เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ตอนที่ ๙ เที่ยวเมืองร่างกุ้งเมื่อขากลับ

กำหนดเวลาขากลับจากเมืองมัณฑเลมาเมืองร่างกุ้ง เดิมกะว่าจะพักอยู่ดูเมืองแปรแต่วันเดียว จะมาถึงเมืองร่างกุ้งวันพฤหัสบดี ที่ ๖ กุมภาพันธ์ พักอยู่วันหนึ่งแล้วลงไปเที่ยวเมืองเมาะตะมะ Mataban และเมืองเมาะลำเลิง Moulmen ๒ วัน กลับเมืองร่างกุ้งวันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พักอยู่วันหนึ่งพอถึงวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ กำหนดวันเรือเมล์ออก ก็จะกลับจากเมืองร่างกุ้งมาเมืองปีนัง แต่การที่จะไปเมืองเมาะตะมะและเมาะลำเลิงจะต้องไปรถไฟตลอดคืน ขากลับมาเมืองร่างกุ้งก็จะต้องมารถไฟตลอดคืนเช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อขึ้นไปถึงเมืองมัณฑเล เจ้าหญิงพากันระอารถไฟเมืองพะม่า มาร้องทุกข์ว่าไปเมืองเมาะตะมะต้องนอนในรถไฟ ๒ คืนติดๆ กันเห็นจะทนไม่ไหวก็ออกสงสาร จึงไปตรวจดูในหนังสือนำทางและสอบถามพวกที่เขาเคยไป ได้ความว่าที่เมืองเมาะตะมะและเมืองเมาะลำเลิงนั้น มีสิ่งสำคัญแต่โรงสีไฟกับโรงจักรเลื่อยไม้ ของปลาดที่น่าดูอยู่ที่ใช้ช้างขนซุง ล้วนเปนของที่มีในเมืองไทยเคยเห็นแล้วทั้งนั้น ถามถึงของโบราณทางนั้น เขาบอกว่ามีอยู่ที่เมืองสะเทิม Thaton ซึ่งรถไฟจะผ่านไปในเวลาดึก และตัวเมืองเดิมก็อยู่ห่างทางรถไฟเข้าไปมาก ถ้าจะไปดูเมืองสะเทิมจะต้องลงจากรถไฟไปค้างคืนที่นั่นจึงจะเที่ยวดูได้ คือว่าจะต้องเพิ่มจำนวนวันอีก ๒ วัน ตรวจดูในหนังสือก็ว่าที่เมืองสะเทิมไม่มีของโบราณน่าดูเหมือนอย่างเมืองพุกามและเมืองแปร จึงตกลงงดการที่จะไปเมืองเมาะตะมะและเมืองเมาะลำเลิง เอาวันที่ตัดไปเพิ่มเปนอยู่เมืองแปร ๒ วัน ก็เหมาะดีหนักหนา เลื่อนวันกลับมาถึงเมืองร่างกุ้งเปนวันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ และเพิ่มวันพักอยู่เมืองร่างกุ้งตอนนี้เปน ๔ วัน ก็เหมาะดีอีกดังจะเล่าต่อไป จึงไม่เสียดายที่มิได้ไปเมืองเมาะตะมะ เพราะที่จริงเมืองนั้นขึ้นชื่อลือนามในพงศาวดารไทยแต่ด้วยเคยเปนฐานทัพในสมัยเมื่อไทยรบกับพะม่าครั้งกรุงศรีอยุธยา สิ่งอันใดในครั้งก็ไม่มีเหลือแล้ว

วันศุกร์ที่ ๗ กุมภาพันธ์ รถไฟถึงเมืองร่างกุ้งแต่เช้าตรู่ดังกล่าวมาแล้ว กลับมาโฮเต็ลนอนอยู่จนกลางวัน ตื่นขึ้นกินอาหารกลางวันแล้วกงซุลส่งห่อจดหมายมาให้ เปนจดหมายที่มาจากกรุงเทพฯ บ้าง มาจากปีนัง และบันดุงบ้าง ซึ่งส่งมาฝากไว้ที่สถานกงซุล เปิดออกดูก็ได้ทราบข่าวร้ายเปนเบื้องต้น ว่าเสด็จพระองค์หญิงวานีรัตนกัญญา กรมหมื่นพงศาดิศรมหิป พระองค์หญิงอรพินธุ์เพญภาค ประชวรสิ้นพระชนม์ติดๆ กันทั้ง ๓ พระองค์ สิ้นเจ้านายในคราวเดียวกันรวม ๔ พระองค์ทั้งสมเด็จหญิงน้อย อนาถใจอย่างยิ่ง เมื่อทูลกระหม่อมหญิง เจ้าฟ้ากรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทรเสด็จยุโรปปีกลายนี้ พระองค์หญิงอรพินธุ์เธอเสด็จมาส่งถึงปีนัง ฉันเชิญเสด็จมาเสวยกลางวันที่ซินนามอนฮอลวัน ๑ ตรัสว่าไม่ทรงทราบว่ามีที่สบายจึงไปประทับอยู่โฮเต็ล ต้องปะปนกับคนจรพลุกพล่านไม่พอพระหฤทัย แต่เที่ยวเมืองปีนังสนุกดีจะเสด็จมาอีก จะมาพักซินนามอนฮอลได้หรือไม่ ฉันทูลว่าถ้าเสด็จมาอีกฉันจะรับเสด็จประทับที่ซินนามอนฮอลด้วยความยินดี แต่ก็ยังไม่มีโอกาสจะเสด็จมาจนสิ้นพระชนม์

บ่ายวันนี้ว่างจึงชวนกันไปเที่ยวหาซื้อของฝากพวกพ้อง เพราะคราวนี้ฉันไม่ได้คิดจะแต่ง “นิราศ” พิมพ์เปนของฝากเหมือนเมื่อครั้งไปนครวัด แต่กรณีก็มีอย่างเดียวกันเหมือนเช่นกล่าวไว้ในกลอนคำนำนิราศนครวัด ว่า “จะซื้อหาสิ่งใดมาให้เล่า ทุนของเราก็ไม่พอต้องท้อถอย” จะต้องหาของเมืองพะม่าที่ราคาถูกๆ เปนของฝาก ได้ซื้อเครื่องรักมาแต่เมืองพุกามบ้างแล้ว ให้เจ้าหญิงช่วยเที่ยวหาของฝากผู้หญิง ฉันเที่ยวหาของฝากผู้ชาย ได้ของควรใช้เปนของฝากได้ ๓ อย่าง คือ เกือกอย่างพะม่าเช่นเขาชอบใช้กันในพื้นเมืองทั้งผู้หญิงและผู้ชายอย่าง ๑ ดุมเสื้อทำด้วยแก้วสีต่างๆ ซึ่งผู้หญิงพะม่าชอบใช้อย่าง ๑ กับบุหรี่พะม่าอย่างก้นตัดเรียกกันว่ เชรูต Cheroot อย่าง ๑ บุหรี่ที่ว่านี้เปนสินค้าใหญ่ของเมืองพะม่า ด้วยคนชอบสูบกันแพร่หลายจนถึงเมืองอื่นๆ แม้จนเมืองปีนังและตลอดไปจนในอินเดีย ในเมืองพะม่าเองดูเหมือนจะไม่มีใครสูบบุหรี่ฝรั่งเลยก็ว่าได้ เพราะบุหรี่พะม่าราคาถูกกว่าบุหรี่ฝรั่งถึงครึ่งตัว ยาสูบพะม่าก็รสดีเปนแต่จะฉุนเกินไปสักหน่อย ฉันเที่ยวหาบุหรี่พะม่าอย่างที่ไม่สู้ฉุนเกินไปพบที่ร้านแขกอับดุลลา Ab dulla อยู่ใกล้ๆ กับโฮเต็ล เรียกว่า “กุหลาบขาว” White Rose เปนยาปลูกที่เมืองเมาะลำเลิงลองสูบรสดีพอใจ ขายราคาเพียง ๑๐๐ ละ ๒ รูปีย์ ซื้อเอามาหลายร้อย ให้ใครๆ ก็ชอบ แต่เมื่อหมดลงอยากจะได้อีก ไปลองว่าให้แขกขายบุหรี่เชรูตที่เมืองปีนังสั่งบุหรี่อย่างกุหลาบขาว เขาบอกจะสั่งก็ได้แต่เมื่อเอามาขายในปีนังราคาจะถึงราว ๑๐๐ ละ ๓ เหรียญหรือ ๔ เหรียญ เพราะต้องเสียค่าสั่งค่าส่งและเสียค่าภาษีเพิ่มราคาบุหรี่ขึ้นอีก ได้ฟังก็เลยสิ้นประสงค์

ฉันได้กล่าวในตอนเล่าเรื่องเมืองร่างกุ้งเมื่อขาไป ว่าจะรวมเรื่องที่เขาเชิญไปในที่ต่างๆ ไว้เล่าต่อเมื่อขากลับ จะพรรณนาต่อไป ในตอนนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มกราคม วันฉันจะขึ้นไปเมืองมัณฑเล ในตอนบ่ายพวกคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชิญไปเลี้ยงน้ำชาแล้วพาดูมหาวิทยาลัย เหตุที่เชิญนั้นคงเปนเพราะเจ้าฉายเมืองกับเจ้าขุนศึกลูกเจ้าฟ้าเชียงตุงไปบอกครูบาอาจารย์ว่าฉันเปนใคร ได้อุปการะแก่เธอมาแต่ก่อนอย่างไร และได้ชอบพอกับบิดาของเธอมาอย่างไร อาจารย์ใหญ่ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยจึงเชิญไป แต่ก็น่าไปดู ด้วยมหาวิทยาลัยนี้เพิ่งสร้างมาได้สัก ๑๐ ปี แต่เดิมโรงเรียนสอนวิชาชั้นสูงมีของรัฐบาลโรง ๑ ของพวกมิชชันนารีโรง ๑ ตั้งอยู่ในเมืองร่างกุ้งเปนอิสสระแก่กัน ครั้งการเล่าเรียนเจริญมีจำนวนนักเรียนมากขึ้น เกิดลำบากด้วยที่ไม่พอกับนักเรียนทั้ง ๒ แห่ง เมื่อรัฐบาลขยายเมืองร่างกุ้งให้กว้างขวางออกไป จึงชวนโรงเรียนทั้ง ๒ นั้นให้รวมกันตั้งเปนมหาวิทยาลัย ดูเหมือนรัฐบาลให้ที่ดินและเงินช่วยเกื้อกูล จึงย้ายที่ออกไปตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นข้างนอกเมือง มีพื้นที่ใหญ่โตระโหฐาน ทำแผนผังแบ่งที่เปนหลายบริเวณ กิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เปนต้นว่าที่สอนวิชาก็อยู่บริเวณ ๑ ที่อยู่ของนักเรียนผู้ชายอยู่บริเวณ ๑ วิทยาลัยและที่อยู่นักเรียนผู้หญิงก็อยู่บริเวณ ๑ เนื่องกันไป มีจนเรือนที่อยู่ของพวกครูบาอาจารย์ และสนามเล่นของพวกนักเรียน อยู่ในเขตต์มหาวิทยาลัยนั้น สร้างตึกใหญ่ๆ สูง ๒ ชั้น ๓ ชั้นอย่างสมัยใหม่เรียงรายกันเปนถ่องแถวตามแผนผังที่คิดแต่แรกในครั้งเดียวกัน แลดูเรียบร้อยไม่รำคาญตา เปนแต่ต้นไม้และสนามหญ้ายังไม่เจริญถึงขนาดเท่านั้น จำนวนนักเรียนในมหาวิทยาลัยว่าเดี๋ยวนี้มีสัก ๑,๐๐๐ แต่ยังเพิ่มขึ้นเสมอ มีคนทุกชาติที่เปนชาวเมืองพะม่าตลอดจนพวกไทยใหญ่ ดูเหมือนรัฐบาลอุดหนุนมากที่จะให้พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ส่งลูกหลานมาเรียนในมหาวิทยาลัย

เมื่อพวกเราไปถึงเขารับที่ตึกหลังกลางอันเปนห้องที่ประชุม พอฉันลงจากรถเข้าไปในห้องคอยเห็นรูปภาพศิลาจำหลักแต่โบราณตั้งเรียงอยู่ตามฝาหลายรูป พออาจารย์ใหญ่ชักนำให้รู้จักพวกคณาจารย์ที่มาคอยรับแล้วฉันถามเขาว่ารูปศิลาโบราณที่ตั้งรายไว้นั้นมาแต่ไหน เขาบอกว่ารูปเหล่านั้นเดิมอยู่ ณ เมืองสะเทิม รัฐบาลเอามาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถาน เมื่อสร้างมหาวิทยาลัยรัฐบาลเอามาฝากไว้ จนมีพิพิธภัณฑ์สถานขึ้นใหม่เมื่อใดจึงจะเอาคืนไป ฉันทราบก็ยินดีด้วยอยากจะเห็นของโบราณที่เปนแบบอย่างสร้างเมืองสะเทิมอยู่แล้วตั้งแต่แรกไปถึง ไปสืบถามที่เมืองมัณฑเลและเมืองพุกามก็ว่าไม่มีที่นั่น เพิ่งมาพบที่นี่จึงขออนุญาตเขาพิจารณาดูจนทั่ว ชิ้นดีมีรูปพระศิวรูป ๑ รูปพระวิษณุบรรทมสินธุ์รูป ๑ แบบเครื่องแต่งตัวเปนเค้าเดียวกันกับรูปพระวิษณุที่ได้เห็น ณ เมืองพุกาม ส่อว่าเปนของสมัยเดียวกัน แต่ชิ้นอื่นเปนแต่รูปเทวดาแลมารอย่างย่อมๆ ไม่วิเศษอย่างไร แต่ขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีพระพุทธรูป เลยไม่รู้ว่าพระพุทธรูปโบราณแบบเมืองสะเทิมจะเปนอย่างไร เมื่อดูของโบราณแล้วเขาพาเข้าไปในห้องประชุมตั้งโต๊ะเตรียมเลี้ยงไว้หลายโต๊ะ คนเขาเชิญไปในวันนั้นมีทั้งฝรั่งแขกและพะม่าบรรดามีตำแหน่งในมหาวิทยาลัยรวมกว่า ๓๐ คน ตั้งแต่ตัวผู้บังคับบัญชาการกับภรรยาและพวกสาตราจารย์กับภรรยา ตลอดจนพวกลูกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ที่เปนนักเรียนด้วยอีกหลายคน พวกเจ้าไทยใหญ่ถึงไม่เคยรู้จักกันดูก็แสดงกิริยาอัธยาศัยเคารพนบนอบอย่างนับถือว่าเปนไทยด้วยกัน เลี้ยงเสร็จแล้วเขาพาเที่ยวดูในตึกมหาวิทยาลัย เช่น ห้องสมุดเปนต้น เวลานั้นเขากำลังจะพิมพ์ศิลาจารึกโบราณ เอาแผ่นจำลองจารึกภาษาอักษรไทยที่เขาพบ ณ เมืองเชียงตุงมาให้ดูแผ่นหนึ่ง เปนตัวอักษรสุโขทัย ฉันได้ยินมาแต่ก่อนแล้ว มีศิลาจารึกโบราณเปนอักษรสุโขทัยปรากฎทั้งในอาณาเขตต์ลานช้างและอาณาเขตต์เชียงตุง พิเคราะห์ศักราชที่จารึกส่อว่าพอพระเจ้ารามคำแหงมหาราชตั้งแบบตัวหนังสือไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ แล้ว ในไม่ช้าต่างประเทศที่เปนไทยก็เอาไปใช้หลายเมือง แต่เพิ่งได้พิสูจน์ดูตัวอักษรครั้งนี้ เปนอักษรสุโขทัยแบบสมัยต่อรัชชกาลพระเจ้ารามคำแหงมา ซึ่งเขียนสระทั้งข้างหน้าหลังและเหนือใต้ตัวพยัญชนะ เวลาเย็นมากแล้วดูแต่ห้องสมุดกับห้องแปรธาตุแล้วก็ลากลับมา แต่เมื่อกลับมาถึงเมืองปีนังแล้วไม่ช้ามารู้สึกช่วยร้อนใจในเรื่องมหาวิทยาลัยเมืองร่างกุ้ง ด้วยได้ข่าวว่ามีพวกทรชนยุนักเรียนพะม่าพวกหนี่งให้ร้องขอมีอำนาจต่างๆ ในโรงเรียน ไม่ได้ดังใจก็พากันหยุดเรียน Strike สัก ๔๐๐ คน รัฐบาลเข้าอุดหนุนผู้บัญชาการนักเรียนพวกนั้นจึงยอมแพ้

จะเลยเล่าถึงเรื่องพบบุคคลต่างๆ ต่อไป เมื่อเวลาแรกไปถึงยังไม่ใคร่มีใครรู้ว่าฉันไปเมืองพะม่า แต่เมื่อกลับลงมาถึงเมืองร่างกุ้ง ข่าวที่ฉันไปเมืองพะม่าลงหนังสือพิมพ์แพร่หลายแล้ว คนในเมืองพะม่าที่อยากพบจึงมาหา ไทยที่ออกไปถึงเมืองพะม่าทีหลังกันก็มี คือ หลวงอุปถัมภ เขาไปเมืองพะม่าด้วยกิจธุระส่วนตัวของเขาเลยได้พบปะกันคน ๑ พระประกอบยันตรการออกไปราชการ เผอิญกงซุลจัดให้มาอยู่โฮเต็ลเดียวกับพวกฉันอยู่จึงพบกันอีกคน ๑ ได้ทราบความจากพระประกอบ ปลาดใจว่าเขาไปจากเมืองไทยในวันนั้นเอง ด้วยเดี๋ยวนี้อาจจะไปด้วยเครื่องบินจากดอนเมืองถึงเมืองร่างกุ้งได้ใน ๒ ชั่วโมงครึ่ง เร็วกว่าไปหัวหินด้วย รถไฟเปนไหน ๆ ถ้าออกจากดอนเมืองแต่เช้าไปกินเข้าเช้าที่เมืองร่างกุ้งก็ทันเวลา น่าพิศวงหนักหนา มีไทยที่อยู่เมืองร่างกุ้งมาหาอีกคนหนึ่งชื่อนายไพ ไม่เคยรู้จักกันมาแต่ก่อน บอกว่าเปนลูกของนาย “ยาเลสุข” บิดาได้บอกไว้ว่าคุ้นเคยกับฉัน ๆ ก็นึกได้ นายสุขคนนั้นเปนชาวเมืองหลังสวน เมื่อยังหนุ่มซัดเซพเนจรไปอยู่เมืองระนอง แล้วเลยข้ามแม่น้ำปากจั่นอันเปนเขตต์แดนไปรับจ้างอังกฤษเปนโปลิศ ไปทำความดีมีความชอบได้เปนนายสิบแล้วต่อมาได้เลื่อนยศขึ้นไปโดยลำดับจนเปนจ่านายสิบโปลิศที่เมืองมลิวัน พะม่าเรียก “ยาเล” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓ ฉันไปตรวจการเตรียมรับเสด็จที่เมืองระนอง แวะไปดูเมืองมลิวันนายอำเภอฝรั่งให้โปลิศตั้งแถวรับเปนกองเกียรติยศ นายสุขเปนคนคุมแถว ฉันไม่รู้ว่าเปนไทยจนพระยาดำรงสุจริต (คอซิมก๊อง ณะระนอง) เมื่อยังเปนพระยาระนองบอกว่านายโปลิศคนนั้นเปนไทยชาวเมืองหลังสวนชื่อ สุข พอมีโอกาสฉันจึงเรียกตัวเข้าไปปราสัยหมายว่าจะพบกันเพียงเท่านั้น ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จข้ามแหลมมลายูโดยทางบกไปถึงท่าเรือปากจั่น ฉันแลข้ามฟากไปทางแดนอังกฤษเห็นตามบ้านเรือนราษฎรขึงผ้าแดงแต่งใบไม้ตั้งเครื่องบูชาโดยมากก็ออกนึกปลาดใจ เมื่อตามเสด็จลงมาทางเรือก็เห็นบ้านเรือนทางแดนอังกฤษแต่งรับเสด็จเหมือนอย่างนั้นทางข้างฝั่งแดนอังกฤษเนื่องกันมา ฉันถามพระยาระนองว่า นี่เหตุใดราษฎรทางแดนอังกฤษจึงแต่งบ้านรับเสด็จด้วย พระยาระนองบอกว่าคนทางฝั่งโน้นเปนไทยก็มีมาก เห็นจะเปนนายยาเลสุขเที่ยวชวนให้แต่ง เพราะโปลิศเปนพนักงานตรวจตราตามท้องที่ ครั้นเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ เมืองระนองนายยาเลสุขแต่งตัวอย่างนายโปลิศมาหาฉัน บอกว่ามีของอยากจะทูลเกล้าฯถวาย (จะเปนอะไรฉันลืมไปเสียแล้ว) ปรึกษาว่าฉันจะทำอย่างไรดี ฉันถามถึงเรื่องที่ราษฎรทางแดนอังกฤษแต่งบ้านเรือนรับเสด็จ นายยาเลสุขตอบว่า ไทยที่ไปอยู่ในแดนฝรั่งก็ยังเปนไทย เปนข้าของพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน ฉันนึกขอบใจจึงกราบบังคมทูลแล้วนำนายยาเลสุขถวายของ ก็ทรงปราสัยให้ยินดีชื่นบาน ตั้งแต่นั้นฉันไม่ได้พบกับนายยาเลสุขอีก จนถึงรัชชกาลที่ ๖ เมื่อฉันไปอยู่วังวรดิศแล้วนายยาเลสุขเข้าไปกรุงเทพฯ แวะไปหา บอกว่ารับราชการอยู่กับอังกฤษจนอายุถึงอัตราลาออกรับเบี้ยบำนาญแล้ว กลับมาอยู่เมืองหลังสวนอย่างเดิม เรื่องประวัติของนายไพก็อยู่ข้างแปลกเล่าว่าเมื่อบิดาเปนนายโปลิศอังกฤษอยู่ที่เมืองมลิวันนั้นตัวยังเปนเด็ก บิดาส่งไปเรียนที่เมืองร่างกุ้ง เมื่อสำเร็จการเรียนแล้วนึกว่าตัวเปนไทย จึงกลับเข้าไปกรุงเทพฯ หมายจะไปรับราชการ ได้เข้าทำราชการอยู่ในกรมหนึ่ง แต่ไปเกิดไม่พอใจ (จะเปนด้วยเหตุอันใดฉันไม่ได้ถาม) จึงกลับออกไปเมืองร่างกุ้ง ด้วยมีคนคุ้นเคยแต่ครั้งยังเปนนักเรียนอยู่มาก ไปได้ภรรยามีบ้านช่องไร่นาหาเลี้ยงชีพได้สดวกก็เลยอยู่ในเมืองพะม่า ฉันตอบว่าถ้าตั้งตัวได้ก็ดีแล้วควรอยู่ในเมืองพะม่าสืบไปขอให้เปนสุขสำราญเถิด ต่อนี้มีพระมาหา ๒ องค์ ครองแหวก อย่างไทยเหมือนกัน แต่สังเกตได้ว่ามิใช่พระไทยองค์หนึ่ง พระองค์ที่เปนไทยอายุเห็นจะราว ๓๐ ปี เล่าเรื่องประวัติให้ฟังว่า ตัวเธอชื่อ “บุญชวน” เปนชาวเมืองสุราษฎร์ธานี บวชแล้วเข้าไปเล่าเรียนอยู่ที่วัดปทุมคงคาในกรุงเทพฯ ต่อมาได้เปนตำแหน่งสมุห์ในถานานุกรมของเจ้าอาวาส ได้ฟังพระที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศเล่า นึกอยากไปเที่ยวบูชาถึงมหาเจดีย์สถานในอินเดียบ้าง จึงลาออกจาริกเดินบกไปเมืองพะม่าแล้วเลยไปถึงอินเดีย ได้เที่ยวอยู่ในอินเดียถึง ๓ ปี ได้ไปบูชาถึงที่พระบริโภคเจดีย์ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตครบทั้ง ๔ แห่ง และได้ถึงไปสถานที่สำคัญในตำนานพระพุทธสาสนาแห่งอื่นอีก เช่นถ้ำคูหาที่ทำปฐมสังคายนา ณ เมืองราชคฤห์เปนต้น ตลอดจนไปจำพรรษาอยู่ ณ เมืองดาชิลิงบนเทือกภูเขาหิมาลัย หรือถ้าว่าตามคำโบราณก็คือได้ไปถึงป่า “หิมพาน” ดูได้เที่ยวมากกว่าพระภิกษุไทยองค์อื่นๆ ที่ฉันได้เคยพบมา แต่อันไม่เคยรู้จักกับเธอมาแต่ก่อน ก็ไม่หลับตาเชื่อตามที่เธอเล่าจึงลองซักไซ้ไล่เลียง เพราะที่สำคัญต่างๆ ที่เธอเล่าฉันเคยไปถึง ๓ แห่ง คือที่มหาโพธิสถาน ณ เมืองพุทธคยาแห่ง ๑ ที่มฤคทายวัน ณ เมืองพาราณสีแห่ง ๑ และเมืองดาชิลิงที่เขาหิมาลัยแห่ง ๑ เธอบอกอธิบายได้ถูกต้องจนฉันเชื่อว่าได้ไปจริง แต่อยากจะรู้ถึงที่ไปจำพรรษาอยู่ที่เขาหิมาลัยนั้น ฉันซักไซ้ต่อไปว่าเธอไปอยู่อย่างไร เธอบอกว่าพระธิเบตองค์ที่มาด้วยนี้ชวนเธอไปอยู่ที่วัดธิเบตซึ่งมีจริงและฉันได้เคยไปดู เปนวัดใหญ่ฝ่ายคติมหายานอยู่ในเมืองดาชิลิง เพราะชาวเมืองเปนธิเบตโดยมาก ฉันถามเธอว่าทนหนาวได้อย่างไร เธอบอกแต่ว่าต้องใส่หมวกอย่างพระธิเบตแต่พึงเข้าใจได้ ว่าไปแต่งตัวอย่างพระธิเบต (คล้ายพระจีน) อยู่ตลอดพรรษา เธอบอกต่อไปว่าเมื่อเธอจะกลับมา พระธิเบตองค์ที่มาด้วยอยากจะมาเที่ยวบอกบุญเรี่ยรายเงินไปสร้างโรงเรียนที่วัด เธอจึงชวนให้มาด้วยกัน เมื่อลงมาถึงเมืองร้อนเธอจึงแนะนำให้ห่มผ้าอย่างพระไทย ถามต่อไปว่ายังมีพระไทยเที่ยวอยู่ในอินเดียอีกหรือไม่ เธอบอกว่ายังมีสามเณรวัดราชาธิวาสไปเข้าโรงเรียนอยู่ก็ ๒ องค์ ได้ทราบเรื่องไทยอีกเรื่องหนึ่งเมื่อฉันกลับมาถึงร่างกุ้ง เลขานุการใหญ่ของรัฐบาล บอกว่าราชฑูตอังกฤษในกรุงเทพฯ มีจดหมายไปว่าพระเถระผู้ใหญ่ High Priest องค์หนึ่งจะไปอินเดียและเมืองพะม่า เมื่อไปถึงขอให้จัดที่พักให้อยู่วัดใดวัดหนึ่ง เขาถามฉันว่าจะเป็นพระมหาเถระชั้นสูงเพียงไหน ฉันตอบว่าถ้าได้รู้ชื่อเห็นจะบอกได้ เขาเขียนชื่อส่งมาให้ พอแลเห็นชื่อว่าสมเด็จวชิรญาณวงศก็ตกใจและดีใจด้วยกันทั้ง ๒ สถาน ฉันจึงเขียนบอกไปว่าพระมหาเถระองค์นั้นเป็นเชื้อพระราชวงศ์ และมีสมณศักดิ์สูงถัดแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมา เลยนึกอยากพบต่อไป ถามรัฐบาลก็ไม่ทราบกำหนดว่าจะไปถึงเมืองพะม่าเมื่อใด ต่อฉันกลับมาถึงเมืองปีนังแล้วจึงได้พบกัน เพราะเมื่อท่านไปจากกรุงเทพฯ ลงเรือที่ปีนังตรงไปอินเดียก่อน ได้ไปถึงเมืองพุทธคยา เมืองพาราณสี และเมืองกุสินาราย แต่ไปเวลาล่าไปเข้าระดูร้อนเสียแล้ว ทนร้อนในอินเดียไม่ไหวถึงจับไข้ต้องรีบกลับ เมื่อถึงเมืองพะม่าก็ยังอาพาธ อยู่ที่เมืองร่างกุ้งเพียง ๓ วันพอได้คราวเรือก็กลับมาปีนัง มาหายไข้ในกลางทาง ท่านไปด้วยกันกับพระอีก ๓ องค์ คือพระรัชชมงคลราชาคณะวัดสัมพันธวงศ์ ๑ พระสาธุศีลสังวรราชาคณะวัดบวรนิเวศ เปนผู้นำทางด้วยเปนพระลังกาเคยไปอินเดียองค์ ๑ กับพระหม่อมราชวงศ์ปราโมทย์ศิษย์ของท่านองค์ ๑ หม่อมราชวงศ์โต๊ะ นพวงศ น้องชายของท่านเปนคฤหัสถ์รับหน้าที่เวยยาวัจจกรไปด้วยอีกคน ๑ เมื่อท่านกลับมาพักอยู่ปีนังเปนโอกาสให้ฉันได้ทำบุญและได้สนทนารื่นรมย์อยู่ ๒ วัน ฉันเคยสมาคมกับพระสงฆ์ที่ถือคติหินยาน อ้างได้ว่าหมดทุกชาติ เห็นว่าในการอย่างอื่นพระสงฆ์ไทยดีกว่าพระสงฆ์ชาติอื่นหมด เว้นอย่างเดียวแต่รู้จักมนุษย์โลกยังสู้พระลังกาไม่ได้ เพราะพระสงฆ์ไทยพอใจแต่จะอยู่ในเมืองของตน ถ้ามีพระเถระที่ทรงคุณธรรมไปเที่ยวอินเดียเหมือนอย่างสมเด็จพระวชิรญาณวงศ บ่อยๆ ได้เห็นมัจฌิมประเทศกับทั้งชนิดมนุษยที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระสาสนา ความรู้พระพุทธสาสนาในเมืองเราจะดีขึ้นได้อีกมาก

พวกชาวเมืองที่มาหามี ๓ ราย รายหนึ่งหัวหน้าบริษัทเจ้าของโรงพิมพ์ “หงสาวดี” ซึ่งเคยมีกิจเกี่ยวข้องกับโรงพิมพ์มอญที่ปากลัด แขวงจังหวัดพระประแดง เห็นจะเคยได้ยินชื่อฉันมาจากพวกมอญที่ที่ปากลัด อุสส่าห์มาหาและมีแก่ใจเอาหนังสือพระไตรปิฎกที่เขาพิมพ์ด้วยอักษรพะม่าเย็บเป็นสมุดหลังหนังมาให้เล่มหนึ่ง ฉันแสดงอนุโมทนาด้วยความยินดี อีกรายหนึ่ง มอญชื่ออาจารย์ โปคอย Saya Pro Choe เปนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้เจ้าฉายเมืองนำมาหา เอาสมุดหนังสือ “มหาราชวงศ ฉบับหอแก้ว” แปล (ตามสำนวนเดิม) พิมพ์เปนภาษาอังกฤษ แลพิมพ์ที่โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยออกสฟอดมาให้เล่ม ๑ อาจารย์คนนี้เขามีกิจจะสืบสายเส้นสกุลของเขา ประสงค์จะมาถามหาความรู้ด้วย เขาเขียนสายเส้นสกุลของเขามาให้ดูจะพรรณนาแต่ใจความ คือต้นสกุลของเขาเปนพระเจ้าหงสาวดี มีราชบุตรองค์หนึ่งทรงนามว่า “สุมณะ” Thumana ได้ไปครองเมืองเม้ยวดี (ใกล้กับตำบลด่านแม่สอด) อยู่มากองทัพไทยยกไปตีเจ้าสุมณะหนีไปตั้งเมืองอยู่ใหม่เรียกว่าเมือง “โทปะสวาย” Dopaswai น้องของเจ้าสุมณะองค์หนึ่งทรงนามว่า “มูสม” ได้ครองเมืองเชียงใหม่ วงศของเขาจึงตั้งต้นแยกสาขากันแต่นั้นมา ลูกของมูสมคนหนึ่งชื่อ “มูฟาย” Moophai มีลูกที่ในเมืองไทย ๔ คน คนที่ ๑ ชื่อ “เทวเทศ” Davadean คนที่ ๒ ชื่อ ตะสุ Tasu คนที่ ๓ ชื่อ ขุนฆู Khun Khou คนที่ ๔ เปนหญิงได้เปนภรรยาเสนาบดีไทย ต่อมาในกาลครั้งหนึ่งมีเจ้าไทยพระองค์หนึ่ง ซึ่งภายหลังได้เสวยราชย์เปนพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จไปประพาสถึงเมืองพะม่า ลุงหรืออาว์ Uncle ของเขาชื่อ อูมัตตุน U Myat Tun ซึ่งยังมีตัวอยู่อายุได้ ๘๐ ปี ว่าได้เห็นเจ้าไทยพระองค์นั้นเพิ่งรุ่นหนุ่ม และว่าครั้งนั้นลูกของเจ้ามูฟายคนที่ ๒ กับคนที่ ๓ ได้ตามเสด็จเจ้าไทยออกไปด้วย เขาอยากจะทราบประวัติของญาติทั้ง ๒ คนที่ตั้งวงศสกุลอยู่ในเมืองไทยจึงมาถามฉัน ฉันบอกได้แต่ว่าเจ้าไทยที่เขาว่านั้นคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ แล้วเสด็จไปประพาสอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อขาไปได้เสด็จแวะที่เมืองเมาะลำเลิง แต่ญาติของเขา ๒ คนนั้นฉันไม่เคยได้ยินชื่อ ในเมืองไทยเห็นจะเรียกเปนชื่ออื่น เมื่อกลับมาฉันจะลองสืบดู อีกรายหนึ่งนั้นเจ้าฉายเมืองเธอไปพาอาจารย์พะม่าคนหนึ่งชื่อ อูโปกยา U Po Kya ว่าเปนผู้รู้โบราณคดีเมืองพะม่ามากมาให้ฉันไต่ถามความ ที่อูโปกยาบอกให้ทราบฉันได้เล่ามาในที่อื่นโดยมาก ยังไม่ได้กล่าวแต่เรื่องคำนำชื่อพะม่า อูโปกยา บอกว่าตามแบบเดิมมีคำเปนคู่สำหรับเรียกชายและหญิงทุกชั้น คนที่เปนชั้นปู่ย่าตายาย ชายเรียกว่า “อู” หญิงเรียกว่า “ดอ” ที่เปนชั้นลุงป้าอาว์น้า ชายเรียก “โก” หญิงเรียก “มะ” ที่เปนชั้นพี่ชายเรียกว่า “มอง” หญิงเรียกว่า “ไม” ที่เปนชั้นน้องชายเรียก “งะ” หญิงเรียกว่า “มิ” แต่ภายหลังมาเรียกคลาดกับแบบเดิมไป

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ