วันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๙ ดร

Cinnamon Hall,

206 Kelawei Road, Penang. S.S.

วันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙

ทูล สมเด็จกรมพระนริศฯ

หม่อมฉันได้รับลายพระหัตถ์ฉะบับลงวันที่ ๒๐ มีนาคม แล้วสังเกตวันลงในลายพระหัตถ์เปนวันต้นงานศพชายถึก ทรงเขียนกำลังมีพระธุระอื่นน่าจะลำบากอยู่บ้าง หม่อมฉันหวังใจว่างานคงจะเรียบร้อย มีญาติและมิตรไปช่วยมาก หม่อมฉันคาดว่าคงจะได้ฟังรายการจากพระองค์เจ้าธานีนิวัติ ซึ่งจะผ่านปีนังไปเมืองกวาลาลุมปูรวันนี้เห็นจะได้พบกัน เธอจะเปนผู้แทนสาขาสโมสรโรตารีในกรุงเทพฯ ไปในการประชุมใหญ่ประจำปีของสโมสรนั้น

หม่อมฉันได้ทราบในลายพระหัตถ์ว่าพระองค์เจ้าอลังการสิ้นพระชนม์ ออกรู้สึกอาลัย ด้วยเธอเปนมิตรกับหม่อมฉันมาตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ยังเสด็จอยู่ เธอเกิดปีระกาแก่กว่าหม่อมฉันปีหนึ่ง ที่เธอสั่งไว้ให้ฝังพระศพของเธอที่จังหวัดปราจิณอย่างศพคฤหบดีนั้น ดูก็คิดถูกแล้ว ด้วยเธอไปอยู่หัวเมืองเสียกว่า ๓๐ ปี หม่อมฉันจำได้ว่าครั้งหนึ่งเธอมาเข้าสมาคมในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเปนในงานพระศพสมเด็จพระปิตุฉา เธอไปพระเมรุในเวลากลางคืนเมื่อก่อนจะเผาพระศพ เจ้านายพวกเราพากันอี๋อ๋อชวนเธอมานั่งด้วย พวกขุนนางพากันปลาดใจ กระซิบถามกันว่าคนนั้นนั่นใคร ยิ่งถึงเวลานี้คนรู้จักหรือแม้แต่ที่ได้ยินพระนามก็จะยิ่งน้อยลงไปอีก เงียบไปเลยเสียทีเดียวดีกว่า

เทวรูปที่หลักเมืองสุพรรณนั้น เหมือนกับที่มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานเพียงทำทรง “หมวกเติ๊ก” แทนชฎา แต่มิใช่เปน Fine Art อย่างที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถาน ดูฝีมืออยู่ข้างจะหยาบด้วยซ้ำไป ที่หม่อมฉันทูลขนาดสูงสัก ๓ ศอกนั้นก็เห็นจะเกินไป จะสูงเพียงสัก ๒ ศอก ถ้ามีเศษก็ไม่มากนัก รูปพระวิษณุเช่นนั้นมีที่เมืองสุพรรณถึง ๓ องค์อยู่ที่ศาลหลักเมืองสุพรรณ ๒ องค์ อีกองค์ ๑ อยู่ที่ “ท่าพระยาจักร” อันเปนท่าเรือของเมืองอู่ทอง เมื่อหม่อมฉันไปดูเมืองอู่ทองครั้งแรก เห็นเทวรูปวางหงายอยู่กับแผ่นดิน แต่คนในท้องถิ่นก็บูชาอยู่แล้ว หม่อมฉันแนะนำให้เขาทำศาลและยกเทวรูปขึ้นตั้ง เข้าใจว่ายังเปนศาลอยู่จนทุกวันนี้ ข้อที่มีเทวรูปอย่างเดียวกันอยู่ที่ศาลหลักเมือง ๒ องค์ ทิ้งอยู่ที่ท่าน้ำเมืองอู่ทององค์ ๑ ชวนให้เห็นว่าเทวรูปที่ศาลหลักเมืองจะย้ายเอามาจากที่อื่น จึงมี “ซ้อนขึ้น” เปน ๒ องค์ องค์ที่เมืองอู่ทองก็คงคิดจะย้ายเอามาเมืองสุพรรณ แต่เมื่อเอาลงมาถึงท่าจะมีเหตุขัดข้องอย่างใดเกิดขึ้นเลยงด เทวรูปจึงวางค้างอยู่ที่ท่าดังหม่อมฉันไปเห็นเมื่อครั้งแรก ที่จะทำศาลหลักเมืองสุพรรณใหม่นั้น หม่อมฉันคิดเกรงอยู่อย่างเดียวแต่เงินทุนจะไม่พอทำให้ดีได้ดังพระดำริ

พระยาอนุมานเขาส่งบัญชีหนังสือที่ได้มาจากกรมราชเลขาธิการมาให้หม่อมฉันดู บัญชีที่ทำยังเปนอย่าง “บัญชีเดินทุ่ง” แต่พอเห็นได้ว่ามีหนังสือเรื่องดีๆ มาก แต่การทำบัญชีอย่างพิสดารจะยากมาก ด้วยไม่มีตัวผู้รู้หลักหนังสือเก่า มีหนังสือเรื่อง ๑ ในบัญชีนั้น เรียกว่า “รูปภาพท่ารำ” พอหม่อมฉันเห็นก็ “หูผึ่ง” ด้วยมีเรื่องเกี่ยวข้องกับหม่อมฉันมาแต่ก่อนควรทูลเล่าถวายได้ เดิมหอพระสมุดได้หนังสือภาพตำรารำ (คือท่าเทพประนมปฐมพรหมสี่หน้าเปนต้น) มาจากวังหน้าเปนครั้งแรก เปนสมุดดำเขียนเส้นฝุ่น ต่อมาซื้อได้อีกฉะบับหนึ่งเปนสมุดขาวรูปภาพเขียนประสารสี ถวายท่านทอดพระเนตรตรัสว่าเปนฝีมือช่างครั้งรัชชกาลที่ ๑ แต่สมุดนั้นขาดหายไปเสียสักครึ่งเล่ม ต่อมาหม่อมฉันไปรดน้ำคุณแม่เขียนเมื่อปีใหม่ ไปพูดกับท่านถึงเรื่องตำรารำท่านบอกว่าแต่ก่อนมีตำรารำของหลวงอยู่ ๒ เล่ม “คุณครูเอี่ยมบุษบา” เปนผู้รักษา ตำรานั้นไม่ใช่ตำราแบบท่าเทพประนมปฐมพรหมสี่หน้า เปนตำราท่ากิริยาอาการที่ละคอนทำบท เปนต้นว่าท่าแสดงความรักความโกรธ ความเสียใจ และรูปรบพุ่ง (ท่าภาพจับ) เปนต้น หม่อมฉันฟังท่านเล่าออกแคลงใจว่าท่านหลงก็ไม่เอาเปนธุระสืบสวนต่อมา ในกาลครั้งหนึ่งเมื่อรัชชกาลที่ ๖ นั้น ข้าราชการในราชสำนักคนหนึ่ง (จะเปนใครหม่อมฉันจำไม่ได้เสียแล้ว) บอกว่าพระยาอรสุมพลาภิบาล (ดั่น บุนนาค น้องเจ้าพระยาพิชัยญาติ) ทูลเกล้าฯ ถวายสมุดพระตำรารำ ๒ เล่ม ก็พระยาอรสุมฯ นั้นเคยชอบกับหม่อมฉัน เมื่อพบตัวหม่อมฉันถามเขาก็รับว่าได้ถวายสมุดตำรารำ ๒ เล่มจริง แต่ซักไซ้ต่อไปถึงรูปภาพ พระยาอรสุมว่าไม่ได้ตรวจดู บอกว่าสมุด ๒ เล่มนั้นเดิมเปนของคุณเอี่ยมบุษบาครูละคอนหลวง เมื่อแก่เฒ่าออกจากราชการแล้วไปอาศัยอยู่กับพวกพระยาไพบูลย์ด้วยเปนญาติกัน เมื่อคุณเอี่ยมตายสมุดนั้นตกอยู่กับญาติที่เปนผู้อุปการะ พระยาอรสุมแสวงหาของถวายสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ไปเห็นสมุดตำรารำ ๒ เล่มนั้นนึกว่าสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดทรงเล่นโขนละคอน จึงขอสมุดตำราไปทูลเกล้าฯ ถวาย ความที่คุณแม่เขียนเล่ากลับเปนเรื่องจริง หม่อมฉันจึงตั้งหน้าพยายามจะดูตำรา ๒ เล่มนั้น ให้ไปถามที่กรมมหรสพก็ว่าไม่ได้ส่งไปที่นั้น จนใจก็ต้องนิ่งอยู่ มาได้โอกาสเมื่องานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนเพ็ชร์บูรณ์อินทราชัย สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ โปรดให้หอพระสมุดพิมพ์หนังสือตำรารำเปนหนังสือแจก หม่อมฉันก็กราบทูลขอสมุดตำรารำที่พระยาอรสุมทูลเกล้าฯ ถวาย ก็พระราชทานอนุญาตและตรัสสั่งให้เจ้าพระยารามค้นหามาให้หม่อมฉัน หม่อมฉันเร่งรัดตักเตือนอย่างว่า “ทุกหัวตะแกรง” ในราชสำนักก็ไม่ได้สมุดนั้นมา บอกแต่ว่าค้นไม่พบ ก็เปนอันจนใจ มาจนบัดนี้เมื่อมาเห็นชื่อเรื่องในบัญชีหนังสือที่หอพระสมุดได้มาจากกรมราชเลขาธิการ เกิดนึกขึ้นว่าจะเปนหนังสือตำรารำที่พระยาอรสุมถวาย อยากเห็นเปนล้นพ้น แต่มิรู้ที่จะทำอย่างไร จะถามไปยังพระยาอนุมานก็เกรงจะตอบไม่ได้ถูกต้อง เพราะแกเปนนักเรียนถนัดทางสมัยใหม่ และการที่จะส่งหนังสือนั้นออกมาถึงต่างประเทศจะเปนการขัดข้องแก่เขา ถ้าพระยาอนุมานเขามาเฝ้าท่านเมื่อใด ตรัสขอทอดพระเนตรหม่อมฉันนึกว่าเขาคงเอาไปถวายให้ทอดพระเนตรทรงพิจารณาให้รู้แน่ได้ ว่าเปนตำราอย่างไร

หม่อมฉันส่งหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพะม่า ถวายมากับจดหมายฉะบับนี้อีกท่อน ๑ จะจบเรื่องเที่ยวเมืองพะม่าในท่อนหน้าเปนที่สุด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ