เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๗ ล่องแม่น้ำเอราวดี (ท่อนที่ ๒)

เมื่อล่องลงมาทางแม่น้ำเอราวดี สังเกตดูวิธีที่บริษัทเขาจัดการรับส่งคนโดยสารและสินค้า เขาเอาเรือลำเลียงเที่ยวจอดไว้ตามตำบลที่เขากำหนดเปนสถานีรายเปนระยะตลอดลำแม่น้ำ เรือลำเลียงนั้นต่อด้วยเหล็ก ข้างบนทำเปนโรงไม้มุงสังกะสี มีฝารอบเปิดเปนทางเดินผ่านตามขวางที่กลางเรือเหมือนกันทุกลำ ใครจะฝากสินค้าขาออกก็เอาไปส่งลงบรรทุกไว้ในเรือลำเลียง ถ้าเรือไฟมีสินค้าจะส่งที่ตำบลนั้นก็ขนลงไว้ในเรือลำเลียง เวลาเรือไฟไปถึงถ้าสินค้าขาออกมีในเรือลำเลียงน้อยก็ขนเอาลงเรือลำเลียงที่ผูกข้างไป ถ้าสินค้ามีมากก็เปลี่ยนเอาเรือลำเลียงลำที่จอดมาผูกข้าง ปลดเอาลำที่ผูกข้างมาเข้าจอดไว้แทน แต่เรือไฟชนิดที่พวกเรามาเปนเรือด่วน Express Steamer (เหมือนอย่างรถไฟด่วน) ไม่แวะทุกสถานี เขามีเรือไฟอีกพวกหนึ่งซึ่งสำหรับแต่รับส่งสินค้าเที่ยวแวะทุกระยะ นอกจากนั้นยังมีเรือไฟขนาดย่อมลงมา เรียกว่าเรือรับส่ง Ferry Steamer เดินเปนระยะ เช่นในระวางเมืองมัณฑเลกับเมืองแปรเปนต้นทุกวัน เรือพวกนี้เที่ยวจอดรับคนโดยสารทุกสถานี เมื่อฉันล่องลงมาผ่านกับเรือไฟของบริษัทวันละหลาย ๆ ลำ ฉันถามเขาว่าบริษัทใช้คนจำพวกใดในการเดินเรือ เขาบอกว่านายเรือกับต้นหนและต้นกลเปนฝรั่ง นอกจากนั้นใช้แขกอินเดียพวกถือศาสนาอิสลามทั้งนั้น ด้วยเหมาะแก่การดังกล่าวมาแล้วในตอนว่าด้วยกลาสีเรือเดินทะเล จ้างพะม่าใช้แต่ในการแบกขนสินค้า เพราะพะม่าวิสัยมักดุบางทีก็เมามายไว้ใจไม่ได้ ข้อนี้กล่าวเปนยุติกันทุกทาง ว่าวิสัยพะม่าเอาไว้ในวินัย Discipline ไม่ได้ เมื่อครั้งพระเจ้ามินดงเคยจัด “ทหารอย่างยุโรป” ให้ฝรั่งเปนครู ก็ฝึกหัดได้แต่อย่างอื่นแต่หัดให้ประพฤติวินัยทหารไม่ได้ ว่าต่อไปถึงเรือที่ใช้ในแม่น้ำเอราวดี ยังมีเรือพะม่าอีกหลายอย่าง เรื่องเรือพะม่าฉันเคยได้ยินกล่าวกันมาแต่ยังหนุ่มว่าเรือของไทยชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า “เรือไพม้า” นั้นเรียกเพี้ยนมาจาก “เรือพะม่า” เพราะเอาแบบเรือพะม่ามาทำ เมื่อไปเห็นเรือในเมืองพะม่า ปลาดใจที่ไม่เห็นมีเหมือนเรือไพม้าหรือเรืออย่างอื่น ๆ ที่ใช้กันในเมืองไทยสักอย่างเดียว ชวนให้สันนิษฐานว่าแบบเรือที่ใช้กันในเมืองไทย พวกเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือไพม้าเปนแบบไทยพวกเรือต่อเช่นเรือสำปั้นเปนต้น ไทยได้แบบมาจากจีนเปนขึ้น แต่ที่ว่านี้ยังไม่ได้พิจารณาถ้วนถี่ ฉันอาจเข้าใจผิดก็เปนได้ เรือพะม่าขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับบรรทุกสินค้ารูปร่างเพรียวกว่าเรือบรรทุกเข้าในเมืองไทย มีประทุนแต่กลางลำไปจนข้างท้าย แต่ที่ถือท้ายทำสูงคล้ายกับเรือแหวดสำหรับคนถือหางเสือนั่งบางลำถึงทำหลังคาและจำหลักลวดลายใต้ที่นั่งถือท้ายหรูหรา ส่อว่าเห็นจะเกิดแต่ตัวนายเรือเปนผู้ถือหางเสือ และต้องทำที่นั่งสูงเพราะจะให้แลเห็นร่องน้ำถนัด เรือชนิดนี้ขาร่องตีกรรเชียงขาขึ้นแล่นใบหรือถ่อ ยังมีเรือใบประเภทเดียวกันที่ย่อมลงไปถือท้ายด้วยพายใหญ่อย่างเรือแม่ปะที่กลางลำมีทั้งประทุนบรรทุกของและมีปรำให้คนโดยสารนั่งต่อไปข้างหน้า นอกจากนั้นก็เปนเรือสำหรับใช้ไปมา และที่สุดถึงเรือจ้างสำหรับข้ามฟากแต่เรือจ้างนั้นเปนอย่างแจวข้างคนเดียว เห็นได้ว่าอย่างมาแต่เรือสำปั้นจีน เช่นใช้เปนเรือจ้างที่เมืองสิงคโปร์และปีนัง เปนแต่ต่อให้หาเพรียวเพราะสายน้ำแรง เรือพะม่าเหล่าที่ว่ามานี้หาผลประโยชน์ตามหมู่บ้านที่เรือกำปั่นไฟไม่แวะ หรือที่มีหาดน้ำตื้นออกไปไกลเรือกำปั่นเข้าไม่ถึงและใช้ในลำน้ำตื้นฯ ที่เรือกำปั่นไม่กล้าเข้า ยังมีที่เที่ยวรับจ้างได้พอเลี้ยงตัว เรือพะม่าพวกเหล่านี้จึงยังมีอยู่ แต่จำนวนคงน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก แพซุงและแพบรรทุกสินค้าเช่นหม้อน้ำเคลือบที่ทำ ณ เมืองบาโม (บ้านหม้อ) เปนต้น ก็พบเนืองๆ เขาว่าสินค้าในตอน “แผ่นดินแห้ง” Dry Zone นี้ มีเข้าเปลือกกับฝ้ายและน้ำตาล Jaggery (ว่าเปนน้ำตาลดำ) เปนสำคัญ เข้าเปลือกเอาไปส่งโรงสีไฟตามเมืองรายทาง ฝ้ายส่งขึ้นไปขายทางเมืองจีนและน้ำตาลดำส่งลงมาขายที่เมืองร่างกุ้ง นอกจากนั้นก็มีไม้ขอนสักและสินค้าเบ็ดเตล็ดเช่น เขาและหนังสัตว์ส่งลงไปขายที่เมืองร่างกุ้งเหมือนกัน

ลำน้ำเอราวดีตอนที่เรือล่องลงมาวันแรก ออกจากเมืองมัณฑเลผ่านเมืองอมรบุระ เมืองสะแคง และเมืองอังวะมาโดยลำดับ เมื่อใกล้ถึง “สะพานอังวะ” ที่ทำข้ามแม่น้ำเอราวดี แลเห็นพระเจดีย์ในราชธานีทั้ง ๔ เมืองนั้นในขณะเดียวกัน เพราะเมืองตั้งใกล้ๆ กันดังกล่าวมาแล้ว สะพานอังวะเปนสะพานเหล็กอย่างเปิดไม่ได้เรือกำปั่นต้องลอด เขาบอกว่าเรือกำปั่นของบริษัทลอดได้เสมอเว้นแต่ปีไหนน้ำขึ้นสูงผิดปกติจึงลอดไม่ได้แต่ก็เพียงสักสองสามวัน เมื่อเรือผ่านเมืองสะแคงเห็นเทือกภูเขาอยู่ใกล้ลำน้ำ มีพระเจดีย์วิหารก่อรายตามยอดและไหล่เขาแลดูครึกครื้นดี ทั้งในลำน้ำตอนนี้เรือก็ล่องสดวก ด้วยมิใคร่มีหาดออกมาไกลนัก เขาเล่าว่าข้างใต้เมืองอังวะแห่งหนึ่ง มีเทือกศิลาภูเขาเมืองสะแคงออกมาเปน “สะพานหิน” ขวางอยู่ใต้น้ำ แต่ก่อนในระดูแล้งเวลาน้ำงวดเรือกำปั่นขึ้นไปได้เพียงถึงสะพานหินก็ต้องหยุด พระเจ้ามินดงเห็นเปนที่คับขัน จึงให้สร้างป้อมทั้ง ๒ ฟาก เมื่ออังกฤษยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองพะม่าครั้งหลัง พระเจ้าสีป่อให้เอาเรือกำปั่นเก่า ๆ ของหลวงมาจมขวางร่องน้ำที่สะพานหิน หวังจะให้กีดขวางทางเรืออังกฤษ แต่นานมาเรือที่จมไว้ตรงนั้นกันสายน้ำให้แปรไปกัดตลิ่งที่พ้นเทือกสะพานหินกลายเปนลำน้ำ เดี๋ยวนี้ที่ตรงนั้นเรือขึ้นล่องได้ทุกระดู บริษัทเลยเอาวิธีจมเรือขวางน้ำไปแก้ที่อื่นก็ได้ผลอย่างเดียวกัน คิดดูก็ชอบกล ถึงบังคับสายน้ำเอราวดีไม่ได้ ก็อาจจะ “ยั่ว” ให้เปลี่ยนไปได้ดังประสงค์ ค่ำวันนั้นเรือจอดพักที่ใกล้ปากน้ำชินด์วิน ที่บริษัทบอมเบเบอม่าได้รับอนุญาตทำป่าไม้สัก แล้วเลยเปนเหตุให้อังกฤษวิวาทกับพะม่าเมื่อครั้งพระเจ้าสีป่อ

วันพฤหัสบดีที่ ๓๐ มกราคม พอรุ่งสว่างเขาก็ออกเรือแต่เวลาพวกเรายังไม่ตื่นนอน มาแวะรับสินค้าที่สถานีแห่งหนึ่งแล้วล่องต่อมา แม่น้ำเอราวดีตั้งแต่ใต้ปากน้ำชินด์วิน น้ำทั้ง ๒ แม่น้ำลงมารวมกันทำให้สายน้ำแรงกัดตลิ่งพังลึกเข้าไปกว่าทางข้างเหนือมาก ที่บางแห่งดูไปจากฟากข้างหนึ่งแลเห็นทิวไม้ฟากข้างโน้นแต่ลิบ ๆ ในหนังสือนำทางว่ากว้างถึง ๑๐๐ เส้น แต่ในตัวแม่น้ำเองเปนหาดทรายใหญ่น้อยเต็มไปทั้งนั้น ที่บางแห่งทางน้ำไหลแยกเปนหลายสาย แบ่งเอาน้ำไปเสียทางอื่นทำให้ร่องทางที่เรือเดินตื้นขึ้น และมีหาดยื่นออกมาให้ร่องน้ำคดเคี้ยว เรือจึงขึ้นล่องยากในตอนนี้ดังพรรณนามาแล้ว เรือถึงตำบลหนองอู Hnaung U ท่าขึ้นเมืองพุกามเวลา ๑๐ นาฬิกา พวกเราขึ้นบกที่นั้นเปนอันได้มาเรือด่วนลำชื่อ “แอสแสม” Assam เพียงนี้

วันที่ ๓๐ ที่ ๓๑ มกราคมและวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พักอยู่ที่เมืองพุกาม

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ