วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ น

ศรีมหาราชา

วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๔๗๙

กราบทูล สมเด็จกรมพระยาดำรง ทราบฝ่าพระบาท

ตามที่กราบทูลไว้ว่าจะไปศรีมหาราชาสองสับตาหะนั้นครั้นไปถึงเข้าอยู่รู้สึกสบาย ร่างกายที่บุบสลายก็รู้สึกว่าอากาศช่วยซ่อมแซมให้กลับดีขึ้น จึงตกลงจะอยู่ยืดออกไปอีกสับตาหะหนึ่ง จะเขียนหนังสือส่งมาถวายก็ไม่แน่ใจว่าจะมาถึง เพราะเมลศรีราชาติดจะไม่สู้แน่ แต่ด้วยรำลึกถึงฝ่าพระบาทก็เขียนหนังสือฉะบับนี้ส่งมาถวายทดลองดู แม้ได้ทรงรับก็จะมีความยินดีอย่างยิ่ง

จะทูลถวายรายงานการที่ไปศรีมหาราชา เดิมคิดกันว่าจะไปทางบก พระงั่วนำความไปเรียนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านให้มาห้ามว่าอย่าไปทางบกเลย กำลังฝนชุกถนนเปนโคลนเปนหล่มรถฟัดเฟียด ถ้าเปนคนสาวคนหนุ่มก็ไปได้ ถ้าเปนคนแก่แล้วตายเลย จงไปทางเรือเถิด เมื่อได้ทราบความดั่งนั้นแล้วก็ไปพูดกับชายดิศ เธอหนักเปนล้นพ้น กลัวจะไปถูกคลื่นขึ้นไม่ได้ ด้วยเปนฤดูมรสุมตะวันตก แต่เธอไปปรึกษากับตันเรือ “นิภา” เขาว่าไม่เปนไร จัดส่งขึ้นได้ ศรีมหาราชาไม่สู้มีคลื่นเพราะเปนที่ข้อนข้างลับลม จึงตกลงเปนไปด้วยเรือ “นิภา”

แต่พอออกปากอ่าวก็ถูกคลื่นเข้าถนัดใจ เรือ “นิภา” ฟาดคลื่นดังผาง ๆ เหมือนเรือบด เมานอนราบกันไปเกือบหมดทั้งลำ ไม่ใช่แต่แม่โต แต่พอถึงศรีมหาราชาคลื่นก็ค่อยสงบจริงอย่างกับตันเรือว่า พวกพ้องที่บนฝั่งเขาจัดเรือฉลอมออกมารับ พอลงเรือฉลอมแจวเข้าไป อีกนิดเดียวจะถึงกะไดเรือนฝนก็เทลงมาให้ ตกเอามากมายเปียกโชกจนไม่มีดี ขึ้นเรือนต้องเอาผ้าห่มนอนผลัดผ้าเปียก เพราะเรือบันทุกหีบเสื้อผ้าโล้เต้เข้ามายังไม่ถึง

รุ่งขึ้นพอตื่นนอนสิงห์โตก็เข้ามาหา ฝ่าพระบาทยังไม่ทรงทราบเรื่องสิงห์โต จึงจะกราบทูลถอยหลังไปให้ทรงทราบเรื่อง ด้วยพ่อมันมารับเอาไปบ้าน แต่การรับเอาไปเยี่ยมบ้านนั้นไม่ใช่เปนการประหลาด เคยทำมาเนืองๆ แล้วเขาก็พาตัวกลับมาส่ง แต่ครั้งหลังที่สุดสิงห์โตกลับมาแล้วก็เอาแต่ร้องไห้ แม่โตสำคัญว่ามันคิดถึงบ้าน จึงบอกมันว่าอยากไปอยู่บ้านก็ไปสิ จะมานั่งร้องไห้อยู่ทำไม แต่ได้ความตรงกันข้าม ว่าแม่เขาสั่งให้มาลากลับไปอยู่บ้าน แต่ตัวมันไม่อยากไป ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ก่นแต่ร้องไห้ เราคะเนเห็นกันว่าพ่อแม่เขาคงเปนห่วง ด้วยมันรุ่นสาวขึ้นแล้ว กลัวจะเสียเด็กไป อยากได้ตัวไปควบคุมไว้เพื่อตกแต่งให้เปนพรรคผลพึงใจ จึงได้จัดการส่งตัวไปให้พ่อแม่มัน บัดนี้ก็สมคะเนแล้ว เมื่อไปถึงศรีมหาราชา พ่อแม่มันก็มาหาบอกลุแก่โทษ ว่าเขามาขอสิงห์โต ตั้งใจจะเข้าไปบอกที่กรุงเทพฯ แต่ผะเอิญไม่สบายไปเสีย ฝ่ายชายเขาก็มาเร่งรัดเอาความตกลง จึงจำเปนต้องละเมิดยกให้เขา ได้รับหมั้นไว้แล้ว จะแต่งกันในเดือน ๑๒

ที่ศรีมหาราชาไม่มีสิ่งใดซึ่งควรจะกราบทูล นอกจากโบสถ์วัดศรีราชาเปนโบสถ์ทำใหม่ซึ่งเกล้ากระหม่อมให้อย่างมาเอง แต่ทำแล้วไม่ได้ออกไปเห็นจนไปคราวนี้จึงได้เห็น รู้สึกรื่นรมณ์ในใจมาก ด้วยเห็นว่าดีไม่มีโบสถ์ไหนในกรุงสยามเหมือน แต่ก็เปนไปด้วยผะเอิญทั้งนั้น คือเจ้าพระยาสุรศักดิมีศรัทธาจะสร้างโบสถ์ขึ้นใหม่ แต่ท่านไม่พอใจที่โบสถ์เก่าเล็กนัก เวลามีงานเช่นบวชนาคเปนต้น สับบุรุษเข้าไปไม่ได้ ท่านอยากทำขยายให้ใหญ่ ท่านขอให้เกล้ากระหม่อมช่วยคิดแบบ เกล้ากระหม่อมจึงไปหารือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แต่ท่านไม่เต็มใจที่จะถอนสีมาเก่าผูกใหม่ เพราะสีมาเก่านั้นพระเทพกวี (นิ่ม) วัดเครือวัลย์เปนผู้ผูกไว้ ท่านอยากจะให้สีมาเก่าคงอยู่เปนอนุสสรณของพระเทพกวี เกล้ากระหม่อมจึงมาคิดแก้ไขเอาให้สำเร็จความประสงค์ทั้งสองฝ่าย ทำแบบโบสถ์นั้นเอาประธานโบสถ์ไว้เสมอสีมาเก่ายกพื้นขึ้นสูง แล้วทำมุขหน้าลดพื้นต่อประกอบด้วยเฉลียงสามด้านมีผนังรอบเปนอันสีมาเข้าไปอยู่ในโบสถ์มีเขตต์เพียงอาสนสงฆ์เท่านั้น จึงว่าไม่มีที่ไหนเหมือนเพราะที่มีแล้วก็มีสีมาเพียงผนังโบสถ์เปนอย่างแคบที่สุด แบบนี้เปนอันพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นั้นท่านชอบมาก ด้วยท่านเคยรู้สึกขัดข้องมาแต่คราวสมบุญของเกล้ากระหม่อมบวชที่วัดเทพศิรินทร์ พ่อสมบุญอยากเห็นลูกบวช แต่ช่วยไม่ได้ เพราะแกเปนพระ และเปนพระมหานิกายด้วย จะเอาเข้าในสังฆกรรมก็ไม่ได้ ซ้ำยังเข้าสีมาก็ไม่ได้ ท่านจึงเห็นว่าถ้าเปนโบสถ์อย่างวัดศรีมหาราชาที่คิดใหม่นี้แล้ว พ่อสมบุญอาจเข้าไปโมทนาในโบสถ์ได้ อย่าขึ้นไปบนอาสนสงฆ์ก็แล้วกัน เพราะสีมาอยู่เพียงอาสนสงฆ์ รูปร่างโบสถ์เกล้ากระหม่อมก็คิดทำเปนโรงอย่างดื้อๆ ออกจะไม่รู้สึกว่าเปนโบสถ์ จนหม่อมเจ้าไขศรีเข้าไปถึงในนั้นแล้ว ยังถามพระครูเจ้าอธิการว่าโบสถ์อยู่ที่ไหน ตามที่เกล้ากระหม่อมคิดทำเช่นนั้นก็เพราะเห็นว่า จะทำเปนลักษณโบสถ์ซึ่งทำกัน อันประดับด้วยช่อฟ้าใบระกา ไม่อยู่กี่วันก็จะผุพังลงมาหมด แล้วก็จะหนักเงินแก่เจ้าพระยาสุรศักดิมาก ทั้งพระสงฆ์ที่จะรักษาซ่อมแซมต่อไปก็เกินกำลัง จึงทำเปนแต่โรงด้วยคองกรีตเพื่อให้อยู่คงทนเท่านั้น คนอื่นก็ยังมีชอบใจอีก พระครูธรรมธรเจ้าอธิการบอกว่า มีเจ้าอธิการวัดหนึ่งมาเห็นก็ชอบใจ บอกว่าจะจำอย่างทำที่วัดของท่านบ้างเหมือนอย่างนี้

ลายพระหัดถ์ลงวันที่ ๒๘ เดือนก่อน ประทานพระดำริไปในเรื่องพระบรมอัฏฐินั้น ได้รับประทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณล้นเกล้า พระดำริข้อต้นที่ว่าควรจะจัดรวมพระบรมอัฏฐิบรรจุเจดียฐานเปนองค์ๆ ไป เหมือนครั้งกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา กับพระดำริข้อหลังว่าการเก็บพระบรมอัฏฐิรวมไว้ในหอพระเทพบิดร ย่อมเปนอุปกรณสำหรับประกอบข้อต้นดีแล้ว จริงอยู่ เปนพระดำริที่ชอบทาง แต่เกล้ากระหม่อมยังไม่ทราบว่าใครจะเปนผู้จัดให้สำเร็จไปตามข้อต้น และไม่ทราบว่าจัดทำกันอย่างไรในข้อหลัง ด้วยเหตุที่ไม่ทราบนั้นจึงคิดบุกตัดช่องน้อยเดินไปจำเพาะตัว ตามที่คิดนั้นที่วัดหงส์และวิหารโพธิ์ลังกา เชื่อว่าทำได้ไม่ยาก แต่ขอประทานโทษ ที่วัดนิเวศน์นั้นไม่ได้คิดและไม่ได้กราบทูลมาเลย เพราะที่นั้นคับขัน จะไปทำเอาตามลำพังไม่ได้ ได้กราบทูลแต่เพียงว่าพระบรมอัฏฐิรัชชกาลที่ ๕ ยังนึกไม่ออกว่าจะเชิญไปบรรจุไว้แห่งใด

แม้ว่าตามพระดำริซึ่งทรงพระเมตตาโปรดประทานไปนั้นแล้ว เกล้ากระหม่อมก็ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะพี่วาณีไม่ได้ทรงมอบพระบรมอัฏฐิให้เกล้ากระหม่อม เปนแต่ตรัสสั่ง ครั้นสิ้นพระชนม์ลงก็มีกรรมการตั้งขึ้นรวบรวมพระมรดก เขาจัดส่งพระบรมอัฏฐิไปไว้ที่หอพระเทพบิดรแล้ว เกล้ากระหม่อมปรึกษาคนคุ้นเคยคนหนึ่งซึ่งเขาเปนสมาชิกในกรรมการนั้น ว่าควรจะทำประการใด เขาแนะนำว่าให้ทำคำร้องไปยื่นต่อกรรมการ เกล้ากระหม่อมก็อิดใจอยู่แล้ว ครั้นมาได้รับพระดำริจึงคิดว่า “นิ่งเสียดี”

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ