วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

ลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๓๐ มกราคม มาถึงพอเหมาะ เวลาหม่อมฉันแต่งหนังสือสำหรับงานศพพระยาโบราณฯ สำเร็จส่งไปแล้ว และมีเรื่องที่คิดไว้ว่าจะทูลพ้องกับที่ตรัสมาในลายพระหัตถ์บางเรื่อง ก็ออกสนุกที่จะเขียนจดหมายประจำเวรสัปดาหะนี้

เรื่องผ้านุ่งนั้น ผ้าต่วนไหมอย่างที่ตรัสมาถ้ามีใครชอบใจนุ่งก็น่าปลาดใจ แม้ผ้าม่วงจีนที่นุ่งกันแต่ก่อนเนื้อก็หนานุ่งไม่สบายเหมือนผ้าไหมทอเมืองไทย อย่างดีที่สุดทอที่เมืองนครราชสีมากับเมืองจันทบุรี รองลงมาก็ที่เมืองเชียงใหม่และเมืองอุบล คงยังจะพอหาทรงได้ ผ้าพื้นนั้นหม่อมฉันเองก็ชอบนุ่ง แต่ต้องที่เปนอย่างเนื้อดีและต้องคอยห้ามพนักงานภูษา ไม่ให้เขาทำให้แข็งโกรกกรากซึ่งเขาเห็นว่าเปนสง่าราษี

แต่เรื่องทรงพระดำริจะกลับทรงฉลองพระองค์ยันตรเจ้านั้น หม่อมฉันคิดดูไม่สดวกใจ ขอให้ทรงใคร่ครวญดูก่อน ด้วยการที่แต่งเครื่องเฝ้ากันขึ้นมากตอนนี้ เกิดแต่พระองค์ท่านกับหม่อมฉันนัดกันแต่งขึ้นก่อน คนอื่นทั้งเจ้าและขุนนาง พวกที่ต้องออกจากตำแหน่งอันมีเครื่องแบบแต่งตัวมาแต่ก่อนจึงพากันเอาอย่าง ทำให้เครื่องเฝ้าภาคพูมขึ้น ถ้าเปลี่ยนไปทรงฉลองพระองค์ยันตรเจ้า พวกที่เอาอย่างน่าจะไม่พอใจ โดยฉะเพาะพวกหม่อมเจ้า ด้วยจะต้องสินเปลืองค่าตัดเสื้อใหม่ลำบาก พวกเขาไม่แต่งตามเสด็จก็จะมีแต่ท่านพระองค์เดียว คนทั้งหลายเห็น แปลกก็จะใจทแปลกันไปต่างๆ ผิดกับความประสงค์ของเรา ที่ไม่อยากให้ใครออกหานพานชื่อในสมัยนี้ อีกประการหนึ่งเสื้อยันตรเจ้าก็มีแต่สีขาวสำหรับแต่งปกติ สีดำสำหรับแต่งครึ่งยศ ถึงเวลาเต็มยศก็จะต้องกลับไปแต่งเครื่องเฝ้าอยู่นั่นเอง หม่อมฉันเห็นว่าอย่าเปลี่ยนเห็นจะดีกว่า

เรื่องงานพระเมรุในสุสานหลวงที่วัดเทพศิรินทรครั้งนี้ แต่แรกหม่อมฉันคิดว่าพระพรหมวิจิตรจะเปนผู้คิดแบบ เมื่อเห็นในหนังสือพิมพ์กำหนดเงินว่าจะจ่าย ดูเหมือน ๑๗,๐๐๐ บาทก็ออกพิศวงด้วยสถานที่สำหรับงานพระเมรุมีอยู่ที่สุสานหลวงแล้วหมดทุกอย่าง จะต้องสร้างแต่ตัวพระเมรุเท่านั้น จะทำให้วิจิตรพิสดารอย่างไรจึงจะต้องใช้เงินมากถึงเพียงนั้น ราว ๒/๓ ของพระเมรุกลางเมืองที่ต้องสร้างสถานต่างๆ ขึ้นใหม่หมดทุกอย่าง จึงนึกอยากดูรูปฉายพระเมรุคราวนี้มาแต่แรก รูปในหนังสือพิมพ์ภาษาไทยก็ด้วนเปนอย่าง “แมวดำ” จะเอาเปนที่สังเกตอย่างไรไม่ได้ ต่อได้เห็นรูปในหนังสือบางกอกไตม์ และเผอิญมาในคราวอันเดียวกันกับลายพระหัตถ์ฉะบับนี้ จึงเปนอันได้เห็นรูปและได้รู้รายการพร้อมกัน ว่าด้วยรูปทูลโดยย่อว่าพอเห็นก็ถอนใจใหญ่ ด้วยอาลัยแบบทรวดทรงเครื่องยอดของไทย ว่าด้วยลักษณประดับตามที่ทรงพรรณนามาก็ทูลได้โดยย่ออีก ว่าคล้ายเครื่องแต่งตัวลิเก ไม่ได้เห็นตัวจริงทูลได้เพียงเท่านี้ แต่รู้สึกยินดีอย่างหนึ่งที่ทราบความตามลายพระหัตถ์ตรงกันกับคำคนที่ได้ไปเขามาเล่า ว่างานพระศพสมเด็จหญิงน้อยคนช่างไปกันมากเสียจริงๆ เห็นว่าบรรดาคนที่ไปมิได้ไปเพื่อแสวงหาลาภยศอย่างใด ไปแต่ด้วยความรัก ความนับถือ และความกตัญญู ทั้งนั้น ที่ไปแต่โดยบรรดาศักดิ์แม้จะมีบ้างก็คงน้อย จึงนึกอนุโมทนาและให้พรแก่คนทั้งนั้นทั่วกัน

เรื่องพระเริ่มสวด “สพฺพพุทฺธา” ขึ้นใหม่นั้นดูแปลกหนักหนา จะทูลความเห็นให้พิสดารสักหน่อย อติเรก เดิมเปนการถวายพระพรฉะเพาะพระองค์และฉะเพาะหน้าพระที่นั่งพระเจ้าแผ่นดิน มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พอเจ้านายพระองค์ใดได้เปนพระเจ้าแผ่นดินแม้ยังมิได้ราชาภิเศกพระก็ถวายอติเรก (ปรากฎหลักฐานอยู่ในโคลงเรื่องราชาภิเศก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์แต่เมื่อยังเปนกรม) ถึงรัชชกาลที่ ๔ ทูลกระหม่อมทรงแก้ประเพณีอติเรก ให้ถวายอติเรกต่อเมื่อราชาภิเศกแล้ว ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณะทรงแก้อีกอย่างหนึ่ง ด้วยบัญญัติว่าถ้าเปนงานของหลวงถึงลับหลังพระที่นั่งก็ให้ถวายอติเรก การเปลี่ยนแปลงทั้ง ๒ ข้อนี้มาเปนปัญหาขึ้นในรัชชกาลที่ ๘ ด้วยพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์ใหม่จะยังไม่ราชาภิเศกอยู่หลายปี ถ้าทำตามแบบที่ตั้งครั้งรัชชกาลที่ ๔ ก็ต้องงดอติเรกไปจนกระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเสด็จกลับมาราชาภิเศกแล้ว แต่จะใช้แบบนั้นผิดแบบที่สมเด็จพระมหาสมณะตั้งไว้ให้ถวายอติเรกลับหลังพระที่นั่งได้ เกิดเปนอุภโตปัญหา คือ จะถวายอติเรกก็ยังไม่ได้จะไม่ถวายอติเรกก็ไม่ได้ มหาเถรสมาคมจึงปรึกษากันให้ใช้คาถา “โสอตฺถลัทโท” แทนอติเรก แต่ความก็หมายถวายพรพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว ที่มาใช้ “สพฺพุทฺธา” เพิ่มขึ้น พิเคราะห์ความตามที่ทรงพรรณนามาอาจจะหมายความว่า ตอนเทศถวายพรฉะเพาะพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาถึงตอนสดัปกรณ์สวดสพพุทธาให้พรแก่คณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ถ้าหมายความอย่างนี้ ต้องสวดเปนคู่กันเสมอไป แต่อย่างไรก็ดีหม่อมฉันเชื่อว่ามิใช่พระคิดเพิ่มขึ้นโดยลำพัง คงมีใครไปว่ากล่าวแนะนำพระขัดไม่ได้ก็เอาสพพพุทธามาสวด เหมือนอย่างสวดอนุโมทนากฐินหลวงที่มีผู้ไปทอดแทนพระองค์ ขอให้ทรงสืบดูเถิด คงจะทรงทราบได้ไม่ยาก

อธิบายวีชนีนั้น พอหม่อมฉันอ่านลายพระหัตถ์ก็นึกสงสารหญิงอาม เธอต้องพิมพ์อัตถจะรู้สึกลำบากสักเพียงใด เรื่องนี้ที่หม่อมฉันคิดไว้ว่าจะทูล ด้วยนึกเห็นหลักวินิจฉัยมีอีกทางหนึ่ง ว่าแส้นั้นสำหรับใช้ปัดกำจัดสัตว์ซึ่งมากัดและตอมตัวให้รำคาญ เช่นยุงและแมลงวันเปนต้น สัตว์ที่ถูกเส้นแส้ฟาดอาจจะถึงล้มตายเจ็บลำบาก ถ้าใช้พัดปัดเปนแต่รำเพยลมให้พัดพาสัตว์เหล่านั้นปลิวไปเสียไม่เปนเครื่องประหาร พวกที่ถือพระพุทธสาสนาจึงใช้พัดในเครื่องราชกกุธภัณฑ์แทนแส้ แม้ในเหล่าพระภิกษุ พระพุทธเจ้าก็เห็นจะไม่ทรงอนุญาตให้ใช้แส้ปัดยุง ขอให้ทรงปรึกษาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ดูเถิด

จดหมายในหนังสือพิมพ์ที่ตัดประทานมานั้น หม่อมฉันเคยได้ยินหญิงเหลือเล่า ว่าเธอได้เห็นในคำนำบทละคอน เธอเห็นว่าควรจะส่งคำท้าไปให้ศาสตราจารย์ เซเดส เปนแต่พูดหัวเราะกันเล่นที่มีผู้เขียนเรื่องท้าส่งไปลงหนังสือพิมพ์ คงเปนโดยปรารถนาจะให้คนทั้งหลายรู้เรื่อง ท้าให้แพร่หลาย เพื่อจะให้เปนคุณหรือเปนโทษแก่ผู้ท้าก็เปนได้ทั้ง ๒ สถาน หม่อมฉันไม่ใช่นักปราชญ์ที่จะเข้าโต้เถียงคำท้าจึงจะงดเรื่องนั้นไม่ทูลต่อไป

แต่ข้อที่มนุษย์ชาติใดชาติหนึ่งอาจจะหายสาบสูญไปได้นั้น มีตัวอย่างที่จะอ้างในทางโบราณคดีดูชอบกล หม่อมฉันจะทูลแต่ที่นึกได้ในเวลาเขียนจดหมายนี้โดยไม่ได้สอบหนังสืออื่น ขาติมนุษย์ที่หายสูญมีเปนชั้นต่างกัน

๑) ชาติที่หายสูญหมดแล้วทั้งภาษาและตัวมนุษย์ มีตัวอย่างเช่น พวก “พยุ” Pyu ในเมืองพะม่า ที่หม่อมฉันได้บรรยายในหนังสือ “เล่าเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า”

๒) ชาติที่หายแล้วแต่ยังไม่หมด มีตัวอย่างเช่นพวก “ลาว” ในประเทศสยาม ยังมีเหลืออยู่แต่ตามภูเขาแห่งละเล็กละน้อย เดี๋ยวนี้เรียกกันว่า “ลัวะ” หรือ “ลว้า”

๓) ชาติที่กำลังตั้งต้นจะหาย มีตัวอย่างเช่นพวกมอญในเมืองพะม่า แม้ยังถือตัวว่าเปนมอญแต่พูดภาษามอญไม่ได้เสียโดยมากแล้ว

กรณีในพวกมอญส่อให้เห็นหลักฐานอันหนึ่ง ว่าชาติใดจะสูญ ภาษาของชาตินั้นต้องสูญก่อน ส่วนตัวมนุษย์ชาตินั้นอาจจะอยู่ต่อมาได้อีกช้านาน ข้อนี้พิศูจน์ได้ง่ายๆ ในเมืองไทย ในกรุงเทพฯ เองด้วยซ้ำไป เช่นแขกเจ้าเซ็นเปนเชื้อชาติชาวเปอเซีย พวกพราหมณ์เปนเชื้อชาติชาวเมืองพาราณสี พวกเข้ารีดที่กุฎีจีนเปนเชื้อชาติโปรตุเกศ พวกจามแต่ก่อนถึงตั้งเปนกรม “อาสาจาม” ชาติต่างๆ ที่กล่าวมานี้เกิดสืบพืชพันธุ์กันมาในเมืองไทยช้านาน จนเดี๋ยวนี้ไม่มีใครรู้ภาษาชาติของตนเลย แต่กระนั้นก็ยังมีที่รูปโฉมส่อชาติเดิม พอเห็นเปนหลักว่า มนุษย์ที่จะสูญชาตินั้นภาษาต้องสูญก่อน ถ้ายังใช้ภาษาของตนอยู่ตราบใด ถึงแม้บ้านเมืองจะตกเปนของชาติอื่น มนุษย์ชาตินั้นก็หาสูญไม่

๔) การที่ข้าศึกตีได้บ้านเมืองแล้วกวาดเอาชาวเมืองไปเปนเชลย ดังเช่นเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช (สามพระยา) ตีได้นครธมก็ดี พะม่าตีได้พระนครศรีอยุธยาก็ดี ไทยตีเมืองเวียงจันทรได้เมื่อรัชชกาลที่ ๓ ก็ดี ชนชาติชาวเมืองนั้นก็ยังเหลืออยู่กลับรวมกันเปนบ้านเมือง ไม่ได้สูญชาติ

๕) เหตุที่ชาติสูญอย่างแปลกปลาดมีที่เมืองจีน เมื่อพวกมองโคลตีได้เมืองจีนในสัตพัษที่ ๑๙ ของพุทธศักราช พวกมงโคลมาครองเมืองจีนเปนราชวงศ์ “หงวน” ครั้นอยู่เมืองจีนนานมาพวกมงโคลก็กลับกลายเปนจีนไปหมด เพราะอาริยธรรมของจีนดีกว่าและจำนวนพวกมงโคลน้อยมาอยู่ปะปนกับจีนที่จำนวนมากกว่ามาก นานเข้าพวกมงโคลก็กลายเปนจีนหมด ด้วยเหตุนั้นเมื่อพวกเม่งจูตีได้เมืองจีนและเข้ามาอยู่ปกครอง จึงตั้งกฎหมายห้ามมิให้พวกเม่งจูแต่งงานกับจีน ด้วยเกรงจะสูญชาติอย่างพวกมงโคล

๖) แต่พิเคราะห์ในประเทศสยามดูตรงกันข้าม เมื่อไทยลงมาได้เปนใหญ่เห็นจะเปนเวลาที่พวกลาวถูกมอญและเขมรปกครองข่มขี่มาช้านานจนไม่มีกำลังและเหลือจำนวนไม่หนาแน่นแล้ว อยู่ปะปนกับไทยนานมาพวกลาวจึงกลายเปนไทยไป

หมู่นี้ที่ปีนังมีพวกกรุงเทพฯ มาหลายราย เมื่อวันที่ ๓ พระองค์หญิงวัลภาเทวีเสด็จมา พระยามหาอำมาตย์เปนผู้นำทาง แต่แรกว่าจะไปอยู่โฮเต็ลจีนด้วยไม่รู้ว่าน่ารังเกียจ หม่อมฉันจึงรับให้มาอยู่กับลูกหญิงของหม่อมฉันที่ซินามอนฮอล ดูก็เปนที่พอพระหฤทัยของเธอ

หม่อมฉันส่งเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าตอนที่ ๙ ท่อนที่ ๒ ถวายมากับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อนหนึ่ง และขอบพระคุณที่ท่านกับคุณโตฝากของกินให้หม่อมเจิมนำมานั้นด้วย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

  1. ๑. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์

  2. ๒. พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ