ่งเรือง ด้วยพวกฝรั่งในเมืองพะม่าแม้จนเจ้าเมืองพะม่าและข้าราชการในเมืองร่างกุ้ง ตลอดจนพวกที่อยู่ในเมืองมัณฑเล พากันไปสร้างที่พักในระดูร้อนมากกว่ามาก ที่สุดกองทหารซึ่งเคยตั้งอยู่ในป้อมดัฟเฟอริน (นครมัณฑเล) ก็ย้ายไปตั้งอยู่ที่เมืองเมมะโย เหตุที่ย้ายนั้นชอบกลเพราะอังกฤษไม่ไว้ใจไม่เอาพะม่าเปนทหารมาแต่ไรๆ ใช้แต่เพียงเปนตำรวจ Police ทหารที่อังกฤษใช้เปนกำลังรักษาเมืองพะม่ามีแต่ทหารฝรั่ง กับทหารแขกชาวอินเดียฝ่ายเหนือ ภายหลังมาลองเกลี้ยกล่อมพวกกาชิน Kachin อันคล้ายกับไทยใหญ่ ตั้งภูมิลำเนาอยู่ข้างตอนต่อกับประเทศจีนหัดเปนทหารขึ้นอีกพวกหนึ่ง คนทั้งสามพวกที่กล่าวมาทนอากาศระดูร้อนในเมืองมัณฑเลมิใคร่ได้ เมื่อบ้านเมืองราบคาบแล้ว จึงให้ย้ายกองทหารไปตั้งอยู่ที่อากาศเย็นให้เปนสุขสบาย เมื่อย้ายกองทหารไปแล้ว ที่ในนครมัณฑเลก็เปนที่ว่างอยู่โดยมาก แต่งที่คล้ายกับเปนวนะ Park ผิดกับวนะแห่งอื่นที่มีกำแพงเมืองกับคลองคูบัวล้อมรอบ และมีราชวังตั้งอยู่กลางรักษาสอาดสอ้านตลอดพื้นที่ ถ้าจะว่าดีกว่าเมื่อยังเปนราชธานีก็ว่าได้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ